วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ก่อนแมลงสาบล่มสลาย


ม็อบสีลมจบแล้ว! ประกาศชุมนุมครั้งสุดท้ายหลังมากันเพียงแค่ 45 คน



          วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 (go6TV) บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย ย่านถนนสีลมวันนี้เงียบเหงา ผู้ชุมนุมหายเกลี้ยง เหลือผู้ชุมนุมกลุ่มกองทัพธรรมที่มาจัดตั้งรอเพียงแค่ 45 คนเท่านั้น แกนนำกลุ่มระบุว่าครั้งนี้จะเคลื่อนไหวเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาไม่รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามที่ได้ประกาศเอาไว้ และไม่มีเหตุผลอื่นใดที่จะให้ออกมาชุมนุมอีก


"เนชั่น" ยอมถอย แนะ "ม็อบปชป." กลับบ้าน





          วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 (go6TV) – ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 เวลา 01:00 เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้เผยแพร่บทความ “ระวังกระแสตีกลับ ถอยเถิดครับ ปชป.” ซึ่งเขียนโดย นายปกรณ์ พึ่งเนตร โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

           ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เห็นแก่บ้านเมืองจริง และต้องการให้สังคมเปลี่ยนผ่านการเมืองแบบไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ หรือทิ้งบาดแผลแห่งความขัดแย้งบาดลึกจนยากเยียวยา พรรคประชาธิปัตย์สมควรถอย และกลับไปทำหน้าที่ของตนเองในสภา เพื่อป้องกันการเผชิญหน้าของมวลชนฝั่งหนุนกับฝั่งต้านรัฐบาล  เพราะภารกิจการขัดขวางร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ"ฉบับสุดซอย"ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แม้ร่างกฎหมายยังไม่ตายสนิท แต่ควรปล่อยให้พลังประชาชนผู้บริสุทธิ์เขาว่ากันต่อ

          พรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรฉวยจังหวะนี้ ปลุกระดมมวลชนให้ลุกฮือขึ้น เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในวิถีทางที่ไม่ใช่การเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง หรือกดดันรัฐบาลจนไม่มีทางถอย กระทั่งต้องปลุกมวลชน"คนเสื้อแดง"ผู้สนับสนุนขึ้นมาเผชิญหน้า ทำให้สถานการณ์บานปลายเกินควบคุม

         แน่นอนว่าหากพรรคประชาธิปัตย์เดินหน้ากดดันด้วยวิธีการต่างๆ ไปเรื่อยๆ รัฐบาลอาจอยู่ไม่ได้ จะด้วยเหตุผลที่ทหารออกมาเอ็กเซอร์ไซส์ หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีสำคัญ หรือมีม็อบชนม็อบก็ตาม แต่สุดท้ายความเกลียดชังในหัวใจของคนไทยด้วยกันไม่ได้หมดไปด้วย ประชาชนจะยังคงแบ่งเป็น 2 ขั้ว 2 ฝ่าย ทีเอ็งทำข้าพ่าย ถึงทีข้าบ้างต้องเอาให้ตาย...อะไรประมาณนั้น เพราะการเปลี่ยนผ่านมันไม่ใช่กระบวนการที่ทุกคนต้องยอมรับ มันเป็นแค่เกมการเมืองโค่นล้มกัน

         เมื่อรัฐบาลแสดงเจตนา"ถอยสุดซอย"แล้ว ก็ควรดึงความขัดแย้งกลับไปในสภาแล้วพูดจากัน ตรวจสอบกันไปตามระบบ จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ลากไส้ทุจริตจำนำข้าวก็ว่ากันไป โดยมีพลังมวลชนที่ตื่นรู้และรู้เช่นเห็นชาติกับพฤติกรรมของรัฐบาลชุดปัจจุบันแล้วเป็นแรงสนับสนุนอยู่ข้างนอก บทจบก็ไปวัดกันที่สนามเลือกตั้ง นั่นคือการเปลี่ยนผ่านที่ถูกต้อง สง่างาม ฝ่ายแพ้ก็จะยอมรับ ไม่พยายามก่อเงื่อนไขกลับมาอีก

        มีสุ้มเสียงจากคน ปชป.ว่า ถึงเลือกตั้งวันนี้ก็แพ้อีก ซึ่งก็คงไม่ผิด แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ พรรคประชาธิปัตย์จะแพ้อีกเพียงแค่ครั้งเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน 2 ครั้ง จากที่เคยมีนักรัฐศาสตร์คาดการณ์ว่าผลการเลือกตั้งจะไม่เปลี่ยน (คือพรรคฝ่ายทักษิณจะชนะอย่างท่วมท้น) อีกอย่างน้อย 4-5 ครั้ง หรือ 20 ปี และในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ ถ้าสถานภาพของรัฐบาลยังเป็นแบบนี้ ถึงจะชนะกลับมา ก็ไม่น่าจะท่วมท้นแบบเดิม และน่าจะรักษาอำนาจอยู่ได้อีกไม่นาน

            กระบวนการให้ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย เปิดเวทีสื่อสารโดยตรงกับคนในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ แล้วเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้และดีกว่าพรรคเพื่อไทย คือภารกิจใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มที่ไม่เอารัฐบาลชุดนี้ต้องช่วยกันสร้าง ช่วยกันทำ เพื่อให้ความห่างของคะแนนจากคูหาเลือกตั้งระหว่าง 2 พรรคใหญ่ลดน้อยลงที่สุด แล้วการเมืองก็จะพลิกขั้วของมันไปได้เอง

          จะอภิปรายซักฟอกทุจริตจำนำข้าว แล้วหาเสียงสู้ว่า"ชาวนาได้เท่าเก่า แต่ไม่เอาการโกง"อย่างนี้ก็ไม่มีใครว่า และไม่เกิดคำถามเชิงชนชั้นว่า"คนชนบทตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯล้มรัฐบาล"อีกต่อไป

         หากประชาธิปัตย์ยังหลงกับกระแส ระวัง"ม็อบไพร่"จากความหมั่นไส้ของคนเสื้อแดงจะกลับมาล้อมเมือง แล้ววันนั้นจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่มีใครรู้

         อย่าลืมว่าปรากฏการณ์เสื้อแดงที่แผ่กว้างและขยายวงไปทั่วประเทศเมื่อหลายปีก่อน เหตุผลที่มีน้ำหนักไม่น้อยคือ "หมั่นไส้เสื้อเหลือง" เพราะทำอะไรไม่เคยผิด รัฐบาลที่ชนะเลือกตั้งมาไม่มีสิทธิ์แม้เข้าทำเนียบรัฐบาล ฯลฯ

          วันนี้หลายคน หลายกลุ่ม ตื่นรู้แล้ว อย่าให้อารมณ์หมั่นไส้ย้อนกลับมาทำลายบ้านเมืองอีกเลย...

        และผู้ที่เริ่มต้นได้คือประชาธิปัตย์ ควรฉวยจังหวะนี้เร่งปฏิรูปพรรค ทำสัญญาประชาคมกับกลุ่มต่างๆ เพื่อปฏิรูปประเทศไปในทิศทางที่ถูกที่ควร เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับประชาชน ก้าวข้ามความเป็นนักการเมืองที่มองแต่ผลเลือกตั้ง ไปสู่การเป็น"รัฐบุรุษ"หรือ state man กันดีกว่าไหม...


