วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

สัมภาษณ์ วสันต์ พานิช: การยื่นอุทธรณ์ให้ ‘สมยศ’-สำรวจประสบการณ์คดีหมิ่นฯ

สัมภาษณ์ วสันต์ พานิช: การยื่นอุทธรณ์ให้ ‘สมยศ’-สำรวจประสบการณ์คดีหมิ่นฯ


วันนี้ (1 เมษายน 2556) วสันต์ พานิช ในฐานะทนายคนใหม่ของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปีในความผิดตามมาตรา 112 จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาล พร้อมกับยื่นประกันตัวลูกความ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 13 แล้ว
วสันต์ พานิช เป็นอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความ เขาเข้ามาทำคดีนี้ในฐานะ “ส่วนตัว” และเป็นทนายซึ่งเคยว่าความกรณีนี้มาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้งคือ คดีในช่วง 6 ตุลาคม 2519 อันสืบเนื่องมาจากละครแขวนคอ ซึ่งกลายเป็นชนวนสำคัญของเหตุการณ์ และกรณีของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ จากการวิพากษ์วิจารณ์ รสช. เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์  ในคดีแรกไต่สวนกันไม่ทันไรก็มีกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา คดีหลังสุลักษณ์ชนะคดี


ครั้งนี้ แม้เขาจะไม่ได้ว่าความให้สมยศ แต่ก็ได้รับเขียนอุทธรณ์ต่อสู้คดีให้เขา และน่าสนใจมากขึ้นเมื่อผู้ที่ติดตามการเมืองคงรู้ดีว่า จุดยืนทางการเมืองทั้งสองนั้นไม่เหมือนกัน
ก่อนวันยื่นอุทธรณ์ ‘ประชาไท’ ได้พูดคุยกับวสันต์ ถึงที่มาที่มาของการรับคดี แนวทางในการต่อสู้ มุมมองต่อคดี 112 ในปัจจุบัน และประสบการณ์คดีมาตรา 112 ในอดีต
00000
อยากทราบถึงที่มาที่ไปของการรับทำคดีนี้ ?
ต้องบอกก่อนว่าคุณสมยศกับผมนั้นความคิดต่าง แต่ที่เราเข้ามาช่วย เพราะตามหลักกฎหมายแล้วคุณสมยศไม่น่าจะผิด อันนี้ผมยืนยันในหลักการ ไม่ได้เลือกข้างว่าสีไหนๆ ผมเองทำคดีเราเลือกที่ความถูกมากกว่า เช่น กรณีช่วยเรื่องโรงไฟฟ้าที่เชียงราย แดงตัวแม่เลย ใส่เสื้อยิ่งลักษณ์เชียร์เต็มที่ แต่เราถือว่าคุณปกป้องชุมชนของคุณ ต่อต้านโรงไฟฟ้าไม่ให้เข้ามาทำลายวิถีของชุมชน หรือกรณีบุ่งไหม นั่นแกนนำแดงของอุบลราชธานีเลย แต่แกใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะประโยชน์หาเลี้ยงชีวิต แต่วันดีคืนนี้ ราชธานีอโศก ของสันติอโศกไปซื้อที่ดินสาธารณะและมีการปล่อยเอกสารสิทธิในที่ดินสาธารณะก็พิพาทกันระหว่างชาวบ้านกับราชธานีอโศก ผมก็ช่วยชาวบ้าน ในเมื่ออยู่ดีๆ คุณออกเอกสารสิทธิในที่ดินสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน
นี่คือแนวคิดที่ผมเข้ามาทำคดีคุณสมยศ เพราะโดยหลักการคุณสมยศไม่ควรเข้ามารับผิดในฐานะ บก. ทั้งโดยกฎหมาย โดยรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลตัดสินอย่างนี้ ผมก็ต้องถือว่าคุณสมยศเป็นผู้ถูกกระทำในกรณีนี้
ถามว่าผมเห็นด้วยกับการกระทำคุณสมยศไหม เปล่า นี่คือความต่าง แต่ผมไม่ได้เลือกว่าจะช่วยคดีต่อเมื่อแนวความคิดทางการเมืองเหมือนกัน นี่คือหลักการของผมซึ่งผมทำมาตลอดชีวิต
กรณีสมยศ ภรรยาเป็นคนติดต่อมาใช่ไหม ตอนนั้นเห็นสำนวนหรือยัง?
ใช่ คุณจุ๊บ(สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข) มาติดต่อก่อนศาลมีคำพิพากษา ผมเองก็ยังไม่เห็นสำนวนเลย แต่ไม่มีปัญหา เพราะโดยหลักการแล้วคุณสมยศไม่ควรถูกลงโทษ ผมยินดีจะช่วย และไม่หนีความคาดหมาย ศาลชั้นต้นลงโทษ หนักเสียด้วย
ทำไมถึงไม่หนีความคาดหมาย?
