วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

พท.จี้สุเทพ รับผิดชอบหลังมือปืนป๊อปคอร์นซัดทอดถึงม็อบกปปส.

พท.จี้สุเทพ รับผิดชอบหลังมือปืนป๊อปคอร์นซัดทอดถึงม็อบกปปส.



           วันที่ 20 มีนาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด กล่าวถึงกรณี ศอ.รส. นำนายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ ผู้ต้องหามือปืนป๊อปคอร์นเหตุปะทะหลักสี่มาแถลงข่าว ยอมรับนำปืน M16 มาจากการ์ดกปปส.ได้ค่าจ้างร่วมม็อบวันละ 300 บาท ว่า ถึงเวลาที่นายสุเทพ ควรสารภาพบาป บอกความจริงกับสังคม การชุมนุม ของ กปปส.มีการใช้อาวุธสงคราม ใช้ความรุนแรงปะปนอยู่ในกล่มผู้ชุมนุม นายสุเทพจะรับผิดชอบกับเรื่องนี้อย่างไร หวังว่า นายสุเทพคงจะมีความเป็นลูกผู้ชายพอ ที่กล้าทำกล้ารับ

        "เมื่อเป็นแกนนำต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของแนวร่วม ไม่ออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง และขอให้ติดต่อช่วยเหลือมือปืนป๊อปคอร์นที่นายสุเทพเชิดชูให้เป็นวีรบุรุษอย่างเต็มที่ด้วย อย่าตัดตอน โบ้ยความผิดหรือบ่ายเบี่ยงว่าเป็นกปปส.ปลอม สังคมอยากถามศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงเห็นว่าการชุมนุมของกปปส. เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้หรือไม่ ยังคงเห็นว่า การชุมนุมของกปปส.สงบ ไม่มีอาวุธ ไม่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ ศาลแพ่งยังคงเห็นว่า การชุมนุมของกปปส.ควรได้รับการคุ้มครองอยู่หรือไม่"


สปป.ชี้คำวินิจฉัยตลก.ไม่ชอบธรรม วรเจตน์ยันพ.ร.ฎ.โมฆะ คะแนนเสียง 'ไม่' โมฆะ

สปป.ชี้คำวินิจฉัยตลก.ไม่ชอบธรรม วรเจตน์ยันพ.ร.ฎ.โมฆะ คะแนนเสียง 'ไม่' โมฆะ
 สปป.แถลงค้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีเลือกตั้ง 2 ก.พ. ระบุ 7 ประการ ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองและทางรัฐธรรมนูญ วรเจตน์ ชีปัญหาหลายระดับ ให้พ.ร.ฏ.เป็นโมฆะครึ่งเดียว และไม่ได้ฟันให้ 20 ล้านเสียงที่ลงคะแนนโมฆะ เพราะรู้ดีไม่มีกฎหมายรองรับอำนาจ
                                                                                                        
 13.30 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) แถลงข่าวคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้ พ.ร.ฎ.ยุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรค 2 โดยชี้ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวมีปัญหาความชอบธรรมทั้งทางการเมืองและทางรัฐธรรมนูญ (อ่านแถลงการณ์ในล้อมกรอบด้านล่าง)
ชมวิดีโอการอ่านแถลงการณ์ สปป.โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์ และประจักษ์ ก้องกีรติ
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติราษฎร์ อภิปรายเพิ่มเติมกรณีเห็นค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น
ประเด็นแรก คำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กรหรือไม่ เขากล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร แต่การพิจารณาไม่ใช่ดูบทบัญญัติดังกล่าวอย่างเดียว หากแต่ต้องดูความชอบธรรมด้วย ทั้งนี้ มาตรา 197 ของรัฐธรรมนูญก็ระบุเช่นกันว่าคำพิพากษาของศาลต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่สามารถวินิจฉัยไปตามความรู้สึกนึกคิดของตัวได้ หากปรากฏว่าศาลไม่ได้วินิจฉัยไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เราคงยอมรับไม่ได้ว่าคำวินิจฉัยนั้นจะผูกพันองค์กรทุกองค์กร

ตอนนี้ในคำวินิจฉัยที่เผยแพร่ ยังไม่เห็นเหตุผลว่ารับคำร้องเรื่องนี้เพราะอะไร สิ่งที่รับวินิจฉัยเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างไร ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นมานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่าทั้งการยื่นเรื่องและการรับไว้พิจารณาไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ศาลไม่มีอำนาจเหนือคดีที่รับไว้พิจารณาในกรณีนี้

ประเด็นที่สอง เขาชี้ว่าคำวินิจฉัยที่ออกมามีลักษณะครึ่งๆ กลางๆ เนื่องจากระบุเฉพาะการกำหนดวันเลือกตั้งเท่านั้นที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้บอกว่าการยุบสภาฯ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เงื่อนไขทั้งสองประการเป็นเงื่อนไขที่ผูกกันใน พ.ร.ฎ. แต่กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญตัดเงื่อนอันแรกทิ้งไปเฉยๆ เพราะไม่ต้องการให้สภาผู้แทนราษฎรฟื้นคืนชีพ  อย่างไรก็ตาม ไม่มีตรงไหนเลยที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นเป็นวันเดียวกัน เพียงแต่กำหนดให้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเดียวกัน และกฎหมายยังเปิดช่องไว้ด้วยว่าหากมีเหตุจำเป็นเช่น จราจล ภัยพิบัติ ก็กำหนดวันเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ใหม่ได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น จึงต้องมีความยืดหยุ่นอย่างสมเหตุสมผล