ถ้าทำไม่ได้ ก็นับถอยหลังกันได้เลย!
อ้างอิงจาก http://www.bangkokbiznews.com/
*******************************************************************

"หอการค้าไทย" โต้ "สุเทพ" การไม่ชำระภาษีเป็นการทำผิดกฎหมาย"



            วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 (go6TV) – นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ออกแถลงการณ์หอการค้าไทย ระบุว่าเป็นห่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ จากการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งอาจยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว


          "ขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ซึ่งเป็นตัวผลักดันรายได้เข้าประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งจะช่วยทดแทนตัวเลขการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวได้ ในช่วง 9เดือนแรกของปี การส่งออกขยายตัวเพียง 0.05% และคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น"

         ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงจุดยืนใน 3 ประเด็น คือ
  • 1.ยังคงยึดมั่นต่อการต่อต้านคอร์รัปชั่น และเห็นว่า การรณรงค์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว 
  • 2.ขอให้ทุกฝ่ายลดการเผชิญหน้าและการท้าทายซึ่งกันและกัน ไม่ใช้ความรุนแรง อันจะนำไปสู่ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และขอให้ทุกฝ่ายยึดผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง พิจารณาการดำเนินการอย่างมีสติ เพื่อให้สันติสุขและความสามัคคีกลับมาสู่ประเทศไทยอย่างเร็วที่สุด
  • "และ 3. กรณีที่มีการขอความร่วมมือให้หยุดงานในวันที่ 13-15 พ.ย.นี้ เอกชนไม่ขอตอบรับข้อเสนอนี้ และไม่ได้ประกาศให้พนักงานหยุดงานเพื่อไปรวมชุมนุมแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ขอตอบรับข้อเสนอให้หยุดชำระภาษี เนื่องจากการไม่ชำระภาษีเป็นการทำผิดกฎหมาย ซึ่งหอการค้าไทยไม่ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย"
          ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากมีการชุมนุมต่อเนื่องถึงสิ้นปี โดยไม่รุนแรง จีดีพีเติบโตลดลง 0.2-0.3% หรือปีนี้ขยายตัว 3.3-3.5% แต่หากการชุมนุมรุนแรงและต่อเนื่องถึงสิ้นปีทำให้นักท่องเที่ยวหายไปเดือนละ 2 แสนคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 3.5 หมื่นล้านบาท และจีดีพีจะเติบโตเหลือ 3-3.2%

          ทั้งนี้ หากการชุมนุมยืดเยื้อต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปี 57 จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 1 - 1.5 แสนล้านบาท ทำให้จีดีพีปีหน้าจะโต 4 - 4.5% และหากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น จีดีพีจะโตเพียง 4% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 5%

รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร ถึงแก่กรรมด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อเวลา 19.45 น.


รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร ถึงแก่กรรมด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อเวลา 19.45 น.



          รองศาสตราจารย์ ดร.วรพล พรหมิกบุตร ที่ปรึกษาอดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อเวลาประมาณ 19.45 น.ที่โรงพยาบาลภูมิพล


         ดร.วรพล พรหมิกบุตร เคยดำรงตำแหน่งคณบดี ระหว่างเดือนธันวาคม 2544 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2547  จบการศึกษาจากสวนกุหลาบวิทยาลัย จบปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (สังคมวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท M.A. (Sociology) Northwestern University และปริญญาเอก Ph.D. (Sociology) Northwestern University