ก่อนหน้านี้ก็มีตัวอย่างคดีอากง คดีอากงก็ลงไม่ได้ต่างกัน กรรมละ 5 ปี โดน 4 กรรมก็ 20 ปี คดีอากงผมเข้าไปช่วยตอนอุทธรณ์เหมือนกันแต่ไม่ได้เป็นข่าวเหมือนกรณีสมยศ พอดีน้องๆ ทีมทนายคดีอากงมาปรึกษา เขาก็มีข้ออ่อนตรงที่ว่ามีใจ แต่ประสบการณ์ยังน้อย คดีพวกนี้มันต้องค้นคว้ามาก่อน ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ คดีสมยศก็เหมือนกัน
แสดงว่าติดตามคดีสมยศมาตลอดเหมือนกัน
ไม่ อันที่จริงไม่ว่าคดีไหนถ้าเราเห็นว่าถูก เราพร้อมจะช่วยเหลือถ้าเขาขอร้องมา กรณีเสื้อแดงเหมือนกัน ตอนนั้นเขาเองมีการร้องขอ คุณกันระหว่างหมอนิรันดร์ (พิทักษ์วัชระ-กรรมการสิทธิฯ) อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพคนเดิม ผม คุยกันว่าในเมื่อสภาทนายความเขาประกาศว่าไม่ช่วย แต่ผมเองในฐานะประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน ของสภาทนายความ ผมไม่ได้ติดว่าสีไหน แต่ถ้าคุณเผาศาลากลาง ก็.... เจรจาผ่อนหนักเป็นเบา แต่สำหรับชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ผมพร้อมช่วยเต็มที่ ไม่ได้ปฏิเสธแบบนายกฯ สภาฯ ซึ่งทำให้เสื้อแดงก็รู้สึกว่า อะไร มีการเลือกข้างด้วยหรือ ผมไม่ใช่ แต่ผมก็กำลังจะหมดวาระเดือนหน้าแล้ว และไม่อยากใช้ตำแหน่งนี้ เพราะเขาปฏิเสธไปแล้ว ผมเลยช่วยคุณสมยศในฐานะส่วนตัว
กรณีมาตรา 112 มีความคิดต่อคดีลักษณะนี้อย่างไร
ผมว่าความมาหลายคดี ไม่ใช่คดีนี้คดีแรก ผมมองเห็นว่า มาตรา 112 ควรจะมีปรับปรุง แต่ผมอาจเห็นต่างจากคนอื่น ต่างจากนิติราษฎร์ ตรงที่มองว่า เดิมมีข้อหานี้อยู่แล้ว ก่อนมีเหตุการณ์ 6 ตุลาซึ่งใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จะเอามาทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง หรือคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เป็นอย่างนี้มาตลอด
ยกตัวอย่าง ผมว่าความคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคดีแรกเลย สมัยก่อนแกเข้าป่า พูดชื่อไปคนก็ไม่รู้จัก เป็นคดีดึกดำบรรพ์มากตั้งแต่ยังเป็นสมคมทนายความนั่นเลย คุณคนนี้แกเข้าป่า เผารถแทรกเตอร์แล้วถูกจับได้ พอไปอยู่เรือนจำก็เปิดโปงเรือนจำว่า ผู้คุม ผู้บัญชาการทุจริตกันหมด ข้าวปลาอาหารของนักโทษมันกระเหม็ดกระแหม่ กินอย่างเลวร้าย พอจับได้ว่าจดหมายเป็นของคุณคนนี้ สุดท้ายก็ให้ผู้ต้องหาด้วยกันกล่าวหาว่า ผู้ต้องหาคนนี้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
คดี 6 ตุลา ขบวนการฝ่ายขวาอยากทำลายขบวนการฝ่ายซ้าย ขวาพิฆาตซ้าย ตอนนั้นมี 3 ประสาน ขบวนการนักศึกษา (ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ขบวนการแรงงาน (สหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย) และขบวนการชาวนา (สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย) เคลื่อนไหวร่วมกัน ขบวนการขวาทั้งหลายกลัวขบวนการฝ่ายซ้าย คุณนิสิต จิรโสภณ แกก็เป็นนักศึกษาออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา แกถูกถีบตกรถไฟตาย
