วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

‘พ.อ.วินธัย’ ยันยังไม่มีคำพิพากษาคดี ‘ขอนแก่นโมเดล’


รองโฆษก คสช. แจงยังไม่มีการพิพากษาประหารชีวิต 26 นปช.ที่ขอนแก่น ตามที่มีการปล่อยข่าวในสังคมออนไลน์
 
28 ส.ค. 2557 จากกรณีที่มีการปล่อยข่าวในสังคมออนไลน์ โดยผู้ใช้ชื่อว่า “เสธ น้ำเงิน 2” ได้เขียนข้อความระบุว่า
 
“วันที่ 27 สิงหาคม 2557 ศาลทหารพิพากษาประหารเสื้อแดง นปช. 26 รายรวด จากกรณีผู้ต้องหากลุ่มติดอาวุธแดง นปช.แก๊ง “ขอนแก่นโมเดล” ที่ถูกทหารจับได้ พร้อมกับคลังอาวุธสงครามมหาศาล ขนาดที่จะสร้างความเสียหายกับชาติและประชาชนได้อย่างรุนแรง โดยกลุ่มนี้รับงานตรงทางไลน์มาจากคนแดนไกล และฝึกอาวุธโดยเครือข่ายแรมโบ้อีสาน อาวุธจัดหามาจากเจ้านายของสุดา สหายสุดซอย ที่เป็นคนสนิทคนแดนไกล พวกกลุ่มติดอาวุธแดง นปช.ที่ถูกจับพร้อมอาวุธอีกราว 1,000 ราย คงรู้แล้วใช่ไหม? ว่าศาลทหารมีฤทธิ์เดชขนาดไหน และรู้หรือยังว่าทำไมยังไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก?”

 
พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงว่า คดีดังกล่าวเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการของศาล ยังไม่มีคำพิพากษาใดๆ อย่างที่มีการลือกัน โดยในลำดับแรกจะมีการนัดถามคำให้การนัดแรกในวันที่ 21 ตุลาคมนี้

สำรวจทัศนะหลังศาลยกฟ้องคดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สั่งสลายม็อบ ชี้เป็นอำนาจศาลฎีกาฯนักการเมือง


