วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ศาลไม่ให้ประกันคดี 112 คนขายปุ๋ย เกรงหลบหนี


13 ต.ค.57 ที่ศาลอาญา รัชดา มีการยื่นขอประกันตัว นายทะเนช หรือ ธเนศ (สงวนนามสกุล) อายุ 45 ปีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 โดยญาติได้ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท ต่อมาศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลว่า
“พิเคราะห์คำฟ้องและคำคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราว เห็นว่าความผิดตามฟ้องเป็นการเผยแพร่ข้อความเท็จ ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและมุ่งให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันอันเป็นที่เคารพยิ่งของประชาชน ทั้งเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง มีเหตุควรเชื่อว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยอาจหลบหนี แม้จำเลยอ้างความเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ จำต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ ก็เห็นว่าตามหลักฐานประกอบข้ออ้างดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะให้ศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว”
ทั้งนี้ คดีของทะเนชจะมีการดำเนินการในชั้นพิจารณาคดีในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ โดยเป็นการนัดพร้อม ตรวจสอบพยานหลักฐาน สอบคำให้การจำเลย ในครั้งที่2 หลังจากครั้งแรกเลื่อนไปเนื่องจากต้องรอผลการตรวจอาการทางจิตของจำเลยจากสถาบันกัลยาราชนครินทร์
ทะเนช มีพื้นเพเป็นชาวเพชรบูรณ์และมีอาชียขายอาหารเสริมบำรุงพืชผลทางการเกษตรทางอินเตอร์เน็ต เขาถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจจับกุมตัวที่บ้านพักจังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 2 ก.ค.57 จากนั้นถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารจังหวัดเพชรบูรณ์จนครบ 7 วันก่อนจะส่งตัวมายังกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (ปอท.) เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเขาส่งอีเมล์ข้อมูลที่เข้าข่ายหมิ่นฯ ให้กับผู้ต้องหาที่อาฯยอยู่ประเทศสเปน ชื่อ Emillio Estaban ผู้ใช้นามแฝงว่า stoplesemajeste ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าเขาได้เข้าถึงอีเมล์ของ Estaban และพบการส่งอีเมล์ของทะเนชในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2553 เขาถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยญาติไม่มีหลักทรัพย์ยื่นประกันตัว และถูกฟ้องในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

คุยกับ “จรัล ดิษฐาอภิชัย” ว่าด้วยผลพวง 14 ตุลา และขบวนการคนเสื้อแดง


Tue, 2014-10-14 14:51

จรัล พูดถึงคนตุลาจุดยืนเปลี่ยนไป, วิเคราะห์ถึงขบวนการคนเสื้อแดงหลังรัฐประหาร และเมื่อไหร่เราจะมีการเลือกตั้ง 
 
เนื่องในโอกาสครบรอบ 41 ปี 14 ตุลา ประชาไท คุยกับ จรัล ดิษฐาอภิชัย คนเดือนตุลาคนหนึ่ง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และขณะนี้เป็นผู้ประสานงาน องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อประชาธิปไตย ณ ยุโรป จรัลลี้ภัยไปต่างประเทศ หลังจากการรัฐประหาร 
 
เมื่อปี 2556 จรัลเป็นประธานจัดงานครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในงานมีการแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า” ที่ทำให้ ปติวัติ และ ภรณ์ทิพย์ ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ซึ่งทำให้จรัลมีแนวโน้มจะถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ไปด้วย
 
ประชาไทถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของจรัล เขามองผลของการเคลื่อนไหว 14 ตุลาต่อการเมืองในปัจจุบันอย่างไร และอนาคตของขบวนการคนเสื้อแดง 
 
จรัลบอกว่า ตอนนี้พรรคพวกคนเดือนตุลาจำนวนมาก ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น สมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เช่น ประสาน มฤคพิทักษ์ และ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้เคยต่อต้านเผด็จการทหารมาก่อน กลัมาร่วมกับเผด็จการทหาร จรัลใช้โอกาสครบรอบ 41 ปีครั้งนี้ ประณามบุคคลเหล่านี้ และเสริมว่า จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะก็มีการแบ่งฝ่ายแบบนี้มานานแล้ว 
 