ประเด็นที่สาม คำวินิจฉัยไม่ตรงกับคำร้อง เขากล่าวถึงรายละเอียดว่า เวลาศาลตัดสินคดีต้องเป็นการยุติข้อพิพาท ให้จบลงโดยไม่ต้องตีความต่อ ตัดสินครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้ แต่กังวลว่าคำวินิจฉัยนี้จะไม่เป็นเช่นนั้น ดูจากการแถลง ประเด็นที่ศาลตั้งกับประเด็นของผู้ร้องไม่ตรงกัน คนร้องร้องว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้งเพราะกกต.ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ แต่ศาลตั้งประเด็นเอาไว้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 2 ก.พ.นั้นเป็นการเลือกตั้งด้วยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และตอนตอบคำถามก็ไม่ได้ตอบคำถามนี้เลย ศาลบอกแต่เพียงว่า พ.ร.ฏ.เฉพาะส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วไม่ได้บอกต่อด้วยว่า แล้วการเลือกตั้งนี้จะเป็นยังไงต่อ 
ประเด็นที่สี่ ผลของคำวินิจฉัยนี้คืออะไร วรเจตน์ กล่าวว่า สื่อทั้งหมดไปพาดหัวว่า การเลือกตั้งโมฆะ เป็นความเข้าใจทั่วไปที่คลาดเคลื่อน ในทางกฎหมายเราตอบแบบนั้นไม่ได้ เราบอกอะไรบางอย่างเกินกว่าที่ศาลตัดสินไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญระบุแต่เพียงว่า การกำหนดวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการที่ประชาชนไปหย่อนบัตรลงหีบ เพราะนั่นเป็นเรื่องที่ตามมาทีหลัง เป็นผลจากการจัดการเลือกตั้ง ถามว่าในคำวินิจฉัยมีตรงไหนบอกว่าคะแนนนั้นเสียไปบ้าง ไม่มี หากจะให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ ศาลรัฐธรรมนูญต้องเขียนลงในคำวินิจฉัยทำลายคะแนนเสียง 20 ล้านเสียงนั้นให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เสียงของประชาชนถือเป็นสิ่งสูงสุดแล้ว ไม่มีอะไรสูงไปกว่านี้ เพราะอำนาจเป็นของปวงชนชาวไทย ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มาจากรัฐธรรมนูญซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากเสียงประชาชน
ชมวิดีโอการอภิปรายโดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ดังนั้นสิ่งที่ต้องกระทำต่อไป กกต.มีหน้าที่ต้องประกาศผลการเลือกตั้งที่เสร็จสิ้นไปแล้ว
ด้วยคำวินิจฉัยเช่นนี้ คำถามว่าคะแนนเสียหรือไม่จะเป็นปัญหาต่อไปตลอดกาลในระบบกฎหมาย คำวินิจฉัยนี้ปฏิบัติไม่ได้ เพราะด้านหนึ่ง เขียนว่าพ.ร.ฏ.ขัดรัฐธรรมนูญ อีกด้านหนึ่งคะแนนเสียงของประชาชนยังดำรงอยู่ทุกประการ
ประชาชนลงคะแนนเสียงไปแล้ว 20 ล้านเสียงยังคงอยู่ และศาลไม่มีอำนาจในการสั่งให้โมฆะด้วย ไม่มีกฎหมายไหนบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญทำได้ การทำลายคะแนนเสียงทำได้เฉพาะเหตุที่กฎหมายบัญญัติอยู่เป็นเรื่องๆ เป็นบางกรณี บางเขตเท่านั้น
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่คำวินิจฉัยออกมาแล้วไม่สามารถปฏิบัติต่อไปได้ ทำให้องค์กรอื่นต้องไปทำลายผลการเลือกตั้งเอาเอง
“สิ่งที่น่าจะเป็นโมฆะน่าจะกลับกัน ไม่ใช่การเลือกตั้งของประชาชน แต่ควรเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้หรือไม่ เพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งดำเนินต่อไปได้” วรเจตน์กล่าว
ถามว่าเราจะตีความโดยปริยายได้ไหมว่าเฉพาะบางส่วนของ พ.ร.ฏ.นี้ขัดรัฐธรรมนูญเลยตีขลุมต่อไปว่าการเลือกตั้งไม่ชอบ ผมคิดว่าไม่ได้ สองอันนี้แยกจากกัน การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอันหนึ่ง การไปเลือกตั้งเป็นอีกอันหนึ่ง ทั้งนี้ มาตรา 108 กำหนดบังคับ 2 อย่างคือ ให้กำหนดวันเลือกตั้งภายในเวลาเท่าไร และต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร มันขาดออกจากการไปใช้สิทธิของประชาชน ส่วนของพ.ร.ฏ.ขัดรัฐธรรมนูญนั้นถ้าจะมีความผิดก็ต้องเป็นการรับผิดทางการเมืองไปว่าเป็นของฝ่ายรัฐบาลหรือกกต. 
ประการสุดท้าย ประชาชนควรทำอย่างไรต่อไป วรเจตน์กล่าวว่า การจะยื่นถอนถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้ยาก เพราะไปติดการตีความขององค์กรอิสระอีก เขากุมสภาพทางกฎหมายไว้หมด เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องความรู้ทางกฎหมายแล้ว เพราะประชาชนต่างก็เข้าใจเรื่องราวอย่างดีอยู่แล้ว จากคำวินิจฉัยที่ผ่านมาๆ
“ผมคิดว่าหนทางในทางกฎหมายเหลือน้อยลงทุกที วันเวลาของผมในการพูดถึงเหตุผลทางกฎหมายน้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่สามารถเอาเหตุผลทางกฎหมายไปแย้งกับสิ่งที่ไม่มีเหตุผลได้อีก แต่อยากให้ท่านช่วยขยายความคิด ความรู้ออกไปให้มากที่สุด ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยมากทั้งในแง่จำนวนและอุดมการณ์ที่แท้จริง หนทางแบบนี้สงบสันติและนำสู่ชัยชนะได้ ถ้าหนทางแบบนี้ไปจนสุดแล้วก็ถือว่าไม่ใช่ความผิดของฝ่ายประชาธิปไตย เราทำเต็มที่แล้ว” วรเจตน์กล่าว
ชมวิดีโอการอภิปรายโดย เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว การต่อสู้ในช่วงหลายปีและยิ่งเข้มข้นในหลายเดือนนี้ เป็นการแย่งกันกำหนดกติกาทางการเมืองใหม่ เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจสังคมของบ้านเมืองที่เปลี่ยนไปในรอบหลายทศวรรษนี้
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจาก ประการแรก รัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง 2540 ซึ่งมีแก่นสำคัญ คือ ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความเข้มแข็ง มีอำนาจมาก เหนือกว่าระบบราชการและพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการกับประชาชนได้มากอย่างไม่เคยมีมาก่อน อีกประการคือ การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สองอย่างนี้เปลี่ยนบ้านเมืองไปเยอะ 
ประการที่สอง บังเอิญว่าพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอบสนองความต้องการขอประชานรากหญ้าอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ประชาธิปไตยที่เคยมีความหมายเพียงไปกาบัตรเลือกตั้งเฉยๆ กลายเป็นประชาธิปไตยที่กินได้

ประการที่สาม “คนชั้นกลางระดับล่าง” หรือคนรากหญ้า เกิดขึ้นมากมายในประเทศจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ คนเหล่านี้กอดรัดนโยบายไทยรักไทยและรัฐธรรมนูญ40 ระบอบประชาธิปไตยมีลูกค้ากลุ่มใหม่มหาศาล กติกาประชาธิปไตยที่เคยมีมาก็ต้องปรับเปลี่ยน ทางหนึ่งคือต้องขยายพื้นที่ออกไปเพื่อรวมคนกลุ่มนี้เข้าในระบบ หรืออีกทางหนึ่ง คนที่กลัวความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กลัวสูญเสียสิทธิประโยชน์เดิมของตนเองก็พยายามหดพื้นที่ประชาธิไตยให้แคบลง กันคนหน้าใหม่ออกไปจากระบบ

“ทุกวันนี้ที่สู้กันอยู่ตรงนี้ เราจะกำหนดกติกาประชาธิปไตยรับคนหน้าใหม่เข้ามาหรือจะหดแคบแล้วกันพวกเขาออกไป”

ส่วนการนับแต้มในการต่อสู้กันนั้นนับที่ความชอบธรรม ฝ่ายไหนต่อสู้ชอบธรรมกว่าในสายตาของคนส่วนใหญ่และชาวโลก ฝ่ายนั้นได้เปรียบ ดังจะเห็นได้ว่า การชุมนุมของ กปปส.ขาดควมชอบธรรมทางการเมืองจึงได้หดลีบเรียวเล็กลง

สำหรับคำวินิจฉัยเรื่องการเลือกตั้งมีค่าความชอบธรรมทางการเมืองเป็นอย่างไร ในสายตาของชาวโลกและสังคม ความกังขาในความชอบธรรมนั้นเริ่มตั้งแต่สายตาของท่านที่มองว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่ามมองว่าการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการล้มล้างประชาธิปไตยได้อย่างไร

“กรณีนี้มันจะชอบธรรมได้อย่างไร ถ้าเสียงของคน 20 ล้าน บวกกับอีก 3 สู้เสียงของ 6 คนไม่ได้”

“ระบอบการเมืองที่เรามีมันต้องบกพร่องร้ายแรงอย่างใดอย่างหนึ่งแน่ ถึงได้ปล่อยให้ม็อบเสียงข้างน้อย และพรรคฝ่ายค้านเสียงข้างน้อยที่บอยคอตการเลือกตั้ง สามารถสร้างเงื่อนไขให้คน 6 คนใช้อำนาจล้มเสียงของคน 20 ล้านคนได้ ระบอบนี้ป่วยแน่ๆ” 
ชมวิดีโอการอภิปรายโดย ประจักษ์ ก้องกีรติ และพวงทอง ภวัตรพันธุ์

