วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเมืองเรื่อง “ยกเมฆ” ของคน “แอ๊บฉลาด”

การเมืองเรื่อง “ยกเมฆ” ของคน “แอ๊บฉลาด”

         ละครฉากใหญ่กำลังเปิดฉากขึ้นอย่างเข้มข้น แต่เป็นฉากเดิมๆ ซ้ำๆ เหมือนละครช่องเจ็ดและช่องสาม ที่พระเอกไม่รู้ว่านางเอกบริสุทธิ์เลยข่มขืน แต่สุดท้ายก็รักกัน หรือที่จริงนางเอกนั้นเป็นลูกผู้ดีมีเงินตกยากที่ตามหาพินัยกรรมของพ่อที่ ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน  เช่นเดียวกันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ที่คิดมุกใหม่ๆ ไม่ออก นอกจากลอกท่อ ขึ้นรถเมล์ เทขยะ ฯลฯ ที่เราจะเห็นได้เฉพาะเมื่อเวียนมาถึงเทศกาลการเลือกตั้ง และตอนนี้...เราก็กำลังดูฉากเดิมๆ อยู่ ก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งจริงขิงผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ

         อีกหนึ่งละครฉากใหญ่ที่กำลังเล่นไปควบคู่กันก็คือเกมการเมืองที่ดุเดือด เข้มข้น และดูจริงจัง ดุเด็ด เผ็ดมันส์ มากกว่าการลอกท่อ ขึ้นรถเมล์ เทขยะ ฯลฯ โดยในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 18 คน สังกัดพรรคการเมือง 3 คน คือ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ พลตำรวจเอก ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ พรรคเพื่อไทย และนายจำรัส อินทุมาร พรรคไทยพอเพียง และผู้สมัครอิสระอีก 15 คน โดยที่พอจะคุ้นชื่อและเป็นข่าวมากหน่อยเห็นจะเป็นพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส นามกลุ่ม "พลังกรุงเทพ" และนายสุหฤท สยามวาลา ดีเจชื่อดัง ที่ออกสตาร์ทหาเสียงก่อนใครเพื่อน

http://host103.hunsa.com/img2/load_cpic.php?fid=212706&mime=image/jpeg&ext=jpg         ความดุเด็ดเผ็ดมันส์เริ่มตั้งแต่การที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งอดีตผู้ว่า กทม. หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงสมัครเพื่อยึดเก้าอี้เดิมของตัวเอง ซึ่งตามมาด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายด้วย “Performance” ในการทำงานที่ผ่านมาในฐานะผู้ว่ากทม.นั้น ไม่สู้ดี ถึงขั้นมีการเขียนข่าวว่าแม้แต่ผู้ที่นิยมชมชอบในตัวพรรคประชาธิปัตย์เอง (ซึ่งเป็นประชาชนคนธรรมดา) ยังไม่อยากจะเลือกกลับให้เข้าไปทำงานอีกครั้งเลย ตามมาด้วยข่าวพรรคเพื่อไทยที่เปิดตัวผู้สมัครตามข่าวว่า แม้แต่ส่ง “เสาไฟฟ้า” ลงสมัคร ก็ยังชนะเลย ซึ่งกลายเป็นฉายาต่อมาของ พลตำรวจเอก ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยและอีกหนึ่งคนคือ คุณสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครอิสระที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากที่สุดอีกคนหนึ่ง ทั้งด้วยวิธีการการหาเสียง ประวัติส่วนตัว และนโยบาย

         จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ มีการเผยแพร่โปสเตอร์แคมเปญอันหนึ่งทางเฟซบุ๊ก สืบความได้ว่าน่าจะมาจากเพจ “พวกเราชาวไทยไม่ยุบสภาและมาเอาคนโกงชาติทักษิณกลับคืนมา” โดยมีการอ้างอิงข้อความบนโปสเตอร์นั้นมาจากความในใจเบื้องหลังคนบันเทิงคน หนึ่ง ซึ่งดูจากเครดิตท้ายโปสเตอร์เขียนไว้ว่า Thipdhida Satdhathip นักเขียนบทภาพยนตร์ที่ข้อความการแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กของเธอเกี่ยวกับ เรื่องการแบนละครเรื่องเหนือเมฆนั้นได้รับการเผยแพร่แชร์ต่ออย่างแพร่หลาย และนี่อาจเป็นอีกครั้งที่ข้อความการแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กของเธอถูกนำมา เผยแพร่ในรูปแบบการจัดทำโปสเตอร์แคมเปญสู่สาธารณะในโลกโซเชียลมีเดีย โดยข้อความดังกล่าวปรากฏว่า

“หนึ่งคะแนนเสียงมีค่าอย่าใช้เพื่อความมัน แปลกแตกต่าง หรือกับพรรคอิสระที่มาก็ไม่ชนะอุตสาห์มาทำไม ????  อย่าเป็นคนแอ๊บใสที่อยากแสดงว่า “เป็นตัวของตัวเอง” จนไม่แหกตาดูว่ารอบๆ ตัว เหี้ย !!! มันกำลังแพร่เชื้อ อย่ามุ่งปัจเจกจนลืมภาพรวมผืนใหญ่ อย่าเป็นมือหนึ่งที่ส่งมอบประเทศไทย ป้อนใส่ปากทักษิณ BY Thipdhida Satdhathip”

พลันที่อ่านข้อความจบ ดิฉันก็คิดว่า คงต้องตีความแบบ “เหนือเมฆ” สักหน่อย อ่านรวมๆ เหมือนว่าจะดี เพราะยกเอา “ภาพรวม” เป็นหลัก แต่ไปริดรอนสิทธิ (รวมถึงดูถูกเหยียดหยาม) ทั้งผู้สมัคร และผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่นั่นก็ไม่เท่ากับคอนเซ็ปต์ความคิดอันจะพูดถึงต่อไป

อ่านแบบขำๆ นี่อาจจะเป็นเกมการเมืองแบบ “เหนือเมฆ” ก็เป็นไปได้ ในเมื่อหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ สตาร์ทด้วยภาพลักษณ์ที่ติดตัวมาจาก Performance ในขณะที่เป็นผู้ว่า กทม. ไม่สู้ดีนัก ซึ่งอาจทำให้คะแนนเสียงลดลงทั้งจากฝ่ายตรงข้ามที่ผูกปิ่นโตกับพรรคเพื่อไทย หรือฝ่ายที่นิยมชมชอบพรรคประชาธิปัตย์อยู่แต่เดิม แต่ไม่อยากลงคะแนนเสียงให้หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เพราะพิจารณาจากผลงานครั้งที่แล้ว รวมถึงผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่นๆ ที่อาจจะลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครอิสระอื่นๆ ด้วยเพราะความนิยมชมชอบในนโยบาย หรือความสนิทสนมส่วนตัว เป้นญาติ เป็นเพื่อน เป็นเจ้านาย อะไรก็ว่าไป ดังนั้นสาวกของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหลาย ในเมื่อมิอาจกู้ชื่อ “เสีย” จากการเป็นผู้ว่า กทม. ในครั้งก่อนเพื่อเรียกคะแนนเสียงในการลงสมัครครั้งนี้แล้ว จึงได้คิดแคมเปญใหม่คือ ไม่ต้องพูดถึงนโยบายกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครของใคร ไม่ต้องดูว่าผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แต่จงดู “ภาพรวม” กันดีกว่าว่า ถ้าคุณไปเอาคะแนนเสียงไปทิ้งกับบรรดาผู้สมัครอิสระทั้งหลาย จนเป็นการเกลี่ยคะแนนเสียง อาจทำให้ผู้สมัคร “เสาไฟฟ้า” จากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้ ซึ่งจะการสูญเสียพื้นที่การปกครองทั้งระดับกรุงเทพฯ และระดับประเทศ (เนื่องด้วยพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลอยู่ ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ โดยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่า กทม. ก็เท่ากับว่ายังเหลือกรุงเทพฯ ที่ยังไม่สูญเสียเขตพื้นที่และอำนาจการปกครองให้พรรคเพื่อไทย)

            อุ๊ย! มันช่าง “เหนือเมฆ” เสียจริง 

ที่เหนือเมฆ หรือยกเมฆ มากไปกว่านั้นคือ อุปมาว่าด้วยการสูญเสียประเทศ ดั่งพม่าจะมาตีเมืองเหมือนสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 อย่างนั้นแหละ สงสัยคงจะดูหนังเรื่องนเรศวรมากไป ! หากจะกล่าวถึงเรื่องการสูญเสียประเทศเชิงกายภาพ ตราบใดที่เราเสียภาษี บ้านที่ดิน เป็นเชื่อของเรา รัฐบาลไม่บ้าจี้ (ซึ่งแน่นอนว่ามันคงโง่มาก) ลุกขึ้นมาออกกฎหมายริบทรัพย์สินของประชาชนให้ตกเป็นของรัฐทั้งหมด แล้วเราจะไปเสียประเทศให้คร้ายยย...(ยกเว้นฝรั่งหรือทุนต่างชาติที่ร่วมหุ้น กับทุนไทยที่กว้านซื้อที่ดินริมทะเลสร้างเป็นคอนโด รีสอร์ท โรงแรมหรูไปเสียหมด อันนี้สิ ของจริง!) หรือหากจะมองในแง่การครอบงำของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ปัจจุบันนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มี ลิสต์รายชื่อมาสิว่ากลุ่มทุนที่ผูกขาดที่ดิน แบรนด์อุปโภคบริโภคของคนไทย (เซเว่นเป็นต้น) จะมีสักกี่เจ้ากี่นามสกุลกันเชียว หรือหากจะพูดถึงในแง่เขตพื้นที่การบริหาร ไม่ว่าพรรคไหน หรือกลุ่มอิสระไหนเข้ามาบริหารกรุงเทพฯ ก็ต้องมีระบบในการตรวจสอบด้วยกันทั้งนั้น และก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องตรวบสอบ (การทุจริต การเอื้อประโยชน์) ไม่ว่าพรรคไหนๆ ก็ตาม

ดิฉันไม่ได้นาอีฟ หรือแอ๊บใส โลกสวย ที่จะบอกว่าการที่พรรคการเมืองหนึ่งมีอำนาจปกครองในฐานะรัฐบาลแล้วพรรคการ เมืองของตัวเองก็ได้เข้ามาทำหน้าที่บริหารกรุงเทพฯ นั้นจะไม่เกิดการเอื้อประโยชน์ทางการเมือง แต่สิ่งที่กำลังจะบอกก็คือ การอุปมาไปไกลขนาดนั้น มันไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ มันยกเมฆ มันเกินจริง กับการที่พยายามจะโน้มน้าวให้แคมเปญนั้นดูมีเหตุมีผล น่าเชื่อถือ ทั้งๆ ที่มันไม่น่าเชื่อถือเลยสักนิด !

เริ่มตั้งแต่ประการแรก กับการดูถูกเหยียดหยามผู้สมัครอิสระคนอื่นๆ ที่ลงชิงชัยในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้กับคำกล่าวที่ว่า “พรรคอิสระที่มาก็ไม่ชนะอุตสาห์มาทำไม ????” (สะกดตามตัวบทเดิมในโปสเตอร์) เราคงต้องกลับไปทบทวนพื้นฐานการเมืองของประเทศไทยก่อนเสียว่า เราไม่ได้มีระบบสองพรรคอย่างอเมริกา ที่มีผู้ชิงชัยเพียง 2 ฝ่าย ใครเป็นรีพลับบลิกันก็ลงคะแนนให้รีพลับบลิกัน ใครเป็นเดโมแครตก็ลงคะแนนให้เดโมแครต ส่วนใครไม่เป็นอะไรเลย ก็รอดูว่านโยบายของใครน่าสนใจ และเราอยากจะสนับสนุนนโยบายของพรรคไหน และไอ้คำว่า นโยบายของใครน่าสนใจใครอยากจะสนับสนุนนโยบายของพรรคไหน หรือผู้สมัครคนใดก็เป็นพื้นฐานแห่งการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และในเมื่อประเทศไทยไม่ใช่ระบบสองพรรค จึงเปิดโอกาสให้มีผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ หรือในนามอิสระ ที่อาจมีนโยบายที่แตกต่างออกไปจากสองพรรคใหญ่ให้เป็นทางเลือกของคนกรุงลง สมัครรับเลือกตั้งได้

ซึ่งสงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหารนะคะ...

