วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ผีกลัวแสงสว่าง

ธงชัย วินิจจะกูล: ผีกลัวแสงสว่าง
Posted: 09 Nov 2012 05:42 PM PST (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)




            บัดนี้คงชัดเจนแล้วว่าคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ(ไอซีซี)กรณีอาชญากรรมการเมืองตรงราชประสงค์เมื่อปี 2553 และการดำเนินการต่อเนื่องมาทั้งหลาย ไม่ใช่ละครปลอบใจคนเสื้อแดงและไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันไร้ประโยชน์

           ประชาคมโลกจัดตั้งไอซีซีขึ้นมาเพื่อจัดการลงโทษผู้มีอำนาจที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ เช่นสังหารประชาชนจำนวนมากหรือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งร้อยทั้งร้อยเริ่มต้นจากกระทำผิดก่ออาชญากรรมแล้วลอยนวลไม่ถูกลงโทษ (impunity)

           ภารกิจของไอซีซีคือต้องยุติภาวะเช่นนี้ให้จงได้ (“End the Impunity”)
           การที่อัยการของไอซีซีเข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยก็เพราะเขาเห็นว่ากรณีนี้มีมูลควรสนใจและสะท้อนวัฒนธรรมปล่อยคนผิดที่มีอำนาจลอยนวลซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย ด้วยเหตุนี้ไอซีซีจึงไม่จำหน่ายคำร้องของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมออกไปตั้งแต่แรกๆที่เขายื่นเมื่อมกราคม 2554  (หวังว่าคงไม่มีใครเพ้อเจ้อกล่าวหาว่าอัยการของไอซีซีรับเงินทักษิณ)

           ผู้มีส่วนในการก่ออาชญากรรมเมื่อปี 2553 และบรรดาผู้สนับสนุนต่างพากันออกมาคัดค้านไอซีซีเป็นการใหญ่ด้วยข้ออ้างสารพัด

           เรื่องนี้เราควรพิจารณาสาเหตุผลสะเทือนให้กว้างและไกล อย่าหมกมุ่นหลงติดคิดแคบๆสั้นๆหรือคิดแค่ลูบหน้าปะจมูก อย่าหวังปัดปัญหาหรือปิดหูปิดตาตัวเองเด็ดขาด

           ถ้ากระบวนการยุติธรรมของไทย(ไม่
ใช่แค่ศาล)เชื่อถือได้ ไอซีซีย่อมไม่ต้องการเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และคงไม่มีคนไทยต้องพยายามไปร้องต่อไอซีซีด้วยซ้ำเพราะพึ่งกระบวนการยุติธรรมของไทยก็ย่อมได้

           แต่ถึงวันนี้ จะมีสักกี่คนที่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของไทยต่อกรณีอาชญากรรมการเมืองร้ายแรงจะมีสักกี่คนที่มั่นใจว่าไม่ม ีใบสั่ง ไม่เอียงเข้าข้างอำนาจ ไม่รังแกคนจนคนไร้อำนาจ ไม่มีสี เส้น หรือเอียงตามสถานะทางสังคม เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะ หลักการ คงเส้นคงวา เชื่อถือได้ และเคารพสิทธิให้ประกันตัว

           ถ้ากระบวนยุติธรรมของไทยเคยกล้าจัด การกับอาชญากรรมเมื่อ 14 ตุลา 16 6 ตุลา 19 และพฤษภา 35 อย่างเที่ยงธรรม ไม่มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด ไม่มีการปล่อยลอยนวลครั้งแล้วครั้งเล่าจนเสียนิสัย ไม่ปล่อยให้คนมีอำนาจเคยตัวว่าก่ออาชญากรรมก็ไม่ถูกลงโทษ ป่านนี้ไอซีซีคงทิ้งคำร้องไปตั้งนานแล้ว

           ถ้ากระบวนการยุติธรรมของไทยไม่รับรองการรัฐประหารว่าเป็นเรื่องถูกต้อง ถ้านักกฎหมายไม่นิรโทษกรรมผู้ใช้อาวุธยึดอำนาจ ไม่ปกป้องผู้กระทำผิดร้ายแรงถึงขนาดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ไอซีซีก็คงเอาคำร้องกรณีราชประสงค์ 2553ออกจากสารบบไปตั้งนานแล้ว

           ถ้านักกฎหมาย อาจารย์นิติศาสตร์ จนถึงศาลยุติธรรม ไม่รับใช้ช่วยให้ผู้มีอำนาจที่ก่ออาชญากรรมลอยนวลไม่ถูกลงโทษ ไอซีซีคงไม่รับคำร้องกรณีนี้ตั้งแต่ต้น ตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา อาชญากรรมการเมืองครั้งใหญ่เหล่านั้นอาจไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำไป

           การนิรโทษกรรมแก่ผู้มีอำนาจที่
ก่ออาชญากรรม แถมยกย่องสรรเสริญอาชญากรเป็นการใหญ่ เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้เกิดอาชญากรรมรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า

           เราอย่านึกว่าอัยการของไอซีซีไม่ทำการบ้าน ไม่ศึกษา ไม่รู้เรื่องประเทศไทยเลยว่ามีการนิรโทษกรรมผู้มีอำนาจที่ก่ออาชญากรรม ปล่อยลอยนวลครั้งแล้วครั้งเล่า เราอย่านึกเอาเองว่าอัยการของไอซีซีไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้ว่านับตั้งแต่กรณีราชประสงค์ 2553 ยังมีคนถูกขังคุกโดยไม่ได้รับการประกันตัวทั้งๆที่ยังไม่มีความผิด ในขณะที่ผู้ออกคำสั่งให้ใช้อาวุธสังหารประชาชนยังลอยนวลอยู่ และผู้กระทำผิดร้ายแรงเห็นโต้งๆเช่นการยึดทำเนียบรัฐบาลหรือสนามบินนานาชาติกลับไม่ถูกดำเนินคดี

          เพราะเขาทำการบ้าน ทำการศึกษา อัยการของไอซีซีจึงเห็นว่ากรณีอาชญากรรมเมื่อปี 2553 มีวี่แววว่าคนมีอำนาจที่ก่ออาชญากรรมอาจจะไม่ถูกลงโทษอีกเช่นเคย ดังนั้น เรื่องใหญ่คือเราต้องทำให้ประชาคมโลกและไอซีซีเห็นว่าระบบกฎหมายไทยและกระบวนการยุติธรรมของไทยกำลังปรับปรุงและแก้ปัญหา กำลังมุ่งจัดการเอาผู้สั่งการก่ออาชญากรรมมาลงโทษ พร้อมทั้งแก้ปัญหาความอยุติธรรมที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 2553 อย่างจริงจัง

          กระบวนการยุติธรรมของไทยต่อกรณีนี้ต้องดำเนินไปอย่างเที่ยงธรรม จริงจังไม่ล่าช้า พยายามล่าตัวผู้สั่งการมาลงโทษ ไอซีซีจะเห็นเองว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยเชื่อถือได้

          ต้องให้ประกันผู้ถูกดำเนินคดีที่ยังอยู่ในคุกทั้งหมด

          ต้องปล่อยนักโทษการเมืองและให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อที่ถูกลงโทษซ้ำในความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีราชประสงค์ 2553

         สิ่งที่ควรทำมากไปกว่านั้นก็คือ ต้องแสดงให้ชัดว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยไม่สนับสนุนการรัฐประหาร ด้วยการนำข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่ให้ล้มล้างผลพวงของรัฐประหาร 2549 ขึ้นมาพิจารณาและเร่งนำไปปฎิบัติ

