วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

"ทักษิณ" โพสต์ สวัสดีวันสงกรานต์ ขอให้พี่น้องคนไทยมีความสุข

"ทักษิณ" โพสต์ สวัสดีวันสงกรานต์ ขอให้พี่น้องคนไทยมีความสุข




13 เมษายน 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.59น. ที่ผ่านมา พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก https://www.facebook.com/thaksinofficial สวัสดีวันสงกรานต์ 2556 ขอให้พี่น้องคนไทยมีความสุข และเริ่มต้นวันใหม่ของปีใหม่หลังสงกรานต์ด้วยสิ่งที่ดีกว่า โดยมีข้อความดังนี้

"สวัสดี วันสงกรานต์ 2556 จากต่างแดนครับ ขอให้การฉลองวันสงกรานต์ปีนี้ ด้วยประเพณีรดน้ำดำหัวได้เข้าไปในหัวใจคนไทยทุกคน นั่นถือเป็นการขอขมาลาโทษให้อภัยต่อกัน และให้น้ำได้ชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ไม่เป็นมงคลออกไปจากกายและใจของคนไทยทุกคน อย่างน้อยเราต้องมีวันเริ่มต้นที่จะลืมเรื่องไม่ดี ไม่ชอบ เรื่องที่เป็นอคติ ไม่เป็นมงคลและเริ่มต้นใหม่กับสิ่งดีๆให้กับชีวิต ให้กับประเทศชาติ และเพื่อนร่วมชาติของเรา ขอให้พี่น้องคนไทยมีความสุข และเริ่มต้นวันใหม่ของปีใหม่หลังสงกรานต์ด้วยสิ่งที่ดีกว่านะครับ"

"ท่านที่เดินทางและฉลองด้วยการดื่มสุรา กรุณาใช้ความระมัดระวังในการเดินทางและดื่มพอสนุก ไม่เมานะครับ ขอให้ปลอดภัยนะครับ"

"ผม อยู่ต่างประเทศก็สบายดีครับ แต่ก็มีเหงาคิดถึงบ้านบ้าง เกือบ 7 ปีแล้ว ก็เริ่มชินๆบ้างครับ วันสงกรานต์ก็จะคิดถึงบ้านเกิดเป็นพิเศษครับ เพราะโตมากับสิ่งแวดล้อมและประเพณีแบบนี้ ผมก็ถือโอกาสนี้เช่นกัน ขอขมาลาโทษกับผู้อาวุโสทั้งหลายที่ผมเคยล่วงเกินทั้งกายกรรมและวจีกรรม และผมขอให้อภัยกับผู้ที่เคยล่วงเกินผมทั้งกายกรรมและวจีกรรม มา ณ ที่นี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพราะผมเป็นคนพุทธ เติบโตมาในประเพณีคนเมืองเหนือ จึงมีความยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้ครับ"

การเมืองว่าด้วย “พลังงานไทย” ผลประโยชน์จากสัมปทานปิโตรเลียม

การเมืองว่าด้วย “พลังงานไทย” ขบวนการ “สามทวงคืน” ของพันธมิตรเสื้อเหลือง
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2556

            ในช่วงระยะสองปีมานี้ ขบวนการโจมตีรัฐบาลและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในประเด็นราคาน้ำมันแพง ได้ขยายตัวขึ้นจนเป็นประเด็นถกเถียงทั่วไป เกิดเป็นเครือข่ายกลุ่ม “ทวงคืน ปตท.” หรือ “ทวงคืนพลังงานไทย” มีผู้คนเข้าร่วมบนสื่อออนไลน์หลายพันคน แม้แต่คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็ได้เข้าร่วมด้วย

             ขบวนการ “ทวงคืน” ดังกล่าว มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ริเริ่มโดยนักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา เริ่มแรกมุ่งโจมตีนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไทยรักไทยโดยรวม และเน้นไปที่การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2544 ในเวลานั้น คนพวกนี้กล่าวหาว่า มีการแจกจ่ายหุ้น ปตท.ในหมู่นักการเมืองพรรคไทยรักไทยและเครือญาติ ชูป้าย “ทวงคืนสมบัติชาติ” ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ในกรณีของ ปตท. ก็ได้ไปฟ้องเป็นคดีในศาลปกครอง ให้ยกเลิกการแปลงสภาพ ปตท. ซึ่งยืดเยื้อมาถึงปี 2550

            เมื่อเกิดกรณีการจดทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหารในสมัยรัฐบาลพรรคพลัง ประชาชน กลุ่มสันติอโศก พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนักการเมือง สว.กลุ่มเผด็จการก็รวมตัวกันเคลื่อนไหว “ทวงคืนแผ่นดินไทย” ฉวยใช้กรณีปราสาทพระวิหาร ปลุกกระแสคลั่งชาติเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เรียกร้องให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ปี 2543 ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา

            การเคลื่อนไหว “ทวงคืนแผ่นดินไทย” ได้ขยายประเด็นปราสาทพระวิหารไปสู่พื้นที่ทับซ้อนอื่น ๆ ตลอดแนวพรมแดนไทย-กัมพูชา แล้วเอามาผูกโยงกับประเด็นผลประโยชน์พลังงาน โดยลากเส้นพรมแดนของพวกตนลงไปครอบคลุมแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เพื่อแสดงว่า การ “สูญเสียดินแดน” บนบกจะนำไปสู่การ “สูญเสียพื้นที่ทางทะเล” ให้แก่กัมพูชาด้วย จากนั้นก็กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยปัจจุบันว่า เป็น “ทุนสามานย์” ขายแผ่นดินไทย (คือปราสาทพระวิหาร พื้นที่ทับซ้อน และพื้นที่ทะเล) ให้กัมพูชา เพื่อแลกกับสัมปทานก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย


            กลุ่มสันติอโศกและกลุ่มพันธมิตรฯ สูญเสียมวลชนไปเกือบหมดจากความขัดแย้งกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และความแตก แยกกันเองในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 แต่กลุ่ม “ทวงคืน” ก็ยังเคลื่อนไหวต่อไป โดยหวนกลับมาที่ประเด็น ปตท.อีกครั้ง แต่คราวนี้ได้ผนวกเอาประเด็นราคาน้ำมันแพงเข้ามาด้วย กลายเป็น “กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย” หรือ “กลุ่มทวงคืน ปตท.” ในปัจจุบัน

            ขบวนการนี้จึงอาจเรียกได้ว่า เป็น “ขบวนการสามทวงคืน” คือ ทวงคืนสมบัติชาติ (ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด) ทวงคืนแผ่นดินไทย (ปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน) และทวงคืนพลังงานไทย (ต่อต้าน ปตท.และรัฐบาล กรณีก๊าซและน้ำมัน)

            การที่กลุ่มสันติอโศก กลุ่มพันธมิตรฯและสมาชิกวุฒิสภากลุ่มเผด็จการต้องหันมาเคลื่อนไหวประเด็น เหล่านี้เข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะความเสื่อมทรุดในทางการเมืองและความโดดเดี่ยวไร้มวลชน คนพวกนี้ไม่สามารถดึงดูดมวลชนด้วยการอ้างประชาธิปไตยได้อีกต่อไป แม้แต่การอ้างว่า ต่อสู้เพื่อสถาบันกษัตริย์ ก็ไม่ได้รับความเชื่อถือ จึงเหลือแต่ประเด็นราคาน้ำมันแพงอันเป็นความเดือดร้อนร่วมกันของคนส่วนใหญ่ อ้างว่า เป็นประเด็น “ไม่มีสี” เพื่อดึงประชาชน รวมทั้งคนเสื้อแดง มาเข้าร่วมให้ได้มากที่สุด

            คนพวกนี้ดำเนินการอย่างชาญฉลาด โดยการปฏิเสธข้อมูลสาธารณะบางส่วนที่ได้จากรัฐบาลและปตท. อ้างว่า เป็น “ข้อมูลเท็จ” ขณะเดียวกัน ก็ใช้ข้อมูลสาธารณะส่วนที่เป็นประโยชน์ เอาไปผสมปนเปกับข้อมูลตัวเลขที่อ้างว่า ได้มาจากแหล่ง “ที่น่าเชื่อถือ” เอาชิ้นส่วนมาประกอบกันเป็นนิทานเรื่อง “กลุ่มผลประโยชน์ครอบงำ ปตท. ปล้นชิงพลังงาน” เพื่ออธิบายว่า นี่คือสาเหตุที่น้ำมันมีราคาแพง
กลุ่มพันธมิตรพวกนี้ลงทุนลงแรงอย่างมาก เอาคนมาอุปโลกน์ตัวเองเป็น “นักวิชาการเครือข่ายพลังงาน” เที่ยวเดินสายบรรยายไปทั่วประเทศ อ้างอิงตัวเลขข้อมูลจริงปนเท็จ ปลุกกระแสเกลียดชัง ปตท. กระตุ้นให้มีการตั้ง “กลุ่มทวงคืน” ตามที่ต่าง ๆ เป็นเครือข่ายทั่วประเทศ

             คนพวกนี้อาศัยความสลับซับซ้อนของธุรกิจพลังงาน บวกกับความผิดพลาดในนโยบายพลังงานและภาษีของรัฐบาลไทยที่ตกทอดกันมาตั้งแต่ ยุค 2520 ถึงปัจจุบัน ใช้เป็นจุดอ่อนในการโจมตีและบิดเบือนความจริง อาศัยความไม่พอใจต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันแพง เป็นตัวกระตุ้น

            และเพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้าร่วมมากที่สุด คนพวกนี้เริ่มต้นจึงยังไม่กล่าวเจาะจงว่า “กลุ่มผลประโยชน์” ดังกล่าวคือใคร แม้หลายครั้งจะกล่าวลอย ๆ ว่าเป็น “ทุนสามานย์” (ซึ่งเป็นคำที่พวกพันธมิตรหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคพวก) จงใจปล่อยให้คนเสื้อแดงที่เข้าร่วมขบวนเข้าใจเอาเองว่า “กลุ่มผลประโยชน์” ที่ว่าคือกลุ่มทุนจารีตนิยม ทั้งที่เป้าโจมตีที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดังจะเห็นได้ว่า แม้แต่กรณีการเริ่มเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัด ภาคใต้ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ยังถูกคนพวกนี้บางคนกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษินทำไปเพื่อต้องการฮุบผลประโยชน์พลังงานในทะเลสามจังหวัดภาคใต้

            คนเสื้อแดงที่ไปตามแห่ขบวนการ “ทวงคืนพลังงานไทย” มักจะเป็นกลุ่มที่มีความไม่พอใจพรรคเพื่อไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากประเด็นการแก้ไข ป.อาญา ม.112 กรณีการรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เป็นต้น คนเสื้อแดงบางส่วนเชื่อไปถึงขั้นที่ว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้หักหลังคนเสื้อแดง หันไป “เกี้ยเซี้ย” สมคบกับพวกจารีตนิยม ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์กันในธุรกิจพลังงานโดยผ่าน ปตท.อีกด้วย นัยหนึ่ง เห็นทั้งกลุ่มจารีตนิยมและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นศัตรูร่วมไปแล้ว

           คนพวกนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองเบื้องหลังเป็นพวกพันธมิตรเสื้อเหลือง การตอบโต้คนพวกนี้ก็คือ ต้องเปิดเผยให้เห็นถึงต้นกำเนิดทางการเมืองและจุดประสงค์ที่แท้จริงของพวก เขา รวมทั้งต้องให้ข้อมูลความจริงที่ชัดเจนแก่ประชาชนในประเด็นเกี่ยวข้องทั้ง หมด ในส่วนหลังนี้ ที่ผ่านมา ทั้งกระทรวงพลังงานและปตท. บกพร่องอย่างยิ่งในการชี้แจงให้ทันท่วงที เป็นระบบและชัดเจน

           ทั้งหมดนี้ ก็มิใช่เพื่อปกป้อง ปตท.หรือพรรคเพื่อไทย แต่เพื่อปกป้องขบวนประชาธิปไตย มิให้ไขว้เขวออกไปจากเป้าหมายที่แท้จริงคือ ต่อสู้กับพวกเผด็จการและบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริงให้ได้เร็ววัน




             ขบวนการ “ทวงคืนพลังงานไทย” มีจุดประสงค์ที่แท้จริงทางการเมืองคือ อาศัยความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาน้ำมันแพง มาปลุกระดมความไม่พอใจ โดยพุ่งเป้าไปที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และรัฐบาล โดยอ้างว่า เบื้องหลัง ปตท.ก็คือ “กลุ่มผลประโยชน์” ที่เข้ามาควบคุม ปตท.ด้วยการแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทมหาชน แล้วเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2544 คนพวกนี้จึงเรียกร้องให้ “ทวงคืน ปตท.” ซึ่งก็คือ ถอน ปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ ยกเลิกหุ้น ปตท. และหวนคืนสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปดังเดิม

             นิยายพลังงานไทยที่คนพวกนี้ผูกเรื่องขึ้นมาโดยคร่าว ๆ คือ ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงาน มีทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบปริมาณมหาศาล แต่คนไทยกลับต้องใช้น้ำมันราคาแพงเพราะมีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาฮุบทรัพยากร เริ่มตั้งแต่สมคบกับบริษัทขุดเจาะต่างชาติที่ได้สัมปทานแบ่งส่วนผลประโยชน์ ให้รัฐไทยน้อยมาก แอบส่งออกน้ำมันดิบไทยไปขายในตลาดโลก แล้วนำเข้าน้ำมันดิบราคาแพงจากตะวันออกกลางเข้ามากลั่น บวกต้นทุนเทียมและตั้งราคาหน้าโรงกลั่นเพื่อกินกำไรส่วนต่าง จัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน ทำให้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยมีราคาขายปลีกแพงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก!

             คนพวกนี้กล่าวหาว่า มีการปกปิดบิดเบือนข้อมูลโดยหน่วยราชการไทยที่เกี่ยวข้อง และหันไปอ้างแหล่งข้อมูลต่างประเทศที่ดูขลังน่าเชื่อถือแทน เช่น การสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา หรืออีไอเอ เป็นต้น อ้างไปถึงว่า เป็นข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐหรือซีไอเอก็มี ทั้งที่ถ้าลงมือตรวจสอบกันอย่างจริงจัง ก็จะพบว่า ข้อมูลพลังงานไทยจากแหล่งข้อมูลต่างประเทศ เช่น อีไอเอ และบีพีโกลบอล ก็ใกล้เคียงกับข้อมูลที่หน่วยราชการไทยเผยแพร่ ทั้งนี้ก็เพราะว่า แหล่งข้อมูลในต่างประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็เอาข้อมูลจากหน่วยราชการไทยไป เผยแพร่อีกทีหนึ่งนั่นเอง

              ความจริงคือ ประเทศไทยไม่ได้เป็นเศรษฐีพลังงานแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดิบ แม้จะผลิตได้เองจำนวนหนึ่ง ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากทุกปี ปริมาณสำรองที่มีอยู่ก็ไม่มากนักและถ้าไม่มีการค้นพบเพิ่มอีก ก็จะหมดไปในอีกไม่เกินสิบปี

              ข้อมูลจากอีไอเอ บีพีโกลบอล และจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของไทยให้ตัวเลขใกล้เคียงกัน ในปี 2555 ประเทศไทยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วประมาณ 10-10.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เป็นอันดับที่ 42 ของโลก และเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของปริมาณสำรองทั้งโลก ไทยมีอัตราการผลิตก๊าซจำนวน 1.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี ด้วยอัตรานี้ ถ้าไม่มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่เพิ่มอีก ก๊าซธรรมชาติของไทยจะหมดไปภายใน 7-8 ปี แต่ประเทศไทยมีการบริโภคก๊าซธรรมชาติปีละ 1.6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ผลก็คือ ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านปีละ 3 แสนล้านลูกบาศก์ฟุต

             ในส่วนน้ำมันดิบ ข้อมูลแหล่งต่าง ๆ ก็ยังให้ภาพรวมที่ใกล้เคียงกัน ในปี 2554 ประเทศไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่พิสูจน์แล้วประมาณ 440 ล้านบาร์เรล เป็นอันดับที่ 47 ของโลกและเป็นเพียงร้อยละ 0.02 ของปริมาณสำรองทั้งโลก ในปี 2555 ไทยมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบและคอนเด็นเสท (ก๊าซธรรมชาติเหลว) รวมกันประมาณ 240,000 บาร์เรลต่อวันหรือราว 86 ล้านบาร์เรลต่อปี ในอัตราการผลิตนี้ ถ้าไม่มีการค้นพบแหล่งน้ำดิบเพิ่มอีก น้ำมันดิบไทยก็จะหมดไปในเวลาเพียง 5 ปี

             โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยใช้น้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลางเป็นหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติที่มีสารเจือปนน้อย (เช่น สารปรอท) และกลั่นได้น้ำมันดีเซลเป็นสัดส่วนมาก ตรงกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศไทย แต่น้ำมันดิบที่พบในประเทศไทยบางส่วนมีสารเจือปนสูง และที่พบในอ่าวไทยก็มีองค์ประกอบที่กลั่นแล้วได้น้ำมันเบนซินในสัดส่วนสูง ถ้าโรงกลั่นในไทยรับซื้อและกลั่นออกมา ก็จะมีน้ำมันเบนซินเหลือเกินความต้องการของตลาด น้ำมันดิบไทยส่วนนี้จึงถูกส่งออกไปขายต่างประเทศแทน ทั้งนี้ ในปี 2555 ประเทศไทยส่งออกน้ำมันดิบไปต่างประเทศเป็นปริมาณ 41,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นมูลค่าเพียง 51,000 ล้านบาทเท่านั้น นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกซึ่งส่ง ออกกันเป็นแสนเป็นล้านบาร์เรลต่อวัน

             น้ำมันดิบไทยที่โรงกลั่นในไทยสามารถใช้ได้จึงมีราว 200,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ประเทศไทยมีอัตราการบริโภคน้ำมันดิบราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประเทศไทยจึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 8 แสนบาร์เรลต่อวัน ข้อมูลในอดีตแสดงว่า ในแต่ละปี น้ำมันดิบที่ผลิตในไทยสามารถสนองความต้องการใช้ในประเทศได้เพียงร้อยละ 15-20 เท่านั้น นอกนั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

            กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะเลิกส่งออกน้ำมันดิบไทยโดยสิ้นเชิงและให้โรง กลั่นในไทยกลั่นน้ำมันดิบทั้งหมดเอง แต่ก็มีข้อโต้เถียงกันอยู่ว่า ต้องมีการลงทุนปรับปรุงโรงกลั่นปัจจุบันให้สามารถรับสารเจือปนปริมาณสูงได้ ซึ่งใช้เวลาหลายปี ที่สำคัญคือ น้ำมันดิบส่วนนี้มีปริมาณไม่มาก และเมื่อกลั่นออกมาก็จะได้น้ำมันเบนซินสัดส่วนสูง ก็จะต้องมีแผนการส่งออกน้ำมันเบนซินส่วนเกินนี้ไปต่างประเทศอีกอยู่ดี ทั้งหมดนี้จะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่

            พวก “ทวงคืนพลังงานไทย” อ้างว่า ประเทศไทยผลิตก๊าซและน้ำมันดิบได้มากกว่าประเทศเศรษฐีพลังงาน เช่น บรูไน ซึ่งก็เป็นความจริง ในปี 2554 บรูไนผลิตก๊าซธรรมชาติ 440,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (เป็นหนึ่งในสามของประเทศไทย) ผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทได้ 126,000   บาร์เรลต่อวัน (เป็นครึ่งหนึ่งของประเทศไทย) แต่คนพวกนี้ไม่บอกว่า บรูไนมีประชากรเพียง 4 แสนคน มีอัตราการบริโภคก๊าซธรรมชาติเพียง 107,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและบริโภคน้ำมัน 16,000 บาร์เรลต่อวัน บรูไนจึงสามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ 330,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบ 136,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นสามเท่าของประเทศไทย บรูไนจึงเป็นเศรษฐีส่งออกก๊าซและน้ำมัน

             คนพวกนี้ชอบอ้างว่า ในประเทศเศรษฐีน้ำมัน ประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูก เช่น เวเนซูเอลา ซาอุดิอาระเบีย และที่อ้างบ่อยที่สุดคือ มาเลเซีย แต่ตรรกะที่ว่า ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงาน คนไทยจึงต้องได้ใช้ก๊าซและน้ำมันในราคาถูก ก็เป็นตรรกะที่ผิดอย่างสิ้นเชิงทรัพยากร ธรรมชาติทั้งก๊าซและน้ำมันใช้เวลาก่อกำเนิดหลายร้อยล้านปี มีปริมาณจำกัด ใช้หมดไปแล้วสร้างขึ้นใหม่ไม่ได้ ถึงมีมากสักเพียงใด ก็มีวันหมด หนทางที่ถูกต้องจึงต้องประหยัดการใช้ให้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างที่สุด ถ้าตั้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วใช้หมดในเร็ววัน เราและลูกหลานก็ต้องหาพลังงานทดแทนที่มีราคาแพงกว่ามาใช้ นโยบายของรัฐบาลในต่างประเทศที่อุดหนุนราคาให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันในราคาถูกจึงเป็นนโยบายที่ผิด ประเทศไทยไม่ควรเอาอย่าง ต้อง ให้ประชาชนได้ใช้ก๊าซและน้ำมันในราคาที่สอดคล้องกับความหาได้ยากที่แท้จริง ของทรัพยากร ส่วนความจริงที่ว่า ราคาน้ำมันบางชนิดในประเทศไทยมีราคาแพงเพราะนโยบายบิดเบือนราคาของรัฐบาล นั้น ก็เป็นความจริง ซึ่งก็ต้องวิจารณ์กันบนข้อเท็จจริง ไม่ใช่บนนิยายที่แต่งขึ้นมาหลอกกันเอง
 