แต่แม้ว่าในที่สุด หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เราก็ไม่สามารถไปโทษผู้สมัครอิสระอื่นๆ ได้ว่า มึงเสือกมาลงเลือกตั้งทำไม เห็นไหมว่าคะแนนเสียงมันถูกเกลี่ยไป เพราะการเสือกมาลงสมัครรับเลือกตั้งนี้เป็นการเสือกที่ได้รับการรับรองโดย กฎหมายการเลือกตั้งและระบการเลือกตั้งของประเทศนี้ ที่เราไม่อาจเสือกไปว่าเขาได้ว่า “พรรคอิสระที่มาก็ไม่ชนะอุตสาห์มาทำไม ????” เพราะเขามีสิทธิโดยชอบธรรมทุกประการ และหากพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์แพ้การลือกตั้ง (ระวังไว้เหอะ ถ้าคุณสุหฤท สยามวาลา ได้ แล้วคุณจะหงายเงิบ)  มันก็ไม่ใช่ความคิดของผู้สมัครอิสระที่ไปแชร์ หรือไปเกลี่ยคะแนนเสียง แต่เป็นเพราะคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ (ที่โดยนัยของโปสเตอร์นั้นบ่งบอกว่ากรุณาเลือกพรรคประชาธิปัตย์นะคะ) ได้ไม่มากพอที่จะได้รับการเลือกตั้งต่างหากล่ะ

การไปตราหน้าด่ากราดว่า “พรรคอิสระที่มาก็ไม่ชนะอุตสาห์มาทำไม ????” เป็นการแสดงถึงความคับแคบทางความคิดในทางการเมืองของตนเองที่ไปตัดสินคนอื่น จากจุดยืนทางการเมืองของตนเองฝ่ายเดียวอีกด้วย

        และยิ่งตอกย้ำความคับแคบทางความคิดของตนเองแบบคูณสองกับคอนเซ็ปต์ต่อมา ที่ว่า “อย่าเป็นคนแอ๊บใสที่อยากแสดงว่า “เป็นตัวของตัวเอง” ประการแรกการเลือกตั้งนั้น เป็นการใช้สิทธิโดยเจตจำนงเสรีที่บุคคลหนึ่งพึงมีโดยไม่ถูกกระทำด้วยการ บังคับ ข่มขืน ทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่ใช่หรือ และหากเขาเหล่านั้นจะใช้เจตจำนงเสรีของตนเองเลือกผู้ว่า กทม. ที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ การแสดงความ “เป็นตัวของตัวเองในทางความคิด” ด้วยการเลือกผู้ว่า กทม. ตามที่เขาพึงพอใจในนโยบายนั้น เขาผิดอย่างไร ทำไมจึงต้องถูกตราหน้าว่า “แอ๊บใส” พูดง่ายๆ พวกเขาไม่จำเป็นต้องเลือกพรรคเพื่อไทยก็ได้ แต่สมมติว่าคนกลุ่มหนึ่งเบื่อมากกก...กับการเมืองสองพรรคใหญ่ ที่ตีกันไปกันมาแล้วกำลังจะตัดสินใจเลือกผู้สมัครอิสระ แล้วเผอิญว่ากำลังการแสดงความเป็นตัวของตัวเองก้อนนี้ดันใหญ่ซะด้วย แล้วสมมติต่ออีกว่าทำให้ผู้สมัครอิสระคนหนึ่งได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้ว่า กทม. นั้น เขา “แอ๊บใส” อย่างไร เขาผิดอย่างไร ???

          การจะเลือกใครนั้น ปัจเจกคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่ง เขาอาจจะชื่นชอบ ศรัทธา ในนโยบาย (ที่สองพรรคนั้นอาจไม่มี หรือมีคนละเรื่อง) หรืออาจมี agenda ที่เหนือเมฆไปกว่านั้น คือเปลี่ยนมือการปกครองจากสองพรรคยักษ์ใหญ่ไปเลยก็ได้ นี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเราทุกคน ที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจจะมาละเมิดหรือดูหมิ่น เหยียดหยาม

ทางที่ดีที่ถูกที่ควร สุภาพและวิญญูชนที่มีสติสัมปชัญญะพึงกระทำนั้นก็คือ หากคุณต้องการให้พรรคไหนที่คุณชื่นชอบนั้นชนะการเลือกตั้งก็จงช่วยเขาหา เสียง ช่วยเขาเผยแพร่นโยบายของเขา ไม่ใช่มากล่าวหาทั้งผู้สมัครอิสระ หรือคนที่จะเลือกผู้สมัครอิสระว่า เป็นมือหนึ่งที่กำลังทำให้ประเทศต้องล่มจมเพราะกำลัง “ส่งมอบประเทศไทย ป้อนใส่ปากทักษิณ”

         ซึ่งทั้งหมดนั้น มาจบที่บทสรุปของคอนเซ็ปต์ความคิดใหญ่ที่โปสเตอร์หรือข้อความนั้นกำลังส่ง สารถึงเรา นั่นก็คือ “มโนทัศน์ทางการเมืองของประชากรในเมืองผู้มีการศึกษา” ที่กำลัง “แอ๊บ” (หรือหลอก) ตัวเองว่า “ฉลาด” ฉันคือผู้ที่มีวิสัยทัศน์ทางการเมืองที่กว้างไกล มองขาดกว่าคนอื่นๆ ฉันคือคนดี รักประเทศไทย เห็นว่าอะไรเป็นอะไร ใครชั่ว ใครดี แล้วเราทั้งหมดต้องทำอย่างไร เชื่อฉัน อย่าหลงไปเชื่อใคร และโปรดดด...ปฏิบัติตามที่ฉันบอก (สั่ง กล่าว ขู่ หรือด่า) ไม่เช่นนั้นประเทศชาติจะฉิบหาย และหากประเทศชาติฉิบหายขึ้นมา (โดยที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นผู้ว่า กทม.) พวกมึงนั่นแหละ ที่ไม่ยอมเชื่อ พวกมึงคือ “สาเหตุ” ที่ต้องแบกรับความผิด เพราะดันไปเลือกผู้ว่าอิสระ (พวกผู้สมัครอิสระ มึงก็ผิดและโง่เหมือนกัน มองเกมไม่ออกเหรอว่าถ้ามึงสมัคร คะแนนเสียงจะถูกเกลี่ย ทำให้ประชาธิปัตย์ไม่ชนะ) ทำให้คะแนนเสียงถูกแชร์ ถูกเกลี่ย พวกมึง ไม่ใช่คนชั่ว แต่ก็โง่ที่ไมยอมเชื่อฟัง ปฏิบัติตาม เห็นไหมล่ะ ประเทศต้องฉิบหายแน่ๆ เพราะพวกมึง ต้องโทษพวกมึง เพราะฉันบอกแล้ว และฉันก็เลือกพรรครประชาธิปัตย์แล้ว พวกมึงนั่นแหละ อยากแนว อยากเป็นตัวของตัวเอง แต่เสือกไม่ดูภาพรวม โง่ดีนัก เห็นไหมล่ะ เป็นไง เพื่อไทยครองเมืองแล้ว !!! ประเทศฉิบหายแน่ !!!

         นี่คือมโนทัศน์ของผู้มีการศึกษา ที่ชอบยกตนอวดอ้างความฉลาดกว่าคนอื่นๆ รักประเทศไทยกว่าคนอื่นๆ และคนอื่นๆ ที่ไม่คิดเห็นไปตามที่พวกเขาคิดและบอก คือคนโง่ ฉลาดน้อย ไม่รักประเทศไทย (เพราะฉะนั้นประเทศนี้จึงควรมีแต่พวกเขาอยู่เท่านั้น ประเทศถึงจะเจริญ) และคนพวกนี้แหละที่จะพาประเทศชาติไปสู่ความฉิบหาย (เพราะฉลาดน้อยและอยากเป็นตัวของตัวเอง) ไม่ใช่พวกเขา ดิฉันจึงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงมีความคิดเห็นบ้าๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรามากมายก่อนหน้านี้ เช่น อย่างอยากให้คนที่ลงคะแนเสียงเลือกตั้งจบปริญญาตรีเท่านั้น หรือเสียภาษีมาก ลงคะแนนเสียงได้มากกว่า

และจะไม่แปลกใจเลยหากการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ชนะการเลือกตั้ง เพราะผู้สนับสนุนนั้นเป็นคน “แอ๊บ” ฉลาด ที่ได้กระทำการ “โง่ๆ” จนคนหมั่นไส้และรังเกียจจนไม่อยากจะเลือกนั่นเอง

พรรคเพื่อไทยต้องเร่งนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: พรรคเพื่อไทยต้องเร่งนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง


การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างพวกจารีตนิยมกับฝ่ายประชาธิปไตยที่ยืดเยื้อ ตั้งแต่ต้นปี 2549 ถึงปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่เศรษฐกิจสังคมไทย เกิดความแตกแยกแบ่งข้างอย่างรุนแรง และที่สำคัญคือ เป็นความขัดแย้งทางการเมืองครั้งแรกของประเทศไทยที่มีประชาชนเข้าร่วมทั้ง สองฝ่ายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มวลชนที่เข้าร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตย เฉพาะที่ออกมาต่อสู้บนท้องถนนทั่วประเทศก็มีจำนวนหลายแสนคน

http://farm6.staticflickr.com/5465/7422844768_2d5b672957_n.jpgผู้ที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากความขัดแย้งดังกล่าวก็คือ พวกกลุ่มชนชั้นนำจารีตนิยมที่ฉวยใช้มวลชนภายใต้การนำของกลุ่มอันธพาล พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยที่สามารถชนะเลือกตั้งปี 2554 ขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ตราบปัจจุบัน
ในการระดมมวลชนออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ ประชาชนบนท้องถนนเปรียบเสมือน “ทหารราบ” ที่ทำหน้าที่เคลื่อนไหว ประจันหน้า และปะทะกับพลังฝ่ายตรงข้าม และระหว่างมวลชนทั้งสองฝ่าย มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นขบวนคนเสื้อแดงได้ประสบความเสียหายมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากเหตุการณ์ “สงกรานต์เลือด” ปี 2552 และการสังหารหมู่ประชาชน เมษายน-พฤษภาคม 2553 มีประชาชนบาดเจ็บล้มตายรวมกันหลายพันคน และที่ถูกจับกุมคุมขัง ทั้งคดีพรก.ฉุกเฉินและคดีอาญาต่าง ๆ มากมายหลายร้อยคน

ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมมองดูความสูญเสียทั้งชีวิตร่าง กายและอิสรภาพของพี่น้องร่วมอุดมการณ์เหล่านี้ด้วยความเจ็บปวดอย่างที่สุด และยิ่งกลายเป็นความคับแค้นเมื่อกระบวนการยุติธรรมปฏิบัติต่อผู้ต้องคดีทั้ง สองฝ่ายอย่างไม่เท่าเทียมเป็นมาตรฐานเดียวกัน ในขณะที่คดีของแกนนำและมวลชนเสื้อเหลืองดำเนินไปอย่างเชื่องช้า มีการให้ประกันตัวเกือบทุกคดี แต่ในทางตรงข้าม คดีของแกนนำและมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยกลับดำเนินไปอย่างเฉียบขาด จับกุมคุมขังไม่ให้ประกันตัวเยี่ยงอาชญากรร้ายแรง ไปจนถึงคดีอาญาที่จบด้วยบทลงโทษรุนแรง

ผลที่เกิดขึ้น มิเพียงเป็นการสูญเสียสิทธิเสรีภาพแห่งตนเท่านั้น แต่เป็นการทำลายจิตใจและความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ต้องคดี ไปจนถึงทำลายครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง อาชีพการงาน และสถานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาทั้งหมด

ผู้ที่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อ และอิสรภาพของคนเหล่านี้ก็คือ แกนนำพรรคเพื่อไทย และบรรดาสส.พรรคเพื่อไทย ที่ปัจจุบันได้เป็นรัฐบาล รัฐมนตรี และตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ นั่งกันเต็มสภาและทำเนียบรัฐบาล คำถามคือ ที่ผ่านมา คนพวกนี้กระทำอะไรบ้างในทางประชาธิปไตยอันเป็นการแสดงว่า คุ้มค่าต่อการสูญเสียและเสียสละของมวลชนเหล่านี้?