          (ผู้ที่เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวเหลวไหลน่าหัวร่อคือคนที่คิดแคบคิดสั้น ไม่เข้าใจว่าข้อเสนอดังกล่าวจะมีผลช่วยปรับระบบนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมของไทยให้เข้ารูปรอย ซึ่งจะฟื้นความน่าเชื่อถือขึ้นมามหาศาล)

          ความกังวลต่อภาพพจน์ประเทศไทย สะท้อนความคับแคบปิดหูปิดตาตัวเองจนน่าสมเพช เพราะภาพพจน์ประเทศไทยในเรื่องระบบการเมืองและระบบนิติธรรมในสายตานานาชาตินั้น ตกต่ำจนแทบไม่เหลือให้เสียไปกว่านี้อีกแล้ว ตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 คำตัดสินไร้หลักการทั้งหลายภายใต้ตุลาการภิวัฒน์ จนถึงกรณีราชประสงค์ 2553

         การที่อัยการของไอซีซีเห็นว่าควรสอบสวนเหตุการณ์ 2553 น่าจะสะท้อนว่าภาพพจน์ของการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยในสายตาชาวโลกเป็นอย่างไร

         บอกให้ก็ได้ว่ามีอีกมาตรการหนึ่งที่จะสามารถกู้ภาพพจน์ประเทศไทยขึ้นมาอย่างสำคัญและฉับพลันทันที นั่นคือการยกเลิกหรือแก้ม.112

         เพราะในขณะนี้กฎหมายหมิ่นฯ คือ ภาพพจน์ของ “อนารยธรรมไทย” ในสายตาชาวโลก เป็นกฎหมายป่าเถื่อนที่อารยชนส่วนใหญ่ในโลกรับไม่ได้

         คำอธิบายว่าเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยหรือพระมหากษัตริย์ไทยมีคุณวิเศษเหนือคนธรรมดา เป็นเหตุผลที่แย่มากๆเพราะเหมือนกำปั้นทุบดิน (“ก็เราจะเป็นอย่างนี้ เรื่องของเรา”) ไม่ได้ช่วยอะไร แถมกลับทำให้คนไทยดูน่าสมเพชว่าเป็นคนหัวปักหัวปำอย่างขาดเหตุผล ทำนองเดียวกับพวกคลั่งศาสนา

         สังคมไทย เจ้าไทย ประชาชนไทยที่อารยะเสียภาพพจน์ไปด้วยกันทั้งหมดเพราะ ม.112เป็นตัวการ

         การออกหนังสือเชิดชูเจ้าพระองค์หนึ่งอย่างเก่งก็คงช่วยกู้ภาพพจน์เจ้าพระองค์นั้น แต่มิได้ช่วยสร้างความชอบธรรมแก่ ม.112 หรือระบบนิติธรรมของไทยในสายตาชาวโลกขึ้นมาแม้แต่นิดเดียว

          ชาวโลกที่สนใจและแคร์ต่อประเทศไทยรู้ข่าวการตายของอากงมากกว่ารู้จักหนังสือกู้ภาพพจน์เจ้าอย่างเทียบไม่ได้

          ม.112 ที่มีไว้ปกป้องภาพพจน์เจ้ากลับทำให้ภาพพจน์เจ้าและประเทศไทยเสื่อมถอยหนัก
          ดังนั้น หากไม่กระทำการใดๆต่อม.112 อย่าหวังเลยว่าภาพพจน์ประเทศไทยจะฟื้นขึ้นมา
          ตราบใดที่ยังไม่ปล่อยผู้ถูกกล่าวหาและนักโทษม.112ออกมาทั้งหมด ภาพพจน์ประเทศไทยที่ป่าเถื่อนจะไม่มีวันยุติ เสียหายกันทั้งหมดทั้งไพร่อำมาตย์และเจ้าด้วย
          การที่รัฐสภาปัดข้อเสนอแก้ ม.112 ของประชาชนสามหมื่นกว่าคนอย่างไม่รับผิดชอบ เป็นการคิดสั้นๆและตื้นเขิน แทนที่จะใช้โอกาสนี้แก้ความป่าเถื่อนของกฎหมายที่มีปัญหา แถมช่วยสร้างภาพพจน์ที่ดีต่อระบบนิติธรรมและประเทศไทย กลับเอาตัวรอดอย่างขี้ขลาด เป็นผู้แทนประชาชนแต่กลัวประชาชน

          (คงมีคนแก้ตัวว่าภาพพจน์ประเทศไทยยังดีมากๆดูได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวและความนิยมอาหารไทย เขาคงไม่รู้ว่าของดีๆในแง่เหล่านั้นบวกกับความล้าหลังด้านกฎหมายและระบบการเมืองประกอบกันเข้าเหมาะเหม็งเป็นภาพพจน์ของประเทศเก่าแก่ที่มีดีด้านวัฒนธรรมแต่กฎหมายและความยุติธรรมยังเถื่อนอยู่)

          โปรดตระหนักว่าการลูบหน้าปะจมูก ต่อให้หลอกไอซีซีได้ชั่วครั้งคราว สักวันหนึ่งการรัฐประหารและอาชญากรรมการเมืองร้ายแรงก็จะปะทุขึ้นอีก นี่คือมรดกที่เราอยากทิ้งไว้ให้ลูกหลานหรือ

           ผู้ก่ออาชญากรรมการเมือง ผู้สนับสนุน ให้ท้าย ร่วมแก้ตัวหรือปกปิดความผิด ทั้งในมหาวิทยาลัย ในสภา และในวงการสื่อมวลชน พวกเขากลัวไอซีซีเสมือนผีกลัวแสงสว่าง

           กลัวว่าอาชญากรรม อภิสิทธิ์ อวิชชา และความอยุติธรรมจะถูกประจานต่อชาวโลก

           พวกเขาขัดขวางไอซีซีสำเร็จหรือไม่ก็ตาม หรือต่อให้ลงท้ายไอซีซีไม่รับกรณีราชประสงค์ 2553 ก็ตาม โปรดตระหนักว่าประเทศไทยได้ถูกจับตาโดยกระบวนยุติธรรมระดับโลกเรียบร้อยแล้ว

          ถ้าครั้งนี้พวกเขาขัดขวางสำเร็จ ประเทศไทยจะยิ่งตกเป็นเป้าจับจ้องของไอซีซีหนักเข้าไปอีก

มาตรา 112 กฎหมายป่าเถื่อน

 สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: มาตรา 112 กฎหมายป่าเถื่อน
Posted: 11 Nov 2012 06:26 AM PST (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)




           เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคมที่ผ่านมานี้ ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาคดีทิ่นายสุรภักดิ์ ภูไชยแสง เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา ๑๑๒ (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)และความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ”ยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” คุณสุรภักดิ์จึงได้รับอิสรภาพในวันเย็นนั้นเอง