ด้านแรงงานก็มีการจับกุม ก่อน 6 ตุลา ก็มีกรรมการอ้อมน้อย คดีคุณสุภาพ พัสอ๋อง มีนักศึกษา 4 คน ผู้ใช้แรงงาน 5 คนถูกแจ้งข้อหาคอมมิวนิสต์ หรือ ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน อยู่ปีกฝ่ายซ้ายถูกฆ่า พรรคพลังใหม่ถูกปาระเบิดโดยกลุ่มกระทิงแดง คนขว้างระเบิดผิดพลาดตายไปคนหนึ่ง คนนิ้วขาด คุณสมหวัง ศรีชัย รองหัวหน้าพรรคพลังใหม่ ไปหาเสียงที่ชัยนาทถูกขว้างระเบิดคนตายไป 8 คน จะเห็นว่าขบวนการฝ่ายซ้ายถูกกระทำ ฝ่ายขวากลัวมาก หัวขบวนฝ่ายขวาก็คือ พรรคชาติไทยในสมัยนั้น พวกนี้จะเปิดเพลงหนักแผ่นดิน
ในที่สุดนักศึกษาก็เล่นละครล้อ เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา และมีการทำรัฐประหารในวันนั้นโดยสงัด ชะลออยู่ แล้วก็แก้ไขกฎหมายมาตรานี้กันในวันที่ 21 ตุลาคม 2519 จากเดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งศาลจะลง 1 ปี 2 ปี รอลงอาญาก็มีเยอะแยะ แต่พอแก้ไขกฎหมาย โทษใหญ่ขึ้นมา จำคุก 3-15 ปี ดังนั้นในความเห็นผม ช่วงนั้นสงัด ชะลออยู่ คือปฏิกิริยาขวาจัดแน่ๆ ธานินทร์ กรัยวิเชียร บอกว่าประชาธิปไตย 12 ปีค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุดก็แก้ไขกฎหมายเพื่อเอาโทษนักศึกษาในขณะนั้น ถามว่ามันมีฐานวิธีคิดอะไรที่ถูกต้องบ้าง
ในทางหลักการ โอเค เทียบกับต่างประเทศซึ่งเราลอกกฎหมายเขามา เขาก็มีกฎหมายนี้อยู่ ดังนั้น โทษที่มีอยู่เดิมมันก็เหมาะสมแล้ว อันนี้ไม่ได้พูดถึงแนวความคิดว่าจะเปลี่ยนอะไร ยกเลิกอะไร นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พูดในฐานคิดว่าตรงนี้ควรปรับแก้มาอยู่ที่เท่าเดิมคือไม่เกิน 7 ปี
ความต่างอีกนิดคือ ไม่ใช่ว่าใครคู่ต่อสู้ทางการเมืองก็แจ้งความได้ อย่างกรณี 6 ตุลา คณะรัฐประหารเป็นคนแจ้ง กรณีสุลักษณ์ ศิวรักษ์ คนที่แจ้งคือ รสช. เพราะอ.สุลักษณ์ไปด่า รสช. ชุดสุจินดรา (คราประยูร) บอกว่า ไอ้พวกนี้มันทำรัฐประหารเพื่อจะเถลิงอำนาจ ต่อไปมันจะขึ้นมาปกครองประเทศอีก ซึ่งผลสุดท้ายก็เป็นอย่างนั้น โดนข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และผมเป็นทนายความ
อันที่จริงผมเป็นทนายคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตั้งแต่คดี 6 ตุลา ซึ่งมีสองกลุ่ม กลุ่มแรก สุธรรม (แสงประทุม) กับพวก และอีกส่วนแยกไปคนเดียวคือ บุญชาติ เสถียรธรรมมณี ซึ่งเป็นคนชักรอก (เวทีละครล้อ) ผมเป็นทนายความให้เขา ซึ่งมันเกิดขึ้นจากทางการเมืองหมดเลย กรณีอ.สุลักษณ์ ก็ รสช.แจ้ง กรณีคุณสมยศ ก็ ศอฉ. เป็นคู่ตรงข้ามทางการเมืองทั้งนั้น
ทำไมเปิดโอกาสให้กลุ่มตรงข้ามซึ่งอ้างความจงรักภักดีแจ้งความได้ง่าย ดังนั้น มันควรจะมี กลุ่มบุคคล ยกตัวอย่างเป็นตุ๊กตาก็ได้ เช่น สำนักราชเลขาฯ อาจจะเว่อร์ไปเพราะคนอาจมองว่าสำนักราชเลขาฯ ก็ใกล้ชิดกษัตริย์ เอาเป็นคนที่เป็นกลางไม่มีส่วนได้เสียทางการเมืองก็ได้ขึ้นมาตรวจสอบว่า คดีนี้ควรจะถูกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือเปล่า เพราะเราจะเห็นว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งหมดเลย
ผมพูดมาซักเป็นสิบปีขึ้น ในประเด็นนี้ ผมยังยืนยันในความคิดผมอยู่
ในสมัยนั้นการต่อสู้ในศาลในคดีนี้มีความยากลำบากไหม อย่างไร และส่วนใหญ่ได้รับโทษอย่างไร?
