วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ศาลนัดไต่สวนอภิสิทธิ์-สุเทพเป็นโจทก์ฟ้องธาริตทำคดีสลายชุมนุม 53

เริ่มไต่สวนคดีอภิสิทธิ์-สุเทพฟ้อง "ธาริต เพ็งดิษฐ์" และ จนท.ดีเอสไอ 4 ราย มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จากการตั้งข้อหาอภิสิทธิ์-สุเทพ ว่าร่วมกันฆ่าคนตายโดยเจตนากรณีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปี 53
8 ก.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ ในคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีต นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต รองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พร้อมเจ้าหน้าที่ รวม 4 รายในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และข้อหาอื่นๆ จากกรณีร่วมกันตั้งข้อหาร่วมกันฆ่าคนตายโดยเจตนา จากการประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อปี 2553
โดยนายสุเทพ ยังคงงดให้สัมภาษณ์ในประเด็นการเมือง เนื่องจาก สถานการณ์ในขณะนี้ ไม่เหมาะสมในการแสดงความเห็นใดๆ

ศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหา 1 รายคดียิง "สุทิน ธราทิน"


สตช.เผยศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหายิงแกนนำกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เมื่อ 2 ก.พ. 1 ราย ส่วนผู้ต้องหาอีกราย กำลังรวบรวมพยานเพิ่ม โดยยังไม่เปิดเผยชื่อผู้ต้องหาเพราะเกรงไหวตัวทัน
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานวันนี้ (8 ก.ค. 57) ว่า พล.ต.ท.ชัยยง กีรติขจร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังจากพนักงานสอบสวนขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหายิงนายสุทิน ธราทิน แกนนำ กปท. เพิ่มอีก 2 คน เมื่อวานนี้ ล่าสุดศาลได้อนุมัติหมายจับเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งเป็นคนก่อเหตุยิง ส่วนอีกคนที่เป็นผู้ร่วมในขบวนการ ศาลให้กลับมารวบรวมพยานหลักฐานเพิ่ม เนื่องจากพยานหลักฐานยังไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ หลังศาลอนุมัติหมายจับ ชุดจับกุมได้เร่งติดตามตัวผู้ต้องหา คาดว่าจะสามารถจับกุมตัวได้ภายใน 2-3 วันนี้ อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อผู้ต้องหาได้ เนื่องจากเกรงว่าจะไหวตัวทันและหลบหนี

ฝ่ายกฎหมาย คสช. เตรียมมอบนโยบาย ผวจ. แก้ปัญหายาเสพติด



พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายฯ คสช. เตรียมประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ เพื่อมอบนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด 6 ประการ เน้นสกัด ปราบปราม จับกุม กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 3,250 หมู่บ้าน บำบัดผู้ใช้ยาเสพติด ยึดอายัดทรัพย์ผู้ค้า และดำเนินการกับ จนท.รัฐที่เกี่ยวข้องยาเสพติด
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล/แฟ้มภาพ)
8 ก.ค. 2557 - เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (8 ก.ค.57) ที่กระทรวงมหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติดกระทรวงมหาดไทย (ศพส.มท.) กำหนดจัดประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ในระดับพื้นที่รับทราบในวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ระหว่างเวลา 08.00 – 15.00 น. ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กทม. โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบนโยบายให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีทุกกรมในสังกัด ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร) เลขานุการ ศพส. จังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ ผู้แทนกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ตลอดจนผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง ประกอบด้วย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงาน ปปส. กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมคุมประพฤติ และกรมราชทันฑ์ รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,350 คน
การดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันเป็นไปตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2557 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด รวมทั้งมาตรการเร่งรัดปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด ของ ผช.ผบ.ทบ.-หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. 6 ประการ คือ 1) การสกัดกั้น ปราบปราม จับกุม และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ 2) เร่งรัดดำเนินการต่อหมู่บ้าน และชุมชนเป้าหมาย 3,250 หมู่บ้าน ภายใน 30 วัน 3) การจัดระเบียบสังคมและเฝ้าระวังสถานบริการ สถานประกอบการ หอพัก ร้านเกมส์ อินเตอร์เน็ต โต๊ะสนุกเกอร์ 4) การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดและการสร้างภูมิคุ้มกันในเยาวชนกลุ่มเสี่ยง 5) การยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งระบบ และ 6) การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

