วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โจ กอร์ดอน :ผมดีใจที่ได้ออกจากเมืองไทย

โจ กอร์ดอน :ผมดีใจที่ได้ออกจากเมืองไทย




เร็ดยูเอสเอ รายงานตรงจากลอส แองเจลีส 

งานเลี้ยงต้อนรับโจ กอร์ดอน ที่สมาชิก RED USA ตั้งใจจัดแบบเล็กๆ เป็นการภายในเพื่ออ้าแขนรับนักโทษความผิดอาญามาตรา ๑๑๒ ผู้นี้สู่อิสระภาพ และอ้อมใจของผู้รักประชาธิปไตย และความยุติธรรม กลับไม่เล็กอย่างคิด งานที่ตั้งใจว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ถึง 3 ชั่วโมงกลับยืดยาวกว่า 5 ชั่วโมง มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 50 คน

บรรยากาศของงานเลี้ยงต้อนรับซึ่งจัดในย่านซาน เกเบรียล ของมหามหานครลอสแองเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน 2012 เริ่มเวลาเที่ยงตรง ไม่ครึกครื้นเอิกเกริก หรืออบอวลด้วยเสียงเพลง หรือเสียงสรวลเสเฮฮา แต่เงียบขรึมแบบอบอุ่น เกิดความผูกพัน และความเข้าใจลึกๆ อยู่ในอก

งานที่จัดขึ้นเป็นเสมือนการเปิดตัวโจ กอร์ดอน ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก หลังจากถูกจองจำอยู่ในคุกไทยนาน 14 เดือน และได้รับอิสระภาพเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2012ที่ผ่านมา


           โจ กอร์ดอน หรือในชื่อไทยว่า เลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายไทย ถูกคุมขังด้วยข้อหาหมิ่นฯ เริ่มเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับเขาให้ผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงฟังด้วยน้ำเสียงเรียบๆ เกือบเป็นโมโนโทน ใบหน้าไม่บอกอาการโกรธแค้นใดๆ แต่กลับทำให้บรรยากาศที่จ้อกแจ้กจอแจค่อยๆ เงียบลงคล้ายเด็กๆ ล้อมวงฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องผี ที่มีเสียงร้องของความกลัว และหวาดผวาดังขัดจังหวะสลับเป็นช่วงๆ แต่เสียงของผู้ที่ล้อมวงฟังการเล่าเรื่องของโจ กอร์ดอน กลับกลายเป็นเสียงสบถอุทาน วิพากษ์วิจารณ์ สลับกับเสียงสาปแช่งเป็นระยะๆ แทน

         โจ กอร์ดอนกล่าวว่าสภาพความเป็นมนุษย์ของเขาได้ถูกเปลี่ยนไปเมื่อก้่าวเท้าเข้าสู่ที่คุมขัง เจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิบัติต่อนักโทษประดุจสัตว์ ทั้งด้วยคำพูด และอากัปกิริยาที่ดูหมิ่นดูแคลน ตลอดจนการเตะต่อยทุบตี นอกเหนือจากสภาพไร้มาตรฐานความเป็นอยู่ อาหารการกิน การดูแลรักษาด้านสุขภาพ และอนามัย 

         หลากหลายเรื่องราวพรั่งพรูออกจากปากของโจ กอร์ดอน ตั้งแต่วันแรกที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอนับสิบบุกเข้าไปล้อมจับเขาที่โคราช รื้อค้นข้าวของ ยึดคอมพิวเตอร์ และเอกสารส่วนตัวของเขา ลากเขาขึ้นรถแห่กันเป็นขบวนมีรถนำหน้าพามาที่สำนักงานใหญ่ดีเอสไอที่กรุงเทพฯ ประดุจอาชญกรคนดังระดับโลก เพื่อเริ่มขบวนการยัดข้อหาที่โจ กอร์ดอนบอกว่าเป็นกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมของไทย เนื่องจากใช้ระบบการกล่าวหาที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสต่อสู้ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับการปล่อยตัวเพื่อเตรียมตัวสู้คดี ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ผิดดังคำกล่าวหา

         โจ กอร์ดอน ซึ่งถูกล่าวหาว่าเป็น สิน แซ่จิ้วผู้แปลหนังสือต้องห้าม The King Never Smiles เล่าถึงการสอบสวนของดีเอสไอ เรื่องของทนายความ เรื่องของเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชฑูตอเมริกาในประเทศไทย เรื่องผู้มาเยี่ยมเขาระหว่างถูกจองจำว่ามีใครบ้าง ตลอดจนเพื่อนใหม่ๆ ที่รู้จักระหว่างถูกจองจำ รวมถึงกิจวัตรประจำวันของนักโทษ