ในการช่วยเหลือประชาชนที่สูญเสีย ก็มีเพียงการเยียวยาด้วยการจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ที่บาดเจ็บ สูญเสียชีวิตและร่างกายเฉพาะผู้ที่ไม่ต้องคดี! ส่วนการช่วยเหลือผู้ต้องคดีและถูกคุมขังนั้น ตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 พรรคเพื่อไทยมีความบกพร่องอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการหาทนายแก้ต่าง การประกันตัว การช่วยเหลือครอบครัว เงินทุนสนับสนุนต่าง ๆ มีเสียงต่อว่ามากมายว่า ตัวแทนพรรคเพื่อไทยที่เข้ามา “ช่วยเหลือ” ผู้ต้องคดีทำงานล่าช้า บกพร่อง ไปจนถึงข้อครหาเรื่องการแสวงหาประโยชน์จากผู้ต้องคดีและข่าวลือเรื่องการ เงินที่รั่วไหล

ในท้ายสุด ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ต้องจัดตั้งกันเอง รวบรวมเงินทุนบริจาค ลงแรงกันเองร่วมกับทนายอาสาสมัคร หาทางช่วยเหลือผู้ต้องคดีทั่วประเทศ ตั้งแต่การเข้าเยี่ยม การเงิน สุขภาพ ปัญหาครอบครัว ทำกันอย่างอนาถา ตามมีตามเกิด และอาจโชคดีบ้างเมื่อสส.พรรคเพื่อไทยในพื้นที่บางคนที่ยังมีมนุษยธรรม ให้การหนุนช่วยเท่าที่จะทำได้
เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ในระยะแรกก็มีความพยายามที่จะช่วยเหลือผู้ต้องคดีให้ได้ประกันตัวผ่านกรม คุ้มครองสิทธิ์เสรีภาพ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่เป็นผลด้วยอุปสรรคทางฝ่ายอัยการและศาล จนกระทั่งหลายคดีได้ทยอยพิพากษาจำคุกไป ความพยายามของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็จางหายไปพร้อมกับข้ออ้างว่า ไม่สามารถแทรกแซงอัยการและศาลได้

ที่แย่ที่สุดคือ พรรคเพื่อไทยได้เสนอพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติเข้าสู่สภาเมื่อกลางปี 2555 แต่กลับเป็นการกระทำที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงเพราะเป็นการมุ่ง “นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง” ให้กับทุกคนทุกฝ่ายโดยไม่แยกแยะถูกผิด พรบ.ปรองดองฉบับพรรคเพื่อไทยนี้มีลักษณะสองประการคือ เลวร้ายและเห็นแก่ตัว ที่ว่าเลวร้ายนั้น เพราะเอาการนิรโทษกรรมประชาชนไปผูกกับการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการ สังหารหมู่ประชาชน ส่วนที่ว่า “เห็นแก่ตัว” ก็คือ เอาการนิรโทษกรรมประชาชนไปผูกกับการนิรโทษกรรมคดีการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและนักการเมืองพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน

พรบ.ปรองดองฉบับนี้ก็คือการเอาประชาชนที่ต้องคดีคุมขังอยู่เป็นตัวประกัน เสมือนต่อรองกับประชาชนว่า ถ้าอยากออกจากที่คุมขังและปลอดคดี ก็ต้องกล้ำกลืนเลือด ยอมรับการนิรโทษกรรมผู้ที่สังหารประชาชนด้วย แกนนำพรรคเพื่อไทยยังทำให้การนิรโทษกรรมประชาชนยิ่งยุ่งยากมากขึ้นด้วยการ พ่วงเอาการนิรโทษกรรมคดีการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและนักการเมืองพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชนเข้าไปด้วย เสมือนบอกกับประชาชนว่า ถ้าอยากออกจากคุก ก็ต้องให้พวกตนได้ประโยชน์ด้วย ที่สำคัญคือ การรวมคดีการเมืองเข้ามายังทำให้พรบ.ปรองดองถูกต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายตรง ข้าม จนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

ในระยะสองปีมานี้ ความเคียดแค้นที่ประชาชนมีต่อพวกจารีตนิยมและกลุ่มทหารที่สังหารประชาชนได้ ค่อย ๆ ขยายไปเป็นความไม่พอใจต่อพรรคเพื่อไทย จนถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศมาได้เกือบสองปีแล้ว พวกเขาก็ยังคงแบกรับคดีร้ายแรงต่าง ๆ และถูกจำคุกอยู่เหมือนเดิม ความไม่พอใจของประชาชนได้เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นความโกรธและคับแค้นที่มีต่อ รัฐบาล รัฐมนตรี สส. และแกนนำพรรคเพื่อไทยโดยรวม

พรรคเพื่อไทยจะต้องตระหนักให้ชัดเจนว่า พวกท่านเป็นหนี้ประชาชนที่ออกมาต่อสู้ล้มตาย บาดเจ็บ พิการ และถูกจำคุกจนทุกวันนี้ ท่านเป็นหนี้คนพวกนี้ทั้งทางการเมืองและทางจริยธรรม การช่วยเหลือพวกเขาให้ถึงที่สุดไม่ใช่การให้ความเมตตาหรือให้ทาน แต่เป็น “การใช้หนี้” บัดนี้ โอกาสสำคัญได้มาถึงแล้ว นั่นคือ ได้มีข้อเสนอทั้งจากนักวิชาการและนปช.ให้เร่งนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนทั้งสอง ฝ่ายที่ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นการแยกเอาประชาชนเหล่านี้ออกมาจากความขัดแย้งระหว่างพวกจารีตนิยมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อไปอีกไม่ได้

พฤษภาคม 2556 นี้ พวกเขาก็จะถูกจำคุกมาครบสามปี ตำแหน่งลาภยศที่พวกท่านมีในวันนี้ ก็คืออานิสงส์จากความทุกข์ทรมาณของพวกเขา พวกท่านทั้งหลายในทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาไม่รู้สึกบ้างหรือว่า พวกเขาติดคุกนานเกินไปแล้ว!

เครือข่ายพิทักษ์สถาบันชุมนุมหน้าอียูจี้ขอโทษ - แจง ม. 112 จำเป็น


เครือข่ายพิทักษ์สถาบันชุมนุมหน้าอียูจี้ขอโทษ - แจง ม. 112 จำเป็น


31 ม.ค.56 เวลาประมาณ 10.00 น. เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้อง สถาบัน นัดหมายผ่านเฟซบุ๊กเพื่อชุมนุมสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (อียู) อาคารเคี่ยนหงวน 2 ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ  ในวันนี้เพื่อประท้วงอียู สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้อียูได้ออกแถลงการณ์กรณีในศาลไทยตัดสินจำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Voice of  Taksin  ว่า คณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ มีความเป็นห่วงต่อคำพิพากษาของศาลดังกล่าวเนื่องจากมีผลอย่างมากต่อสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและ ต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน ในขณะเดียวกันคำตัดสินดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะ ที่เป็นสังคมแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย











ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ราว 50 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยอยู่โดยรอบ และมีการถ่ายทอดสดโดยสำนักข่าวทีนิวส์

นายธนบดี วรุณศรี  ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ  กล่าวว่า การมาวันนี้ เพื่อมาเลคเชอร์ให้อียูฟัง ขณะนี้พยายามประสานงานกับผู้แทนสหภาพยุโรปเพื่อขอเข้าไปอธิบายรายละเอียด โดยมีประเด็นที่ต้องการอธิบายต่ออียูคือ 1. ต้องการให้เข้าใจสถานภาพกษัตริย์ของไทยว่าอาจไม่เหมือนกษัตริย์ประเทศอื่น บางประเทศในอียูไม่เคยมีกษัตริย์ อาจไม่เข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์มีความศักดิ์สิทธิ์ขนาดไหน 2.ต้องการอธิบายว่าทำไมต้องมีมาตรา 112 และไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย แม้แต่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็มีโทษจำคุก 4-5 ปี หากมีการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ คุณสมยศซึ่งกระทำความผิดชัดแจ้ง โดยตีพิมพ์บทความสองบทความ มีโทษบทความละ 5 ปี ก็ถือว่าไม่ได้มากไปกว่าเนเธอร์แลนด์ หากไม่ได้มีการลบหลู่จริงใครจะมาทำอะไร รัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์เป็นจอมทัพไทย ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายปกป้องประมุขของชาติ

เขากล่าวถึงเหตุจูงใจที่อียูมีการออกแถลงการณ์เกี่ยวกับคดีสมยศว่า หากมองแบบไม่คิดลึกเข้าใจว่าอาจเป็นความรักชอบส่วนตัวกับสมยศ เพราะนายสมยศมีคุณูปการในการทำงานด้านแรงงาน ต่อสู้จนมีประกันสังคม  แต่ก็ต้องแยกแยะการกระทำแต่ละครั้งว่าทำดีหรือทำผิด หวังว่าหากได้อธิบายแล้วอียูจะเข้าใจและสำนึกผิดได้ไม่ยาก ทั้งยังเห็นว่าควรออกแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งเพื่อแสดงความเสียใจด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ชุมนุมมีรถปราศรัยขนาดใหญ่ซึ่งผู้ปราศรัยกล่าวว่า  ปัญหาตอนนี้ที่อียูต้องแก้คือเรื่องโรฮิงยาไม่ใช่เรื่องนี้ และหากมีใครมาแตะต้องเรื่องการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ทางกลุ่มอาจมีการรณรงค์ให้บอยคอตสินค้าอียูก็ได้

ต่อมา มีตัวแทนอียูลงมารับหนังสือจากผู้ชุมนุมโดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด พร้อมระบุว่าจะส่งเรื่องต่อให้ จากนั้น ผู้ชุมนุมจึงยุติการชุมนุมในเวลาราว 11.30น.

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ทางสหภาพยุโรปได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังทราบเรื่องการนัดชุมนุม ประท้วงครั้งนี้ โดยเดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูต และหัวหน้าผู้แทนคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพยุโรปมิได้มีจุดประสงค์เพื่อเข้าไปยุ่งหรือแทรกแซงอธิปไตยตามที่ทาง เครือข่ายอ้าง เนื่องจากสหภาพยุโรปเพียงปฏิสัมพันธ์กับประเทศไทยบนหลักของสิทธิ โดยมองว่า บทลงโทษจำคุกนายสมยศถึง 11 ปี สำหรับบทความที่ตนเองไม่ได้เขียน เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

"แน่นอนว่าการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องที่สามารถตีความได้ แต่เรามองเรื่องนี้จากหลักการทั่วไปของสิทธิมนุษยชน สำหรับเราแล้วในยุโรป เราเองก็มีสถาบันกษัตริย์ ผมมาจากประเทศอังกฤษซึ่งก็มีพระราชินีที่เราเคารัพและนับถือมาก และประชาชนก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ในทางที่เคารพ และก็ไม่ถูกส่งไปจำคุก" ลิปแมนกล่าว

เขากล่าวถึงกรณีการประท้วงของเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ ว่า นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้คนสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตนเองได้ ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสหภาพยุโรป แต่ลิปแมนก็ย้ำว่า การออกแถลงการณ์ไม่ใช่การแทรกแซง แต่เป็นการมีปฏิสัมพันธ์ที่อยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

บทวิเคราะห์คำพิพากษาคดี ‘สมยศ’ บรรทัดฐานการตีความ ‘เนื้อหา’

iLaw : บทวิเคราะห์คำพิพากษาคดี ‘สมยศ’ บรรทัดฐานการตีความ ‘เนื้อหา’

ชื่อเดิม: มองบรรทัดฐานจากศาล ในคำพิพากษาคดีสมยศ


                “จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความปิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑ ให้จำคุกกระทงละ ๕ ปี รวม ๒ กระทงแล้ว จำคุก ๑๐ ปี”

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Voice of Taksin หรือ เสียงทักษิณ มีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นบรรณาธิการของนิตยสารที่ตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้น เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาดมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และโทษของเขาคือ จำคุก 10 ปี
ดูรายละเอียดคดีนี้ และบันทึกสังเกตการณ์การพิจารณาคดีได้ที่ ฐานข้อมูลไอลอว์ คลิกที่นี่
ผล ของคำพิพากษาคดีนี้ดึงดูดให้สังคมเพ่งมองมาที่ปัญหาการบังคับใช้ประมวล กฎหมายอาญามาตรา 112 กับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและเสรีภาพการแสดงออกในสังคมไทยมากขึ้น ลองดูกันว่าคำพิพากษาคดีนี้ วางบรรทัดฐานอะไรไว้บ้าง

ข้อความใด “หมิ่นฯ” หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องนำสืบให้ศาลเห็น

ก่อน หน้าคดีนี้ มีคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายคดีที่ไม่นำสืบพยานเพื่อพิสูจน์ “ความหมาย” ของข้อความที่นำมาฟ้อง ไม่ว่าจะเป็นเพราะต่างฝ่ายต่างไม่อยากให้พูดถึงเนื้อหาที่อาจจะพาดพิงสถาบัน กษัตริย์อย่างโจ่งแจ้ง หรือไม่ต้องการให้ใช้เวลาสืบพยานยาวนานเกินไป หรือศาลเชื่อจริงๆ ว่าการพิจารณาว่าข้อความใด “หมิ่นฯ” หรือไม่ เป็น “ปัญหาข้อกฎหมาย” ที่อยู่ในดุลพินิจของศาลแต่เพียงผู้เดียว ไม่ว่าจะเหตุผลใด ก็ส่งผลให้การพิจารณาคดีมาตรา 112 ในอดีตแทบไม่แตะต้องเนื้อหาตามคำฟ้องเลย หลายคดี ศาลพิพากษาไปโดยที่แม้แต่ศาลเองก็ไม่ได้อธิบายว่า ข้อความตามคำฟ้องนั้นหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อย่างไร เพียงแต่เว้นพื้นที่ไว้ให้ทั้งจำเลยและประชาชนคิดและเข้าใจไปตามฐาน ประสบการณ์ของตัวเอง