คสช. เห็นชอบความตกลงการค้า-ลงทุนอาเซียน-อินเดีย



คสช.-ปลัดกระทรวงพาณิชย์-เลขาธิการสภาพัฒน์ แถลงเห็นชอบลงนามความตกลงการค้า-การลงทุนอาเซียน-อินเดีย โดยจะเปิดเสรีภาคบริการให้อินเดียเข้ามาลงทุน 49% ใน 80 สาขากิจการ และเห็นชอบพิธีสารแก้ไขตารางภาษีข้อตกลงการค้าออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ว่า เมื่อเวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก พร้อมด้วย ร.อ.นายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ คณะโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายพลเรือน นางสาวชุติมา บุญยประภัสร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ร่วมกันแถลงข่าว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นางสาวชุติมา บุญยประภัสร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเกี่ยวกับการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนระหว่างวันที่ 24- 26 สิงหาคม 2557 ว่าได้มีการเสนอขอความเห็นชอบจากการประชุมคณะ คสช. ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 5/2557 โดยได้รับความเห็นชอบ ดังนี้
1) ความเห็นชอบลงนามความตกลงการค้าบริการและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ซึ่งได้เริ่มมาตั้งปี ค.ศ. 2010 โดยอินเดียจะได้รับการคุ้มครองการลงทุน และจะมีการเปิดเสรีในภาคบริการ ซึ่งไทยได้เปิดให้ทั้งหมด 80 สาขาบริการ อินเดียสามารถเข้ามาถือหุ้นในภาคบริการเหล่านี้ได้ 49 % ซึ่งจะได้รับหลักประกันที่มั่นคงว่าหากเกิดอะไรขึ้นการถือหุ้นจะไม่ลดลง
2) ความเห็นชอบในพิธีสารแก้ไขตารางภาษีแนบท้ายข้อตกลงการค้าเสรีออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
3) การทำงานระหว่างประเทศอาเซียน ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558 ในด้านการเปิดการค้าเสรีภาคธุรกิจ บริการ
4) การลงนามความตกลงเรื่องการยอมรับร่วมกันในวิชาชีพบัญชี โดยให้อาเซียนยอมรับมาตรฐานวิชาชีพร่วมกัน และมีการลงทะเบียนไว้ในสภาวิชาชีพกลางของอาเซียน
5) การเจรจาความตกลงการค้า ในภาคบริการของอาเซียน Asean Trade and Services agreement
6) การแก้ไขภาคผนวกภาษีตารางภาษีแนบท้ายความตกลงในเรื่องการค้าสินค้า เพื่อให้ถูกต้องและสอดคล้องกับมาตรฐานโลก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะ คสช. สรุปสาระสำคัญดังนี้
ผลการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 8 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (IT-GT) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2557 เป็นการประชุมคู่ขนานกับการประชุมอาเซียน ที่เนปิดอว์ เมียนมาร์ โดยในที่ประชุมมีการเห็นชอบการติดตามงานใน 6 สาขา ได้แก่ อาหารฮาลาล เกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรและสิ่งแวดล้อม การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งในอาเซียน การพัฒนาบุคลากรร่วมกันใน 3 ประเทศ การท่องเที่ยว และการลงทุน
ที่ประชุมให้ความให้ความเห็นชอบ เรื่อง การยกระดับโครงการเมืองยางพารา (Rubber City) ให้เป็นระเบียงยาพารา (Rubber Corridor) รวมทั้งเร่งรัดการปรับปรุงด่านแชนแดนที่มีพรมแดนติดต่อกัน โดยเฉพาะไทยกับมาเลเซีย ที่ด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ นอกจากนี้จะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกันไทย-มาเลเซีย เนื่องจากเป็นด่านที่มีความหนาแน่นในด้านการขนส่งสินค้า
โครงการนำร่องที่ได้มีการตกลงกัน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการการปรับปรุงด่านสะเดา โครงการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือนาเกลือ จังหวัดตรัง โครงการทางพิเศษมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา โครงการศูนย์กระจายสินค้าทุ่งสง โครงการเมืองสีเขียว เป็นโครงการของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยไทยให้จังหวัดสงขลาเป็นเมืองนำร่อง และโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยไทยตระหนักถึงความสำคัญของด่านชายแดน หากมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ด่านทั่วประเทศในไทยมีทั้งหมด 94 จุด ใน 31 จังหวัด ซึ่ง 5 ด่านที่มีความสำคัญ คือ ด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ ด่านแม่สอด ด่านอรัญประเทศ (ปอยเปต) ด่านอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด หลักสำคัญในการปรับปรุงเพื่อให้เชื่อมโยงกับกลุ่มอนุภูมิภาคในอาเซียน คือ การเชื่อมเครือข่ายการผลิตสินค้า (supply chain) การใช้ประโยชน์จากหลักโครงสร้างพื้นฐานของไทย สร้างความเจริญเติบโตร่วมกัน และความรวดเร็วในการปล่อยสินค้า

อัลจาซีราเผย คนจนในกัมพูชายังอยากทำงานในไทย เหตุไม่มีทางเลือกมากนัก

ความยากแค้นในชนบทของกัมพูชาผลักดันให้คนจำนวนมากเดินทางจากหมู่บ้านมาทำงานในไทย ที่แม้จะเสี่ยงต่อการถูกกดขี่และอันตรายจากงาน รวมถึงบางครั้งค่าจ้างก็ไม่ดีนัก แต่ก็เป็นช่องทางเดียวที่พวกเขาจะจุนเจือครอบครัวได้ เนื่องจากในกัมพูชายังมีตลาดแรงงานที่เล็กมาก

