วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รพ.ตำรวจชันสูตรศพใต้สะพานมัฆวานรังสรรค์-พบเป็นเพศชาย



สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจพิสูจน์ศพในกระสอบใต้สะพานมัฆวานรังสรรค์ พบมีร่องรอยถูกทำร้ายจนดั้งจมูกหัก เสียชีวิตมาแล้ว 3-6 สัปดาห์ ส่วนบัตรพนักงาน ธ.ก.ส. ที่พบใกล้กับศพต้องตรวจสอบก่อน ยังไม่สามารถยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่
ที่มาของภาพ: ตรงจากสนามข่าว
6 มิ.ย. 2557 - ตามที่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. มีการสนธิกำลังทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) และกรุงเทพมหานคร สำรวจพื้นที่คลองผดุงกรุงเกษม และบริเวณที่มีการชุมนุมของ กปปส. และ คปท. โดยพบกระสุนปืน ชิ้นส่วนวัตถุระเบิดหลายรายการ และศพมนุษย์ในถุงกระสอบนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.) สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พล.ต.ต.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมแพทย์อยู่ระหว่างการตรวจชันสูตรศพนิรนาม ที่ถูกพบในคลองผดุงกรุงเกษมใต้สะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยเบื้องต้น ทราบว่าเป็นเพศชาย สภาพศพเปื่อยยุ่ย คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบสักระยะ โดยแพทย์จะตรวจว่า ศพดังกล่าวเสียชีวิตมาแล้วกี่วัน
ส่วนที่พบบัตรพนักงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุชื่อ นายชาญศิริ ชาวนาใต้ ใกล้กับที่พบศพ นั้น ทางฝ่ายสืบสวนจะต้องดำเนินการตรวจสอบทางคดีและแจ้งไปยังญาติให้ทราบก่อน ซึ่งทางสถาบันนิติเวชยังยืนยันไม่ได้ว่าใช่คนเดียวกันหรือไม่
ทั้งนี้ มติชนออนไลน์ รายงานข้อมูลจากสถาบันนิติเวชวิทยาพบว่า ศพที่พบเป็นเพศชาย สูงราว 168 -170 ซ.ม. คาดว่าเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 3-6 สัปดาห์ จากการตรวจสอบกะโหลกศีรษะมีร่องรอยการถูกทำร้ายบริเวณใบหน้าจนดั้งจมูกหัก และน่าจะเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ เพื่อเตรียมไว้ตรวจเปรียบเทียบกับญาติของผู้เสียชีวิตกรณีที่มีการร้องขอต่อไป
ส่วนกรณีนายเมธี มุขตารี อายุ 34 ปี ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวอัลจาซีร่า ประสบอุบัติเหตุถูกรถโดยสารประจำทางสาย 511 ชนเสียชีวิตเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา แพทย์ผ่าชันสูตรศพเสร็จแล้ว โดยมีญาติมารับศพกลับไปบำเพ็ญกุศลทางศาสนาแล้ว

‘คสช.’ แจงปมความผิดชู 3 นิ้วขึ้นกับองค์ประกอบ - เลิกเคอร์ฟิวช่วงบอลโลกต้องดูสถานการณ์



5 มิ.ย. 2557 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะคณะทำงานโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนดว่า เพื่อให้เกิดความสบายใจ บางพื้นที่ในเมืองท่องเที่ยวมีการผ่อนปรนแล้ว หากฝ่ายความมั่นคงและการข่าว ประเมินว่าสถานการณ์มีความสงบเรียบร้อยอาจมีมาตรการผ่อนปรนตามลำดับ เพราะเจ้าหน้าที่ทราบดีถึงเกิดผล กระทบต่อประชาชนจึงจะใช้ตามความจำเป็นเท่านั้น
 