            “กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย” นอกจากจะแต่งนิทานเรื่อง ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงานแล้ว ยังตั้งข้อกล่าวหาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ “กลุ่มผลประโยชน์” ที่ครอบงำ ปตท. ไปอยู่เบื้องหลังบริษัทสำรวจและผลิตต่างชาติ ให้สัมปทานผลิตปิโตรเลียมในเงื่อนไขที่บริษัทต่างชาติได้ผลตอบแทนมหาศาล แต่แบ่งปันผลประโยชน์ให้กับรัฐไทยเป็นจำนวนน้อยนิด

            “กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย” อ้างถึงค่าภาคหลวงที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ว่า มีอัตราเพียงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่จำหน่าย กับภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่อัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ ซึ่งคนพวกนี้อ้างว่า “ต่ำที่สุดในอาเซียน” และต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีทั้งค่าภาคหลวง ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากกำไรก่อนหักภาษี แล้วยังมีภาษีเงินได้ปิโตรเลียมอีก รวมเป็นประโยชน์ให้รัฐสูงถึงร้อยละ 80-90

            ข้อเสนอของคนพวกนี้มีตั้งแต่ให้แก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนผลประโยชน์ให้รัฐได้ สูงขึ้นเป็นร้อยละ 80-90 ไปจนถึงยกเลิกสัมปทานบริษัทต่างชาติทั้งหมด แล้วให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) สำรวจ ขุดเจาะและผลิตแต่เพียงรายเดียว

            ความจริงคือ ระบบสัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยมีพัฒนาการมาสามขั้นตอน มีการแก้กฎหมายหลายครั้ง มีการปรับเปลี่ยนอัตราการแบ่งปันผลประโยชน์ไปตามยุคสมัยและประสบการณ์ของ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

            ระบบ Thailand I เริ่มตั้งแต่พรบ.ปิโตรเลียมฉบับแรก พ.ศ.2514 กำหนดค่าภาคหลวงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่จำหน่าย และพรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมอีกร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ โครงการระยะที่หนึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร จนถึงปี 2524 มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมจำนวนหนึ่ง ประกอบกับโลกกำลังประสบภาวะวิกฤตราคาน้ำมัน รัฐบาลไทยจึงได้ปรับเปลี่ยนการแบ่งปันผลประโยชน์เสียใหม่ แก้ไขกฎหมายให้ผู้รับสัมปทานแบ่งผลประโยชน์แก่รัฐเพิ่มขึ้น โดยเริ่มต้นปี 2525 กำหนดว่า นอกจากจะจ่ายค่าภาคหลวงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าจำหน่ายแล้ว ให้ผู้รับสัมปทานหักค่าใช้จ่ายตามพรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้ไม่เกินร้อย ละ 20 ของรายรับ (จากที่เคยหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง) และจ่ายโบนัสเพิ่มรายปีเป็นอัตราขั้นบันไดจากร้อยละ 27.5 ถึงร้อยละ 43.5 ของรายได้จากน้ำมันดิบที่ผลิตเฉลี่ยวันละตั้งแต่ 10,000 บาร์เรล ถึงเฉลี่ยวันละ 30,000 บาร์เรล ระบบใหม่นี้เรียกว่า Thailand II

            ปรากฏว่า จนถึงปี 2532 มีผู้รับสัมปทานไปเพียง 6 รายเท่านั้น แม้จะมีการสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมบนบกเพิ่มเติม แต่ไม่มีการลงทุนผลิตเชิงพาณิชย์เลย สาเหตุคือ แหล่งปิโตรเลียมบนบกมีขนาดเล็ก กระจัดกระจาย ทำให้มีทั้งความเสี่ยงและต้นทุนในการผลิตต่อบาร์เรลสูง ผู้รับสัมปทานต้องแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐสูงจนไม่มีความคุ้มค่าทางธุรกิจ ผลก็คือ รัฐบาลไทยไม่สามารถจัดเก็บผลประโยชน์ปิโตรเลียมตามระบบ Thailand II ได้เลย

            ในปี 2532 จึงได้มีการแก้ไขกฎหมายอีกครั้งเป็นระบบ Thailand III ระบุผลประโยชน์แก่รัฐสามส่วน ส่วนแรกคือ ค่าภาคหลวงเป็น อัตราขั้นบันไดตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไปถึงร้อยละ 15 ตามปริมาณจำหน่ายปิโตรเลียมต่ำสุดจากไม่เกิน 60,000 บาร์เรลต่อเดือน ไปจนถึงสูงกว่า 600,000 บาร์เรลต่อเดือน ส่วนที่สองคือภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ ส่วนที่สามคือ ผลประโยชนตอบแทนพิเศษจากกำไรส่วนเกินโดยจะจัดเก็บเมื่อยอดจำหน่ายปิโตรเลียมเพิ่มเกินกว่าระดับที่กำหนด

           ระบบ Thailand III จึงมีความยืดหยุ่นมาก ผู้รับสัมปทานที่ค้นพบแหล่งขนาดเล็กและมีต้นทุนต่อหน่วยสูง ผลิตได้น้อยก็สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ขณะที่ผู้ที่ค้นพบแหล่งขนาดใหญ่ ต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่าและผลิตได้มากก็ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐเพิ่มขึ้นตาม สัดส่วน จนถึงปี 2555 มีการสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นอีกมากและสามารถผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว 48 สัมปทาน นอกจากนี้ ผู้รับสัมปทานในระบบ Thailand II ก็ได้โอนมาเข้าระบบ Thailand III ด้วย

           ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสัมปทานปิโตรเลียมทั้งสิ้น 63 สัมปทาน โดยมีผู้รับสัมปทานที่ยังอยู่ในระบบ Thailand Iเพียง 9 สัมปทานเท่านั้นและจะเริ่มหมดอายุลงตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป นอกนั้นเป็นผู้รับสัมปทานในระบบ Thailand III แต่ “กลุ่มทวงคืนพลังงาน” ก็บิดเบือนว่า ผู้รับสัมปทานทั้งหมดยังคงแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐตามสูตร Thailand I คือจ่ายค่าภาคหลวงเป็นอัตราคงที่ร้อยละ 12.5 ของยอดจำหน่ายและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ

           เป็นความจริงที่ส่วนแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐจาก Thailand I ไม่นับว่าสูงถ้ามองจากธุรกิจปิโตรเลียมในปัจจุบัน แต่ Thailand I มีกำเนิดในยุคสมัยแรกเริ่มที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก ในเวลานั้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำเพียงแค่สองดอลลาร์ต่อบาร์เรล อีกทั้งประเทศไทยก็มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมที่อำเภอฝางเท่านั้นและมีขนาด เล็กจิ๋วมาก แค่วันละ 1,000 บาร์เรล การกำหนดให้แบ่งผลประโยชน์แก่รัฐที่ไม่สูงมากจึงมีเหตุผล ก็เพื่อจูงใจให้บริษัทต่างชาติกล้ารับความเสี่ยงเข้ามาสำรวจขุดเจาะในประเทศ ไทย เพราะถ้าขุดเจาะแล้วไม่พบอะไร ค่าใช้จ่ายก็สูญเปล่าทั้งหมด

            ตั้งแต่มีสัมปทานปิโตรเลียมจนถึงปัจจุบันกว่า 40 ปี รัฐไทยได้รับผลประโยชน์จากปิโตรเลียมรวมกันกว่าหนึ่งล้านล้านบาทแล้ว คิดเป็นสัดส่วนรายได้รัฐต่อรายได้สุทธิของเอกชน (ก่อนหักภาษี) เท่ากับร้อยละ 55:45 และถ้าคำนวณเฉพาะระบบ Thailand III ตั้งแต่ปี 2532 สัดส่วนของรัฐก็ยิ่งสูงคือ ร้อยละ 74:26 ซึ่งเป็นอัตราปานกลางค่อนไปทางสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

            “กลุ่มทวงคืนพลังงาน” อ้างว่า หลายประเทศที่เป็นเศรษฐีพลังงานจัดเก็บผลประโยชน์สูงถึงร้อยละ 80-90 ของรายได้สุทธิของผู้รับสัมปทาน แต่ข้อสังเกตคือ ประเทศเหล่านั้น (เช่น เยเมน บาห์เรน บรูไน พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย) ล้วนเป็นประเทศเศรษฐีพลังงานตัวจริงทั้งสิ้น มีแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำ ผู้รับสัมปทานสามารถจ่ายผลประโยชน์เข้ารัฐได้มาก ประเทศที่จัดเก็บผลประโยชน์สูงที่สุดในโลกคือ เวเนซูเอลา จัดเก็บสูงถึงร้อยละ 95 ผลก็คือ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมปิโตรเลียมของเวเนซูลามีอัตราการสำรวจใหม่ที่ลดลงอย่างมากและถ้า ไม่มีการแก้ไข อีกไม่นาน อัตราการผลิตก็จะลดลงด้วย

            ส่วนข้อเรียกร้องให้ยกเลิกสัมปทานต่างชาติทั้งหมด แล้วให้ ปตท.สผ.ผูกขาดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่ผู้เดียวในประเทศไทย เมื่อผนวกกับข้อเรียกร้อง “ทวงคืนปตท.” ที่ให้ปตท.กลับคืนเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้เป็นข้อ เสนอที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างการผูกขาดโดยรัฐแบบครบวงจรตั้งแต่การสำรวจผลิตก๊าซและ น้ำมันดิบ ไปจนถึงการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปและขายปลีกที่สถานีจำหน่าย ทำ ให้ ปตท.และปตท.สผ.รวมกันเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดมหาศาลในมือรัฐอย่างแท้จริง แล้วรัฐวิสาหกิจไทยแต่ไหนแต่ไรมา เป็นแหล่งผลประโยชน์ของใครบ้าง? มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ รู้จักปรับปรุงคุณภาพของบริการ และเอาใจใส่ประชาชนผู้บริโภคสักแค่ไหนกัน?
Source by :: ThaiEnews

ติดดาบปลายปืนอมาตย์กับประชาชน ขั้นแตกหัก

ติดดาบปลายปืนอมาตย์กับประชาชน ขั้นแตกหักจะอยู่หรือจะไปได้รู้กัน
 
           เมษายนเดือนที่อุณหภูมิของอากาศร้อนจนขั้นที่ถ้าใครออกมายืนตากแดดยาม เที่ยงวันนานๆ อาจจะเกิดอาการ Heatstroke (เป็นลมแดด) ขึ้นได้อย่างปัจจุบันทันด่วน ฉะนั้นจึงมีคำเตือนออกมาจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะๆ ถึงการดูแลสุขภาพในช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน และมีอุณหภูมิสูงจัดเช่นนี้
 
