วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ไม่ตลกขอเถอะวสันต์เลิกด้านแล้วเฉดหัวตามจรัญซะ


ไม่ตลกขอเถอะวสันต์เลิกด้านแล้วเฉดหัวตามจรัญซะ



หลักฐานคาตา-หลังจากตลก จรัญยอมจำนนถอนตัวจากคดีเพราะมีหลักฐานให้สัมภาษณ์วิธีการแก้รธน.ละเอียดยิบ ก็มาถึงคิวประธานตลก วสันต์เข้าบ้าง เพราะมีหลักฐานให้สัมภาษณ์เสนอวิธีการแก้ไขรธน.ไว้เช่นกัน คำถามข้อใหญ่คือ ต้องถอนตัวตามตลก จรัญได้หรือยัง?
Voice TV รายงานข่าวเรื่อง ฟังกันให้ชัด 'วสันต์' พูดไว้หนุนตั้งส.ส.ร.แก้รธน.และตั้งคำถามว่า "วสันต์" เอาไงต่อ เผยเคยเห็นด้วย หนุนตั้งส.สร.3 ขึ้นมาแก้รัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ติงพวกชอบจ้อ ควรรอให้มีส.ส.ร. อย่าเพิ่งจับผิดแก้เพื่อใคร

หลังจากในวันแรก (5 ก.ค.)ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มไต่สวนกรณีมีผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่นั้น โดยมี นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานองค์คณะตุลาการ

ขณะเดียวกันในช่วงบ่าย นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตัดสินใจขอถอนตัวจาก เนื่องจากกรณีที่มีการอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์สมัย เมื่อครั้งเป็นส.ส.ร. ซึ่งทำให้นายจรัญไม่สบายใจ และขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้ในที่สุด

ขณะเดียวกัน ได้มีการเผยแพร่ คำให้สัมภาษณ์ ของ นายวสันต์ สมัยที่เคยแสดงความคิดเห็นต่อการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ ในสื่อชั้นนำหลายแห่ง อาทิ


"เขายังไม่ได้เขียนเลย แล้วเราไปรู้ได้ยังไงว่าจะแก้เพื่อคนนั้นคนนี้ ควรดูเขาก่อนและตอนนี้ก็กำลังที่จะเริ่มตั้ง ส.ส.ร.ใหม่ และเรายังไม่รู้เลยว่าใครจะเข้ามาเป็น ส.ส.ร.บ้างยังไม่เห็นตัวบุคคลเลย แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร มันอาจไม่ใช่ก็ได้" – เป็นการให้สัมภาษณ์ของนายวสันต์ ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2555

หรืออย่าง การเผยแพร่ข่าวของเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 สิงหาคม 2554 ที่ระบุว่า -  "หากรัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรแต่งตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่3 (ส.ส.ร.3) ขึ้นมาทำหน้าที่ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด และนำส่วนดีของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 มาปรับใช้ ไม่ใช่นำรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 มาใช้ทั้งหมด เนื่องจากมีปัญหาบางส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับระบบศาลยุติธรรม ซึ่งทำให้ผู้พิพากษาต้องไปพิจารณาในคดีที่ไม่มีความชำนาญได้"

ทั้งนี้ เมื่อนายจรัญ ได้ถอนตัวไปก่อนหน้านี้ จากการที่ เคยแสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างหนึ่ง แล้ววันนี้มาเปลี่ยนไปอีกมุมหนึ่ง จึงเห็นว่า อาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสมจึงขอถอนตัว ส่วนกรณีนายวสันต์ จะเป็นอย่างไร ต้องติดตาม

นอกจากนี้ นายวสันต์  สร้อยพิสุทธิ์  เคยให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวี ถึงการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. 3 ว่า หากรัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรแต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 3 หรือ ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ทั้งหมด และนำข้อดีของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับใช้แทนการสวมทับ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องระบบศาลยุติธรรมอยู่

โอ๊กเอาด้วยตามบี้จรัลหลังถอนตัว แถไม่ออกรับหน้าชื่นเคยพูดให้แก้รธน.ได้


นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ 100.5 เอฟเอ็ม ถึงการถอนตัวจากองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิจารณาคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่า ได้ตัดสินใจโดยทันที หลังจากที่ฝ่ายผู้ถูกร้องได้มีการอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของตนในอดีตในห้องพิจารณาคดี เมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวนในช่วงเช้า จึงได้รีบให้เจ้าหน้าที่ไปค้นคำให้สัมภาษณ์ และหลักฐานต่างๆ ก็พบคลิปที่เคยกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ โดยตรวจสอบคำพูดอย่างละเอียดแล้ว ก็เห็นว่า เป็นการพูดในช่วงการรณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรา 291 ไว้ด้วย จึงเห็นว่า หากทำหน้าที่ต่อไปคงไม่สมควร และจะถูกมองว่าทำหน้าที่โดยอคติในการตัดสินคำร้องนี้
       