เมื่อถามว่ามีแนวโน้มจะยกเลิกการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกหรือไม่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า มาตรการเคอร์ฟิวเป็นสิ่งที่ คสช.พูดถึงอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ขณะนี้มีการปรับและรายงานเข้ามาตลอด เชื่อว่าอีกระยะจะมีการผ่อนปรนตามสภาพแวดล้อม โดยขึ้นอยู่กับความสงบเรียบร้อย เพราะความไม่สงบที่เกิดขึ้นอาจจะแอบแฝงอยู่ จึงต้องประเมินให้ครอบคลุมทุกมิติ
 
พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า สำหรับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ยังเข้มงวดในเรื่องการจับกุมอาวุธสงคราม และกวดขันเรื่องอบายมุข เห็นได้จากการจับกุมที่จริงจัง จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการกระทำที่เข้าข่าย
 
ส่วนกระแสข่าวการบุกจับผู้หลบหนีคำสั่งรายงานตัวจนไปเจอกับแหล่งอบายมุขนั้น พ.อ.วินธัยกล่าวว่า สื่อมวลชนอาจเข้าใจผิด เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้เจาะจงบุคคลที่ฝ่าฝืนประกาศคำสั่งเท่านั้น แต่การปราบปรามอบายมุขนั้นสังคมก็เรียกร้องอยู่แล้ว จึงใช้โอกาสเดียวกันนี้ดำเนินการ
 
ส่วนการปฏิบัติต่อกลุ่มที่ต่อต้าน พ.อ.วินธัย กล่าว เราคงจะดำเนินการ 2 วิธีคือ พยายามป้องกันในเรื่องการติดต่อสื่อสาร และถ้ายังไม่เชื่อฟังจะดำเนินการ แต่ยืนยันว่ามีมาตรการจากเบาไปหาหนัก ให้ตำรวจเป็นผู้ปฏิบัติให้มากขึ้น ดังนั้นมาตรการเหล่านี้ยังดำเนินการอยู่เหมือนเดิม
 
เมื่อถามถึงการชู 3 นิ้วแสดงสัญลักษณ์มีความผิดหรือไม่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดและองค์ประกอบขณะนั้น เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เพราะหากมีนัยยะในการปลุกปั่นหรือรวมกลุ่มเกินกำหนดก็จะมีความผิด
 
พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า ได้รับข้อมูลว่ามีการกระทำของบางกลุ่มไม่เหมาะสม ในการประกาศขอรับบริจาคในนามผู้มีจิตศรัทธาระบุว่าจะนำมามอบให้เจ้าหน้าที่ แต่เป็นการกระทำอันมิชอบในลักษณะของการหลอกลวง เพราะขอรับบริจาคเพื่อแสวงประโยชน์ส่วนตนไม่ได้นำมามอบให้อย่างที่โฆษณา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความผิด และทำให้บรรยากาศขณะนี้ไม่ดี จึงอยากให้ผู้ที่ยังคิดไม่ดี ขอให้เลิกกระทำดังกล่าว