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยในครั้งนี้เป็นจิ๊กซอว์อันหนึ่งที่จะปูทางไปสู่นายกฯ คนกลาง นอกรัฐธรรมนูญและนอกวิถีทางประชาธิปไตย
นอกจากนี้เขายังอธิบายถึงเหตุผลเบื้องหลังของการการเลือกตั้ง ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ การเลือกตั้งไม่ใช่เพียงรูปแบบที่กลวงเปล่าแต่มีเนื้อหาที่สะท้อนหลักการสำคัญ 3 ประการคือ
หนึ่ง อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ในโลกสมัยใหม่ คนยี่สิบคนจะตั้งนายกฯ ด้วยตัวเองไม่ได้ นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนทั้งประเทศ ทุกคนมีอำนาจเท่ากันหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง
สอง หลักการที่ว่ารัฐบาลต้องมาจากการแข่งขันทางการเมือง ต้องเสนอตัวให้ประชาชนเลือก มีการแข่งขัน ลอยจากฟ้ามาไม่ได้ นายกฯ ที่มาโดยไม่ผ่านการแข่งขันนำเสนอตัวให้ประชาชนเลือกก็ขัดวิถีทางประชาธิปไตย
สาม เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองและคัดสรรคนขึ้นสู่อำนาจ 
พวงทอง ภวัครพันธุ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลกระทบของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเลวร้ายกว่าการรัฐประหารเสียอีก เพราะองค์กรอิสระเหล่านี้มาพร้อมรัฐธรรมนูญ2540 ซึ่งมีเป้าประสงค์เพื่อให้ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ เพื่อจะจัดการความขัดแย้ง ยุติความขัดแย้ง แต่เมื่อคนในองค์กรเหล่านี้ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรเสียเองแล้ว มันหมายถึงประชาชนไม่มีทางออก ไม่มีทางออกในการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี และทำให้น่าเป็นห่วงว่าสังคมไทยอาจตกอยู่ในหลุมแห่งความรุนแรง 
ชมวิดีโอช่วงแสดงความคิดเห็น และถาม-ตอบ



แถลงการณ์สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)

คัดค้านคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ



กรณีที่วินิจฉัยโดยมุ่งหมายให้การเลือกตั้งทั่วไป ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

             ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๔๕ (๑) ว่า การจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และได้มีมติปรากฏตามคำแถลงของหัวหน้าโฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไปแล้ว ปรากฏว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งใน ๒๘ เขตเลือกตั้ง ซึ่งไม่เคยมีการรับสมัครเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่าในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไม่มีการเลือกตั้งในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การจะดำเนินการเลือกตั้งใน ๒๘ เขตเลือกตั้ง หลังวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นกัน เป็นผลให้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ เฉพาะส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๐๘ วรรคสอง นั้น สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง ดังนี้

           ๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๔๕ (๑) กำหนดกฎเกณฑ์ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เมื่อเห็นว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” ดังนั้นวัตถุแห่งคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีดุลพินิจที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้นั้นย่อมจะต้องเป็น “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” แต่สำหรับกรณีที่เป็นปัญหานี้เห็นได้ชัดว่าวัตถุแห่งคดี คือ “การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป” เมื่อวัตถุแห่งคดีไม่ใช่ “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” เสียแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินย่อมไม่อาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ และเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิเสธไม่รับคำร้องไว้พิจารณา การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๔๕ (๑) และเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยตนเองเปลี่ยนแปลงวัตถุแห่งคดีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๕ (๑) ทั้งๆที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญกระทำการเช่นที่ว่ามานี้ได้
          ๒. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๘ วรรคสอง บัญญัติว่า “การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร” ข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรแล้วในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๕๖ คือวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ การกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าวจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว


         แต่ในคดีนี้ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญกลับนำเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังและไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปมาเป็นฐานในการพิจารณา กล่าวคือ นำเอากรณีที่ไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งได้ในเขตเลือกตั้ง ๒๘ เขตเลือกตั้ง มาอ้างว่าถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปในเขตเลือกตั้ง ๒๘ เขตเลือกตั้งในภายหลัง ก็จะทำให้การเลือกตั้งทั่วไปไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ทั้งๆที่ รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติบังคับว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องเกิดขึ้นในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เพราะย่อมเป็นไปได้เสมอที่อาจเกิดเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัยขึ้นในบางหน่วยเลือกตั้งอันอาจทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งในวันเดียวกันได้ รัฐธรรมนูญเพียงแต่บัญญัติให้วันเลือกตั้งต้อง “กำหนด” เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งก็ได้มีการกำหนดไว้โดยชอบแล้ว

          ๓. นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าการเลือกตั้งในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยเป็นส่วนใหญ่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเอากรณีที่ไม่อาจรับสมัครเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งบางเขตเลือกตั้งได้ เพราะมีผู้ขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งมากล่าวอ้างให้มีผลว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯ เฉพาะส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งหมายจะทำลายการเลือกตั้งในวันดังกล่าวลง นอกจากจะไม่มีเหตุผลในทางกฎหมายรองรับแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาการตีความคำวินิจฉัยต่อไปอีกด้วยว่าคะแนนเสียงของประชาชนที่ไปออกเสียงเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นั้น ถูกทำลายลงแล้วหรือไม่ โดยอำนาจของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือบทกฎหมายมาตราใด

           ๔. หากพิเคราะห์ในแง่ของการต่อสู้กันทางการเมืองแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าอุปสรรคของการเลือกตั้งในครั้งนี้มาจากการร่วมมือกันของกปปส.และบุคคลที่สนับสนุน กปปส.ทั้งในและนอกรัฐสภา ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยในอันที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่ได้แสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ในการทำงานตามกรอบอำนาจหน้าที่เพื่อที่จะจัดการการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ฉะนั้น การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงส่งผลหนุนเสริมปฏิบัติการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งให้บรรลุผลในทางปฏิบัติ เป็นการวินิจฉัยที่มองข้ามละเลยสิทธิของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจและได้มาแสดงออกซึ่งอำนาจของตนตามกฎเกณฑ์กติกาที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่

            ๕. การร่วมมือกันขัดขวางระบอบประชาธิปไตยนี้จะดำเนินต่อไป เพื่อสร้างสุญญากาศทางการเมือง เปิดทางให้กับนายกฯและรัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญเข้าสู่อำนาจ เพื่อทำหน้าที่ผลักดันแก้ไขตัดต่อดัดแปลงรัฐธรรมนูญในทิศทางที่บั่นทอนประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งให้อ่อนแอลง สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยจึงขอประณามความพยายามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นอีกในเร็ววันนี้

             ๖. เห็นได้ชัดว่านับตั้งแต่การรัฐประหารปี ๒๕๔๙ จนถึงวันนี้ บรรดาองค์กรอิสระและอำนาจตุลาการได้กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มพลังเสียงข้างน้อยในปฏิบัติการต่อต้านระบอบประชาธิปไตย เพียงเพื่อต้องการทำลายกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้ได้อย่างรวดเร็ว การปล่อยให้องค์กรอิสระและอำนาจตุลาการถูกบิดเบือนฉวยใช้ไปทำลายประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รังแต่จะทำให้ประเทศชาติจมปลักอยู่ในวังวนอับตันของความขัดแย้งรุนแรงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องร่วมกันรณรงค์ให้มีการปฏิรูปองค์กรอิสระและอำนาจตุลาการ และสร้างกลไกถ่วงดุลตรวจสอบ และเพื่อให้กลไกสำคัญของบ้านเมืองเหล่านี้อยู่ใต้การกำกับขององค์กรตัวแทนอำนาจเสียงข้างมาก นี่เป็นภารกิจสำคัญที่ประชาชนจะต้องช่วยกันเดินหน้าผลักดันให้ถึงที่สุดต่อไป