ทนายความอภิสิทธิ์ เตรียมยื่นฟ้อง ‘ธาริต’ ต่อ ทนายญาติผู้ตายเตรียมยื่นอุทธรณ์ ญาติคนตายเตรียมเคลื่อนร้องความเป็นธรรม นักวิชาการ ยกคดีเทียบเคียง ชี้ นายกไม่มีอำนาจโดยชอบด้วย กม. ในการสั่งฆ่าผู้อื่น เปิดคำสั่งศาลเมื่อต้นเดือน ไม่โอนคดี สลายแดง 53 ให้ ป.ป.ช.
28 ส.ค. 2557 หลังจากที่วันนี้  ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เมื่อปี 2553 ทำให้เห็นมีผู้ถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บจำนวนมาก
โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แย้ง ระบุศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ยังได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนด้วย โดยเห็นว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และญาติผู้ตายที่เป็นผู้เสียหายไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ เนื่องจากมูลเหตุที่นำมาฟ้องคดีซึ่งเกิดจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาจากเหตุสลายการชุมนุม และพนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ดำเนินการสอบสวนมากระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง ก็เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ในการฟ้องหากคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็จะมีเฉพาะข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการกล่าวหาจำเลยทั้งสองในความผิดอาญาฐานร่วมกันมีเจตนาฆ่าผู้อื่น กรณีจึงไม่ใช่เรื่องศาลทั้งสองมีอำนาจขัดแย้งกัน อีกทั้งปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการกล่าวหาจำเลยทั้งสองก็ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 66 ซึ่ง ป.ป.ช.ยังไม่ได้มีคำสั่งไปทางหนึ่งทางใด หากไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูลก็ย่อมมีผลเฉพาะต่อข้อกล่าวหาทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อความผิดใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่นตามฟ้องอัยการโจทก์นี้ จึงเห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ทนายความของอภิสิทธิ์ เตรียมนำคำสั่งยื่นฟ้อง ‘ธาริต’ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบต่อ
ภายหลังฟังคำสั่ง นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพระสุเทพ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ โดยนายอภิสิทธิ์ได้เดินทางกลับพรรคทันทีเพื่อประชุมหารือกับทีมทนายความ
นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความของนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งชี้ว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจ ตนก็จะนำคำสั่งดังกล่าวไปประกอบเป็นพยานหลักฐานนำสืบคดีที่ได้ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีต อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับพวกซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบต่อศาลอาญาด้วย ขณะที่คำสั่งชี้อำนาจฟ้องของโจทก์วันนี้ ฝ่ายอัยการโจทก์ ก็ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้อีกตามขั้นตอนกฎหมาย
นายวันชัย รุจนวงศ์ รักษาการอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นกรณีใหม่ที่ไม่ค่อยได้เกิด ดังนั้นตนยังกล่าวอะไรไม่ได้ ต้องให้เวลาคณะทำงานอัยการที่รับผิดชอบสำนวนดังกล่าวปรึกษาหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปตามขั้นตอนกฎหมาย หากได้ข้อสรุปตนจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง
นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด อดีตอัยการสูงสุด ที่สั่งให้ฟ้องคดีดังกล่าวตามสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับคำสั่งศาลดังกล่าว โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่าขอให้ไปสอบถามผู้รับผิดชอบสำนวนขณะนี้ดีกว่า
ทนายญาติผู้ตายเตรียมยื่นอุทธรณ์ ชี้การฆ่าคนไม่ใช่หน้าที่ นายกฯ รองนายกฯ
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความฝ่ายญาติผู้เสียชีวิตหรือโจทย์ร่วม ปิดเผยว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีอย่างแน่นอน โดยมีกำหนดระยะเวลาในการอุทธรณ์ 1 เดือน
นายโชคชัย มองว่า คำสั่งดังกล่าวส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าในการสืบพยาน เพราะหากอุทธรณ์ก็ต้องรอฟังผลอีก รวมทั้งยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจสอบสวน เนื่องจากกรณีของโจทย์ร่วมหรือญาติผู้ตายนั้น ต้องอาศัยพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน แต่คำสั่งดังกล่าวได้ยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม จึงต้องรอผลการอุทธรณ์ก่อนที่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะหากไปดำเนินคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลย ก็จะติดเรื่องสอบสวน เพราะศาลมองว่ามองว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจ ป.ป.ช.ในการสอบสวนเหมือนกัน เนื่องจากที่ผ่านมาสำนวนสอบสวนทั้งหมดกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้สอบสวนมา ฉะนั้นก็จะมีแง่ทางกฏหมายที่จะต้องพิจารณาต่อไปอีก
นายโชคชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีที่ศาลมองว่าการกระทำของอภิสิทธิ์และสุเทพในคดีเป็นการกระทำในหน้าที่ จึงเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ในการสอบสวน และทั้ง 2 คน เป็นนักการเมืองจึงต้องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น เหตุที่ต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ เพราะการฆ่าคนไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของนายกหรือรองนายก หรือ ผอ.ศอฉ. ที่จะทำได้
