วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คสช.ประกาศพ.ร.บ.การเลือกตั้ง,พ.ร.บ.พรรคการเมือง,พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ มีผลบังคับใช้


             9 มิ.ย.2557  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 57/2557 เรื่องให้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 
ฉบับที่ 57/2557 
เรื่อง ให้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป
            ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557  ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรื่องการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น แต่โดยที่ประกาศดังกล่าวกำหนดให้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบางหมวดยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปโดยเฉพาะการกำหนดให้ศาลทั้งหลายคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมายและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและให้องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2550 ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป นอกจากนั้นประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 24/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เรื่องให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป ก็มิได้ยกเลิกหรือสั่งให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดสิ้นสุดลง นอกจากกำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้เพื่อให้ศาล องคฺกรอิสระ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญนั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงเห็นเป็นการสมควรกำหนดเพิ่มเติมให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับยังคงมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไปดังต่อไปนี้
  • 1.ให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ส.2550 มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไปโดยมิได้สะดุดลงจนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก แต่ให้งดเว้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งและการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาไว้เป็นการชั่วคราวก่อน

          ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  มีอำนาจกำหนดหรือขยายระยะเวลาในการยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไปพ.ศ.2557 ได้ตามที่เห็นสมควร
  • 2.ให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไปโดยมิได้สะดุดลงจนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจการใดๆในทางการเมืองและการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองให้ระงับไว้เป็นการชั่วคราวรวมทั้งให้ระงับการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราวด้วยในกรณีมีข้อสงสัยให้หารือคณะกรรมการการเลือกตั้ง
  • 3.ให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องต่อไปโดยมิได้สะดุดลงจนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก
  • 4.บรรดาคำร้องสำนวนอรรถคดี หรือการใดที่ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญข้อ 1,2,3 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ กกต. นายทะเบียนพรรคการเมือง หรือศาลก่อนวันที่ 22 พ.ค. 2557 ให้ยังมีอำนาจดำเนินการพิจารณาและวินิจฉัยต่อไป
  • 5.ให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทั้งนี้วิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยต้องใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว

             ในกรณีที่กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งแล้วถ้ากกต.เห็นควรให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2557
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 
ฉบับที่ 58/2557 
เรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
             ตามที่ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/ 2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรื่องการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น เพื่อให้การพิจารณาและวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นของศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้
  • ข้อ1 ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 53/2557 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 เรื่องการพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
  • ข้อ2 ในกรณีที่ได้มีประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว และศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้รับคำร้องของคณะกรรมการเลือกตั้ง เพื่อขอให้วินิจฉัยว่าควรให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคซึ่งมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ส.2550 ยังคงมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีเรื่องนั้นต่อไปเช่นเดิม ทั้งนี้วิธีพิจารณาคดีและวินิจฉัยคดีดังกล่าวให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลืกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2550
  • ข้อ3 เมื่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้รับคำร้องของคณะกรรมการเลือกตั้งตามข้อสองแล้ว สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้นจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ จนกว่าศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคจะมีคำสั่งยกคำร้อง แต่หากศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใด หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลง และให้คำสั่งของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคเป็นที่สุด
  • ข้อ4 ในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ มิให้นับบุคคลดังกล่าวเข้าในจำนวนรวมของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาท้องถิ่นหรือคณะผู้บริหารท้องถิ่น
  • ข้อ5 ให้ยกเลิกความในข้อ 3 แห่งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 32  ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 เรื่องอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

           "ในการเลือกตั้วสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ส.2545 คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งต้งไม่เกิน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
                 ทั้งนี้ข้อ 1 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557 ส่วนข้อ2 ข้อ 3 ข้อ4 และข้อ5 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป

ประกาศ ณวันที่ 6 มิถุนายน 2557
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

คนไทยในปารีสชุมนุมค้านรปห. ร้องปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทันที

วันที่ 8 มิถุนายน 2557 เวลา 14.30  - 17.00 น. คนไทยในฝรั่งเศสจำนวนกว่า 20 คนได้ชุมนุมกันบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดค้านรัฐประหาร เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักตัวทางการเมือง และคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด
 