          ๗. แนวทางการทำลายการเลือกตั้งได้ทำให้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะรุนแรงที่ไร้ทางออกและความก้าวหน้ามาเกือบทศวรรษแล้ว และจะเป็นเช่นนั้นต่อไปจนกว่าทุกอำนาจทุกฝ่ายในสังคมไทยจะเคารพสิทธิที่เท่าเทียมในการเลือกตั้งของประชาชน สมัชชาปกป้องประชาธิปไตยขอยืนยันว่าทางออกของสังคมไทยในเวลานี้มีแต่การยอมรับหลักการ “คนเท่ากัน” “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” “ความชอบธรรมของเสียงข้างมาก” และ“การเคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคลและเสียงข้างน้อย” เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่จำเป็น ขจัดกลไกส่วนที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ก่อนที่กลไกเหล่านั้นจะทำลายระบอบประชาธิปไตยที่มีอยู่ไม่มากนักในเวลานี้ลงอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗

สับคำวินิจฉัย ตลก. 'โมฆะ' 'นอก รธน.' 'นำสู่ความรุนแรง'

สับคำวินิจฉัย ตลก. 'โมฆะ' 'นอก รธน.' 'นำสู่ความรุนแรง'
สถิตย์ ไพเราะ ชี้หมดศรัทธาศาลนานแล้ว หลังตัดสินให้ กม.มีผลย้อนหลัง ด้านปิยบุตร ชี้คำวินิจฉัยศาล รธน.ต่างหากที่ "โมฆะ" เพราะไม่มีอำนาจตั้งแต่ต้น คณินจวกคำวินิจฉัย "นอกรัฐธรรมนูญ" ซ้ำกลายเป็นแก้รธน.นอกสภา ใบตองแห้งหวั่นคำตัดสินนำสู่การนองเลือด 


22 มี.ค. 2557 สถาบันพัฒนาประชาธิปไตย จัดเสวนาหัวข้อ "ฤาตุลาการจะทำให้ประเทศแตกแยก" ที่โรงแรมมิราเคิล ถนนวิภาวดี ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ โดยเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดคือมติศาลรัฐธรรมนูญวานนี้ ที่ระบุว่า พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2 เนื่องจากไม่สามารถกระทำการเลือกตั้งในวันเดียวกันได้ทั้งราชอาณาจักร
สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา กล่าวว่า เมื่อพูดถึงความแตกแยก สังคมไทยก่อน 2475 ก็มีความแตกแยก แต่ไม่ใช่ความแตกแยกในระบบปกครอง โดยเห็นตรงกันว่าจะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราช แต่เถียงกันว่าจะเอาใครมาเป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้น พอมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการแตกแยกออกเป็นสองฝ่ายระหว่างฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราชแบบเดิมกับฝ่ายประชาธิปไตย และสู้กันมาจนบัดนี้ ยันกันเรื่อยมาจนตอนหลังฝ่ายเผด็จการมีการใช้ตุลาการเข้ามา ซึ่งสิ่งที่ตุลาการทำนั้นไม่มีใครยอมรับได้
อดีตรองประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ส่วนตัวเลิกนับถือศาลมาตั้งแต่ปี 51 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าออกกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษได้ เพราะการวินิจฉัยเช่นนี้เป็นการทำลายเสรีภาพ ซึ่งเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ เขามองว่าศาลไทยนั้นเกิดจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ไม่ได้มาจากฝ่ายประชาธิปไตย สิ่งที่ศาลตัดสินครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องธรรมชาติ พร้อมเล่าว่า คุณสมบัติผู้พิพากษานั้นกำหนดว่า ต้องเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย แต่จากที่อยู่ในวงการนี้มา 40 ปี ก็พบว่าไม่เคยมีการสอบถามเรื่องนี้เลย
 
ปิยบุตร ชี้คำวินิจฉัยศาลรธน.ต่างหากที่ "โมฆะ"
ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ เริ่มด้วยการวิจารณ์กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ออกมานั่งอ่านคำวินิจฉัยเต็ม แต่ให้โฆษกออกมาอ่านใบแถลงข่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และทำเช่นนี้หลายครั้งในระยะหลัง กับคดีสำคัญหลายคดีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่ออ่านใบแถลงข่าว แล้ว เห็นว่าไม่มีตรงไหนที่บอกว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ หรือถูกเพิกถอนไป แต่เนื่องจากทั้งฝ่ายสนับสนุน และต่อต้านต่างก็มีอารมณ์ร่วมเหมือนกันหมดว่าการเลือกตั้งจะโมฆะแน่นอน จึงตีความกันไปเช่นนั้น
ปิยบุตร ชี้ด้วยว่า กรณีนี้ผิดตั้งแต่หัวยันท้าย เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นไม่มีอำนาจเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245 บัญญัติว่าผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย โดยที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นหมายถึง พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประกาศคณะปฏิวัติ หรือกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะที่ผู้ตรวจการฯ ยื่นตีความเรื่องการเลือกตั้ง เท่ากับเรื่องนี้ไม่มีอำนาจตั้งแต่ชั้นผู้ตรวจการฯ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรรับคำร้อง แต่ก็รับ
ต่อมา ตัวคำวินิจฉัย มาตรา 108 ในรัฐธรรมนูญบอกว่าการยุบสภา ให้ทำเป็น พ.ร.ฏ. ต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ให้เป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักร ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า พ.ร.ฎ.เฉพาะส่วนกำหนดวันเลือกตั้ง ขัดรัฐธรรมนูญ ถามว่าขัดตรงไหน เพราะก็กำหนดให้เลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. เหมือนเป็นการให้เหตุผลจากหน้าถอยไปหลัง เนื่องจากเมื่อเลือกตั้งไม่ครบทุกเขต มี 28 เขตที่ไม่สำเร็จ โหว่ไป เท่ากับไม่เกิดพร้อมกันทั่วประเทศ 
ปิยบุตร ชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า พ.ร.ฎ.ไม่ชอบด้วยมาตรา 108 จบ ไม่มีตรงไหนบอกว่าการเลือกตั้งโมฆะ ก็คาไว้แบบนั้น คนที่รับไปปฏิบัติต้องตัดสิน ถ้าบอกว่า พ.ร.ฎ. ในส่วนนั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถามว่า ตกไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ตามประเพณีปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญไทย กฎหมายสิ้นผลตั้งแต่มีคำวินิจฉัย ถ้าเชื่อตามนี้ ก็ต้องสิ้นตั้งแต่เมื่อวานนี้ แล้วเกี่ยวอะไรกับ 20 ล้านเสียง ศาลก็ไม่ได้บอกว่าย้อนไปถึงไหน เช่นนี้คำตัดสินจึงมีปัญหา
ปิยบุตร กล่าวว่า หากเทียบเคียงกับกรณีเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 คำวินิจฉัยเขียนชัดว่า จัดคูหาไม่ลับ ส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วประเทศ แต่คราวนี้ (2 ก.พ.57) ไม่มีเขียน ถ้าจะโมฆะเลือกตั้งจริง แต่ไม่เขียน มองว่าเป็นเพราะรู้ว่าไม่มีอำนาจแต่แรก เขาจึงมองว่า สิ่งที่เป็นโมฆะคือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานต่างหาก ทั้งนี้ เขาเสนอด้วยว่า ควรส่งเรื่องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อถามว่าตัดสินว่าอะไรกันแน่