           ขณะที่อุณหภูมิอากาศร้อนจัด อุณหภูมิทางการเมืองก็ร้อนจนถึงองศาเดือดเช่นกัน หลังจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ท่าทีของการต่อสู้ทางการเมืองก็ดูเหมือนจะปรับเปลี่ยนไปในทางที่แข็งกร้าว มากขึ้น ท่านอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ได้เปิดตัวอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่หวั่นเกรงคำครหาอีกต่อไปว่า “ต่อไปนี้จะเข้าร่วมประชุมกำหนดทิศทางการทำงานของพรรคอย่างตรงไปตรงมาทุก ครั้ง” หลังจากการพ่ายแพ้การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครอย่างน่าเคลือบแคลงใน ครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับอำนาจฝ่ายเผด็จการ อมาตย์อีกต่อไป
 
           ประการแรก ที่ ได้เห็นอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาก็คือ การลาออกจากการเป็น ส.ส. เขียงใหม่ ของ นายเกษม นิมมลรัตน์ ซึ่งเป็นการรู้กันโดยเปิดเผยว่าเป็นการเปิดทางให้นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ได้มีโอกาสลงรับสมัครเลือกตั้ง และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้นางเยาวภา ซึ่งรู้กันว่าเป็นน้องสาวสายตรงของท่านอดีตนายกทักษิณ กลับมาเป็นผู้แทนหรือไม่? อย่างไรก็ดีเป้าหมายที่ท่านอดีตนายกทักษิณ ต้องการให้น้องสาวคือคุณเยาวภา เข้ามามีบทบาทในพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ก็น่าจะเป็นเพราะต้องการให้มีการจัดระเบียบ ส.ส. ในพรรคให้อยู่ในแนวทางตามนโยบายของพรรค ไม่ออกนอกลู่นอกรอยไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะต่อไปนี้การต่อสู้ทางการเมืองในสภา และนอกสภาจะเข้มข้นชนิดพลาดไม่ได้เลยแม้แต่ก้าวเดียว
 
           ประการที่2 ต่อ มารัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็นำพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาในสภา เป้าหมายก็เพื่อปรับปรุงระบบโครงสร้างการขนส่งทั่วประเทศไทยเพื่อรองรับการ เข้าสู่การรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน เพียงแค่วาระแรกคือวาระรับหลักการเท่านั้นเวทีในสภาก็ปะทะกันอย่างดุเดือด ชนิดไม่มีใครยอมใคร และแม้ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้จะผ่านวาระแรกมาได้ แต่ทว่ากลุ่มเครือข่ายเผด็จการอมาตย์ก็จะไม่มีทางยอมให้กฏหมายฉบับนี้ผ่าน วาระ 2 วาระ 3 อย่างง่ายๆ การปลุกปั่นให้ประชาชนเข้าใจผิดในเรื่องการกู้เงินมาทำระบบขนส่งทางรางทั่ว ประเทศนี้ เกิดขึ้นจากนักวิชาการที่เป็นเครือข่ายเผด็จการทั่วไป ด้วยข้อหาเดียวคือการกู้มาครั้งนี้คือการโกงอย่างมโหฬาร ทั้งๆ พระราชบัญญัติที่แสดงไว้ในสภาก็มีความชัดเจนถึงการจัดทำโครงการ และการใช้งบประมาณรวมถึงการตรวจสอบ
 
            ประการที่3 ที่ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้พยายามที่จะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงก็คือ การยุติความรุนแรงในภาคใต้ โดยรัฐบาลได้ติดต่อและสร้างสายการเจรจาอย่างต่อเนื่อง และโดยความช่วยเหลือของประเทศเพื่อนบ้านในที่สุด เจ้าหน้าที่ของรัฐก็สามารถพูดคุยเจรจากับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญของกลุ่ม BRN และกลุ่มพูโล แม้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะยังไม่สงบลงอย่างราบคาบ ทันทีทันใด แต่การพูดคุยกับระดับแกนนำคนสำคัญก็เป็นช่องทางและนิมิตหมายที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่าความพยายามในการยุติปัญหาความรุนแรงในภาคใต้นั้น กำลังเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง
 
            ประการที่4 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยร่วมมือกับสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ใน 3 ฉบับคือ
 
ฉบับ ที่ 1. แก้ไขเพิ่มเติม ม.111 ม.112 ม.115 ม.116 (วรรคสอง) ม.117 ม.118 ม.120 และ ม.241 (วรรคหนึ่ง) และยกเลิก ม.113 และ ม.114 ว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา โดยมีมติ 367 เสียง ต่อ 204 เสียง งดออกเสียง 34 คน
 
             ฉบับที่ 2. แก้ไขเพิ่มเติม ม.190 ว่าด้วยการทำสัญญาระหว่างประเทศ โดยมีมติ 374 เสียง ต่อ 209 เสียง งดออกเสียง 22 คน
 
             ฉบับที่ 3. แก้ไขเพิ่มเติม ม.68 และ ม.237 ว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง โดยมีมติ 374 เสียง ต่อ 206 เสียง งดออกเสียง 25 คน
 
             ผลที่เกิดขึ้นจากการเป็นฝ่ายรุกทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ทำให้เห็นได้ชัดว่าทำให้กลุ่มเครือข่ายเผด็จการอมาตย์ไม่สามารถทนต่อภาวะแรง กดดันในลักษณะนี้ได้ เพราะรัฐบาลโดยการนำของท่านนายกยิ่งลักษณ์ ได้เปิดยุทธการโจมตีในทุกด้านพร้อมๆ กัน ทั้งโครงการเมกกะโปรเจก เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยในด้านการขนส่งด้วยวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ใครๆ ก็เห็นได้ชัดว่าถ้าโครงการนี้สำเร็จ ประชาชนทั้งชาติจะได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างพร้อมหน้า ไม่ใช่เป็นการนำเงินกู้มาเพื่อโกงกินแล้วไม่เกิดผลใดๆ ต่อคนในชาติ เหมือนดังเช่นเงินกู้ 8 แสนล้านสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ แล้วประเทศไทยได้เสาธงต้นละ 5 แสน, ได้โรงพักที่มีแต่เสา, ได้ตู้น้ำเย็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้งานไม่ได้, ได้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ไม่มีโรงพยาบาลใดต้องการ ฯลฯ 
 
             การเจรจายุติปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ แม้ว่าความรุนแรงจะยังไม่สงบทันที แต่ก็มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเรื่อยๆ และถ้าภายใน 3-5 ปีนี้ ความรุนแรงในภาคใต้ยุติลง ก็จะถือได้ว่าเป็นผลงานชั้นยอดของรัฐบาล
 
             และที่สำคัญการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 นี้ เป็นเสมือนการทุบกล่องดวงใจของเผด็จการอมาตย์ ซึ่งฝ่ายเผด็จการจะไม่ยอมให้มีการแก้ไขโดยเด็ดขาด ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าทุกองคาพยพของเผด็จการ ตั้งแต่ คนสำคัญที่สุด ไล่เรียงมาจนถึงคนที่สำคัญน้อยที่สุด ต่างก็ออกมาถล่มโจมตีรัฐบาลในทุกๆ เรื่อง และพยายามสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ให้ได้ เป้าหมายก็เพียงเพื่อไม่ให้รัฐบาลทำงานในสภาได้อย่างราบรื่นนั่นเอง อะไรก็ได้ที่สามารถล้มรัฐบาลได้นั่นคือสิ่งฝ่ายเผด็จการอมาตย์จะพยายามกระทำ และถ้าทำได้กลุ่มเผด็จการอมาตย์ก็จะพยายามทำให้สิ่งต่างๆ ย้อนรอยกลับไปเหมือนกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ที่มีความพยายามจะป่วนสภาโดยการลากเก้าอี้ประธานสภาออกไปทิ้ง และมีม๊อบที่ตระเตรียมเอาไว้เป็นผู้ปั่นป่วนอยู่ภายนอกสภา เป็นการสร้างเรื่องให้ดูเหมือนว่าผู้แทนราษฎรที่ทำงานในสภาไม่สามารถจะได้ รับความเชื่อถืออีกต่อไป
 
             ขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามอย่างหนักที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นกับ ประเทศนี้ ฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยและชื่นชอบอำนาจเผด็จการ ก็พยายามอย่างหนักเช่นกันในการที่จะดึงให้ประเทศนี้ย่ำอยู่กับที่ หรือกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของอำนาจเผด็จการดังเดิม การออกมาเดินสายให้ประชาชนร่วมกันต่อต้านคอรัปชั่น ของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญพูดในงานปาฐกถาวันสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยอ้างถึง “การผูกขาดอำนาจที่มาจากเสียงข้างมาก” ของนักการเมือง รวมถึงการประสานเสียงอย่างเอาเป็นเอาตายของ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มพันธมิตรและเครือข่าย ที่จะต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างถึงที่สุด เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้ไม่มีใครยอมใคร ไม่มีใครถอยให้ใครอีกแล้ว
 
             ส่วนในภาคประชาชนก็เป็นความจริงที่ว่า ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยต่างก็ร่วมในการสูญเสียมาอย่างมากมาย ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงอิสระภาพเพื่อให้นักการเมืองที่อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของประชาชนเข้าไป ต่อสู้แทนพวกเขาในสภา แต่ทว่าเกือบ 2 ปีมานี้ รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ มุ่งเน้นในเรื่องการบริหารประเทศเสียจนลืมความจริงไปว่า ประเทศไทยอยู่ภายใต้การควบคุมของการเมืองแบบเผด็จการดังนั้นการพัฒนาประเทศ จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงไม่ได้ ถ้ารูปแบบการปกครองทางการเมืองไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างถูกต้องเสียก่อน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้ความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อพรรคเพื่อไทยเริ่มสั่น คลอนไป แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่พรรคเพื่อไทย โดยท่านอดีตนายกทักษิณ จะหันกลับมาเน้นที่ความต้องการอันแท้จริงของประชาชนก่อนอื่นใด 
 
             วันที่ 10 เมษายน 2556 ที่จะถึงนี้ กลุ่ม นปช. และคนเสื้อแดงจะจัดชุมนุมใหญ่เพื่อแสดงพลังและระลึกถึงการล้อมปราบประชาชน เมื่อปี 2553 ที่สี่แยกคอกวัว และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การชุมนุมแสดงพลังในครั้งนี้จะเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลของ ประชาชน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังเดินหน้าอยู่นี้เป็นการปฏิบัติตามนโยบายที่ พรรคเพื่อไทยหาเสียงเอาไว้ ซึ่งด้วยนโยบายนี้ทำให้ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยให้มาเป็นตัวแทนของพวกเขาใน การดำเนินตามนโยบายนี้ และประชาชนเสียงข้างมากในประเทศนี้คงจะไม่ยอมให้ใคร หรืออำนาจอะไรมาล้มรัฐบาลนี้ อย่างไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบธรรมอีกต่อไปแล้ว
 
             และถ้ามีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นจริง ก็คงจะต้องปะทะกันชนิดติดดาบปลายปืนเป็นแน่แท้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงจะได้รู้กันว่าใครจะอยู่และใครจะไป
 
ปูนนก
From IF