วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ยกโบนันซ่ามาไว้แอลเอ


ตรวจสอบหัวใจของกันและกัน
ว่ายังเต็มร้อยกับอุดมการณ์แห่งอิสรชน 
ผู้มีวิญญาณขบถที่มิอาจก้มหัวสยบยอม
ให้กับการกระทำรัฐประหาร และเผด็จการทุกรูปแบบ
เพื่อคงความเป็นประชาธิไตยให้ลูกหลานได้อยู่ร่วมกัน
อย่างเท่าเทียม และด้วยความเที่ยงธรรม



          แม้สถานที่จะไม่กว้างใหญ่ แม้จำนวนมวลชนที่เข้าร่วมไม่อาจเทียบเท่า แม้เสียงโห่ร้องของผู้คนจะไม่ดังกึกก้องสะท้อนขุนเขาอย่างที่ไร่โบนันซ่า เขาใหญ่ แต่จังหวะเต้นของหัวใจที่หนักแน่นของพวกเราคนเสื้อแดงอเมริกาที่หลอมรวมจะส่งเสียงดังกัมปนาจไม่แพ้กันในการร้องหาประชาธิปไตย และความเป็นธรรม 

          วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2555 ณ บริเวณสวนหลังบ้านย่านเบลฟลาวเวอร์ของมหานครลอส แองเจลีส  คือสถานที่ตรวจเช็คกำลังพล และจิตวิญญานประชาธิปไตย เตรียมพร้อมรับศึกใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้น (หรือไม่แน่) ในอนาคตอันใกล้ โดยเอาฤกษ์เอาชัยกันตั้งแต่เวลาบ่าย  2 โมงเป็นต้นไป เป็นที่ระบายความอัดอั้น เพื่อให้ความเคียดแค้นใจที่ค้างคาถูกระบายออกมาจนหมดสิ้น ก่อนที่งานเลี้ยงจะเลิกลา 

          มหานครลอสแองเจลิส คือถิ่นที่อยู่อาศัยของชุมชนไทยใหญ่ที่สุดในโลกรองจากประเทศไทย  คนไทยในต่างแดนแห่งนี้มีส่วนร่วมทั้งในการต่อต้าน และให้การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดเมืองแม่ทุกครั้ง ทั้งโดยสงบเสงี่ยม หรือเปิดเผย แต่ก็เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน และบรรดาผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ตลอดมา 

         จาก 14 ตุลา 16 ...ถึง ตุลา 19 ...ผ่านเลยมาจนถึง 17 พฤษภา 35 นักสู้เพื่อประชาธิปไตยรุ่นนั้นหลายคนได้จากไปโดยไม่มีโอกาสให้ใครบันทึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์  สำหรับผู้ที่ยังดำรงอยู่แม้วันเวลาจะผ่านเลยวัยฉกรรจ์ไปไกลแต่จิตวิญญาณของการต่อสู้มิได้เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา กลับยังคงเข้มข้นพร้อมที่จะส่งผ่านประสบการณ์ และทักษะในการปะทะกับอธรรมสืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และคนรอบข้างต่อไป 

        การเคลื่อนไหวของคนไทยในนครลอสแองเจลิสที่รับไม้ต่อมือกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่ามีให้เห็นเป็นประจักษ์ไม่ขาดสาย บ้างปราบปลื้ม บ้างซึมเซา บางครั้งก็บาดลึกอยู่ในความทรงจำของหลายๆ คน ดังการรณรงค์ "กลับเมืองไทยไปเลือกตั้ง" เมื่อปี 2535  ที่ไม่ได้รับการใยดีจาก "การบินไทย" ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติทั้งในขณะนั้น และขณะนี้ 