จรัลยังได้กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า “ผีเดือนตุลา” ซึ่งหมายถึง คนเดือนตุลาด้วยกัน หลอกหลอนกันเอง ซึ่งหมายถึง การที่คนเดือนตุลา มากกว่า 70 เปอร์เซนต์ เลือกที่จะไปอยู่ฝั่งชนชั้นนำเก่า ฝ่ายเสื้อเหลือง ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และที่เหลือ ไม่ถึง 30 เปอร์เซนต์ ที่อยู่ฝั่งคนเสื้อแดง 
 
“คนเดือนตุลาเป็นคนรุ่นเดียว ที่สามสิบปีมานี้ยังมีฐานะและบทบาททางการเมืองอย่างสูง และไปร่วมกับทั้งสองฝ่าย ดังที่เคยมีคนบอกว่า สาเหตุที่ประเทศไทยวุ่นวาย ก็เพราะคนเดือนตุลานี่แหละ เพราะคนพวกนี้ไปไหนก็ไปเสนอความคิด ยุทธวิธีทางการเมือง ก็คือคนเดือนตุลายังมีฐานที่ครอบงำการเมืองไทยอยู่ไม่เสื่อมคลาย 
 
“ผีคนเดือนตุลา หลอกหลอนกันเอง หลอกหลอนคนเดือนตุลาด้วยกัน คนเดือนตุลา เลือกข้างไปอยู่ำกับ พธม เสื้อเหลือง ประมาณ 70 เปอร์เซนต์  คน 70 เปอร์เซนต์ ก็หลอกคน 30 เปอเร์ซนต์ที่เหลือ (ซึ่งจริงๆ น่าจะน้อยกว่านี้ ) ช่วงแรก บอกว่าไปต่อต้าน เผด็จการรัฐสภา (ยุคทักษิณ) แต่พอรัฐบาลทักษิณล้มไปแล้ว เขาก็ยังเดินหน้าต่อ
 
“คนเดือนตุลาเป็นคนรุ่นเดียว ที่สามสิบปีมานี้ยังมีฐานะและบทบาททางการเมืองอย่างสูง และไปร่วมกับทั้งสองฝ่าย ดังที่เคยมีคนบอกว่า สาเหตุที่ประเทศไทยวุ่นวาย ก็เพราะคนเดือนตุลานี่แหละ เพราะคนพวกนี้ไปไหนก็ไปเสนอความคิด ยุทธวิธีทางการเมือง ก็คือคนเดือนตุลายังมีฐานที่ครอบงำการเมืองไทยอยู่ไม่เสื่อมคลาย 
 
“คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ชอบ และไม่อินกับเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่จะอินกับเหตุการณ์ 6 ตุลามากกว่า เหตุผลที่คนเสื้อแดงไม่ชอบ 14 ตุลาก็เพราะมองว่า ในที่สุดแล้วคนเข้าร่วมสวนใหญ่กลายไปเป็นเสื้อเหลือง และในที่สุดแล้ว นักศึกษาถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของศักดินา ซึ่งผมก็เห็นด้วย
 
“ในส่วนตัวผม ผมยังเห็นว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา นั้นมีความสำคัญมาก นั้นยิ่งใหญ่ในแง่เนื้อหา ล้มเผด็จการทหาร มันเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาธรรมดาสามารถล้มเผด็จการทหารได้ ถ้าไม่มี 14 ตุลา คนไทยก็ไม่มีเสรีภาพอย่างปัจจุบัน” 
 