           คดีนี้ ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ เจ้าพนักงานชุดจับกุมของกรม สอบสวนคดีพิเศษ ในชุดนอกเครื่องแบบประมาณ ๑๐ คน ได้บุกเข้าจับกุมนายสุรภักดิ์  ภูไชยแสง  วัย ๔๐ ปี โปรแกรมเมอร์อิสระ ชาวจังหวัดบึงกาฬ ที่ห้องพักในซอยมหาดไทย ลาดพร้าว โดยกล่าวหาว่า คุณสุรภักดิ์กระทำความผิด เพราะเป็นเจ้าของเฟซบุคชื่อ “เราจะปกครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร” ซึ่งมีการโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทางการตำรวจได้ตรวจยึดคอมพิวเตอร์ แบบพกพา  คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แอร์การ์ด  รวมทั้งแผ่นซีดีไปด้วย กรณีนี้ เป็นการจับกุมผู้ต้องหากรณี ๑๑๒ เป็นคดีที่สองในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากคดีนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          หลังการจับกุม ได้มีการอ้างจากกลุ่มล่าแม่มดทางคอมพิวเตอร์ที่ใช้ชื่อ “เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” ;ว่าเป็นผู้ข้อมูลแจ้งความให้เกิดการจับกุม จากนั้น ได้โพสต์ข้อความในสนทนาการเมืองเสรีไทยว่า “วันนี้สิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน  ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ไม่เคยส่งผลทำร้ายประชาชนคนไทยที่เป็นปกติชนเลย  แต่กฎหมายนี้จะบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีบุคคล กลุ่มคน ที่มีจิตใจ มีพฤติกรรมในการหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่เราเคยได้รับแจ้งมา ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อภาพที่ไม่เหมาะสม การเผยแพร่คลิปเสียงที่ เป็นข้อมูลที่ผิดและบิดเบือนมาเผยแพร่ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์  กฎหมายมาตรานี้จึงจะมีผลบังคับใช้ ฉะนั้นแล้วก็อย่ามาโอดครวญ จงก้มหน้ายอมรับโทษกับผลกรรมที่ตัวเองได้ทำไว้”

           แต่วันนี้ เมื่อศาลยกฟ้องกรณีคุณสุรภักดิ์แล้ว ไม่รู้ว่ากลุ่มล่าแม่มดทางอินเตอร์เนตจะมีความสำนึกอะไรหรือไม่

           แม้ว่าในวันนี้ศาลจะยกฟ้องและได้รับการปล่อยตัว แต่ปัญหาจากกรณีนี้ยังมีอยู่หลายประการ ตั้งแต่เรื่องการติดคุกฟรี เพราะคุณสุรภักดิ์ถูกคุมขังตั้งแต่หลังการจับกุม เพราะศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงเท่ากับว่า คุณสุรภักดิ์ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำโดยปราศจากความผิดมาแล้ว ๑๔ เดือน คุณสุรภักดิ์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การประกันตัวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่มาตราในรัฐธรรมนูญกลับกับมีค่าไม่เท่ากัน การไม่ได้รับการประกันตัวทำให้เขามีความยากลำบากในการต่อสู้คดีอย่างมาก การถูกคุมขังทำให้สูญเสียทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการงาน ครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจเยียวยาได้ ทั้งที่รัฐไทยมีงบประมาณปกป้ององค์กรต่างๆ มากมายแต่กลับไม่มีการปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์

            ปัญหาที่มากกว่านั้นก็คือ ในโลกนานาชาติ คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์สมัยใหม่แห่งเสรีภาพทางความคิด ไม่มีประเทศที่ก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตยประเทศไหน จะมีการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดทางคอมพิวเตอร์เช่นนี้ นอกจากประเทศอย่าง พม่า จีน และ เกาหลีเหนือ ดังนั้น การใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ร่วมกับกฎหมายมาตรา ๑๑๒ มาควบคุมความคิดของประชาชนจึงเป็นเรื่องล้าหลัง และมาจากรากฐานความคิดแบบด้านเดียว

            ปัญหาของมาตรา ๑๑๒ โดยรากฐานแล้วเป็นกฎหมายป่าเถื่อน เพราะมีบทลงโทษที่หนักเกินจริง และกลายเป็นเครื่องมือทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งที่เป็นกฎหมายผลพวงเผด็จการ เพราะแต่เดิมมา กฎหมายนี้มีบทลงโทษให้จำคุกไม่เกิน ๗ ปี แต่หลังจากการรัฐประหารในกรณี ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ซึ่งเป็นการยึดอำนาจหลังการกวาดล้างขบวนการนักศึกษาอย่างป่าเถื่อน คณะผู้ยึดอำนาจซึ่งใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ออกคำสั่งฉบับที่ ๔๑ ให้มีการเพิ่มโทษในมาตรา ๑๑๒เป็น”จำคุกตั้งแต่ ๓ ปีถึง ๑๕ ปี”

            ประเด็นสำคัญคือ กฎหมายนี้ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชนที่คิดแตกต่าง โดยเฉพาะตั้งแต่หลังจากรัฐประหาร พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นต้นมา ที่มากเป็นกรณีพิเศษคือ ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการกลั่นแกล้ง กล่าวหา และกวาดล้างประชาชนด้วยข้อหาตามมาตรา ๑๑๒ มากที่สุด จนทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกจับกุม และศาลก็ได้ร่วมมือในการใช้กฎหมายเผด็จการนี้ ด้วยการห้ามการประกันตัวสำหรับ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้แทบทั้งหมด จนทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตในคุกมาแล้ว เช่น กรณีอากง หรือ นายอำพน ตั้งนพคุณ และจนถึงขณะนี้ ก็ยังมีผู้บริสุทธิ์ติดคุกภายใต้กฎหมายนี้ เช่น ดารณี ชาญเชิงศิลป์กุล สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นต้น

           เมื่อเป็นเช่นนี้ ในระยะต้นปี พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดยกลุ่มนิติราษฎร์ ได้จัดตั้งเป็นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อให้มีการปฏิรูปกฎหมายมาตรา ๑๑๒ เพือรวบรวมรายชื่อประชาชนในเวลา ๑๑๒ วัน เพื่อให้มีการพิจารณาปฏิรูปกฎหมายมาตรา ๑๑๒ ให้ลดความป่าเถื่อนและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในที่สุด ก็สามารถรวบรวมเสียงประชาชนได้ ๓๙,๑๘๕ รายชื่อ และเสนอต่อประธานรัฐสภาให้พิจารณาในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕

          จากนั้น เรื่องในรัฐสภาก็เงียบหายไป จนกระทั่งมีรายงานข่าวเมื่อปลายเดือนตุลาคม จากเว็บไซต์รัฐสภาว่า ประธานรัฐสภาสั่งจำหน่ายเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายนนี้ เนื่องจากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ จึงจะไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ ในวาระการประชุมรัฐสภา

            ปรากฏว่า มีปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของประธานสภา จากนักวิชาการคณะครก.๑๑๒ และ สื่อมวลชนบางส่วน บ้างก็ตั้งคำถามต่อการที่ประธานสภาคนเดียวมีข้อวินิจฉัยมากกว่าเสียงประชาชนที่ลงชื่อหลาย หมื่นคน ดังนั้น นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้แถลงเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายนนี้ว่า การขอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ และอธิบายว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจในเรื่องนี้เพียงตัวคนเดียวไม่ได้ ข้อสรุปที่เกิดขึ้นผ่านการพิจารณาจากฝ่ายข้าราชการประจำ อีกทั้งนายนิคม ไวรัชพาณิช ประธานวุฒิสภา ก็ได้ให้ความเห็นในทำนองเดียวกัน จึงอยากเรียกร้องให้บุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะชนหยุดการแสดงความคิดเห็นในลักษณะผิดๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและขาดความศรัทธาในระบบรัฐสภาของไทย