อาจกล่าวได้ว่า คดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นคดีที่มีการนำพยานมาเบิกความในประเด็นเนื้อหากันอย่างตรงไปตรงมา เปิดเผย และพูดตรงประเด็นที่สุดของยุคสมัยนี้
โจทก์มีพยานไม่ต่ำกว่า 10 ปากที่มาอธิบายว่า อ่านบทความแล้วตีความอย่างไรให้หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยมีนายทหารฝ่ายความมั่นคง 3 นาย นักศึกษากฎหมาย 3 คน ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฝ่ายกฎหมายกรมสรรพากร เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบันฯ รวมถึงมีศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ ซึ่งเป็นนักกฎหมายและนักประวัติศาสตร์ ผู้มีชื่อเป็นพยานโจทก์ในคดีตามมาตรา 112 หลายคดีก่อนหน้านี้มาเบิกความด้วย โดยพยานโจทก์ทั้งหลายต้องอธิบายโดยละเอียดในศาลว่า อ่านข้อความส่วนไหน แล้วเห็นว่าผู้เขียนพาดพิงถึงใครในเหตุการณ์ใด (ยกเว้นศ.ธงทอง ที่กล่าวว่าบทความชิ้นที่สองนั้นอ่านแล้วไม่ทราบว่าหมายถึงใคร) ขณะที่ฝ่ายจำเลย มีพยานทั้งหมด 7 ปาก รวมทั้งตัวจำเลยเอง ที่เบิกความว่า อ่านบทความแล้วไม่สามารถตีความว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เพราะเหตุใด โดยมีพยานหลากหลายระดับการศึกษา ทั้ง นักวิชาการด้านกฎหมาย ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทุกคนเบิกความตรงกันว่า อ่านบทความทั้งสองแล้ว คิดว่าผู้เขียนเขียนถึงระบอบอำมาตย์ ไม่คิดว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์

แม้ สุดท้าย ศาลจะใช้ดุลพินิจของตนเองพิจารณาข้อความ และเลือกที่จะให้น้ำหนักพยานฝั่งโจทก์มากกว่า แต่สิ่งที่แทบไม่เคยเห็นก่อนหน้านี้เลยคือ ศาลนำคำเบิกความของพยานมาประกอบการตีความแล้วเขียนไว้ในคำพิพากษา ด้วย

คดี ของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข สร้างบรรทัดฐานให้เห็นถึง การสืบพยานที่ให้โอกาสทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยสืบพยานในประเด็นการตีความ เนื้อหาได้โดยไม่ต้องปิดลับหรือขังเอาไว้ในแดนสนธยาที่ประชาชนเข้าไม่ถึง การสืบพยานลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น เพื่อให้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้ใช้สิทธิต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพื่อให้จำเลย และประชาชนเข้าใจถึงเหตุผลในคำพิพากษาได้อย่างดี และเพื่อให้เรื่องที่ควรจะให้สาธารณชนเข้าใจไม่ต้องปิดลับอีกต่อไป

กรณีกล่าวพาดพิงโดยไม่ระบุชื่อ ก็ผิดหมิ่นประมาทได้

คดี นี้จำเลยต่อสู้ว่า บทความทั้งสองชิ้นไม่ได้พาดพิงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่กล่าวถึงระบอบอำมาตย์ โดยบทความชิ้นแรกมีเนื้อความทำนองว่า “คนแก่โรคจิต” วางแผนฆ่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวทำนองว่า ตระกูลนี้เหมือนกันทั้งตระกูล เอาเขามาชุบเลี้ยงจนใหญ่โต พอได้ทีก็โค่นนายตัวเอง ซัดว่าสติไม่ดีแล้วก็จับลงถุงแดงฆ่าทิ้งอย่างทารุณ ส่วนบทความชิ้นที่สอง มีเนื้อความทำนองว่า “หลวงนฤบาล” แห่ง “โรงแรมผี” คอยบงการการเมืองไทยมาตลอดตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมทั้งอยู่เบื้องหลังการสังหารนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ทั้งสองบทความไม่ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระบรมวงศานุวงศ์เลย แต่โจทก์นำสืบว่า ผู้เขียนบทความจงใจให้ผู้อ่านเข้าใจว่าหมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่พยานจำเลยเบิกความว่า อ่านบทความแล้วเข้าใจว่าหมายถึงระบอบอำมาตย์
แม้จะไม่มีการกล่าวชื่อบุคคลที่ถูกพาดพิงโดยตรง แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า

            “เมื่อพิจารณาจากคำว่า "โคตรตระกูลนี้มันก็เหมือนกันทั้งนั้น" ย่อมหมายความถึงพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เมื่อเทียบกับคำว่า "กรรมจะมาสนองกรรมเอาในตอนนี้" ที่เป็นเหตุการณ์ในปัจจุบัน ผู้อ่านย่อมเข้าใจได้ว่า ผู้เขียนหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”

            “ผู้เขียนจงใจให้ผู้อ่านเข้า ใจได้ว่า หลวงนฤบาลอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาล โดยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่นายสัญญา ธรรมศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งหลังจากการเลือกตั้ง แล้วยังมีอำนาจเหนือรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสอง อันเป็นการสนับสนุนให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ผู้ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้น ย่อมหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”

คำ พิพากษาฉบับนี้ ย้ำแนวทางการใช้กฎหมายว่า แม้ข้อความจะไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคลใดโดยตรง แต่ถ้าอ่านโดยรวมแล้วเข้าใจได้ว่าหมายถึงบุคคลใด ก็เข้าข่ายการหมิ่นประมาทได้ นั่นหมายความว่า การกล่าวแบบใช้ชื่อสมมติก็ดี การใช้ตัวอักษรย่อก็ดี หรือการกล่าวอ้อมๆ ให้ตีความกันเองก็ดี ไม่อาจทำให้ผู้กล่าวข้อความนั้นหลบเลี่ยงจากความผิดตามกฎหมายได้
ศาล กล่าวไว้ในคำพิพากษาด้วยว่า แม้ข้อความที่กล่าวนั้นอาจชวนให้ตีความถึงบุคคลหลายคนได้ก็ตาม แต่หากมีข้อความ “ส่วนหนึ่ง” ที่ตีความได้ถึงบุคคลที่เสียหายแล้ว ก็ถือว่าเป็นความผิดต่อบุคคลที่เสียหายแล้ว ศาลวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ในคำพิพากษาว่า

             “แม้จะมีข้อความบางตอนอ้าง ว่า มีการวางแผนมาจากโรงพยาบาลพระรามเก้า อันมิใช่ที่ประทับรักษาพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดชก็ตาม บทความในส่วนดังกล่าวก็น่าจะหมายถึงบุคคลอื่นตามที่จำเลยต่อสู้ แต่ก็ไม่ทำให้ข้อความในส่วนอื่นข้างต้นที่หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวภูมิพลอดุลยเดชเปลี่ยนแปลงไป”
ผู้พิพากษา นอกจากจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจผ่านการเลือกให้น้ำหนักกับพยาน ที่แม้คดีนี้จะมีพยานโจทก์บางส่วน เช่น ศ.ธงทอง จันทรางศุ เบิกความว่าอ่านบทความชิ้นที่สองแล้วไม่รู้ว่าหมายถึงผู้ใด แต่ศาลก็สามารถใช้วิจารณญาณของตนลงโทษว่าการเผยแพร่บทความดังกล่าวมีความผิด ได้ ผู้พิพากษายังเป็นผู้ใช้ดุลพินิจตีความเนื้อหาด้วยว่าข้อความนั้นหมิ่น ประมาทใคร

หากยอมรับกันได้ว่า ข้อความที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงบุคคลที่เสียหาย โดยตรง และข้อความบางส่วนยังอาจสื่อถึงบุคคลอื่นก็ได้ด้วย ก็เท่ากับมอบอำนาจดุลพินิจในการวินิจฉัยให้ผู้พิพากษาในคดีนั้นๆ ใช้ความเข้าใจของตนเองในการตีความได้ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนในการตีความ และอาจกระทบต่อบรรยากาศของการแสดงออกในสังคมได้

ศาลยืนยันให้บรรณาธิการสิ่งพิมพ์ ต้องรับผิดในเนื้อหา

ตาม ที่ทราบกันแล้วว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2551 ยกเลิกบทบัญญัติ ในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ที่เคยกำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดในเนื้อหาที่ตีพิมพ์ หมายความว่า ตามกฎหมายปัจจุบันเพียงแค่การเป็น “บรรณาธิการ” ของสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย ไม่ได้ทำให้ผู้นั้นต้องมีความผิดด้วยเสมอไป

แต่พระราชบัญญัติจดแจ้ง การพิมพ์ก็ไม่ได้มีบทยกเว้นความรับผิดมาคุ้มครองบรรณาธิการ ดังนั้นบรรณาธิการผู้ใดจะมีความผิดตามกฎหมายใดหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ความผิดตามองค์ประกอบของกฎหมายนั้นๆ ซึ่งในคดีของนายสมยศ คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

หลักพื้นฐานที่ สุดของการพิสูจน์ความผิดในคดีอาญา คือ “จำเลยต้องมีเจตนาในการกระทำความผิด” ซึ่ง “เจตนา” นั้น ต้องมาจากการที่จำเลย “รู้” ถึงองค์ประกอบทุกอย่างที่จะทำให้การกระทำนั้นเป็นความผิดเสียก่อน เมื่อ “รู้” แล้วแต่ก็ยัง “ทำ” จึงจะมีความผิด

ในคดีนี้ นายสมยศต่อสู้ว่า บทความที่ส่งมาลงตีพิมพ์ เป็นบทความต่อเนื่องจำนวน 12 ชิ้น ผู้เขียนส่งงานให้กองบรรณาธิการตั้งแต่ก่อนที่ตนจะรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ และเนื่องจากผู้เขียน คือ นายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียง ตนจึงให้เกียรติผู้เขียนโดยไม่แก้ไขบทความแต่อย่างใด และบทความตามฟ้องนี้ตนได้อ่านแบบคร่าวๆ เพราะต้องเร่งปิดต้นฉบับ อ่านแล้วไม่ได้คิดว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่คิดว่าเป็นการกล่าวถึงระบอบอำมาตย์ เท่ากับนายสมยศได้ปฏิเสธชัดแจ้งแล้วว่า ตนไม่ได้มีเจตนากระทำความผิด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดแจ้งปราศจาก ข้อสงสัยว่า จำเลยได้อ่านบทความแล้วและรู้อยู่แล้วว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยจำเลยมีสิทธิที่จะไม่นำลงตีพิมพ์ได้ แต่ก็ยังเลือกที่จะนำลงตีพิมพ์เผยแพร่ จึงจะถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาในการกระทำความผิด

แต่ทางนำสืบในคดีนี้ โจทก์นำพยานที่เป็นพนักงานคนอื่นของนิตยสารมาเบิกความ เช่น ช่างภาพของนิตยสาร ซึ่งเบิกความว่า ในกระบวนการคัดเลือกบทความที่จะลงตีพิมพ์ ไม่ได้มีนายสมยศเพียงคนเดียว แต่มีคนอื่นเข้าร่วมประชุมด้วย โดยคนอ่านบทความก่อนตีพิมพ์จริงๆ คือ พนักงานพิสูจน์อักษร ขณะที่พนักงานพิสูจน์อักษรก็ เบิกความเพียงแต่ว่าบทความทั้งหมดต้องส่งให้นายสมยศเท่านั้น และเมื่ออัยการถามว่า นอกจากจำเลย มีคนอื่นร่วมตัดสินใจคัดเลือกบทความหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่ทราบ ส่วนพนักงานฝ่ายสมาชิก ก็เบิกความเพียงว่า เมื่อมีบทความส่งเข้ามาทางอีเมล ก็จะบันทึกไว้ที่เครื่องเพื่อให้นายสมยศอ่าน แต่จำเลยจะมาอ่านเมื่อไรนั้นไม่ทราบ และไม่ทราบว่าจำเลยได้ตรวจหรือแก้ไขหรือไม่
ดังนั้น เท่ากับข้อเท็จจริงในส่วนที่ว่า จำเลยได้อ่านบทความทั้งสอง และทราบดีว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และจำเลยในฐานะบรรณาธิการเป็นผู้มีสิทธิตัดทอน แก้ไข หรือไม่ตีพิมพ์ แต่ก็ยังตัดสินใจตีพิมพ์ จึงแสดงถึงเจตนาของจำเลยได้นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยได้

ศาลวิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้เพียงว่า

            “จำเลย ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ ทำงานอยู่องค์การพัฒนาเอกชนที่สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และทำงานสื่อสารมวลชน จึงย่อมรู้อยู่แล้วว่า บทความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่มีความจริง”

และที่สำคัญ ในประเด็นเจตนาของจำเลยนั้น ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษาว่า

            “การ เสนอข่าวของจำเลยย่อมต้องตรวจสอบและวิเคราะห์บทความก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำเลยในฐานะบรรณาธิการบริหาร ย่อมต้องมีวิจารณญาณและมาตรฐานสูงกว่าบุคคลทั่วไป พร้อมเป็นผู้คัดเลือกบทความที่จะต้องลงพิมพ์ ย่อมต้องใช้ความระมัดระวัง ... แต่จำเลยยังคงคัดเลือกบทความลงพิมพ์ในนิตยสารดังกล่าว จัดให้พิมพ์เป็นรูปเล่มและจัดจำหน่ายเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่มีเจตนา ....”