นายโชคชัย กล่าวว่า ในเหตุการณ์นี้มีการไต่สวนการตายมาแล้ว และเมื่อไต่สวนแล้ว ก็ส่งให้ พนง.สอบสวน สอบสวนต่อและให้อำนาจอัยการในการฟ้องคดี ซึ่งคดีนี้อัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งฟ้องตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่อีกมุมหนึ่งที่ศาลยกมาวินิจฉัยเรื่องปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้ง 2 นั้น ทั้งที่ในการฟ้องเราก็ระบุว่าเป็นการกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ และต้องเป็นสิ่งที่ต้องฟังข้อเท็จจริงก่อนในกระบวนการพิจารณาคดี ไม่ใช่วินิจฉัยทันที แม้ในขณะเกิดเหตุโจทย์จะเป็นนายกและรองนายก แต่การฆ่าคนก็ไม่ใช่หน้าที่ของทั้ง 2 ตำแหน่งนี้
ญาติคนตาย เตรียมเคลื่อนร้องความเป็นธรรม
นายณัฐภัทร อัคฮาด น้องชาย น.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาผู้เสียชีวิตในเหตุการสลายการชุมนุม ปี 53 บริเวณวัดปทุมฯ กล่าวถึงความกังวลหนังมีคำสังศาลกรณีนี้ว่า เกรงว่าจากคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาจะกลายเป็นเพียงคดีทาการเมืองไป ทั้งๆที่มีคนจำนวนมากเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ดังนั้นจึงเตรียมปรึกษาหารือกับฝ่ายกฏหมายและญาติผู้เสียชีวิต เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แต่ยื่นในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา เคยเป็นคณะกรรมการของ ศอฉ. ที่ย่อมรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และเชื่อว่าท่านเองก็ต้องการให้ทหารเสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นได้รับความเป็นธรรมด้วย
นักวิชาการ ยกคดีเทียบเคียง ชี้ นายกไม่มีอำนาจโดยชอบด้วย กม. ในการสั่งฆ่าผู้อื่น
นายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักวิชาการด้านกฏหมาย ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Phuttipong Ponganekgul’ ระบุว่า “กรณีศาลยกฟ้องอภิสิทธิ์-สุเทพ ในฐานความผิดฆ่าผู้อื่น มาตรา 288 ประมวลกฎหมายอาญา ศาลบอกว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อหน้าที่ราชการ ต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ก่อนอื่นเราต้องพิเคราะห์ว่า การฆ่าผู้อื่น ไม่ว่าจะในฐานะตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไม่ การใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่การสั่งฆ่าผู้อื่น นั้นเป็นการหน้าที่ตามกฎหมายได้อย่างไร
เคยมีคดีหนึ่ง ตำรวจจับผู้ต้องหาหญิงและควบคุมตัวไว้ ตกกลางคืนตำรวจแอบเข้าไปในห้องขังขึ้นนั่งคร่อมตัว เลิกผ้า จับนม ต่อมาตำรวจถูกดำเนินคดีตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การคร่อมตัวเลิกผ้าจับนมไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเลย ฉะนั้นจึงไม่เป็นความผิดต่อหน้าที่ราชการหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
หรือตำรวจใส่กุญแจมือไขว้หลังแล้วทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับ การทำร้ายร่างกายก็ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของตำรวจเช่นกัน ไม่เป็นความผิดต่อหน้าที่ราชการ
ในกรณีอภิสิทธิ์-สุเทพ ก็เช่นกัน แม้จะสวมหมวกนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี มีอำนาจในการสั่งสลายการชุมนุม แต่ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในการสั่งฆ่าผู้อื่น ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด เสมือนหนึ่งมีอำนาจสั่งสลายการชุมนุม แต่ไปฆ่าคนนั่นเอง เช่นเดียวกับตำรวจมีอำนาจจับกุม แต่กลับไปกระทืบผู้ถูกจับกุม ก็ไม่ใช่เรื่องการกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ เช่นนี้ คดีอภิสิทธิ์-สุเทพ จะเป็นคดีกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อย่างไร เป็นการตัดสินคดีที่ตลกมาก”
ศาลเคยสั่งเมื่อต้นเดือน ไม่โอนคดี สลายแดง53 ให้ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.310/2556  ที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตและเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน กระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 157, 200 กรณีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 - 13 ธันวาคม 2555 ได้มีการสรุปสำนวนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการที่ออกคำสั่ง ศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และดีเอสไอไม่มีอำนาจ ต้องเป็นการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า  สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มนปช. ระหว่างปี 2551 – 2553  มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายหมื่นคน ต่อมามีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้ประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณแยกผ่านฟ้าและถ.ราชดำเนิน จนเกิดการปะทะกับกลุ่มที่อ้างว่าเป็นชายชุดดำ มีเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถใช้อาวุธปืนและจัดให้มีหน่วยพลทหารซุ่มยิงระยะไกลได้  ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มนปช.ดำเนินเรื่อยมา และได้ยุติลงเมื่อเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก  ซึ่งบางรายเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากนั้นพนักงานอัยการได้ยื่นไต่สวนชันสูตรสาเหตุการตาย
โดยศาลได้มีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตบางราย โดยเฉพาะนายพัน คำกอง ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนความเร็วสูงที่ยิงมาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่ทหาร ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย พยานหลักฐานที่นำสืบของโจทก์จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหาหรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ระบุว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.)  ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไข นั้นเห็นว่า คดีที่จำเลยได้ดำเนินการทำสำนวนและส่งให้พนักงานอัยการนั้น เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288  ซึ่งอัยการสูงสุดก็ได้มีคำสั่งให้ฟ้องโจทก์ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ได้บิดเบือนหรือกลั่นแกล้ง จึงพิพากษายกฟ้อง

