วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

คนใกล้ชิดยืนยัน "ทักษิณ ไม่ได้โพสต์ น่าจะมีคนสวมรอย"

คนใกล้ชิดยืนยัน "ทักษิณ ไม่ได้โพสต์ น่าจะมีคนสวมรอย"

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท) แถลงว่า กรณีมีผู้โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจ "Pheu Thai Party" โดยลักษณะการโพสต์ข้อความเหมือนรณรงค์ต่อต้านระบอบทักษิณผ่านเฟซบุ๊ก และใช้รูปหน้ากาก "กาย ฟอว์กส์" โจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ตำหนิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีละแกนนำ พท.  โดยวันนี้หนักข้อมีการโจมตีโพสต์มายังแฟนเพจพท. เป็นการสะท้อนว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และไม่มีจริยธรรมในการใช้คอมพิวเตอร์ ในวันที่27 พฤษภาคมนี้ตนจะประชุมทีมกฎหมาย พท. ว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฎหมายอาญาอื่นหรือไม่ ถ้ามีความผิดจะดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายทันที และขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารออกมาตรวจสอบด้วย

"กลุ่มคนเหล่านี้เป็นนักรบไซเบอร์ได้ทุนมาท้าทายอำนาจรัฐทั้งที่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกำลังตรวจสอบผู้ที่แฮกเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี จึงเข้ามาป่วน ซึ่งกลุ่มคนพวกนี้มีคนหนุนหลัง  การโพสต์ของกลุ่มนี้หวังผลทางการเมือง เป็นพวกโรคจิตทางการเมืองจิตไม่ปกติ คนเหล่านี้เป็นพวกหนักแผ่นดินต้องดูว่าสอดคล้องกับกลุ่มที่แฮกเว็บไซต์สำนักนายกฯ เพราะเป็นคนที่ใช้คอมฯเป็นเป็นพวกที่รู้การเมือง ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)ก็กำลังตรวจสอบอยู่ว่าการแฮกเว็บไซต์สำนักนายกฯอยู่ว่าโยงมาทางกลุ่มการเมืองและบางพรรคการเมืองหรือไม่"นายพร้อมพงศ์ กล่าว

เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โพสต์ข้อความโจมตี พท.ที่ปล่อยให้มีกลุ่มคนในโพสต์ในแฟนเพจพรรค นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ตนมองว่าไม่เป็นความจริง เพราะเรื่องนี้ตนบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่โพสต์เข้ามาแน่นอน แต่เป็นการกระทำของกลุ่มเหล่านี้ ที่ตนบอกว่าหนักแผ่นดิน เป็นการกระทำที่ชั่วช้ามาก ต้องดำเนินการและเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตนได้รับการยืนยันจากคนใกล้ชิดพ.ต.ท.ทักษิณว่าไม่ได้โพสต์ ซึ่งน่าจะมีคนเข้ามาสวมรอยพ.ต.ท.ทักษิณ

เหตุใดในสังคมไทย ผู้กระทำความผิดจึงไม่ถูกลงโทษ

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

         เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั่วโลกก็พบว่าอดีตเผด็จการที่อื้อฉาวคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอาเจนตินาคือนายพลจอร์เก ราฟาเอล วิเดลา ได้ถึงแก่กรรมในคุก  เขาเป็นนายพลในกองทัพที่ได้โค่นล้มรัฐบาลของอิสเบลา เปรอง แม่หม้ายของนายพลฮวน เปรองแล้วขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเสียเองในช่วงปี 1976-1981 ในช่วงนั้นถูกขนานนามว่าเป็น "สงครามโสโครก" (Dirty War) คือประชาชนอาเจนตินาต้อง "สูญหาย"ไปเป็นการถาวรหมื่นกว่าคน โดยกองทัพของวิเดลาได้ลักพาตัวคนเหล่านั้นไปทรมานและสังหารอย่างโหดเหี้ยม ไม่เว้นแม้แต่หญิงท้องแก่ซึ่งถูกฆ่าภายหลังจากได้คลอดลูกแล้ว (ส่วนทารกถูกนำไปให้กับคู่สามีภรรยาซึ่งโดยมากเป็นทหารในกองทัพ)  