กิจกรรมดังกล่าวนี้เป็นที่สนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก มีผู้สนใจเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันผู้จัดงานก็ได้แจกใบปลิวพร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ นอกจากนี้ ผู้ผ่านทางบางคนก็ได้เข้าร่วมถือป้าย ชูสามนิ้ว และตะโกนต่อต้านรัฐประหารด้วย
 
 
 
 
 

ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน 112 ‘อภิชาติ’ นศ.มธ.ชุมนุมหน้าหอศิลป์


9 มิ.ย.57  รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์อ่านคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนายอภิชาติ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี นักศึกษาบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และเจ้าหน้าที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)  ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 112, 215, 216 และมาตรา 14 อนุ 3 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยระบุเหตุผลว่า
“พิเคราะห์แล้ว ข้อหาตามคำร้องฝากขังเป็นความผิดร้ายแรง พฤติการณ์แห่งคดีนอกจากจะกระทบต่อความสงบสุขของประชาชนแล้ว ยังก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การภาคเสธ ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว ในชั้นนี้หากได้รับการปล่อยชั่วคราวน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือจะเป็นอุปสรรคก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการสอบสวนของเจ้าพนักงาน กรณียังไม่มีเหตุสมควรที่จะปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”
ทั้งนี้ อภิชาติถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวขณะชูป้ายต่อต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หลังจากควบคุมตัวครบ 7 วันเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวและฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ศาลอาญากรุงเทพใต้เคยปฏิเสธการขอประกันตัวมาแล้วสองครั้ง ครั้งหนึ่งโดยอาศัยตำแหน่งของ ปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา มธ. อีกครั้งหนึ่งมารดาอภิชาติได้นำเงินสด 500,000 บาทประกอบกับสลากออมสินของอาจารย์อภิชาติอีกคนหนึ่ง มูลค่า 500,000 บาทเป็นหลักทรัพย์

ผู้ใกล้ชิดอภิชาติซึ่งเป็นพยานขณะตำรวจสอบปากคำอภิชาติระบุว่า ข้อหาตามมาตรา 112 นั้นสืบเนื่องมาจากมีผู้นำส่งหลักฐานที่อ้างว่าเป็นข้อความในเฟซบุ๊กของอภิชาตให้เจ้าหน้าที่ทหาร 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อภิชาติถูกจำแนกไปอยู่แดน 3 ทั้งที่ตามปกติผู้ต้องหาที่ยังไม่ถูกตัดสินจะต้องอยู่แดน 1 ญาติอภิชาติได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อให้เข้าตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่และความปลอดภัยของอภิชาติแล้วในวันนี้ เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวพันกับทัศนคติทางการเมือง 

คนไทยในปารีสชุมนุมค้านรปห. ร้องปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทันที



วันที่ 8 มิถุนายน 2557 เวลา 14.30  - 17.00 น. คนไทยในฝรั่งเศสจำนวนกว่า 20 คนได้ชุมนุมกันบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดค้านรัฐประหาร เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักตัวทางการเมือง และคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด
 
กิจกรรมดังกล่าวนี้เป็นที่สนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก มีผู้สนใจเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันผู้จัดงานก็ได้แจกใบปลิวพร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ นอกจากนี้ ผู้ผ่านทางบางคนก็ได้เข้าร่วมถือป้าย ชูสามนิ้ว และตะโกนต่อต้านรัฐประหารด้วย
 
 
 
 
 

ทหารปล่อย 'สาวตรี สุขศรี' โดยไม่ตั้งข้อหา หลังคุมตัว 3 วัน



ทหารปล่อยตัว สาวตรี สุขศรี อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สมาชิกคณะนิติราษฎร์ โดยไม่มีการตั้งข้อหาใด หลังคุมตัวอยู่ 2 คืน 3 วัน
สาวตรี สุขศรี นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ (แฟ้มภาพ)
9 มิ.ย. 2557 - เวลาประมาณ 22.00 น. วันนี้ (9 มิ.ย.) คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้ปล่อยตัว น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกคณะนิติราษฎร์ โดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ หลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหารแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี อยู่นาน 3 วัน 2 คืน
สาวตรีถูกจับที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังเดินทางกลับจากได้รับเชิญไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา และถูกนำตัวไปยังค่ายทหารที่จังหวัดปราจีนบุรี
โดนก่อนหน้านี้ คสช. ออกคำสั่งให้สาวตรีมารายงานตัวเมื่อวันที่ 23 พ.ค. แต่ขณะนั้นสาวตรีกำลังอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเธอได้ออกเดินทางไปต่างประเทศตั้งแต่ก่อนมีการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. โดยสาวตรีได้แสดงเจตจำนงผ่านไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า มิได้มีเจตนาหนีและจะมารายงานตัวเช้าวันจันทร์ (9 มิ.ย.) แต่เมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ก็ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว และถูกส่งไปยังค่ายทหารทันที

