วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

เมื่อ *รธน.* ขัดต่อ *กฎมณเฑียรบาล* ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

เมื่อ *รธน.* ขัดต่อ *กฎมณเฑียรบาล* ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
Posted: 23 Mar 2013 11:47 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าวเวบไซท์ประชาไท) 
              เมื่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 2 ขัดต่อกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467


ประการที่หนึ่ง


              ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 23 วรรคแรก บัญญัติว่า


             “ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตาม กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ”


             หมายความว่า แม้พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว พระรัชทายาทก็ยังไม่อาจขึ้นทรงราชย์ได้ทันที จะต้องรอกระบวนการทางคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเสียก่อน


             หลังจากจบกระบวนการดังกล่าวแล้วยังจะต้องมีการประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาท หรือองค์ผู้สืบราชสันติวงศ์ชึ้นทรงราชย์อีกด้วย โดยมาตรา 24 วรรคแรก บัญญัติให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน


             ยิ่งกว่านั้นรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 มาตรา 24 ก็ยังหาได้กำหนดระยะเวลาในการประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาท ไว้ว่าจะต้องกระทำการในกำหนดระยะเวลากี่วัน กี่เดือน กี่ปี


บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 23 และ 24 นี้ จะขัดกับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า


            “เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสมมุติท่านพระองค์ใดให้เป็นพระรัชทายาทแล้ว และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข้อความให้ปรากฏแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ ราชเสวกบริพารและอาณาประชาชน ให้ทราบทั่วกันแล้ว ท่านว่า ให้ถือว่าท่านพระองค์นั้นเป็นพระรัชทายาทโดยแน่นอนปราศจากปัญหาใด ๆ และเมื่อใดถึงกาลอันจำเป็น ก็ให้พระรัชทายาทพระองค์นั้นเสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษโดยทันที ให้สมดังพระบรมราชประสงค์ที่ได้ทรงประกาศไว้นั้น”


             บทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลฯ มาตรา 6 ดังกล่าวนี้จึงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 มาตรา 24 คือให้องค์รัชทายาทขึ้นทรงราชย์สันตติวงศ์ทันทีไม่ต้องมีประกาศอัญเชิญพระรัชทายาทจึงไม่มีขั้นตอนที่ประธานองคมนตรีจะต้องเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนแต่อย่างใด


ประการที่สอง


รัฐธรรมนูญ มาตรา 20 วรรคแรก วรรคสอง บัญญัติว่า


            “ในระหว่างไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามบัญญัติไว้ในมาตรา 18 (เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม) หรือมาตรา 19 (พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 18 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น) ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน...


ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 18 หรือ มาตรา 19 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน...”


            กรณีตามมาตรา 19 มาตรา 20 จะต้องมีกระบวนการโดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ทั้งยังกำหนดให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมิได้กำหนดระยะเวลาไว้เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องกระทำภายในกำหนด กี่วัน กี่เดือน กี่ปี


           ในกรณีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยเฉพาะในกรณีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยังทรงพระเยาว์ นั้น ตามกฎหมายมณเฑียรบาลฯ มาตรา 15 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ดังกล่าวมาแล้วในมาตรา 14 (พระชนมายุยังไม่ครบ 20 พรรษาบริบูรณ์) แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ท่านว่าให้ท่านเสนาบดีพร้อมกันเลือก เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์หนึ่งขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระชนมายุครบ 20 พรรษาบริบูรณ์ จึงให้ท่านผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์นั้นพ้นจากหน้าที่”


            ผู้ที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีนี้ตามกฎมณเฑียรบาลฯ ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ และมาตรา 17 และมาตรา 18 ให้เสนาบดีผู้มีอาวุโสมากที่สุดในราชการสองท่านเป็นที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เรียกว่า “สภาสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" หรือเรียกโดยย่อว่า “สภาสำเร็จราชการแผ่นดิน”


ประการที่สาม


รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 23 วรรคสอง บัญญัติว่า


            “ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบสันตติวงศ์ตามมาตรา ๒๒ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบในการนี้ จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธาน รัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหา กษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ"


            ตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้ หมายความว่า คณะองคมนตรีเป็นผู้เสนอพระนามของผู้สืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งจะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ส่วนกฎหมายมณเฑียรบาลฯ มาตรา 17 บัญญัติว่า “ในกาลสมัยนี้ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ราชนารีจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระแม่อยู่หัวบรมราชินีนาถ ผู้ทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาดอย่างพระเจ้าแผ่นดินโดยลำพังแห่งกรุงสยาม ฉะนั้นท่านห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใด ๆ เข้าไว้ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์เป็นอันขาด"


             ถ้าจะถามคนทั่วไปว่า เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายอื่นขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติกฎหมายอื่นที่ขัดกันก็ต้องถือว่าถูกยกเลิกแก้ไขไป


             แต่สำหรับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เป็นกฎหมายซึ่งตราขึ้นไนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นกฎหมายสำคัญเพราะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุดของปวงชนชาวไทย


             และกฎมณเฑียรบาลฯนี้ใช่จะห้ามการแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่การแก้ไขต้องทำตามหมวดที่ 7 ว่าด้วยการแก้กฎมณเฑียรบาล ดังนี้


             มาตรา 19 บัญญัติว่า "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ไว้ให้เป็นราชนิติธรรมอันมั่นคง เพื่อดำรงพระบรมราชจักรีวงศ์ไว้ชั่วกาลนาน และได้ทรงใช้พระวิจารณญาณโดยสุขุม ประชุมทั้งโบราณราชประเพณีแห่งกรุงสยามตามที่ได้เคยมีปรากฏมาในโบราณราชประวัติ ทั้งประเพณีตามที่โลกนิยมในสมัยนี้เข้าไว้พร้อมแล้วฉะนั้นหากว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดในอนาคตสมัยทรงพระราชดำริจะแก้ไขหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดแห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ก็ให้ทรงคำนึงถึงพระอุปการะคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ผู้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ขึ้นไว้ แล้วและทรงปฏิบัติตามข้อความในมาตรา 20 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้เถิด"


              มาตรา 20 บัญญัติว่า “ถ้าแม้เมื่อใดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องแก้ไขหรือเพิกถอนข้อความใด ๆ แม้แต่ส่วนน้อยหนึ่งในกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่าให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนัดประชุมองคมนตรีสภา ให้มีองคมนตรีมาในที่ประชุมนั้นไม่น้อยกว่า 2 ส่วนใน 3 แห่งจำนวนองคมนตรีทั้งหมด แล้วและพระราชทานข้อความอันมีพระราชประสงค์จะให้แก้ไขหรือเพิกถอนนั้นให้สภาปรึกษากันและถวายความเห็นด้วยความจงรักภักดีซื่อสัตย์สุจริต”


              ในมาตรา 20 วรรคสอง ตอนท้ายยังบัญญัติว่า “....ถ้าและองคมนตรีมีองคมนตรีที่มาประชุมนั้น มีผู้เห็นควรให้แก้ไขหรือเพิกถอนเป็นจำนวนไม่ถึง 2 ใน 3 แล้ว ก็ขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระขันติระงับพระราชดำริที่จะทรงแก้ไขหรือเพิกถอนนั้นไว้เถิด”


               ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติถึงเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ไว้ตามมาตรา 22 วรรคสอง ซึ่งต่างกับที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมณเฑียรบาลฯ


ข้อสังเกตของผู้เขียน


1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยเฉพาะหมวด 2 พระมหากษัตริย์มีบทบัญญัติขัดกับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 อยู่หลายเรื่องซึ่งล้วนแต่เป็นสาระสำคัญอันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ก็ร่างขึ้นภายหลัง กฎมณเฑียรบาลฯ ควรจะหลีกเลี่ยงการขัดกันกับกฎหมายสำคัญ เช่นนี้


2) หากจะคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ประสงค์จะแก้ไขบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลก็ควรจะดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักการแก้ไขกฎหมาย