คณินจวกคำวินิจฉัย "นอกรัฐธรรมนูญ"
คณิน บุญสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ อดีต ส.ส.ร. รัฐธรรมนูญ 2540 กล่าวว่า อาจมองได้ว่าเวลานี้ตุลาการทำให้ประเทศไทยแตกแยก ศาลรัฐธรรมนูญคือฝ่ายตุลาการ ทำให้ประเทศไทยแตกแยกเป็นสองเสี่ยง เพราะการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของคน 20 กว่าล้านหรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ กลายเป็นโมฆะ
คณินตั้งข้อสังเกตว่า ตามกฎหมาย คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่หลายเรื่องมาแล้ว ที่ยังไม่ปรากฏคำวินิจฉัยในราชกิจจานุเบกษาเลย ทั้งที่ลงมติแล้ว อย่างเมื่อวาน เรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก ก็พิจารณากันลับๆ แล้วมีกระดาษแผ่นหนึ่งออกมาแถลง จนป่านนี้นักกฎหมายยังอ่านคำวินิจฉัยไม่ออกเลย รู้แต่ว่าโมฆะ ทั้งนี้ มองว่า นี่เป็นคำวินิจฉัยนอกรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย พ.ร.ฎ. ผู้ตรวจการแผ่นดินก็รับเรื่องไว้โดยไม่มีอำนาจ ทั้งสององค์กรต่างรับไว้ทั้งที่ไม่มีอำนาจเลย
คณิน กล่าวด้วยว่า การตัดสินเช่นนี้เป็นการฉวยโอกาส แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากมาตรา 108 ระบุว่า ยุบสภาแล้วต้องเลือกตั้งใหม่ใน 60 วัน เปิดประชุมสภาใน 30 วัน แต่กระบวนการเหล่านี้ทำไม่ได้เลย ที่สุดศาลรัฐธรรมนูญ สั่งระงับ โดยหากเพิ่มวรรคใหม่ จากคำวินิจฉัย จะเป็นว่า "การเลือกตั้งทั่วไปตามพ.ร.ฎ.ตามวรรคสอง มาตรา 108 จะกระทำไม่ได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ยินยอม" เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.สองล้านล้าน กฎหมายบอกว่า ร่าง พ.ร.บ. จะตราเป็นกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำแนะนำและความยินยอมของรัฐสภา แต่กลายเป็นว่าร่าง พ.ร.บ. แม้จะได้รับคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาแล้ว จะนำขึ้นทูลเกล้าไม่ได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่ยินยอม สุดท้ายแล้วกังวลว่าคำตัดสินเหล่านี้จะนำไปสู่การถอดถอนโดย ป.ป.ช.และนำไปสู่การเปิดทางเสนอชื่อนายกฯ คนกลาง

คณิน กล่าวว่า ผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายคือศาลรัฐธรรมนูญ  ที่ผ่านมา การเลือกตั้งไม่สมบูรณ์เพราะ ปชป. ไม่ลง กปปส.ขวาง กกต.ย่อหย่นต่อหน้าที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจส่ง ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับ และยังสั่งโมฆะด้วย ดังนั้น จึงเสนอให้ประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นผู้เสียหาย ดำเนินการฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญา กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะดีกว่าการชุมนุมประท้วง กดดัน หรือปิดล้อม เพราะจะเข้าทางเขา จะสร้างปัญหาแน่นอน

ใบตองแห้งหวั่นนองเลือด 
อธึกกิต แสวงสุข หรือ "ใบตองแห้ง" คอลัมนิสต์ชื่อดัง ระบุว่า ปัญหาของการวินิจฉัยครั้งนี้ คือ การเอา 28 เขตที่มีปัญหามาลบล้าง 347 เขต เช่นเดียวกับตอนที่ตัดสินกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออก พ.ร.บ.สองล้านล้าน ด้วยเหตุผลเรื่องเสียบบัตรแทนกันซึ่งเป็นการกระทำของคนๆ เดียวมาล้มทั้งร่าง เป็นการเอาเสียงที่น้อยมากมาล้มล้างเสียงที่ใหญ่กว่า ที่แย่กว่านั้น 28 เขตเกิดจากเจตนาไม่สุจริตที่ขัดขวางการเลือกตั้ง เจตนาของคน 20 ล้านคนถูกขวางด้วยคนพันกว่าคน ล้มเลือกตั้งได้ทั้งประเทศ
นอกจากนี้ ใบตองแห้งตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงตีความว่าพ.ร.ฎ.ในส่วนกำหนดวันเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรณีนี้จะโทษ กกต.หรือรัฐบาลก็ได้ แต่การกำหนดวันผิดตรงไหน พอ 28 เขตมีปัญหาจัดการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะเหตุสุดวิสัย แล้ว พ.ร.ฎ.ผิดได้อย่างไร
เขาชี้ว่า ตอนที่ กกต.ถามเรื่องเลื่อนเลือกตั้ง ศาลบอกเลื่อนได้ เมื่อมีเหตุจำเป็น แต่เมื่อมีเหตุ กลับบอกเลื่อนไม่ได้ แล้วตัดสินได้อย่างไรให้ พ.ร.ฎ.เหลือครึ่งฉบับ ให้ส่วนยุบสภาได้อยู่ ต่อไปจะมีปัญหามาก เมื่อ พ.ร.ฎ.ลอยอยู่ครึ่งฉบับ จัดเลือกตั้งไม่ได้ ปชป.ไม่ลง กปปส.บอยคอต จะนำไปสู่อะไร ป.ป.ช. ก็จ่อจะชี้มูลนายกฯ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหามาก
ใบตองแห้ง กล่าวด้วยว่า จากคำสั่งศาลซึ่งอาจตีความได้ว่าจะเลือกตั้งไม่ได้อีกเลยจนกว่าจะยอมแพ้ จะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีทางออก และยิ่งหากนายกฯ ถูกปลดและเกิดการตีความสู่นายกฯ คนกลาง เมื่อถึงจุดนั้น เขาหวั่นว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม เขาเองมองว่าผู้รักประชาธิปไตยจะใช้ความรุนแรงไม่ได้ เพราะ หนึ่ง ไม่มีปืน ศาล ทหาร เมื่อลุกฮือ ก็ติดคุกถูกยิงตาย สอง แนวทางประชาธิปไตยมาโดยความรุนแรงไม่ได้ ในอดีตการใช้ความรุนแรงเพื่อสู้กับเผด็จการ แต่นี่คือความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกัน จะไล่ฆ่า กปปส. หรือ มันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย หรือสมมติ ทักษิณทำรัฐประหารขึ้นมา นั่นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่จะทำให้ประชาธิปไตยไม่มีทางออก

ม.เที่ยงคืนแถลง ‘คำวินิจฉัยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย’

ม.เที่ยงคืนแถลง ‘คำวินิจฉัยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย’
 
22 มี.ค. 2557 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนออกแถลงการณ์  ‘คำวินิจฉัยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย’ ต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตกเป็นโมฆะ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้.-

 
 
แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง คำวินิจฉัยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย
 
กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตกเป็นโมฆะ ซึ่งมีผลทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่อีกครั้ง นับเป็นคำวินิจฉัยที่เป็นปัญหาต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสำคัญเพราะจะกลายเป็นการวางหลักการและแนวทางอันเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต
 
คำวินิจฉัยด้วยการให้เหตุผลว่าการไม่มีการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งได้เพราะไม่มีผู้สมัคร ซึ่งทำให้ไม่เป็นการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันเดียวจึงทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ คำวินิจฉัยเช่นนี้จะเปิดทางให้กับบุคคลที่ต้องการขัดขวางการเลือกตั้งในอนาคตสามารถที่จะ “ล้ม” การเลือกตั้งได้อย่างง่ายดายเพราะบรรทัดฐานในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ที่ไม่ต้องการระบอบประชาธิปไตยสามารถที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้อย่างไม่ยาก เพียงแต่ขัดขวางไม่ให้เกิดการสมัครเลือกตั้งในเขตใดเขตหนึ่งเท่านั้น ก็จะมีผลให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันในวันเดียวกันและจะทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ
 