        โจ กอร์ดอนรู้จักสมยศ พฤษาเกษมสุข และสุรชัย แซ่ด่าน ผู้ซึ่งโจ กอร์ดอนเรียก"ป๋า" ที่แนะนำให้เขาสยบยอมเพราะสู้ไปก็ไม่มีโอกาสชนะ มีแต่เจ็บตัวมากขึ้น สู้ยอมรับผิด และขอนิรโทษกรรมจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

      โจ กอร์ดอนกล่าวว่าเขาได้รับรู้เรื่องราวมากมายระหว่างถูกจองจำ เช่นเรื่องของ Blue Diamondที่คนในคุกรู้กันไปทั่วว่ามันอยู่ที่ใคร โดยมีตำรวจที่ถูกคุมขังด้วยคดีนี้เล่าให้ฟัง พร้อมเลียนแบบทั้งเสียง และคำพูดตลอดจนท่าทางของตำรวจผู้นั้นในขณะเล่าเรื่อง ชนิดที่บทความนี้มิอาจนำมาทำซ้ำได้ 

       นอกจากนี้โจ กอร์ดอนยังเล่าให้ฟังว่ามีผู้ถูกข้อหาหมิ่นฯ แต่ไม่เป็นข่าวดัง ถูกทำร้าย และหยามเกียรติอย่างไม่น่าเชื่อ ถูกนำตัวไปเยาะเย้ย ให้ใส่กระโปรงเด็ก เอาลิปสติกทาปาก แต่งหน้า ให้ดูดจุกนม และถ่ายรูปเก็บไว้ จากนั้นนักโทษผู้นี้ก็หายตัวไป 

       เรื่องที่คนนอกคุกไม่รู้อีกเรื่องก็คือคนคุกไม่ต้องการผู้หญิงเนื่องจากมีLady Boys เกลื่อนคุก และสมสู่กันโจ่งแจ้งอย่างไม่เกรงสายตาเพื่อนร่วมคุก Lady Boys พวกนี้มีหน้าอกเหมือนหญิงเพราะแอบเอายาคุมกำเนิดมากินเพิ่มฮอร์โมนให้นมโต โจ กอร์ดอนยังบอกว่าบุหรี่มีค่าเสมือนเงินนั่นคือบุหรี่ 1 แถวมีค่าเท่ากับ 500 บาท และสามมรถใช้บุหรี่ซื้อสินค้า และบริการในคุกได้

     คุกไทยเป็นโรงเรียนทางการเมืองที่มีหลักสูตรเร่งรัด ซึ่งโจ กอร์ดอนได้เรียนรู้เรื่องการเมืองไทยอย่างถี่ถ้วน เรื่องสีแดง สีเหลือง และหลากสีก็เรียนรู้จากคุกไทยนี่แหละจากที่ไม่เคยรู้มาก่อน พร้อมประกาศตนอย่างชัดเจนว่า "ผมเป็นคนสีแดง" เขาบอกว่าที่ประกาศเช่นนี้ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากอุดมการณ์ตรงกัน ในเรื่องของความยุติธรรม และผลประโยชน์ของประชาชน

      เมื่อพ้นจากการถูกคุมขัง โจ กอร์ดอนได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งในเรื่องของการหาที่พักอาศัย และการรักษานอกโรงพยาบาล โจ กอร์ดอนบอกชื่อของกลุ่มคนที่ช่วยเหลือเขาทุกคน และย้ำว่าหมอที่ช่วยรักษาเขาเป็นคนดีมาก บทความนี้มิอาจนำชื่อของท่านเหล่านั้นมากล่าวอ้าง แต่ขอแสดงความขอบคุณแทนโจ กอร์ดอนไว้ ณ ที่นี้






        กับคำถามที่ว่า 30ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกากับ 14 เดือนที่ถูกจองจำในคุกไทย มีความในใจอะไรจะบอกไหม โจ กอร์ดอนมิได้บอกว่าอเมริกาเป็นสวรรค์ แต่เขาประกาศชัดเจนว่าคุกไทยเป็น"นรก"

        "ผมดีใจที่ได้ออกจากเมืองไทย"    คือคำพูดสุดท้ายของโจ กอร์ดอน ก่อนงานเลี้ยงในวันนั้นจะเลิกลา