คสช. ตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป




5 มิ.ย. 2557  ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงถึงขอบเขตการทำหน้าที่ของสำนักคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปที่ คสช.ตั้งขึ้น ว่ามีลักษณะทำงาน 2 ส่วนคือในส่วนของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปที่จะจัดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดำเนินการโดยฝ่ายปกครองและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเบื้องต้นจะเน้นเรื่องการจัดกิจกรรม มีการแสดงดนตรี ตรวจสุขภาพ จัดเวทีพบปะในระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด
ขณะที่อีกส่วนเป็นในเรื่องของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูป โดยในระยะแรก คสช.จะอยู่ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก เพื่อสนับสนุนเปิดพื้นที่หรือเวทีให้แต่ละภาคส่วนได้พบปะพูดคุยกัน และจัดระเบียบความรู้สึกของคนในพื้นที่ ทั้งนี้ คสช.จะเป็นเพียงผู้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด โดยไม่มีการประมวลผลหรือสรุป แต่จะนำข้อมูลส่งต่อให้สภาปฏิรูป ซึ่งอยู่ในการปฏิบัติระยะที่ 2
ด้าน พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยถึงการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งให้ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) มีคณะทำงานส่วนกลางและภูมิภาคในกองทัพภาคที่ 1-4
พ.อ.บรรพต กล่าวว่า ขั้นตอนการปฏิบัติมี 3 ขั้นคือ ขั้นที่ 1 เป็นการเตรียมความพร้อม โดยศูนย์ฯ จะเชิญผู้แทนส่วนที่เกี่ยวข้องจัดตั้งเป็นคณะทำงาน เพื่อร่วมหารือกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินการในพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 1-4 จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลแผนการปฏิบัติเพื่อดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบ ขั้นที่ 2 เป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย จะดำเนินการในเดือนมิถุนายน
พ.อ.บรรพต กล่าวอีกว่า คณะทำงานส่วนกลางจะรวบรวมความเห็นจัดทำเป็นกรอบแนวทางดำเนินการของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กอ.รมน.ภาค 1-4 พร้อมรวบรวมความเห็นจากระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค เสนอให้ ศปป. ทราบ และขั้นที่ 3 จะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม นำข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับมาประมวลผล แล้วนำเสนอแนวทางการปฏิบัติประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาในภาพรวมต่อไป
พ.อ.บรรพต กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งให้ทุกจังหวัดจัดตั้ง ศปป.กอ.รมน.จังหวัด รองรับการทำงาน ให้สอดคล้องกับการทำงานของศูนย์ฯ แล้ว ศปป. จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้มาช่วยกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ให้สังคมไทยยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง บริหารความขัดแย้งอย่างเท่าเทียม และเป็นระบบตามกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน โดยไม่ผูกพันเงื่อนไขที่เกิดก่อน 22 พฤษภาคม 2557
“หัวหน้า คสช. ต้องการคืนความสุขให้กับคนในชาติ สลายความขัดแย้งในสังคม สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ ยึดถือสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสงบสุขปลอดภัยของประชาชน ให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้งเข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหา เดินหน้าประเทศไทย ภายใต้การมีส่วนร่วมในการปฏิรูป และนำไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” พ.อ.บรรพต กล่าว

