วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อัยการยื่นอุทธรณ์คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์แล้ว

อัยการยื่นอุทธรณ์คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์แล้ว


           อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูง เผย ยื่นอุทธรณ์คดี 2 นปช.เผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ แล้ว ชี้เชื่อได้ว่าจำเลยทั้ง 2 ก่อเหตุเพราะเดินเข้าไปในห้างขณะที่ทุกคนหนีออกมา ด้านทนายจำเลยมั่นใจพยานหลักฐานสู้ได้

         21 มิ.ย.56  เดลินิวส์ออนไลน์ รายงาน นายไพรัช กังวานสุระ อธิบดีอัยการ ฝ่ายคดีศาลสูง เปิดเผยถึง กรณีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง  นายสายชล แพบัว อายุ 31 ปี ชาว จ.ชัยนาท การ์ด นปช. และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ อายุ 29 ปี  2 แนวร่วม นปช. จำเลย คดีร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ ห้างฯเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ที่ผ่านมา ว่า   สำหรับคดีนี้ตนได้มีคำสั่งให้ทางอัยการสำนักงานคดีศาลสูง ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ไปแล้วเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งศาลได้รับเรื่องไว้พิจารณา สำหรับประเด็นที่ยื่นอุทธรณ์นั้นเนื่องจากทางอัยการเห็นว่า มีพยานใกล้ชิดที่เห็นว่าจำเลยทั้งสองคนเข้าไปในห้างฯ เซ็นทรัลเวิลด์พร้อมด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งการเข้าไปของจำเลยทั้งสองนั้น ไม่ได้เข้าไปในลักษณะการให้ความช่วยเหลือ เพราะว่าประชาชนส่วนมากต่างกำลังจะหนีออกมาจากห้าง แต่จำเลยทั้งสองกลับเดินเข้าไปในลักษณะที่น่าจะเชื่อได้ว่าเข้าไปก่อเหตุ พยานหลักฐานจึงน่าจะเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนวางเพลิงห้างดังกล่าวจริง โดยทางอัยการพิจารณาไปตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ปรากฏ  ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อว่าศาลอุทธรณ์จะรับฟังได้


           ด้านนายอาคม รัตนพจนารถ ทนายความจำเลย เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ของอัยการแต่อย่างใด จึงยังไม่ทราบรายละเอียดว่าอุทธรณ์แก้ประเด็นอะไรบ้าง  คงจะต้องดูพิจารณาเนื้อหาอุทธรณ์ก่อน ส่วนในชั้นพิจารณาที่โจทก์เคยมีพยานระบุว่าเห็นเหตุการณ์นั้น ข้อเท็จจริงมีน้ำหนักรับฟังได้น้อยไม่น่าเชื่อถือ ไม่เช่นนั้นศาลก็คงจะลงโทษจำเลยไปแล้ว

          สำหรับคดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยคดีนี้เป็นคดีเดียวกันกับกรณีผู้ต้องหา 2 คนที่เป็นเยาวชนซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.55