เผอิญตอนปลายผมไม่ได้ว่าความคดีคนที่เปิดโปงเรื่องทุจริตในคุกนั้น โดนหนัก 7 หรือ 8 ปี เพราะหลายกรรม แต่พอมาถึงคดี 6 ตุลา จริงๆ แล้วสืบไม่ได้เลย ว่าจะเอาคดีนี้มาเขียนตำราวิชาว่าความ คดีนี้เตรียมคดีหนักมาก เผอิญเขาไปทำลายทิ้งแล้วบอกว่าอายุเกิน 10 ปี ต้องเผาทิ้ง ความจริงเรื่องนี้น่าสนใจ ให้เห็นว่ามีการตบแต่งภาพ ตบแต่งฟิล์มสารพัดมันทำได้ มีหนังสือพิมพ์แค่ 2 ฉบับที่เหมือน นักข่าวคนอื่นถ่ายออกมาไม่เหมือน ตอนถ่ายก็ไม่รู้สึกว่าเหมือนเลย เรื่องนี้ไม่ได้จบที่ยกฟ้อง พอเริ่มสืบ ก็มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาทั้งหมดเลย อ้างว่ายกโทษให้นักศึกษา แต่จริงๆ ยกโทษให้ตัวเองเพราะนักศึกษาถูกฆ่าตายไปมาก ทุกอย่างจบเพราะนิรโทษกรรม
แสดงว่าในยุคนั้น การนิรโทษกรรมนั้นรวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย
ใช่ ฉะนั้น บอกว่านิรโทษกรรมไม่เคยรวมถึง 112 ตอแหล (หัวเราะ)  เพราะอย่าง 6 ตุลา คุณสุธรรมกับพวก 18 คน ก็ถูกฟ้องดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ก็โดนข้อหาด้วย เลยพิจารณาคดีที่ศาลทหาร
ที่ผมได้ว่าความนั้น นายกรัฐมนตรีคนแรกที่ผมได้ซักคือ หม่อมเสนีย์ ปราโมทย์ ที่มาเป็นพยาน คดีที่สองที่ได้ซักคือ สุจินดา คราประยูร คดีอ.สุลักษณ์ คนที่สามคือคุณสมัคร สุนทรเวช ที่แกฟ้องอาจารย์ใจ เพราะอาจารย์ใจบอกว่าคุณสมัครมือเปื้อนเลือดจากเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ตอนหลังคุณสมัครแกไม่สู้ไปถอนฟ้องก่อน อันนี้ช่วงปีก่อนแกลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ก
กรณีของ อ.สุลักษณ์ก็จบด้วยการยกฟ้อง เป็นกรณีที่ค่อนข้างดัง แม้กระทั่งคดีนักศึกษากลุ่มสัจธรรมของรามคำแหง ประเดิม ดำรงเจริญ ก็จบด้วยการยกฟ้องแต่คดีนั้นผมไม่ได้ทำ อันนี้เป็นเหตุการณ์ก่อน 6 ตุลา จากกรณีของบทกวี จากชาวฟ้าถึงข้าชาวดิน
แต่เท่าที่ดูคดีเกี่ยวกับ 112 แทบจะไม่มีคดีไหนสู้ในทางเนื้อหา
ผิด คดีอ.สุลักษณ์สู้ในทางเนื้อหาล้วนๆ เป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อปี 2535 ต่อ 2536  เขาแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 กันวันที่ 21 ต.ค.2519 พอ อ.สุลักษณ์โดนก็เลยโดนเข้าไปเต็มที่เลย  ถ้อยความที่โดนคือ “มีการคลานยั้วเยี้ย”  “หมอบคลาน” ในที่สุดศาลมีคำพิพากษาว่า ถึงแม้อ.สุลักษณ์จะใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม แต่หลักของอ.สุลักษณ์เป็นการติติงในทำนองติชมเพื่ออยากจะให้สถาบันดำรงอยู่คู่บ้านเมือง แต่ไม่ใช่การให้ร้ายป้ายสี แม้ถ้อยคำติชมจะรุนแรงไปบ้าง ไม่เหมาะสมบ้าง ยกตัวอย่างคำของอ.สุลักษณ์ คือ คลานยั้วเยี้ยเข้ารับพระราชทานปริญญา ตอนนั้นเราก็ค้นกฎหมาย ร.5 มีพระบรมราชโองการให้เลิกหมอบคลาน เนื่องจากช่วงนั้นต่างประเทศเริ่มเข้ามาและเห็นว่าประเพณีนี้ล้าหลัง พระบรมราชโองการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชก็ถือเป็นกฎหมาย เมื่อเป็นกฎหมายก็มีผลใช้บังคับ ห้ามหมอบคลาน แต่ใครจะหมอบคลานก็เป็นเรื่องของคุณ แต่โดยหลักก็ไม่ต้อง จุฬาฯ ตั้งแต่อดีตไม่มีการหมอบคลาน รับพระราชทานปริญญาบัตรก็เดิน แล้วก็มีอีกหลายประเด็นที่เราค้นให้เห็นประวัติศาสตร์เพื่อให้เห็นว่าไม่ได้กล่าวร้ายพาดพิงในหลวง ในที่สุดศาลก็พิพากษายกฟ้อง