คืนความจริงกับอภิชาติพงศ์ : เมื่อสิ้นไร้เสรีภาพ ประเทศนี้ยังมีศิลปินอยู่อีกไหม?



28 ส.ค. 2557 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘คืนความจริง’ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ ในชื่อตอน "เมื่อสิ้นไร้เสรีภาพ ประเทศนี้ยังมีศิลปินอยู่อีกไหม?" กับประเด็น ศิลปะมีความสัมพันธ์กับเสรีภาพอย่างไร การแสดงออกทางศิลปะควรถูกจำกัดด้วยกฎหมายหรือไม่ ภายใต้เสรีภาพอันจำกัดเช่นปัจจุบัน ศิลปะควรอยู่ตรงไหน ศิลปินทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชี้คดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สลายแดง ศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษา

28 ส.ค. 2557 หลังจากที่วันนี้  ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เมื่อปี 2553 ทำให้เห็นมีผู้ถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บจำนวนมาก
โดยศาลระบุว่ามูลเหตุแห่งคดี เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่ ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 2 สำนวน จึงพิพากษายกฟ้องคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 และยกฟ้องการขอเป็นโจทก์ร่วม
อย่างไรก็ตาม ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีความเห็นแย้งไว้ในสำนวนด้วยว่า 
ก่อนฟ้องคดีนี้ได้มีการขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ศาลอาญามีคำสั่งว่าผู้ตายถูกกระสุนปืนความเร็วสูงของเจ้าหน้าที่ทหารหรือกระสุนปืนยิงมาจากฝั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลก็ได้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวน ดำเนินการต่อไป ตาม ป.อาญา มาตรา 150 วรรค 10 เมื่อศาลชี้ขาดว่าเจ้าพนักงานเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงหรือยิงมาจากเจ้าพนักงาน พนักงานอัยการมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนการไต่สวนให้แก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป เพื่อสอบสวนหาผู้กระทำผิด ซึ่งกรณีดังกล่าวอัยการส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้สอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
ต่อมาพนักงานดีเอสไอได้เสนอความเห็นสมควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองแล้ว โดยอัยการสูงสุดสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 ตาม ป.วิอาญา มาตรา 143 ที่ระบุว่า “คดีฆาตกรรม” ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย อธิบดีกรมอัยการมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง คดีนี้อัยการสูงสุดจึงสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองข้อหาฆาตกรรม ตาม ป.อาญา 288 ประกอบมาตรา 84 สืบเนื่องจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพดังกล่าว โจทก์จึงยื่นฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับโทษฐานเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ข้อหาฆ่าคนตายตาม ป.อาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84 ไม่ใช่ขอให้ลงโทษในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ 
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในตอนแรกว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงาน แต่ก็เป็นเพียงคำบรรยายเพื่อให้ปรากฏที่มา ของการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธสงครามยิงผู้ตาย ย่อมเป็นการกระทำนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยทั้งสอง โดยคำฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุมัติใช้อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนปฏิบัติหน้าที่ จำเลยทั้งสองมีเจตนาเล็งเห็นผลว่าเจ้าพนักงานจะใช้อาวุธสงครามยิงประชาชนได้ จึงเป็นเรื่องการกระทำนอกเหนือตำแหน่งราชการ เป็นการก่อหรือใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ส่วนพยานหลักฐานจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
นอกจากนี้ความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 84 ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี แต่คดีที่ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนนั้น เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น ความผิดที่โจทก์ฟ้องฐานใช้หรือก่อให้ฆ่าผู้อื่น จึงเป็นบทหนัก โทษสูงกว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างมาก  พ.ร.บ. ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 66 จึงได้บัญญัติให้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มุ่งหวังให้ดำเนินการไต่สวนความผิดฐานอื่น โดยเฉพาะความาผิดฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เนื่องจากเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ที่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการต้องดำเนินการตาม ป.วิอาญา อยู่แล้ว 
แม้ ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่องค์กรศาล ไม่มีอำนาจชี้ขาดหรือพิพากษาลงโทษผู้ใดได้ เพียงแต่ให้อำนาจตามมาตรา 66 ในการใช้ดุลพินิจว่าสมควรไต่สวนหรือไม่เท่านั้น ซึ่งความผิดฐานฆ่าผู้อื่นดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ  แล้วฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าเจ้าพนักงานเป็นผู้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงผู้ตายโดยจำเลยทั้ง 2 เป็นผู้ก่อหรือใช้ให้กระทำความผิด จึงเป็นความผิดคนละฐานและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หาก ป.ป.ช.เห็นว่าความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไม่มีมูล ก็ย่อมทำให้ความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นยุติไปด้วย หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ศาลในเวลาเดียวกันด้วย ซึ่งไม่ใช่ความมุ่งหมายของกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 66
นอกจากนั้นยังเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายซึ่งเป็นญาติผู้ตาย ตาม ป.วิอาญา มาตรา 150 วรรค 10 อีกด้วย หากอำนาจชี้ขาดไปอยู่ที่ ป.ป.ช. ตามคำพิพากษาขององค์คณะที่วินิจฉัยมาย่อมเป็นการตัดสิทธิของผู้เสียหาย จะเป็นการแปลความกฎหมายที่ปราศจากความยุติธรรมและขัดต่อหลักกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด ก็ควรเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้คดีถึงที่สิ้นสุด เพื่อให้ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตัดสิทธิฟ้องของโจทก์และผู้เสียหายเช่นนี้
นอกจากนั้นแม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว ระหว่างความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และข้อหาก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่น แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้ความผิดกรรมเดียว ซึ่งเป็นบทเบา ระงับแล้วมีผลให้ความผิดบทหนักต้องระงับหรือยุติไปด้วย และปัจจุบันคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการยังอยู่ในระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. โดยยังไม่มีคำสั่งทางใดทางหนึ่ง หากผลการไต่สวนได้ข้อยุติว่าไม่มีมูล ย่อมมีผลเฉพาะข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ไม่มีผลต่อความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นความผิดที่โจทก์ฟ้องนี้แต่อย่างใด
แต่หาก ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูล ตามมาตรา 66 กระทั่งมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางอาญาของนักการเมืองตามมาตรา 70 แล้ว ศาลก็จะรับฟ้องไว้เฉพาะข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น ศาลอาญายังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดฐานก่อหรือใช้ให้ฆ่าผู้อื่นต่อไป แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าการกระทำเป็นความผิดกรรมเดียวกัน เป็นเรื่องที่ศาล โจทก์ และจำเลยทั้งสองจะแถลงต่อศาลว่าเป็นการกระทำผิดกรรมเดียว สมควรรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน ซึ่งศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุดมีอำนาจสั่งให้โอนสำนวนมาพิจาณาหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งได้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลทั้งสองมีอำนาจขัดแย้งกัน ดังนั้น เมื่อ ป.ป.ช.ยังไม่ชี้มูลก็ไม่มีเหตุที่จะคาดการณ์ล่วงหน้า แล้ววินิจฉัยว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ โดยยกอำนาจเด็ดขาดของศาลไปให้ ป.ป.ช. ชี้ขาดเสียเอง
จึงมีความเห็นแย้งว่า การสอบสวนของพนักงานสอบสวนดีเอสไอที่สืบเนื่องมาจากการไต่สวนชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิอาญา มาตรา 150  ต่อมาอัยการสูงสุดได้มีความเห็นสั่งฟ้องต่อจำเลยทั้งสองต่อศาลอาญาในความผิดดังกล่าวนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นอำนาจของศาลอาญาที่จะพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้ จึงไม่เห็นชอบต่อคำพิพากษาดังกล่าว แต่เห็นควรว่าศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และญาติผู้ตายที่เป็นผู้เสียหายมีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วม แล้วให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาพิพากษาต่อไป