มิคสัญญีกลางกรุงฯ "ม็อบหน้ากาก" พกอาวุธ บุกยึดหน้าเซ็นทรัลเวิลด์





16 มิถุนายน 2556 go6TV - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุโกลาหลขึ้น เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่สวมหน้ากาก ได้บุกเข้ายึดครองพื้นที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์  ซึ่งกำลังมีการจัดงาน "เทศกาลอาหารไทย อร่อยทุกที่ 24 ชั่วโมง" จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้จำหน่ายสินค้าและอาหารต่างแสดงความไม่พอใจที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้บุกยึดพื้นที่บริเวณดังกล่าว ทำให้บรรยากาศตึงเครียด ทั้งนี้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า ได้มีผู้พบเห็นกลุ่มม็อบหน้ากากพกอาวุธปืนและกระบองโดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงและประชาชนในบริเวณดังกล่าว ทำให้ร้านค้าและแผงค้าหน้าศูนย์การค้าพากันปิดร้านหนีตายอลม่าน เสี่ยงที่จะมีการขับไล่ผู้ชุมนุมม็อบหน้ากาก หรือขว้างปาสิ่งของใส่กัน ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมม็อบหน้ากาก ได้เดินทางออกจากสนามหลวง ตั้งแต่เวลา 12.00น. ก่อนที่จะนัดหมายกันขับรถป่วนเมืองและสิ้นสุดที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เวลา 13.00น.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนสวมหน้ากากการเมืองและเชื้อปะทุความคิดแรงหนุนการทำรัฐประหาร : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล” จำนวนทั้งสิ้น 1,384  พบว่าประชาชนร้อยละ 50.3 ระบุการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนสวมหน้ากากการเมืองมีโอกาสนำไปสู่ความรุนแรงได้มากถึงมากที่สุด และ ประชาชนร้อยละ 54.9 ระบุว่า ม็อบหน้ากาก กระทำการไม่เหมาะสมที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจะเรียกร้องให้ทหารออกมาทำการรัฐประหาร และที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.7 ระบุว่า พรรคฝ่ายค้าน ยังวางบทบาทไม่เหมาะสมต่อกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนสวมหน้ากาก


DSI ฟันแก๊งหมอชนบท! "หมอวิทิต - หมอวิชัย" ฮั้วประมูลตึกจาก 70 ล้านเป็น 109 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)  นายธานินทร์  เปรมปรีดิ์  ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต  เปิดเผยผลการสืบสวนกรณีการปรับปรุงโรงงานผลิตยาเม็ดกลุ่มที่มีความต้องการสูง (Mass Production)  ขององค์การเภสัชกรรม(อภ.)  โดยส่งสำนวนการสอบสวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ไต่สวน นพ.วิฑิต  อรรถเวชกุล  อดีตผอ.อภ. และนพ.วิชัย  โชควิวัฒน์  อดีตประธานกรรมการบริหารอภ.  เนื่องจากมีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ฮั้วประมูล   จากการแบ่งซื้อแบ่งจ้างโครงการรับปรุงโรงงานดังกล่าวจากเดิมวงเงินกว่า 70 ล้าน แต่อภ.เปิดประมูลมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียวโดยมีวงเงินสูงกว่าราคากลางประมาณ 7 ล้านบาท  อภ.จึงต้องยกเลิกการประมูลและเปลี่ยนมาประมูลแบ่งเป็น  2 สัญญา คือโครงการปรับปรุงอาคารพิกุล วงเงินกว่า 33 ล้านบาท กับโครงการปรับปรุงอาคารตอกและเคลือบเม็ดยา วงเงินกว่า  76 ล้านบาท  ดีเอสไอมองว่าการแบ่งซื้อแบ่งจ้างก็เพื่อให้อำนาจในการอนุมัติจัดจ้างเป็นของผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม.และประธานบอร์ด   

นายธานินทร์ กล่าวต่อว่า จากการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าบอร์ดอภ. ได้มีการอนุมัติแผนให้อภ.ดำเนินการปรับปรุงขบวนการผลิต โดยวิธีพิเศษวงเงิน 109,280,000  บาท  แต่บอร์ดได้มีการกำหนดราคากลางเป็นเงิน 70,926,192.86  บาท  ซึ่งหากผลการจัดจ้างโครงการดังกล่าวอยู่ในกรอบวงเงินราคากลาง อำนาจในการอนุมัติในการจัดจ้างจะอยู่ที่บอร์ดอภ.  อภ.จึงยกเลิก แยกเป็น 2 รายการ เพื่อให้มีอำนาจในการอนุมัติ 

"ธีรัตถ์" ตอก "อภิสิทธิ์" หน้าหงาย!!! อ้างห่วงราคาใหม่หลังปรับเกณฑ์ ที่แท้หนุนโครงการรับจำนำข้าว