7 ก.ค. 2557 สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานเรื่องสภาพของคนงานชาวกัมพูชาหลังจากที่ต้องอพยพกลับประเทศจากการเป็นแรงงานในประเทศไทยเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาเพราะกลัวว่าจะถูกปราบปรามจากทางการไทยหลังการรัฐประหาร
มีแรงงานกัมพูชามากกว่า 225,000 คนพากันอพยพกลับประเทศหลังจากมีข่าวลือเรื่องรัฐบาลทหารของไทยออกปราบปรามแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก แต่พวกเขาก็บอกว่ายังอยากจะกลับไปทำงานในไทยหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองสงบลงแล้ว และมีอีกหลายแสนคนที่ยังคงทำงานอยู่ในไทยท่ามกลางความเสี่ยง
สำนักข่าวอัลจาซีราระบุว่าชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้รับการจดทะเบียน แต่ประเทศไทยมีงานจำนวนมากรองรับและทำเงินได้ดีกว่างานในประเทศของพวกเขา ทำให้พวกเขาหวังที่จะได้ทำงานในไทย
"ในกัมพูชาพวกเราไม่มีงานทำ หรือถ้ามีก็ได้เงินมาไม่พอกิน ประชาชนยากจน พวกเขาไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ทำให้พวกเขาต้องอพยพไปทำงานนอกประเทศเพื่อส่งเงินกลับไปที่บ้าน" ชวน รอท (Chhoun Roth) ผู้ใหญ่บ้านในกัมพูชากล่าวให้สัมภาษณ์ต่ออัลจาซีราตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
รายงานอัลจาซีราระบุว่าพื้นที่ในเขตชนบทของกัมพูชาเต็มไปด้วยนาข้าวและกระท่อมท่ามกลางถนนลูกรังที่เต็มไปด้วยฝุ่น แต่ในหมู่บ้านทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาไม่มีคนในวัยทำงานอาศัยอยู่ รอทบอกว่าคนวัยทำงานพากันออกไปทำงานนอกหมู่บ้านปล่อยให้คนรุ่นปู่ย่าคอยเลี้ยงหลาน
ชาวกัมพูชาเห็นว่างานในไทยมีค่าจ้างมากกว่าจึงดึงดูดให้เข้ามาทำงานโดยผู้จ้างวานชาวไทยก็สามารถจ้างด้วยราคาที่ต่ำกว่าจ้างคนไทยด้วยกัน อย่างไรก็ตามการกลับไปทำงานในไทยก็ยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะกับคนที่ไม่มีเอกสารรับรองทำให้ต้องทำงานตามคำสั่งของนายจ้างเท่านั้น ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตไม่ดีนักและมีค่าจ้างต่ำรวมถึงเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน การใช้แรงานทาส รวมไปถึงอาจจะรุนแรงถึงขั้นการค้ามนุษย์เช่นกรณีที่เคยมีการเปิดโปงเรื่องการใช้แรงงานทาสบนเรือในไทย
รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอระบุอีกว่าคนงานที่ถูกค้ามนุษย์ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานในไทย พวกเขาถูกบังคับหรือล่อลวงให้เกิดการกดขี่แรงงานและการค้าบริการทางเพศ
แต่ชาวกัมพูชาก็ยังยอมเสี่ยงกับสิ่งเหล่านี้ รอทซึ่งอยู่ในหมู่บ้านนับตั้งแต่การล่มสลายของเขมรแดงในปี 2522 พยายามดิ้นรนกับความเปลี่ยนแปลงจากการที่มีคนออกจากหมู่บ้านไปทำงานในประเทศไทยทุกปี เขาพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริมให้มีงานมากขึ้นในกัมพูชาโดยเฉพาะในจังหวัดเสียมเรียบ แต่รอทก็บอกว่าในหมู่บ้านของเขาทั้งหมด 1,018 คน มี 263 คน ที่ไปทำงานในไทยรวมถึงลูกของเขาเองด้วย
รอทกล่าวอีกว่าคนที่ไปทำงานในไทยส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในแง่การหาเลี้ยงครอบครัวได้ แต่ก็ยังมีอีกร้อยละ 20 ที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะนายจ้างโกงพวกเขา ไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง มีอีกจำนวนน้อยที่ถูกกดขี่หรือถึงขั้นเสียชีวิต
เช่นกรณีของวา ซัว หญิงอายุ 67 ปี เริ่มร้องไห้ขณะพูดถึงลูกชายอายุ 39 ปีของเธอที่เสียชีวิตเนื่องจากตกจากอาคารก่อสร้างที่เขาทำงานอยู่เมื่อปีที่แล้ว เขาทำงานในไทยเป็นเวลา 10 ปี ซัวเล่าว่าก่อนหน้านี้พวกเขาได้แต่ทำนา ไม่มีใครข้ามฝั่งไปไทยเพราะมีการสู้รบที่ชายแดน แต่พอลูกๆ ของเธอโตขึ้นชายแดนก็เปิด คนที่หางานทำในประเทศไม่ได้ก็เดินทางไปไทย
ซัวซึ่งอยู่ในหมู่บ้านมากว่า 30 ปีแล้ว ยังได้เล่าถึงสภาพชีวิตที่ผู้คนในหมู่บ้านพากันไปทำงานในไทยทำให้หมู่บ้านเงียบเหงา มีแต่คนแก่อยู่อาศัย แม้แต่หลานสาวของเธอก็เรียกเธอว่าแม่ และเมื่อแม่จริงๆ ของหลานสาวกลับมาเยี่ยม หลานสาวเธอก็ไม่ยอมตามไป
แม้ไม่อาจระบุตัวเลขคนงานชาวกัมพูชาในไทยอย่างชัดเจนได้ แต่รัฐบาลกัมพูชาก็เคยประเมินว่าน่าจะมีชาวกัมพูชาทำงานในไทยราว 450,000 คนโดยไม่มีเอกสาร มีเพียง 90,000 คนที่ทำงานอย่างถูกกฎหมาย
โดยในความเป็นจริงแล้วมีคนงานหลายคนไม่มีทรัพย์สินมากพอที่จะสามารถทำงานในไทยผ่านช่องทางถูกกฎหมาย จากการประเมินของไอแอลโอพบว่าพวกเขาต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 700 ดอลลาร์ (ราว 22,000 บาท) ในการส่งตัวไปทำงานที่ไทยอย่างถูกกฎหมาย เทียบกับการลักลอบส่งตัวเข้าไทยซึ่งใช้เงินแค่ 100 ดอลลาร์ (ราว 3,200 บาท) และไม่ต้องรอนาน
คนยากจนในกัมพูชาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข้ามาทำงานในไทยเพราะตลาดแรงงานในกัมพูชาอ่อนแอ แม้ว่าสำหรับบางครอบครัวแล้วต่อให้เข้ามาทำงานในไทยก็ยังอยู่อย่างขัดสน เช่นกรณีของเย ริน ชาวนาที่ขายข้าวต้มข้างทางเป็นงานเสริมยังมีรายได้ไม่พอใช้ ลูกของเธอ 4 ใน 5 คนเดินทางไปกลับประเทศไทยเพื่อไปทำงาน แต่ก็ยังได้เงินกลับบ้านโดยเฉลี่ยแค่ราวคนละ 800-1,200 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 26,000-39,000 บาท) ซึ่งถือว่ายังไม่พอเลี้ยงครอบครัวทั้งหมด
มีคนหนึ่งในครอบครัวของรินที่ชื่อฤทธิ์ป่วยจนต้องกลับไปอยู่ที่บ้าน ลูกของเขาจำเป็นต้องกลับไปอยู่ด้วยเพราะเป็นเด็กอายุ 14 ปีที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ใช้แรงงาน ฤทธิ์บอกว่าตัวเขาเองก็ต้องการข้ามฝั่งกลับไปทำงานในไทย แม้ว่าใจจริงเขาเองอยากอยู่ในเสียมเรียบแต่เพราะที่นั่นเขาไม่มีงานทำ