ชัชชาติแนะทบทวนรถไฟรางคู่ 160 กม./ชม.-ชี้ไม่คุ้ม-ช้าเกินแข่งโลวคอสต์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวในงาน "มติชนอะคาเดมี" ชี้แผนพัฒนารถไฟรางคู่มาตรฐาน 7 แสนล้านอาจไม่คุ้มค่าเพราะทำความเร็วแค่ 160 กม./ชม. อาจเน้นใช้ขนสินค้าจีนผ่านไทย แต่ไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่างจากรถไฟความเร็ว 250 กม./ชม. ใช้ขนคนมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (แฟ้มภาพ/เพจชัชชาติ สิทธิพันธุ์)
29 ส.ค. 2557 - ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม กล่าวในงานเสวนาเรื่องแผนที่โครงการรถไฟสมัยรัชกาลที่ 5 กับการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ของไทยปัจจุบัน ซึ่งจัดขึ้นโดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ที่มติชนอคาเดมี เมื่อวันที่ 28 ส.ค. โดยกล่าวถึงแผนของ คสช. ที่จะพัฒนาระบบรางและเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่ต่อว่า มีความยินดีเพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อปรับระบบขนส่งจากทางถนนมาสู่ระบบรางเพื่อลดต้นทุนขนส่งคนและสินค้า
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.43 เมตร ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 2 เส้นทาง คือหนองคาย-โคราช-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 ก.ม. วงเงิน 392,570 ล้านบาท และเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 ก.ม. วงเงิน 348,890 ล้านบาทนั้น ต้องวางเป้าหมายให้ชัดว่าจะสร้างเพื่อวัตถุประสงค์อะไร
"ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าจะเกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากกว่าการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงหรือ ไฮสปีดเทรน ที่วิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 250 ก.ม. ต่อชั่วโมงอย่างไร จริงๆ ไม่ใช่เรื่องผิดหากผู้นำยุคนี้จะคิดต่าง และจะเน้นสร้างรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วมาก ขณะที่รัฐบาลก่อนสร้างไฮสปีดเทรนเน้นขนส่งคนภายในประเทศ เพราะผมมองว่าไฮสปีดเทรนจะช่วยสร้างเมืองใหม่ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเกิดประโยชน์ต่อภาพรวม"
อดีต รมว.คมนาคม ระบุว่า หากดูแนวเส้นทางที่กำลังจะสร้างขณะนี้จะเห็นว่าเน้นขนสินค้าจากจีนมายังไทย ผ่านออกไปต่างประเทศที่ท่าเรือแหลมฉบัง ไทยเป็นเพียงแค่ทางผ่านมีรายได้แค่ค่าผ่านทางเท่านั้น จึงต้องคิดให้รอบคอบว่ารถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วแค่ 160 ก.ม. ต่อ ชั่วโมง ช้าเกินไปหรือไม่ถ้าจะขนส่งคนแข่งขันกับเครื่องบินโลว์คอสต์
ส่วนกรณีที่รัฐบาลระบุว่าในอนาคตสามารถจะอัพเกรดเป็นไฮสปีดเทรนได้นั้น มองว่าหากจะมีการอัพเกรดรางหรือระบบเทคนิคใหม่อีกครั้ง จะถือว่าเป็นการลงทุน 2 ครั้ง ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น รฟท. ควรเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารการเดินรถ ส่วนงานบริหารรายได้จากสินทรัพย์ควรให้กระทรวงการคลังเข้ามาทำแทน

สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ด่วน 4 ฉบับ-วานนี้รับหลักการแล้ว 5 ฉบับ

สนช. เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายเร่งด่วน ที่ หน.คสช.เสนอ 4 ฉบับ ในเช้าวันนี้ ขณะที่เมื่อ 28 ส.ค. มีมติรับหลักการแล้ว 5 ฉบับ ส่วน พ.ร.บ.ทวงหนี้เลื่อนไปสัปดาห์หน้า ต้องศึกษาเรื่องเจ้าหนี้-ลูกหนี้-วิธีทวงหนี้
29 ส.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติ วันนี้ (29 ส.ค. 2557) กำหนดเริ่มในเวลา 10.00 น. โดยมีวาระการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติเร่งด่วน ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอ จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย
ร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ
ร่าง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย และร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต
ขณะที่การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วานนี้ (28 ส.ค.) ที่ประชุมมีมติรับหลักวาระแรก ร่างพระราชบัญญัติเร่งด่วนที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เสนอ จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย
  • ร่าง พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย
  • ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  • ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร
  • ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร
  • และร่าง พ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494

โดยทุกฉบับกำหนดให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณา จำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ยกเว้น ร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ ที่เลื่อนการพิจารณาไปสัปดาห์หน้า เพราะต้องศึกษารายละเอียดข้อบัญญัติให้รอบด้านทั้งในส่วนของลูกหนี้ เจ้าหนี้ และวิธีการทวงถามหนี้

ทูตอังกฤษ เปิดบล็อกส่วนตัว เพื่อสนับสนุนการแสดงออกในไทย


บล็อกของ มาร์ค เคนท์ กับโพสต์แรกหลังจากไม่ได้บล็อกมานานถึงสี่ปี
28 สิงหาคม 2557 มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย แถลงข่าวเปิดบล็อกส่วนตัว ณ ทำเนียบทูตอังกฤษ ที่จะเขียนถึงมุมมองของตัวเองที่มีต่อประเทศไทย และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร และยังได้กล่าวสนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชนในกรตรวจสอบผู้มีอำนาจ 
 
 
“บล็อกของผมเสนอความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัวของผม ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นความเห็นของรัฐบาลอังกฤษ ผมจะพยายามอธิบายถึงนโยบายของสหราชอาณาจักรอย่างที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเน้นที่ประเทศไทยและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร ผมจะเขีนถึงประเด็นต่างๆ ได้แก่ ด้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้านประชาธิปไตย ด้านหลักนิติธรรม ความเสมอภาค และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” เคนท์กล่าว
 
โดยเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรยังกล่าวอีกว่า ก่อนที่จะมาประจำที่ประเทศไทยเคยเป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ประชาชนไม่ค่อยมีเสรีภาพในการแสดงออก เขาก็ได้เปิดบล็อกลักษณะเดียวกัน
 
เคนท์ยังได้กล่าวสนับสนุนสื่อมวลชนไทย ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทในการตรวจสอบผู้ที่อยู่ในอำนาจ และเห็นว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากๆ ในสังคมประชาธิปไตย  
 