ศาลทหารนัดรายงานตัว 7 คน - หลังร่วมกินแมคโดนัลด์ต้านรัฐประหารที่ จ.เชียงราย


กรณีกินแมคโดนัลด์ต้านรัฐประหารที่เชียงรายเมื่อ 25 พ.ค. ต่อมาถูก จนท.ควบคุมตัว 7 รายก่อนได้รับการประกันตัววงเงิน 2 หมื่น ล่าสุดหลังพนักงานสอบสวนทำสำนวนเสร็จ ศาลทหารได้เรียกทั้ง 7 รายมารายงานตัว 10 มิ.ย. นี้คาดเจอข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ-ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน
5 มิ.ย.57 - จากกรณีเมื่อวันที่ 25 พ.ค.57 ที่มีกลุ่มประชาชนในจังหวัดเชียงราย นัดรวมตัวกันทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารที่ร้านแม็คโดนัลด์ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า และได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวผู้ร่วมกิจกรรมจำนวน 7 คนเอาไว้ จนถึงขณะนี้ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 2 หมื่นบาท โดยเตรียมถูกส่งฟ้องต่อศาลทหารในข้อหาฝ่าฝืนประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากการมั่วสุม-ชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน
สำหรับกิจกรรมกินแมคโดนัลด์ต้านรัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นคู่ขนานกับกิจกรรมในกรุงเทพฯ โดยมีกลุ่มประชาชนในเชียงรายสองกลุ่มที่นัดหมายแยกกันมาทำกิจกรรม ในช่วงบ่ายและช่วงค่ำ (ดูรายงานข่าวที่เกี่ยวข้อง) และได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดทหารบกเชียงราย เข้าควบคุมตัวผู้ทำกิจกรรมบางส่วน โดยแยกเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมตอนบ่าย 4 คน และตอนค่ำอีก 3 คน สำหรับรายชื่อผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วน ได้แก่ นางทรงศรี คมขำ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย, นายทรงธรรม คิดอ่าน แกนนำกลุ่มเสื้อแดงเชียงราย และนางสุรีรัตน์ บุญบัวทอง แกนนำกลุ่มแม่ลาวรักประชาธิปไตย เป็นต้น
แหล่งข่าวในจังหวัดเชียงรายให้ข้อมูลว่าภายหลังจากการโดนควบคุมตัว ทั้ง 7 คนได้ถูกนำตัวไปที่ค่ายเม็งรายมหาราชเป็นเวลา 7 วัน แล้วถูกนำไปควบคุมตัวที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายเป็นเวลาหนึ่งวันกว่าๆ แต่พนักงานสอบสวนยังจัดทำสำนวนไม่เสร็จ จึงได้ถูกนำตัวไปขออำนาจศาลในการฝากขังผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ก่อนถูกนำตัวไปคุมขังยังเรือนจำจังหวัดเชียงรายเป็นเวลาราวครึ่งวัน จึงได้รับการประกันตัวออกมาด้วยหลักทรัพย์คนละ 2 หมื่นบาท เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวระบุว่าศาลทหารที่จังหวัดเชียงรายได้นัดให้ทั้ง 7 คน ไปรายงานตัวในวันที่ 10 มิ.ย. 57 เวลา 9.30 น. โดยเป็นไปได้ว่าหากพนักงานสอบสวนทำสำนวนเสร็จสิ้นจะมีการส่งฟ้องศาลในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7 โดยทำการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ทั้งนี้ ในส่วนของความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกัน ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าวานนี้ (4 มิ.ย.57) กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดทหารบกเชียงราย (กกล.รส.จทบ.ชร.) ได้นำกำลังและหมายเรียกไปที่บ้าน นายจิระโชติ อุ่นนะ แกนนำกลุ่ม นปช.เชียงราย 52 ซึ่งถูกติดตามให้ไปรายงานตัวตั้งแต่หลังการรัฐประหาร เมื่อพบตัวนายจิระโชติ จึงได้เข้าควบคุมตัวไปที่ค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดทหารบกเชียงราย
โดยในขณะนี้มีผู้ถูกคุมตัวอยู่ที่ค่ายเม็งรายมหาราชอีกหลายคน เช่น นายสราวุธิ์ กูลมธุรพจน์ กลุ่มนักรบไซเบอร์เชียงราย, นายสมควร สุตะวงศ์ แกนนำอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ จังหวัดเชียงราย, นางหรรษา สมทบ อดีตผู้ประสานงานนปช. จังหวัดเชียงราย