            แต่ปัญหาที่ประธานสภาสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ไม่ได้อธิบายคือ ผลกระทบที่กฎหมายป่าเถื่อนฉบับนี้ กลายเป็นเครื่องมือลงโทษผู้บริสุทธิ์ และยิ่งกว่านั้น ข้อเสนอปฏิรูปกฎหมาย ๑๑๒ ของคณะนิติราษฎร์ นับว่าเป็นข้อเสนอที่อ่อนและเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยมากที่สุด สมควรที่จะพิจารณาที่สุด และตราบเท่าที่กฎหมายป่าเถือนเช่นนี้ ไม่ได้ถูกแก้ไขหรือยกเลิก สังคมไทยก็คงจะได้ชื่อว่าเป็นสังคมแห่งความมืดในด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป

โอบามาเยือนไทย, ม็อบเสธ.อ้าย และ ครก.112

'มติชนออนไลน์'' สัมภาษณ์ ''ชาญวิทย์'': โอบามาเยือนไทย, ม็อบเสธ.อ้าย และ ครก.112
Posted: 15 Nov 2012 03:28 AM PST (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)



           "จุดติดยาก และจะสร้างสถานการณ์ให้เกมยืดยาว จนนำไปสู่การแตกหัก ได้ชัยชนะ อย่างรัฐประหาร 19 กันยา 49 ก็ยาก...การเมืองไทย การเมืองอาเซียน การเมืองโลก ได้วิ่งเลย ‘คนรุ่นเก่า’ หรือ ‘อำนาจเก่า/บารมีเก่า’ ไปแล้ว"

           15 พ.ย.55 ‘มติชนออนไลน์’ สัมภาษณ์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยและประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบรรยากาศที่ไทยต้อนรับผู้นำระดับโลก ท่ามกลางกระแสการเมืองภายใน ที่กำลังก้าวผ่านยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง

อาจารย์มองว่า ผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริก สะท้อนแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างไร
 
           ‘โอบามา’ ชนะการเลือกตั้ง เมื่อไม่กี่วันมานี้ คือวันที่ 6 พฤศจิกายน ผมก็ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้
งอเมริกา อยู่ที่ UCLA  นั่งดูรายงานทางโทรทัศน์ทั้งคืนด้วยความตื่นเต้น การเลือกตั้งอเมริกาน่าตื่นเต้น เพราะประธานาธิบดีอเมริกัน อาจมีอำนาจสูงที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะมีกองทัพ ซึ่งมีสมรรถภาพสูง แผ่อำนาจไปทั่ว แล้วในกรณีของโอบามา น่าสนใจที่ว่า คนดำสามารถเป็นประธานาธิบดีได้เป็นครั้งแรก แล้วเป็นถึง 2 เทอม ชนะอย่างขาดลอย

           ทั้งที่ตอนแรกมีข่าวว่า โอบามามีปัญหามาก อาจจะสูสี แต่เมื่อดูจากคะแนนนิยมทั่วไปที่เรียกว่า ป๊อบปูล่าโหวต ก็ชนะ ส่วนคะแนนที่ได้จากผู้แทนของรัฐก็ชนะ เขาก็ขาดลอยมา ทำให้คนคาดหวังว่า การเลือกตั้งต่อไปคราวหน้า อาจจะเป็นทีของผู้หญิง

           เมื่ออเมริกา สามารถทำให้คนดำ เป็นประธานาธิบดีได้ อเมริกา ก็อาจจะเลือกผู้หญิงเป็นผู้นำ ก็ได้

เป้าหมายในการเดินทางมาไทยของประธานาธิบดีโอบามา
 
           ผมคิดว่าน่าสนใจว่า ฮิลลารี่ คลินตัน คงจะมาด้วย เธอยังอยู่ในเทอมของการเป็นรั
ฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาล ‘โอบามา1’ นี่คือการรุกของโอบามาที่เข้ามากลุ่มอาเซียน ผมไม่ได้มองแค่ว่า โอบามามาประเทศไทย แต่เป้าหมายสำคัญของโอบามาอยู่ที่พม่า อย่าลืมว่า พม่ามีพรมแดนอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย ซึ่งสำคัญมาก ไทยไม่มีพรมแดนติดจีนและอินเดีย ยกเว้นน่านน้ำในทะเลติดกับอินเดีย ฉะนั้นในแง่ของสถานที่ตั้งของพม่า สำคัญมาก ผมคิดว่า โอบามาก็คงต้องการจะผลักดันนโยบายที่จะทำให้พม่าปฏิรูปการเมือง มุ่งสู่ประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง และยังเข้ามา แข่งขันอำนาจกับจีนอีกด้วย พร้อมๆ กับการที่จะไปประชุมที่กัมพูชาในการประชุมอีสเอเชียซัมมิท 

           โอบามารุกนโยบายต่างประเทศ ผมไม่คาดคิดว่าเขาจะเร็วขนาดนี้  เขาเป็นคนที่เร็วมากๆ แล้วคำที่เขาใช้ในการเลือกตั้ง คือ ‘ฟอร์เวิร์ด’ นี่เป็นภาษาของการสื่อสารในอินเตอร์เนต คุณจะฟอร์เวิร์ดสิ่งนี้ ไปที่คนโน้นคนนี้ เป็นภาษาคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ที่เล่นอินเตอร์เนต ขณะที่โอบามามีคนไลค์เฟซบุคประมาณ 3 ล้านคน ผมเชื่อว่า คนอายุ 60-70 ปีในบ้านเรา ไม่รู้ภาษาอินเตอร์เนตแล้ว คือ ‘ตกรุ่น’ ไปแล้ว 

            เขาเล่นเกมส์ ไปพม่ากับกัมพูชา แถมประเทศไทย เพราะยังไงก็เป็นพันธมิตรเก่ากันมาในสมัยสงครามเย็น สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ คุณยิ่งลักษณ์จึงได้เอี่ยวไปด้วยจากการที่เขาจะไปพม่า และกัมพูชา

เลือกมาไทยเป็นที่แรก
 
            ก็พันธมิตรเก่านะครับ ร่วมรบกันมาตั้งกี่สิบปี ถล่มเวียดนาม ถล่มอินโดจีนมาเป็นเวลานาน มีฐานทัพ ดังนั้น ต้องรักษาไมตรีเก่า แต่ผมเดาว่า จุดสำคัญการรุกครั้งนี้ คือพม่ากับกัมพูชาในแง่นโยบายต่
างประเทศ ส่วนสถานการณ์การเมืองภาย ในของไทยก็น่าเป็นห่วง เพราะดูไม่ค่อยมีความมั่นคง ขณะที่เมื่อก่อน พม่าดูล้าหลัง แต่ตอนนี้ดูพม่าจะก้าวหน้า ส่วนไทยเมื่อก่อนดูจะก้าวหน้า แต่ตอนนี้ดูจะล้าหลัง 

            และก็น่าสังเกตว่า ดูเหมือนโอบามาไม่มีกำหนดการพบปะกับผู้นำฝ่ายค้านของไทย ทั้งๆ ที่เมื่อจะไปพม่า จะพบทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน อันนี้ควรจ้องดูให้ดีครับ

กลุ่มที่อยากแช่แข็งประเทศ ก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ จะมีพลังหรือไม่
 
            ไม่น่าจะมีพลัง เพียงแต่เขายังอาศัยการอิงกั
บอำนาจเก่า บารมีเก่า จึงเล่นได้... ประเภท ‘ม็อบมีเส้น’ ถ้าไม่มีเส้น เล่นแบบนี้ไม่ได้ ต้องมีเส้นถึงจะเล่นได้