พระวิหาร: เรามาถึงจุดเสี่ยงนี้ได้อย่างไร

พระวิหาร: เรามาถึงจุดเสี่ยงนี้ได้อย่างไร

         เพราะแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ระบุชัดเจนว่า “ด้วยเจตนารมณ์แห่งไมตรีจิตและการประนีประนอม ราชอาณาจักรกัมพูชายอมรับว่าปราสาทพระวิหารจะได้รับการเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยในชั้นนี้ไม่มีเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของตัวปราสาท” ซึ่งก็คือ ไม่มีการเอาพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้วยนั่นเอง
แถลงการณ์ร่วมฯ ยังระบุอีกว่า “ในระหว่างที่ยังไมมีผลของการปฏิบัติงานของคณะกรรมกาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ในพื้นที่รอบตัวปราสาทพระวิหารทางทิศตะวันตก และทางทิศเหนือ แผนบริหารจัดการในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการจัดทำขึ้นร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของกัมพูชาและของไทย” สิ่งนี้หมายความว่าไทยและกัมพูชาได้บรรลุข้อตกลงที่จะบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน อันเป็นแนวทางที่น่ายกย่องชื่นชม ทั้งสองฝ่ายมีแต่ได้กับได้
ประการสำคัญ แถลงการณ์ร่วมระบุไว้ชัดเจนว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของกัมพูชาและไทยในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของทั้งสองประเทศ
แต่ความสำเร็จที่ใช้เวลาเจรจาต่อเนื่องถึงสามรัฐบาล (ทักษิณ-สุรยุทธ์-สมัคร) นี้ ก็ถูกทำลายลงด้วยพลังคลั่งชาติและความเกลียดชังทักษิณอย่างไม่ลืมหูลืมตา
แถลงการณ์กลายเป็นโมฆะ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ว่าแถลงการณ์ร่วมละเมิด รธน. มาตรา 190 เพราะมีสถานะเป็นหนังสือสัญญา ที่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศไทย ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา
ปัญหาคือ รธน.2550 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า หนังสือสัญญาที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา คือ “หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย” เท่านั้น แต่ศาลกลับเพิ่มคำว่า “อาจจะ” เข้าไปในคำตัดสิน จึงเท่ากับว่า ศาลเพิ่มถ้อยคำลงไปใน รธน.เสียเอง โดยไม่สามารถยืนยันได้ว่าแถลงการณ์ร่วมทำให้ไทยสูญเสียดินแดนจริงหรือไม่
นอกจากนี้ เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 28 มิถุนายน 2551 ให้รัฐบาลสมัครระงับการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วม ต่อมารัฐบาลยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด  ประธานศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้น ได้สั่งจำหน่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะที่ 2 แต่ต่อมาปรากฎข่าวว่า ก่อนที่องค์คณะที่ 2 จะลงนามในคำสั่ง ประธานศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเปลี่ยนองค์คณะไปเป็นองค์คณะที่ 1 และวันที่ 11 กันยายน 2551 ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งให้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วม ต่อมามีผู้ร้องต่อ ปปช. ประธานศาลปกครองสูงสุดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ ปปช.ก็ต้องหงายหลัง เมื่อคนในวงการตุลาการได้ช่วยกันออกมาปกป้องว่า ปปช.ไม่มีอำนาจหน้าที่มาตรวจสอบตุลาการ
สังคมไทยอยู่ในภาวะฝุ่นตลบหลายปี สื่อมวลชนจำนวนมากช่วยกันตอกย้ำว่าเพราะทักษิณต้องการทำธุรกิจในกัมพูชา, เรายังมีสิทธิทางกฎหมายที่จะทวงปราสาทพระวิหารคืนได้อีก, ทางขึ้นพระวิหารมีแต่ฝั่งไทยเท่านั้น มันจึงควรเป็นของไทย, กัมพูชาได้แต่ซากปรักหักพังไป แต่พื้นดินใต้ปราสาทยังเป็นของไทย, ถ้าไม่ถอดพระวิหารจากมรดกโลก ไทยไม่เพียงเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม. แต่จะเสียพื้นที่ในภาคอีสานถึง 1.5 ล้านไร่ และพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เต็มไปด้วยแก๊สและน้ำมัน, ฮุน เซ็นเป็นคนชั่วร้าย ฯลฯ
และเมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็รับเอาจุดยืนของกลุ่มพันธมิตรฯ มาเป็นของตนอย่างไม่รีรอ เขานำเรื่องการปกป้องสิทธิ์ของไทยเหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ไปปะปนกับเรื่องตัวปราสาทพระวิหาร ด้วยการประกาศที่จะทำให้พระวิหารถูกถอดออกจากการเป็นมรดกโลกและขัดขวางแผนบริหารจัดการพระวิหารของกัมพูชาให้ถึงที่สุด ทั้งๆ ที่นายอภิสิทธิ์น่าจะรู้ดีว่า ไทยหมดสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์คำตัดสินศาลโลกไปตั้งนานแล้ว ฉะนั้น ตราบเท่าที่ไทยไม่มีหลักฐานว่ากัมพูชาเอาพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก การขึ้นทะเบียนมรดกโลกและบริหารจัดการพระวิหารย่อมเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของกัมพูชา ไทยในฐานะคนนอกไม่สามารถแทรกแซงได้ และด้วยเหตุผลนี้เอง ที่คณะกรรมการมรดกโลกไม่เคยสนใจคำประท้วงคัดค้านของผู้แทนไทยเลย ยังไม่นับว่าตัวแทนที่ถูกส่งไปนั้น ได้พยายามบิดเบือนข้อมูล ทำให้ประชาชนไทยเข้าใจผิดบ่อยครั้ง
กล่าวคือ เมื่อนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลก (คมล.) ในปี 2552 ที่สเปน ในการประชุมครั้งนี้กัมพูชาได้ขอเลื่อนการส่งแผนบริหารจัดการออกไปหนึ่งปี ซึ่ง คมล.ได้อนุมัติให้อย่างไม่มีปัญหา แต่รัฐบาลไทยกลับแถลงว่าคณะของนายสุวิทย์ได้นำชัยชนะชั่วคราวมาสู่ไทย เพราะสามารถทำให้ คมล.เลื่อนการจดทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกไปอีกหนึ่งปี สิ่งที่ประหลาดมากคือ สื่อมวลชนไทยทุกค่ายนำเสนอข่าวนี้โดยไม่เอะใจแม้แต่นิดเดียว ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงคือ พระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่กรกฎาคม 2551!
เรื่องทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกในปีถัดมา ในการประชุม คณะกรรมการมรดกโลก(คมล.) ที่บราซิล ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น นายอภิสิทธิ์ขู่ว่าไทยอาจถอนตัวจากสมาชิกของคมล. หากแผนบริหารจัดการพระวิหารได้รับอนุมัติ และไทยจะไม่ร่วมพิจารณาหารือเรื่องแผนบริหารจัดการ จนกว่าจะได้มีการตกลงปักปันเขตแดนเสียก่อน สิ่งที่อภิสิทธิ์เข้าใจผิดคือ ไทยไม่มีสถานะทางกฎหมายอะไรที่จะเข้าไปร่วมปรึกษาหารือการบริหารจัดการพระวิหาร เพราะนี่เป็นเรื่องระหว่างกัมพูชาและ คมล. เท่านั้น เขาไม่จำเป็นต้องขอคำปรึกษาจากไทย
แต่สิ่งที่น่าฉงนฉงายยิ่งกว่าก็คือ นายสุวิทย์ได้แถลงว่าคณะของเขาสามารถล้อบบี้ให้ คมล.เลื่อนการพิจารณาแผนฯออกไปได้จนถึงปีหน้า อีกทั้งกัมพูชาทำแผนไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด เขายังกล่าวว่ากัมพูชาได้นำบางส่วนของพื้นที่ทับซ้อนไปทำแผนบริหารจัดการ แม้ว่าในรายงานอีกชิ้นหนึ่ง เขายอมรับว่าไม่มีโอกาสเห็นตัวแผนเลยก็ตาม คำแถลงดังกล่าวสร้างความยินดีปรีดาให้กับสื่อมวลชนอย่างล้นเหลือ นายสุวิทย์และคณะได้รับการยกย่องราววีรบุรุษกู้ชาติ (ยกเว้นนายสุวิทย์แล้ว ผู้ร่วมคณะต่างได้ดิบได้ดีกันไป)
แต่ปรากฏว่าสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชาออกแถลงการณ์ตอบโต้คำกล่าวอ้างของนายสุวิทย์ ว่ากัมพูชาได้ยื่นแผนฯ และรายงานความก้าวหน้าในการอนุรักษ์พระวิหารแก่ศูนย์มรดกโลก ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ไม่ใช่ คมล. ไปตั้งแต่มกราคม 2553 และศูนย์มรดกโลกยังมีความเห็นชื่นชมแผนฯของกัมพูชาอีกด้วย กัมพูชายังเยาะเย้ยไทยว่า ช่างไม่รู้ขั้นตอนการทำงานของ คมล.เอาเสียเลย แน่นอนว่าสื่อมวลชนไทยย่อมไม่ชายตาดูแถลงการณ์ตอบโต้จากฝ่ายกัมพูชา เดินหน้ายกย่องคณะของนายสุวิทย์ต่อไป
เท่านั้นยังไม่พอ ในการประชุม คมล.ในเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งใกล้วันเลือกตั้งทั่วประเทศ จู่ๆ นายสุวิทย์ ก็ประกาศว่าประเทศไทยขอถอนตัวจาก คมล. เพราะฝ่ายหลังไม่ยอมทำตามคำร้องของฝ่ายไทยที่ให้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการไปก่อน สุวิทย์ได้รับการสรรเสริญมากมายจากกลุ่มพันธมิตรฯ แต่เรื่องกลับโอละพ่อ เมื่อผู้อำนวยการ คมล.แถลงตอบโต้นายสุวิทย์อย่างทันทีทันควัน ว่าข้อกล่าวหาของนายสุวิทย์ไม่มีมูลความจริง ในที่ประชุมวันนั้น ไม่มีวาระพิจารณาแผนบริหารจัดการเลย
อันที่จริง นายอภิสิทธิ์อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่านายสมัครและนายนพดล ที่จะอธิบายให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง ว่าไทยไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนอีกแล้ว สิทธิ์นั้นได้หมดไปตั้งแต่สิบปีหลังคำตัดสิน, ไทยต้องแยกแยะเรื่องปราสาทพระวิหารออกจากการปกป้องสิทธิ์ของไทยเหนือพื้นทีทับซ้อนรอบพระวิหาร, และมุ่งเจรจากับกัมพูชาเฉพาะเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเท่านั้น เสียงเตือนจากนักวิชาการที่เรียกร้องให้ผู้นำต้องมีสติ ไม่เช่นนั้นไทยอาจสูญเสียมากไปกว่าที่เสียไปแล้ว ดูจะไม่เข้าโสตประสาทของรัฐบาลอภิสิทธิ์เสียเลย
นายอภิสิทธิ์เลือกที่จะเล่นกับไฟชาตินิยม มุ่งถอดถอนพระวิหารออกจากสถานะมรดกโลก ทั้งๆ ที่เราไม่สิทธิ์เหนือโบราณสถานชิ้นนี้อีกแล้ว ยังไม่นับการแต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ ที่เคยด่าผู้นำกัมพูชาว่าเป็นกุ๊ย ให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ วิธีการเหล่านี้จึงเป็นการปิดโอกาสที่จะเจรจายุติปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอย่างสันติ ขณะที่ผู้นำกัมพูชา นายฮุน เซ็น ก็พร้อมตอบโต้ด้วยคำพูดที่ดุเดือด ดูหมิ่นเหยีดดหยามนายอภิสิทธิ์ และใช้วิธีฉีกหน้า ด้วยการเชิญทักษิณให้เป็นที่ปรึกษาของตน
เหตุการณ์บางส่วนที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงนำไปสู่ความเป็นปฏิปักษ์กันอย่างรุนแรงระหว่างไทยกับกัมพูชา ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดบริเวณชายแดน และการปะทะหลายครั้งหลายครา และครั้งที่รุนแรงที่สุดก็คือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และเมษายน 2554 จนในที่สุด ในวันที่ 24 สิงหาคม 2554 รัฐบาลกัมพูชาก็ตัดสินใจยื่นคำร้องขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 ว่าขอบเขตของพื้นทีที่ไทยจะต้องถอนทหารออกไปจากพื้นที่โดยรอบพระวิหารนั้นเป็นไปตามเส้นเขตแดนบนแผนที่ภาคผนวก 1 หรือไม่
คำพิพากษาที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน ดูจะสร้างความเครียดให้กับคนไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างมาก แม้เรารู้ว่าทีมกฎหมายของไทยได้พยายามทำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่เราก็ยังเครียด เพราะเรารู้ว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม. และเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นอีกรอบ

ถ้าไม่มีการบิดเบือนสารพัดเพื่อมุ่งโค่นล้มรัฐบาลในฝ่ายของทักษิณอย่างไร้สติ ประเทศไทยก็ไม่ควรต้องเดินมาถึงจุดเสี่ยงนี้เลย

จำลองไม่รับอำนาจศาลโลก- สนธิชี้ยุบสภาไม่ใช่ทางออก ลากสถาบันมาเกลือกกลั้วการเมืองอีกรอบ