20 มิถุนายน 2556 go6TV - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว https://twitter.com/teeratr เกี่ยวกับ "โครงการรับจำนำข้าว" ล่าสุด โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

  • เพิ่งเห็นข่าวว่า @abhisit_dp บอกว่า ปชป.ไม่เคยเรียกร้องให้ลดราคารับจำนำข้าวเหลือ 12,000 บาท สามารถตีความได้ว่าสนับสนุนโครงการรับจำนำข้าว?
  • ข้อสงสัยเรื่องรับจำนำข้าวว่าผลประโยชน์จำนำข้าวไม่ถึงมือชาวนา โครงการนี้ ธกส.โอนเงินเข้าบัญชีชาวนาโดยตรงกว่า 6 แสนล้านบาทแล้ว
  • นโยบายของรัฐจากนี้ไป จะเน้นการปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ด้วยการเน้นเกษตรโซนนิ่ง นำงานวิจัยมาใช้ เพื่อให้ภาคการเกษตรเข้มแข้งเติบโตอย่างยั่งยืน
  • รัฐบาลจะเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสการรับจำนำข้าว ให้พาณิชย์-มหาดไทย-เกษตร คุมเข้มการจดทะเบียน การตรวจสภาพข้าว การเก็บรักษา การระบายข้าว


ไต่สวนคดี 6 ศพวัดปทุมฯ "ณัฐวุฒิ" ขึ้นให้การด้วย



วันที่ 20 พ.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้อง ขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1 นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2 นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3 นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4 น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาสาพยาบาล ผู้เสียชีวิตที่ 5 และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้างและอาสาพยาบาล ผู้เสียชีวิตที่ 6 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อ 19 พ.ค.53

โดยอัยการนำพยานเข้าเบิกความ 4 ปาก คือ พ.ต.ท.ธรนินทร์ คลังทอง ข้าราชการบำนาญ อดีตพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ รมช.พาณิชย์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พ.ต.ต.ปกรณ์ วะศินรัตน์ นายแพทย์ (สบ3) สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ และพ.ต.อ.ปรีดา สถาวร ผกก.กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พ.ต.ท.ธรนินทร์ เบิกความโดยสรุปว่า วันที่ 1 ก.ย. 53 ได้รับคำสั่งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้สืบสวนสอบสวนสำนวนคดี 6 ศพในวัดปทุมวนาราม และเริ่มสืบสวนสอบสวนตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 53  โดยสอบปากคำพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถ่ายคลิปวิดีโอจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 นาย นายสตีฟ ทิกเนอร์ ช่างภาพอิสระ  พยานในวัดปทุมวนาราม 4-5 คน และทหารที่ประจำการณ์อยู่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนารามในวันเกิดเหตุอีก 8 นาย นอกจากนี้ยังลงพื้นที่ไปตรวจบนรางรถไฟฟ้าร่วมกับเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ด้วย

พ.ต.ท.ธรนินทร์ เบิกความต่อว่า จากการตรวจสอบบนรางรถไฟฟ้าพบกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.  1 นัด  ปลอกกระสุนขนาดเดียวกัน 2 ปลอก ขวดน้ำดื่ม ขวดเครื่องดื่มชูกำลังอย่างละ 1 ขวด และเบียร์ 1 กระป๋อง จึงให้เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ไปตรวจสอบ พยานสังเกตว่ากระสุนปืนที่พบมีหัวสีเขียว เป็นกระสุนขนาด 5.56 มม. แบบ เอ็ม 885 ซึ่งใช้กับปืนเอ็ม 16 ชนิด เอ2 เอ4 เอ็ม4 เอ็ม4เอ1 และปืนทราโวร์ ซึ่งจากการสอบปากคำ พยานที่เป็นทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้าระบุว่าใช้ปืนเอ็ม 16 ชนิด เอ2 และเอ4 ในการปฏิบัติหน้าที่ จากการสอบสวนพยานและหลักฐานทั้งหมดจึงสรุปสำนวนว่า เป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติตามหน้าที่ และส่งสำนวนให้สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุดำเนินการต่อไป