ทหารเรียกเอ็นจีโอขอนแก่นรายงานตัว กดดันให้เซ็นต์ชื่อหยุดเคลื่อนไหว



พิชิต พิทักษ์ นักพัฒนาอาวุโส ที่ปรึกษาสหพันธ์ประชาชนเสรีเพื่อประชาธิปไตย(สปป.) ถูกเรียกเข้าไปรายงานตัวที่ค่ายสีหราชเดโชไชย จ.ขอนแก่น(ร.8) เมื่อเวลา9.00น. วันที่5 มิถุนายน 2557
ก่อนหน้านี้นายพิชิต ได้ถูกทหารค้นบ้านพักที่อ.กระนวน จ.ขอนแก่น พร้อมทั้งคุมตัวไปสอบสวนมาแล้ว ในวันที่30 พ.ค. 57 ต่อมาวันที่3 มิ.ย.57 ได้รับการประสานงานจาก ร.อ.วิชัย ดีนอก จากค่าย สีหราชเดโชไชย(ร.8)จ.ขอนแก่น ให้เข้ารายงานตัวในวันที่5 มิ.ย.57 ก่อนที่นายพิชิต จะเข้ารายงานตัว ได้มีทหารสองนายในชุดนอกเครื่องแบบจากค่ายร.8พัน2 อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น บุกไปที่บ้าน ในวันที่4มิ.ย.57 ไม่พบนายพิชิต แต่พบภรรยา โดยทหารทั้งสองนายทำทีไปเยี่ยมเยียนสอบถามปกติ และกลับไปโดยใช้เวลาไม่นานนัก
ล่าสุดได้รับรายงานว่า นายพิชิต พิทักษ์  ถูกปล่อยตัวเมื่อเวลา 15.00น.  จากการสอบถามนายพิชิต ปรากฏว่าการเรียกไปรายงานตัวครั้งนี้เนื่องมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง และทางทหารได้ระบุในเอกสารให้เซ็นต์คือ จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่ให้ออกนอกราชอาณาจักร นายพิชิต ก็เซ็นต์แต่โดยดี  ทั้งนี้ นายพิชิต ได้มีข้อเสนอไปทางคสช. ผ่านทหารผู้สอบสวน ในเรื่อง การบุกค้นบ้านชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีการยึดเครื่องมือทำมาหากิน ถังแก๊ส  ปุ๋ยยูเรีย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้เลิกกระทำเสีย เพราะจะสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน

จนท.บุกล็อกตัว "บก.ลายจุด" - หิ้วไปคุมขังที่ค่าย ร.21 รอ. ชลบุรี


View image on Twitter


เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า วันที่ 5 มิ.ย. เวลาประมาณ 21.30 น. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "ผมโดนจับแล้ว" จากนั้นก็ไม่ได้กลับมาโพสต์ข้อความอีกเลย ท่ามกลางความห่วงในของประชาชนที่เข้าไปเขียนถามข้อเท็จจริงและให้กำลังใจ
 
ต่อมาเวลาประมาณ 22.00 น.เศษ เริ่มมีกระแสข่าวระบุว่า "เวลา 21.30 นายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) ถูกควบคุมตัวที่พานทอง จ.ชลบุรี โดยการนำทีมของ ผบก.ปอท.ร่วมกับ ร.21 และการตรวจไอพีโดย สขช. (สำนักข่าวกรองแห่งชาติ) พร้อมกับมีภาพขณะบก.ลายจุดถูกควบคุมตัวในบ้านหลังหนึ่ง
 
ล่าสุด เวลา 23.00 น. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" ตรวจสอบข่าวดังกล่าวกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการจับกุม พบว่า บก.ลายจุดถูกเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวจริง หลังจากไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งของคณะคสช. โดยล่าสุด มีรายงานว่า บก.ลายจุดถูกนำไปควบคุมที่ไว้ที่ค่ายทหาร ร.21 รอ. ชลบุรี
 
ทั้งนี้ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เป็นนักกิจกรรมประชาธิปไตย ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดงและเน้นการขับเคลื่อนตามแนวทางสันติวิธี ล่าสุด หลังคณะคสช. ก่อรัฐประหาร เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ บก.ลายจุดได้ทำกิจกรรมผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันแสดงพลังหนุนประชาธิปไตยและเรียกร้องการเลือกตั้ง กระทั่งถูกคสช.เรียกรายงานตัว แต่ไม่ได้ไปตามคำสั่ง
 
 
 