ยกตัวอย่างในคดีสมยศง่ายๆ กรณีคาร์บ๊อง กรณีลอบวางระเบิดโบอิ้งที่คุณทักษิณนั่ง เหตุการณ์เหล่านี้โยงไปหมดเลย รวมตลอดทั้งเหตุการณ์ 6 ตุลา หลวงนฤบาล จะตีความได้อะไรขนาดนั้น
ในอดีตไม่แน่ใจว่ามีมาตรฐานอย่างไร แต่เคสนี้ใช้พยานโจทย์ที่เชื่อมโยงและตีความ
ใช่ ใช้พยานโจทก์และพยานโจทก์เบิกความก็ไม่แน่นอน อย่างกรณี 6 ตุลา ผมจับคดีเหล่านี้มาแต่ต้น มันเป็นเรื่องของขบวนการฝ่ายขวา ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันแล้วคุณจะไปโยงได้อย่างไร ถ้าหมายถึงอำมาตย์ ก็ต้องถามว่าตีความอย่างไร บรรดาขุนศึกถือเป็นอำมาตย์ไหม อย่าตีความไปเลยเถิด แม้แต่ศาลเองก็สับสนว่ากรณีพระเจ้าตากสินเสียชีวิตอย่างไร โดยหลักแล้วพระเจ้าตากสินถูกประหารชีวิต ที่นักประวัติศาสตร์เบิกความที่ศาลว่าถูกตีด้วยท่อนจันทน์แล้วก็ใส่ถุงแดงเพื่อไม่ให้เลือดตก เพ้อเจ้อ ไม่ใช่
เท่าที่สังเกตการณ์คดีของสมยศ จะเห็นว่า ประวัติศาสตร์มีหลายเวอร์ชั่น ฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยก็คนละเวอร์ชั่น ถ้าเราพยายามจะอธิบายในเรื่องประวัติศาสตร์ ก็เป็นการต่อสู้ในล็อคเดิมซึ่งศาลได้พิพากษามาแล้ว
เรากำลังพูดว่า เวอร์ชั่นนี้ก็ไม่ได้หมายถึงต้นตระกูล เป็นตระกูลอำมาตย์อะไรก็ได้ เพราะในหนังสือเล่มนี้ก็พูดถึงอำมาตย์มาโดยตลอด ซึ่งหมายถึง พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) และในเมื่อมันยังคลุมเครือแบบนั้นทำไมศาลถึงไปสั่งลงโทษเขาได้ ในเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ มีหลายสำนักแบบนี้ ทำไมไม่ยกประโยชน์ให้จำเลย ต้องชัดตรงนี้
โดยสรุปแล้ว กรอบการอุทธรณ์คดีสมยศเป็นอย่างไร ?
1.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 “บุคคล ไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่า โทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้
ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
คือ คนที่จะถูกลงโทษ ต้องมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำของคุณเป็นความผิดตามกฎหมาย และโทษที่กำหนดไว้ก็ต้องเป็นโทษในขณะนั้น ไม่ใช่ต่อมากฎหมายแก้โทษให้หนักขึ้นแล้วจะมาลงโทษ ต้องเป็นกฎหมาย ณ ขณะนั้น
2.พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484  บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาต้องรับผิดด้วยสำหรับการตีพิมพ์บทความของผู้อื่น แต่กฎหมายยกเลิกไปแล้ว เหลือ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 เมื่อกฎหมายบอกว่า บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาไม่มีความผิด แล้วทำไมคุณสมยศจึงมีความผิด
พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ไม่ได้เขียนชัดๆ ไม่ใช่หรือ ว่า บก.ไม่ต้องรับผิดชอบ ?
