วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รักที่สุดคือในหลวง ห่วงที่สุดคือ คนรักในหลวงจนเสียสติ

 

             ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล เขียนชัดเจนให้สะท้านทุกหัวใจ "รักที่สุดคือในหลวง ห่วงที่สุดคือ คนที่รักในหลวงจนเสียสติ" ทายาทราชสกุล บุตรี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประกาศจุดยืนไว้จะแจ้ง คนไทยตอนนี้ สั่งสมความสับสนและคับแค้นใจมากๆ มีแต่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน


           "อย่าเอาแต่ช่วยกันตั้งหน้าตั้งตาปักธงว่าประเทศไทยจะต้องวุ่นวายไร้ทางออก" พร้อมเสนอว่าสิ่งที่ควรช่วยกันคิดคือ ในความขัดแย้งนี้ เมื่อตัดความโมโหและอคติอารมณ์ออกไป เรามีจุดร่วมกันที่ใดบ้าง หากเชื่อว่าจุดร่วมนั้นคือความสงบสุขของประเทศและอนาคตที่ดีของลูกหลาน ต้องมามองอย่างมีสติว่าจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร แต่ถ้าหากอยากจะให้มันวุ่นวายเล็กๆ น้อยๆ ตลอดเวลา


             "หรือทำจนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่เดินหน้าไม่ได้ ถ้าจุดนั้นมาถึงคงจะวุ่นวายแบบยาวๆ คงจะพากันพังหมดแน่ๆ"

            "มติชนสุดสัปดาห์" ฉบับ "เต่านา-ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล"   เป็นเต่านาที่เคยวินิจฉัย "โรค" หนึ่งให้ฮือฮามาแล้ว

           โรคอัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปรี้ยงใส่ฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ "โรคขี้ข้าทักษิณ" สวนผ่านเฟซบุ๊ก Taona Sonaku กระแทกแสกหน้าใครบางคนว่า "วินิจฉัยแล้ว ไม่มีหรอกโรคขี้ข้าทักษิณ มีแต่โรคอยากกลับมาเป็นนายกฯ โดยไม่ต้องชนะเลือกตั้งทักษิณ

          วินิจฉัยแล้วว่า ไม่มีวันหรอกที่จะชนะทักษิณ เพราะหัวหน้าพรรคที่มีความจำเป็นต้องพยายามเลือกตั้งให้ชนะทักษิณ เป็นขี้ข้าที่ไม่มีประสิทธิภาพของอำนาจนอกระบบที่มีความกลัวประชาชนเป็นที่ตั้ง"

          ย้ำยืนยันตัวตน ต่อต้านการรัฐประหาร  เพราะการรัฐประหารคือการล้มล้างทุกอย่าง รวมทั้งการล้มล้างสถาบันด้วย

พนักงานไทยพีบีเอสเคลื่อนไหวต่อ แม้ได้ ผอ.คนใหม่แล้ว

พนักงานไทยพีบีเอสเคลื่อนไหวต่อ แม้ได้ ผอ.คนใหม่แล้ว


แม้ผลการเลือกผู้อำนวยการคนใหม่ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอสจะสรุปแล้วว่าได้นายสมชัย สุวรรณบรรณ แต่พนักงานของทางไทยพีบีเอสยังไม่หยุดเคลื่อนไหว โดยขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานกรรมการนโยบายของไทยพีบีเอส ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับนางพรพิมล เสณผดุง ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นน้องสาวหรือไม่ รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับด้านบริหาร และสำนักอำนวยการ

โดยเอกสารฉบับล่าสุด เริ่มจากการนำเสนอแผนภูมิำการบริหารงานของไทยพีบีเอส และสิ่งที่อยากให้มีการตรวจสอบ
ไทยพีบีเอส

พนักงานเรียกร้องให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบดังต่อไปนี้

1. ประธานกรรมการนโยบายเป็นพี่ชายของผอ.สำนักทรัพยากรบุคคล เป็นประเด็นที่ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นร่วมเกือบสามปีที่ผ่านมา

2. ก่อนมีผู้อำนวยการการคลังท่านใหม่ มีผู้บริหารระดับสูงพยายามจัดสรรการเคลื่อนย้ายตำแหน่งผอ.การคลังท่านเดิม จนท้ายสุดท่านตัดสินใจลาออก ดังนั้นเป็นประเด็นที่ควรมีกลไกตรวจสอบเชื่อมโยงกับประเด็นในข้อที่ 3 และ 4

3. เชื่อว่ารองผู้อำนวยการส.ส.สท.ด้านบริหารคือบุคคลที่ผอ.สำนักทรัพยากรบุคคลนำมาหรือชักชวนมา

4. เชื่อว่าผอ.สำนักคลังและสำนักกฎหมายคือคนรู้จักที่ที่รองผอ.ส.ส.ท.ด้านบริหารนำมาเข้าสู่ตำแหน่งฯ

5. เชื่อว่าผอ.การคลังขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้บริหารการคลังของไทยพีบีเอส เนื่องด้วยพื้นเพการทำงานเคยเป็นแค่หัวหน้าในส่วนงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผลงานด้านการแสดง Performance ของการบริหารงานที่ลูกน้องในสายงานลาออกไปหลายคน นับตั้งแต่ผอ.การคลังเข้ามาดำรงตำแหน่ง

6. เชื่อว่าผอ.กฎหมายขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้บริหารงานด้านกฎหมายของไทยพีบีเอส ด้วย Performace การบริหารที่เป็นที่ประจักษ์และผ่านการประเมินงานได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีกรรมการการประเมินงานที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายมาร่วมประเมิน ?

