วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

หน้ากากสมชัยโผล่ ถามหา ‘สมชัยอยู่ไหน?’

หน้ากากสมชัยโผล่ ถามหา ‘สมชัยอยู่ไหน?’
31 ม.ค.2557 เย็นวานนี้ ที่สวนเบญจสิริ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ กลุ่มเพื่อนรักกัน จัดกิจกรรมจุดเทียนสันติภาพ ‘กินไอติมรอเวลาเลือกตั้ง’ หน้ากาก กกต.สมชัย โผล่ถามหา ‘สมชัยอยู่ไหน ?’ ‘หญิงหมัด-หม่อมเต่านา’ ร่วมจุดเทียน
กิจกรรมจุดเทียนสันติภาพที่สวนเบญจสิริครั้งนี้ต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มา เนื่องจากมีการจัดเตรียมไอศกรีมกะทิและท็อปปิ้งหน้าต่างๆ มาแจกให้กับผู้ที่มาร่วมกิจกรรมร่วมรับประทานและพูดคุยกัน
ในงานมีผู้นำหน้ากากของบุคคลคล้ายนายสมชัย ศรีสุทธิยากร หนึ่งในกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มาแจกให้กับผู้มาร่วมกิจกรรมสวมใส่และถ่ายรูป โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมตะโกนถาม ‘สมชัยอยู่ไหน ?’ เป็นระยะๆ และชูป้ายข้อความให้เคารพสิทธิเลือกตั้งของประชาชน โดยกิจกรรมครั้งนี้ ‘หญิงหมัด’ ม.ร.ว.มาลินี จักรพันธุ์ และ‘หม่อมเต่านา’ ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล เดินทางมาร่วมในการจุดเทียนด้วย

ประมวลภาพกิจกรรม

วันนี้! ศาลนัดฟังคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กปปส.ชุมนุม-ไต่สวน DSI ยื่นขอหมายจับ 19 แกนนำฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันนี้! ศาลนัดฟังคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กปปส.ชุมนุม-ไต่สวน DSI ยื่นขอหมายจับ 19 แกนนำฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ดีเอสไอ ยื่นศาลขออนุมัติหมายจับ 19 แกนนำ กปปส. ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นัดไต่สวน 9 โมง 31 ม.ค.นี้ ด้านศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งจะคุ้มครองชั่วคราวห้ามรัฐใช้กำลังสลายการชุมนุมหรือไม่ บ่าย 3 ส่วน กปปส.ฟ้อง ‘ธาริต’ ปฏิบัติหน้าทีมิชอบ ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง 21 เม.ย.
ดีเอสไอ ยื่นศาลขออนุมัติหมายจับ 19 แกนนำ กปปส. ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นัดไต่สวน 9 โมง 31 ม.ค.
30 ม.ค. 2557 มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น.ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ พร้อมคณะ ได้ยื่นคำร้อง เพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. จำนวน 19 ราย ประกอบด้วย

  • 1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 
  • 2.นายสาธิต วงศ์หนองเตย 
  • 3.นายชุมพล จุลใส 
  • 4.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 
  • 5.นายอิสระ สมชัย 
  • 6.นายวิทยา แก้วภราดัย 
  • 7.นายถาวร เสนเนียม 
  • 8.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 
  • 9.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ 
  • 10.น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก 
  • 11.นายนิติธร ล้ำเหลือ 
  • 12.นายอุทัย ยอดมณี 
  • 13.เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ 
  • 14.พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ 
  • 15.นายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี หรือนายอมร อมรรัตนานนท์ 
  • 16.นายกิตติชัย ใสสะอาด 
  • 17.นายสำราญ รอดเพชร 
  • 18.นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม และ 
  • 19.นายพานสุวรรณ ณ แก้ว 
  • ในข้อหากระทำผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา11 (1) และมาตรา 12
พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ขอหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมคัดค้านต่อศาลเพิ่มอีก 3 คน และทางพนักงานสอบสวนได้นำพยานหลักฐานเอกสารเพิ่มเติมอีก 2 ลัง เกี่ยวกับพฤติการณ์การขัดขวางการเลือกตั้งของนายสุเทพ กับพวก ทั้งที่อยู่บนเวทีปราศรัยจุดต่างๆ และการเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ไปตามท้องถนน นอกจากนี้ทางพนักงานสอบสวนได้เตรียมพยานบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำจุดเวทีปราศรัย และตามหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวน 22 คน ไว้เบิกความ โดยศาลรับคำร้องและเอกสารไว้พิจารณา และนัดไต่สวนในวันที่ 31 ม.ค.นี้ เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องขออนุมัติหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 16 คน ที่กระทำผิด พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ของ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ และวันนี้ได้ขอหมายจับแกนนำเพิ่มอีก 3 คนดังกล่าว
กปปส.ฟ้อง 'ธาริต' ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง 21 เม.ย. 