ทนายความญาติผู้ตายถามถึงลักษณะการเสียชีวิตของ 6 ศพ ในวัดปทุมวนารามฯ พ.ต.ท.ธรนินทร์ เบิกความว่า ทั้ง 6 ศพถูกยิงด้วยกระสุนปืน นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บอีก 5 คน ถูกยิงเช่นกัน โดยมี 2 ราย ถูกยิงขณะหลบอยู่ใต้รถในวัดปทุมวนาราม  อีกรายถูกยิงบริเวณประตูทางออกวัดปทุมวนาราม และมี 2 รายยืนยันว่าถูกยิงโดยทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า ขณะที่การสอบปากคำทหารบนรางรถไฟฟ้า 8 นาย มีทหาร 5 นายให้การว่า ใช้อาวุธปืนยิง ทหารนายที่ 1 ยิงไปที่ตอม่อรถไฟฟ้าบริเวณแยกเฉลิมเผ่า 7 นัด ยิงไปที่กุฏิข้างกำแพงวัดด้านศูนย์การค้าสยามพารากอน 1 นัด ทหารนายที่ 2 ยิงที่ตอม่อรถไฟฟ้าบริเวณแยกเฉลิมเผ่า 2  นัด ทหารนายที่ 3 ยิงรถยนต์ในวัดปทุมวนาราม 2 นัด และถนนในวัด 1 นัด ทหารนายที่ 5 ยิงที่สะพานลอยคนข้าม หน้าวัดปทุมวนาราม 4 นัด และทหารนายที่ 5 ยิงที่กำแพงวัดด้านนอก 1 นัด

ทนายญาติผู้ตายถามต่อว่า ทราบหรือไม่ว่าเหตุใดจึงต้องมีทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้า พยานตอบว่า จากการสอบสวนทราบว่า ทหารขึ้นไปอยู่บนนั้นเพื่อคุ้มกันทหารที่อยู่ในแนวราบ โดยหากอยู่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนารามจะไม่มีอะไรบดบังการมองเห็น กรณีของ น.ส.กมนเกดนั้น พยานสรุปสำนวนว่า น่าจะถูกยิงจากเจ้าหน้าที่ทหารบนรางรถไฟฟ้า ส่วนนายอัฐชัยถูกยิงจากทหารในแนวราบ ที่พยานเชื่อว่าเป็นการกระทำของทหาร เพราะบริเวณนี้นอกจากทหารแล้วไม่มีใครสามารถเข้าออกได้ นอกจากนี้ยังสอบสวนทราบว่าทั้งผู้เจ็บและผู้ตายไม่มีอาวุธ ส่วนกระสุนและปลอกกระสุนที่พบก็เป็นอาวุธที่ใช้ในราชการ

ด้านนายณัฐวุฒิ เบิกความโดยสรุปว่า ช่วงเดือน มี.ค. 53 นปช. ได้ชุมนุมเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ยุบสภาพ และจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า พรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวข้องกับการชุมนุมขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรู้เห็นกับการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย โดย นปช.ทั่วประเทศ นัดหมายมาชุมนุมในกรุงเทพฯ วันที่ 12 มี.ค. 53 ช่วงแรกตั้งเวทีอยู่ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนิน ก่อนเพิ่มเวทีที่แยกราชประสงค์ และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. 53 เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาสลายการชุมนุมและผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ราย แกนนำเห็นว่าเพื่อความปลอดภัยของประชาชน จึงให้ย้ายมารวมที่เวทีราชประสงค์เวทีเดียวตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. เป็นต้นมา