จรัลพูดถึงการรัฐประหารในไทยว่า จริงๆ แล้วคสช. เป็นเผด็จการที่รุนแรงน้อยกว่าประเทศอื่น ไม่ได้ฆ่าคนมากมายอย่างเผด็จการประเศอื่น อย่างในละตินอเมริกา ถึงแม้ว่า ที่ผ่านมาจะมีการบาดเจ็บล้มตายในการต่อสู้ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ก็ยังไม่ถือว่ามาก แต่อย่างไรก็ตาม ในมุมมองสิทธิมนุษยชน แม้ตายคนเดียวก็ถือว่ามากเกินไป ถึงแม้ คสช. ตอนนี้จะมีความเป็นเผด็จการมาก แต่ก็ไม่เหี้ยมโหดเท่าสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 
 
จรัลมองว่า มีปัจจัยสองอย่างที่ทำให้รัฐประหารครั้งนี้ไม่รุนแรงเท่าไหร่ หนึ่ง ลักษณะของคนไทย ที่ไม่นิยมความรุนแรง 
สอง ประเทศไทยได้ผ่านบทเรียนมามาก ทหารได้วางแผนมาเป็นปีแล้ว และมีมาตราการที่ถือว่าฉลาดมาก .ซึ่งคือ การให้ไปรายงานตัวแล้วปล่อย  เลยทำให้คนบางส่วนตัดสินใจได้ ตัดสินใจไปรายงานตัว  โดยเฉพาะคนที่ไม่อยากหนี ก็ไปรายงานตัว ซึ่งผู้นำการต่อสู้กว่า 90 เปอร์เซนต์ก็ไปรายงานตัว จากการวิเคราะห์คือมาตราการเรียกไปรายงานตัวแล้วปล่อย เป็นมาตรการที่ฉลาดมาก ทำให้แกนนำไปรายงานตัว ก็ทำให้เขาสามารรถควบคุมสถานการณ์ได้ ไม่ทำให้สถานการณ์รุนแรง 
 
“ไม่ว่าชนชั้นปกครองยุคไหนก็จะใช้การปราบ อีกอย่างคือการหลอกลวง บางครั้งใช้พร้อมกัน บางครั้งใช้หลอกก่อนแล้วค่อยปราบ เป็นไม้นวมกับไม้แข็ง คสช. ใช้ทั้งสองวิธีพร้อมกันเลย”  
 
 
แรงกดดันจากต่างชาติ
 
“หนังสือพิมพ์ระดับโลก นานๆ ทีจะมีข่าวเรื่องไทย เพราะเหตุการณ์ที่ไทยมันไม่สุดๆ มันไม่ได้เกิดอะไรมาก ประชาคมโลก พูดตรงๆ ก็คือเขาซาดิสม์ มันต้องมีคนตายเยอะๆ เขาถึงจะสนใจ ผมพยายาบอกเขาว่า แค่เป็นเผด็การแบบนี้ก็แย่แล้ว ถ้าหากว่า ประชาคมโลกไม่เพิ่มมาตราการกดดัน เขาก็จะอยู่นาน  ประชาคมโลกส่วนหนึ่งก็มองโลกแง่ดี ก็มองว่า อีกหนึ่งปีครึ่งก็จะมีการเลือกตั้ง ผมก็บอกว่า เราต้องพูดให้เขาผูกมัดตัวเองว่า จะมีการเลือกตั้ง แต่ในทางความคิด เราอย่าไปเชื่อมัน 
 
“เป้าหมายในการรัฐประหารครั้งนี้ หนึ่งคือทำลายกลุ่มต่อต้านชนชั้นนำเก่า สองคือทำลายพรรคการเมืองและนักการเมือง  
 
“ถ้าการต่อต้านในประเทศไม่มาก เขาก็คงยืดเวลาอยู่ในอำนาจไปอีกปีสองปี อีกอย่างคือการผลัดเปลี่ยนราชการ  สร้างสภวะทางการเมืองให้ยอมรับการ [กองบรรณาธิการขอเซนเซอร์ตัวเอง] ผมไม่เชื่อหรอกว่า เดือนตุลาปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง แรงกดดันจากประชาคมโลกมีผลน้อยมากเลยต่อเรื่องนี้ เพราะผลประโยชน์ในทางการค้าขายระหว่างรัฐมันมาก่อน มันจับต้องได้ ในขณะที่เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่านามธรรม ผลประโยชน์ทางการค้าต้องมาก่อน 
 