7. ผอ.สำนักบริหารขาดประสิทธิภาพในการบริหารงานตามข้อร้องเรียนของพนักงานที่รายงานชี้แจงข้อเท็จจริงของการบริหารงานที่ล้มเหลวและขาดธรรมภิบาล ตามที่เคยมีการเคลื่อนไหวจากพนักงานเรียกร้องให้พิจารณาคุณสมบัติ ผอ.ท่านนี้เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ท้ายสุดประเด็นเรียกนี้ก็เงียบไป ไม่มีการชี้แจงใดๆ ที่ชัดเจนเกิดขึ้น เป็นที่รู้กันว่าระดับรองผู้อำนวยการสสท.ด้านบริหาร มีอิทธิพลในการสร้างสมเรื่องการบริหารที่ขาดหลักธรรมาภิบาลไว้มาก ซึ่งขณะนี้กลุ่มพนักงานผู้ร้องเรียน รวมพลังทะยอยยื่นข้อมูลให้แก่หน่วยงานภายนอกเพื่อเข้ามาตรวจสอบโดยเร่งด่วน

8. ตรวจสอบกระบวนการสอบและการประเมินผลผอ.ทุกท่านภายใต้รองส.ส.ท.ด้านบริหาร เพราะเชื่อว่าไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องเพราะเริ่มต้นมาจากสานสัมพันธ์ในการเป็นพวกพ้องที่รู้จักชักจูงกันเข้ามาบริหารงานเพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อกัน

9. ตรวจสอบได้จากประสิทธิภาพการบริหารงานที่สามารถชี้วัดในเชิงรูปธรรม เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำคัญในเรื่องกระบวนการคัดเลือก/เลือกสรรบุคลากรที่ไร้ประสิทธิภาพเพราะขาดความโปร่งใส

10.ตรวจสอบบุคลากรภายใต้สำนักบุคลากรจะพบว่ามีพนักงานจำนวนมากที่มาจากเครือข่ายเดิมของผอ.สำนักทรัพยากรบุคคล

11.ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านสื่อสารสังคมได้รับการบรรจุเข้าตำแหน่งได้อย่างไร ทั้งที่ไม่มีการประกาศสอบ และตำแหน่งเดิมเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว ประเด็นที่สำคัญคือการการคุณสมบัติเฉพาะด้านของการทำงานด้านสื่อสารองค์กรในระดับอาวุโส

source : www3.thaipbs.or.th (Image)

คำวินิจฉัยกลาง ตลก.. ฝืด...

คำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญ: 
คดีแก้ รธน. คือ ล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ (อย่างเป็นทางการ)

Posted: 26 Jul 2012 04:47 AM PDT (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)

              ออกแล้ว คำวินิจฉัยกลาง (อย่างเป็นทางการ) ที่ 18-22/2555 เรื่องคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

             26 ก.ค. 55 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางที่ 18-22/2555 เรื่องคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ตามที่มีผู้ร้องให้ศาลวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นการล้มล้างการปกครองหรือเป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับมาตรา 68 หรือไม่ รวมทั้งสิ้น 29 หน้า โดยมีประเด็นวินิจฉัยทั้งสิ้น 4 ประเด็น

            โดยประเด็นที่หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการรับคำร้องวินิจฉัยคดีนี้หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ศาลฯมีอำนาจหน้าที่ในการรับวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว ตามมาตรา 68 วรรคสอง โดยอัยการสูงสุดมีหน้าที่แค่พิจารณาเบื้องต้นเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสิทธิการร้องของบุคคลโดยตรง ในประเด็นที่สอง การแก้ไขรัฐธรมนูญ มาตรา 291 ทำได้ทั้งฉบับหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 จะเป็นอำนาจรัฐสภา แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติโดยประชาชน ดังนั้น ควรถามประชาชนก่อนแก้ไข ประเด็นที่ สาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภานี้ เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะชี้ชัดได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดการล้มล้างการปกครอง เพราะเป็นเพียงการกล่าวอ้าง และแสดงความเป็นห่วงเท่านั้น จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และเมื่อยกคำร้องแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาในประเด็นที่ 4 เกี่ยวกับการยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมือง

โดยคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ มีรายละเอียด ดังนี้

คำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญ: คดีแก้ รธน. คือ ล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ (อย่างเป็นทางการ)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai


























โชว์เอกสารมัด “มาร์ค” เลี่ยงทหาร -





“สุกำพล” แถลงละเอียดยิบโชว์เอกสารมัด 
“มาร์ค” เลี่ยงทหาร - แฉ 1 ปีลางานโรงเรียนจปร.ถึง 221 วัน