ส่วนเดลินิวส์ รายงานว่า 30 ม.ค.2557 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจ นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ( พธม.) และที่ปรึกษากลุ่ม กปปส. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่าง วันที่ 17 ธ.ค.56 - 9 ม.ค.57 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 6 /2556 และมีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ จำเลย รวมทั้งนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งที่ประชุม กคพ.มีมติให้ กรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกแกนนำ กปปส. กระทำผิดกฎหมายอาญา สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กทม.และบางจังหวัดตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.2556 เป็นต้นมา เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรค 1 ( 2 ) แห่งพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
ต่อมาในวันที่ 18 ธ.ค.57 นายธาริตจำเลยได้แถลงหลังการประชุมพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีมติดำเนินการดังนี้ 1. ออกหมายเรียกแกนนำ กปปส. จำนวน 17 คน ให้มารับทราบข้อกล่าวหา 2.ออกคำสั่งให้อายัดบัญชี ของแกนนำ กปปส.จำนวน 18 คน ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษพ.ศ.2547 และออกคำสั่งแจ้งไปยังธนาคารพาณิชย์ของไทยและต่างประเทศรวม 28 แห่ง อาทิ ธนาคารกรุงเทพฯ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น ให้อายัดบัญชีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำดังกล่าว พร้อมส่งหนังสือแจ้งคำสั่งไปยังธนาคารทุกแห่งเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.56
นอกจากนี้เมื่อเดือน ธ.ค.56 จำเลยเรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวน เพื่อมีมติให้ดำเนินการคดีเพิ่มเติมกับแกนนำอีก20-30 คนโดยเฉพาะแกนนำที่อภิปรายในลักษณะผิดกฎหมายหรือนำมวลชนไปบุกยึดสถานที่ราชการ อีกทั้งจำเลยได้เคยแถลงว่าที่ประชุมมีมติให้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพิ่มเติมแล้วแจ้งให้ธนาคารตรวจสอบและอายัดบัญชีเพิ่มเติมอาทิ นายแก้วสรร อติโพธิ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายเสรี วงศ์มณฑา พล.อ.ปฐมพงษ์ เกสรสุข นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นต้น
ทั้งจำเลยยังแถลงว่าได้ดำเนินการออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีก 37 คนเพื่อรับทราบข้อหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดระหว่างวันที่ 26 -27 ธ.ค.56 ถึง 2 และ 3 ม.ค.57 แล้วจำเลยได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีกด้วยจากนั้นวันที่ 24 ธ.ค.56ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของดีเอสไอเรื่องมติคณะกรรมการคดีพิเศษ ให้กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณกับพวก ชุมนุมทางการเมืองใน กทม.และต่างจังหวัด ตั้งแต่ 3 ส.ค.56 เป็นต้นมารวมถึงบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วม เป็นคดีพิเศษ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงขอให้ศาลลงโทษตามกฎหมายต่อไป
ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา เป็นคดีหมายเลขดำ อ.214/2557และนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์วันที่ 21 เม.ย. นี้ เวลา13.30 น.
ภายหลังนายสุวัตร เปิดเผยว่า ได้ยื่นฟ้องนายธาริตเพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากได้ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษและ ทำการอายัดบัญชีธนาคารของแกนนำ กปปส.จำนวนหลายคน โดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายจึงมายื่นฟ้องไว้ก่อน ส่วนกรรมการคดีพิเศษคนอื่นๆที่เข้าร่วมประชุม จะทยอยมายื่นฟ้องต่อไป
ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งจะคุ้มครองชั่วคราวห้ามรัฐใช้กำลังสลายการชุมนุม หรือไม่ บ่ายสาม 31 ม.ค.