นอกจากนี้แล้ว คำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเช่นนี้ยังอาจมีผลสืบเนื่องทำให้การขัดขวางการเลือกตั้งที่ได้กระทำขึ้นไม่เป็นความผิด ดังที่เคยมีคำวินิจฉัยกับการกระทำผิดการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2549 เพราะเมื่อการเลือกตั้งได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะ ซึ่งมีผลคำวินิจฉัยต่อมาว่าเมื่อการเลือกตั้งเป็นโมฆะแล้ว บรรดาการกระทำใดๆ อันเป็นการผิดกฎหมายก็ย่อมสิ้นผลไปด้วยเช่นกัน 
 
หากยึดเอาแนวคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นมาแล้ว การขัดขวางการเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส.ก็ย่อมที่จะไม่ต้องรับผิด การเลือกตั้งที่เป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตยก็จะหมดความหมายและความสำคัญลงไปโดยสิ้นเชิง  และเป็นเรื่องที่กลุ่มบุคคลที่มุ่งร้ายต่อสังคมประชาธิปไตยสามารถล้มล้างได้โดยง่าย
 
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่าคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ เป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตยและจะนำมาซึ่งปัญหาในสังคมการเมืองไทยอย่างกว้างขวางมากขึ้น 
 
ปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่และการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมิใช่เพิ่งปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกแต่อย่างใด หากเป็นสิ่งที่ปรากฏมาอย่างต่อเนื่องในห้วงเวลาความขัดแย้งของสังคมการเมืองไทยอันสะท้อนถึงข้อบกพร่องที่มีอยู่ในสถาบันนี้อันนำมาสู่คำวินิจฉัยที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนและปฏิรูปองค์กรดังกล่าวให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องอยู่บนหลักการที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปซึ่งถูกกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางจึงต้องไม่ใช่เพียงการจำกัดความสนใจไว้ที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว หากต้องครอบคลุมไปถึงบรรดาองค์กรอิสระที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างความขัดแย้งให้ร้าวลึกลงไปในสังคมไทยอีกด้วย
 
22 มีนาคม 2557
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ประชาธิปัตย์โต้แถลงการณ์เพื่อไทยอ้างทฤษฎีสมคบคิดปราศจากข้อเท็จจริง

ประชาธิปัตย์โต้แถลงการณ์เพื่อไทยอ้างทฤษฎีสมคบคิดปราศจากข้อเท็จจริง
 
22 มี.ค. 2557 เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์รายงานว่านายองอาจ  คล้ามไพบูลย์  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า  ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีส่วนร่วมใดใดในทฤษฎีสมคบคิด กับ กปปส. และองค์กรตามรัฐธนรรมนูญแต่อย่างใด พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นต่อแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยที่ไม่รับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ดังต่อไปนี้.-
 
1.พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าคำร้องที่ผู้ตรวจการณ์แผ่นดินเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด  รวมทั้งไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบการเมือง  การปกครองในระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 197 และมาตรา 3 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  อีกทั้งไม่ได้เป็นการเวรคืนอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ   อำนาจอธิปไตยยังคงเป็นของประชาชนอยู่เหมือนเดิม 
 
2.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมิได้เป็นการสร้างปัญหาและมีผลกระทบต่อส่วนร่วมตามที่พรรคเพื่อไทยกล่าวอ้าง  การตัดสินว่าการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะเป็นบรรทัดฐานให้มีการขัดขวางการเลือกตั้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้  ถ้าการเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย  และไม่มีการดำเนินการที่ขัดรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีความจำเป็นใดใด ที่จะนำไปสู่การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีการวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่แต่อย่างใด
 
3.ที่พรรคเพื่อไทยกล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองขณะนี้  เป็นความต้องการการเมืองนอกระบบของ กปปส. ที่ทำผิดกฎหมายและขัดขวางการเลือกตั้งจนเป็นที่มาของศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะนั้นไม่เป็นความจริง  เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองในขณะนี้ เกิดขึ้นจากการกระทำของคุณยิ่งลักษณ์ และคณะ ตลอด 2 ปี ที่มีการบริหารแผ่นดิน ที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าว  การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและการออกกฎหมายการนิรโทษกรรมล้างผิดคนโกง  เป็นต้น  จนประชาชนจำนวนมากออกมาคัดค้านขับไล่รัฐบาล  และคัดค้านการเลือกตั้งที่มิชอบตามรัฐธรรมนูญ  จนกระทั่งนำไปสู่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้ง 2 กพ. 2557 เป็นโมฆะในที่สุด
 
4.กรณีทีพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ทัศนคติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มีปัญหาเพราะสร้างผลงานที่กระทบฝ่ายพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด  ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกกระทบนั้นไม่เป็นข้อสันนิษฐานที่ถูกต้องแต่อย่างใด  พรรคประชาธิปัตย์มองว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น  ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ทำความผิดศาลรัฐธรรมนูญก็คงไม่สามารถตัดสินให้มีความผิดได้  ส่วนที่กล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกกระทบต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่เป็นความจริง  เพราะหลายกรณีพรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้วินิจฉัยให้เป็นไปตามคำร้องของพรรคประชาธิปัตย์  และมีหลายกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้พึงพอใจต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  แต่เราเคารพในการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในทุกครั้ง  ไม่แสดงอาการข่มขู่  คุกคาม  ดูหมิ่นศาลแต่อย่างใด 
 
5.กรณีที่พรรคเพื่อไทยกล่าวหาว่า การไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์  และการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรรคประชาธิปัตย์  เป็นผลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คนไม่สุจริต  และไม่มีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต้องการนั้น  พรรคประชาธิปัตย์ขอยืนยันว่า  เราไม่ได้ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ  การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะหรือไม่เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย  ผลออกมาอย่างไรเราพร้อมน้อมรับเพราะฉะนั้นการไมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์  ก็เป็นการปฏิบัติภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  ไม่มีการกระทำใดใดที่มีการขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
 
นายองอาจกล่าวเพิ่มเติมว่า  การออกแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ใช้ทฤษฎีสมคบคิดกับ กปปส. และองค์กรตามรัฐธรรมนูญเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมือง  ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายทางการเมืองจึงเป็นข้อกล่าวหาที่จินตนาการ  เลื่อนลอย  ปราศจากข้อเท็จจริง  ในทางตรงกันข้ามพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ที่ใช้ทฤษฎีเจตนาคิด  เพื่อให้ได้อำนาจทางการเมืองแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ  ถูกจับได้ไล่ทันในที่สุดจนถูกศาลและองค์กรอิสระตัดสินว่าผิดในหลายกรณี  พรรคเพื่อไทยจึงยอมรับผลของการกระทำของตนโดยดุษฎีจะดีกว่า  มากกว่าที่จะออกมาไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลและกล่าวหากลุ่มองค์กรอื่นๆ และพรรคประชาธิปัตย์  โดยไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด  ซึ่งถ้าพรรคเพื่อไทยยังดำเนินการในลักษณะนี้อยู่ต่อไป  ก็จะมีส่วนอย่างสำคัญในการซ้ำเติมปัญหาของประเทศให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  
 