   วันที่ 27 ก.ค. ที่กระทรวงกลาโหม ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พร้อมด้วยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ประกอบด้วยพล.ร.อ.ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์ ที่ปรึกษารมว.กลาโหม พล.อ.วรวิทย์ ชินะนาวิน เลขานุการรมว.กลาโหม พล.อ.ม.ล.ประสบชัย เกษมสันต์ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม พล.ต.พินิจ ฉัตรเสถียรพงษ์ ผู้ช่วยเจ้ากรมเสมียนตรา พล.ต.รณชัย มัญชุสุนทรกุลเจ้ากรมจเรทหารบก พล.ต.สุชาติ หนองบัว เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการปฏิบัติของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี ตามพ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยนำเอกสารสำคัญ อาทิ สด.1 ต้นขั้วใบสำคัญ สด. 9 บัญชีรายชื่อทหารกองเกิน และทหารกองหนุนประเภทสอง (สด. 27) บัญชีเรียกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ(สด.16) ทะเบียนกองประจำการ (สด.3) มาแสดงแก่สื่อมวลชน

               พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยคณะกรรมการสอบสวนขอชี้แจงหลังจากที่เป็นข่าวเรื่องการใช้เอกสารทางทหารของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเอกสารที่ตนมีอยู่มีต้นขั้วที่ทำให้รู้ถึงความเป็นมาว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง โดยมูลเหตุที่มาชี้แจงในวันนี้มาจากการที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือมาถึงตน เนื่องจากมีนายกมล บันไดเพชร สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ดำเนินการร้องเรียนตนไว้กับทางผู้ตรวจการแผ่นดิน และทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือมาถึงตน ตนจึงได้ส่งเอกสารข้อเท็จจริงทั้งหมดไปให้ โดยให้ตนดำเนินการตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ใช้เอกสารเท็จจริงในการบรรจุและแต่งตั้งยศ ทั้งนี้ขอยืนยันว่าตนไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะได้ดำเนินการตามขอบเขตของกระทรวงกลาโหม และจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างที่ประกอบด้วยเอกสารทางราชการพยานบุคคลผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และผู้ที่ได้ดำเนินการด้วยตนเองได้ดำเนินการสอบสวนไว้หมดแล้ว
               พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2529 นายอภิสิทธิ์ได้ลงบัญชีขอขึ้นทหารกองเกินตามแบบสด.1 และรับแบบสด.9 ตามหมายเรียกการเกณฑ์ทหารสด. 35 เมื่ออายุเกณฑ์ 21 ปี จะต้องมารับใบเกณฑ์ทหารในปีต่อไปนั้นก็คือวันที่ 7 เม.ย. 2530 โดยใบสด.9 เป็นเอกสารจริง เนื่องจากมีใบสด. 1 ยืนยันว่าถูกต้องทุกอย่าง ต่อมาวันที่ 19 มี.ค. 2530 ทางโรงเรียนนายร้อยจปร.เสนอเรื่องของบรรจุนายอภิสิทธิ์เข้ารับราชการในโรงเรียนนายร้อย จปร.ผ่าน เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ได้สมัครเข้ารับราชการทหารในช่วงนั้นแล้ว แต่วันที่ 31 มี.ค. 2530 กรมสารบรรณทหารบกได้ตรวจสอบหลักฐานเอกสารการบรรจุนายอภิสิทธิ์ ปรากฏว่าหลักฐานไม่ครบ จึงได้ทำเรื่องกลับไปโรงเรียนนายร้อยจปร. เพื่อขอเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องหลักฐานการเกณฑ์ทหาร (สด.43) ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2530 นายอภิสิทธิ์ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ได้มาเกณฑ์ทหารหรือเรียกว่าหนีการเกณฑ์ทหาร ทางสัสดีได้ลงในหลักฐาน สด. 16 ถือว่าเป็นคนขาดการตรวจเลือกฯในแขวงคลองตัน ลำดับที่ 229 เลขที่สด. 43ที่675 หลังจากนั้นวันที่ 9 เม.ย. 2530 นายอภิสิทธิ์ได้เขียนใบสมัครเข้ารับราชการที่โรงเรียนนายร้อย จปร. แสดงว่าในช่วงนี้มีการสร้างหลักฐานเรียบร้อยแล้ว

           พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวอีกว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ก.ค.2530 มีหนังสือจากสัสดีกทม.รับรองว่านายอภิสิทธิ์มีชื่อเข้าบัญชีทหารกองเกินเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2525 และได้รับการผ่อนผันตามมาตรา 29 (3) เพื่อใช้เป็นเอกสารรับรองการบรรจุ ซึ่งเอกสารดังกล่าวชัดเจนว่าเป็นเอกสารที่ไม่อยู่ในระบบทางราชการ ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการรับสมัครเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยจปร.หรือไม่นั้นตนไม่ทราบ แต่ถ้ามีการใช้หนังสือดังกล่าวขึ้นมา ตนบอกได้เลยว่าเป็นเอกสารที่ไม่อยู่ในระบบทางราชการ เนื่องจากพบข้อพิรุธหลายอย่าง ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2530 มีคำสั่งกลาโหมที่ 720/30 ลงวันที่ 7 ส.ค. 2530 บรรจุนายอภิสิทธิ์เป็นข้ารากชารกลาโหมพลเรือนตำแหน่งอาจารย์โรงเรียนส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยจปร. ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2531 มีการแจ้งว่าใบสด. 9 หาย และขอรับใบแทนฉบับที่ชำรุดเสียหาย โดยได้มีการบันทึกใหม่ว่าเข้าบัญชีทหารกองเกินลงวันที่ 8 เม.ย. 2531 ซึ่งไม่ตรงกับครั้งแรกที่นายอภิสิทธิ์มาลงบัญชีทหารกองเกินเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2529 ดังนั้นหลักฐานชิ้นนี้ชัดเจนเพราะมีต้นขั้วทั้งสองใบว่าลงวันที่ไม่ตรงกัน เหตุผลที่ต้องทำใบสด. 9 ใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนเอกสารกองประจำการ (สด.3) เพราะหากมีการติดยศร้อยตรีแล้วนายอภิสิทธิ์ต้องขึ้นทหารกองประจำการเพื่อนับเวลาราชการ ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้บังคับเป็นกฎหมาย ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าถ้าใช้เอกสารสด. 9 ใบเดิมจะเห็นชัดว่าขาดการเกณฑ์ทหาร ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2531 นายอภิสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นว่าที่ร้อยตรีและขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการที่