3) ตามกฎมณเฑียรบาล หมวดที่ 7 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่จะมีพระดำริว่ามีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขหรือเพิกถอนข้อความใด ๆ แม้แต่ส่วนน้อยหนึ่งในกฎมณเฑียรบาล


4) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงนัดประชุมองคมนตรี และต้องมีองคมนตรีมา ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แห่งจำนวนองคมนตรีและองคมนตรีจำนวนดังกล่าวเห็นควรแก้ไขเพิกถอนตามพระราชประสงค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงค่อยมีพระบรมราชโองการให้แก้ไขหรือเพิกถอน


5) ถ้าองคมนตรีที่มาประชุมนั้นมีผู้เห็นควรให้แก้ไขหรือเพิกถอนมีจำนวนไม่ถึง 2 ใน 3 แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระขันติระงับพระราชดำริที่จะทรงแก้ไขหรือเพิกถอนนั้นเสีย (คือไม่ทรงแก้ไข)


6) ได้ตรวจดูรายงานการประชุมของ สสร. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 23 มาตรา 24 หมวดพระมหากษัตริย์แล้ว มีบันทึกเจตนารมณ์ของผู้ร่างไว้แต่เพียงว่า “คงเดิมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540" และยังบันทึกไว้ด้วยว่า “หลักการดังกล่าวนี้มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เป็นครั้งแรก” การบันทึกเหตุผลไว้แต่เพียงสั้นๆ เช่นนี้ อาจเป็นเหตุให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงใจได้ จึงสมควรแสดงเหตุผลในการแก้ไขไว้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 หมวด 2 ในอนาคต


7) หากมีการพิจารณาหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 2 อย่างไรแล้วน่าจะต้องตรวจดูประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 เพราะอาจจะมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ดังกล่าวข้างต้น


8) การแสดงความคิดเห็นขอแก้ไขบทกฎหมายในเรื่องเหล่านี้โดยเปิดเผยไม่ควรถูกมองว่ามีเจตนาล้มล้างสถาบันแต่ประการใด เพราะเป็นการกระทำในวิถีทางของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ ผู้คิดล้มล้างสถาบันนั้นคงไม่เสนอขอแก้ไขกฎหมายที่บกพร่อง แต่น่าจะเป็นผู้ซึ่งคิดดำเนินการซ่องสุมผู้คนและซ่องสุมอาวุธเพื่อกระทำการดังกล่าวในทางลับ ๆ มากกว่า


ผู้เขียนมีโอกาสทราบทางสื่อว่ามีนักการเมืองและบุคคลบางกลุ่มออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์เป็นจำนวนไม่น้อย


แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่านักการเมืองหรือบุคคลเหล่านั้นได้ทราบความจริงในเรื่องนี้บ้างหรือไม่ ถ้าไม่ทราบคิดผิดแล้วคิดใหม่ได้


แต่ถ้าทราบมาก่อนแล้ว ยังคิดคัดค้านการแก้ไขอยู่อีก ท่านก็ต้องตั้งคำถามตัวท่านเองว่าการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดนี้ กระทำเพราะท่านจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยใจจริง หรือ ว่าทำไปเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น.



หมายเหตุ : น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล เป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ปัจจุบันอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

คนไทยกับปัญหาการหมุดตรึงความหมายของความดี

คนไทยกับปัญหาการหมุดตรึงความหมายของความดี
Posted: 25 Mar 2013 10:22 PM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 
เกริ่นนำ
               ท่าทีของรัฐและประชาชนที่หมุดตรึง (Fixed) วาทกรรมบางอย่าง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอในประวัติศาสตร์ และในหลายๆ ประวัติศาสตร์แห่งการหมุดตรึงนั้น แม้ว่า จะมีลักษณะที่ไม่เป็นระเบียบนัก แต่วาทกรรมที่ประกอบสร้างขึ้นผ่านพิธีกรรมแห่งอำนาจ ได้ส่งผลรุนแรงต่อเหตุการณ์ที่จะตามมาในภายหลัง โดยที่ยังไม่ต้องให้คุณค่าเชิงศีลธรรมล่วงหน้าว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ดี หรือ เลว เรากลับรู้ได้อย่างหนึ่งว่า ที่ใดมีการหมุดตรึงความหมายของคำ หรือ มีการสถาปนาวาทกรรมขึ้น ที่นั่นมักมีการปลดปล่อยที่มีสัดส่วนความรุนแรงที่อาจจะมากกว่าอำนาจที่กดขี่ด้วยซ้ำไป เป็นต้น 