ในวันเดียวกัน (30 ม.ค.2557) มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า ที่ห้องพิจารณาคดี 712 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 11.00 น. ศาลนัดฟังคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ 275/2557 ที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. เวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ,ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ในฐานะรองผอ.ศรส. จำเลยที่ 1-3 ในข้อหาละเมิด เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม พร้อมขอศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว โดยมีเพียงนายถาวรพร้อมทนายความ เดินทางมาศาลเท่านั้น ส่วนฝ่ายจำเลยไม่ได้มาศาลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ ให้บริหารประเทศในสถานการณ์ที่กระทบความมั่นคงจนอาจกระทบต่อเอกภาพและบูรณาภาพทางอาณาเขต โดยรัฐมีความจำเป็นใช้อำนาจในทางบริหารเพื่อแก้ไขเหตุการณ์กลับเป็นปกติสุข โดยมาตรา 16 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บัญญัติว่า ข้อกำหนดไม่อยู่ในข้อบังคับว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองและไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ เพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์บ้านเมืองจนกว่าจะมีการยกเลิกกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองของศาลยุติธรรม จึงสามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 218 และมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้
เมื่อโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการลิดรอนสิทธิการชุมนุมอันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้ง 3 กระทำการไม่สุจริตเกินความจำเป็น คำฟ้องโจทก์มีมูลเพียงพอรับไว้พิจารณา จึงมีคำสั่งรับฟ้อง และด้วยสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้มีเหตุสมควรพิจารณาเร่งด่วน โดยทนายโจทก์แถลงต่อศาลขอนำพยานเข้าสืบจำนวน 2 ปาก ศาลจึงนัดไต่สวนฉุกเฉินในวันนี้ เวลา 13.30 น. และนัดชี้สองสถานหรือนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นี้ เวลา 09.00 น. โดยให้ออกหมายเรียกจำเลยทั้ง 3 เพื่อมาศาล และให้โจทก์ส่งสำเนาหมายเรียกให้จำเลยทั้ง 3 รับทราบ ภายใน 3 วัน หากจำเลยขาดนัดให้งดชี้สองสถานและถือว่าในวันดังกล่าวให้เป็นวันสืบพยานโจทก์แทน
ด้านนายถาวร เปิดเผยภายหลังว่า สำหรับการไต่สวนฉุกเฉินในช่วงบ่ายวันนี้ ตนจะขึ้นเบิกความด้วยตนเอง และได้นำนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯ สมช. มาขึ้นเบิกความด้วย ซึ่งภายหลังไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ส่วนจะมีคำสั่งในวันนี้เลยหรือไม่นั้นคงไม่สามารถระบุได้ ส่วนกรณีที่ขอให้เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น แม้รัฐบาลจะใช้อำนาจทางบริหารได้ แต่จะใช้กฎหมายพิเศษตามอำเภอใจไม่ได้ เพราะจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็บัญญัติไว้ว่าไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ ศาลยุติธรรมจึงมีอำนาจพิจารณา โดยให้ตนส่งหมายให้จำเลยทั้ง3 รับทราบ เพื่อมานัดชี้สองสถานในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้
ต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น. ทนายโจทก์ได้นำนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ขึ้นเบิกความว่า นายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อปกป้องตนเอง ซึ่งเป็นการกระทบสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และการใช้ชีวิตประจำวันถูกจำกัดทั้งการห้ามเข้าสถานที่ราชการ การห้ามสัญจรบนถนน 20 สาย ห้ามมีการชุมนุมเกินกว่า 5 คนขึ้นไป และที่สำคัญมีการยื่นขอออกหมายจับแกนนำ กปปส.ถึง 3 ครั้ง โดยหลังจากมีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เกิดความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการจับกุม นอกจากนี้ พวกจำเลยยังได้วางแผนสลายการชุมนุมโดยอยู่ในขั้นตอนเตรียมการ เช่น มีการเจรจาขอคืนพื้นที่ทั้งที่สถานที่ชุมนุมก็มีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอยู่ และมีการนำกองร้อยปราบจลาจลกว่า 16,000 นาย เตรียมการใช้อาวุธเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งข้อเท็จจริงนี้เป็นการให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จำเลยที่ 2 เอง ดังนั้น หากปล่อยให้มีการสลายการชุมนุมจะทำให้เกิดความเสียหายและทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบาดเจ็บล้มตายได้
ขณะที่นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. เบิกความว่า จากการติดตามข่าวสารตลอดเวลา เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ ปราศจากความรุนแรง และไม่มีการใช้อาวุธ ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ แม้กลุ่ม กปปส.จะเคลื่อนขบวนปิดล้อมสถานที่ราชการ แต่ก็เป็นไปโดยความสงบเรียบร้อย ไม่เกิดความรุนแรง ไม่เป็นการรบกวนความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ ซึ่งแตกต่างจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553-2553 อย่างสิ้นเชิง จึงเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่เหตุรุนแรงพอที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะสถานการณ์ความรุนแรงที่จะสามารถนำไปสู่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องเป็นสถานการณ์ความรุนแรงในระดับความอยู่รอดของชาติบ้านเมือง อาจเทียบเท่ากับสถานการณ์สู้รบหรือสงคราม นอกจากนี้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นหลักไม่ได้มุ่งระงับเหตุภายนอก ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการมุ่งจำกัดหรือควบคุมไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงออกเพื่อกดดันรัฐบาล และจำเลยทั้งสาม ยังใช้กลไกของรัฐรวมถึงกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของรัฐบาลมากกว่ามุ่งรักษาความสงบเรียบร้อย
ภายหลังเบิกความเสร็จศาลนัดฟังคำสั่งจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ในวันที่ 31 มกราคม. เวลา 15.00 น.