และก่อนหน้านี้ไม่นาน นายพลอีเฟรน รีโอส มอนต์  แห่งกัวเตมาลาก็ได้ถูกพิพากษาติดสินจำคุกเป็นเวลา 80 ปี จากข้อหาเช่นเดียวกับวิเดลาในช่วง ทศวรรษที่  80  หรือศาลอาชญากรรมของบังคลาเทศกำลังดำเนินคดีผู้นำมุสลิมในข้อหา สังหารหมู่ปัญญาชนในช่วงสงครามประกาศเอกราชเมื่อปี 1971 
         เป็นที่น่าสะเทือนใจว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวดูเป็นเรื่องที่ไม่ทีทางจะเกิดขึ้นได้กับสังคมไทยซึ่งเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนบริสุทธิ์โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลเรียกร้องประชาธิปไตยมาหลายครั้งตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 เป็นต้นมาไม่ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม  6 ตุลาคม พฤษภาทมิฬ  2535 หรือเหตุการณ์สังหารโหดประชาชนเกือบ 100 ศพกลางเมืองหลวง ปี 2553 ฯลฯ ซึ่งผู้กระทำความผิดไม่ถูกลงโทษและไม่มีทางจะถูกลงโทษ ไปจนคนเหล่านั้นเสียชีวิตลงอย่างสงบ  (และน่าเศร้าคือมีเกียรติ) ปัจจัยที่ทำให้พวกเขารอดพ้นจากการลงโทษก็คงมีหลายประการดังจะนำมากล่าวได้ในที่นี้
1.ความไม่ชัดเจนระหว่างความถูกต้องและความผิด
            รัฐไทยแบบจารีตและอำนาจนิยมซึ่งเห็นความสำคัญต่อความเป็นระเบียบของรัฐซึ่งเคลือบด้วยศีลธรรมของพุทธศาสนาย่อมไม่เข้าใจคุณค่าทางประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหรือแนวคิดแบบเอียงซ้ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความอยุติธรรมของสังคมเป็นอันขาด การกำจัดประชาชนที่มีความเห็นเช่นนี้ออกไปย่อมกลายเป็นความถูกต้องแม้ว่าจะผิดศีลข้อ 1 ตามหลักของพุทธศาสนาก็ตาม (นัยให้ข้อแก้ตัวว่าการฆ่ามารย่อมไม่ผิดศีล) และแนวคิดนี้ยังคงอยู่กับประชาชนในประเทศนี้อีกเป็นจำนวนมาก จึงไม่มีความกระตือรือร้นในการหาผู้กระทำความผิด เพราะไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ผิด
2.กระบวนการยุติธรรม
           กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำความผิดเพราะพวกเขาได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมความผิดให้กับตัวเองไปแล้ว  ถึงแม้จะสามารถทำให้การนิรโทษกรรมเป็นโมฆะดังเช่นที่รัฐบาลของอาเจนตินาในยุคหลังได้ทำกับวิเดลาจึงทำให้สามารถดำเนินคดีกับเขาได้ แต่สถาบันยุติธรรมเองรวมไปถึงชนชั้นปกครองไทยก็มีอุดมการณ์หรือแนวคิดที่คล้ายคลึงกับผู้กระทำความผิดเหล่านั้น จึงไม่ใช่ธุระอะไรที่จะไปฟื้นฝอยหาตะเข็บเพราะจะสะท้อนกับอำนาจของตนและยังทำให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจอื่นโดยเปล่าประโยชน์ (1)
3.กองทัพช่วยอุ้ม