            การอภิวัฒน์ในฝรั่งเศส หรือ ขบวนการคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศ สิ่งนี้เป็นผลมาจากความสับสนปนอึดอัดของประชาชนในรัฐที่เริ่มจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่มีความหลากหลาย และถ้ารัฐไม่มีกลไกที่ดีในการจัดการปัญหาแบบใช้หลักเสรีภาพและความเท่าเทียม ส่วนมากแล้วไม่นานนักหลังจากรัฐดำเนินวิธีการอย่างผิดพลาด การปลดปล่อยจะเกิดขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สำคัญกว่านั้น การปลดปล่อยอาจขับเคลื่อนอย่างโหดร้ายทารุณ ตามสภาพที่ประชาชนเคยถูกรัฐกดขี่ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็เป็นเรื่องที่สังเกตจากโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ได้ไม่ยากนัก

เนื้อหา

             วาทกรรม (Discourse) ที่ประกอบสร้างขึ้นต้องมีลักษณะเบียดเบียน เบียดบัง วาทกรรมอื่น เพื่อที่จะได้สถาปนาตัวเองเป็นกระแสหลัก ให้ตัวเองเป็นหนทางเดียวและความเที่ยงแท้ ส่วนมากในประวัติศาสตร์ วาทกรรมของผู้ปกครองรัฐจำเป็นต้องอ้างถึงความชอบธรรม (สากล) บางอย่างเพื่อให้มีอำนาจเหนือผู้ถูกวาทกรรมครอบงำโดยสมบูรณ์ เช่น กฎหมายนี้พระเจ้าเป็นผู้ประทานมา จะเห็นว่า มีการอ้างอำนาจเทวสิทธิ์ (Divine Authority) เพื่อการันตีความชอบธรรมของกฎหมายนี้  กล่าวอย่างโหดร้ายสำหรับศตวรรษที่ 21 คือ ตัวบทหรือบริบทจะเป็นอย่างไรไม่จำเป็นต้องสน ขอเพียงระบุตามตัวอักษรมาเช่นนี้ และมีการตีความที่ชอบธรรมเช่นนี้ เป็นอันกระทำได้ไม่ผิด ไม่ถือเป็นความชั่วร้าย 

http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/f/f8/Malleus.jpg/250px-Malleus.jpg

         เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ยุคกลาง เช่น มัลเลอูส มัลเลฟีการุม (Malleus Maleficarum) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ตำราล่าแม่มด” ซึ่งภายหลังเมื่อวิเคราะห์วรรณกรรม (Bibliography) แล้วพบว่า หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้ใช้ (นักล่าแม่มด) มั่นใจ เพราะมีการอ้างอำนาจเทวสิทธิ์ของพระคัมภีร์และนักปราชญ์ศาสนจักรคนสำคัญ อย่างโธมัส อากวีนูส การันตีความชอบธรรมของหนังสือเล่มนี้ จึงกลายเป็นว่า จะทำทารุณกรรมกับใครก็ได้ไม่มีความผิด และควรรู้ว่า หนังสือเล่มนี้ถูกประทับตรารับรองจากสันตะปาปา นั่นคือ ผลสำเร็จของการถูกสถาปนาเป็นวาทกรรม เช่นนี้ เรากล่าวได้ว่า มีการหมุดตรึงความหมายเกิดขึ้น และสิ่งใดที่ผิดจากความหมายนี้เป็นอันนอกรีตไปเสียหมด สำหรับยุคกลางการจัดการสิ่งที่ผิดจากความหมายกระแสหลัก คือ ฆ่าและทารุณกรรม แต่ในปัจจุบัน กฎหมายมีเจตนารมณ์คุ้มครองชีวิต จึงวิธีการจัดการอาจเปลี่ยนแปลง เป็น การห้ามมิให้พูด หรือ แสดงความคิดเห็น ซึ่งในศตวรรษที่ 21 การห้ามมิให้พูด หรือ แสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องที่ไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป เนื่องจากมีช่องทางในการสื่อสารมากมาย เช่น อินเตอร์เน็ต