         การรณรงค์ "กลับไทยไปเลือกตั้ง" แสดงออกถึงความรักความห่วงใยที่มีต่อประเทศชาติพร้อมๆ ไปกับความหวงแหนในประชาธิปไตย คนไทยหลายร้อยคนแสดงเจตนาเข้าร่วมโครงการโดยพร้อมที่จะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วยตนเอง ทุกคนเห็นพ้องกันว่าในเมื่อเรากลับเมืองไทยไปเลือกตั้งก็ควรเช่าเหมาเครื่องของการบินไทยทั้งลำให้สมศักดิ์ศรี มีความสง่างาม บ่งบอกเอกลักษณ์ประชาธิปไตยไทยๆ อย่างครบองค์ประกอบ 

        แต่การเดินทางกลับไทยไปเลือกตั้งครั้งนั้นเราต้องอาศัยสายการบินเกาหลีที่เสนอราคาให้อย่างมิตรจิตมิตรใจ ผิดกับราคาสูงส่งเทียมฟ้าของการบินไทย แม้พวกเราจะกราบกรานต่อรอง และร้องขอต่อผู้ใหญ่ระดับสูงของบริษัทอย่างใด การบินไทยก็ยังยืนกรานในราคาที่  "กระเหรี่ยง" อย่างพวกเราไม่อาจสู้ได้

       ในยุคนั้น "กระเหรี่ยง" คือชื่อเรียกขานคนไทยที่อพยพไปตั้งหลักทำมาหากินในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ "ถีบจักร" วันละ 12-16 ชั่วโมงไปจนถึงเป็นลูกจ้าง "ล้างจาน" ในร้านอาหาร ชื่อเรียกขานนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยไม่มีใครใคร่คิดเดียดฉันท์ ต่อมาจึงได้สมญาใหม่ว่า "Robin Hood" ฟังดูเป็นบริติชใกล้ชิดมาร์คเสียจริงๆ แต่ไม่ปรากฎหลักฐานว่าใครเป็นบุคคลแรกที่ยกระดับพวกเรา 

        ต่อเมื่อกาลเวลาเดินมาถึงยุค "ตาสว่าง" คนไทยต่างแดนจำนวนมากจึงถึง "บางอ้อ" ว่าทำไมการบินไทยในยุคนั้นจึงไม่สนับสนุนโครงการ "กลับเมืองไทยไปเลือกตั้ง" ของคนไทยในอเมริกา ความจริงก็คือบรรดารัฐวิสาหกิจไทยอยู่ในแวดวงว่านเครืออำมาตย์ที่ไม่เคยชื่นชอบในประชาธิปไตยนั่นเอง ตัวอย่างมีให้เห็นเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เช่น กรณีกัปตันการบินไทยไล่คนเสื้อแดงลงจากเครื่อง ประธานสหภาพแรงงานการบินไทยสนับสนุนพันธมิตรเสื้อเหลืองอย่างออกหน้า บริการอาหาร และเครื่องดึ่มระหว่างการยึดสนามบินสุวรรณภูมิอย่างปลาบปลื้ม 

        การโหยหาประชาธิปไตย และความเป็นธรรมร้อนระอุอยู่ในสายเลือดของคนไทยในสหรัฐอเมริกาหลายกลุ่ม หลายมลรัฐ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นกิจกรรมต่อต้านเผด็จการ และรัฐประหารทันทีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล นำ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ออกสัญจรเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ "สีแดง" ยังมิได้ถูกนำมาเป็นสัญญลักษณ์ของการต่อสู้ 

        ในยุค "เสื้อเหลือง-เสื้อแดง" กิจกรรมต่อต้านเผด็จการ อำมาตยาธิไตย และรัฐประหารแพร่ขยายเหมือนไฟลามทุ่งไปทั่วสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ซานดิเอโก้ ลอสแองเจลิส ซานฟรานซิสโก ลาสเวกัส เท็กซัส นิวยอร์ค ชิคาโก วอชิงตัน ดีซี และเมืองอื่นๆ ข้อมูลเรื่องการฉ้อฉลของบรรดาขุนนาง ขุนศึก และบรรดาเหล่าอำมาตย์ได้ถูกส่งต่อ ตีพิมพ์ และประจาน 