           สถาบันสำคัญอย่างเช่นกองทัพยังช่วยปกป้องคนกระทำความผิด เพราะบุคคลเหล่านั้นโดยเฉพาะอดีตนายทหารถึงแม้จะหมดบทบาทไปแล้วแต่ก็ยังเป็นสัญลักษณ์เชิงอำนาจของกองทัพ การยอมรับความผิดก็คือการทำให้อำนาจและความชอบธรรมของกองทัพทั้งในปัจจุบันและอนาคตต้องสูญเสียไป การที่สังคมไทยไม่สามารถนำอดีตทหารเหล่านั้นซึ่งกระทำความผิดมาลงโทษหรือพิพากษาคนเหล่านั้นย้อนหลัง (หากเสียชีวิตไปแล้ว)ได้ สะท้อนว่าไทยยังคงเป็นประชาธิปไตยแบบเทียมคือยังถูกอิทธิพลของทหาร เข้าครอบงำสูงมาก (2)
4.อุดมการณ์และวัฒนธรรมทางการเมือง
           สังคมไทยยังคงผลิตซ้ำอุดมการณ์แบบเดิมๆ ดังที่กล่าวเช่นเน้นการยกย่องบุรุษเหล็กหรือเผด็จการที่แข็งแกร่งและเปี่ยมด้วยคุณธรรมในขณะเดียวกันก็ดูแคลนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในฐานะเป็นสิ่งประดิษฐ์ของตะวันตกที่น่ารำคาญ เมื่อมีคนยกคำ 2 คำนี้ก็มักจะมีคนสวนกลับมาว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย และมักจะโยงไปยังเหตุการณ์ร้าย ๆ  โดยไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างถ่องแท้ สื่อมวลชนในฐานะตัวผลิตซ้ำวัฒนธรรมทางการเมืองก็ดูเหมือนจะรู้เห็นเป็นใจด้วย เช่น
ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ มักนำเสนอประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่ยกย่องวีรกรรมของกษัตริย์และบรรพบุรุษไทยในอดีต โดยการใช้ความรุนแรงเช่นการทำสงครามกับฝ่ายตรงกันข้ามอย่างพม่าที่มักถูกตีตราว่าเป็น ฝ่ายอธรรม อันทำให้การให้ความหมายมีการเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงให้เป็นคนไทยด้วยกันได้  ภาพยนตร์เหล่านั้นจึงเป็นการละเล่นเชิงสัญลักษณ์ในการอนุญาตให้ฆ่าประชาชน (License to  kill) ได้ถ้าคนเหล่านั้นถูกตีตราว่าเป็นฝ่ายอธรรม เป็นภัยต่อสถาบันหลักของชาติ  ในขณะเดียวกันผู้ฆ่ากลับกลายเป็นวีรบุรุษหรือเป็นฝ่ายพระในการปราบปรามฝ่ายอธรรม   สำหรับภาพยนตร์ที่พยายามจะนำเสนอในแง่มุมประชาชนบ้างก็ถูกหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่เซ็นเซอร์จนไม่สามารถระบุถึงผู้ผิดในฐานะเป็นตัวบุคคล หรือนำเสนอแง่มุมอะไรใหม่ๆ ได้นอกจากนำเสนออุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบลอยๆ 
5.วงการประวัติศาสตร์
          เป็นสิ่งที่น่าเศร้าใจไม่น้อยอย่างวงการประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ดูจะอำพรางหรือเอาใจช่วยผู้กระทำความผิดอย่างมาก ดังเช่นหนังสือเรียนสำหรับนักเรียนนักศึกษาอาจจะมีการบรรยายถึงเหตุการณ์การสังหารหมู่ประชาชน (หลังจากการผลักดันต่อสู้มานาน) แต่ก็ โกหก/บิดเบือน/ละเว้นไม่กล่าวถึง หรืออย่างน้อยก็ไม่สามารถทำให้ผู้อ่านสามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงได้ หนังสือเหล่านั้นบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ โดยใช้ถ้อยคำที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิดโดยแสร้งว่าพยายามเป็นกลาง เช่น หนังสือประวัติศาสตร์กำมะลอฉบับหนึ่งระบุว่าจอมพลถนอม "ถูกมองว่า" เป็นเผด็จการ  ทั้งที่ถ้าใช้หลักประชาธิปไตยมาวัดไม่ว่าแง่มุมใดจอมพลถนอมก็เป็นเผด็จการคือทำรัฐประหารตัวเองแล้วฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง นอกจากนี้ ผู้เขียนเคยอาจอ่านพบในหนังสือเรียนสังคมศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่กล่าวถึงเหตุการณ์  6 ตุลาคม 2519  โดยพยายามชี้นำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าการสังหารหมู่นักศึกษาเกิดจากการเข้าใจผิดของทางการมากกว่าการวางแผนที่เตรียมกันมาอย่างดี  