“ตอนนี้ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงาน องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในยุโรป ก็เขียนจดหมายชี้แจงเรื่องสถานการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนส่งให้ สมาชิกรัฐสภา หลายๆ ประเทศ  และองค์กรสิทธิต่างๆ   
 
“ประชาธิปไตยเป็นกระแสของโลก ยังไงเราอยูฝ่ายประชาธิปไตย ยังไงก็จะชนะ แต่เราก็พูดมาตั้งแต่เดือนตุลา ตั้งแต่อยู่ในป่า คือชนะแน่ๆ แต่เมื่อไหร่ไม่รู้นะ (หัวเราะ) เราไมู่ดว่า การต่อสู้ครั้งสุดท้าย แต่พูดว่า  เราต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ  
 
“ตอนนี้ผมอยู่ในประเทศหนึ่งในยุโรป ก็เคลื่อนไหว ให้ข้อมูลข่าวสาร ให้คนไทยและต่างชาติทั้งรัฐและเอกชนให้เข้าใจสถานการณ์การเมืองไทย 
 
“พาสปอร์ตของผมถูกเพิกถอนไปตั้งแต่ 10 ก.ค. ตอนนี้ไม่มีพาสปอร์ต แต่ยังมีวีซ่าแชงเก้น ก็ยังอยู่ได้ อีกหนึ่งปี 
 
“คนเสื้อแดงถูกกระทำเยอะ ถูกจับ ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีอะไร ไม่ได้เป็นความรุนแรงต่อร่างกาย แต่เป็นความรุนแรงต่อจิตใจ ทำให้จิตใจของแกนนำและพี่น้องคนเสื้อแดงรู้สึกทุกข์ 
 
“พูดอยางเปรียบเทียบ หลังการสลายการชุมนุมปี 2553 ขบวนการคนเสื้อแดงฟื้นภายในสามเดือน ส่วนเหตุการณ์ในปีนี้ นี่จะห้าเดือนแล้ว ผมว่า น่าจะฟื้นในเก้าเดือนถึงหนึ่งปี ก็ถือเป็นการฟื้นที่เร็วมาก คนเสื้อแดงจิตใจต่อสู้เขาสูง และยังไงก็ยังเกาะกลุ่ม  มีการทำกิจกรรม แกนนำส่วนหนึ่งก็เริ่มเคลื่อนไหว มาเปิดทีวี ไปอภิปราย ถ้ายกเลิกกฎอัยการศึก น่าจะฟื้นเร็วขึ้น เขารู้ข้อนี้ ว่าขบวนการประชาชนก็จะฟื้นเร็ว ถ้ายกเลิกกฎอัยการศึก แล้วมีการชุมนุมแล้วเขาจะกล้าปราบไหม ถ้าปราบก็จะมีปัญหากับสากล เขาก็คงจะไม่เลิกกฎอัยการศึก จนกว่าจะแน่ใจจริงๆ 
 
“นอกจากนี้คสช. ต้องบริหารประเทศ ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง เช่น ปัญหาราคาผลผลิตทางเกษตร  ซึ่งถ้าแก้ไม่ได้ ก็จะมีคนไม่พอใจมากขึ้น นอกจากนี้ภายใน คสช. และฝ่ายผู้สนับสนุน ภายหน้าน่าจะมีความขัดแย้งแตกแยกมากขึ้นเรื่อยๆ”     
 
นักต่อต้านเผด็จการผู้โชกโชน
 
จรัลเล่าว่า ในชีวิตนี้ เคยลี้ภัยการเมืองมาแล้วสามครั้ง ครั้งแรกคือ หนีจากห้องขังเข้าป่าแถวภาคเหนือ ปี 2520 ครั้งที่สอง เดือนพ.ค. 2553 หลังการปราบคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ และนี่คือครั้งที่สาม  
 