เตือน “ยิ่งลักษณ์ – เพื่อไทย” หยุดซ้ำเติมวิกฤตบ้านเมืองใช้ 2 ก.พ. เป็นบทเรียน
 
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพลพรรคเพื่อไทย ต้องมีบทบาทสำคัญกับโอกาสที่จะปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทางที่ดี เพราะวันนี้ หากรัฐบาลยึดแนวทางเดิม คือมุ่งแต่จะเลือกตั้งให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านอื่น และไม่คำนึงว่าผลการเลือกตั้งนั้นเป็นทางออกของประเทศหรือไม่ การเลือกตั้งก็ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และไม่แตกต่างจากการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ดังนั้นตนอยากให้นางสาวยิ่งลักษณ์และรัฐบาลนำเอาการเลือกตั้ง 2 ก.พ.มาเป็นบทเรียน แต่ถ้ายังดึงดันจะทำเหมือนเดิม ตนขอถามว่า รัฐบาลมีวัตถุประสงค์อะไรที่จะมาซ้ำเติมวิกฤตของบ้านเมืองให้เพิ่มขึ้น “คุณยิ่งลักษณ์ ควรใช้โอกาสนี้เป็นการเริ่มต้นให้กับบ้านเมือง เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ในการพาบ้านเมืองออกจากวิกฤต การมาตั้งคำถามหรือมาเรียกร้องว่าพรรคประชาธิปัตย์จะลงเลือกตั้งหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำตอบของปัญหา แต่สิ่งที่เป็นโจทย์ที่มีคำตอบที่เป็นทางออกคือ การจัดการเลือกตั้งจะต้องไม่ซ้ำรอย 2 ก.พ. วันนี้ฝากไปถึงรัฐบาลเพื่อไทยว่า จะเลือกทางออกของบ้านเมือง หรือจะเดินไปสู่ทางตัน” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
 
'อภิสิทธิ์' แนะ 'นายก-สุเทพ' เจรจาลดความขัดแย้ง
 
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมาไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 เป็นโมฆะว่า ทุกฝ่ายต้องเคารพคำวินิจฉัยศาล และเป็นโอกาสในการคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง เพื่อหาทางให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อเดินหน้าไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยกกต.จะต้องเป็นเจ้าภาพร่วมกับรัฐบาล ระดมความคิดว่า การจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเกิดความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะทำอย่างไร จึงขอให้รัฐบาลปรับท่าทีใหม่ จากที่เคยแสดงออกว่า จะไม่มีการเจรจา แต่จะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ทันที เพราะไม่ทราบว่า จะทำไปทำไม หากตั้งใจจะให้กระบวนการประชาธิปไตยเดินหน้า ก็ต้องทำให้กระบวนการราบรื่น คือ ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อกำหนดเส้นทางให้บ้านเมืองร่วมกัน โดยไม่ขัดกฎกติกา จึงไม่เห็นเหตุผลใดที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. จะคุยกันไม่ได้
 
เพราะ นายสุเทพ บอกว่า พร้อมคุยแต่ขอให้มีการถ่ายทอดสด เพื่อให้ประชาชนสบายใจ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยตั้งเงื่อนไขสองเรื่อง คือ ให้เลือกตั้งให้เสร็จ ตอนนี้จบแล้ว และให้นายสุเทพกลับบ้าน ซึ่งตอนนี้ นายสุเทพ อยู่ในสวนลุมฯ ก็ไม่มีประเด็นที่จะต้องตั้งเงื่อนไขอะไรแล้ว จึงควรที่จะคุยกันเพื่อกำหนดแนวทางว่า มีอะไรต้องดำเนินการก่อนการเลือกตั้งบ้าง แต่ถ้าบรรยากาศยังเป็นแบบนี้ ก็ไม่มีใครตอบได้ว่า การเลือกตั้งจะสำเร็จหรือไม่ และจะมีคำถามเกิดขึ้นว่าจะมีหลักประกันความเรียบร้อยในการเลือกตั้งอย่างไร
 
เมื่อถามว่า จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ จะเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคต้องการเห็นการเลือกตั้งที่เรียบร้อย เมื่อมีสิ่งนั้นเกิดขึ้นพรรคก็พร้อม ไม่ใช่กำหนดการเลือกตั้งโดยรัฐบาลฝ่ายเดียว เพราะโดยหน้าที่ต้องทำร่วมกับ กกต. เพราะเวลามีปัญหารัฐบาลก็บอกว่า เป็นเรื่องของ กกต. แต่เวลาที่จะไปสร้างเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค รัฐบาลกลับไปกำหนดก็ไม่ถูกต้อง จึงต้องปรับท่าทีใหม่ เพราะถ้ารัฐบาลกับ กกต.ไม่ร่วมกัน ทำให้การจัดการเลือกตั้งเรียบร้อย จะเกิดปัญหาเดิมขึ้นอีก ส่วนพรรคจะเว้นวรรคทางการเมืองโดยไม่ส่งผู้สมัครลงอีกครั้งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่เงื่อนไขการกำหนดแนวทางที่จะไปสู่การเลือกตั้ง ยังตอบอะไรในขณะนี้ไม่ได้ แต่พรรคการเมือง ต้องทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของการปฏิรูปประเทศด้วย เพราะปัญหาที่ผ่านมาคนมองว่า พรรคการเมือง สนใจแต่การแย่งชิงอำนาจ โดยไม่สามารถทำให้บ้านเมืองหลุดพ้นจากปัญหาเดิมๆ ได้ จึงเป็นที่มาที่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
 
ดังนั้น พรรคการเมือง ต้องมาทำหน้าที่เป็นเครื่องมือรับใช้การปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ การมีจุดยืนอย่างเป็นรูปธรรมจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพรรคการเมือง พร้อมที่จะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูป แต่จะเริ่มต้นไม่ได้เลยหากยังไม่มีการคุยกันขอใช้วิกฤติเป็นโอกาส นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตนมองในเชิงบวกว่า ขณะนี้เป็นโอกาสรัฐบาลกับกกต. อย่าเพิ่งผลีผลามกำหนดวันเลือกตั้ง ขอให้ใช่คำวินิจฉัยของศาลครั้งนี้เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของประเทศจะดีที่สุด หากมีการวางหลักเกณฑ์เลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย มีหลักประกันเรื่องความเป็นธรรม ไม่อุปสรรคในการจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลกับ กปปส.ก็พูดคุยกันว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้าง เพราะต้องสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้มีการเลือกตั้ง ส.ว. แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ตื่นตัวน้อยมาก กฎหมายกติกา ที่มีอยู่ สามารถที่จะสร้างความมั่นใจในกระบวนการเลือกตั้งได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องนำปัญหามาวางบนโต๊ะเพื่อหาทางออก แต่ถ้าคิดที่จะปรับโครงสร้างระบบเลือกตั้งก็จะเป็นปัญหาเพราะต้องแก้รัฐธรรมนูญ หรือ แก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะมีคำถกเถียงอีกว่า ใครมีอำนาจนิติบัญญัติ ดังนั้น เบื้องต้นต้องไม่ยึดติดในเรื่องรูปแบบ แต่ดูว่าอะไรจะทำให้การเลือกตั้งเดินหน้าเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับบอกสื่ออย่าถามมาก หากตอบไม่ตรงอาจแท้งก่อนถกนาย
 
อภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้อย่าใช้วิธีการเค้นหาคำตอบ จากแต่ละฝ่าย เพราะหากคำตอบไม่ตรงกัน บ้านเมืองก็เดินไม่ได้ จึงควรตั้งต้นว่า ความห่วงใยของประชาชนจำนวนมากที่แสดงออก และทำให้การเลือกตั้งไม่สำเร็จ จะขจัดเงื่อนไขเหล่านี้อย่างไร เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย อย่าถามรายละเอียดมาก เพราะถ้าตนพูดมากแล้วไม่ตรงกับกับฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ ก็จะไม่ยอมคุยกันอีก จึงต้องเริ่มถามทุกคนก่อนว่า พร้อมที่จะคุยหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์พร้อมเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้า อย่าเพิ่งถามว่า จะคุยอะไร โดยอะไรก็ตามที่จะเป็นปัจจัยให้ทุกฝ่ายยอมรับเลือกตั้ง นำไปสู่การปฏิรูปเป็นโจทย์ที่ต้องนำมาตั้งต้นก่อน แต่ถ้ายังปฏิเสธปิดประตูอีก เพียงเพื่อเอาชนะคะคานกัน ก็ไม่เป็นประโยชน์กับใคร
 
ปชป.เรียกประชุม "กก.บห.ชุดใหญ่" 25 มี.ค.
 