จำลองไม่รับอำนาจศาลโลก - สนธิชี้ยุบสภาไม่ใช่ทางออก 

ลากสถาบันมาเกลือกกลั้วการเมืองอีกรอบ

          'พล.ต.จำลอง' แถลงไม่รับอำนาจศาลโลกและพร้อมเคลื่อนไหวทันที 'สนธิ' ชี้ขณะนี้เป็นสงครามระหว่างความดีความชั่ว ยุบสภาไม่ใช่ทางออก แต่จะต้องหยุดนักการเมือง 2-3 ปี และถวายคืนพระราชอำนาจ โดยสนธิจะยังไม่เคลื่อนไหวตอนนี้ เพราะ พล.ต.จำลองขอไว้
            11 พ.ย. 2556 - ตามที่ในช่วงเช้าอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหารือกันที่บ้านพระอาทิตย์นั้น ล่าสุดเวลา 10.30 น. มีการแถลงข่าวของอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และสนธิ ลิ้มทองกุล
            ทั้งนี้ พล.ต.จำลอง ในนามประธานกองทัพธรรมมูลนิธิ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นผู้อ่านแถลงการณ์หัวข้อ “ไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและพร้อมเคลื่อนไหวทันที” กรณีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) จะอ่านคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร โดยรายละเอียดของแถลงการณ์ที่เผยแพร่ใน เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ มีดังนี้
000
วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
เรื่อง ไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและพร้อมเคลื่อนไหวทันที
เรียน พี่น้องสื่อมวลชนและประชาชน
กระผม พลตรี จำลอง ศรีเมือง ประธานกองทัพธรรมมูลนิธิ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้มาพูดคุยกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล หลายครั้งที่บ้านพระอาทิตย์ถึงปัญหาวิกฤติของบ้านเมือง และเห็นว่าแม้ว่าพวกเราจะได้ยุติบทบาทการเป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องแสดงจุดยืนบางประการให้สังคมได้รับทราบในสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ดังนี้
ประการแรก ผม พลตรี จำลอง ศรีเมือง และคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ขอให้กำลังใจพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวในการคัดค้านและต่อสู้ปัญหาเชิงประเด็นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติทุกกลุ่ม เช่น การคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม, การคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190, การเคลื่อนไหวเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ, การคัดค้านการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีและการปฏิรูปพลังงาน ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราขอให้กำลังใจกลุ่มพี่น้องประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อการการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ เพราะถือว่าทุกท่านที่ออกมานั้นแม้จะมีเป้าหมายต่างกัน ยุทธวิธีต่างกัน แต่ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่างก็มีความเสียสละและรักชาติบ้านเมืองเหมือนกัน และถือว่าทุกท่านที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้น ต่างเสียสละมาทำหน้าที่ ใช้หนี้แผ่นดิน และมาทำบุญกันทั้งสิ้น
ประการที่สอง การที่ผมและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ยุติบทบาทไปนั้น เรามีความคาดหวังตามที่ปรากฏในแถลงการณ์ฉบับสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ว่าเมื่อเรายุติบทบาทไปจะทำให้เกิดการเร่งปฏิกิริยาทางการเมือง และเตือนสติให้ประชาชนจะออกมาทำหน้าที่ของตัวเองมากขึ้นโดยไม่ต้องหวังพึ่งหรือฝากความรับผิดชอบปัญหาของประเทศเอาไว้กับมติแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ธงนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกต่อไป และเมื่อถึงวันนี้ยุทธิวิธีดังกล่าวได้ปรากฏเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า รัฐบาลย่ามใจลุแก่อำนาจมากขึ้นจนเป็นที่มาของ พระราชบัญญัติ นิรโทษกรรมที่ประชาชนไม่สามารถจะยอมรับได้ เหตุเพราะมีความประมาทว่าหากไม่มีแกนนำอย่างพวกเราแล้วจะมีผู้ต่อต้านรัฐบาลน้อยลง ในอีกด้านหนึ่งก็ปรากฏว่าประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกชนชั้น ทุกสาขาอาชีพ ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยไม่ต้องมติการเคลื่อนไหวหรือชี้นำจากกลุ่มคนใด หรืออยู่ภายใต้สังกัดกลุ่มขั้วสีเสื้อใด จึงเป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า การยุติบาทบาทขอพวกเราแท้ที่จริงคือยุทธวิธีที่ก่อกำเนิดและการขยายแนวร่วมกลุ่มใหม่ที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้ธงของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเป็นยุทธวิธีที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ดังที่ปรากฏไว้ในแถลงการณ์ทุกประการ
ประการที่สาม ในแถลงการณ์ฉบับสุดท้ายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ลงมติเป็นเอกฉันท์ ได้สรุปเอาไว้ว่า เงื่อนไขเดียวที่จะคุ้มค่าต่อประเทศชาติเพื่อให้เกิดการกลับมารวมตัวกันของอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกครั้ง คือ 1. สถานการณ์ถึงพร้อมที่ทุกภาคส่วนต้องการการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ และ 2. ถ้าพี่น้องประชาชนยังคงต้องการพวกเราให้เป็นแกนนำ
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ที่ตื่นและลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวยังคงจำกัดขอบเขตของการเคลื่อนไหวครั้งนี้อยู่เพียงแค่การคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเท่านั้น การคัดค้านปัญหารายประเด็นเรื่องนี้มีแนวร่วมของมวลประชาชนเป็นจำนวนมากมายมหาศาลที่มีความสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องอาศัยการกลับมาเคลื่อนไหวของอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีก
แต่ความจริงแล้ว ปัญหาวิกฤตของประเทศชาติไม่ได้มีเพียงแค่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเท่านั้น เพราะยังมีวิกฤตชาติอีกหลายประเด็นภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ และเมื่อประชาชนคัดค้านการกระทำความผิดของรัฐบาลเรื่องหนึ่ง รัฐบาลก็จะไปกระทำความผิดเรื่องเลวร้ายวิกฤติของชาติในเรื่องอื่นๆต่อไปได้อีก และประเทศชาติก็ยังมีปัญหาอีกมากภายใต้ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังนั้น ลำพังการเคลื่อนไหวเพียงแค่คัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติได้ และการขับไล่รัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภาภายใต้ระบบการเมืองเช่นนี้ก็ยังแก้ไขปัญหาของประเทศไม่ได้อย่างแท้จริงเช่นกัน จึงมีเพียงการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปประเทศรอบด้านครั้งใหญ่เท่านั้นที่จะยุติวิกฤตของประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน
แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้มีพัฒนาการของการชุมนุมหลายเวทีซึ่งเริ่มมีการปราศรัยในเรื่องปฏิรูปประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าอาจมีโอกาสที่สถานการณ์ถึงพร้อมที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศในวันข้างหน้าได้ หากทุกฝ่ายได้ร่วมมือร่วมใจในการกำหนดเป้าหมาย ผลักดัน และเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ให้เป็นเอกภาพในเวลาอันใกล้นี้
แต่ผมก็หวังไปมากกว่านั้นด้วยว่า องค์กรและสถาบันอื่นจะทำหน้าที่ของตัวเองด้วย เช่น ผู้ที่มีโอกาสจะเข้าสู่อำนาจในอนาคตทุกกลุ่มจะทำสัญญาประชาคมที่จะปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ศาลภายใต้พระปรมาภิไธยและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่ของตัวเองในการลงโทษผู้กระทำความผิดให้ได้อย่างรวดเร็ว ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้ามาทำหน้าที่ของตัวเองตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนเพื่อปกป้องชาติและราชบัลลังก์ และข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะออกมาเคลื่อนไหวทำหน้าที่ของตัวเองหยุดทำตามคำสั่งทรราชย์แล้วหันกลับมาทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน เราจึงจะสามารถฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ร่วมกับมวลมหาประชาชนได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับในวันนี้วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เป็นวันสำคัญที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะได้มีการตัดสินการตีความคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี พ.ศ. 2505 แม้จะไม่ใช่เป็นเรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่ก็เป็นปัญหาอีกประเด็นหนึ่งที่กำลังจะเป็นวิกฤติของชาติอันใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากได้สมรู้ร่วมคิด รู้เห็นเป็นใจลงมติในวาระที่ 3 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ให้รัฐบาลสามารถทำสัญญาระหว่างประเทศและยกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอธิปไตยให้ต่างชาติได้โดยสามารถปกปิดให้ประชาชนไม่ต้องรับรู้ ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ถือได้ว่าเป็นเจตนาที่ไม่โปร่งใสและมีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เคยเคลื่อนไหวชุมนุมในเรื่องอธิปไตยของชาติในกรณีปราสาทพระวิหารและผลประโยชน์ทางทะเลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และเคลื่อนไหวชุมนุมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2554 ดังปรากฏเป็นหลักฐานเป็นแถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงการณ์ 4 ฉบับ ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพื่อแสดงว่าภาคประชาชนได้ต่อสู้มาอย่างยาวนานอย่างไร และประสบผลสำเร็จอย่างไร อีกทั้งได้เสนอหาทางออกเอาไว้แล้ว ได้แก่ ฉบับที่ 3/2554 เรื่อง “ภาคประชาชนได้ต่อสู้เรื่องอธิปไตยและดินแดนอย่างเต็มที่สุดความสามารถแล้ว” ฉบับที่ 4/2554 เรื่อง “ทหารของจอมทัพไทยยังไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการรักษาอธิปไตยของชาติ” ฉบับที่ 5/2554 เรื่อง “บทพิสูจน์ความล้มเหลวของรัฐบาลประชาธิปัตย์ในการใช้ MOU 2543 และจะเสียดินแดนต่อไปเพราะรับอำนาจศาลโลก” และฉบับที่ 6/2554 “ขอให้รัฐบาลชุดต่อไปปกป้องอธิปไตยของชาติ” ซึ่งก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลแต่อย่างใด