            “ในช่วงนี้นายอภิสิทธิ์ได้นำใบสด. 9 ซึ่งเป็นใบทดแทน ตรงนี้พิสูจน์ได้ว่าเป็นการใช้เอกสารที่ไม่อยู่ในระบบทางราชการ เรามีหลักฐานชัดเจนและระหว่างที่นาอภิสิทธิ์เข้ารับราชการและขอลาออกเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2532 นั้นถือว่านายอภิสิทธิ์เป็นทหารเพียง 1 ปีและในช่วงรับราชการได้ลาไปต่างประเทศ 3 ครั้ง ลากิจ 2 ครั้ง ลาไปราชการ 1 ครั้ง โดยอ้างว่าไปสอนหนังสือ ทั้งหมด 221 วัน มีวันทำงานรวมเพียง 35 วัน ตามระเบียบการลาของทางราชการสามารถลาได้เพียง 70 วันใน1ปีปฏิทิน”พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว

           เมื่อถามว่า หลังจากที่แถลงข่าวในวันนี้จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปกรณีการหลีกเลี่ยงการเป็นทหารของนายอภิสิทธิ์ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ตนจะทำตามขอบเขตที่กระทรวงกลาโหมกำหนดไว้ว่ามีอะไรบ้าง เมื่อถามต่อว่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะส่งให้กฤษฎีกาตีความหรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมาย ทางกรมพระธรรมนูญจะดูแลในส่วนนี้ หากมีข้อสงสัยก็จะไปปรึกษากับทางกฤษฎีกา หากปรึกษาเรียบร้อยแล้วก็จะรายงานให้ตนทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

             เมื่อถามว่า ข้อเท็จจริงออกมาอย่างนี้ผลที่จะตามมากับนายอภิสิทธิ์เป็นอย่างไร พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า คงไม่ตอบในเรื่องอื่น ตนคงตอบได้เพียงในขอบเขตความรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหมเท่านั้น ส่วนที่นอกเหนือจากนั้นเหนือการควบคุมของตนเอง

             เมื่อถามอีกว่า ในส่วนของอำนาจรัฐมนตรีในเมื่อพบว่าเอกสารของอภิสิทธิ์สมัครเข้ารับราชการทางทหารไม่ถูกต้อง สามารถใช้อำนาจในการถอดยศและยึดเงินเดือนคืนได้หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ในส่วนนี้ทางกระทรวงกลาโหมกำลังดูอยู่ ซึ่งอาจจะไปปรึกษากฤษฎีกา แต่ก็เป็นเรื่องของกรมพระธรรมนูญที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ

            เมื่อถามว่ากรณีดังกล่าวนี้ในเรื่องเอกสารนั้นยังไม่หมดอายุความใช่หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ทางกรมพระธรรมนูญต้องดำเนินการชี้แจง ตนไม่ทราบเพราะไม่ได้จบกฎหมาย โดยหลังจากนี้กรมพระธรรมนูญจะดำเนินการชี้แจงอีกครั้ง

           เมื่อถามต่อว่า เราสามารถพิสูจน์ได้หรือไม่ว่าใครเป็นผู้ทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับนายอภิสิทธิ์ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เรื่องนี้มันลึกและนานมาก ซึ่งระบบการเกณฑ์ทหารตั้งแต่ปี 2497 ยังไม่มีคอมพิวเตอร์จึงได้ใช้เอกสารเป็นใบสำคัญสด.ต่างๆ มากมายจึงทำให้ยุ่งยาก แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งใบสำคัญต่างๆเหล่านี้ก็เป็นหลักฐานการยืนยันตามขั้นตอนของการดำเนินการได้

          เมื่อถามว่าจากผลการสอบสวนที่ผ่านมาทางกองทัพบกได้ดำเนินการลงโทษทหารนั้นจะเป็นการยืนยันหรือไม่ว่าทหารเหล่านี้เป็นคนทำเอกสารขึ้นมาเพื่อช่วยนายอภิสิทธิ์ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เป็นเรื่องของกองทัพบกที่ดำเนินการจบไปแล้วและเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นนานมาแล้ว ตัวละครต่างๆได้เสียชีวิตและได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ผ่านมา 25 ปีแล้ว น่าจะเกินอายุความ