เนชั่นทันข่าวรายงานเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2557 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้เรียกประชุมเป็นการภายในกับรองหัวหน้าภาคต่างๆ , รองเลขาธิการภาคและกรรมการบริหารพรรคบางส่วน โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ชม. เรื่องการเตรียมความพร้อมในการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบให้รองเลขาธิการภาค เน้นทำพื้นที่และรับผิดชอบพื้นที่ตามรายภาค อาทิ นายอัศวิน วิภูศิริ รองหัวหน้าภาคเหนือร่วมดูแลพื้นที่กับนายนราพัฒน์ แก้วทอง รองเลขาธิการพรรคภาคเหนือ , คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าภาคอีสาน ร่วมดูแลพื้นที่กับ นายวิรัช ร่มเย็น และ นายศุภชัย ศรีหล้า
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าภาคกลาง รับผิดชอบพื้นที่กับนายศิริโชค โสภา รองเลขาธิการพรรคภาคกลาง , นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าภาคกทม. ดูแลภาคกทม.และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคพื้นที่ภาคใต้ ดูแลพื้นที่ร่วมกับนายเทพไท เสนพงศ์ รองเลขาธิการภาคใต้ ในกรณีที่พรรคส่งคนลงสมัครับเลือกตั้ง ซึ่งจะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดใหญ่อีกครั้งในวันที่ 25 มี.ค. นี้

สุรินทร์:ค้านคำสั่ง ตลก.เลือกตั้งโมฆะ คลุมผ้าดำอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ


สุรินทร์:ค้านคำสั่ง ตลก.เลือกตั้งโมฆะ คลุมผ้าดำอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
กลุ่มเยาวชนคณะราษฎรเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสุรินทร์ คัดค้านผลการผลการวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์เป็นโมฆะ พร้อมชูป้ายผ้า “ราษฎรทั้งหลาย พึงรู้ไว้ ประเทศนี้เปนของ ตุลาการศาลรธน.”
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2557 ในเวลา 17.30 น.กลุ่มเยาวชนคณะราษฎรเพื่อประชาธิปไตยจังหวัดสุรินทร์ แต่งชุดดำนำป้ายผ้ามาคลุมอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นแสดงเชิงสัญญลักษณ์ในการไม่เห็นด้วย กับการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นโมฆะ

นายประมวล ดวงนิล สมาชิกกลุ่มเยาวชนคณะราษฎรเพื่อประชาธิปไตย จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า “การวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นโมฆะนั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยในตอนนี้ได้ถูกกลุ่มคณะบุคคลหรือคณาธิปไตย ที่มิได้มีอำนาจเชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใด กลับมีอำนาจล้นมือ สามารถทำให้ 20 กว่าล้านเสียงที่ตั้งใจใช้สิทธิตามกระบวนการประชาธิปไตย ถูกล้มด้วยการวินิฉัยของคนไม่กี่คน ผลการวินิจฉัยที่คลุมเครือ สร้างบรรทัดฐานใหม่ที่แสนอัปยศ ซึ่งต่อไปนี้ถ้าใครอยากล้มการเลือกตั้งคนทั้งประเทศก็ไม่ยาก เพียงขวางหน่วยเลือกตั้งไม่กี่หน่วยการเลือกตั้งทั้งประเทศก็จะกลายเป็นโมฆะได้ไม่ยากเย็น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จึงเป็นการรัฐประหารอำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ชัดแจ้ง”
หลังจากใช้ผ้าดำคลุมอนุเสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ กลุ่มเยาวชนคณะราษฎรเพื่อประชาธิปไตย ได้เชิญชวนพี่น้องชาวสุรินทร์ที่ไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ พรฎ เลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ร่วมกันแสดงการขัดขืนเชิงสัญลักษณ์ด้วยการ เปลี่ยนโปรไฟล์เฟซบุ๊กและแต่งกายในชุดดำ ติดริบบิ้นดำ สร้างกลุ่มขยายการแสดงออกและเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ต่อเนื่องต่อไป

สังคมระอา ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน! "ลูกโนเบิล" พาการ์ด กปปส. ขี้เมาบุกสปอร์ตคลับรอบสอง หวิดปะทะยามหน้าประตู


สังคมระอา ลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน! "ลูกโนเบิล" พาการ์ด กปปส. ขี้เมาบุกสปอร์ตคลับรอบสอง หวิดปะทะยามหน้าประตู



          รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2557 นายธนัท ธนากิจอำนวย ทายาทบริษัท โนเบิล ดีเวลล็อปเม้นท์ แนวร่วม็อบ กปปส.ของสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้พยายามบุกเข้าไปในสนามฟุตบอลโปโลสปอร์ตคลับ เพื่อติดตามเป่านกหวีดใส่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกครั้งในช่วงเวลาค่ำวันที่ 22 มีนาคม ขณะที่นายกิตติรัตน์ และเพื่อนๆ กำลังเล่นกีฬาฟุตบอลและออกกำลังกาย ซึ่งเป็นครั้งที่ 2ภายหลังจากที่นายธนัท ประสบความสำเร็จในการเป่านกหวีดใส่นายกิตติรัตน์ ขณะกำลังออกกำลังกายในสถานที่เดียวกันนี้ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

            รายงานข่าวแจ้งว่า การบุกเป่านกหวีดในสนามนามฟุตบอลโปโลสปอร์ตคลับ เมื่อ 22 มีนาคม ที่ผ่านมานั้นถือว่าเป็นปฏิบัติการที่แป้กสุดๆ เมื่อนายธนัท พร้อมด้วยการ์ดติดตามจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถบุกเข้าไปในสนามฟุตบอลได้เหมือนครั้งก่อน เนื่องจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสนามกีฬาและประชาชนที่มาออกกำลังกายได้ช่วยกันขัดขวางไม่ให้คนกลุ่มนี้เข้าไปสร้างความวุ่นวายได้อีกครั้ง เนื่องจากสนามกีฬาโปโลคลับเป็นสถานที่ที่มีประชาชนจำนวนมากมาใช้บริการออกกำลังกายอยู่ เป็นผลให้การกระทำของนายธนัทครั้งนี้ไม่มีคลิปวีดีโอหรือภาพการบุกเป่านกหวีดออกมาเผยแพร่เหมือนครั้งที่แล้ว

          นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวจาก กลุ่มประชาชนและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ช่วยกันขัดขวางไม่ให้คนกลุ่มนี้บุกเข้าไปในสนามฟุตบอลโปโลสปอร์ตคลับระบุว่า ระหว่างการขัดขวางไม่ให้คนกลุ่มนี้เข้าไปสร้างความวุ่นวายจนหวิดปะทะนั้น พบว่าบางคนมีกลิ่นแอลกอฮอล์ และบางคนมีท่าทางเมา จนไม่สามารถประคองตัวได้ จึงไม่ทราบว่าปฏิบัติการบุกสนามโปโลคลับครั้งนี้เป็นไปด้วยฤทธิ์ของ กปปส. หรือฤทธิ์แอลกอฮอล์กันแน่!!!