สงครามชนชั้น: รัฐประหารของกองทัพไทย


 (Photo: Pittaya Sroilong / Flickr)
บทความนี้เป็นการเผยแพร่ร่วมกันระหว่าง Foreign Policy In Focus และ TheNation.com
กองทัพไทยนำเสนอภาพการยึดอำนาจของตนว่าเป็นความพยายามที่จะสร้างระเบียบให้ประเทศ หลังจากการประชุมระหว่างสองฟากฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ทางการเมืองกันไม่สามารถบรรลุข้อประนีประนอมที่จะเอื้อให้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่ทำงานได้
บทที่เขียนและกำกับอย่างแนบเนียน
โครงเรื่องข้างต้นของกองทัพกลับมีคนคล้อยตามไม่มากนัก  อันที่จริง นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าการรัฐประหารของกองทัพเป็นแค่ การปลิดชีพ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประเทศไทยที่ใกล้จะตายมิตายแหล่หลังจากเจอการรัฐประหารโดยฝ่ายตุลาการเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม
มันเป็นเรื่องยากที่จะไม่มองว่าการรัฐประหารเป็นแค่ดาบสุดท้ายในบทที่เขียนและกำกับอย่างแนบเนียนโดยฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม “โหนเจ้า” ที่พยายามล้มล้างสิทธิในการปกครองประเทศของกลุ่มการเมืองฝ่ายประชานิยมที่ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544  การใช้วาทกรรมต่อต้านการคอร์รัปชั่นมาโหมกระพือให้ชนชั้นกลางออกมาประท้วงเป็นจำนวนมาก  นับตั้งแต่เริ่มต้น แกนนำในแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะสร้างความไร้เสถียรภาพเพื่อกระตุ้นให้กองทัพก้าวเข้ามาใช้กำลังเพื่อจัดระเบียบการเมืองใหม่
ตามแนวคิดของ Marc Saxer นักวิเคราะห์ที่นิยาม “ความโกรธแค้นของชนชั้นกลาง” ว่าเป็นท่อนซุงที่ใช้กระทุ้งให้ประตูเปิด  แนวร่วมต่าง ๆ ในหมู่ชนชั้นนำบีบรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนต้องประกาศยุบสภาในเดือนธันวาคม ขัดขวางการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อสร้างเงื่อนไขให้ศาลรัฐธรรมนูญอนุรักษ์นิยมตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและผลักดันให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมด้วยข้อหา “ใช้อำนาจโดยมิชอบ” ทั้งที่ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือแม้แต่น้อย  การประท้วงของมวลมหาประชาชนก็บรรเลงสอดรับกับการรุกคืบของศาลเพื่อแผ้วทางให้กองทัพเข้ามายึดอำนาจ
กองทัพกล่าวว่าจะแต่งตั้ง “สภาปฏิรูป” และ “สมัชชาแห่งชาติ” มาวางพื้นฐานด้านสถาบันให้แก่รัฐบาลชุดใหม่  แผนการนี้คล้ายคลึงอย่างยิ่งกับแผนการที่สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำการประท้วงประกาศไว้เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งต้องการให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้สภาปฏิรูปที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและตรวจสอบไม่ได้เป็นเวลาหนึ่งปี
การรัฐประหารของกองทัพได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากฐานผู้สนับสนุนชนชั้นกลางของสุเทพ  อันที่จริง การสนับสนุนของชนชั้นกลางนั่นแหละที่ช่วยสร้างม่านอำพรางให้หมากตาต่าง ๆ ที่คำนวณมาอย่างดีของฝ่ายชนชั้นนำทางการเมือง  กลุ่มคนจำนวนมากที่เป็นแกนหลักของการประท้วงตามท้องถนนกำลังคาดหวังจะได้เห็นการร่างระเบียบใหม่ของชนชั้นนำที่จะทำให้ความไม่เท่าเทียมทางการเมืองกลายเป็นสถาบันที่เอื้อประโยชน์ต่อกรุงเทพฯและชนชั้นกลางในเมืองของประเทศนี้