       เหตุการณ์สงกรานต์เลือดในปี2552 ที่คนเสื้อแดงถูกเข่นฆ่า ทุบตี แต่ศพกลับสาบสูญหาไม่พบ ฝากบาดแผลไว้ในใจของคนเสื้อแดง จนถึงเหตุการณ์ "ล้อมฆ่า" คนเสื้อแดงกลางเมืองหลวงของประเทศระหว่าง วันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทั้งๆ ที่แผลเดิมยังไม่ตกสะเก็ด ได้กลายเป็นน้ำมันที่ราดลงในกองเพลิง สุมความเร่าร้อนในสายเลือดนักสู้เพื่อประชาธิไตยของคนเสื้อแดงในอเมริกาให้เดือดพล่าน  การรวมตัวของคนเสื้อแดงในสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อสู้กับฝ่ายอำมาตย์ ขุนศึก และบรรดาเผด็จการทุกรูปแบบจึงเข้มข้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อมิให้เหตุการณ์สังหารประชาชนเช่นนั้นเกิดขึ้นอีก


      บทความนี้สื่อมายังคนเสื้อแดงทุกกลุ่ม และทุกเฉดของสีแดงในสหรัฐอเมริกาทุกท่าน

      หากท่านต้องการประชาธิปไตย และรักความเป็นธรรม ต่อต้านเผด็จการ 

      หากท่านสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้ง 
      หากท่านต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน

      หากท่านต้องการให้รัฐบาลยอมรับอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณี 



       ท่านคือเจ้าภาพของงาน "ยกเขาใหญ่มาไว้แอล.เอ." เพราะเรามีอุดมการณ์เดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน แม้กลยุทธจะผิดแผก แม้ยุทธวิธีจะแตกต่าง แม้กุศโลบายจะดูเหมือนขัดแย้ง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ตราบเท่าที่เรามียุทธศาสตร์เหมือนกัน เพราะในที่สุดเราก็จะเดินไปยังจุดหมายเดียวกัน 

       สถานที่พร้อม อาหารพร้อม เวทีพร้อม เครื่องเสียงพร้อม รอเพียงบรรดาผู้ร่วมอุดมการณ์ และพี่น้องร่วมรบทุกท่าน มาร่วมเป็นเจ้าภาพเปิดงาน และเปิดใจระบายความอัดอั้นกันก่อนที่จะแยกย้ายไปต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และความเป็นธรรมตามแนวทางของแต่ละกลุ่ม ของแต่ละเฉดสีกันต่อไป

11 December 2012


ยกโบนันซ่ามาไว้แอลเอ



        หากท่านเป็นคนเสื้อแดง

  • หากอุดมการณ์ของคนเสื้อแดงยังฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณของท่าน
  • หากหัวใจของท่านยังเร่าร้อนเพรียกหาประชาธิปไตยและความเป็นธรรม
  • เราคงได้พบกันในวันนั้น ณ บ้านหลังย่อมย่าน Bell Flower
ต่อสายมาหาเราได้เลยค่ะ
คุณเนตร  562/ 739-5652
คุณซู       562/ 569-9688

ภาคสันทนาการ อาหารและเครื่องดื่ม

         ว่ากันแบบครบเครื่อง ตามสไตล์งานชุมนุมของคนเสื้อแดง ตั้งแต่บ่ายอ่อน ๆ จากบ่ายสองโมงเป็นต้นไป "พราวตา ดาราเรือง" จะยกดนตรีคณะใหญ่ครบวง พร้อมนักร้องครบเครื่องต้อนรับคนเสื้อแดงทุกเฉดสีเข้าสู่งานระดมพล ณ บ้านหลังย่อม ย่าน Bell Flower ของมหานครลอสแองเจลิส เพื่อพิสูจน์ใจกันว่ามันยังเต็มร้อยหรือว่ามันล้นเลยไปแล้ว


        ชื่อชั้นอย่าง "พราวตา ดาราเรือง" คนรุ่นใหม่อาจไม่คุ้นหูและนักร้องดังอย่างวง "เดอะฮอทเป็ปเปอร์" อาจดูเป็นอดีต หรือแม้แต่นักร้องนักเต้นอย่าง "ไฉไล ไชยทา" ในความคิดของหลายท่านอาจดูเหมือนดาวที่ตกจากฟ้า แต่ในความเป็นจริงบรรดาศิลปินเพลงเหล่านี้ รูปร่างหน้าตายังไม่โรยาและพลังเสียงยังสามารถไต่บันไดโน๊ตได้อีกหลาย octave