เรียบเรียงจาก

สมาคมนักข่าวฯ เตือนสื่อเสนอภาพ ด.ญ.ถูกฆาตกรรม เสี่ยงผิด ก.ม.คุ้มครองเด็ก-ขัดจริยธรรมสื่อ


8 ก.ค.2557 มานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เตือนการเผยแพร่ภาพเด็กหญิงที่ถูกละเมิดทางเพศและฆาตกรรมที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก และขัดต่อจริยธรรมสื่อ
มานพกล่าวว่า สื่อทุกประเภทควรระมัดระวังการนำเสนอภาพข่าวดังกล่าวที่อาจก่อให้เกิดความหดหู่โศกเศร้าต่อครอบครัวและสังคม ควรให้การเคารพต่อครอบครัวผู้สูญเสีย หากเสนอภาพข่าวโดยไม่ระมัดระวังมีความเสี่ยงละเมิดต่อกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน 2546 มาตรา 27 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้โฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศเกี่ยวกับตัวเด็กโดยเจตนาที่จะทําให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ และมาตรา 50 ห้ามมิให้เปิดชื่อตัว ชื่อสกุล ภาพหรือข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับตัวเด็กในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์ของเด็กหรือผู้ปกครอง โดยผู้ละเมิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติไทยตั้งแต่ปี 2532 เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้พ้นจากความโหดร้ายทารุณและการถูกข่มเหงรังแกทุกชนิด โดยเด็กจะต้องไม่กลายเป็นสินค้าไม่ว่าในรูปแบบใด
อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ กล่าวด้วยว่า ยังมีข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ข้อที่ 15 ระบุว่า ในการเสนอข่าวหรือภาพใดๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส การเสนอข่าวต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง และข้อ 17 ระบุว่า หนังสือพิมพ์จะต้องไม่เสนอภาพข่าวที่อุจาด ลามกอนาจาร หรือน่าหวาดเสียวโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชน  
สมาคมนักข่าวฯ จึงขอให้สื่อมวลชนทุกประเภททั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ทุกประเภทไม่ควรเผยแพร่ภาพกรณีที่เกิดความเสียหายต่อเด็กในกรณีอื่นๆ ด้วย ซึ่งสื่อทุกประเภทควรได้ตระหนักถึงข้อบังคับแห่งจริยธรรมวิชาชีพ กฎหมายคุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างเคร่งครัด