โดยในโพสต์แรกของบล็อก ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 27 ส.ค. 57 เคนท์ได้เขียนแนะนำถึงความเป็นมาของตนเอง และแนะนำหัวข้อที่เขาจะพูดถึงต่อๆ ไปในบล็อก เชน ราชวงศ์อังกฤษ ประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออก และยังเขียนด้วยว่า เขาเป็นแฟนของสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล 
 
อนึ่ง การเขียนบล็อกดังกล่าว มาจากความคิดริเริ่มของเคนท์เอง 
 
บล็อกของ เคนท์ สามารถเข้าดูได้ที่ http://blogs.fco.gov.uk/markkent 

'ผู้ต้องหายิงสุทิน' ตายปริศนาในคุก แม่สงสัยอาจโดนซ้อมเพราะเป็นเสื้อแดง

10518320_427206027419311_7594025778079903574_o


28 สิงหาคม 2557 นายสุรกริช ชัยมงคล ผู้ต้องหายิงแกนนำ กปท. เสียชีวิต ได้เสียชีวิตระหว่างถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในขณะที่กรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า สุรกริชเสียชีวิตเพราะโรคประจำตัว มารดาของนายสุรกริชยืนยันว่า ลูกชายของตนสุขภาพดี และเชื่อว่าน่าจะถูกซ้อมจนตายมากกว่า
 
นายสุรกริช ชัยมงคล อายุ 36 ปี เป็นผู้ต้องหาในกรณียิง นาย สุทิน ธราทิน แกนนำ กปท. เสียชีวิตที่วัดศรีเอี่ยม เมื่อวันที่ 26 ม.ค 57 (รายละเอียด) ถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ทหารที่บ้านโดยอ้างกฎอัยการศึกในวันที่ 8 ก.ค 57 และวันที่ 29 ส.ค 57 มารดาผู้ต้องหาได้รับแจ้งการเสียชีวิต ซึ่งมูลเหตุของการเสียชีวิต ยังอยู่ในระหว่างการส่งชันสูตรศพ ซึ่งจะมีการชันสูตรศพที่โรงพยาบาลตำรวจในบ่ายวันนี้ 

 
นางอารีย์ ชัยมงคล มารดาผู้เสียชีวิต กล่าวว่า วันที่ 8 ก.ค 57 ทหารหนึ่งกองร้อยได้บุกมาที่บ้าน และจับกุมลูกชายของตน โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก หลังการจับกุม นายสุรกริชถูกนำไปควบคุมตัว สน.บางนา 1 คืน ต่อมาถูกย้ายควบคุมที่ศาลพระโขนง 1 คืน  และถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
 
นางอารีย์กล่าวว่า เมื่อแรกเข้าไปในเรือนจำ นายสุรกริชถูกจองจำอยู่ที่แดนหนึ่ง และได้รับการดูแลจากนักโทษการเมืองเสื้อแดงอื่นๆ เช่น  ทอม ดันดี และ เจ๋ง ดอกจิก ในช่วงแรกของการเข้าเยี่ยม พบว่าลูกชายดูมีกำลังใจดี ร่างกายแข็งแรง ซึ่งตนนั้นได้เข้าไปเยี่ยมในช่วงแรกอาทิตย์ละ2ครั้ง
 
ต่อมาเมื่อ2อาทิตย์ทีผ่านมา เรือนจำได้ย้ายนายสุรกริช ไปอยู่แดนสี่ โดยไม่ให้เหตุผล โดยในการเข้าเยี่ยมครั้งสุดท้าย คือเมื่อวันที่ 21 ส.ค 57 นายสุรกริชบอกกับมารดาว่า อยู่ที่แดนสี่นั้น “คงไม่รอด ตายแน่”  เพราะโดนซ้อมในมุมมืดของเรือนจำ จึงไม่สามารถระบุว่าใครเป็นผู้ซ้อม ได้ยินแต่เสียงว่า “ใครเป็นเสื้อแดงจะฆ่าให้หมด”
 
เขายังได้เล่าให้มารดาฟังอีกว่า เคยมีนักโทษการเมืองเสื้อแดงโดนซ้อมเสียชีวิต แต่ไม่ได้ระบุว่าแดนไหน 
มารดาของเขาสังเกตว่า เมื่อย้ายมาอยู่แดนสี่ เขายังดูร่างกายแข็งแรงดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ยกเว้นแต่ร่องรอยการถูกซ้อมบ้าง และสภาพที่ดูผอมไปบ้างเล็กน้อย ซึ่งทุกครั้งที่ตนไปเยี่ยม จะฝากเงินและอาหาร ให้ตลอด  
 
เมื่อเช้านี้ นางอารีย์ได้รับแจ้งจากพยาบาลโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ว่า ลูกชายเสียชีวิตแล้ว จากคำบอกเล่าของ นางพยาบาล บอกว่า นายสุรกริชเสียชีวิต หลังจากถูกพาตัวมาโรงพยาบาลเพียง 10นาทีพบแผลพกช้ำที่แขนซ้าย และมีเลือดตกในช่องท้อง 
 