นอกจากนี้ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2556 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้มีมติให้นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปยื่นข้อเรียกร้องต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามจดหมาย พธม.1/2556 เรื่อง ขอให้ปฏิเสธอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและรักษาอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย โดยยื่นข้อเรียกร้องกล่าวโดยสรุป 7 ประการดังนี้
ประการแรก ใช้โอกาสสุดท้ายที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในชั้นการไต่สวน เรียกร้องให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศอย่างเป็นทางการว่าราชอาณาจักรไทยถือว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการตีความคดีนี้ และราชอาณาจักรไทยจะไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการตีความในคดีความนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการตีความนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ เพราะราชอาณาจักรไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว และเป็นที่รับทราบโดยปราศจากการคัดค้าน ทั้งจากราชอาณาจักรกัมพูชา และสมาชิกองค์การสหประชาชาติ อีกทั้งราชอาณาจักรไทยยังได้แถลงประท้วง ไม่เห็นด้วย คัดค้านในคำตัดสินที่ผิดพลาดและอยุติธรรม เพราะเป็นการตัดสินที่ไม่อยู่บนภูมิศาสตร์ที่แท้จริง ละเลยสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ไม่สนใจบันทึกการสำรวจในพื้นที่บริเวณทิวเขาดงรักใช้ขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำ แต่กลับใช้กฎหมายปิดปากซึ่งเป็นกฎหมายประเพณีอังกฤษมาตัดสินเรื่องเขตแดนว่าไทยไม่ปฏิเสธแผนที่ที่จัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งๆที่กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่อยุติธรรมเพราะใช้กับประเทศไทยประเทศแรก ประเทศเดียว และประเทศสุดท้ายในโลก รัฐบาลไทยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ตั้งข้อสงวนเอาไว้ในการทวงคืนปราสาทพระวิหารในอนาคตหากกฎหมายระหว่างประเทศพัฒนาขึ้นต่อที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยคำแถลงครั้งนั้นไม่ได้มีประเทศสมาชิกในองค์การสหประชาชาติคัดค้านแต่ประการใด ประกอบกับราชอาณาจักรไทยก็ไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยบังคับ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 แล้ว
ประการที่สอง เมื่อราชอาณาจักรไทยไม่รับว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจในการตีความแล้ว รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่ต้องถอนทหารหรือตำรวจตระเวนชายแดนออกจากแผ่นดินไทย และขอให้เร่งผลักดันชุมชนกัมพูชาให้ออกจากแผ่นดินไทย ทั้งนี้ ได้ปรากฏเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนแล้วว่าตั้งแต่มีการก่อตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมามีประเทศคู่พิพาทให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 17 คดี แต่ศาลรับให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 10 คดี ผลปรากฏว่าจนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีประเทศใดปฏิบัติตามเลยแม้แต่ประเทศเดียว ซึ่งรวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับแต่ประการใด และหากรัฐบาลไทยยินยอมปฏิบัติถอนทหารออกจากพื้นที่จะถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวทั้งๆ ที่มีชุมชนกัมพูชารุกรานเข้ามาอาศัยอยู่บนแผ่นดินของราชอาณาจักรไทย
ประการที่สาม ให้รัฐบาลไทยเร่งฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีประเทศใดเข้ามาใช้อำนาจในการละเมิดอธิปไตยของชาติ
ประการที่สี่ อาศัยกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 วรรค 7 และให้รัฐบาลไทยยืนยันว่าสมาชิกสหประชาชาติไม่มีอำนาจในการแทรกแซงในเรื่องภายในอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย และให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยยืนยันตามข้อ 2 (ก) และ 2 (ง) แห่งกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่ารัฐสมาชิกอาเซียนจะต้องปฏิบัติตามหลักการในการเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน ตลอดจนไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน
ประการที่ห้า รัฐบาลราชอาณาจักรไทยจะต้องไม่กลับเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกอีก
ประการที่หก ให้รัฐบาลไทยหยุดการใช้นักวิชาการ 7.1 ล้านบาท ที่รับจ้างจากกระทรวงการต่างประเทศมาโฆษณาชวนเชื่อในสื่อของรัฐฝ่ายเดียว เพียงเพื่อให้คนไทยยอมจำนนกับการยกดินแดนไทยให้กับกัมพูชา เพราะนักวิชาการเหล่านี้มีจุดยืนอยู่ข้างฝ่ายกัมพูชา และควรเปิดพื้นที่สื่อให้กว้างขวางเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลจากผู้ที่ต้องการปกป้องอธิปไตยของชาติและไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลด้วย
ประการที่เจ็ด ให้ช่วยเหลือ นายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งถูกทหารกัมพูชาจับในแผ่นดินไทยแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับใส่ร้ายว่าถูกจับในแผ่นดินกัมพูชา โดยเร่งรัดดำเนินการให้ทั้ง 2 คนถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำกัมพูชาโดยเร็วที่สุด
ดังนั้น หากรัฐบาลเมื่อทราบทางเลือกแล้วยังไม่ปฏิบัติตาม อีกทั้งยังประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนไทยยอมจำนนกับความพ่ายแพ้อย่างอยุติธรรมในเวทีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ย่อมถือว่ารัฐบาลมีเจตนาขายชาติขายแผ่นดิน จึงต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบด้วยหากราชอาณาจักรไทยต้องสูญเสียอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนครั้งนี้ และหากราชอาณาจักรไทยต้องสูญเสียดินแดนในครั้งนี้ จะถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ราชอาณาจักรไทยต้องเสียดินแดนในรัชกาลปัจจุบัน เพราะการสมรู้ร่วมคิด รู้เห็นเป็นใจ ของนักการเมืองทุกฝ่าย ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้นำกองทัพที่ไม่ทำหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยของชาติตามรัฐธรรมนูญอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในความอัปยศทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป”
เมื่อเวลาผ่านไปถึง 10 เดือนกว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันก็เพิกเฉยและไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้น ผมในฐานะที่เป็นอดีตข้าราชการทหารผ่านศึกสงครามที่เคยรับใช้ประเทศชาติในการปกป้องผืนแผ่นดินไทยมาก่อน จึงมีสถานะภาพต่างจากอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยท่านอื่น ประกอบกับผมเองได้มีส่วนในการลงนามคัดค้านอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศร่วมกับประชาชนคนอื่นต่อองค์การสหประชาชาติมาแล้ว อีกทั้งยังมีฐานะในการเป็นประธานกองทัพธรรมมูลนิธิซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ร่วมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณอย่างเต็มตัว เมื่อถึงเวลาวิกฤติเช่นนี้ผมจึงไม่สามารถที่จะอยู่นิ่งเฉยได้ ประกอบกับได้รับคำปรึกษาจากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองซึ่งมีส่วนร่วมและมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ผมจึงเห็นว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้มีความคุ้มค่าสำหรับตัวผมเอง ผมจึงขอเป็นคนหนึ่งร่วมกับพี่น้องประชาชนประกาศยืนยันอีกครั้งว่าผมจะไม่รับอำนาจศาลโลกไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร และผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศรวมถึงพี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยร่วมกันเคลื่อนไหวประกาศไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และคัดการการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และร่วมกันปกป้องอธิปไตยของชาติ อย่างถึงที่สุด
อย่างไรก็ตาม คุณสนธิ ลิ้มทองกุลได้แจ้งผมมาโดยตลอดว่า หากผมออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องใดก็จะออกมาเคลื่อนไหวร่วมด้วยอย่างถึงที่สุดรวมถึงเรื่องนี้ แม้จะเป็นพันธสัญญาใจในฐานะกัลยาณมิตรที่มีต่อกันมานานแล้ว แต่ผมเห็นว่ายังมีความจำเป็นทางกลยุทธ์ที่ต้องมีหนทางสำรองเอาไว้ในยามวิกฤตเพื่อบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทยอย่างแท้จริง จึงได้ขอร้องให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ยังไม่ต้องออกมาเคลื่อนไหวขึ้นเวทีในเวลานี้เพื่อประโยชน์ทางยุทธวิธี คุณสนธิ ลิ้มทองกุล จึงได้รับปากและมอบหมายให้สื่อในเครือเอเอสทีวีดำเนินการสนับสนุนการเคลื่อนไหวให้กับผมและคณะในเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ด้วยจิตคารวะ
พลตรี จำลอง ศรีเมือง
000
 