นายณัฐวุฒิ เบิกความอีกว่า ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. เป็นต้นมา รัฐบาลสั่งการให้เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธตั้งแถวสกัดไม่ให้ประชาชนมาชุมนุมที่ราชประสงค์ได้ ประชาชนที่ต้องการเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมจึงปะทะกับเจ้าหน้าที่หลายจุด พยานจึงเจรจากับนายกอรปศักดิ์ สภาวสุ ตัวแทนรัฐบาล ขอให้รัฐบาลคลายวงล้อมเจ้าหน้าที่ออก แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ วันที่ 15 พ.ค. รัฐบาลได้นำป้ายมีข้อความว่าพื้นที่ใช้กระสุนจริงมาติดตั้งบริเวณที่ตั้งด่าน วันที่ 17 พ.ค. กลุ่มนักวิชาการเสนอให้ประกาศพื้นที่วัดปทุมวนารามเป็นเขตอภัยทาน พยานก็ตอบรับและขึ้นไปประกาศบนเวที และวันที่ 18 พ.ค. แกนนำนปช. ได้เจรจากับ กลุ่มสว.นำโดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช และได้ข้อสรุปว่า ในเช้าวันที่ 19 พ.ค. แกนนำนปช.จะเปิดโต๊ะเจรจากับนายอภิสิทธิ์ ที่รัฐสภา โดยนายประสพสุข บุญเดช ประธานสภาในขณะนั้นจะประสานงานให้ หลังเจรจากับสว.เสร็จ พยานก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าวและชี้แจงบนเวทีอีกรอบ แต่เช้ามืดวันที่ 19 พ.ค. กลับมีการส่งทหารเข้ามาสลายการชุมนุม

นายณัฐวุฒิเบิกความต่อว่า แกนนำประเมินแล้วว่าจะเกิดความสูญเสียจึงประกาศยุติการชุมนุมเวลา 13 นาฬิกาเศษ และประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปที่สนามศุภชลาศัย ที่รัฐบาลจัดรถส่งกลับภูมิลำเนาให้ ขณะที่แกนนำก็เข้ามอบตัวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เวลาประมาณ 14.00 น.ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ แต่พยานเพิ่งทราบจากสื่อมวลชนว่ามีผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามในวันต่อมา เพราะพยานและแกนนำถูกนำตัวขึ้นรถไปที่ โรงเรียนนายร้อยสามพราน และขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปที่ค่ายนเรศวร 261 จึงไม่อยู่ในเหตุการณ์ ทั้งนี้ระหว่างการชุมนุมมีการตั้งการ์ดนปช.คอยดูแลความสงบเรียบร้อย และป้องกันการนำอาวุธเข้ามาในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่สวมเสื้อสีแดง บางคนใส่เสื้อสีดำทับ แต่ไม่มีการพกอาวุธ และไม่พบว่าผู้มีผู้ชุมนุมพกอาวุธเข้ามาแต่อย่างใด

ต่อมาทนายผู้ตายถามถึงกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่า มีการซุกซ่อนอาวุธไว้หลังเวที นายณัฐวุฒิเบิกความว่า เป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศอยู่ในบริเวณนั้นตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวของหน่วยงานรัฐเข้ามาสังเกตการณ์ตลอด โดยไม่มีการปิดกั้น และระหว่างการชุมนุมไม่มีข่าวการพบอาวุธในพื้นที่ชุมนุมเลย ส่วนที่บอกว่ามีผู้ติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในผู้ชุมนุมก็ไม่เป็นความจริง การอ้างว่าพบอาวุธเพิ่งจะมีหลังจากการชุมนุมยุติแล้ว รัฐบาลอ้างว่าในกลุ่มผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธ แต่ข้อเท็จจริงคือ ผู้บาดเจ็บ หรือผู้เสียชีวิตล้วนมีประวัติ และมีครอบครัวที่ตรวจสอบได้ ไม่มีความสามารถในการใช้อาวุธสงครามแต่อย่างใด และเป็นไปไม่ได้ที่แกนนำต้องการให้เกิดการตายของผู้ชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาล คนที่ประสงค์อย่างนั้นคือคนที่ออกคำสั่งและลงมือยิง