“เราได้ยินแล้วก็ไม่อยากเชื่อว่าจะถูกซ้อมเพียงแค่วันเดียว” นางอารีย์กล่าว และว่า นายสุรกริชคงถูกซ้อมสะสมมาหลายวัน นาง อารีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะถูกกล่าวหาในคดียิงนาย สุทิน ธราทิน เขาได้ถูกจับข้อหาพกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ ซึ่งศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตัดสินเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ว่ามีความผิด และให้เสียค่าปรับ 3,500 บาท ก็มีการจ่ายค่าปรับ แต่ต่อมา ตำรวจกลับกล่าวหาว่า ปืนกระบอกนั้นเป็นกระบอกเดียวกันที่ใช้ยิง นาย สุทิน ธรทิน แกนนำ กปท.เสียชีวิตที่วันศรีเอี่ยม  “ลูกเราไม่ได้ทำ รับสารภาพไม่ได้หรอก ต้องให้ความจริงปรากฎ” มารดาผู้เสียชีวิตกล่าว
 
ทั้งนี้ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ให้ข่าวกับสำนักข่าวไทยว่า ผู้ต้องหามีอาการป่วยโรคหอบหืด หายใจไม่ออก เรือนจำจึงนำตัวไปส่งที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่นายสุกริชเสียชีวิตในช่วงเย็นวันเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ต้องหามีโรคประจำตัว คือ เบาหวานและหอบหืดอยู่แล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกาย

ยอดสมัคร สปช. 16 วัน กว่า 4,000 คน


กกต.สรุปยอดเสนอชื่อเข้าสรรหา สปช. 16 วัน กว่า 4,000 คนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคม "คุณหญิงพรทิพย์-เนาวรัตน์-รสนา-เจิมศักดิ์" สมัครด้วย
29 ส.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานบรรยากาศการเปิดรับการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นวันที่ 16 แล้ว ตลอดทั้งวันมีองค์กรนิติกรบุคคลไม่แสวงหากำไรเสนอรายชื่อทั้ง 11 ด้าน จำนวน 413 คน โดยแบ่งเป็นการยื่นที่สำนักงาน กกต. 325 คน และส่งเอกสารทางไปรษณีย์ 88 คน ส่วนที่เข้าเสนอชื่อต่อคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัด 135 คน รวมทั้งสิ้นวันนี้มีผู้เข้ารับการเสนอชื่อ จำนวน 548 คน และรวมการเปิดรับเสนอชื่อทั้ง 16 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-วันนี้ (29 ส.ค.) มีนิติบุคคลเสนอชื่อจำนวน 2,123 คน และเสนอชื่อระดับจังหวัดจำนวน 2,138คน รวมทั้งหมดจำนวน 4,261 คน โดยด้านที่มีผู้เสนอชื่อมากที่สุด คือ ด้านการศึกษาจำนวน 355 คน รองลงมาคือด้านสังคม 303 คน ส่วนด้านที่เสนอชื่อน้อยที่สุดคือด้านสื่อสารมวลชน 100 คน
ส่วนบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่เข้ารับการเสนอชื่อในวันนี้ ( 29 ส.ค.) อาทิ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ส่งโดยสมาคมชาวสงขลาเข้าสรรหาด้านกฎหมาย นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด (มหาชน) บิดา น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร อดีตแกนนำ กปปส. ในนามสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าสรรหาด้านเศรษฐกิจ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอชื่อนายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เข้าสรรหาด้านการเมือง และเสนอชื่อนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้าสรรหาด้านบริหารราชการแผ่นดิน 
มูลนิธิพัฒนางานอัยการเสนอชื่อนายประพันธ์ นัยโกวิท อดีต กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เข้าสรรหาด้านการเมือง สมาคมตลาดตราสารหนี้ เสนอชื่อนายพิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีต รมช.คลัง เข้าสรรหาด้านเศรษฐกิจ นิติบุคคลปาล์มพาวิลเลี่ยน คอนโด เสนอชื่อ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี เข้าสรรหาด้านสังคม สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนเสนอชื่อ ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ เข้าสรรหาด้านเศรษฐกิจ สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เสนอชื่อนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการพยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เข้าสรรหาด้านเศรษฐกิจ 
มูลนิธิเพื่อสถาบันฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านปิโตรเลียม เสนอชื่อนายไกรฤทธิ์ นิลคูหา ประธานมูลนิธิ และนายวิโรจน์ มาวิจักขณ์ กรรมการอำนวยการ บมจ.ไทยออยล์ เข้าสรรหาด้านพลังงาน สมาคมศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เสนอชื่อนายสุภรัฐ จิราธิวัฒน์ รองประธาน ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซาจำกัด (มหาชน) สมาคมวู้ดบอลแห่งประเทศไทย เสนอชื่อ นายวิจิตร เกตุแก้ว อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด เสนอชื่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. เข้าสรรหาด้านพลังงาน สมาคมคนพิการคลองเตย เสนอชื่อ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านนโยบายพลังงาน เข้าสรรหาด้านพลังงาน 
มูลนิธิรพีพรเพื่อสวัสดิการนักเขียน เสนอชื่อนายธัญญา ชุนชฎาธาร อดีตนักเคลื่อนไหว 14 ตุลา เข้าสรรหาด้านสื่อมวลชน สหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ เสนอชื่อนางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจการบินไทย 
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เสนอชื่อ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขา ปปง. กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เสนอชื่อ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มูลนิธิสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา เสนอชื่อ น.ส.อารีวรรณ จตุทอง อดีตรองนางสาวไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) เสนอชื่อนายภิญโญ ทองชัย อดีตเลขาธิการ ป.ป.ท. สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอชื่อ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา
สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เสนอชื่อนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความฯ เข้าสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย เสนอชื่อ พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ อดีต ส.ว.เข้าสรรหาด้านปกครองท้องถิ่น สมาคมอีสานเพื่อการพัฒนา เสนอชื่อนายประเกียรติ นาสิมมา อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าสรรหาด้านกฎหมายกระบวนการยุติธรรม สมาคมช่างผมและเสริมสวยไทย เสนอชื่อนายสมศักดิ์ ชลาชล ช่างผมชื่อดัง เข้าสรรหาด้านอื่นๆ มหาวิทยาลัยศิลปากร เสนอชื่อนางตรึงใจ บูรณสมภพ อดีต ส.ว. มูลนิธิอร่าม โล่วีระ เสนอชื่อ นายเกียรติชัย พงษ์พานิช อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 50 มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เสนอชื่อ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตเลขาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าสรรหาด้านการเมือง
สมาคมทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ เสนอชื่อ พล.อ.วัฒนา สรรพานิช อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เสนอชื่อนายวิชัย ศรีขวัญ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าสรรหาด้านบริหารราชการแผ่นดิน มหาวิทยาลัยศิลปากร เสนอชื่อนายณรงค์ โชควัฒนา นักธุรกิจอิสระ เข้าสรรหาด้านเศรษฐกิจ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เสนอชื่อ พญ.พรพันธ์ บุญยรัตนพันธุ์ ส.ว.สรรหา เข้าสรรหาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เสนอชื่อ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 เสนอชื่อนายทวี สุรฤทธิกุล แนวร่วม กปปส. มูลนิธิสื่อสร้างสรรค์ เสนอชื่อนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. เข้าสรรหาด้านสังคม
มูลนิธิวิภาวดี รังสิต เสนอชื่อ นายปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล อดีตนักร้อง เข้าสรรหาด้านอื่นๆ สถาบันนิติวิทยา เสนอชื่อ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ เข้าสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
ส่วนองค์กรนิติบุคคลภายใต้การนำของหลวงปู่พุทธะอิสระ ที่นำบุคคลมายื่นเสนอชื่อในวันนี้ ประกอบด้วย มูลนิธิวัดอ้อน้อย เสนอชื่อ นายมหัศจักร โสดี กลุ่มประชาคมนักธุรกิจสีลม อดีตแนวร่วม กปปส. เข้าสรรหาด้านอื่นๆ และนายมงคล นาฏกระสูตร เข้าสรรหาด้านการศึกษา มูลนิธิธรรมอิสระ เสนอชื่อนายปริญญา ศรีสุคนธ์ เข้าสรรหาด้านสังคม มูลนิธิอโรคยาศาลา เสนอชื่อนายวิวัฒน์ โลหิตหาญ เข้าสรรหาด้านการศึกษา และเสนอชื่อณัฐฐา หิรัญชุณหะ เข้าสรรหาด้านสื่อสารมวลชน 
ด้าน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ซึ่งมาสมัคร สปช .ด้านกฎหมายฯ เมื่อเวลา 16.20 น. กล่าวว่า ต้องการที่จะปฏิรูปกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ทั้งระบบ ให้เหมือนกับในต่างประเทศ เพราะสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของไทยตั้งแต่มีการก่อตั้งเมื่อปี 2545 ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีข้อเสนอปฏิรูป แต่ผ่านมา 10 ปีก็ยังไม่มีการปฏิรูป ทั้งนี้ อยากให้มีการปฏิรูปเพื่อให้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มีความน่าเชื่อถือมากกว่าพยานบุคคล และต้องมีหลักประกัน นอกจากนั้นก็ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับที่ยังล้าสมัยอยู่