ทั้งนี้ไม่นับการละเว้นไม่กล่าวถึงบทบาทของตัวละครอื่นที่สำคัญไม่แพ้กับผู้บุกไปสังหารนักศึกษาแม้เพียงนิด  อนึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าสำหรับภาพยนตร์ที่เข้ามาสอดรับกับแบบเรียนก็ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง "ฟ้าใสหัวใจ ชื่นบาน" พยายามจะบอกกับคนดูว่า เหตุการณ์อันเลวร้ายเหล่านี้เกิดจากเสรีภาพอันเกิดขอบเขตของตัวนักศึกษาเอง ส่วนผู้สังหารนักศึกษาไม่มีการกล่าวถึง
6.บทบาทรัฐบาล
            ตัวรัฐบาลเองไม่ว่าเผด็จการทหารหรือพลเรือนดูเหมือนจงใจให้เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นแค่อุทาหรณ์สอนใจเพราะการให้ความสำคัญจนเกินไปก็อาจจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับมวลชนในการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลปัจจุบัน 
            ดังนั้นรัฐจึงไม่มีทางที่จะสถาปนาให้วันที่ 14 ตุลาฯ  6 ตุลา ฯ เป็นวันสำคัญของชาติได้ และเมื่อถึงวันเหล่านั้น สื่อมวลชนกระแสหลักจำนวนมากก็ไม่กล่าวถึง (เพราะผู้ใหญ่ของสถานีไม่อยากข้องเกี่ยวกับการเมืองหรือกลัวเสียเวลาโฆษณาหรือกลัวว่าจะเสียเวลาละครเรตติ้งดีๆ ) หรือถ้าเป็นสื่อกระแสรองมาหน่อยอาจจะกล่าวถึงแต่พองามเป็นสารคดีสักไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่ก็ไม่สามารถนำเสนออะไรได้มากไปกว่าผลิตซ้ำเรื่องเดิมๆ  เช่นเดียวกับเรื่องอนุสาวรีย์ รัฐบาลก็ไม่สนับสนุนให้มีการสร้างเพราะการสร้างอนุสาวรีย์ย่อมเป็นการยอมรับความผิดของรัฐอันจะส่งผลถึงดุลอำนาจของรัฐบาลในปัจจุบันดังที่ได้กล่าวไว้ ยกเว้นว่าการเมืองภาคประชาสังคมจะพยายามดิ้นรนเองไม่ว่าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แถวสี่แยกคอกวัวหรืออนุสาวรีย์บุคคลสำคัญนอกกระแสอย่างเช่น จิตร ภูมิศักดิ์ (3)
         สำหรับอนุสาวรีย์ 6 ตุลาฯ  ถึงแม้จะมีผู้พยายามสร้างก็คงจะถูกสกัดกั้นสุดชีวิตเพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนชนชั้นสูงไม่น้อย และถึงแม้ในวงการมหาวิทยาลัยที่มีการพยายามสร้างประวัติศาสตร์กระแสรองขึ้นมาสู้ อาจารย์และนักศึกษาโดยเฉพาะสาขารัฐศาสตร์ก็พยายามจะกล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ  มีการจัดงานเสวนา การแสดงละครหรือนิทรรศการ มีการกล่าวถึงตัวละครต่างๆ ในเหตุการณ์เหล่านั้นโดยเฉพาะผู้กระทำความผิดที่มีมิติที่ลุ่มลึกและละเอียดกว่าเดิม แต่ก็คงจะจำกัดอยู่เพียงแต่ในแวดวงมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่วงวิชาการเองก็ยังประสบปัญหาคือวนอยู่แต่ในเหตุการณ์อดีตเช่นไม่สามารถทำนายอนาคตได้หรือ ไม่สามารถป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้เช่นมีคนรู้เรื่อง 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลา ฯ ดีแต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองร้อยเป็นร้อยศพได้ เพราะไม่สามารถเผยแพร่แนวคิดเหล่านั้นให้สังคมได้รับรู้ได้ในวงกว้าง