พ.ต.ท.ปกรณ์ เบิกความโดยสรุปว่า เกี่ยวกับคดีนี้พยานมีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ โดยวันที่ 20 พ.ค.53 ได้รับศพชายไทยไม่ทราบชื่อจาก สน.ปทุมวัน สภาพเป็นชายวัยกลางคน สูง162 ซม. สวมเสื้อยืดสีดำ ตรวจสอบพบแผลภายนอกที่เกิดจากระสุนปืน 11 แผล และมีแผลภายในเป็นแนวยิง 4 แนว แต่ไม่สามารถระบุท่าทางขณะผู้ตายถูกยิงได้ นอกจากนี้ยังพบเศษกระสุนมีสีเขียว ไม่ทราบชนิด  อยู่ภายใน จึงสรุปสาเหตุการเสียชีวิตว่า เกิดจากกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ ทราบภายหลังว่าคือศพของนายสุวัน ผู้ตายที่ 1

พ.ต.ท.ปกรณ์ เบิกความอีกว่า วันเดียวกัน สน.ปทุมวัน ส่งศพหญิงไทยไม่ทราบชื่อมาให้ชันสูตรด้วย ตรวจภายนอกพบบาดแผล 11 แผล แผลภายในมีแนวถูกกระสุนยิง 5 แนว นอกจากนี้ยังพบเศษกระสุนปืนมีสีเขียวเช่นเดียวกับศพแรก จึงสรุปสาเหตุการเสียชีวิตว่า เกิดจากสมองถูกทำลาย จากแผลที่ถูกกระสุนยิงจากต้นคอด้านหลังขึ้นสู่ศีรษะ และทราบภายหลังว่า คือศพของ น.ส.กมนเกด ผู้ตายที่ 5

ด้าน พ.ต.อ.ปรีดา เบิกความโดยสรุปว่า ขณะเกิดเหตุ ปฏิบัติหน้าที่ ผกก.ฝ่ายอำนวยการ 3 กองกำกับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล  มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย และป้องกันปราบปราม วันที่ 9 มี.ค. รัฐบาลประกาศให้ กทม.เป็นพื้นที่ต่อความมั่นคง กองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงนำกำลังไปรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รับผิดชอบ โดยปฏิบัติงานร่วมกับทหารและพลเรือน ภายใต้การควบคุมของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยนำกำลังทั้งสังกัดนครบาลเอง และกำลังตำรวจภูธรมาจัดเป็นกองร้อยควบคุมฝูงชน

พ.ต.อ.ปรีดา เบิกความอีกว่า วันที่ 19 พ.ค. 53 จัดกำลังไปดูแลรอบๆพื้นที่ชุมนุม ชุดที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุดคือชุดของ กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 และตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 2 กองร้อย ซึ่งรับผิดชอบบริเวณรอบๆแยกราชประสงค์ และใกล้วังสระปทุม แต่พยานไม่ทราบว่าใครรับผิดชอบพื้นที่ไหน และไม่มีการวางกำลังอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ต่อมาวันที่ 13 พ.ค. มีคำสั่งให้ตั้งจุดตรวจค้น 13 จุด รอบนอกพื้นที่ชุมนุม มีกำลังจุดละ 1 กองร้อย บางจุดอยู่ตั้งอยู่ใกล้กับทหาร บางจุดมีเพียงตำรวจอย่างเดียว และตำรวจที่จุดตรวจค้นมีเพียงปืนพกประจำกาย ขณะที่กองร้อยควบคุมฝูงชนจะไม่อนุญาตให้พกอาวุธเลย พยานไม่ทราบเกี่ยวกับการเคลื่อนกำลัง เพราะประจำอยู่ที่กองบัญชาการ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ และการจะเคลื่อนกำลังตำรวจเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมนั้น ตำรวจที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จะประสานเจ้าหน้าที่ทหารเอง พยานไม่ทราบข้อมูลในส่วนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่ส่วนครั้งต่อไปวันที่ 4 ก.ค. เวลา 09.00 น. โดยอัยการจะนำพนักงานสอบสวนขึ้นเบิกความ 2 ปาก