อาจารย์ ประเมินพลังของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล อย่างม็อบองค์การพิทักษ์สยามของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อย่างไร
 
           ผมค่อนข้างแปลกใจ เพราะถ้าดูๆ ไปก็น่าสงสาร น่าเห็นใจ ผู้ที่ออกมาก็อายุ 60-70-80 อะไรทำนองนี้ เรียกง่ายๆ ว่าค่อนข้าง ‘ตกรุ่น’ แล้ว ในแง่ของบารมี ในแง่ของแรงจูงใจดูไม่ค่อยมี เพราะฉะนั้น ผมก็แปลกใจว่า ทำไมทั้งสื่อมวลชน และผู้นำรัฐบาลเอง รวมถึงผู้สนับสนุนการปลุ
กกระแสนี้ ประเมินสูงมาก ผมค่อนข้างแปลกใจ ไม่รู้ว่าอันนี้ ‘สับขาหลอก’ หรือเปล่า ถ้าภาษาวัยรุ่นเรียกว่า ‘สตรอเบอรี่’ กันหรือเปล่า

อาจเป็นเพราะก่อนการชุมนุมรอบแรก รองนายกรัฐมนตรี ประเมินต่ำ 2,000 คน ทำให้รอบนี้ประเมินสูง
            ส่วนใหญ่ที่ผ่านม

า ถ้าพวกเดียวกันก็ประเมินจำนวนให้สูงๆ แต่ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามก็ประเมินให้ ต่ำๆ แต่ตอนนี้ เล่น ‘สับขาหลอก’ กันหรือเปล่าก็ไม่รู้ พูดง่ายๆ ถามว่า จะล้มรัฐบาลได้ไหม ผมก็คิดว่ายาก หรือว่าจะสร้างให้เป็นแผล ติดตัวไปแล้วกลับมาชกกันใหม่

นับจากนี้ไปอะไรๆ จะไม่เหมือนเดิม
 
            ผมอยากจะคิดว่า การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนไปมากๆ หัวเลี้ยวหัวต่อคือ 19 กันยา 2549 ของ ‘บิ๊กบัง’ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน และ ‘เมษา-พฤษภา53’ สถานการณ์การเมืองไทยไม่น่
าจะเหมือนเก่า ประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้ง เคลื่อนลงไปอยู่ชนชั้นกลางระดับล่างและคนระดับล่างอย่างไม่เคยมีมาก่อน

เหตุผลในการล้มรัฐบาล ยังเป็นข้อที่บอกว่า ปล่อยให้มีการจาบจ้วงเบื้องสูง และปล่อยให้มีการทุจริต
 
            ก็เป็นเรื่องเก่าๆ การอ้างสถาบันเคยใช้ได้ผลกรณี อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ กรณี 6 ตุลา หรือกรณีของคุณทักษิณ ที่นำไปสู่การรัฐประหาร แต่ผมสงสัยว่า นับแต่รัฐประหาร ปี 2549 จนถึงเมษา-พฤษภา อำมหิต 2553 ผมคิดว่า ข้ออ้างนี้อาจจะใช้ได้ยากมาก


            สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน ยังมีความกลัวๆ กล้าๆ ถ้าเป้าอยู่ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็เป็นเป้าที่จัดการลำบาก เพราะในแง่หนึ่ง เธอเป็นนักการเมืองที่ ‘พูดน้อย’ ผิดกับนักการเมืองผู้ชายทั่วๆ ไปที่ ‘พูดมาก’ ผมคิดว่านี่คือ ความได้เปรียบของเธอที่พูดน้อย แล้วเธอก็ยัง ‘หน้าตาดีผิดพี่ผิดน้อง’ ทำให้ผมคิดว่า นายกฯ หญิงคนแรกของไทยก็น่าจะเหมือนผู้นำในกลุ่มอุษคเนย์อาเซียนที่อยู่ครบเทอม 

            ผมชอบยกตัวอย่าง เมกาวาตี ซูกาโนบุตรี เพราะผมเคยพบปะเธอด้วยตัวเอง แล้วเธอก็ท่าทางไม่ค่อยฉลาด คนบอกว่าเธอไม่ค่อยมีสติปัญญา เท่าไหร่ เธอท่าทางเหมือนแม่บ้านทั่วๆ ไป คล้ายๆ คอรี อาคีโน ที่คนก็มองว่า นี่น่าจะเป็นแม่บ้าน หรือทำครัวอยู่บ้าน อะไรทำนองนั้น แต่ทั้ง 2 ท่าน ก็อยู่จนครบเทอม แล้วก็เป็นที่ประหลาดใจของคนทั่วๆ ไป

            ผมสงสัยว่า คุณยิ่งลักษณ์ก็จะอยู่ครบเทอม ด้วยการที่คนจำนวนไม่น้อย underestimate (ประเมินต่ำ) ความเป็นผู้หญิง underestimate ความที่เธอดูไม่เฉลียวฉลาดเท่าไหร่นะ ผมคิดว่า คุณยิ่งลักษณ์อาจจะเป็นผู้นำไทยไม่กี่คน ที่ไม่ได้มา ‘ชุบตัว’ ในกรุงเทพฯ คือไม่ได้เรียนโรงเรียนแบบระดับไฮ โซ เธอเรียนอยู่เชียงใหม่ จบ มช. ไม่ได้เข้าจุฬาฯ ไม่ได้เข้าธรรมศาสตร์ แบบเราๆ ท่านๆ อะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้น ผมก็เลยมองว่า คนอาจจะ underestimate ประเมินต่ำมากๆ

            แล้วคนที่คิดว่าฉลาดกว่าคนอื่นมักจะพลาดง่ายๆ อย่างบรรดาไฮโซทั้งหลายในกรุงเทพฯ มักจะคิดว่าตัวเองฉลาดผิดปกติ นอกจากจะเรียนโรงเรียนชั้นนำแล้ว ยังไปเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศอีก ก็เลยทำให้ประเมินเธอต่ำ จึงเป็นความได้เปรียบของเธอ เพราะ ‘คนที่พูดว่าคนอื่นโง่ได้ง่ายๆ มักจะใช้สมองน้อยมาก’

คุณยิ่งลักษณ์ สำเนียงอังกฤษไม่ถูกใจบางคน อาจารย์คิดว่าไม่เป็นปัญหา
 
           ผมคิดว่าไม่มีปัญหาเท่าไหร่ ผมยังเคยพูดเล่นๆ ว่า ทำไมเธอไม่ ‘อู้คำเมือง’ ไปซะเลย แล้วหาล่ามแปล จะเรียกใช้ ‘บ่าวไพร่’ ทั้งหลายที่การศึกษาสูงๆ มาแปลสำเนียงให้เป็นเคมบริดจ์ เป็นออกซ์ฟอร์ด ก็ได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพู
ดภาษาอังกฤษเก่ง ผมอยากให้เธอ ‘อู้คำเมือง’ ไปเลย