ขี่ฮัมวี่เยือนร้านปลาหมึกทอดรอบสอง-ยึดสติ๊กเกอร์เพื่อไทยจากถังน้ำแข็ง



เจ้าหน้าที่ทหาร 5 ราย นั่งรถฮัมวี่มาพบพ่อค้าขายปลาหมึกทอด จ.เชียงใหม่เจ้าเดิม พร้อมยึดสติ๊กเกอร์โลโก้พรรคเพื่อไทย และสติ๊กเกอร์ข้อความ "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้" จากถังน้ำแข็ง โดยทหารได้ยกมือไหว้ขอร้องไม่ให้มีสี-มีสัญลักษณ์ในช่วงนี้
8 ก.ค.57 - จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ้คได้แชร์ภาพเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบขับรถฮัมวี่บุกไปยังร้านขายปลาหมึกทอด ย่านถนนทิพเนตร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และได้ดึงสติ๊กเกอร์ที่มีรูปโลโก้พรรคเพื่อไทยจากถังน้ำแข็งของร้านไปนั้น
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่าร้านขายปลาหมึกทอดดังกล่าวเป็นร้านเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งนายวสันต์ พ่อค้าเจ้าของร้าน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าบังคับให้ถอดเสื้อสีแดงที่มีรูปภาพใบหน้านายจตุพร พรหมพันธ์ออก โดยไม่มีเสื้อสำรองให้สวมใส่ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า เหตุเกิดเวลาประมาณ 14.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 5 นาย ไม่ทราบชื่อ ยศ ตำแหน่งและสังกัด แต่เป็นเจ้าหน้าที่คนละชุดกับที่มาเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ได้ขับรถฮัมวี่มาจอดบริเวณหน้าร้าน โดยในเวลานั้นนายวสันต์ไม่ได้อยู่ร้าน แต่ภรรยาและลูกสาวของนายวสันต์ พร้อมผู้ช่วยอีกสองคน กำลังช่วยกันขายปลาหมึกทอดอยู่ คนในร้านจึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ว่ามาทำอะไร เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่ามาทำงานและดูความเรียบร้อย ก่อนจะเดินไปเดินมาบริเวณหน้าร้านอยู่เกือบ 10 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่คอยถ่ายรูปร้าน คนในร้าน และป้ายต่างๆ ในบริเวณร้าน ขณะที่เจ้าหน้าที่อีกคนได้โทรศัพท์พูดคุยอยู่ตลอดด้วย
จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้สังเกตไปยังถังน้ำแข็งสีส้ม ซึ่งมีสติ๊กเกอร์ติดอยู่บนด้านที่หันเข้าในร้าน ทหารได้ให้คนในร้านยกถังน้ำแข็งด้านที่มีสติ๊กเกอร์หันออกมาเพื่อถ่ายรูป ก่อนที่จะดึงสติ๊กเกอร์สองใบออกไป ได้แก่ สติ๊กเกอร์ที่มีรูปโลโก้พรรคเพื่อไทย และสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความว่า “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” ที่เคยใช้หาเสียงของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่เมื่อสามปีก่อน โดยคนในร้านพยายามถามว่าเอาไปทำไม เจ้าหน้าที่ได้กล่าวขอโทษพร้อมยกมือไหว้ และแจ้งว่าช่วงนี้ขอให้ไม่มีสี ขอให้ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ก่อนที่จะนำสติ๊กเกอร์กลับไป
ภรรยาของนายวสันต์ ระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ตนรู้สึกเจ็บแค้นอย่างมาก ถึงกับร้องไห้ออกมาหลังเกิดเหตุ เพราะรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ทำลิดรอนสิทธิกันเกินไป ทหารเคยบอกว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชน แต่ตอนนี้ตนมีแต่ความทุกข์ โดยหลังจากวันที่เข้าไปในค่ายกาวิละ และเจ้าหน้าที่ทหารได้ขอโทษต่อกรณีจับถอดเสื้อแดงของสามีไปแล้ว แต่ปรากฏว่าก็ยังมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบขับรถมายังร้านตนอีกถึงสองครั้ง โดยครั้งหนึ่งผ่านมาดูเฉยๆ ส่วนอีกครั้งหนึ่งมีการถ่ายรูปร้านไปด้วย ตอนนี้ตนจึงรู้สึกเครียดมากและรู้สึกไม่ปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.57 นายพิชิต ตามูล หรือ “ดาบชิต” แกนนำกลุ่ม นปช.แดงเชียงใหม่ ได้ประสานงานกับ พ.อ.โภคา จอกลอย หัวหน้ากองข่าวมณฑลทหารบกที่ 33 เพื่อจะนำนายวสันต์ พ่อค้าขายปลาหมึกทอด เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้าบังคับให้ถอดเสื้อแดงออก โดยในการพูดคุยครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้นำเสื้อตัวต้นเหตุมาคืนให้และกล่าวคำขอโทษนายวสันต์ พร้อมแจ้งว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันระหว่างฝ่ายนโยบายกับผู้ปฏิบัติงาน (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

‘โหน่ง โอเคนิติราษฎร์’ ถูกคุมตัวที่กองปราบ หลังชูป้ายฉลองวันชาติอเมริกาหน้าสถานทูต