เขาบอกว่า บก.ผิด แต่ไม่ได้ใช่ผิดในฐานะที่เป็น บก. แต่ผิดในฐานะที่ สมมติถ้าจะลงบทความ เจตนารมณ์ของกฎหมายก็คือ คุณจะลงบทความนี้แล้วไม่ยอมเปิดเผยว่า นายหมู นายหมา นายแมวคือใคร ผิดตรงนั้น แต่ บก.ไม่ได้มีหน้าที่เหมือนแต่เดิม ไม่มีหน้าที่คัดหา ตรวจ กลั่นกรองก่อนลงพิมพ์เพื่อโฆษณาเผยแพร่ อันนั้นเป็นหน้าที่ตามกฎหมายเดิม เมื่อกฎหมายยกปั๊บ ก็ไม่มีความผิด พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ความผิดที่ระบุไว้ก็ไม่ใช่ในฐานะ บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา
3.ถ้าอย่างนั้นต้องอีกบทบาทหนึ่ง คุณต้องดูก่อนเผยแพร่ แต่เท่าที่ดูคำเบิกความพยานโจทก์  หนังสือ Voice fo Taksin คุณสมยศเป็น บก. และเขียนบทความของตัวเองด้วย
บทความที่มาถึงของจิตร พลจันทร์ เป็นบทความประจำ เคยลงตีพิมพ์มาก่อน ไม่เคยมีปัญหา และเมื่อเป็นบทความประจำ ไม่มีเวลามานั่งตรวจ เมื่อมาก็มักมานาทีสุดท้าย ซึ่งก็จะมีเจ้าหน้าที่ประจำตรวจคำผิด หาภาพมาเติม คุณสมยศก็ไม่มีโอกาสดูรายละเอียดทั้งหมด ส่งพิมพ์เลย จะผิดได้ต้อง “เสมือนหนึ่งเป็นคนเขียนเอง” แต่โอกาสจะทำแบบนั้นไม่มี
นี่คือประเด็นหลักที่เราจะยื่นอุทธรณ์  ประเด็นรองมาคือ ถ้อยคำทั้งหลายนั้นเป็นการตีความที่คาดการณ์เอาเองของศาลว่าหมายถึงสถาบัน ข้อความนั้นก็น่าจะไม่ผิดด้วย เป็นการตีความขยายเพื่อเอาผิดกับคนที่เขียน
เท่าที่ดูรายงานกระบวนพิจารณา ทนายเองก็พยายามต่อสู้เรื่อง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์เหมือนกัน
แต่ว่าต่าง ไปอ้างว่าเคยมีคำพิพากษาฎีกา แต่ไม่ได้อ้างรัฐธรรมนูญ ต้องถามว่าพอยกรัฐธรรมนูญแล้ว เป็นกฎหมายสูงสุดไหม ศาลต้องบังคับใช้ด้วยไหม ต้องบังคับใช้ด้วยเนื่องจากเป็นไปตามมาตรา 27 “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง”
ดูคำพิพากษา จะบอกว่าสมยศมีหน้าที่คัดเลือกบทความ กลั่นกรองก่อนโฆษณาเผยแพร่ นั่นมันหน้าที่ของ บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาชัดๆ เลย เมื่อไม่มีกฎหมายแล้วไปลงโทษได้อย่างไร
แต่คำพิพากษาเขียนชัดเจน มีท่อนหนึ่งระบุว่า แม้จะพ้นผิดตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ แต่ไม่พ้นผิดตามม.112
ก็ 112 จะผิดได้ต้อง “เสมือนหนึ่งว่าเป็นคนเขียน” แต่พฤติกรรมมันพิสูจน์ไม่ได้แบบนั้น เพราะส่งมาท้ายๆ ตาลีตาเหลือกมา และเป็นบทความที่ลงประจำ ไม่ได้อ่านให้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วจะลงโทษได้อย่างไร ดังนั้น จึงย้ำว่า ต้องเสมือนหนึ่งเป็นคนเขียน ถ้าจะให้รับผิด แต่พยานโจทก์ก็บอกว่าไม่ได้มีเวลาทำอย่างนั้น โรงพิมพ์แรกยังไม่รับเลย เพราะงานมันด่วน ทำไม่ทัน
ส่วนใหญ่ผู้ที่โดนคดีนี้ มีแนวทางการต่อสู้ 2 แบบ ถ้าสู้คดีดูเหมือนโทษจะหนัก ยิ่งอุทธรณ์ด้วยยิ่งน่าจะมีความหวังไม่มาก จึงมีคนอยากให้เลือกแนวทางการขออภัยโทษ
ไม่เห็นด้วย ไม่รู้สิ ของสมยศอาจจะต่างจากกรณีอื่นๆ ที่มีเจตนาชัดเจน แต่กรณีของสมยศต่างออกไป เขาเขียนบทความลงใน Voice of Taksin ใช้ชื่อว่า สมยศ พฤกษาเกษมสุข และไม่เคยพาดพิงสถาบันเลย ก็พิสูจน์โดยตัวเองว่าเขาไม่ได้หมิ่น ทำไมต้องขอพระราชทานอภัยโทษด้วย ผมทำคดี หรือจะรับ ก็ต้องมั่นใจในข้อกฎหมายหรือสิ่งที่ผมทำอยู่ว่านั่นคือ ความถูก ถ้าลองผมเขวนิดหนึ่งผมไม่มีปัญญาเขียนอุทธรณ์ได้ ต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อก่อน
ในวันยื่นอุทธรณ์จะยื่นประกันด้วยไหม?