 

            การหมุดตรึงความหมายไม่ได้ตื้นเขินอีกต่อไปในยุคนี้ เพราะเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่ก้าวหน้า ใครก็ตามที่อยากจะหมุดตรึงความหมายของพรรคพวกตนล้วนต้องพึ่งพาสื่อ ฉะนั้น การ “ผลิตซ้ำ” (Reproduce) ชุดความหมายและภาพลักษณ์ย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ ค่อยๆ ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น รัฐบาลออกมาประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอเรื่องน้ำมันแพงว่า ที่จริงจำเป็นต้องแพง เช่นนี้ เราอาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลกำลังใช้กระบวนการผลิตซ้ำ และอีกแง่หนึ่ง ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำแถลงของรัฐบาลก็อาจใช้วิธีการเดียวกันในการบอกกับสังคมว่า รัฐบาลโกหกเรื่องนี้ และนั่น เป็นการขับเคี่ยวกันตามปกติธรรมดาของโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่างทางความคิด ถ้าไม่นำเรื่องเทวสิทธิ์ (Divine Authority) เข้ามาเกี่ยวข้อง

https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhztjwKaeOqkQHtqPkBsO0s6WsniKHQFpyoD0WlFFVEF0XOBo9kxLn-wq4cFGfue8YBE6JGOt119m0AD8quxfU_3B8TJGw5kN0FMXn8rHuD1gKLyYZZxSUTrWsj3nTHoqVQ8OaaCAZpm3eK/s400/glorious+revolution.jpg

             เพราะสังคมไทยเชื่อเรื่องเทวสิทธิ์ เป็นต้นเรื่อง หลักเมือง พระเสื้อเมืองทรงเมือง วิญญาณบรรพบุรุษที่เคยปกป้องเอกราชของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเชื่อเฉพาะถิ่น ควรทำให้พ้นจากวังวนเรื่องผลประโยชน์ เช่น การให้คุณให้โทษกับผู้ที่คิดต่าง แต่แล้ว ตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนักของประเทศไทย เรื่องเทวสิทธิ์ถูกนำไปใช้ในลักษณะช่วยการันตีความชอบธรรมของพรรคพวกตน เป็นต้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ท้าทายกันให้ไปสาบานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (พระแก้วมรกต) หรือจะเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมเชิงสาปแช่งโดยอ้างอำนาจเทวสิทธิ์ ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกต่อสังคมแบบนี้ทำให้เกิดความลักลั่นระหว่างความเป็นชาวพุทธในนิกายเถรวาทที่ไม่สนับสนุนเรื่องเหนือธรรมชาติ กับ ความเป็นชาวไทยพื้นถิ่นซึ่งมีความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ หลายครั้งก็เป็นเพียงแต่การแสดงบทบาทสมมติเพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับพรรคพวกตนเอง หรือที่เรียกกันว่า ปาหี่