ภาพเชาวนาถชูป้ายหน้าสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ (ที่มา DNN)
8 ก.ค.2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.เชาวนาถ มุสิกภูมิ หรือที่รู้จักในนาม ‘โหน่ง โอเคนิติราษฎร์’ อายุ 52 ปี ถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขังกองปราบฯ ตั้งแต่ 22.00 น.ของวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้สนธิกำลังกันเข้าควบคุมตัวเชาวนาถที่บ้านพักย่านบึงกุ่ม โดยระบุว่าขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หลังจากเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งเป็นวันชาติของสหรัฐอเมริกา (Independence Day) เชาวนาถได้เดินทางไปชูป้ายร่วมฉลองบริเวณหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา
เชาวนาถ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า วันที่ 6 ก.ค. เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 10 นาย เดินทางมาควบคุมตัวเธอที่บ้านพักย่านบึงกุ่ม ก่อนนำตัวไป สน.ลุมพินี หลังจากนั้นถูกนำตัวไปที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีเพื่อสอบสวน ตั้งแต่เที่ยงวัน จากนั้นเวลา 22.00 น. จึงถูกนำตัวมาขังไว้ที่กองบังคับการปราบปราม
เธอเล่าว่า ในวันที่ 4 ก.ค.ที่หน้าสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ เธอถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบควบคุมตัวถึง 2 ครั้ง พร้อมกับขอบัตรประชาชนไปถ่ายภาพ แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน ก่อนจะเข้ามาควบคุมตัวตามที่อยู่ในบัตรประชาชนในภายหลัง
สำหรับการสอบสวนที่สโมสรทหารบกนั้น เชาวนาถระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่สอบสวนได้นำรูปที่เธอเคยชูป้ายที่หน้าหอศิลปฯ กรุงเทพภายหลังวันรัฐประหาร พร้อมสอบถามว่าเคลื่อนไหวกับใครบ้าง ซึ่งเธอยืนยันว่าเคลื่อนไหวเพียงลำพังในฐานะปัจเจกชนที่ยืดถือหลักการประชาธิปไตยเท่านั้น
เชาวนาถ กล่าวอีกว่า ป้ายที่เธอชูที่หน้าสถานทูตนั้นเป็นป้ายที่เขียนด้วยตัวเอง ขณะที่ทหารผู้สอบสวนพยายามที่จะสอบถามว่าทำไมจึงใช้คำว่า “Long live USA day” พร้อมทั้งกล่าวหาว่าเสี่ยงที่จะผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเธอก็ชี้แจงไปว่าคำดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า “ทรงพระเจริญ” อย่างเดียว แต่หมายถึงความยืนยาว โดยเธอต้องการแสดงความชื่นชมที่สหรัฐอเมริกามีประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน ที่สำคัญ ต้องการใช้ข้อความให้กระชับบนแผ่นป้ายด้วย คณะสอบสวนจึงให้เธอชูแล้วถ่ายรูปด้านหน้าและด้านข้างเป็นหลักฐานก่อนจะยึดป้ายดังกล่าวไป นอกจากนี้ทหารยังนำเอกสารมาให้เธอลงชื่อด้วย โดยเธอลงชื่อไปโดยไม่ทราบแน่ชัดว่ามีข้อความใดบ้างเนื่องจากไม่ได้นำแว่นสายตาติดตัวมาด้วย
สำหรับป้ายที่เชาวนาถชูหน้าเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ นั้น มีข้อความทั้งด้านหน้าและหลังว่า
“Long live USA day
Pl. help us, we need democracy. But, Thai elite dislike democracy.Thai junta pretended not to know, Thanks God give today.
USA, AUS, EU, NZ, etc... Please help us. No martial law. No coup”
สำหรับเหตุการณ์วันที่ 4 ก.ค.สื่อมวลชนรายงานว่าบริเวณหน้าสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา มีประชาชนประมาณ 20 คน หลายรายแต่งกายด้วยเสื้อผ้า-หมวกที่มีสัญญลักษณ์ธงชาติอเมริกา รวมตัวชูป้ายข้อความมีเนื้อหาแสดงความยินดีกับวันชาติสหรัฐอเมริกา มีการถือดอกไม้สีแดง กินเฟรนช์ฟราย และข้าวหลามด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที 29 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่หน้าสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาเช่นกัน นายเทพ เวชวิสิฐ ได้เดินทางมาชูป้ายประท้วงพร้อมยื่นหนังสือต่อสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ เพื่อแสดงท่าทีไม่พอใจ ต่อกรณีเข้ามาแทรกแซงการดำเนินกิจการภายในประเทศของไทย และเรียกร้องให้สหรัฐยุติพฤติกรรมดังกล่าว ต่อมา พล.ต.ต. อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการศึกษา ช่วยราชการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งลงพื้นที่ตรวจสอบกล่าวถึงกรณีนี้ด้วยว่า พฤติกรรรมของชายคนนี้ไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดทางกฎหมายที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากเป็นเพียงการแสดงออกถึงความไม่พอใจเท่านั้น และเชื่อว่าการชุมนุมทางการเมืองจะลดลงอย่างต่อเนื่อง (อ่าน “อำนวย” บอกหนุ่มใหญ่โผล่ประท้วงเดี่ยวหน้าสถานทูตสหรัฐ ไม่ผิด แค่แสดงความไม่พอใจ)
ทั้งนี้ เชาวนาถมีอาชีพเกี่ยวกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และยังเป็นครูสอนนวดแผนไทยรวมถึงดูดวงไพ่ยิปซี ก่อนหน้านี้ทำอาชีพสื่อมวลชน เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์บันทึกธุรกิจในช่วงปี 2526-2527 ก่อนจะยึดอาชีพชิปปิ้งนำเข้าส่งออกสินค้ามายาวนานกว่า 11 ปี เชาวนาถเล่าว่าสนใจการเมืองมาตั้งแต่สมัยอยู่ชั้นมัธยมศึกษา และเหตุที่ชอบแนวคิดของนิติราษฎร์เนื่องจากเห็นว่าเป็นแนวทางที่ยืนอยู่บนหลักการและนำเสนอข้อเสนอที่น่าจะเป็นทางออกให้กับประเทศได้
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 ก.พ.55  เชาวนาถ หรือที่รู้จักในนาม ‘โหน่ง โอเคนิติราษฎร์’ ได้เคยชูป้ายเขียนข้อความว่า “โอเค นิติราษฎร์” ท่ามกลางการชุมนุมของกลุ่มวารสารต้านนิติราษฎร์ที่บริเวณด้านล่างตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อยื่นหนังสือถึงอธิการบดีพิจารณาการกระทำของคณะกลุ่มนิติราษฎร์ภายหลังเรียกร้องเคลื่อนไหวแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มวารสารต้านนิติราษฎร์ จนเกิดการต่อว่า โห่ไล่เชาวนาถออกจากบริเวณดังกล่าว

กรรมการสิทธิ์เอเชียประณามรัฐประหาร-เรียกร้องปล่อยตัว'ธนาพล'

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ( AHRC ) ประนามคณะรัฐประหาร คสช. และแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่คณะรัฐประหารได้ก่อขึ้น  พร้อมทั้งเรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัว ธนาพล อิ๋วสกุล และประชาชนทุกคนที่ถูกควบคุมตัวไว้ตามอำเภอใจโดยไม่มีข้อหาในทันที