กมธ.งบ 58 พิจารณางบเสร็จแล้ว 19 กระทรวงปรับลด 4,100 ล้านบาท

โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เผยพิจารณางบฯ 19 กระทรวงเสร็จแล้ว ปรับลดลง 4,100 ล้านบาท เหลือส่วนราชการที่ไม่สังกัดกระทรวง
 
29 ส.ค. 2557 พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณางบประมาณของส่วนราชการระดับกระทรวง 19 กระทรวงเสร็จแล้ว ขณะนี้ปรับลดงบประมาณลง 4,100 ล้านบาท โดยกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2557 อีกร้อยละ 5 ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นตามแผนพัฒนาและดำรงสภาพของกองทัพ และงบบำเหน็จบำนาญราชการ ขณะที่งบประมาณของกระทรวงมหาดไทย ส่วนใหญ่เป็นงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมโยธาธิการฯ วันนี้ พิจารณางบประมาณส่วนราชการที่ไม่สังกัดกระทรวง ตั้งเป้าจะให้แล้วเสร็จ
 
ด้านนายกิตติ วะสีนนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พูดถึงงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นหน่วยงานที่อยู่ศูนย์กลางบริหาร มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ และมีการพูดถึงข้อห่วงใยในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น การบริหารจัดการที่ดี ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้ฝากเรื่องธรรมาภิบาลในการจัดสรรงบประมาณ
 
“กองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นหน่วยงานที่ได้รับการชมเชยมากที่สุด โดยเฉพาะกรณีที่ร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในการวิจัยโครงการรับจำนำข้าว” นายกิตติ กล่าว
 
นายกิตติ กล่าวว่า ประเด็นที่พูดกันมาก คือ เรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะมีการพิจารณางบประมาณของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย จึงได้ย้ำว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาควรเป็นไปในทิศทางเดียวและมีประสิทธิภาพ โดยยังสนับสนุนแนวทางการเจรจาสันติภาพ แต่ต้องเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์