เท่ากับว่า ศาลวางแนวการวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาคดีนี้แล้วว่า เพียงแค่โจทก์พิสูจน์ว่า จำเลยมีชื่อเป็น “บรรณาธิการ” อยู่บนปกหนังสือเท่านั้น ก็มีผลโดยอัตโนมัติว่า จำเลยต้องมีวิจารณญาณและมาตรฐานที่สูงกว่าบุคคลทั่วไป ต้องอ่านบทความ และต้องมีอำนาจเต็มในการคัดเลือกบทความว่าจะลงตีพิมพ์หรือไม่ โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เจตนาในการกระทำความผิดฐานนั้นๆ อีกต่อไป ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการแก้ไขกฎหมายการพิมพ์ ไม่ถูกต้องตามหลักภาระพิสูจน์ และไม่ได้ตีความกฎหมายอาญาอย่างแคบเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลย

แม้จะมีบรรทัดฐานหลายอย่างที่น่ากังวลจากคำพิพากษาในคดีนี้ เช่น การรวบรัดว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบในเนื้อหาโดยไม่เน้นการพิสูจน์เจตนา การใช้ดุลพินิจเพื่อเลือกให้น้ำหนักพยานเพื่อตีความเนื้อหาที่หมิ่นฯ  การลงโทษฐานหมิ่นประมาททั้งๆ ที่ไม่มีการเอ่ยถึงบุคคลผู้เสียหาย แต่บรรทัดฐานอีกด้านหนึ่งที่เห็นได้ในคดีนี้ คือ การเขียนคำพิากษาให้ละเอียด การอธิบายวิธีการใช้ดุลพินิจ กล่าวอ้างถึงความเห็นของพยานต่างๆ ซึ่งเป็นความพยายามของศาลที่จะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์แบบเพื่อหลีกเลี่ยงข้อ ครหาถึงความยุติธรรมกับนักโทษในคดีการเมือง

ปัญหา การใช้และตีความกฎหมายอาญามาตรา 112

ปัญหา การใช้และตีความกฎหมายอาญามาตรา 112

กล่าวได้ว่า มาตรา๑๑๒ ได้ถูกนำไปบัญญัติไว้ใน ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร[1] เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม (นายกรัฐมนตรี)ได้ตรา "ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙" เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ การจัดหมวดหมู่เช่นนี้ ทำให้ความผิดดังกล่าวเป็นคดีอาญาแผ่นดินที่ใครก็ตามสามารถนำเรื่องที่มีการ กล่าวหรือโฆษณาด้วยประการใดก็ตามไปแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้กระทำ แม้ข้อกล่าวหานั้นจะมีมูลหรือไม่ก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจมักเร่งดำเนินการสอบสวนและควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหา และรีบดำเนินคดีต่อศาล โดยไม่ยอมให้มีการประกันตัว อ้างเหตุเป็นคดีร้ายแรง เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี เช่น กรณีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ วอยส์ ออฟ ทักษิณ และนักสหภาพแรงงาน ที่เพิ่งถูกพิพากษาจำคุกไปเมื่อเร็วๆนี้ กรณีนายอำพล หรืออากง ที่ถูกจำคุก ๒๐ ปี และเสียชีวิตในเรือนจำ นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นายธัญฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล บุคคลเหล่านี้ ไม่ได้รับการประกันตัว นับแต่ถูกจับกุม
การจัด มาตรา ๑๑๒ ไว้ในหมวดความั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้และการตีความการบังคับมาโดยตลอด ทั้งๆที่ในคำอธิบายของอาจารย์ผู้สอนกฎหมาย วิชากฎหมายอาญาภายหลังการจัดทำประมวลกฎหมายอาญา ตั้งแต่ปี ๒๔๙๙ นั้น อธิบายว่า ความผิดฐานตามมาตรา ๑๑๒ นั้นมีองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ ซึ่ง หมายถึง การใส่ความบุคคลตามมาตรา ๑๑๒ ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลตามมาตรา ๑๑๒ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แม้คำพูดดังกล่าวจะจริงหรือเท็จก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสียหาย ก็ถือว่าหมิ่นประมาทแล้วตามมาตรานี้ได้  “ดูหมิ่น” มีความหมายเช่นเดียวกับการกระทำในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๓๖ หรือตามนัยแห่งการกระทำในความผิดฐานดูหมิ่นบุคคลธรรมดาตามมาตรา ๓๙๓
ปัญหาการตีความมาตรา ๑๑๒ 
ประการแรก ตีความโดยอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติไว้ว่า       
องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ” นั้น ควรมีความหมาย ที่อธิบายแยกกัน ดังนี้
ความหมายที่แท้จริงของ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้[2]
ในประเพณีการเมืองการปกครองของไทย นับแต่ปี ๒๔๗๕ ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น มีความหมายโดยปริยายว่าบุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ด้วย แต่สังคมไทยยังให้การเคารพยกย่องพระมหากษัตริย์ เพราะทรงเป็นประมุขของปวงชนชาวไทย
ในประเทศไทยบุคคลทุกคนย่อมมีฐานะเสมอกัน ยกเว้นพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จะเสด็จไปที่ใดๆทางราชการต้องจัดให้มีการเคารพเป็นการเฉลิม พระเกียรติ และเป็นหน้าที่ของราษฎรที่จะต้องทำความเคารพดุจกัน การไม่เคารพพระมหากษัตริย์หรือเพลงสรรเสริญพระบารมี ไม่มีโทษตามกฎหมาย แต่เป็นโทษทางสังคมที่จะถูกตำหนิติเตียนจากสังคม ฯลฯ
เพื่อให้ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ กฎหมายได้คุ้มครองพระมหากษัตริย์สูงกว่าบุคคลธรรมดา เช่นการประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จะถูกลงโทษตามกฎหมายอาญาหนักกว่ากระทำต่อบุคคลธรรมดา
ในทางปฏิบัติเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ เคารพสักการะ รัฐไทยโดยสภาผู้แทนราษฎรได้ถวายเงินรายปีให้แก่พระมหากษัตริย์เป็นจำนวนสูง กว่าเงินเดือนข้าราชการทั่วไป
นอกจากนี้การที่มีการเขียนบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระมหากษัตริย์ ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะนั้น ย่อมมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมือง ต้องเป็นกลางทางการเมือง ไม่เข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและจะต้องไม่ทรงปรึกษาหารือกับ นักการเมืองใดๆ นอกจากคณะองคมนตรีและคณะรัฐมนตรี
หากมีพระราชประสงค์จะพบกับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองผู้ใด ต้องขอให้รัฐบาลจัดถวาย และควรมีพระราชดำรัสต่อหน้ารัฐมนตรีเพื่อแสดงความเป็นกลาง
ในประเทศนั้นมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่ไม่เป็นพรรคพวกของพรรคการ เมือง ทั้งนี้เพราะพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของราษฎรทุกคน ทั้งคนทั่วไปที่สนับสนุนนักการเมืองฝ่ายค้านหรือสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล และไม่ว่าแต่ละคนจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่หรือ ฝักใฝ่การเมืองแบบใด ซึ่งโดยนัยนี้จะต้องถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ โดยจะเห็นได้จากประเพณีทางการเมืองที่เมื่อมีการกระทำสำคัญของรัฐ เช่นการยุบสภา การเปิดหรือ ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทน ราษฎร ต้องมีพระบรมราชโองการที่มีการทรงลงพระปรมาภิไธย หรือ ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติใดก่อนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็ต้องมีการลงพระปรมาภิไธยเสมอ ซึ่งกรณีเหล่านี้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาแต่อดีต ถ้าหากมีการกระทำที่ไม่ ถูกต้องตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ย่อมไม่ทรงประทานพระปรมาภิไธย อันจะทำให้การกระทำนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้ เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ โดยพระราชทานกลับคืนมาให้รัฐสภาพิจารณาใหม่ เนื่องจากในร่างดังกล่าวมีถ้อยคำและรายละเอียดเนื้อหาที่บกพร่องถึง ๑๓ จุด ได้แก่ การใช้ถ้อยคำและข้อความผิด อ้างมาตราเชื่อมโยงผิด เป็นต้น ส่งผลให้ร่างดังกล่าวต้องตกไป นอกจากกฎหมายฉบับนี้แล้ว ยังมีร่าง พ.ร.บ.เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ ที่ได้ทรงยับยั้งร่างกฎหมายไว้ในคราวเดียวกัน เนื่องจากมีการระบุลักษณะของเหรียญผิดพลาด[3]
นอกจากนี้ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย ยังได้อธิบายไว้ว่า คำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” นั้น[4]  อาจพิจารณาได้ ๓ ทาง คือ ในทางรัฐธรรมนูญ ในทางอาญา และในทางแพ่ง
ในทางรัฐธรรมนูญ หมายถึงใครจะตำหนิติเตียนพระมหากษัตริย์ในทางรัฐธรรมนูญไม่ได้ การอภิปรายถึงพระมหากษัตริย์ในทางเสื่อมเสียพระเกียรติ ประธานรัฐสภา ต้องไม่ยอมให้เกิดขึ้น หรือ ญัตติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ ย่อมทำไม่ได้ หรือพระราชดำรัสในวาระต่างๆของพระมหากษัตริย์ที่กระทำในนามของรัฐบาลหรือ รัฐมนตรี เช่น การเปิดประชุมรัฐสภา นั้น สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ต้องวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำของคณะรัฐมนตรีที่ไม่ถวายคำแนะนำในพระราช ดำรัสนั้น หรือไม่ถวายคำแนะนำในการดำเนินนโยบายหรือโครงการตามที่ปรากฏในพระราชดำรัส นั้นๆ
สำหรับในทางอาญา และในทางแพ่ง เจ้าพนักงานจะจับกุมพระมหากษัตริย์ไม่ได้ เพราะศาลย่อมไม่รับฟ้องขอให้พระมหากษัตริย์เป็นจำเลย ไม่ว่าจะได้ทรงกระทำผิดทางอาญาในฐานะที่ยังดำรงตำแหน่งกษัตริย์หรือพ้นจาก ตำแหน่งไปแล้ว พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็จริง แต่อยู่นอกกฎหมายธรรมดา ถ้ากล่าวถึงกฎหมายย่อมไม่ใช้บังคับแก่องค์พระมหากษัตริย์ หรือในทางแพ่งก็เช่นเดียวกันจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ว่าไม่ทรงชำระหนี้ หรือเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ชำระหนี้ตามสัญญาย่อมไม่ได้
แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะฟ้องร้องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหา กษัตริย์ไม่ได้ เพราะเป็นการฟ้องร้องนิติบุคคล หรือหากเป็นการฟ้องร้องทรัพย์สินส่วนพระองค์ก็สามารถฟ้องผู้จัดการทรัพย์สิน ส่วนพระองค์ได้     
ส่วนบทบัญญัติที่ว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ” นั้น มาจากพัฒนาการทางการเมืองของอังกฤษเป็นผลให้พระมหากษัตริย์ถูกจำกัดพระราช อำนาจ ทั้งในการตรากฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน จนในที่สุดได้พัฒนาไปสู่การ “ทรงอยู่ เหนือการเมือง” และ “ไม่ทรงรับผิดชอบทางการเมือง” ทรงทำหน้าที่เป็นประมุขอย่างเดียว โดยกิจกรรมทางการเมืองจะทรงทำตามบทบัญญัติกฎหมาย และจารีตประเพณี โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อันเป็นผลให้องค์พระประมุขทรงพ้นจากความรับผิดเพราะผู้รับสนองพระบรมราช โองการต้องเป็นผู้รับผิดชอบแทน พระมหากษัตริย์จึงกลายเป็นสถาบันที่ผู้ใดจะละเมิดหรือว่ากล่าวฟ้องร้องไม่ ได้ (the King can do no wrong)
ประเทศไทยได้นำระบบรัฐสภาแบบอังกฤษมาปรับใช้ จึงนำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติ ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘ ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” โดยสิ่งใดที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐

            มาตรา ๑๙๕ ว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ บทกฎหมายที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหรือถือเสมือนหนึ่งได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน”[5]
ดังนั้นในทางหลักกฎหมาย ต้องตีความว่า บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘ ที่ว่า
องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
 “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้เป็น บทบัญญัติเพื่อถวายพระเกียรติและยกย่องพระมหากษัตริย์ ตามหลัก the King can do no wrong ซึ่งถือว่าพระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดใดๆเพราะ มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญแทนพระมหา กษัตริย์
           