๐๐๐

แถลงการณ์จากคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
ประเทศไทย: การจับกุมบรรณาธิการและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซ้ำอีกครั้งโดยรัฐบาลทหาร

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission -AHRC) มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่า ธนาพล อิ๋วสกุล นักเขียน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบรรณาธิการนิตยสารและสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้ถูกควบคุมตัวอีกครั้งหนึ่ง และถูกกักตัวโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  วิธีการจับกุมและกักขัง ธนาพล ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจและเป็นการละเมิดพันธกรณีของรัฐบาลไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights -ICCPR) อย่างชัดเจน  คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียมองว่าการจับกุมซ้ำและการกักขังตัวซึ่งรัฐบาลทหารอ้างว่าเป็นช่วงเวลาการ “ปรับเปลี่ยนทัศนคติ” ที่เกี่ยวกับการโพสต์ข้อความทางโซเชี่ยลมีเดียของธนาพลนั้น เป็นตัวบ่งชี้ถึงวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) เข้ายึดอำนาจและล้มล้างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย  ในระหว่างหกสัปดาห์แรกของการปกครองโดยทหาร ได้มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเสรีภาพทางการเมืองอย่างเข้มงวด มีการเรียกให้บุคคลไปรายงานตัวกับทหารทั้งอย่างที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีการใช้การกักขังตามอำเภอใจอย่างกว้างขวาง มีการใช้ศาลทหารมาจัดการกับผู้เห็นต่าง และการสร้างบรรยากาศของความกลัว อันล้วนทำลายสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม  ตามข้อกำหนดของกฎอัยการศึกซึ่งถูกนำมาบังคับใช้สองวันก่อนการรัฐประหาร ทหารสามารถกักขังและสอบสวนบุคคลได้นานถึงเจ็ดวันโดยไม่ต้องมีหลักฐานการกระทำผิดหรือมีการตั้งข้อหาใดๆ  คนที่ถูกจับอาจถูกขังไว้ตามที่ต่างๆ ทั้งค่ายทหารแบบถาวรหรือค่ายชั่วคราว หรือที่อื่นๆ ที่ถูกกำหนดให้เป็นที่กักขัง  การกักขังไว้ในที่ที่ไม่ใช่เรือนจำปกติทำให้มีโอกาสเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการทรมาน การถูกบังคับให้สูญหาย และการวิสามัญฆาตกรรม เพิ่มขึ้นได้อย่างมาก
ในขณะที่รัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดทั้งหมดเรื่องจำนวนผู้ที่ถูกกักขังและสถานที่ควบคุมตัว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกลุ่มทนายความและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่รวมตัวกันขึ้นหลังจากการรัฐประหาร เพื่อทำงานแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากการปกครองโดยรัฐบาลทหาร ได้รวบรวมสถิติในโอกาสครบรอบหนึ่งเดือนหลังจากรัฐประหาร  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ชี้ว่า ในหนึ่งเดือนแรกของการปกครองโดยทหาร มีคนอย่างน้อย 454 คนที่ถูกประกาศเรียกให้ไปรายงานตัวในกรุงเทพฯ และอีกอย่างน้อย 57 คนถูกเรียกตัวอย่างไม่เป็นทางการในต่างจังหวัด  สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มภาษาอังกฤษได้ที่นี่ และภาษาไทยที่นี่  ทางรัฐบาลทหารอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าคนที่ถูกเรียกตัวแล้วถูกควบคุมตัวนั้นไม่ได้ถูกจับ แต่ได้รับเสนอ “ที่พัก” และ “การปรับทัศนคติ”  หากไม่ไปรายงานตัวตามที่ถูกเรียกก็อาจจะถูกลงโทษโดยการดำเนินคดีในศาลทหาร และถูกลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี และ/หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 40,000 บาท
ตั้งแต่วันแรกหลังจากการรัฐประหาร คสช. ได้พุ่งเป้าไปที่นักคิด นักวิชาการ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว และศิลปิน ที่แสดงความเห็นคัดค้าน ‘ธนาพล อิ๋วสกุล’เป็นบรรณาธิการ นักเขียน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานมายาวนาน และได้ทำงานสร้างพื้นที่ให้แก่เสียงของคนที่ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบและคนที่ถูกกดขี่ในสังคมไทย และเขาได้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของทหารมาตั้งแต่ต้น  เขาถูกจับเป็นครั้งแรกพร้อมกับคนอื่นๆ อีกสองสามคนในระหว่างการชุมนุมประท้วงอย่างสันติเพื่อต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม และถูกควบคุมตัวได้หนึ่งคืนที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (AHRC-STM-099-2014)  จากนั้นชื่อของธนาพลก็ปรากฏรวมอยู่ในรายชื่อคนที่ถูกเรียกตัวตามคำสั่งที่  5/2557 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ซึ่งถูกประกาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ว่าบุคคลในรายชื่อดังกล่าวให้ไปรายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ ภายในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 24 พฤษภาคม (AHRC-STM-100-2014)  เนื่องจากขณะนั้นเขาถูกควบคุมตัวอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวเขาไปยังสโมสรทหารบก แล้วถูกควบคุมตัวไว้อีกเจ็ดวันซึ่งเป็นระยะเวลาสูงสุดที่กฎอัยการศึกอนุญาตไว้  ธนาพล ถูกบังคับให้ลงนามในสัญญาข้อตกลงบางประการ เช่น จะไม่ใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการแสดงความเห็นหรือการชุมนุมรวมตัว จะไม่ออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทหาร 
เงื่อนไขในการปล่อยตัวเหล่านี้ยิ่งเสริมลักษณะการใช้กำลังตามอำเภอใจในกระบวนการควบคุมตัวให้เห็นชัดขึ้น เนื่องจากไม่ได้มีการอ้างอิงกฎหมายใด และเป็นเงื่อนไขที่กำหนดโดยอำนาจของรัฐบาลทหารเพียงฝ่ายเดียว
จากข้อมูลที่ได้รับมาจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ประชาไท และข่าวสด เช้าวันที่ 5 กรกฎาคม นายธนาพลได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งที่ขอให้เขาไปพบที่ร้านกาแฟ Coffee Zelection ซอยพหลโยธิน 7 กรุงเทพฯ เพื่อพูดคุยกัน  เขาปฏิบัติตาม และหลังจากที่เขาไปถึงร้านกาแฟนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบนายหนึ่งก็ควบคุมตัวเขาไปในรถยนต์ส่วนตัว แล้วพาเขาไปกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (สนามเป้า) จากนั้นได้ถูกส่งไปกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อควบคุมตัวต่อไป  เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม นายทหารพระธรรมนูญนายหนึ่งได้เปิดเผยว่าข้อความที่นายธนาพลโพสต์เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กนั้นละเมิดเงื่อนไขการปล่อยตัว  นายธนาพลไม่ได้ถูกตั้งข้อหา และนายทหารคนเดียวกันก็ยังอ้างต่อสาธารณะด้วยว่าเขาอาจจะได้รับการปล่อยตัวภายในวันที่ 9 กรกฎาคม เนื่องจากเขาถูกควบคุมตัวไว้เพื่อ “ปรับทัศนคติ” และจะได้รับการปล่อยตัวทันทีที่กระบวนการนี้เสร็จสิ้น
การควบคุมตัวตามอำเภอใจ การใช้ศาลทหาร (ดูจดหมายของ AHRC เรื่องศาลทหาร ที่เสนอต่อผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน ประจำสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557: AHRC-OLT-006-2014) และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดย คสช. เป็นการละเมิดหน้าที่ของรัฐไทยในฐานะเป็นรัฐภาคีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการควบคุมตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล ทั้งสองครั้ง ก็เป็นการละเมิดพันธกรณีตามมาตรา 9 ที่บัญญัติไว้ว่า
1. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