         ศิลปินเพลงจำนวนมาก ทั้งเขาและเธอเคยเป็นนักร้องดังคับฟ้าเมืองไทยในอดีต แต่ในปัจจุบันย้ายมาตั้งหลักแหล่งในมหานครลอสแองเจลิส ส่วนใหญ่ใจเป็นแดง หลายคนเปิดหน้าบอกสังคมอย่างเปิดเผย บางท่านแม้ไม่บอก แต่คนในสังคมไทยแอลเอต่างรับรู้ว่าเป็นคนเสื้อแดง เพราะช่วยงานคนเสื้อแดงไม่ว่างานไหนอย่างไม่เผื่อใจ ถ้าเวลาและโอกาสอำนวย

         งาน "ยกโบนันซ่ามาไว้แอลเอ" ในวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2555 นี้จะมีเธอและเขาเหล่านั้นมาร่วมสร้างสีสรรด้วยเสียงเพลงให้กึกก้องไปทั้งงาน ตั้งแต่เพลงดังในอดีตจนถึงปัจจุบัน กระนั้นคนเสื้อแดงอเมริกาก็มีคำขอยาวเป็นหางว่าวให้จัดหนักเพลง "เสื้อแดง" ที่มีนับร้อยๆเพลงในปัจจุบัน จังหวะมันถึงจะเร่าร้อนทันกับเสียงเต้นของหัวใจแดง

        "ยกโบนันซ่ามาไว้แอลเอ" นอกจากเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมรบได้ "สัมผัสเสียง" แล้ว ยังสรรหาอาหารคาวหวานมาให้ "สัมผัสรส" กันอย่างอิ่มเอม ในเรื่องของรสชาดบอกได้อย่างไม่อายปากว่า ดาวบวกบวกทุกรายการ แม้มิได้นำเสริฟด้วยภาชนะหรูราคาแพงก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะว่าอาชีพหลักของ Robin Hood อย่างเราๆ คือการประกอบธุรกิจร้านอาหารไทย จึงไม่น่าข้องใจในเรื่องของ "รสมือ" ที่อาหารไทยดังติดอันดับอาหารยอดนิยมของโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากพวกเราที่นำมาประกอบอาชีพและเผยแพร่ในต่างแดนนี่แหละ

Posted Image

          ยกเมนูพื้น  มาล่อแมงเม่า ให้เร่งรีบมาร่วมงานอย่าง "ข้าวขาหมู" รสนุ่มลิ้นระดับ ดาวจาก "คุณนายป้อม" คนสวย ที่แถม green salad with sesame dressing ให้อีกหนึ่งรายการ ส่วน "คุณนายปุ๊" เป็นคนเสื้อแดงได้อย่างไรไม่มีใครทราบ เธอมีบ้านหลังโต ใหญ่ราวกับวัง ลานจอดรถกว้าง มีรถราคาแพงจอดเต็มลาน จัด "ต้มผักกาดดองกระดูกหมู" มาเป็นบรรณาการ ถ้าใครอยากทราบว่าคนไหนคือเธอ ให้ส่งเสียงเรียกว่า "อำมาตย์แดง" สตรีที่หันมาตามเสียงเรียก คนนั้นแหละใช่เลย


Posted Image

         คุณเนตรแอลเอรับอาสาในเรื่องไก่ย่าง ใส้กรอก และ BBQ ที่จะหอมอบอวลไปทั้งงานให้ได้ "สัมผัสกลิ่น" กันอย่างทั่วถึง ส่วนขนมจีนน้ำยาเจ้าอร่อยที่บรรดาผู้เคยชิม ชมกันเปาะว่าเลิศรสนักนั้น ผู้หญิงน่ารักเจ้าเดิมชื่อเหมือนยากันยุง "ทิฟฟี่" จัดให้