            ต่อข้อถามถึงกรณีที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์นำใบสด. 20 ของนายอภิสิทธิ์มาชี้แจงนั้นเป็นเอกสารจริงหรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ แต่ว่าไม่มีการรับรองสำเนา ทั้งนี้ใบสด. 20 เป็นเอกสารทางราชการ นายอภิสิทธิ์จะถือเพียงอย่างเดียวคือใบสด. 41

           เมื่อถามว่า นายอภิสิทธิ์จะได้รับการลงโทษอย่างไรหรือไม่ และกรณีที่ขาดงานสอนจากโรงเรียนนายร้อยจปร. 200 กว่าวัน ต้องรับผิดชอบอย่างไร พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เป็นเพียงข้อมูลที่ทางคณะกรรมการได้มีการตรวจสอบและมีผู้อนุญาตให้ลาเรื่องนั้นก็จบไป แต่ทั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการที่นายอภิสิทธิ์เข้ามาเป็นอาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยจปร.นั้นมีความรักทหารจริงหรือไม่ เพราะทำงานแค่ไม่กี่วัน แต่ลากิจเป็นจำนวนมาก เมื่อถามต่อว่า จะมีการทวงถามจริยธรรมคุณธรรมจากนายอภิสิทธิ์ หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ตนพูดเฉพาะในขอบเขตของตน เรื่องนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจ

            เมื่อถามว่าสรุปว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นโฆฆะหรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า อะไรที่จบไปแล้วก็จบไป อะไรที่ยังไม่จบก็ไม่จบ เมื่อถามว่า การที่นำข้าราชการกระทรวงกลาโหมมาแถลงในครั้งนี้จะส่งผลต่อคดีความที่มีอยู่ในชั้นศาลที่บางฝ่ายจะนำไปใช้เป็นประโยชน์ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ตนพูดในขอบเขตของตนตามเอกสารข้อเท็จจริงที่มี เพราะสังคมมีความสงสัย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ตนต้องออกมาตอบโต้ แต่เรามีเอกสารครบเราก็ต้องพูดไปตามข้อเท็จจริง เพื่อตอบผู้ตรวจการแผ่นดิน

ที่มา ข่าวสดออนไลน์ http://www.khaosod.co.th

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?

“บก.ลายจุด” ประกาศฟ้องหมิ่นประมาท

“ทวิตภพ” เดือดทะลุจอ “บก.ลายจุด” ประกาศฟ้องหมิ่นประมาท @BaBYxxxEviL

ข้อความทวิตเตอร์หมิ่นประมาทของ "นาว" โปรดอ่านจากล่างขึ้นบน

ข้อความประกาศดำเนินคดีทางกฏหมายของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ โปรดอ่านจากล่างขึ้นบน

           Go6tv (28 กรกฎาคม) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้เขียนข้อความในโปรแกรมทวิตเตอร์ประกาศว่าจะดำเนินคดีกับบุคคลหนึ่งที่ใช้ชื่อไอดีกว่า @BaBYxxxEviL หรือที่มีชื่อเล่นในแวดวงทวิตว่า “นาว”


           เรื่องขอความดุเดือดเผ็ดร้อนในทวิตนี้เกิดขึ้น เมื่อผู้ใช้ไอดี @BaBYxxxEviL ได้เขียนข้อความพาดพิงนายสมบัติ บุญงามอนงค์ และครอบครัวไปจนถึงบิดาผู้ล่วงลับของนายสมบัติ ในทำนองว่านายสมบัติ และครอบครัว ไม่เอาใจใส่ดูแลบิดา ทอดทิ้งจนบิดาเสียชีวิตคาบ้านหลายวันจึงพบศพ ซึ่งนายสมบัติได้เขียนข้อความตอบกลับว่า ตนและพี่น้องครอบครัวอยู่ดูแลบิดาจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต มิได้เป็นไปดังที่ถูกกล่าวหา จึงประกาศขอให้สิทธิ์ทางกฎหมายประกาศดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกับบุคคลดังกล่าว


              นายสมบัติได้เผยแพร่ภาพ ซึ่งเชื่อว่าเป็นภาพของบุคคลที่ใช้ไอดี @BaBYxxxEviL และประกาศว่าหากใครมีข้อมูลที่สามารถบอกชื่อและที่อยู่เพื่อใช้ในการดำเนินคดี ก็ขอให้ติดต่อมายังนายสมบัติได้โดยตรง เพื่อจะใด้ใช้เป็นหลักฐานต่อไป


ภาพที่เชื่อว่าน่าจะเป็นภาพของผู้ใช้ไอดี @BaBYxxxEviL

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เกาะขอบเวที



อาจารย์ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เกาะขอบเวที 2 8ก.ค. 55





คำวินิจฉัยพร่าๆ ในพายุที่พรำๆ โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
 http://www.facebook.com/verapat


ครบ 13 วัน นับจาก ‘ศุกร์ที่ 13’ ที่ศาลได้อ่านคำวินิจฉัย ก็ประจวบกับคลื่นลม 
‘จากแดนไกล’ ที่พัดเข้าใกล้การเมืองไทยมากขึ้นทุกที