คำสั่ง คสช. 57/2557 เรียก 18 ราย-มีชื่อซ้ำเช่นจารุพงศ์-วรเจตน์-อั้ม เนโกะ-ผู้พันสู้



            คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 57/2557 ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม 18 ราย ทั้งนักการเมือง นักกิจกรม นักวิชาการ หลายรายเป็นการเรียกชื่อซ้ำ เช่น จารุพงศ์ - โกตี๋ - วรเจตน์ - ปวิน - อั้ม เนโกะ - ผู้พันสู้ โดยให้มารายงานตัว 10 มิ.ย. เวลา 10.00 น.
          เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2557 มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม มีรายละเอียดดังนี้
000
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ฉบับที่ 57/2557

เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม
           เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้บุคคลเข้ารายงานตัว ณ ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศน์ ในวันอังคารที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 เวลา 10.00 -12.00 น. ดังนี้
  • 1. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ
  • 2. นายจรัล ดิษฐาอภิชัย
  • 3. นายชินวัฒน์ หาบุญพาด
  • 4. นายวิสา คัญทัพ
  • 5. นางไพรจิตร อักษรณรงค์
  • 6. นางดารุณี กฤตบุญญาลัย
  • 7. พันตำรวจตรี เสงี่ยม สำราญรัตน์
  • 8. นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ
  • 9. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์
  • 10. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์
  • 11. นายสงวน พงษ์มณี
  • 12. นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
  • 13. นายนิธิวัติ วรรณศิริ
  • 14. นายศรัณย์ ฉุยฉาย
  • 15. นายไตรรงค์ สินสืบผล
  • 16. นายชฤต โยนกนาคพันธ์
  • 17. นายวัฒน์ วรรลยางกูร
  • 18. นาวาอากาศตรี ชนินทร์ คล้ายคลึง
สั่ง ณ วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เรียกตัวแกนนำ นปช. รายงานตัวเพิ่มอีกครึ่งโหล


พรศักดิ์ ศรีละมุล

อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง

อารี ไกรนรา

ธนกฤต ชะเอมน้อย


พงศ์พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง


              วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. กนส. ได้รับการประสานขอเข้ารายงานตัว ต่อ คสช. ตามที่ประกาศ ฉบับที่ 52/2557 และ ฉบับที่ 53/2557 มีดังนี้
  • 1)นายพรศักดิ์ ศรีละมุล
  • 2)นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง
  • 3)นายอารี ไกรนรา
  • 4)นายธนกฤต ชะเอมน้อย
  • 6)นายพงศ์พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง(ภริยามาแทน เพราะเข้ารับการรักษาที่รพ.)

           อีกด้านเมื่อวาน มีประชาชนที่ออกไปแสดงสัญญลักษณ์ที่บริเวณห้างสรรพสินค้าพารากอน ซึ่งถูกคุมตัวไปกักขังที่กองปราบปราม จำนวน 7 คนนั้น บัดนี้ ทนายอาสาจาก กนส. คือนายศุภวัส ทักษิณ และนายรัฐศักดิ์ อนันตริยกุล ไปเยี่ยมและให้คำปรึกษาแล้ว ทั้ง 7 คนปลอดภัยดี

           นอกจากนี้ กนส.ยังส่งทนายอาสา นายธิติพงศ์ ศรีแสน ไปเยี่ยมผู้ที่ถูกเข้าค้นบ้านและจับกุมไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม จำนวน 2 คน เพื่อช่วยเหลือทางคดี ความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป


ศาลแพ่งสั่งจำคุกอาจารย์ "ตุ้ม" ม.ธรรมศาสตร์-ทนายนปช. กรณีวางพวงหรีดหน้าศาล 2 เดือน



เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ศาลแพ่ง มีคำสั่ง ให้จำคุก 2 เดือน นางสุดสงวน สุธีสร หรือ อาจารย์ตุ้ม อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายพิชา วิจิตรศิลป์ ทนายความ นปช.ในคดีที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการศาลแพ่ง กล่าวหาว่าร่วมกับนางดารุณี กฤตบุญญาลัย หรือเจ๊ดา นักธุรกิจไฮโซ แนวร่วม นปช. ละเมิดอำนาจศาล กรณีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน นำกลุ่มมวลชนที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลแพ่งในคดีเพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาวางพวงหรีด และป้ายข้อความโจมตีการทำหน้าที่ของศาลแพ่ง

โดยในวันนี้ศาลได้ไต่สวนนางสุดสงวนและนายพิชา แต่ในส่วนนางดารุณีไม่เดินทางมา ศาลเห็นว่ามีเจตนาหลบหนีจึงมีคำสั่ง ออกหมายจับ เพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการพิจารณา และจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว

ส่วนนางสุดสงวน และนายพิชาให้การยอมรับว่า ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลจริง ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ทั้งสองมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล สั่งลงโทษ จำคุกคนละ 2 เดือน แต่ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก คนละ 1 เดือน พิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา แล้ว เห็นว่านางสุดสงวน เป็นอาจารย์ ส่วนนายพิชา เป็นทนายความ การกระทำที่หน้าศาลแพ่งถือว่าจงใจ ทำให้ผู้อื่นไม่เชื่อมั่นในการตัดสินของศาล สร้างความเสื่อมเสียให้กับศาลยุติธรรม ไม่ควรให้เป็นเยี่ยงอย่าง จึงไม่ควรรอการลงโทษ

ภายหลัง นางสุดสงวน และนายพิชา ได้ยื่นขอประกันตัว ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน คนละ 5 หมื่นบาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ ซึ่งทั้งสองคนได้ใช้เงินสดเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวออกไป

‘สุเทพ’ ขึ้นศาลกรณีสลายแดง 53 ‘รับ’ สั่งทหารยิงจริงเพื่อป้องกันตัว



สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ผอ.ศอฉ. ขึ้นศาล ยอมรับกรณีสลายแดง ปี 53 สั่งให้ทหารใช้อาวุธปืนลูกซองจริงปกป้องตัวเอง แต่ต่ำกว่าหัวเข่า ยันมีกองกำลังติดอาวุธ ระบุไม่เกี่ยวกับ ‘อภิสิทธิ์’
9 มิ.ย.2557 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่ศาลอาญา ศาลอาญารัชดา นัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ในคดีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมเจ้าหน้าที่ รวม 4 ราย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ,ความผิดต่อเจ้าพนักงานและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200 จากกรณีที่ร่วมกันตั้งข้อหาร่วมกันฆ่าคนตายโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการประกาศใช้ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมความไม่สงบ ในเหตุการณ์ชุมนุม ระหว่าง เม.ย. - พ.ค. 53
ด้านนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของ นายสุเทพ กล่าวว่า คดีนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้ขึ้นเบิกความต่อศาลไปแล้ว เหลือเพียง นายสุเทพ ที่จะเดินทางมาเบิกความต่อศาลด้วยตนเองในวันนี้
โดยนายสุเทพ เบิกความ ยอมรับต่อศาลว่า ได้สั่งทหารเข้ากระชับพื้นที่ บริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อช่วงเดือนเมษายน ปี 2553 ด้วยอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ที่เป็นไปตามหลักสากล แต่ปรากฎว่า มีกองกำลังติดอาวุธใช้อาวุธสงคราม ยิงใส่ทหารจนมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ จนต้องถอยร่น จึงสั่งให้ทหารใช้อาวุธปืนลูกซองจริงปกป้องตัวเอง และคุ้มครองประชาชน โดยให้ยิงระดับต่ำกว่าหัวเข่า และรักษาระยะห่างกับผู้ชุมนุม เพื่อความปลอดภัย ซึ่งการออกคำสั่งดังกล่าว นายสุเทพ ยอมรับว่า เป็นผู้ออกคำสั่งโดยไม่เกี่ยวข้องกับนายอภิสิทธิ์ แต่อย่างใด ขณะที่นายสุเทพ ยังคงงดให้สัมภาษณ์ ในประเด็นการเมือง เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้คงไม่เหมาะสมหาก จะแสดงความเห็นใดๆ