ตอนแรกจรัลคิดว่า มีความคิดจะมาอยู่อย่างน้อยสองปี แต่พอมีแนวโน้มจะโดนข้อหา 112 ก็คิดวา คงไม่ได้กลับอีกนาน “จนกว่าประเทศไทยจะมีการปรองดองอย่างจริงจัง หรือจนกว่า ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะเด็ดขาด อาจในสองสามปีก็เป็นได้ ” 

สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิ UN ออกบทวิเคราะห์ รธน.57


            13 ต.ค.2557 สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เผยแพร่บทวิเคราะห์ เรื่องสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ของประเทศไทย ระบุมีเนื้อหาปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่อ่อนแอลง ปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับความเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพกรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และปฏิเสธสิทธิในการมีส่วนร่วมดำเนินกิจการสาธารณะ รายละเอียดมีดังนี้
 บทวิเคราะห์เรื่องสิทธิมนุษยชนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ของประเทศไทย
1. การปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่อ่อนแอลง
มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีกับการยืนยันพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยในการปกป้องสิทธิมนุษยชนภายใต้สนธิสัญญาต่างๆ อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม บางมาตราต่อๆ มากลับให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยไม่มีการคุ้มครองมากพอซึ่งอาจเปิดโอกาสให้เกิดการลดทอนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 44 บัญญัติว่า ในกรณีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เห็น “เป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบังลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน … ให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนี้และเป็นที่สุด”
นอกจากนี้ มาตรา 47 ยังบัญญัติด้วยว่า “บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ทั้งหมด)…เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” มาตราเหล่านี้ดูเหมือนจะเปลี่ยนให้การปฏิบัติและคำสั่งทั้งหมดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการปฏิบัติและคำสั่งที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชน กลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และขาดคุณสมบัติที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของมาตรา 4 ซึ่งกำหนดให้เคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
มาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุว่าพระราชกำหนดสามารถตราขึ้นได้ “เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราที่ต้องพิจารณาโดยด่วนและลับ”
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะมาตรา 4 (1) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นภาคี การประกาศกรณีฉุกเฉินจะทำได้ก็ต่อเมื่อเกิดความเสี่ยงหรือต่อการคงอยู่ของประเทศเท่านั้น แต่ขอบเขตของมาตรา 21 กลับถูกร่างให้ครอบคลุมอย่างกว้างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การอนุญาตให้เกิดการดำเนินการที่เสื่อมสิทธิเกินกว่าขอบเขตของมาตรา 4 (1) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ข้าพเจ้าจึงขอให้รัฐบาลของท่านกำหนดขีดจำกัดและแนวทางการใช้บังคับมาตรา 21 อย่างชัดเจนเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ
2. การปฏิเสธสิทธิที่จะได้รับความเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพกรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
ตราสารระหว่างประเทศหลายฉบับให้สิทธิแก่เหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในการรับการเยียวยา [1] ยกตัวอย่างเช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองกำหนดให้รัฐภาคีมีภาระผูกพันให้การเยียวยา (remedy) ที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ (มาตรา 2(3)(a)) ซึ่งจะใช้บังคับไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้รัฐภาคียังมีภาระผูกพันต้องทำให้การเยียวยานั้นเป็นผล (มาตรา 2(3)(c)) ในทำนองเดียวกัน มาตรา 14 ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention againstTorture and Other Cruel, Inhumanand DegradingTreatment (CAT) ให้สิทธิเหยื่อผู้ถูกซ้อมทรมานในการได้รับค่าชดเชยที่ยุติธรรมและเพียงพอ
แต่มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกลับให้ความคุ้มครองอย่างไม่เหมาะสมแก่ “บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น” การคุ้มครองดังกล่าวใช้บังคับกับการกระทำ “ไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น”
แม้ว่าการกระทำนั้นจะผิดต่อกฎหมายก็ตาม การให้ความคุ้มครองอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการบังคับใช้อย่างไม่มีกำหนดสิ้นสุดเช่นนี้ จะขัดขวางไม่ให้เหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนร้องขอการเยียวยาจากหน่วยงานยุติธรรม ฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติที่เกี่ยวข้องซึ่งขัดต่อสิทธิของบุคคลดังกล่าวในการได้รับการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ ในทำนองเดียวกัน การที่เหยื่อถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อขอความช่วยเหลือจึงทำให้มาตรานี้มีโอกาสละเมิดมาตรา 14(1) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งบัญญัติว่าทุกคนควรมีสิทธิ “ได้รับการพิจารณาคดีที่ยุติธรรมและเปิดเผยโดยคณะผู้พิพากษาที่มีความสามารถ เป็นอิสระและเป็นกลางซึ่งกำหนดโดยกฎหมาย”