ข้อเสนอแก้ไข มาตรา 112 ถูกจำหน่ายออกไป ในรัฐบาลชุดนี้ อาจารย์คิดอย่างไร
 
            ข้อเสนอที่พวกเรา ‘ครก.’ และ ‘นิติราษฎร์’ ร่วมกัน แก้ไข 112 เพื่อให้มีมาตรฐานแบบอารยประเทศ แบบสหราชอาณาจักร แบบอังกฤษ เพราะของเรามีโทษสูงและล้าหลัง รวมถึงคดีที่ขึ้นโรงขึ้นศาลก็
มากที่สุดในโลก ถ้ารักษากฎหมายนี้ต่อไปจะนำความเสื่อมเสียมาสู่สถาบันฯมากกว่า ก็น่าเสียดายที่ประธานรัฐสภามองไม่เห็นความสำคัญอันนี้ แล้วก็ปัดเรื่องนี้ตกไปอย่างราว กับทำราชการตามปกติ ไม่มองปัญหาซึ่งผมมองว่าซีเรียส มองเพียงวันสองวันไม่ได้ มองเพียงรัชสมัยนี้ก็ไม่ได้ ต้องมองข้ามไปสู่อนาคต ต้องมองไกลมากๆ แต่นักการเมืองของเรามักจะมองเพียงวันนี้ พรุ่งนี้ แล้วก็มองคับแคบ คิดว่าอยู่แต่ในประเทศไทย ซึ่งมีรูปขวานทองเท่านั้น ไม่ได้มองในบริบทของโลก

จะผลักดันให้มีการแก้ไขต่อไปหรือไม่
 
           เกมนี้ก็คงยาว ดังนั้น ในแง่ตัวผมเองและพรรคพวกเพื่
อนฝูง ก็จะต้องผลักดันกันต่อไปครับ 

ข้อน่ากังวลของสังคมไทย
 
           อยู่ที่การแบ่งฝ่าย ‘แบ่งสี’ (เสื้อ) โดยมีความเกลียดชัง โกรธแค้น ชิงชังกันแบบไม่ฟังกันแล้ว ไม่พูดกันแล้ว นี่คือสิ่งที่น่ากลัวมาก แปลว่า มันจะเดินไปถึงขั้นแตกหักยิ่
งก ว่าที่เคยเป็นมา หมายถึง จะมี ‘กลียุค’ มีการนองเลือดยิ่งกว่า พฤษภา 53  หรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า น่าวิตก แต่ในกลุ่มวิชาการวงเล็กๆ ของเราก็คุยกันอยู่ มีฝ่ายที่มองว่า ไม่ช้าคง ‘เกี้ยเซี๊ย’ เพราะไม่สามารถเอาอีกฝ่ายหนึ่งลง ได้ จึงต้อง ‘เกี้ยเซี๊ย’ กันในระดับบน เมื่อสู้แล้วชนะกันไม่ได้ ก็เป็นพวกเดียวกันดีกว่า ก็มีสัญญาณแบบนี้ คือผมคิดว่า ในวงวิชาการจำนวนไม่น้อยก็สังเก ตอยู่ว่า ผู้นำสยามประเทศไทย เขาๆ และเธอๆ จะใส่เสื้อสีอะไร มีตั้งแต่สีเหลือง สีแดง สีชมพู บางคนบอกว่า สีส้ม ก็น่าสนใจ เพราะนี่คือเหลืองกับแดงปนกัน

การนัดชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม 24 พฤศจิกายน พล.อ.บุญเลิศ กำหนด เวลา 9.01 น. โดยเชื่อมโยงกับการปกป้องสถาบันฯ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร  
 
             ก็คงเป็น ‘ข้ออ้างเก่าๆ’ เป็นการสะกิดเตือนความจำว่า พวกเขาๆ และเธอๆ ยังมีตัวตนอยู่กระมัง เลี้ยงความจำเอาไว้ วันหลังค่อยกลับมาใหม่เมื่อ ‘ชาติต้องการ’ หรือ ‘สบโอกาส’ อะไรทำนองนั้น 


            แต่ผมคิดว่าจะ ‘จุดติด’ ยาก และจะสร้างสถานการณ์ให้เกมยืดยาวจนนำไปสู่การแตกหักได้ชัยชนะ อย่างปี ‘รัฐประหาร 19 กันยา 49’ ยาก อย่างปี ‘ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน’ ใช้ประเด็น ‘พระวิหาร’ และ ‘ล้มรัฐบาลสมัคร/สมชาย’ ปี 51 ก็ยากครับ แถมยังมีตัวแปรใหม่ของความเป็น ‘หญิง’ เข้ามาแทรกด้วย  

            การเมืองไทย การเมืองอาเซียน การเมืองโลก ได้วิ่งเลย ‘คนรุ่นเก่า’ หรือ ‘อำนาจเก่า/บารมีเก่า’ ไปแล้วครับ

การผูกขาดอำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่

การผูกขาดอำนาจตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่
Posted: 13 Nov 2012 06:45 AM PST



            จากกรณีกระแสการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ จนมีผลทำให้รัฐบาลต้องถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากวาระในการเสนอต่อรัฐสภานั้น กำนันและผู้ใหญ่บ้านที่ออกมาคัดค้านต่างเห็นด้วยตรงกันในประเด็นที่จะมีการปรับปรุงแก้ไข คือเรื่องของวาระในการดำรงตำแหน่งของกำนันและผู้ใหญ่บ้าน จากเดิมที่กำหนดว่าพ้นวาระเมื่อมีอายุครบ 60 ปีตามมาตรา 14 (1) สำหรับผู้ใหญ่บ้าน และมาตรา 31 (5)  เป็นมีวาระในการดำรงตำแหน่งเพียง 5 ปีนั้น

            มีประเด็นที่น่าสนใจคือ เพราะเหตุใดกำนันและผู้ใหญ่บ้านจึงออกมาคัดค้านโดยอ้างเหตุผลว่า กำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นตำแหน่งที่มีประวัติอันยาวนานสืบเนื่องไปถึงสมัยรัชกาลที่ 5 และประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ การอ้างว่า กำนันและผู้ใหญ่บ้านถือเป็นสถาบันที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด บทความนี้ต้องการจะนำเสนอให้เห็นภาพในมุมกว้างของอำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยท้องถิ่น (démocratie locale)

            หลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นนั้น คือการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทุกกิจกรรมของรัฐหรือที่มีการใช้อำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องของคนในพื้นที่ กำนันผู้ใหญ่บ้านก็เช่นกัน

            ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ได้กำหนดถึงที่มาของกำนันผู้ใหญ่บ้านว่า มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชากรในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งตรงนี้หากมองในแง่ของหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก็อาจมองได้ว่า เข้าหลักเกณฑ์ เพราะถือว่าประชาชนในแต่ละพื้นที่นั้นได้ออกมาแสดงหรือใช้สิทธิในการเลือกคนที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว หากแต่เมื่อมองถึงคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่งจะพบว่า วาระในการดำรงตำแหน่ง ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ หากแต่กฎหมายกำหนดเพียงแค่หมดวาระเมื่ออายุครบหกสิบปี

            หมายความว่าประชาชนในพื้นที่เมื่อเลือกกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านแล้ว จะต้องอยู่กับกำนันผู้ใหญ่บ้านคนนั้นไปตลอดจนกว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะเกษียณ มองในแง่นี้จะเห็นว่า การที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้ ย่อมจะทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกหรือหากไม่พอใจในการทำงานของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ก็จำทนต้องรับสภาพต่อไปใช่หรือไม่ แน่นอนว่าการเมืองในระดับท้องที่ หากไม่พอใจผู้ดำรงตำแหน่ง คงไม่สามารถี่จะเรียกร้องให้ทางกองทัพออกมากดดันหรือทำรัฐประหารได้เฉกเช่นเดียวกับการเมืองระดับชาติ

           อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถที่จะถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ตามมาตรา 14 (6) คือ เมื่อราษฎรผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑ ในหมู่บ้านนั้น จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของราษฎรผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑ ทั้งหมดเข้าชื่อกันขอให้ออกจากตำแหน่ง ในกรณีเช่นนั้นให้นายอำเภอสั่งให้พ้นจากตำแหน่งสำหรับกรณีของผู้ใหญ่บ้าน สำหรับกำนันนั้น การออกจากตำแหน่งในกรณีที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ก็ใช้วิธีการเดียวกันกับการเข้าชื่อให้ออกจากผู้ใหญ่บ้านนั่นเอง

           ประเด็นต่อมาคือ อำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน  ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา ๒๗ ผู้ใหญ่บ้านทำหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นหัวหน้าราษฎรในหมู่บ้านของตน และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) อำนวยความเป็นธรรมและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน
(๒) สร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีในท้องที่
(๓) ประสานหรืออำนวยความสะดวกแก่ราษฎรในหมู่บ้านในการติดต่อหรือรับบริการกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(๔) รับฟังปัญหาและนำความเดือดร้อน ทุกข์สุขและความต้องการที่จำเป็นของ ราษฎรในหมู่บ้าน แจ้งต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขหรือช่วยเหลือ
(๕) ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(๖) ควบคุมดูแลราษฎรในหมู่บ้านให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยกระทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรตามที่ทางราชการได้แนะนำ
(๗) อบรมหรือชี้แจงให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจในข้อราชการ กฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ ในการนี้ สามารถเรียกราษฎรมาประชุมได้ตามสมควร
(๘) แจ้งให้ราษฎรให้ความช่วยเหลือในกิจการสาธารณประโยชน์เพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายสาธารณะอันมีมาโดยฉุกเฉิน รวมตลอดทั้งการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย
(๙) จัดให้มีการประชุมราษฎรและคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง
(๑๐) ปฏิบัติตามคำสั่งของกำนันหรือทางราชการและรายงานเหตุการณ์ที่ไม่ปกติซึ่งเกิดขึ้นในหมู่บ้านให้กำนันทราบ พร้อมทั้งรายงานต่อนายอำเภอด้วย
(๑๑) ปฏิบัติตามภารกิจหรืองานอื่นตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือตามที่กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานอื่นของรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอมอบหมาย

มาตรา ๒๘ ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่และอำนาจในการที่เกี่ยวด้วยความอาญาดังต่อไปนี้ คือ
ข้อ ๑ เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย เกิดขึ้นหรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านของตน ต้องแจ้งความต่อกำนันนายตำบลให้ทราบ
ข้อ ๒ เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่ใกล้เคียง ต้องแจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านนั้นให้ทราบ
ข้อ ๓ เมื่อตรวจพบของกลางที่ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายมีอยู่ก็ดี หรือสิ่งของที่สงสัยว่าได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นสิ่งของสำหรับใช้ในการกระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับสิ่งของนั้นไว้และรีบนำส่งต่อกำนันนายตำบล
ข้อ ๔ เมื่อปรากฏว่าผู้ใดกำลังกระทำผิดกฎหมายก็ดี หรือมีเหตุควรสงสัยว่า เป็นผู้ที่ได้กระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับตัวผู้นั้นไว้และรีบนำส่งต่อกำนันนายตำบล
ข้อ ๕ ถ้ามีหมายหรือมีคำสั่งตามหน้าที่ราชการ ให้จับผู้ใดในหมู่บ้านนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะจับผู้นั้น และรีบส่งต่อกำนัน หรือกรมการอำเภอตามสมควร
ข้อ ๖ เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกหมายสั่งให้ค้น หรือให้ยึด ผู้ใหญ่บ้านต้องจัดการให้เป็นไปตามหมาย

และอำนาจของกำนันไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา ๓๔ บรรดาการที่จะตรวจตรารักษาความปกติเรียบร้อยในตำบล คือ การที่จะว่ากล่าวราษฎรในตำบลนั้น ให้ประพฤติตามพระราชกำหนดกฎหมายก็ดี หรือการที่จะป้องกันภยันตรายและรักษาความสุขสำราญของราษฎรในตำบลนั้นก็ดี หรือการที่จะรับกิจสุขทุกข์ของราษฎรในตำบลนั้นขึ้นร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการเมือง กรมการอำเภอ และจะรับข้อราชการมาประกาศแก่ราษฎรในตำบลนั้นก็ดีหรือที่จะจัดการตามพระราชกำหนด กฎหมาย เช่นการตรวจและนำเก็บภาษีอากรในตำบลนั้นก็ดี การทั้งนี้อยู่ในหน้าที่ของกำนันผู้เป็นนายตำบล ผู้ใหญ่บ้านทั้งปวงในตำบลนั้น และแพทย์ประจำตำบลจะต้องช่วยกันเอาเป็นธุระจัดการให้เรียบร้อยได้ตามสมควรแก่หน้าที่

มาตรา ๓๔ ทวิ นอกจากอำนาจหน้าที่ที่กล่าวโดยเฉพาะให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกำนัน ให้กำนันมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ใหญ่บ้านด้วย

มาตรา ๓๕ กำนันมีหน้าที่และอำนาจในการที่เกี่ยวด้วยความอาญาดังต่อไปนี้ คือ
ข้อ ๑ เมื่อทราบข่าวว่า มีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในตำบลของตน ต้องแจ้งความต่อกรมการอำเภอให้ทราบ
ข้อ ๒ เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในตำบลที่ใกล้เคียงต้องแจ้งความต่อกำนันนายตำบลนั้นให้ทราบ
ข้อ ๓ เมื่อปรากฏว่า ผู้ใดกำลังกระทำผิดกฎหมายก็ดี หรือมีเหตุควรสงสัยว่าเป็นผู้ที่ได้กระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับผู้นั้นไว้ และรีบนำส่งต่อกรมการอำเภอ
ข้อ ๔ ถ้ามีหมายหรือมีคำสั่งตามหน้าที่ราชการให้จับผู้ใดในตำบลนั้น เป็นหน้าที่ของกำนันที่จะจับผู้นั้นแล้วรีบส่งต่อกรมการอำเภอตามสมควร
ข้อ ๕ เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกหมายสั่งให้ค้นหรือให้ยึด กำนันต้องจัดการให้เป็นไปตามหมาย
ข้อ ๖ ถ้ามีผู้มาขออายัดตัวคนหรือสิ่งของก็ดีหรือผู้ต้องโจรกรรม จะทำกฎหมายตราสิน หรือมีผู้จะขอทำชันสูตรบาดแผลก็ดี ทั้งนี้ให้กำนันสืบสวนฟังข้อความแล้วรีบนำตัวผู้ขอและผู้ต้องอายัด และทรัพย์สิ่งของบรรดาที่จะพาไปด้วยนั้นไปยังกรมการอำเภอ ถ้าสิ่งของอย่างใดจะพาไปไม่ได้ ก็ให้กำนันชันสูตรให้รู้เห็น แล้วนำความไปแจ้งต่อกรมการอำเภอในขณะนั้น
มาตรา ๓๖ ถ้ากำนันรู้เห็นเหตุทุกข์ร้อนของราษฎร หรือการแปลกประหลาดเกิดขึ้นในตำบลต้องรีบรายงานต่อกรมการอำเภอให้ทราบ