2. ในขณะจับกุม บุคคลใดที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน

3. บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจะใช้อำนาจทางตุลาการ และจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป....”
 AHRC ขอเน้นย้ำว่า ไม่มีข้อกฎหมายใดๆ รองรับการควบคุมตัวประชาชนโดยไม่มีการตั้งข้อหาเพื่อ “ปรับทัศนคติ”  แต่นี่เป็นการใช้อำนาจของรัฐบาลทหารเพื่อกดขี่ปราบปรามโดยไม่มีการตรวจสอบ
ในขณะที่ทางรัฐบาลทหารประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยอ้างว่าสถานการณ์ทางการเมืองมีภาวะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐ ทาง AHRC กลับประเมินว่าปัจจุบันนี้ไม่มีสถานการณ์เช่นนี้อยู่ในประเทศไทย  แม้ว่าไทยจะมีความไม่สงบทางการเมืองดำเนินอยู่ ส่วนใหญ่ก็จะสามารถสืบย้อนไปได้ตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 และก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลพลเรือนในการจัดการกับความไม่สงบนั้นด้วยกระบวนการปกติ  แม้ว่าทางการจะรับปากว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชน แต่ประสบการณ์ในประเทศไทยก็ล้วนแต่มีว่าหากมีการใช้กฎหมายพิเศษเมื่อใดประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายเหล่านั้นจะถูกควบคุมตัวตามอำเภอใจเพิ่มขึ้นทุกครั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่มีอะไรเลยที่จะรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในภาวะสูญญากาศของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากกฎอัยการศึกและจากการขาดรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ได้
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ( AHRC )ขอประนามคณะรัฐประหารอย่างถึงที่สุด และขอแสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับภาวะถดถอยของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วที่คณะรัฐประหารได้ก่อขึ้น  AHRC ขอเรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัวนายธนาพล อิ๋วสกุล และประชาชนทุกคนที่ถูกควบคุมตัวไว้ตามอำเภอใจโดยไม่มีข้อหาในทันที และให้ยุติการสร้างความหวาดหวั่นสาธารณะโดยการออกคำสั่งเรียกตัวให้บุคคลไปรายงานตัวกับทหาร การส่งจดหมายเรียกตัวแบบไม่เป็นทางการ และการควบคุมตัวบุคคลเพื่อ “ปรับทัศนคติ” หลังจากที่ขอนัดพบตามข้ออ้างอื่นๆ  นอกจากนี้ AHRC ยังขอให้ คสช.ตระหนักว่าการยอมรับความเห็นที่แตกต่างและความเห็นคัดค้านนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการปกครองที่มีรากฐานอยู่บนสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม  การปกป้องสิทธิมนุษยชนและการคิดเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐบาลทหารนั้นไม่ได้เป็นอาชญากรรม
หมายเหตุ: คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย AHRC เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระดับภูมิภาคที่ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเอเชีย จัดทำข้อมูลการละเมิดสิทธิ และรณรงค์ให้มีการปฏิรูประบบยุติธรรมและสถาบันเพื่อประกันการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเหล่านี้ คณะกรรมาธิการมีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศฮ่องกงและก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2527