           ตัวผู้กระทำความผิดในสังคมไทยจึงกลายเป็นอาชญากรที่เหมือนว่าจะมีหน้าแต่ก็ไร้ใบหน้า (Faceless culprits) เกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่มีที่มาที่ไป และออกจากฉากการเมืองไปอย่างเงียบๆ  ถึงแม้จะรู้ว่าเป็นเผด็จการแต่ไม่ต้องรับผิดชอบความผิดของตัวเอง ที่แย่ไปกว่านั้นเราก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะว่ามีคนที่คิดแบบถนอม ประภาส สุจินดา อภิสิทธิ์อีกเป็นจำนวนมากในปัจจุบันหรืออนาคตที่พร้อมจะกระทำความผิดแบบเดียวกับในอดีตเพราะไม่คิดว่าการกระทำของตนนั้นผิดหรือรู้ว่าพวกตนย่อมไม่มีวันถูกลงโทษเป็นอันขาดด้วยปัจจัยดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมด
 ========
(1) จึงไม่น่าประหลาดใจว่าเหตุใดคนบางกลุ่มจึงพยายามต่อต้านไม่ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยสาเหตุหนึ่งเพราะไม่ต้องการให้มีการยกเลิกการนิรโทษกรรมผู้ทำรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549
(2) กรณีอย่างเช่นในอาเจนตินา กัวเตมาลา และบังคลาเทศสะท้อนว่าอิทธิพลของทหารได้ลดน้อยถอยลงไป อย่างเช่นอาเจนตินา รัฐบาลทหารต้องหมดอำนาจไปเพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการพ่ายแพ้อังกฤษในสมรภูมิหมู่เกาะฟลอกแลนด์ในปี 1982   ทว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศโลกที่ 3 เท่านั้นแม้แต่อเมริกา ประธานาธิบดีเองก็มักไม่ถูกลงโทษถึงขั้นจำคุกเพราะจะทำให้สถาบันการเมืองอเมริกาเสื่อมเสียไปด้วย ตรงกันข้ามกับหลายประเทศที่อเมริกามักจะถือว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเช่น อย่างเกาหลีใต้หรือเปรูที่อดีตประธานาธิบดีต้องติดคุกเพราะความฉ้อฉลของตนในอดีต
(3) ในเรื่องอนุสาวรีย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก หลายคนมองโลกในแง่ดีว่า การสามารถสร้าง อนุสาวรีย์ของนักต่อสู้เพื่อมวลชนจะสะท้อนว่าพื้นที่ทางอำนาจของมวลชน โดยเฉพาะฝ่ายซ้ายได้ ขยายตัวสู้กับพื้นที่ทางอำนาจของรัฐ (เช่นอนุสาวรีย์ของบรรดาเชื้อเจ้า) สำหรับผู้เขียนคิดว่าการสร้างอนุสาวรีย์มาโดยไม่สามารถสร้างวาทกรรมขึ้นมารองรับได้ก็อาจจะทำให้อนุสาวรีย์นั้นหมดความหมายไป เช่นคงมีคนรุ่นใหม่จำนวนที่เดินเตร่แถวบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ โดยเห็นว่าเป็นที่หลบฝนหรือฆ่าเวลา (ก็คงจะได้รู้ว่ารัฐบาลปราบปรามประชาชน แล้วตกลงเป็น อย่างไรต่อไปล่ะ ?)  เช่นเดียวกับการสร้างอนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ได้ก็อาจจะไม่ต่างจากอนุสาวรีย์ ของปรีดี พนมยงค์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีคนไว้กราบเหมือนศาลพระภูมิแต่ไม่ทราบว่า ท่านผู้นี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างไร