สนธิ ลิ้มทองกุล โจมตีจีน มาเร่งไทยแก้ไข ม.190
ทั้งนี้หลังการอ่านแถลงการณ์ สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวว่า ถ้าไทยแพ้คดีในศาลโลกเท่ากับยอมรับแผนที่ 1:200,000 ซึ่งจะลากยาวถึงพื้นที่ทางทะเล รวมทั้งพลังงานในอ่าวไทยของไทยก็จะเหลือ 1 ใน 4 ส่วน อย่างไรก็ตามมีหลักฐานว่าไม่มีประเทศไหนยอมรับอำนาจศาลโลก มีแต่ไทยชาติเดียวที่สมรู้ร่วมคิดกับมหาอำนาจ ซึ่งถ้าให้ทั้ง 2 ชาติเจรจา ก็จะเข้าสู่ ม.190 ที่รัฐสภาผ่านการแก้ไขไปแล้ว โดยไม่ต้องนำการเซ็นสนธิสัญญาให้ประชาชนทราบ
นายสนธิ ยังโจมตีนายหลี่ เค่อเฉียง นายรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กล่าวในสภาของไทยว่าก็เพื่อเร่งการพิจารณา ม.190 มาเจรจาในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจีนเองก็มีผลประโยชน์กับกัมพูชาโดยในเงินสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างโรงกลั่นน้่ำมัน อีกทั้งกรณีการให้ฟรีวีซ่าแก่ชาวจีนก็จะทำให้ประเทศฉิบหาย เป็นการขายชาติยกให้จีนอย่างสมบูรณ์แบบ รัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อยกดินแดนรวมไปถึงท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ที่รับฟังแต่คำสั่งของรัฐบาล อย่างเช่นกรณีแม่ทัพภาค 2 เจรจากับทางแม่ทัพภาค 4 ของกัมพูชาเพื่อขออยู่ด้วยกันอย่างสันติ ซึ่งตนเห็นว่าไทยไม่ควรมีทหารแบบพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนี้ตนเห็นว่าทหารไทยไม่ควรพูดอะไรมาก อย่างมากก็แค่บอกว่ารอฟังคำสั่งศาลก่อน
พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ได้ขอร้องให้นายสนธิ ขอให้สำรองไว้เผื่อหากตนชุมนุมแล้วไม่สำเร็จค่อยออกมานำการชุมนุม ซึ่งนายสนธิ จะขึ้นเวทีตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แต่ตนไม่ยอม ขณะที่นายสนธิ ชี้แจงว่า พันธมิตรฯ ชุมนุมมา 7 ปี มีทั้งคนรัก และคนเกลียด การยุติคือการรุกฆาตให้คนได้ออกมาชุมนุม และทุกเวทีในตอนนี้ก็มีแกนนำ ตนจะออกหรือไม่ก็ไม่มีความหมาย ตนหวังว่าทุกเวทีจะมีการบูรณาการให้ตกผลึกถึงการปฏิรูป ซึ่งตนเห็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำเวทีราชดำเนิน เริ่มเข้าใจแล้วว่าบัดนี้มวลชนได้ล้ำหน้าไปกว่าการนิรโทษกรรม ตนจึงหวังให้มีการตกผลึกให้เปลี่ยนประเทศไม่ใช่แค่พิพากษาตระกูลชินวัตร

ย้ำยุบสภาไม่ใช่ทางออก ต้องยุตินักการเมือง 2-3 ปี ถวายคืนพระราชอำนาจ
นายสนธิ กล่าวต่อว่า ในขณะนี้เป็นสงครามของความดีและชั่ว เคยเห็นหรือไม่ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ออกมายอมรับว่ารับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเคยเป็นอัยการสูงสุดก็พูดชัดว่าการนิรโทษกรรมไม่เสียหาย เท่ากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ว่าจ้าง ข้าราชการระดับสูงให้อยู่แนวหน้าแล้ว ส่วนแกนนำคนเสื้อแดงก็ได้รับเงินเลยกลับตัว ตนขอคนเสื้อแดงอย่าถูกหลอกอีกเลย แกนนำคนเสื้อแดงรวยกันถ้วนหน้าชัดเจน
นายสนธิ กล่าวอีกว่า การยุบสภาก็ไม่ใช่ทางออก จริงๆ ต้องยุตินักการเมือง 2 - 3 ปี ถวายคืนพระราชอำนาจ มานั่งคุยกันถึงการเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเหตุใดพ.ต.ท.ทักษิณ ถึงคุมได้ทั้งหมด การต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดงก็ไม่ใช่สู่เพื่อประชาธิปไตย แกนนำเองก็พูดโกหกกันอย่างไม่อาย แม้แต่สำนักข่าวต่างประเทศก็ยังเขียนระบุชัดว่าเป็นสาธารณรัฐทักษิณ ทั้งนี้ตนเห็นว่า ต้องให้มีคนมาบริหารงานชั่วคราวให้สังคมได้ตกผลึกระบบการเมืองแบบไทย ที่ไม่มีการลงทุนทางการเมืองแบบทุกวันนี้ที่ใช้กัน 15,000 ล้าน แล้วเอางบชาติมาคืนให้กับนักลงทุน เราจะนิ่งอยู่อีกนานแค่ไหน คงต้องรอให้ชาติล่มสลาย แต่ยังดีที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาสู้ ก็หวังว่าจะไม่ถอดใจ ซึ่งตนไม่ได้พูดว่าต้องเอาใครมาเป็นคนในรัฐบาล หรือใช้กฏหมายมาตราไหนจัดการ แต่สมมุติว่าหากมีสุญญากาศทางการเมืองอย่างกรณีพิพากษาแก้รัฐธรรมนูญผิดกฏหมาย ทำให้ ส.ส.ต้องพ้นวาระก็จะมีสุญญากาศ