มาตรา 44 และ 47 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งทำให้คำสั่งหรือการปฏิบัติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ “ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ยังปฏิเสธสิทธิภายใต้มาตรา 2 และมาตรา 4 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอีกด้วย โดยกีดกันมิให้เหยื่อโต้แย้งหรือโต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของการปฏิบัติดังกล่าวในชั้นศาล นอกจากนี้ มาตราเหล่านี้มีโอกาสละเมิดมาตรา 12 และมาตรา 13 ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งกำหนดให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาการทรมานหรือการปฏิบัติโดยมิชอบทันทีและปราศจากความลำเอียง
3. การปฏิเสธสิทธิในการมีส่วนร่วมดำเนินกิจการสาธารณะ
มาตรา 25(a)ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง บัญญัติว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิและโอกาส “ที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการสาธารณะโดยตรงหรือโดยทางอ้อมผ่านตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกอย่างเสรี”
อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว สถาบันหลักซึ่งรวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มาตรา 6) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (มาตรา 28) จะได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แม้ว่าการคัดเลือกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรอื่นมากกว่าสองสถาบันข้างต้น แต่อย่างไรก็ตามคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีอำนาจสูงสุดในการเลือกสรรบุคคล (มาตรา 32)
การไม่มีมาตรการเปิดให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกสถาบันหลักดังกล่าว ดูเหมือนจะขัดกับมาตรา 25(a) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้พูดถึงที่มาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติว่าตั้งขึ้นมาได้อย่างไร การแต่งตั้งตัวเองของสถาบันนี้จึงเข้าข่ายละเมิดมาตรา 25 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
มาตรา 25 (a) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ยังบัญญัติด้วยว่า “ประชาชนทุกคนพึงมีสิทธิและโอกาสโดยไม่มีความแตกต่างดังที่กล่าวไว้ในมาตรา 2 และโดยไม่มีข้อจำกัดที่ไม่สมเหตุผล...ในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการสาธารณะ...” ในขณะเดียวกัน มาตรา 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของ “เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่น สัญชาติหรือที่มาของสังคม ทรัพย์สิน การเกิด หรือสถานะอื่นๆ”
แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้กลับถือว่าผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มาตรา 8 (1)) หรือเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (มาตรา 33 (2)) เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี (มาตรา 20 (4))
การขาดคุณสมบัตินี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของ “ความเห็นทางการเมือง” หรือ “สถานะอื่น” ตามมาตรา 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเป็น “ข้อจำกัดที่ไม่สมเหตุผล” ตามมาตรา 25 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง นอกจากนี้ข้อจำกัดที่คล้ายๆ กันซึ่งห้ามมิให้ภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวชเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (มาตรา 8 (2)) หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (มาตรา 28) หรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (มาตรา 33 (3)) นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี (มาตรา 20) ถือเป็นการจำกัดสิทธิโดยไร้เหตุผลด้วย
ตุลาคม 2557
[1] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (มาตรา 8) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (มาตรา 2) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี(มาตรา 6) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (มาตรา 39) อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการเคารพกฎหมายและระเบียบสงครามทางบก ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 1907 (อนุสัญญา IV) (มาตรา 3) พิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญาเจนีวา ฉบับลงวันที่ 12 สิงหาคม 1949 และที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเหยื่อจากความขัดแย้งติดอาวุธระหว่างประเทศ (พิธีสาร I) ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 1977 (มาตรา 91) และธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (มาตรา 68 และ 75)