โดยหลักแล้ว คดีจะยืดเยื้อยังไงเราไม่ว่า เมื่อถือว่าคุณสมยศบริสุทธิ์ พฤติกรรมที่จะไม่ให้ประกันตัว คือ มีพฤติกรรมจะหลบหนี ข่มขู่หรือยุ่งเหยิงพยาน ต้องถามว่าจะข่มขู่พยานได้ไหม กระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนเรื่องหลบหนี ที่จับได้ที่ด่านกัมพูชาก็เพราะจะพาลูกทัวร์ไปเที่ยว และหลังออกหมายจับคุณสมยศก็เข้าออกกัมพูชาหลายเที่ยว ก็ปรากฏในพาสปอร์ต แล้วโดยหลักการแล้วไทยไปรับรองกติการะหว่างประเทศสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองตั้งแต่ 29 ตุลาคมปี 2539 รัฐธรรมนูญ 50 จะต่าง ฉบับอื่นจะต่าง ใน 50 มีม. 82 บอกว่า “รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ และพึงถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ...” ในกติการะหว่างประเทศนั้นเขียนชัดเจนว่า ปล่อยตัวเป็นหลัก ควบคุมตัวเป็นข้อยกเว้น ถ้าจะควบคุมตัวไว้ก็โดยเงื่อนไขของกฎหมาย
ในทางกลับกันลองดูคดี เกียรติศักดิ์ เด็กนักเรียนที่กาฬสินธุ์ถูกแขวนคอ ถามว่าคดีนี้โหดไหม ศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต อีกส่วนหนึ่งจำคุกตลอดชีวิต แต่ศาลก็ให้ประกันตัว ผมไม่ได้กล่าวหาตำรวจ ในช่วงเดียวกัน ในกาฬสินธุ์เป็นเมืองปลอดอาชญากรรม เด็กอายุ 14-15 ปีทำผิดติดคุกหมด ครั้งที่สองพบ 22-23 ศพ หาตัวคนกระทำความผิดไม่ได้ มีเกียรติศักดิ์หาได้รายเดียว ร้ายแรงไหม ได้ประกันตัวไหม แล้วถ้าเทียบคดีนี้ ทำไมคดีนั้นให้ประกันตัว 

เปิดคำพิพากษา จำคุก 3 ปี 4 เดือน ขายซีดีสารคดีข่าว ABC-วิกิลีกส์ ผิด 112

เปิดคำพิพากษา จำคุก 3 ปี 4 เดือน ขายซีดีสารคดีข่าว ABC-วิกิลีกส์ ผิด 112

ศาลสั่งจำคุกเอกชัย 5 ปี ปรับ 1 แสน จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือ 3 ปี 4 เดือน ปรับ 6 หมื่น ศาลอ้างอิงรัฐธรรมนูญ มาตรา 2,8,70,77 รัฐและประชาชนมีหน้าที่พิทักษ์สถาบัน จำเลยลุ้นประกันตัวเย็นนี้


 

28 มี.ค.56 ที่ศาลอาญา รัชดา มีการพิพากษาคดีของเอกชัย (สงวนนามสกุล) จำเลยซึ่งถูกฟ้องจากกรณีขายซีดีสารคดีเกี่ยวกับการเมืองไทย ซึ่งผลิดตโดยสำนักข่าว ABC ประเทศออสเตรเลีย และเอกสารวิกิลีกส์ 2 ฉบับ โดยศาลพิพากษาให้จำเลยมีผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 5 ปี ความผิดฐานไม่มีใบอนุญาตขายซีดี ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ลงโทษปรับ 100,000 บาท จำเลยนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน ปรับ 66,666.66 บาท  ทั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าฟังการพิจารณาคดีราว 20 คน โดยมีตัวแทนจากสถานทูตสวีเดน ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ รวมถึงสำนักข่าวเอบีซีด้วย
หลังทราบคำพิพากษา เอกชัยถูกควบคุมตัวไปยังห้องขังของศาลอาญาทันที ทนายความและบิดาวัย 80 กว่าปีของเขากำลังทำเรื่องประกันตัวซึ่งน่าจะทราบผลภายในเย็นนี้
เอกชัยกล่าวว่า เขารู้สึกผิดหวังที่ศาลตัดสินลงโทษเขาและไม่เข้าใจเจตนาของเขาที่ต้องการเผย แพร่ข่าวสารที่เป็นกลาง
เมื่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามว่ามีอะไรจะฝากถึงสำนักข่าว ABC หรือไม่ เอกชัยตอบว่า ไม่มี แต่ก็ขอขอบคุณที่ผลิตสารคดีการเมืองไทยที่ดีๆ ออกมา 
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนายเอกชัย ในวันที่ 10 มี.ค.54  บริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสาข้างสนามหลวง โดยทำการล่อซื้อวีซีดีที่เขาขายแผ่นละ 20 บาท แล้วแจ้งข้อหาคดีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112  และคดีจำหน่ายวีดิทัศน์โดยได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน พร้อมด้วยของกลางเป็นวีซีดีกว่า 100 แผ่น เครื่องไรท์ซีดี 1 เครื่อง พร้อมด้วยเอกสารของวิกิลีกส์จำนวน 10 ฉบับ เขาถูกจำคุกอยู่ราว 9 วันก่อนที่บิดาของเขาจะนำหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาทยื่นประกันตัวต่อศาล และศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราว


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมถึงรายละเอียดคำพิพากษา สรุปความได้ว่า การวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดประกอบธุรกิจจำหน่ายวีดิทัศน์หรือซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่นั้น ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 54 บัญญัติว่า ห้ามผู้ ใดประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่าจำเลยจำหน่ายแผ่นซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิด ส่วนที่อ้างว่ามีหลายร้านที่ไม่มีใบอนุญาตและขายซีดีการปราศรัยของคนเสื้อแดงอยู่ก่อนแล้วจำเลยจึงนำมาขายบ้าง จำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบเพื่อสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยสามารถจะจำหน่ายแผ่นวีดิทัศน์ได้โดยไม่ต้องรับใบอนุญาต ข้อกล่าวอ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ส่วนความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น จะต้องพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดำรงอยู่ในความรู้สึกของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบข้อความดังกล่าวด้วย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 2 บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มาตรา 8 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ มาตรา 70 บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 77 บัญญัติว่า ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญายังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อสถาบันเป็นพิเศษแตกต่างจากบุคคลทั่วไป ตามมาตรา 112 ด้วย