          เอกสารคำวินิจฉัยที่ศาลเผยแพร่หลังพ้น 13 วันนี้ มีสาระการวินิจฉัยตรงตามที่ศาลอ่าน สิ่งที่อ่านไม่ชัดเจน ก็ยังคงเขียนไม่ชัดเจน และศาลก็ไม่ระบุจำนวนมติตุลาการซึ่งขัดแนวปฏิบัติสากลที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยในอดีตเคยยึดถือ อีกทั้งยังไม่เปิดเผยคำวินิจฉัยส่วนตนให้อ่านประกอบได้ ในเบื้องต้นผู้เขียนจึงไม่มีประเด็นเพิ่มเติมจากที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ (ดู http://bit.ly/VPCONS)


แต่สังเกตว่า ศาลได้ปรับถ้อยคำอย่างมีนัยสำคัญบางจุด เริ่มตั้งแต่หน้าแรก ที่ระบุเพิ่มว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่ใช่ ‘ประธานรัฐสภา’ แต่เป็น ‘ประธานรัฐสภา ในฐานะรัฐสภา’

ถ้อยคำนี้ถูกปรับให้ต่างไปจาก ‘หนังสือเรียกเอกสารฯ’ ที่ประธานศาลเคยลงนามพร้อมระบุว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 คือ ‘ประธานรัฐสภา’ (เฉยๆ ดู http://bit.ly/VPC1June ) ซึ่งตรงกับที่ประธานศาลชี้แจงว่าตนออกหนังสือแจ้งไปยังประธานรัฐสภา แต่มิได้สั่งสภา อีกทั้งตรงกับคำในเอกสารข่าวของสำนักงานศาล และสอดรับกับการไต่สวนพยานที่ให้ ‘คุณวัฒนา เซ่งไพเราะ’ มาศาล ‘แทนประธานรัฐสภา’ (แต่ไม่ได้มาแทนรัฐสภา) 

การปรับถ้อยคำเช่นนี้ จึงเป็นเครื่องยืนยัน ‘ความผิดรูปผิดรอย’ ของคดีที่หลุดเลยจาก ‘ปริมณฑลทางกฎหมาย’ มาแต่ต้น และทำให้เห็นว่า ศาลเองก็สับสนในข้อกฎหมายมาตั้งแต่วันรับคำร้องแล้วเช่นกัน

แต่คำถามที่สำคัญในเวลานี้ ก็คือ สภาจะเดินหน้าต่ออย่างไร ?

คำวินิจฉัยศาล มีผลทางกฎหมายหรือไม่ ?

แม้ผู้เขียนจะค้านว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้มาแต่ต้น แต่ก็ค้นจิตสำนึกทางกฎหมายไว้พร้อมแล้วว่า ไม่ว่าสุดท้ายศาลจะวินิจฉัยข้อกฎหมายอย่างไร ผู้เขียนก็พร้อมจะสนับสนุนให้คำวินิจฉัยนั้นต้องเด็ดขาดและเป็นที่สิ้นสุด

กล่าวคือ หากศาลวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญ ‘กำหนดให้’ รัฐสภาต้องทำ ‘ประชามติ’ ก่อนการ ‘ยกร่างแก้ไขใหม่ทั้งฉบับ’ แม้ว่าผู้เขียนเองจะไม่เห็นด้วยกับศาลเลยก็ตาม แต่ก็พร้อมจะหนุนศาลว่า สภาก็ต้องไปหาวิธีทำประชามติเพื่อปฏิบัติตามที่ศาลได้ชี้ขาด

เหตุผลที่ผู้เขียนมองเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะลุ่มหลงกับ มาตรา 216 วรรค 5 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยนั้นต้องเด็ดขาดและผูกพันรัฐสภา แต่เป็นเพราะผู้เขียนเชื่อในหลักการที่ใหญ่กว่านั้น

หลักการที่ว่า ก็คือ ‘หลักกระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตย’ กล่าวคือ ประชาธิปไตยต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ร่วมกันภายใต้กติกาที่แน่นอน แม้จะกติกาที่ว่าจะไม่สมบูรณ์และไม่เป็นที่ถูกใจทุกฝ่ายก็ตาม ดังนั้น เมื่อสภาปฎิบัติตามศาลแล้ว สภาจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือจะไปปฏิรูปศาลอย่างไร ก็เป็นเรื่องกระบวนการประชาธิปไตยที่ทั้งสภาและศาลจะต้องเรียนรู้ร่วมกัน โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปตัดตอนผลคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นสาระของการเรียนรู้เสียเอง

ฉันใดก็ฉันนั้น หากจะมี ‘พายุแดนไกล’ ลูกใด ที่ถูกถูกมองว่ารุนแรงและเลวร้ายต่อการเมืองไทย แต่หากเรามีศาลเป็นที่พึ่ง มีกติกาที่แน่นอน ผู้เขียนก็เชื่อว่า คนไทยก็มิได้โง่เขลาขนาดจะปล่อยให้บ้านเมืองถูกพัดทำลายจนชาติสลาย ดังนั้น จึงไม่มีพื่นที่ใดที่จำเป็นสำหรับ ‘ลัทธิรัฐประหาร’ ที่มาตัดตอนการสู้คลื่นลมโดยประชาชน ที่มีกฎหมาย ศาล สภา และองค์กรอื่นๆ เป็นที่พึ่ง (ดูเพิ่มที่ http://bit.ly/VPProcess )