            อย่างไรก็ตาม เทวสิทธิ์เป็นปัจจัยหลักที่หมุดตรึงความหมายของความดีในสังคมไทย เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหาเลย ถ้าการหมุดตรึงดังกล่าวเหลือพื้นที่ว่างให้กับการตีความแบบอื่นในสังคมบ้าง แต่ทว่า ใครก็ตามที่วางแผนใช้เทวสิทธิ์นี้มาอ้าง กลับยึดครองพื้นที่ในการสื่อสารทุกช่องทาง เพื่อผลิตซ้ำความหมายของความดีในสังคมไทย ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดการกดขี่ทางความคิดและเสรีภาพ รวมถึง เป็นการจงใจปล่อยปละละเลยให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ที่เห็นด้วยกับเห็นต่าง ซึ่งผลเลวร้ายที่สุด คือ เมื่อการปลดปล่อยเกิดขึ้น เทวสิทธิ์ ในฐานะสิ่งที่ถูกอ้างอาจถูกทำลายลงด้วย เพื่อป้องกันอย่างเข้มมิให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างได้อีก เป็นต้น แนวคิดเรื่องศาสนา คือ ยาฝิ่น ของ มาร์กซ และจะไม่มีผู้อ้างเทวสิทธิ์คนใดกล้าออกมารับผิดชอบต่อความเสียหายของเทวสิทธิ์ในฐานะสิ่งถูกอ้างเลย กลายเป็นว่า เทวสิทธิ์ซึ่งพ้นจากภาระหน้าที่ในการปกครองมนุษย์ไปนานแล้ว กลับต้องมารับเคราะห์ เพราะถูกนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณ ทั้งที่ ในความเป็นเทวสิทธิ์เอง มิได้ปฏิเสธความแตกต่างของความหมายเลยแม้แต่น้อย เป็นต้น ความขัดแย้งกันเองในตัวบทของคัมภีร์ การมีพระเจ้าหลายองค์ การผสมผสานกับศาสนาโบราณ เพียงแต่ว่า มนุษย์ผู้ใช้อำนาจจำเป็นต้องผูกขาดอำนาจเทวสิทธิ์กับตัวไว้ เพื่อสถาปนาอำนาจเทวสิทธิ์ตามความหมายของตัวเสียใหม่ หรือไม่ก็ปฏิเสธความเป็นเทวสิทธิ์เดิมเสีย แล้วสถาปนาสิ่งที่คล้ายกับความเป็นเทวสิทธิ์ เช่น วาทกรรมเงินคือพระเจ้า วาทกรรมคนมีเงินทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด เป็นต้น

             ชนชั้นกลางต้องยอมรับว่าเป็นผู้เข้าถึงเทคโนโลยีมากสุด ฉะนั้น จึงเป็นกลุ่มที่ผลิตซ้ำความหมายของความดีที่การันตีโดยเทวสิทธิ์จนกลายเป็นการหมุดตรึงในที่สุดด้วย โดยความไม่รู้หรือรู้ตัวก็ตาม การหมุดตรึงความหมายในสังคมจำลอง อย่างอินเตอร์เน็ตได้เริ่มต้นขึ้น มีกระแสหลักบางอย่างที่แสดงให้เห็น ได้ชัดเจนว่า ข้อความแบบนี้เท่านั้นคือความดี และข้อความอื่นๆ ไม่ใช่ความดี ซึ่งการหมุดตรึงความหมายเช่นนี้ เป็นการทำให้ภาษาซึ่งมีธรรมชาติเลื่อนไหลทางความหมายบิดเบี้ยวไป ที่สุดแล้ว จะมีแต่การผลิตซ้ำ ซึ่งเป็นแต่คำซ้ำๆ ที่สำคัญ การอธิบายขยายความ หรือ การสร้างจุดยืนใหม่จะกลายเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด นอกรีต สังเกตได้ว่า หลายคนปรารถนาจะเป็นนักล่าแม่มดด้วยซ้ำไป เพราะความดี-ความชั่ว มีการแบ่งข้างที่ชัดเจนแล้ว ขาดแต่ผู้ที่ทำผลงานในฐานะอัศวินแห่งความดีงาม แต่โลกใบนี้ เป็นร้อยปีแล้วที่มีนักคิดมากมายเสนอว่า ไม่จำเป็นต้องมีการแบ่งความดี-ความชั่วที่ชัดเจนตายตัวเช่นนั้น แต่เรื่องนี้ ยังใหม่เสมอสำหรับสังคมไทยที่ให้คุณค่าอย่างสับสนระหว่างเทวสิทธิ์กับอำเภอใจของตัวเอง ซึ่งผู้ที่อ้างระบบนี้จะได้รับผลประโยชน์เสมอ และไม่เคยรับผิดชอบด้วยหากระบบเทวสิทธิ์จะถูกทำลายไป อาจกล่าวได้ว่า ชนชั้นกลางมัวแต่ทำมาหากินและค่อนข้างล้าหลังในการติดตามแนวคิดเหล่านี้