จำลองเชียร์ผู้พิพากษาค้านนิรโทษกรรม
ส่วนที่มีการเกรงว่าจะเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนนั้น พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ตนอยากรู้ว่าใครจะมาปะทะในเรื่องพระวิหาร ถ้ามีก็พวกขายชาติ ด้านนายสนธิ กล่าวว่า รัฐบาลอยากให้มีการปะทะ แต่ตนก็เห็นว่าชาวบ้านเริ่มเหลืออดกับคนสู้เพื่อประชาธิปไตยจอมปลอม ตนเชื่อว่าถ้าฝั่งโน้นต้องการความรุนแรงก็ไม่มีใครกลัว ความดีอดทนความชั่วไม่ได้แล้วไม่ว่าจะรูปแบบไหน คนต้องการความถูกต้องไม่กลัวอะไรแล้ว ตั้งแต่เกิดจนอายุ 66 ปียังไม่เคยเห็นเหล่าผู้พิพากษาออกมาเซ็นคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การที่ผู้พิพากษาทนไม่ได้ คนอื่นก็ยิ่งทนไม่ได้มากกว่า ใครก็ตามที่สร้างความรุนแรงอยู่ไม่ได้แน่ จำลองอ้างด้วยว่า ทราบว่าว่ามีอธิบดีคนนึงไปซื้ออพาร์ทเม้นท์อยู่ที่อังกฤษแล้ว ขณะที่นักการเมืองหลายคนก็เตรียมลี้ภัยไปอังกฤษ สูบเงินไทยเข้ามากุมอำนาจเพื่อทำมาหากิน พวกนี้เป็นปุ๋ยโรยใต้ต้นไม้ก็ยังไม่ได้
ทั้งนี้ภายหลังการแถลงข่าว เครือข่ายปัญญาสยาม นำโดยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะได้เข้ามามอบดอกไม้ให้กำลังใจพล.ต.จำลอง และนายสนธิ พร้อมยืนยันไม่ต้องการให้ไทยยอมรับอำนาจศาลโลกด้วย

อังถัดประทับใจ 30 บาทรักษาทุกโรค

อังถัดประทับใจ 30 บาทรักษาทุกโรค ยกไทยไม่ต้องรวยแต่ทำให้ปชช.มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้

 
           เลขาธิการสปสช. เผยได้รับหนังสือจากกระทรวงต่างประเทศ รายงานผลการหารือของนายกรัฐมนตรีระหว่างเยือนเจนีวา สวิสฯ เผยเลขาธิการอังถัดชื่นชม 30 บาทรักษาทุกโรค ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ยกต้นแบบไม่ต้องรวยก็สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนทุกคนได้ ด้านนายกรัฐมนตรียินดีไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประเทศที่สนใจ

 
          นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้รับหนังสือรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องผลการหารือระหว่างเยือนนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขนั้น เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติเพื่อการค้าและการพัฒนาหรืออังถัด (UN Conference on Trade and Development-UNCTAD) รู้สึกประทับใจกับระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นอย่างมาก ทั้งยังระบุว่า เป็นหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนว่า ไทยเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศรวยก็สามารถส่งเสริมสุขภาพถ้วนหน้าได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ระบบสาธารณสุขของไทยใช้งบประมาณเพียงร้อยละ 12 ของงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามหลัก 30 บาทรักษาทุกโรค กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยระบุว่าเมื่อครั้งที่ได้เดินทางไปเยือนแอฟริกาครั้งล่าสุด ที่โมซัมบิก ยูกันดา แทนซาเนีย ไทยได้ประกาศนโยบาย Thai-Africa Initiative ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านหลักประกันสุขภาพนี้ด้วย

 
        เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในการประชุมเวทีโลกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสังคมและสุขภาพ ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมอย่างมากในการเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนได้ โดยมีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระกับประมาณของประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆ ให้ความสนใจในการเรียนรู้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ทำให้ขณะนี้มีประเทศต่างๆ ขอความร่วมมือประเทศไทย ในการศึกษาดูงานและขอคำแนะนำ ปัจจุบัน สปสช. ได้ให้การสนับสนุนการเป็นวิทยากร การเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้กับประเทศต่างๆที่ต้องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ และการเป็นตัวกลางในการสนับสนุนให้คำแนะนำประเทศต่างๆในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป

กปท.ประกาศปฏิวัติประชาชน เรียกนายกรัฐมนตรี ผบ.ทบ.เหล่าทัพมารายงานตัว

กปท.ประกาศปฏิวัติประชาชน เรียกนายกรัฐมนตรี ผบ.ทบ.เหล่าทัพมารายงานตัว

          กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณระบุ "ปฏิวัติประชาชน" จะไม่เหมือน "19 กันยา 49" แต่จะเป็นการใช้พลังประชาชนเพื่อยึดอำนาจ จะมีการตั้งสภาประชาชนเพื่อบริหารประเทศ โดยในวันอังคารจะไปทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเพื่อขอตั้งสภาประชาชน
บรรยากาศการชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) 
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2556 (ที่มา: FMTV)
              11 พ.ย. 2556 - ในการชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) บริเวณใกล้กับแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนินวันนี้ (11 พ.ย.) นั้น ข่าวสด รายงานว่า พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) ได้นำมวลชนจำนวนหนึ่งพร้อมรถกระจายเสียงเคลื่อนจากเวที กปท. ที่แยกสะพานผ่านฟ้าฯ มาปักหลักที่บริเวณแยกป้อมมหากาฬ เพื่ออ่านประกาศปฏิวัติโดยประชาชน ระบุว่า "ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หยุดพักงาน และให้ผบ.ทุกเหล่าทัพและปลัดกระทรวงทุกกระทรวง เข้ามาพบคณะเสนาธิการร่วม กปท.ภายใน 4 ชม. โดยหากไม่มาพบ กปท.ประกาศจะเคลื่อนพลประชาชนไปในแต่ละกระทรวง ทั้งนี้ กปท.มีความจำเป็นต้องยึดอำนาจรัฐโดยเร่งด่วนเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ"
             ในรายงานของ นสพ. แนวหน้า รายงานความเห็นของ พล.อ.ปรีชา ที่แถลงว่าผิดหวังที่รัฐบาลไม่มีความพยายามรักษาอธิปไตยของชาติ ในคดีปราสาทพระวิหาร รวมถึงปัญหาอื่นๆ อย่างคดีคอรัปชั่น ความล้มเหลวในโครงการรับจำนำข่าว การจาบจ้วงสถาบันมีเพิ่มมากขึ้น ปัญหาบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด และเป็นรัฐบาลที่ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรม ดังนั้น มติ กปท. จะเคลื่อนไหวเพื่อปฎิวัติประชาชน แต่จะไม่เหมือนการปฎิวัติของทหารเมื่อปี 2549 ที่ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ แต่จะเป็นการใช้พลังประชาชนยึดอำนาจแทน แต่ขอยืนยันว่าจะยังไม่มีเคลื่อนไหว หรือบุกทำเนียบรัฐบาลแต่อย่างใด
           ด้าน ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ประสานงานกองทัพธรรม กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) เวลา 09.00 น.ทางกลุ่ม กปท.และกองทัพธรรม จะเดินเท้าไปยื่นถวายฏีกา ที่พระบรมมหาราชวัง เพื่อทูลเกล้าฯ ขอจัดตั้งสภาประชาชน โดยเบื้องต้นสภาประชาชนจะมีทั้งหมด 99 คน ทำงานบริหารประเทศด้วยประชาชน เพื่อประชาชนเอง
            กปท. ยังมีข้อเรียกร้องที่ใกล้เคียงกับการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย โดยประกาศว่า 1.ขอให้ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน หยุดงานตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.เป็นต้นไป 2.ขอให้มหาวิทยาลัย โรงเรียน และสถานศึกษา หยุดเรียนตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.เป็นต้นไป 3.ขอให้พี่น้องประชาชนใน กทม.ปริมณทล และในต่างจังหวัด เดินทางมาร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปท.ที่สะพานผ่านฟ้า แต่หากเดินทางมาไม่ได้ขอให้ชุมนุมที่จังหวัดตนเอง โดยไปรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัด
            อนึ่งหลังคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ กลุ่มมวลชนประมาณ 100 คนได้รวมตัวประท้วงการทำหน้าที่ขอเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลก ได้มีชายอายุประมาณ 35-40 ปี ปีนขึ้นไปบริเวณแท่นแบริเออร์ เพื่อจะนำไฟแช็กมาจุดไฟเผาตัวเองประท้วง แต่ไม่สำเร็จ เพราะผู้ชุมนุมช่วยกันห้าม
            อนึ่ง ระหว่างการแถลงข่าวของอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่บ้านพระอาทิตย์ในช่วงเช้านั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำ พธม. และประธานกองทัพธรรม ได้แถลงว่า ได้ขอร้องให้สนธิ ลิ้มทองกุล ขอให้สำรองไว้เผื่อหากตนชุมนุมแล้วไม่สำเร็จค่อยออกมานำการชุมนุม ซึ่งนายสนธิ จะขึ้นเวทีตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แต่ตนไม่ยอม ขณะที่สนธิ ได้ชี้แจงว่าพันธมิตรฯ ชุมนุมมา 7 ปี มีทั้งคนรัก และคนเกลียด การยุติคือการรุกฆาตให้คนได้ออกมาชุมนุม และทุกเวทีในตอนนี้ก็มีแกนนำ ตนจะออกหรือไม่ก็ไม่มีความหมาย ตนหวังว่าทุกเวทีจะมีการบูรณาการให้ตกผลึกถึงการปฏิรูป ซึ่งตนเห็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำเวทีราชดำเนิน เริ่มเข้าใจแล้วว่าบัดนี้มวลชนได้ล้ำหน้าไปกว่าการนิรโทษกรรม ตนจึงหวังให้มีการตกผลึกให้เปลี่ยนประเทศไม่ใช่แค่พิพากษาตระกูลชินวัตร
          ขณะที่บรรยากาศการชุมนุมของ กปท. ในช่วงกลางคืนนั้น ในเวลา 21.49 น. มีการแสดงดนตรีโดย ศรันยู วงศ์กระจ่าง ซึ่งระบุว่ามาร่วมแสดงดนตรีวันนี้ได้เพราะ "ธรรมะจัดสรร" และได้ร่วมร้องเพลง "เทียนแห่งธรรม" "นักรบมือตบ" ฯลฯ
           โดยบนเวทีได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมมารวมกันก่อน 9 โมงเช้า เพราะในวันอังคารนี้จะมีการเคลื่อนขบวนไปถวายฎีกา เพื่อขอตั้งสภาประชาชน และเชิญชวนให้รวมพลังประชาชนให้มากๆ เพื่อประกาศว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการเสียดินแดน
นพ.ระวี มาศฉมาดล คณะเสนาธิการร่วม กปท. 
ปราศรัยระหว่างการชุมนุม กปท. เมื่อ 22.19 น. (ที่มา: FMTV)
            ในเวลา 22.12 น. เป็นการปราศรัยของ นพ.ระวี มาศฉมาดล คณะเสนาธิการร่วม กปท. กล่าวว่าอำนาจของระบอบทักษิณแทรกไปทุกหย่อมหญ้า มีตำรวจ มีมวลชนแดง และครอบงำอำนาจนิติบัญญัติ ทั้งนี้ถ้าผู้ชุมนุมไปยึดทำเนียบ หรือสภา หรือกองบัญชาการกองทัพจะเกิดการปะทะ นองเลือด แต่ พล.อ.ปรีชา กล่าวว่า วิธีที่จะเกิดนองเลือดน้อยที่สุดคือขอถวายฎีกาตั้งสภาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศ จะไม่เกิดนองเลือด ทหารไม่ต้องออกมาชนกับแดง และเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพราะประชาชนก็พร้อมอยู่แล้ว และแต่ถ้า 48 ชั่วโมงพี่น้องไม่ออกมากันเต็มที่ คณะเสนาธิการจะติดคุกกันหมด เพราะเป็นการประกาศเป็นกบฎกับรัฐบาล ถ้าประชาชนมามากคุกไม่มีทางขังประชาชนได้ แต่ถ้าไม่ออกมา คณะเสนาธิการก็ต้องหาที่นอนใหม่ซึ่งอาจจะเป็นเรือนจำ ดังนั้นขอเชิญชวนประชาชนออกมาร่วมกันปฏิวัติประชาชน
            ต่อมา ในเวลา 22.30 น. นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา เสนาธิการร่วม กปท. ปราศรัยว่า ผู้ชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน ผิดหวังมากกับท่าทีของสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศแค่นัดหยุดงาน โดยเขาได้ปราศรัยเรื่องมวลวิกฤตระบุว่า ถ้ามีคนมาชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนินมากขึ้นๆ จะเกิดความเปลี่ยนแปลง จากผู้ชุมนุม 1 แสน 2 แสนแล้วพอมาชุมนุม 4 แสนคนปุ๊บคนจะเข้ามาชุมนุมเป็นล้านคน แบบประเทศตูนีเซียที่ชุมนุมได้ 3 อาทิตย์ก็โค่นรัฐบาลได้ ทั้งนี้เราเพิ่งชุมนุมได้ 1 อาทิตย์ ถ้าอาทิตย์หน้าเราพร้อมใจกันหยุดงานธุรกิจต่างๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ แล้วมาที่นี่ จะเกิดทฤษฎีมวลวิกฤต เมื่อนั้นจะเปลี่ยนประเทศไทยได้แน่นอน ทั้งนี้ผู้ชุมนุมเหมือนผีเสื้อน้อยกระพือปีก ถ้าครบล้านตัวเมื่อไหร่จะเหมือนพายุใหญ่พัดพาความชั่วร้ายและประเทศไทยจะเปลี่ยนแน่นอน เราจะให้คนดีได้ปกครอง จะถวายความดีนี้ในวันที่ 5 ธ.ค. จะช่วยกันไล่คนชั่ว คนโกง และให้คนดีเข้ามาบริหารบ้านเมืองแทน เพื่อให้คนไทยมีความสุข ประเทศชาติจะได้พัฒนา
           ล่าสุดในเวลา 22.50 น. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ขึ้นเวที กปท. ระบุรัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลว จึงมีมติเอกฉันท์ให้ทุกสหภาพแรงงานนัดประชุมวิสามัญ 13 พ.ย. เตรียมใช้มาตรการปฏิบัติขั้นเฉียบขาด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

คว่ำร่างนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง

วุฒิสภาลงมติเอกฉันท์ 141 ต่อ 0 เสียง คว่ำร่างนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง

          วุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมไว้พิจารณา หลังจากพิจารณาร่างนี้กว่า 10 ชม. ครึ่ง เตรียมส่งร่างกลับไปยังสภาผู้แทนฯ ในขณะที่ก่อนหน้านี้สี่พรรคร่วมรัฐบาลลงนามในสัตยาบรรณว่าจะถอนร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมทุกฉบับ
 
            11 พ.ย. 2556 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อเวลา 22.30 น. ภายหลังจากส.ว. อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... อย่างกว้างขวางนายวิชาญ มีนชัยอนันต์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการได้ชี้แจงว่า เมื่อพี่น้องประชาชนไม่ยอมรับพวกตนก็คิดเช่นเดียวกันพี่น้อง ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการไม่ได้รับคำสั่งใครทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ซึ่งขณะนี้วิปรัฐบาลได้เสนอถอนร่างที่คล้ายกันทั้ง 6 ฉบับออกไปแล้ว และรัฐบาลยังได้แสดงเจตจำนงกับ 4 พรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่าจะไม่นำกลับมาพิจารณาอีก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ
 
            ด้าน นายชัยเกษม นิติศิริ รมว.ยุติธรรมกล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้เป็นดุลยพิจนิจของสภาฯในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ด้วย
 
           ต่อมาเวลา 22.35 น. ที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่รับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน 141 เสียง ต่อ 0 เสียง จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานการประชุม จึงสรุปต่อที่ประชุมอีกครั้งว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 147 (2) และมาตรา 148 วรรคหนึ่ง ให้วุฒิสภาส่งร่างกฎหมายนี้กลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อสภาไม่ได้แจ้งว่าเป็นพ.ร.บ.การเงิน ดังนั้นสภาผู้แทนจะสามารถนำกฎหมายดังกล่าวนี้มาพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อผ่านไปแล้ว 180 วัน และตามมาตรา 149 ยังระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือสภาผู้แทนฯ จะเสนอร่างพ.ร.บ.ที่คล้ายกันนี้ไม่ได้อีก จากนั้น นายสุรชัย จึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 22.40 น. รวมเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกว่า 10 ชั่วโมงครึ่ง
 
 
            โดยก่อนหน้านี้ 4 พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชลได้ลงนามในสัตยาบรรณระบุว่าจะถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้ง 6 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในชั้นวุฒิสภานั้น "เพื่อให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะไม่หยิบยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ พรรคร่วมรัฐบาลจึงขอแสดงเจตนาร่วมกันให้สัตยาบันเป็นสัญญาประชาคมต่อพี่น้องประชาชนชาวไทยว่า พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่เสนอให้ สภาผู้แทนราษฎรหยิบยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา โดยจะปล่อยให้ตกไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ"  (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)