“จึงย่อมเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศตลอดไป ไม่เพียงแต่ในกฎหมายแม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความเคารพสักการะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล” คำพิพากษาระบุ
คำพิพากษายังระบุถึงความเห็นของพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนด้วยว่า เมื่ออ่านข้อความในปรากฏในซีดีและในเอกสารวิกิลีกส์แล้วเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นหมิ่นประมาท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันโดยเป็นการกล่าวหาเจ้าฟ้าชายวชิราลงกรณ์ มีพระจริยวัตรไม่เหมาะสมกับฐานะองค์รัชทายาท รวมทั้งมีการใช้คำว่า “ฮาเร็ม” ซึ่งส่อความหมายในแง่ไม่ดี รวมถึงการกล่าวหาเรื่องพระชายาลับที่เยอรมนี นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเอกสารวิกิลีกส์ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม 2551 แล้วยังมีข้อความในลักษณะเป็นการกล่าวหาว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ มีความเชื่อมโยงกับการรัฐประหารปี 2549 และความยุ่งเหยิงของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ข้อความดังกล่าวเป็นไปในลักษณะจาบจ้วงล่วงเกิน หรือเสียดสีเปรียบเปรยทำให้พระองค์เสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาทพระราชินีและองค์รัชทายาท
นอกจากนี้คำพิพากษายังมีการะบุถึงคำเบิกความของตำรวจซึ่งเป็นพยานโจทก์อีกว่า จำเลยจำหน่ายซีดีและเอกสารในการชุมนุมของกลุ่มแดงสยาม มีการตั้งเวทีปราศรัยเพื่อพูดถึงนายสุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ย่อมบ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยว่ากระทำการเพื่อต้องการโฆษณาให้ประชาชนที่มาร่วมกันชุมนุมหลงเชื่อข้อเท็จจริงในเอกสารดังกล่าว โดยประการที่น่าจะทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท ทรงเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง
คำพิพากษาระบุอีกว่า ภายหลังจับกุมจำเลยพร้อมของกลาง จำเลยรับว่าเป็นผู้จัดทำซีดีและเอกสารขึ้นมาเองโดยดาวน์โหลดมาจากอินเทอร์เน็ตและยอมรับว่าเห็นข่าวดังกล่าวครั้งแรกในอินเทอร์เน็ตแสดงให้เห็นว่าก่อนนำมาจำหน่ายจำเลยย่อมทราบถึงข้อความดังกล่าวแล้วว่ามีความผิดตามกฎหมาย แม้จำเลยนำต่อสู้ว่า จำเลยดูแล้วไม่รู้สึกว่าเนื้อหาข่าวดังกล่าวมีลักษณะผิดกฎหมาย และเพียงแต่ต้องการเผยแพร่ข่าวสารจากสำนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับการเมืองไทยซึ่งมีน่าเชื่อถือ มีมุมมองเชิงลึก และเป็นกลางเท่านั้น เห็นว่า เรื่องนี้ต้องดูความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความนั้น มิใช่ตามความเข้าใจหรือความรู้สึกของจำเลยไม่ได้ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระราชินีและรัชทายาทตามฟ้อง

“พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 54 วรรค 1 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
ความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชยาท จำคุก 5 ปี และฐานประกอบธุรกิจจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 100,000 บาท ทางนำสืบจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชยาท คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน และฐานประกอบธุรกิจจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 66,666.66 บาท รวมจำคุก 3 ปี 4 เดือนและปรับ 66,666.66 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบของกลาง” คำพิพากษาระบุ
เมื่อเวลา 19.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ที่ศาลอาญารัชดา ระหว่างญาติและทนายความในคดีรอคำสั่งศาลว่าจะให้ประกันตัวเอกชัยหรือไม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ยังไม่สั่งว่าจะให้เอกชัยได้ประกันตัวหรือไม่ ให้ส่งเรื่องไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา นายเอกชัยต้องอยู่ในความควบคุมตัวของเรือนจำอย่างน้อย 3-4 วันทำการ

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ศาลประกาศว่า วันนี้ เรื่องเยอะ มีถึง 58 เรื่อง กำลังเร่งพิจารณา

อ่านรายละเอียดการสืบพยานทั้งหมดได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/68#detail  จัดทำโดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์