ชนชั้นกลางไทย: จากพระเอกกลายเป็นศัตรูของระบอบประชาธิปไตย
นักสังคมวิทยาชื่อ Seymour Martin Lipset เคยยกย่องชนชั้นกลางเป็นพระเอกของระบอบประชาธิปไตย แต่ในระยะหลัง ชนชั้นกลางชาวไทยกลับแปลงร่างกลายพันธุ์เป็นผู้สนับสนุนแผนการของชนชั้นนำที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย  ชนชั้นกลางไทยวันนี้ไม่ใช่ชนชั้นกลางฝ่ายประชาธิปไตยที่เคยโค่นล้มระบอบเผด็จการของนายพลสุจินดา คราประยูรเมื่อ พ.ศ. 2535 อีกแล้ว เกิดอะไรขึ้น?
บทวิเคราะห์ที่ช่วยให้ความกระจ่างต่อการแปลงร่างครั้งนี้เป็นบทวิเคราะห์ของ Marc Saxer ที่ควรค่าต่อการคัดอ้างมาเต็ม ๆ[1]:
ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯเคยเรียกร้องรัฐที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น รวมทั้งเรียกร้องสิทธิทางการเมืองเพื่อคุ้มครองตัวเองจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของชนชั้นนำ  อย่างไรก็ตาม เมื่อระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นสถาบันแล้ว พวกเขากลับพบว่าตัวเองเป็นแค่เสียงข้างน้อยในเชิงโครงสร้าง เสียงส่วนใหญ่ที่อยู่รอบนอกสามารถชนะการเลือกตั้งได้อย่างง่ายดายทุกครั้งภายใต้การจัดการของนักเลือกตั้งที่คร่ำหวอด  เนื่องจากชนชั้นกลางในพื้นที่ศูนย์กลางไม่เคยรับรู้ถึงการก่อตัวของชนชั้นกลางในชนบทที่เรียกร้องการมีส่วนร่วมในชีวิตสังคมและการเมืองอย่างเต็มตัว พวกเขาจึงตีความเสียงเรียกร้องสิทธิและสาธารณประโยชน์ที่เท่าเทียมว่าเป็นแค่ “คนจนเริ่มโลภมาก”....[การ]ปกครองด้วยเสียงข้างมากถูกมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การล้มละลายทางการเงินในท้ายที่สุด
Saxer วิเคราะห์ต่อไปว่า จากมุมมองของชนชั้นกลาง ระบบเสียงข้างมาก
ละเลยพื้นฐานทางการเมืองของสัญญาประชาคม กล่าวคือ การประนีประนอมทางสังคมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย  ไม่เคยมีการเซ็นสัญญาประชาคมที่ผูกมัดให้ชนชั้นกลางต้องแบกรับภาระภาษีเพื่อแลกกับบริการสาธารณะที่เท่าเทียม ความมีเสถียรภาพทางการเมืองและความสงบสุขของสังคม  นี่คือเหตุผลที่ชนชั้นกลางรู้สึกเหมือนตัวเอง “ถูกปล้น” โดยนักการเมืองที่ฉ้อฉล ซึ่งใช้รายได้จากภาษีของพวกเขา “ซื้อเสียง” จาก “คนจนโลภมาก” หรือหากจะใช้ภาษาที่ซับซ้อนกว่านั้นก็คือ “มวลชนไร้การศึกษาในชนบทตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองที่สัญญาจะให้สารพัดอย่างเพื่อได้ขึ้นครองอำนาจ”
Saxer สรุปว่า ด้วยเหตุนี้เอง จากทัศนะของชนชั้นกลางในเมือง
บรรดานโยบายที่ตอบสนองฐานเสียงในท้องถิ่นจึงเป็นแค่ “ประชานิยม” หรือ “การซื้อเสียง” อีกรูปแบบหนึ่งของนักการเมืองกระหายอำนาจ  ในการตัดสินชี้ขาดครั้งสำคัญ ศาลรัฐธรรมนูญไทยจึงเปรียบเทียบหลักการเลือกตั้งว่าเป็นการคอร์รัปชั่น  ผลที่ตามมาก็คือ มีหลายครั้งหลายคราวที่พันธมิตร “เสื้อเหลือง” ของชนชั้นนำศักดินาประสานเสียงกับชนชั้นกลางกรุงเทพเรียกร้องให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ “คนจนไร้การศึกษา” หรือแม้กระทั่งงดเว้นระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเสียเลย
ความใฝ่ฝันอันเหลือเชื่อ