ประการที่สอง การตีความมาตรา ๑๑๒ 
หลักการตีความกฎหมายอาญาของประเทศไทยนั้น นักนิติศาสตร์ต่างถือว่า การตีความโดยขยายความ เป็นวิธีการที่ต้องห้าม ซึ่งการตีความโดยเคร่งครัดตามถ้อยความของตัวบท สามารถกระทำได้โดยมีเหตุผลว่า กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ถูกจับกุม คุมขัง เป็นการละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกาย รัฐจะดำเนินการอย่างไรต่อประชาชนย่อมมีข้อจำกัด
แต่ในทางปฏิบัติกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เหมือนกฎหมายแห่งความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้การตีความกฎหมายเป็นการตีความอย่างกว้างเพื่อเอาผิดกับผู้ต้องหาหรือ จำเลย เพื่อแสดงความจงรักภักดีของผู้ดำเนินคดี การกระทำหลายอย่างถูกตีความว่าเป็นความผิดตามมาตรา ๑๑๒ เช่น การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี[6] การตีความว่าพระบรมมหาราชวังหมายความรวมถึงพระมหากษัตริย์ด้วย[7] กรณีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อเร็วๆนี้ การวิพากษ์วิจารณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่มิใช่บุคคลภายใต้องค์ประกอบความผิดของมาตรา ๑๑๒ ก็ถูกดำเนินคดี เป็นต้น ทำให้การตีความคำว่าหมิ่นประมาทและดูหมิ่น เป็นไปอย่างกว้างและไม่มีขอบเขต ไม่มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตอันเป็นสิทธิของประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อมีการตีความใช้มาตรานี้ ร่วมกับความเข้าใจผิดของข้อความที่ว่า “ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แล้วการตีความมาตรานี้ยิ่งมีความกว้างขวาง ไม่เคร่งครัดตามแบบการตีความการใช้กฎหมายอาญาในความผิดฐานอื่น
ดังนั้นหากประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือบุคคลากรใน
กระบวนการยุติธรรมที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ในนามของพระ มหากษัตริย์ ต้องการแสดงความจงรักภักดีในทางที่ถูกต้อง จะต้องไม่ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษผู้อื่นที่กล่าวพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ ส่วนราชการในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาลต้องไม่ตีความใช้ มาตรา ๑๑๒ อย่างกว้างขวาง โดยการนำการตีความตามมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญมาใช้อย่างเข้าใจความหมายของมาตรานี้ดังกล่าวข้างต้นเพื่อให้ สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะของ ประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องมีการบังคับให้เคารพ สักการะไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด

[1] ประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒  ความผิดลักษณะ ๑ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด ๑ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา ๑๐๗-มาตรา ๑๑๒  
[2]    เรียบเรียงจาก หนังสือ คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ และ ธรรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย จัดพิมพ์โดย หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน สำนักพิมพ์วิญญูชน หน้า ๑๕- ๒๔
[3] จากเว็บไซต์สถาบันนโยบายศึกษา http://www.fpps.or.th/news.php?detail=n๑076353807.news
[4] อ้างแล้ว หน้า ๑๗ -๑๘
[5] จากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/
[6] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๙๔/๒๕๒๑ ขณะเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี จำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่า "เฮ้ยเปิดเพลงอะไรโว้ยฟังไม่รู้เรื่องและจำเลยมิได้ยืนตรงเช่นประชาชนคนอื่น การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
[7] คำพิพากษาฎีกา ที่ ๒๓๕๔/๒๕๓๑ นายวีระ มุสิกพงศ์ จำเลย ศาลฎีกา เห็นว่าข้อความที่จำเลยกล่าวว่า"ทำไมถ้าเลือกเกิดได้ก็เลือกเกิดมันใจกลาง พระบรมมหาราชวังนั่นออกมาเป็นพระองค์วีระซะก็หมดเรื่อง" เป็นข้อความที่จาบจ้วงล่วงเกินองค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ คือ พระบรมราชินีนาถและพระบรมโอรสาธิราชด้วย เพราะพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถและองค์รัชทายาท พิพากษาให้ลงโทษจำคุกกระทงละ ๒ ปี รวม ๒ กระทง เป็นจำคุก ๔ ปี

โฆษกรัฐบาลสหรัฐชี้ไทยควรพิทักษ์เสรีภาพการแสดงออกตามหลักสากล






โฆษกรัฐบาลสหรัฐชี้ไทยควรพิทักษ์เสรีภาพการแสดงออกตามหลักสากล

         วิคตอเรีย นูแลนด์ โฆษกรัฐบาลสหรัฐกล่าวถึงกรณีการตัดสินของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ชี้ไม่ควรมีใครถูกจำคุกจากการแสดงความคิดเห็น ในขณะที่คณะกรรมการสิทธิแจงยังอยู่ระหว่างการหารือกรณีดังกล่าว

        เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา วิคตอเรีย นูแลนด์ โฆษกรัฐบาลสหรัฐได้ตอบคำถามจากสื่อในระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนประจำ วันในทำเนียบขาว ณ กรุงวอชิงตันในประเด็นการจำคุกของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บก.นิตยสาร Voice of Taksin เป็นเวลา 10 ปีว่า สหรัฐอเมริกามีความเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินคดีดังกล่าว และกระตุ้นให้ทางการไทยพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกตามพันธกรณีระหว่าง ประเทศ

       "แน่นอนว่าไม่มีใครควรถูกจำคุกจากการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ และเราได้กระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ, ทั้งในทางส่วนตัวและสาธารณะ, ให้ทางการไทยรับรองว่าการแสดงออกไม่ใช่อาชญากรรม และพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกตามพันธะกรณีของไทยในทางสากล" นูแลนด์กล่าว
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวเรื่องแรงงาน เป็นเวลา 10 ปี จากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นในนิตยสาร Voice of Taksin โดยมีผู้เขียนใช้นามปากกาว่า จิต พลจันทร์ ทำให้องค์การระหว่างประเทศเช่น ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และองค์กรสิทธิระหว่างประเทศเช่น ฮิวแมนไรท์ วอทช์, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, คณะกรรมการสากลเพื่อปกป้องนักข่าว และสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ
        ด้านชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตอบคำถามในระหว่างการสัมมนาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกที่สหภาพยุโรปเมื่อวัน อังคารที่ผ่านมาว่า สมาคมยังสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก แต่การแสดงออกนั้นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ส่วนการตัดสินคดีเรื่องมาตรา 112 จะเป็นธรรมหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
         "เรื่องที่ว่าทำไมไม่ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องนี้ไม่ได้หยิบยกมา เพราะยังมีความสับสนว่าอะไรเป็นสื่อ ไม่เป็นสื่อ ยังถกเถียงกันภายในสมาคมอยู่ แต่ได้คุยเบื้องต้นว่า สิ่งที่เราต้องพิทักษ์คือสื่อที่นำเสนอรอบด้าน แต่ถ้าสื่อใดจะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองของกลุ่มทางการเมือง เราก็ไม่สามารถคุ้มครองได้" ชวรงค์กล่าว
         ในงานเดียวกัน นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ในขณะนี้ กสม. กำลังอยู่ในระหว่างการหารือภายในเรื่องการออกแถลงการณ์ หลังจากที่ได้รับจดหมายสอบถามจากสมาคมนักข่าวเรื่องท่าทีต่อกรณีสมยศ เขากล่าวว่า ในฐานะส่วนตัว ตนได้ช่วยเป็นนายประกันและพยานในกรณีการไต่สวนของนายสมยศ และได้ติดตามเข้าเยี่ยมในเรือนจำ แต่ในฐานะองค์กรสามารถทำได้เพียงเท่านี้ 

ความอยุติธรรมคดี‘สมยศ’



         การตัดสินของศาลใน คดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และนำมาสู่การตั้งคำถามอย่างยิ่งต่อความยุติธรรมของศาลไทย

ทั้งนี้ 23 มกราคม 2556 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาในคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเสียงทักษิณ ซึ่งถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ในที่สุดศาลพิพากษาให้นายสมยศมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 10 ปี จากความผิด 2 กรรม บวกกับโทษเดิมเมื่อปี 2552 คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่รอลงอาญาไว้อีก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 11 ปี

ในคำอธิบายของคำพิพากษาได้อ้างอิงถึงบทความ 2 บทความในนิตยสารเสียงทักษิณ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2553 ชื่อว่า “แผนนองเลือด ยิงข้ามรุ่น” และ “6 ตุลาแห่ง พ.ศ. 2553” ตามลำดับ โดยผู้เขียนใช้นามแฝงว่า “จิตร พลจันทร์” ว่าเป็นบทความที่ตีความได้ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ว่าตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ไม่ได้กำหนดให้บรรณาธิการต้องรับผิดชอบกับบทความที่ผู้อื่นเขียน แต่ความผิดในกรณีมาตรา 112 ไม่ได้ถูกยกเลิกไปด้วย ศาลจึงวินิจฉัยว่า แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้เขียนบทความก็ถูกลงโทษได้

หลังจากการอ่านคำพิพากษา องค์กรสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างประเทศหลายกลุ่ม ได้ออกแถลงการณ์ประณามคำตัดสิน โดยระบุว่า คำตัดสินวันนี้ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อหลักนิติธรรมของประเทศไทย และจะทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองในอนาคต และตัวแทนสหภาพยุโรปได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการลงโทษครั้งนี้ โดยระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่ออย่างรุนแรง กระทบต่อภาพลักษณ์สังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพของประเทศไทย

นายสมยศถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 และถูกขังคุกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะศาลไม่ยอมให้ประกันตัว แม้ว่าต่อมาทนายจะขอประกันตัวถึง 10 ครั้ง แต่ศาลก็ไม่ยอมอนุมัติ โดยอ้างเพียงแต่ว่าเป็นคดีที่มีโทษสูง กลัวผู้ต้องหาหลบหนี การสืบพยานคดีของนายสมยศสิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 แต่ศาลได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษามาจนถึงเดือนมกราคมนี้

เมื่อวันที่ 24 มกราคม หลังจากการตัดสินคดี นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีแถลงการณ์ของสหภาพยุโรปต่อกรณีคำพิพากษานายสมยศว่า การพิจารณาคดีของศาลอาญามีหลักการพิจารณาเป็นสากลเหมือนกับศาลยุติธรรมอื่น ทั่วโลก คือพิจารณาตามกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ การละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศไทย การที่นายสมยศนำบทความดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งแม้จะเป็นบทความของคนอื่นมาลง ก็เข้าข่ายเป็นความผิด เพราะบทความที่เผยแพร่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ แต่เป็นข้อความที่มีลักษณะดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำให้สถาบันได้รับความเสียหาย

ก่อนอื่นคงจะต้องขอเห็นแย้งกับนายทวี เพราะการตัดสินของศาลไทยกรณีของนายสมยศครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแบบมาตรฐานสากล จะขอเริ่มอธิบายตั้งแต่การตัดสินเรื่องคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สพรั่งก็ไม่ถูกต้อง เพราะ พล.อ.สพรั่งขณะนั้นเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นนายทหารที่ร่วมก่อการรัฐประหาร และยังมีบทบาทเป็นผู้นำระดับสูงในกองทัพ การวิจารณ์บทบาทในทางสาธารณะย่อมเป็นสิ่งทำได้ การตัดสินลงโทษถึงขั้นติดคุกในคดีหมิ่นประมาทลักษณะนี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานสากลอยู่แล้ว

ต่อมาการตัดสินให้คนติดคุกถึง 10 ปี โดยบทความที่เขาไม่ได้เขียน จะอธิบายด้วยมาตรฐานอะไร ในต่างประเทศการเขียนบทความใดก็ตาม ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเขาก็เขียนบทความมาตอบโต้ให้ประชาชนพิจารณา ไม่มีใครเอาคนเขียนบทความที่ตนไม่เห็นด้วยไปติดคุกเช่นในประเทศไทย แต่ปัญหาที่ยิ่งกว่านั้นคือ คนติดคุกไม่ได้เขียน และตามกฎหมายการพิมพ์ บรรณาธิการก็ไม่ต้องรับผิดชอบ การที่ศาลอธิบายว่า แม้จะไม่ผิดกฎหมายการพิมพ์แต่ยังผิดตามาตรา 112 นั้น ศาลวินิจฉัยเอง เพราะถ้าหากกฎหมายมาตรา 112 เป็นข้อยกเว้น ตามหลักการทางด้านนิติศาสตร์ต้องระบุข้อยกเว้นไว้ในกฎหมายการพิมพ์ด้วย เมื่อไม่มีระบุข้อยกเว้นเช่นนี้ โดยทั่วไปต้องยกประโยชน์ให้จำเลย

ปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ บทความที่ศาลอ้างทั้ง 2 บท ไม่ได้เข้าข่ายการหมิ่นตามมาตรา 112 เพราะตามกฎหมายมาตรานี้ได้ระบุการคุ้มครองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ แต่บทความทั้ง 2 ที่อ้าง ล้วนเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์และไม่มีข้อความหมิ่นบุคคลคนใดตามมาตรา 112 เลย ไม่ได้เอ่ยถึงสถาบันเบื้องสูงเลยด้วยซ้ำ เช่น ในส่วนที่ศาลตัดสินจากข้อความจากบทความที่อ้างถึง “โคตรตระกูล” อธิบายไม่ได้เลยว่าเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ แม้จะอ้างตามนัยคำตัดสินของศาล คือตีความว่าเป็นเรื่องสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่กรณีนี้ก็มีปัญหาในการตีความ เพราะจิตร พลจันทร์ อธิบายว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น “ตั้ง 200 ร้อยกว่าปีมาแล้ว”
บทความนี้เขียนเมื่อ พ.ศ. 2553 เมื่อ 200 ปีคือ ปี พ.ศ. 2353 ล่วงพ้นจากสมัยรัชกาลที่ 1 มาแล้ว เป็นต้นรัชกาลที่ 2 จึงอาจจะตีความได้ด้วยซ้ำว่าไม่เกี่ยวข้องกับพระเจ้ากรุงธนบุรี ยิ่งกว่านั้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีถูกประหารชีวิตโดยการตัดศีรษะ ผู้ที่ถูก “จับลงถุงแดง” จึงไม่น่าจะหมายถึงพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่กระนั้นสมมุติว่าเรื่องนี้กล่าวถึงเรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีจริง มาตรา 112 ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติคุ้มครองไปถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตแต่อย่างใด การอ้างเอาความผิดแก่นายสมยศจึงไม่น่าจะเป็นไปได้

กรณีต่อมาการกล่าวถึง “หลวงนฤบาลแห่งโรงแรมผี” ที่ออกกฎหมายตั้งทรัพย์สินส่วนตัว พ.ศ. 2491 หนุนอำนาจเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นรัฐบาลถนอม-ประภาส และอยู่เบื้องหลังการสังหารฝ่ายซ้าย การมีส่วนในการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น ก็ไม่สามารถตีความตามที่คำพิพากษาของศาลได้เลยว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว อย่างน้อยที่สุดการเอ่ยถึงการออกกฎหมาย พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังอยู่ต่างประเทศ

ดังนั้น เรื่องหลวงนฤบาลจึงเป็นการตีความโดยไม่ตรงข้อมูลประวัติศาสตร์หรือไม่ หรืออาจจะพิจารณาได้ด้วยซ้ำว่า คำพิพากษาของศาลที่ตีความเช่นนี้จะทำให้กระทบถึงสถาบันหรือไม่?

สรุปแล้วการดำเนินการของศาล เช่น การห้ามประกันตัวและการตัดสินคดีในลักษณะตีความเช่นนี้ จึงอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของศาลเอง และยังเป็นการชี้ให้เห็นด้วยว่ากฎหมายมาตรา 112 ขัดกับหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรม ทั้งยังเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับเสรีภาพอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเสรีภาพในด้านความคิดที่มุ่งจะบังคับให้คนคิดและเชื่อในแบบเดียวกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย



          เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 “กลุ่ม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง” ภายใต้การนำของ “กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล” พร้อมผู้ชุมนุมจำนวนมาก ได้รวมตัวกันที่บริเวณลาน พระบรมรูปทรงม้า จัดกิจกรรม “หมื่นปลดปล่อย” เพื่อยื่น “ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง” ที่กลุ่มนักวิชาการ “คณะนิติราษฎร์” ได้เสนอเมื่อวันที่ 13 มกราคม ให้ปล่อยผู้มีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ พ้นจากความผิด ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549-9 พฤษภาคม 2554
กลุ่ม 29 มกราฯถือว่าเป็นก้าวแรกในการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน เพราะ 6 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่มีการยึดอำนาจจากคณะรัฐประหาร ทำให้ประเทศเกิดวิกฤตทางการเมือง รวมทั้งส่งผลให้ประเทศเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนถูกทำร้าย จับกุม และมีบางส่วนถึงขั้นเสียชีวิต เฉพาะปี 2553 มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐออกหมายจับตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถึง 1,857 ราย


ขณะที่ปัจจุบันมีนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่คือ คดีหมิ่นฯ 6 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และที่ทัณฑสถานหญิงกลาง 1 คน คดีเกี่ยวเนื่อง จากการสลายการชุมนุม 2553 จำนวน 4 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และที่เรือนจำหลักสี่ (เรือนจำการเมือง) 22 คน
ทุกข์ของนักโทษการเมือง

นางสุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แกนนำ “ปฏิญ ญาหน้าศาล” ระบุว่า การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองควรทำตั้งแต่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ไม่ควรปล่อยให้ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเรียกร้องการเลือกตั้งต้องถูก จองจำถึง 2 ปีกว่า โดยมีผู้ถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาทางการเมืองถึง 1,857 คน ถูกดำเนินคดีในศาล 59 แห่งทั่วประเทศ จนกรณีอากงหรือนายอำพล ตั้งนพกุล ที่ถูกจำคุกด้วยมาตรา 112 แม้พยายามยื่นขอประกันตัวแต่ก็ไม่ได้ กระทั่งเสียชีวิตในคุก จนมาถึงกรณีนายวันชัย รักสงวนศิลป์ นักโทษการเมืองอีกคนที่เสียชีวิตในคุกเช่นกัน

ยิ่งรัฐบาลต้องการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ยิ่งต้องสร้างบรรยากาศให้เป็นประชาธิปไตย ให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะนักโทษการเมืองที่อยู่ในคุกออกมามีส่วนร่วมกำหนดวาระการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ หาทางออกให้ประเทศร่วมกัน ประโยชน์ของการนิรโทษกรรมไม่ได้ตกอยู่กับคนที่ถูกดำเนินคดีเท่านั้น แต่เกิดกับคนทุกคนที่ต้องการเห็นสังคมเป็นประชาธิปไตย
ขณะที่กลุ่มนักโทษการเมืองได้ส่งจดหมายขอบคุณกลุ่ม 29 มกราฯ ที่ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการนิรโทษกรรมที่จริงจังและชัดเจนที่สุด

“พวกเราต่างประสบชะตากรรมเดียวกันคือ ต้องพบกับความยากลำบากอย่างแสนสาหัส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ ปัญหาทางด้านการเงิน การต่อสู้คดี และผลกระทบอีกมากมายที่ถาโถมเข้ามาอย่างไร้ความปรานี เราทุกคนตกอยู่ในสภาพ เดียวกันคือ ต้องประสบกับช่วงที่ตกต่ำที่สุดในชีวิต

มีสักกี่คนที่จะตระหนักว่าพวกเราแทบจะทั้งหมดไม่เคยคิดที่จะต้องเจอกับ ปัญหานี้ ไม่เคยวางแผนล่วงหน้าที่จะติดคุก ไม่เคยวางแผนที่จะรับมือกับความหายนะของครอบครัว ธุรกิจ หรือแม้แต่กระทั่งชีวิตตัวเอง เพราะพวกเราคือประชาชนคนธรรมดา”

ตั้งข้อหาเกินจริง-ขังฟรี-ไม่ให้ประกัน

การเคลื่อนไหวของกลุ่ม 29 มกราฯจึงถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่เรียกร้องให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์เอง ร่วมมือเร่งคืนความยุติ ธรรมให้แก่นักโทษการเมืองทุกกลุ่ม อย่างที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) และเครือข่ายสันติประชาธรรม ซึ่งเคลื่อนไหวคู่ขนานกับกลุ่ม 29 มกราฯ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลคืนสิทธิและเสรีภาพให้แก่นักโทษการเมือง

แถลงการณ์ระบุว่า นับเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง จนนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจำนวน มาก และนับตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นบริหารประเทศ กระบวนการเยียวยาให้แก่ครอบ ครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในรูปของเงินชด เชย รวมทั้งการดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ เริ่มไปบ้างแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี อย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมากกลับไม่ได้รับการเหลียว แลใดๆจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างจริงจังเลย

ที่สำคัญประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังหลังเหตุ การณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ถูกเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตเข้าจับกุมและคุมขังตามอำเภอใจ ตั้งข้อหาร้ายแรงเกินจริง เป็นการจับกุมแบบเหวี่ยง แห ขาดหลักฐาน หลายกรณีมีเพียงภาพถ่ายผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นหลักฐานเท่านั้น ทั้งมีการซ้อมและทรมานผู้ต้องขัง และหลายรายเป็นเยาวชน
นอกจากนี้ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐ ธรรมนูญ มีการใช้ข้อหาก่อการร้ายต่อผู้ต้องขัง 44 รายในลักษณะครอบจักรวาล โดยไม่มีนิยามและขอบเขตของคำว่าก่อการร้ายที่ชัดเจน ผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกคุมขังเกินกว่าคำพิพากษาจำนวนมากถูกขังฟรีเป็นเวลาปีก ว่า หลังจากศาลเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอและพิพากษายกฟ้อง

ร่างนิติราษฎร์-นปช.-คอ.นธ.

นอกจากร่างนิรโทษกรรมของกลุ่มนิติราษฎร์ที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐ ธรรมนูญ และจัดตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งเป็นองค์กรทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีการกระทำความผิดอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูง ใจทาง การเมืองแล้ว กลุ่ม นปช. ยังเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม และข้อเสนอของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ) ที่เสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549-30 พฤษภาคม 2554
โดยข้อเสนอของนายอุกฤษระบุว่า การนิรโทษกรรมต้องไม่รวมถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการ เคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการ รักษาความสงบหรือยุติเหตุการณ์ ช่วงระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549-30 พฤษภาคม 2554 ซึ่งนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ได้แถลงการณ์สนับสนุนข้อเสนอของนายอุกฤษ เพราะเห็นว่ามีความชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้มากกว่าร่างของทุกฉบับ ทั้งเรียกร้องคู่กรณีให้ใช้ความเจ็บปวดในอดีตมาเป็นบทเรียนเพื่อฝ่าข้าม วิกฤต ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการนำเสนอกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับแก่ทุกฝ่าย และสามารถนำไปดำเนินการโดยเร็วที่สุด ทั้งรัฐบาล เจ้าหน้าที่ ผู้นำเหล่าทัพ และแกนนำทุกฝ่ายไม่ตั้งข้อรังเกียจการนิรโทษกรรมประชาชน

ไม่ผิดต้องเยียวยาและชดใช้

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายอุกฤษที่ให้ ส.ส. และ ส.ว. ดำเนินการว่าเป็นหลักการที่มาถูกทางแล้ว คลายความขัดแย้งในสังคมได้ เพราะนิรโทษกรรมเฉพาะบุคคลที่ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองหรือแสดงออกทางการ เมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุม การต่อสู้ขัดขืน การทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สินผู้อื่น แต่ไม่รวมนักการเมือง แกนนำ หรือผู้มีบทบาทนำคนออกมาชุมนุม คล้ายกับ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมของ นปช. เพราะเหตุการณ์การชุมนุมผ่านมานาน แล้ว ผู้ชุมนุมที่ได้รับเคราะห์กรรม ความไม่เป็นธรรมยังมีอยู่เยอะ คนที่รอการเยียวยายังมีอยู่ จึงถึงเวลาที่จะนำเรื่องนี้มาคุยกัน ไม่เหมือนการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่เกิดความตึงเครียด เพราะจะนิรโทษกรรมแบบยกเข่ง ซึ่งตนไม่เห็นด้วย

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ไม่ว่าข้อเสนอของ นปช. หรือกลุ่มนิติราษฎร์ เพราะประชาชนที่ติดคุกนานเป็นปี เท่ากับว่าชีวิตถูกทำลาย ไม่สามารถ ทำมาหากินได้ ครอบครัวอาจแตกแยก หากศาลตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิดก็ต้องให้ได้รับสิทธิเยียวยาจากสิ่งที่สูญ เสียไป
แต่ พล.อ.เอกชัยได้ตั้งข้อสังเกตข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ให้ตั้งคณะกรรมการ ขจัดความขัดแย้งเป็นองค์กรทางรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คนว่าจะเชื่อถือได้อย่างไร หากการทำงานไม่ต่างจากองค์กรอิสระจะทำอย่างไร การเสนอกฎ หมายนิรโทษกรรมในช่วงเวลานี้นับว่าเหมาะสม แต่เหมาะสมเพียงแค่เหตุการณ์เฉพาะหน้าที่บรรเทาความขัดแย้งในระยะสั้น เพราะภาพใหญ่อย่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่จะแก้ไขความขัดแย้งในระยะยาวยังค้างอยู่ในสภา รัฐบาลซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญที่ต้องผลักดันกลับไม่กล้าเดินหน้า เนื่องจากเกรงว่าจะถูกล้มเหมือนการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 และการทำประชามติ รัฐบาลก็ไม่กล้าเดินหน้า หากเป็นเช่นนี้ต่อไปโอกาสที่จะจบความขัดแย้งอย่างราบรื่นคงยาก ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายยังหาทางบรรจบกันไม่ได้

“เพราะหลักเกณฑ์การสร้างความปรองดองคือต้องค้นหาความจริง อย่างที่กระบวนการยุติธรรม กำลังเดินหน้าเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และต้อง เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้น”

วิวาทะ “โอ๊ค-มาร์ค”

แม้การนิรโทษกรรมจะได้รับการตอบรับจากหลายฝ่าย แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ อย่างนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยอมรับได้หากเป็นการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้จะยังอ้างว่าต้องดูรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ. ก่อนว่ามีอะไรซ่อนเร้นหรือไม่ เพราะหากมีอะไรซ่อนเร้นก็พอเดาออกได้ รวมทั้งต้องดูว่าคำจำกัดความและความหมายเรื่องผู้สั่งการมีแค่ไหน

แต่ยังไม่น่าสนใจเท่ากับการที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊คภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณและน้องสาวที่กำลังเดินเล่นในห้างดูไบ พร้อมระบุว่า ครอบ ครัวถูกกลั่นแกล้งจนไม่ได้เจอกันพร้อมหน้า และเริ่มชินที่ไม่ได้กลับเมืองไทยแล้ว แต่ยังเป็นห่วงประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง จึงรับคำท้าของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยระบุว่าให้อภัยโทษนักโทษการเมืองทุกคน ยกเว้น พ.ต.ท.ทักษิณ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่านายอภิสิทธิ์จะทำจริงหรือไม่
“หรือเป็นเพียงลมปากเกรียนๆ เท่ๆ ถ้าพูดจริง-ทำจริง ยืนยันมาเลยครับ เปิดประชุมสภาสมัยนี้จะได้เห็นทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันบำบัด ทุกข์-บำรุงสุขแบบไร้รอยต่อให้กับพี่น้องประชาชนเสียที

ทักษิณโดนโทษจำคุก 2 ปี โทษฐานที่เมียไปซื้อที่ดิน กับอภิสิทธิ์-สุเทพสลายการชุมนุม มีคนตายเกือบร้อย จะโดนโทษอะไรยังลุ้นกันอยู่ สมน้ำสมเนื้อกันดี ดีลนี้ตกลงเลยครับ”
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวสนับสนุนแนวคิดของนายพานทองแท้ว่าเป็นเจตนาที่ดีในการแสดงความจริงใจ ที่คิดว่าการนิรโทษกรรมผู้มาร่วมชุมนุมทางการเมืองไม่ควรถูกจำคุก โดยเชื่อว่านายพาน ทองแท้คงมั่นใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์จากคดีที่ดินรัชดาฯอยู่แล้ว เมื่อเทียบข้อกล่าวหาของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต่างกันราวฟ้ากับเหว จึงหวังว่าพรรคประชาธิ ปัตย์จะรับคำท้าด้วยดี

ส่วนนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวถึงคำท้าของนายพานทองแท้ว่า ตนรอฟังคำตอบจากปาก พ.ต.ท. ทักษิณเช่นกันว่าจะไม่นิรโทษกรรมตัวเองและเดินทางกลับประเทศไทยมาสู้คดี ส่วนที่ คอ.นธ. มีข้อเสนอให้นิรโทษกรรมก็ไม่ขัดข้อง และเห็นด้วยกับแนวทางนิรโทษกรรมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยไม่พ่วงคดีอาญาและคดีการทุจริตเข้ามาด้วย โดยเฉพาะกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ

“ไม่ควรเอากลุ่มคนเสื้อแดงมาเป็นตัวประ กัน เพื่อที่จะนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และหากรัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตามแนวคิดดังกล่าวก็สามารถมาคุยกับฝ่ายค้านได้ เราพร้อมให้การสนับสนุน โดยต้องคุยกันในจุดที่เห็นตรงกัน แต่แนวทางการปรองดองที่ไม่สามารถเดินหน้าได้เพราะติดขัดอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ” นายอภิสิทธิ์กล่าว

คืนความยุติธรรมแก่ประชาชน

การเคลื่อนไหวให้นิรโทษกรรมนักโทษทาง การเมืองจึงมีความเป็นไปได้สูง ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีความจริงใจหรือไม่ก็ตาม แต่นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประชาชนที่ต้องตกเป็น เหยื่อทางการเมืองส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ การนิรโทษกรรมจึงอาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ความเห็นใจจากคนเสื้อแดงก็ได้ รวมถึงคนเสื้อเหลืองที่มีคดีจ่อคอหอยอยู่

การนิรโทษกรรมครั้งนี้บางฝ่ายอยากให้รวมไปถึงนักโทษและผู้ถูกกล่าวหาคดี มาตรา 112 ด้วย โดยเฉพาะกรณีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ถูกตัดสินจำคุก 11 ปีนั้น ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมาก เพราะองค์กรระ หว่างประเทศและสหภาพยุโรปเห็นว่าเป็นการบ่อน ทำลายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชน เป็นการถอยหลังอย่างร้ายแรงในเรื่องเสรีภาพการแสดง ออก และเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย

และก่อนมีคำพิพากษาคดีนายสมยศเมื่อวันที่ 23 มกราคม องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ส่งข้อความถึงสมาชิกทั่วโลกเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 แสดงความกังวลถึงการพิจารณาคดีของนายสมยศ และได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกให้ร่วมกันส่งจดหมายร้องเรียนถึงรัฐบาลไทยผ่าน ทางนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวนายสมยศโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะถือว่านายสมยศเป็น “นักโทษทางความคิด” (prisoner of conscience) ที่ถูกควบคุมตัวเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ

การเคลื่อนไหวเพื่อให้นิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง ไม่ว่ารัฐบาล พรรคเพื่อไทย และพรรค การเมืองต่างๆต้องไม่ละเลยนักโทษทางความคิด ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาในมาตรา 112 ที่ทุกฝ่ายทราบดีว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง

แม้การนิรโทษกรรมจะไม่ทำให้เกิดความปรองดองในทันที แต่ อย่างน้อยก็ลดความ ขัดแย้งที่ฝังลึกได้ระดับหนึ่ง เพราะได้คืนความยุติธรรม ให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์

กลุ่มเยาวชนทนไม่ไหว บุกรังประชาธิปัตย์ มอบ "หีบเลือกตั้ง สส.สวะ"

กลุ่มเยาวชนทนไม่ไหว บุกรังประชาธิปัตย์ มอบ "หีบเลือกตั้ง สส.สวะ"


31 มกราคม 2556 go6TV - ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาที่บริเวณพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีกลุ่มเยาวชนประมาณ 20 คน เรียกตนเองว่า "กลุ่มสหายสีแดง" เดินทางมาที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมนำ "หีบเลือกตั้ง สส.สวะ" มามอบให้ นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคณะกรรมการบริหารพรรคทุกคน เนื่องจากไม่พอใจที่ เฟสบุ๊กส่วนตัวของ นายสาธิต ปิตุเตชะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร์เขต 1  จังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์ เขียนข้อความในเชิงดูหมิ่นประชาชน โดยมีข้อความระบุว่า "ประชากรสวะ" โดยมีนายสมชาย จิตรามาศ หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและประสานงานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ออกมารับหนังสือจากกลุ่มสหายสีแดงแทน โดยไม่มี สส.ในพรรคประชาธิปัตย์คนใดกล้าออกมารับหนังสือดังกล่าวแต่อย่างใด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โลกออนไลน์วิจารณ์หนักกับวลี 'ประชากรสวะ' ของ สาธิต ปิตุเตชะ
http://news.voicetv.co.th/viral/61646.html

กระทู้นี้ ...ขอไว้อาลัย ให้แก่ สส. พรรคประชาธิปัตย์
http://pantip.com/topic/30084077












พระเมรุเสร็จ ปืนใหญ่พร้อม คนพร้อม แห่พระศพวันนี้

พระเมรุเสร็จ ปืนใหญ่พร้อม คนพร้อม แห่พระศพวันนี้

ทาง การกัมพูชาได้ประกาศกำหนดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระ นโรดมสีหนุอีกครั้งหนึ่ง โดยจะเริ่มในวันศุกร์ 1 ก.พ.นี้ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นงานพระราชพิธี 1 สัปดาห์ ถวายแด่พระราชาที่ล่วงลับ
      
รัฐบาล เพิ่งประกาศอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ผ่านมาเกี่ยวกับการ ก่อสร้างพระเมรุ ที่แล้วเสร็จลงในวันเดียวกันหลังดำเนินมาเป็นเวลา 11 สัปดาห์ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาได้มีการซักซ้อมขบวนแห่และการจัดรักษาความปลอดภัยของ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ “ประสบความสำเร็จ” อย่างน่าพอใจ สำนักข่าวของทางการรายงาน
      
เริ่ม วันแรกด้วยพระราชพิธีขบวนแห่อัญเชิญพระศพจากพระราชวังไปยังลาน พระเมรุ ที่อยู่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติซึ่งอยู่ถัดจากพระราชวังเขมรินทร์ และจะยิงปืนใหญ่สลุตชุดแรกที่นั่น ก่อนจะเคลื่อนพระศพผ่านอนุสาวรีย์เตโชเมียส (Techo Meas) กับอนุสาวรีย์เตโชยัต (Techo Yat) สองขุนพลวีระชนสมัยคริสต์วรรษที่ 17 และ 18 ผ่านวัดพนม ผ่านโรงเรียนมัธยมปลายพระศรีสุวัธ และอนุสาวรีย์เอกราช
      
ขบวน แห่งพระศพจะมีความยาวราว 2 กิโลเมตร และทางผ่านจะรวมเป็นระยะทาง 6 กม. แต่ละแห่งที่ขบวนแวะหยุด จะมีพระสงฆ์ประจำแห่งละ 90 รูป สวดมนต์บำเพ็ญกุศลถวายแด่กษัตริย์สีหนุ สำนักข่าวกัมพูชากล่าว
      
บริษัท ธุรกิจตลอดจนห้างร้านเอกชนทั่วไป สถานที่ราชการ และหน่วยงานต่างๆ ที่ตั้งอยู่ตลอดสองข้างทางที่ขบวนจะเคลื่อนผ่านจะปิดสนิทในวันศุกร์นี้ ขณะที่ทั่วประเทศจะลดธงลงเหลือ 1 ใน 3 เสา เป็นการไว้อาลัย ทางการยังเสนอแนะให้ประชาชนทั่วไปกลัดริบบิ้นสีดำที่ปกเสื้อหรือคอเสื้อ เป็นการไว้อาลัยอีกด้วย
      
ขบวนแห่อัญเชิญพระศพจะเคลื่อนต่อไป ยังพระเมรุ ซึ่งจะมีการยิงปืนใหญ่สลุตอีก 1 ชุด จะตั้งพระศพที่นั่นจนถึงวันที่ 4 ก.พ. ซึ่งจะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ ระหว่างนี้ทางการอนุญาตให้ประชาชนชั้นชนต่างๆ รวมทั้งบรรดานักโทษที่จะได้รับอิสรภาพ ไปสักการะพระศพได้ สำนักข่าวของรัฐบาลกล่าว
      
การยิงปืนใหญ่สลุตจะมีขึ้นอีกครั้ง ในวันพระราชทานเพลิงพระศพ ซึ่งจะเป็นการยิงครบ 101 นัดพอดี จากปืนใหญ่ขนาด 105 มม. จำนวน 14 กระบอก ซึ่ง พล.อ.เตียบัญ รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ใช้กระสุนที่ใช้ในการยิงสลุตเป็นกระสุนซ้อมรบ ที่บริจาคโดยกองทัพประชาชนเวียดนาม
      

ในวันที่ห้าจะเป็น พิธีเก็บพระอังคาร ส่วนวันที่หกกับวันที่เจ็ดของงานจะเป็นพิธีแห่พระอังคารไปลอยในแม่น้ำโขงที่ บริเวณจตุมุข หน้าพระราชวัง อีกส่วนหนึ่งจะอัญเชิญไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์พระแก้วมรกต ภายในพระราชวัง
      
นอก จากจะลดธงลงเหลือ 1 ใน 3 เสาแล้ว ในช่วง 7 วันข้างหน้านี้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งจะงดรายการบันเทิงทุกประเภท ทางการยังมีคำสั่งให้งดงานเลี้ยงตามสถานที่สาธารณะต่างๆ อีกด้วย