มาตรา ๓๗ ถ้าเกิดจลาจลก็ดี ฆ่ากันตายก็ดี ชิงทรัพย์ก็ดี ปล้นทรัพย์ก็ดี ไฟไหม้ก็ดี หรือเหตุร้ายสำคัญอย่างใด ๆ ในตำบลของตน หรือในตำบลที่ใกล้เคียงอันสมควรจะช่วยได้ก็ดี หรือมีผู้ร้ายแต่ที่อื่นมามั่วสุมในตำบลนั้นก็ดี หรือมีเหตุควรสงสัยว่าลูกบ้านในตำบลนั้น บางคนจะเกี่ยวข้องเป็นโจรผู้ร้ายก็ดี เป็นหน้าที่ของกำนันจะต้องเรียกผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านในตำบลออกช่วยต่อสู้ติดตามจับผู้ร้ายหรือติดตามเอาของกลางคืน หรือดับไฟ หรือช่วยอย่างอื่นตามควรแก่การโดยเต็มกำลัง

มาตรา ๓๘ ให้กำนันดูแลคนเดินทาง ซึ่งไม่มีเหตุควรสงสัยว่าจะเป็นผู้ร้าย ให้ได้มีที่พักตามควร

มาตรา ๓๙ ถ้าผู้เดินทางด้วยราชการจะต้องการคนนำทาง หรือขาดแคลนพาหนะเสบียงอาหารลงในระหว่างทาง และจะร้องขอต่อกำนันให้ช่วยสงเคราะห์ กำนันต้องช่วยจัดหาให้ตามที่จะทำได้ ถ้าหากว่าการที่จะช่วยเหลือนั้นจะต้องออกราคาค่าจ้างเพียงใด ให้กำนันเรียกเอาแก่ผู้เดินทางนั้น

มาตรา ๔๐ กำนันต้องร่วมมือและช่วยเหลือนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในตำบลนั้น

มาตรา ๔๑ กำนันต้องรักษาบัญชีสำมะโนครัว และทะเบียนบัญชีของรัฐบาลในตำบลนั้น และคอยแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องกับบัญชีของผู้ใหญ่บ้าน

มาตรา ๔๒ กำนันต้องทำบัญชีสิ่งของ ซึ่งต้องภาษีอากรในแขวงนั้นยื่นต่อกรมการอำเภอและนำราษฎรไปเสียภาษีอากรตามพระราชบัญญัติภาษีอากร

มาตรา ๔๓ กำนันกระทำการตามหน้าที่จะเรียกผู้ใดมาหารือให้ช่วยก็ได้

             จากอำนาจหน้าที่ดังกล่าว จะพบว่า อำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้นมีลักษณะเป็นเพียงคนกลางเพื่อเชื่อมต่อการติดต่อระหว่างประชาชนในพื้นที่กับหน่วยงานของรัฐทางปกครองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ในส่วนของอำนาจทางอาญานั้น ก็เป็นเพียงแต่การแจ้งเรื่องต่อไปยังสายการบังคับบัญชาในระดับที่สูงกว่าต่อไป เท่ากับว่าตัวกำนันผู้ใหญ่บ้านนั้น แทบจะไม่มีอำนาจในการจัดการหรือจัดสรรทรัพยากรใดๆ ในท้องที่ของตนเองเลย

             แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ เพราะเหตุใดกำนันและผู้ใหญ่บ้านเหล่านี้จึงไม่ต้องการให้มีการใช้วาระการดำรงตำแหน่ง แต่ต้องการให้หมดวาระเมื่ออายุครบหกสิบปี ทั้งๆ ที่ดำแหน่งนั้นไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริงตามกฎหมาย หากมองในแง่สิทธิประโยชน์การได้รับ เงินเดือนจากทางราชการนั้น กำนันจะได้รับเดือนละ 10,000 บาท ส่วนผู้ใหญ่บ้านจะได้รับประมาน 8,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ไม่มาก แต่ก็ไม่น้อยเช่นกัน

             มองในแง่ของการพัฒนาในส่วนท้องที่หรือส่วนท้องถิ่น ภายหลังจากที่มีการกระจายอำนาจและมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะพบว่า อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการจัดสรรทรัพยากรมากกว่าตัวกำนันผู้ใหญ่บ้านเอง ซึ่งในส่วนนี้ ตัวกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นเพียงบุคคลที่เข้ามาเป็นคนแจ้งความต้องการของประชาชนในพื้นที่แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น

             ปัญหาคือ ทำไมกำนันผู้ใหญ่บ้านถึงไม่ต้องการกำหนดให้มีวาระในการดำรงตำแหน่ง ข้ออ้างประการหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ การเลือกตั้งในแต่ละครั้งนั้นสิ้นเปลืองงบประมานจำนวนมาก หากมีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งจะทำให้มีการเลือกตั้งบ่อยและทำให้สิ้นเปลืองงบประมานมหาศาล แต่หากมองในแง่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น แม้จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมานมหาศาล แต่ก็ต้องยินยอมที่จะเสียเพื่อให้สิทธิหรืออำนาจแก่ประชาชนในการเลือกคนที่ประชาชนมองว่าเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง ข้ออ้างนี้จึงไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน

            หากลองตั้งสมการว่า ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันคนหนึ่งได้รับการเลือกตั้งมาเมื่อขณะมีอายุ 35 ปี นั่นหมายความว่า บุคคลนั้นจะมีอายุราชการในการเป็นกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านอีก 25 ปี ซึ่งถือว่านานมากหากเทียบกับข้าราชการการเมือง หรือแม้แต่เทียบกับข้าราชการประจำที่ต้องมีการโยกย้ายเสมอ ปัญหาคือ ในระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนั้น ประชาชนในพื้นที่ต้องอยู่กับบุคคลนี้ไป 25 ปีโดยไม่มีหลักประกันใดๆว่า บุคคลนั้นจะทำงานได้เป็นอย่างดี แม้กฎหมายจะกำหนดให้มีการประเมินการทำงานก็ตาม นอกจากนั้นกระบวนการถอดถอน หากมองตามข้อเท็จจริงที่ผ่านมาแล้วจะพบว่า เป็นกระบวนการที่แทบจะไม่สามารถใช้ได้จริง เนื่องจากมีหลักเกณฑ์มากมายในการดำเนินการจนทำให้ประชาชนไม่สนใจกระบวนการดังกล่าว เพราะเสียทั้งเวลาและทรัพยสิน

            ในความเป็นจริงแล้วนั้น หากตำแหน่งได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรจะกำหนดวาระให้ชัดเจนเพื่อทำให้การปกครองมีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ผู้เขียนยังไม่เคยพบเคยเห็นว่าระบบการปกครองใดที่ผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้งและพ้นจากตำแหน่งไปเมื่ออายุถึงเกณฑ์ จะมีก็แต่ผู้นำที่หลงอำนาจ คือได้รับการเลือกตั้งมาและสถาปนาตนเองเป็นเจ้าผู้ปกครองจึงไม่มีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งไว้ หากกำนันผู้ใหญ่บ้านต้องการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ควรเปิดโอกาสให้มีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่งไว้ในกฎหมาย ไม่ใช่หวงกันอำนาจ เพราะนี่คือยุค 2555 แล้ว ไม่ใช่ยุครัชกาลที่ 5 ดังที่เคยเป็นมาในยุคที่มีการตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านในคราแรก