"เพชรบุรี" ชาวนาแห่หนุนรัฐบาล ยืดรับจำนำข้าวจนหมดฤดูเก็บเกี่ยว







20 มิถุนายน 2556 go6TV - เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่บริเวณหน้า ศาลากลางหลังเก่า จ.เพชรบุรี นายระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายศูนย์ชาวนาชุมชน จ.เพชรบุรี อดีตนายก อบต.หนองขนาน แกนนำพร้อมชาวนาทุกอำเภอในจ.เพชรบุรี ร่วมชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลขยายเวลาการรับจำนำข้าว ตันละ15,000บาท จนถึงหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังในช่วงสิ้นเดือนส.ค.หรืออย่างช้า 15 ก.ย. 56 จากนั้นค่อยเปลี่ยนเป็นตันละ12,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า พื้นที่จ.เพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียงยังอยู่ระหว่างช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งระหว่างการชุมนุม พล.ต.ต.พีระชาติ รื่นเริง ผบก.ภ.จว.เพชรบุรี ได้นำกำลังตำรวจสภ.เมืองเพชรเข้าร่วมสังเกตการณ์  

นายระวี กล่าวว่า พวกตนไม่ได้คัดค้านนโยบายการปรับลดราคาการจำนำข้าวของรัฐบาลเหลือ 12,000บาท เพียงแต่อยากขอให้รัฐบาลเห็นใจชาวนา เนื่องจากปัจจุบันผลิตข้าวนาปรังกำลังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยว ผลผลิตกำลังออกสู่ท้องตลาด ซึ่งหากมีการปรับราคาการรับจำนำข้าวในช่วงนี้ จะกระทบต่อรายได้ของเกษตรรกรเป็นวงกว้าง จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนผันระยะเวลาในการรับจำนำข้าวตันละ 15,000บาทออกไปจนถึงประมาณกลางเดือน ก.ย. ซึ่งจะเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยยวขาวนาปรัง แล้วค่อยปรับราคาจำนำข้าวเหลือ 12,000 บาท ต่อไป 


ต่อมาเวลา 10.30 น. ดร.ไกร บุญบันดาล รอง ผวจ.เพชรบุรี ได้ลงมารับหนังสือเรียกร้องจากทางแกนนำ พร้อมกล่าวกับเกษตรกรที่มาชุมนุมว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกัน จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว ประจำ จ.เพชรบุรี เพื่อหาชี้แจงนโยบายการรับจำนำข้าว ตามมติ ครม.เมื่อ 18 มิ.ย.56 ให้หน่วยงานที่เกี่ยข้องได้รับทราบและมีความเข้าใจที่ตรงกัน รวมทั้งจะนำข้อเรียกร้องของเกษตรเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณา รวมถึงทำหนังสือชี้แจงข้อเรียกร้องของเกษตรกรและรายชื่อของเกษตรกรที่ร่วมลงชื่อในวันนี้ ส่งให้รัฐบาล เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป จากนั้นแกนนำได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าวให้แก่นายยุทธพล อังกินันท์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะตัวแทนรัฐบาล

นายยุทธพล กล่าวว่า จะนำข้อเรียกร้องของเกษตรกร ไปปรึกษากับ รมต.ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป หลังฟังคำชี้แจงจาก ดร.ไกร และ นายยุทธพล แกนนำและชาวบ้านแสดงความพอใจ อย่างไรก็ตามแกนนำระบุว่า ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องก่อนที่มติ ครม.เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.56 จะมีผลบังคับใช้ใน 30 มิ.ย.56 และหากเลยกำหนด เกษตรกรจะกำหนดท่าทีเคลื่อนไหวอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นเกษตรทั้งหมดได้แยกย้ายเดินทางกลับภูมิลำเนา