             เป็นที่น่าสังเกตว่า ในศตวรรษที่ 21 การหมุดตรึงและผูกขาดความหมายอาจทำได้ด้วยทุน เช่น การที่อเมริกามีข้ออ้างในการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังบางประเทศ แต่ ในประเทศไทยยังสามารถทำได้ทั้งทุนและเทวสิทธิ์ ที่สำคัญการผูกขาดแบบไทย เป็นการหมุดตรึงในลักษณะที่ไม่ปล่อยให้มีการให้ความหมายอื่นแม้แต่น้อย อาจกล่าวได้ว่า การให้ความหมายแบบอื่นถูกตัดสินไปล่วงหน้าแล้วว่า ดีหรือชั่ว เช่นนี้แล้ว การปะทะกันทางความคิดอย่างรุนแรงและป่าเถื่อนอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าฝ่ายหนึ่งอ้างอำนาจเทวสิทธิ์และอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอำนาจทุนซึ่งเป็นเทวสิทธิ์ใหม่ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงได้ในที่สุด ถ้าทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะจับจองพื้นที่ทั้งหมดของอีกฝ่าย เราสังเกตได้จากความไม่รู้ตัวของชนชั้นกลางที่ผลิตซ้ำวาทกรรมแห่งความเกลียดชังในเรื่องนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นเป็นนัยว่า อย่างไรก็ตาม อีกฝ่ายจะต้องได้รับโทษ เรื่องนี้ค่อนข้างล้าหลังอีกเช่นกัน ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เพราะโลกยุคปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้น อาจกล่าวในแง่ร้ายว่า มันมีพัฒนาการไปไกลกว่านั้นไม่ว่าจะดีหรือชั่วก็ตาม

สรุป     
            โลกสมัยใหม่เรียกร้องการจำแนกแยกแยะที่ละเอียดลออ กล่าวโดยง่ายว่า ยิ่งคุณใช้เทคโนโลยีที่ละเอียดซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร คุณอาจต้องจ่ายด้วยชีวิตที่ต้องจำแนกแยกแยะให้ละเอียดซับซ้อนยิ่งขึ้น และในเมื่อเทวสิทธิ์ควรถูกทำให้อยู่คนละประเด็นกับผลประโยชน์อย่างจริงจัง เพราะมีประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนแล้ว ประกอบกับมีการถอดบทเรียนมาแล้วว่าการผลิตซ้ำความหมายของความดีโดยอ้างเทวสิทธิ์จะกลายเป็นการผูกขาดและหมุดตรึงความหมายซึ่งไม่เคยทำให้อะไรดีขึ้น ซ้ำร้ายจะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายมากขึ้นหากมีการปลดปล่อยจากรากหญ้า จะดีกว่าหรือไม่ ที่จะช่วยกันสร้างพื้นที่การให้ความหมายใหม่ๆ ในสังคม ซึ่งจะเป็นการปลดปล่อยความคับข้องใจและข้อสงสัยที่แต่เดิมไม่อาจพูดได้ ให้กลายเป็นแบบฝึกหัดสำหรับการเสวนากันทางความคิด  

         เพราะหากยืนกรานที่จะหมุดตรึงความหมายของความดีเช่นนี้แล้ว ประเทศไทยจะไม่มีโจทย์อะไรใหม่ให้ตอบ เพราะทุกโจทย์มีเฉลยอยู่แล้ว หน้าที่ของประชาชนไทยคือคัดลายมือตามที่ครูสั่ง เพื่อว่า “ลายมือนั้นคือยศ” ได้สักวัน 

โคตรหวย งวดประจำวันที่ 1-4-56

โคตรหวย งวดประจำวันที่ 1-4-56
นำเสนอ เพื่อกระตุ้นต่อมความคิด ให้หูตาท่านสว่างไสว



     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
     
  
  
  




ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่อง ::