อย่างไรก็ตาม พันธมิตรชนชั้นนำ-ชนชั้นกลางกำลังหลอกตัวเอง หากคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่จะสร้างความเป็นสถาบันให้การปกครองด้วยเสียงข้างน้อยเป็นสิ่งที่เป็นไปได้  เพราะประเทศไทยไม่ใช่ประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองส่วนใหญ่เป็นแค่ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ โดยที่ชนชั้นล่างจำนวนมหาศาลได้แต่มองดูตาปริบ ๆ หรือเป็นแค่สาวกเชื่องเชื่อของกลุ่มก๊กชนชั้นนำที่แก่งแย่งชิงดีกัน
หากจะยืมคำของเหมาเจ๋อตง สิ่งที่เป็นพลังขับเคลื่อนการเมืองไทยในตอนนี้คือความขัดแย้งทางชนชั้นที่มีลักษณะเฉพาะแบบไทย  บุคคลสำคัญที่เปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์การเมืองไทยคือทักษิณ ชินวัตร อภิมหาเศรษฐีผู้มีบารมีแต่ฉ้อฉล เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการผสมผสานแนวทางประชานิยม การอุปถัมภ์และการใช้จ่ายเงินอย่างชำนิชำนาญเพื่อรวบรวมคะแนนเสียงเลือกตั้งข้างมากเข้ามาเป็นกลุ่มก้อน  สำหรับทักษิณ เป้าหมายของการสร้างแนวร่วมนี้อาจเพื่อไล่ต้อนหรือเข้าไปผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำ แต่สำหรับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมที่เขาปลุกให้ตื่นขึ้นมานั้น เป้าหมายคือการกระจายความมั่งคั่งและอำนาจจากชนชั้นนำลงไปสู่มวลชน และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การเรียกร้องศักดิ์ศรีให้แก่ประชาชนที่เคยถูกดูแคลนเป็น “ไอ้บ้านนอกคอกนา” หรือ “ควาย”  ถึงแม้ขบวนการ “เสื้อแดง” ของทักษิณอาจถูกเยาะหยันว่าเป็นแค่การจับมือกันระหว่างนักการเมืองฉ้อฉลกับ “คนจนโลภมาก” แต่มันก็กลายเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิพลเมืองเต็มตัวของชนชั้นที่ถูกกีดกันชายขอบของประเทศไทย
พันธมิตรชนชั้นนำ-ชนชั้นกลางกำลังฝันไป หากคิดว่าคนเสื้อแดงจะหลีกทางและปล่อยให้พวกเขากำหนดเงื่อนไขการสยบยอมตามอำเภอใจ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการทำให้การสยบยอมนี้กลายเป็นสถาบันในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  แต่ ณ ขณะนี้ คนเสื้อแดงเองก็ไม่มีอำนาจมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงดุลการเมืองในระยะสั้นและระยะยาว  บัดนี้ถึงคราวที่คนเสื้อแดงต้องหันมาต่อสู้ด้วยวิธีการพลเมืองขัดขืนบ้าง
นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร มีรายงานว่าประชาชนราว 150 คนถูกหน่วงเหนี่ยวกักขัง รวมทั้งประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวชื่อดังของหนังสือพิมพ์ Nation เขามีชื่อเสียงจากการวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่กรุยทางให้กองทัพเข้ามาแทรกแซง
แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นก็คือ การประท้วงของคนเสื้อแดงทั้งด้วยความรุนแรงและไม่รุนแรงจะทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งอันขมขื่นและยืดเยื้อที่ใกล้เคียงกับสงครามกลางเมือง พื้นที่ที่เป็นฐานที่มั่นในต่างจังหวัดของพรรคเพื่อไทย กล่าวคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางส่วนของภาคกลาง จะกลายเป็นพื้นที่ที่จักรวรรดิกรุงเทพฯ ปกครองยากขึ้น ๆ  มันเป็นฉากจบอันน่าเศร้าของประเทศที่เคยเป็นความหวังในอุษาคเนย์ ด้วยน้ำมือฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยที่ไม่ไยดีการประนีประนอมทางการเมืองใด ๆ เลย