        คนใจกว้างอย่าง "กุ่ย เมืองสิงห์" มีฝีมือด้านการทำอาหารอย่างหาตัวจับยากแต่งานหลักกลับ "ถีบจักร" เลี้ยงชีพ ยื่นไมตรีช่วยงานด้วยอาหารอร่อย รายการ "แกงไก่หน่อไม้สด" กับ "ผัดกระเพราหมูถั่วฝักยาว"
       "คุณกุ่ย" ถีบจักรเป็นอาชีพ เก็บหอมรอมริบซื้อทองได้เป็นปี๊ป ส่วนสามีทำงานบริษัทรถยนต์ยี่ห้อดังเคยบอกว่าต้องจัดหา head phoneคุณภาพดีให้เมียใช้ หาไม่หูจะเสียเพราะใส่หูฟังคลิปเสียงของคนเสื้อแดงทั้งวันทุกวัน ตลอดเวลาทำงาน ตนต้องจัดหาคลิปเสียงการปราศรัย การอภิปราย ตลอดจนคลิปรายการทางการเมืองต่าง  ให้ฟังตลอดขาดตอนไม่ได้ ความรู้ "เรื่องการเมือง" ของ "คุณกุ่ย" จึงล้ำหน้าเลยคนจบปริญญาหลายคนไปไกล เคยฟังสามี "คุณกุ่ย" ที่จบปริญญานินทาเมียลับหลังให้ฟังว่า "กุ่ยมันจบแค่ ป.แต่เรื่องการเมืองไปคุยกับมันซิ มันต้อนเอาตายเลย"

          ไปต่อกันที่รายการอาหารด้าน "ยำ ยำ" ซึ่งสองสามีภรรยา "คุณนิด - คุณตุ่ม" ขันอาสารับหน้าเสื่อเป็นผู้จัดหา ทั้งคู่เป็นที่รู้จักหน้า คุ้นตากันดีในสังคมไทยแอลเอ ผ่านงานและประสบการณ์มาโชกโชน เจ้าของร้านอาหารไทยก็เคยเป็น น่าจะมีรายการอาหารพื้น  อย่าง "ยำวุ้นเส้น" ให้ได้ลิ้มลองกันอย่างไม่ผิดหวังในรสชาด
         ในส่วนของหวานและเครื่องดื่ม มีคนไทยแต่ชื่อ"แหม่ม" รับผิดชอบด้านขนมไทย "คุณซู" รับผิดชอบขนมแบบฝรั่ง สำหรับเรื่องน้ำดื่มและโซดา (ไม่รวมน้ำเมา) "คุณนีล" เป็นผู้จัดหา ส่วนผลไม้ต่าง  เช่นแตงโมและแคนตาลูปเป็นอาทิ "คุณนายวาด" จัดให้
        คาดการณ์กันไว้ล่วงหน้าว่างานจะล่วงเลยผ่านช่วงบ่ายไปจนถึงมืดค่ำจึงเตรียมข้าวต้มรอบดึกไว้ให้อุ่นท้องกัน พร้อมกับข้าวเช่น ยำผักกาดกระป๋องและไข่เจียวหมูสับจัดโดย Red USA และไก่ต้มน้ำปลาจัดหาให้โดย พี่สงค์ ขาใหญ่ของคนเสื้อแดงแอลเอ

         "ยกโบนันซ่ามาไว้แอลเอ" พร้อมแล้วทั้ง "สัมผัสเสียง สัมผัสรส และสัมผัสกลิ่น" แต่สิ่งที่ยังขาดหายคือ "สัมผัสใจ" หากท่านยังเป็นคนเสื้อแดงไม่ว่าจะเป็นแดงเฉดไหน ตั้งแต่แดงอ่อน  ไปจนถึงแดงเข้ม จงก้าวออกมา "สบตากัน" ในงานวันนั้นเพื่อให้ "ใจเราได้สัมผัสกัน" ถ้าท่านยังมีใจเป็นแดง

Posted Image

12 December 2012