สุดถ่อย!!! ชาวเน็ตแฉ "ม็อบสนามหลวง" ทำร้ายนักปั่นรอดตายหวุดหวิด




21 มิถุนายน 2556 go6TV - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้มีการส่งต่อข้อความจากกระดานสนทนา "เว็บไซท์ไทยแลนด์ เมาเท่นไบค์ คลับ" (Thailand Mountain Bike Club)ซึ่งเป็นเว็บไซท์ชื่อดังเกี่ยวกับผู้นิยมการปั่นจักรยาน โดยสมาชิกของเว็บไซท์ดังกล่าว ยืนยันว่า วานนี้ (20 มิถุนายน 2556) มีผู้ถูกทำร้ายร่างกายหลังจากปั่นจักรยานผ่านที่ชุมนุม "ม็อบหน้ากาก" บริเวณสนามหลวง ทั้งนี้เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายคนดังกล่าว ยังได้โพสต์เล่าเหตุการณ์และข้อเท็จจริงทั้งหมด ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวที่https://www.facebook.com/eddy.streettrial โดยมีข้อความดังนี้

11.00น แว๊บไปซ้อมจักรยานสวนตรงข้ามสนามหลวง ขากลับผ่านม๊อบ(สี..)เจอเรียกให้จอดก่อนจะออกหน้าประตูม๊อบ มันพูดมาว่า.อย่าเข้ามาซ้อมในนี้ ผมบอกผมผ่านไม่ได้ซ้อมกําลังกลับบ้าน.มันพูดขึ้นมึงไม่รู้รึนี้เขตม๊อบ.ผมบอกรู้ก็คนเดินผ่านไปมาได้ชี้ไปให้มันดูนักท่องเทียวก็ผ่าน นี้ม๊อบดีไม่ใช่รึ แค่นั้นล่ะมันบอกผมพูดไม่รู้เรื่องพยายามดึงกระชากรถออกให้ได้.(พวกมันช่วยกันดึงสองคน)มันเอาไม่ออกจนผมดึงออกมาที่ประตู.มันอีกคนกระโดดทีบผมแต่ไม่หลุดอยู่ สุดท้ายมันตะโกนเรียกพวกๆ10กว่าคนมาทําร้ายเต็มที่ โดดแป๊ปฟาดไป2ทีที่ข้อมือกะหลังโดดต่อยนับไม่ถ้วนแต่เอาผมไม่ลง แต่ติดที่ว่ามือผมจับรถไว้เท่านั้น.สุดท้ายที่ต้องปล่อยเพราะอีกคนถืออีดาบยาว.จําใจต้องยอมและหนีไปที่ป้อมเทศกิจทันที



ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตจำนวนมากต่างโพสต์ข้อความแสดงความไม่พอใจกลุ่มผู้ชุมนุมม็อบหน้ากากบริเวณสนามหลวงที่นิยมความรุนแรง โดยเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาทางกลุ่มผู้ชุมนุมม็อบหน้ากาก ได้ถืออาวุธมุ่งทำร้ายประชาชนที่คิดต่างบริเวณสี่แยกราชประสงค์ โดยมี สื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ข่าวสด และรายการเรื่องเล่าเช้านี้นำเรื่องดังกล่าวไปเผยแพร่ประจานพฤติกรรมความถ่อยของกลุ่มผู้ชุมนุมม็อบหน้ากากดังกล่าวมาแล้ว

อ้างอิง
http://www.thaimtb.com/forum/viewtopic.php?f=72&t=727075

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มิคสัญญีกลางกรุงฯ "ม็อบหน้ากาก" พกอาวุธ บุกยึดหน้าเซ็นทรัลเวิลด์
http://www.go6tv.com/2013/06/blog-post_2175.html