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า ‘คำวินิจฉัยที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย’ จะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากต่างฝ่ายต่างอ้างกันได้เช่นนี้ สังคมก็คงขัดแย้งบานปลาย เพราะทุกคนชี้เองได้ แต่ชี้ไปกี่สิบกี่พันนิ้ว ก็ไม่ขาดเสียที

และแม้จะคิดให้ไกลกว่านั้น ผู้เขียนก็ได้หาเหตุผลมารอหนุนศาลไว้ โดยหากศาลวินิจฉัยว่า ‘ต้องทำประชามติ’ ผู้เขียนก็จะอธิบายว่า ศาลได้วินิจฉัยให้การได้ลงประชามติที่ว่าเป็น “สิทธิโดยปริยาย” ตาม มาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 27 ที่ว่านี้ หากศาลใช้เป็น ก็จะเป็นฐานอำนาจที่ทรงอานุภาพยิ่งกว่า มาตรา 68 อีกหลายเท่า

ตกลงสภาต้องทำ ‘ประชามติ’ หรือไม่ ?

แม้ผู้เขียนมีหลักการและเหตุผลที่พร้อมจะหนุนศาล แต่ชะตากลับเล่นตลก เมื่อศาลท่านกลับไม่ยอมวินิจฉัยให้เด็ดขาดว่าสภา ‘ต้องทำประชามติ’ หรือไม่

แต่ศาลกลับอ้างเจตนารมณ์โดยไม่มีบทบัญญัติอ้างอิงชัดแจน เพื่อกล่าวเอาเองอย่างสะดวกว่า “ก็ควรจะได้ให้ประชาชน...ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” 

คำว่า ‘ควร’ ที่ศาลกล่าวมานี้ ต้องมองให้ทะลุถึงความหมายสองชั้น

ชั้นแรก คือ ‘ควร’ ให้ประชาชนลงประชามติ (กล่าวคือ ศาลไม่บังคับว่าจะต้องลงประชามติ)

ชั้นที่สอง คือ ประชามติก็เพียงถามว่า ‘สมควร’ มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ (กล่าวคือ ศาลไม่บังคับว่าผลการลงประชามติจะต้องเป็นข้อยุติที่ผูกพันสภา แต่อาจเป็นเพียงความเห็นของประชาชน ซึ่งแสดงว่าตรรกะและการใช้คำของศาลนั้น ก็ขัดแย้งกันเอง)

เมื่อศาล ‘เลือก’ ให้คำแนะนำทางการเมืองอย่างกำกวม แทนการชี้ข้อกฎหมายให้เด็ดขาด ผู้เขียนจึงไม่อาจนำหลักการที่เตรียมหนุนศาลมาใช้ได้ แต่กลับกัน ผู้เขียนกลับต้องไปหนุนสภาให้เดินหน้าสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตย โดยการ ‘ยึดรัฐธรรมนูญให้อยู่เหนือศาลรัฐธรรมนูญ’ เพื่อยืนยันว่าศาลย่อมต้องเป็นศาลที่ชี้กติกาให้ชัด แต่จะมาเล่นการเมืองแบบกำกวมไม่ได้ 

ดังนั้น สภาจึง ‘ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม’ คำแนะนำของศาล ตรงกันข้าม สภาต้องปฏิบัติตามการชี้ขาดของศาลที่วินิจฉัย ‘ยกคำร้อง’ หมายความว่า การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่กระทำมาค้างที่ วาระ 2 ก็ต้องเดินต่อไปสุดที่ วาระ 3 โดยสภาไม่มีหน้าที่ต้องทำประชามติแต่อย่างใด

การเมืองไทย จะเดินต่ออย่างไร ?



แม้สภาจะเปิดประชุม 1 สิงหาคมนี้ แต่สภาก็คงจะอาศัยภารกิจในวโรกาสมหามงคล ประกอบกับการลุ้นชิงตำแหน่ง ‘ประธานวุฒิสภา’ คนใหม่ มาเป็นเครื่องต่อเวลา เพื่อไม่ต้องตัดสินใจทันทีว่าจะเดินต่อตามคำวินิจฉัยหรือไม่อย่างไร

แต่ในระยะยาว แม้ผู้เขียนจะเสนอให้สภาต้องเดินหน้าต่อสู่ วาระ 3 แต่ความพร่ามัวของคำวินิจฉัยก็ทำให้หลายฝ่ายกลับต้องกังวลว่า หากเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะทางใด จะทำผิดกฎหมายหรือไม่ หรือพลาดพลั้งในทางการเมืองอย่างไร ?

หากเดินหน้าต่อวาระ 3 ก็จะมีผู้กล่าวหาว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะศาลตีความรัฐธรรมนูญเอาไว้แล้วว่าควรต้องทำประชามติก่อน จะอ้างว่าศาลเพียงเสนอแนะ ก็ไม่มีใครรับประกันผลที่ตามมาได้

แต่หากเดินหน้าทำประชามติ หรือปล่อย วาระ 3 ทิ้งไว้ ก็จะมีผู้กล่าวหาว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่บังคับชัดเจนว่าต้องดำเนินการให้ครบ 3 วาระ ครั้นจะอ้างศาลมากำบัง ก็จะมีการอ้างว่าข้อเสนอแนะย่อมไม่มีผลผูกพัน

หรือหากสภาจะเลือกเดินหน้าไปสู่วาระ 3 และยอมลงมติไม่เห็นชอบ เพื่อให้กระบวนการตั้ง ส.ส.ร. เป็นอันต้องล้มเลิกไป (จากนั้นจึงไปแก้ไขรายมาตรา) แม้สภาย่อมทำได้ในทางกฎหมาย แต่สภาก็คงต้องคิดถึงผลทางการเมืองที่หนักหนายิ่งกว่า

หรือหากมองโลกให้ร้ายที่สุด ความพร่ามัวของคำวินิจฉัย อาจกลายมาเป็น ‘ใบเบิกทาง’ การรอมชอมระหว่างกลุ่มอำนาจ ทำนองว่า หากสภาไม่แก้รัฐธรรมนูญไม่ลดอำนาจศาล ศาลก็จะไม่แตะอำนาจนิรโทษกรรมของสภา ซึ่งการรอมชอมที่ว่า จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากกฎหมายมีความชัดเจน ยุติเป็นที่สิ้นสุด แม้พายุทางการเมืองจะพัดพรำๆ ก็ตาม

VOTE NO: ทางออกที่เป็นไปได้ และควรเป็น ?

หากสภาต้องการยึดกฎหมายให้อยู่เหนือศาล แต่น้อมฟังความห่วงใยของศาลไปพร้อมกัน โดยไม่ต้องไปสุ่มเสี่ยงกับความวุ่นวายทางกฎหมายและการเมืองที่อธิบายมา ผู้เขียนก็ขอเสนอทางออกดังนี้


ประการแรก ยึดหลักกฎหมายให้มั่นว่า สภามีหน้าที่ต้องเดินต่อไปสู่วาระที่ 3 และกฎหมายย่อมอยู่เหนือการเมืองหรือข้อเสนอแนะใดๆ

ประการที่สอง หากสภาอ่านคำวินิจฉัยให้ดี จะพบว่าถ้อยคำของศาลที่ว่า “ก็ควรจะได้ให้ประชาชน...ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” นั้น ศาลไม่ได้ระบุว่าควรมีการลงประชามติ “ก่อนการลงมติ วาระ 3” ดังที่บางฝ่ายเข้าใจ ศาลกล่าวเพียงว่า การลงประชามตินั้นควรมี “ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ” (โปรดดูคำวินิจฉัยหน้า 25 ย่อหน้าสุดท้ายที่http://bit.ly/VP26July )


ดังนั้น แม้สภาจะลงมติ ‘วาระ 3’ ไปแล้ว แต่หากการแก้ไขโดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับ (โดย ส.ส.ร.) ยังไม่เริ่มต้นขึ้น สภาก็ย่อมชอบที่จะหามติจากประชาชนได้ และก็มิได้เป็นการขัดแย้งกับคำแนะนำของศาลเสียทีเดียว

ประการที่สาม สภาจะมีวิธีการถามมติจากประชาชน ‘หลังการลงมติในวาระ 3’ อย่างไร จึงถูกกฎหมาย และไม่เป็นการไปยอมรับคำแนะนำที่ขัดต่อหลักการเสียเอง ?

ทางออกที่เป็นไปได้ คือ การให้สภาประกาศ ‘คำมั่นทางการเมือง’ แก่ประชาชน ดังนี้


(1) ในวันเลือกตั้ง ส.ส.ร. (หลังการลงมติวาระ 3) หากประชาชนได้กาช่อง ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ (Vote No) รวมกันสูงเป็นลำดับที่ 1 จากคะแนนทั้งหมด รัฐสภาจะยอมรับว่า ประชาชนมีมติไม่ต้องการให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และสภาก็จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกการตั้ง ส.ส.ร. (โดยยอมรับข้อจำกัดว่า อาจมีประชาชนบางส่วนต้องการให้มี ส.ส.ร. แต่ไม่ประสงค์เลือก)

(2) ตรงกันข้าม หากประชาชนเสียงข้างมากตัดสินใจลงคะแนนเลือก ส.ส.ร. สภาก็ย่อมเคารพมติของประชาชนในการเดินหน้าให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ 

วิธีที่นำเสนอมามานี้ เป็นการอำนวยให้ประชาชนสามารถ ‘ลงมติยับยั้ง’ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ตั้งแต่ก่อนการแก้ไขทั้งฉบับจะเริ่มขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีกฎหมายรองรับ อีกทั้งประหยัดงบประมาณ เพราะทำไปในคราวเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. อีกทั้งไม่มีเหตุผลให้ศาลหรือใครจะมาคัดค้าน หากใครไม่ต้องการให้มี ส.ส.ร. มายกร่างทั้งฉบับ ก็ออกไปรณรงค์ Vote No ได้เต็มที่ หรือจะส่งพวกมาสมัครเป็น ส.ส.ร. ที่พร้อมลาออก ก็ทำได้

หากสภาทำได้เช่นนี้ ‘กระบวนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตย’ ของไทยก็จะพัฒนาไปสู่การใช้กฎหมายอย่างลึกซึ้งแยบยล เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่น่าปราถนา แทนที่จะมาติดกับดักเรื่อง หลักนิติศาสตร์ / รัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ไร้แก่นสารและโบราณเกินไปเสียแล้ว.