       “เมื่อได้ตรวจสอบพบแล้ว จึงได้นำเรื่องนี้แจ้งต่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนเริ่มการไต่สวนในช่วงบ่าย โดยได้แสดงเจตจำนงขอถอนตัว และขออภัยต่อตุลาการทั้ง 8 คน ที่ทำให้การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหา ซึ่งที่ประชุมได้เชิญผมออกจากห้องประชุม ก่อนมีมติอนุญาตให้ผมถอนตัวได้” นายจรัญ ระบุ
       
       นายจรัญ กล่าวด้วยว่า คิดว่า การตัดสินใจของตนครั้งนี้ เป็นการทำให้การพิจารณาดำเนินต่อไปได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีการตรวจสอบมาก่อน จำได้เพียงคร่าวๆ ว่า ได้ไปพูดในเวทีสาธารณะเวทีหนึ่ง ว่า ขอให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน จึงแก้ไขในภายหลัง แต่เมื่อตรวจสอบในรายละเอียด ก็เห็นว่า มีการลงลึกในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 จริง




ถูกใจแล้ว · 2 ชั่วโมงที่แล้ว ผ่าน โทรศัพท์มือถือ 


ขอ in trend ให้เข้ากับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอยู่ในวันนี้ ด้วยการนำคลิปที่ผมเป็นผู้เปิดประเด็นไว้เอง ในโพสต์เมื่อวันที่24 มิถุนายน ที่ผ่านมานี้ มาทบทวนความจำกันอีกครั้งนึงครับ คลิปชื่อ "รัฐธรรมนูญ2550ไหนว่ารับไปก่อน" ตามนี้เลยครับ



ท่านที่มีเวลาก็สามารถดูทั้งคลิปประมาณ7นาทีกว่าๆ จะได้ฟังอะไรดีๆเยอะครับ


มีเวลาน้อยก็ดูตั้งแต่ นาทีที่ 0:50 ถึงนาทีที่ 2:29 ไม่มีเวลาก็อ่านที่ผมถอดคลิปไว้ให้ เป็นคำพูดของ นายจรัญ ภักดีธนากุล ในฐานะ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี50 ท่านพูดไว้ดังนี้ครับ

"เราเสนอแบบให้5หมื่นคนเท่านั้นครับ แล้วก็ สส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้นครับ เสนอแก้ไขมาตราเดียวแบบที่เราเริ่มทำในปี2540 แล้วก็ให้กระบวนการนั้นน่ะ จัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่" นี่คือเจตนารมณ์ของผู้ร่าง รธน.50 ที่ได้ระบุถึงวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี50 ว่าต้องการให้แก้ไขด้วยวิธีการอย่างไรนะครับ

ลองรีเพลย์ฟังดูก็ได้ครับ นาทีที่ 2:09 ถึงนาทีที่ 2:29 เพียง20วินาทีเท่านั้น

แต่เป็น "ยี่สิบวินาที ที่อาจชี้ชะตาพรรคการเมืองที่มี พี่น้องประชาชนเลือกสส.เข้าสภามากเกินครึ่งประเทศไทยครับ"
http://redusala.blogspot.com

ไต่สวนการตาย 'พัน คำกอง'


ไต่สวนการตาย 'พัน คำกอง'
ไต่สวนการตาย 'พัน คำกอง' 
พันโทยันเสียงกระสุนM16 -‘สรรเสริญ’ย้ำ 10 เมษา สั่งถอนทหาร 5 โมง


Fri, 2012-07-06 19:06


            ‘สรรเสริญ แก้วกำเนิด’ เบิกความไต่สวนการตาย ‘พัน คำกอง’ จากกรณียิงรถตู้ที่ราชปรารภ กลางดึก 14 พ.ค.53 ระบุไม่รู้เรื่องทางปฏิบัติ ย้ำ 10 เมษา ศอฉ.สั่งทหารออกตั้งแต่ 5 โมงเย็นแต่ออกไม่ได้โดนบล็อก ปัดไม่มีบันทึกคำสั่งเป็นหนังสือ ด้านทหารยศพันโทระบุเสียงปืนในคลิปที่เกิดเหตุเป็นเสียง ‘M16’ และลูกซอง ขณะที่พยานทหารคนอื่นบอกไม่สามารถระบุชนิดปืนได้เพราะเสียงก้อง – 5 ทหารยืนยันตรงกันไม่พบชายชุดดำในบริเวณที่เกิดเหตุ

[ภาพ: 229103_2066235816763_1270827683_32521600_4746889_n.jpg]             

5 ก.ค.55 ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา รัชดา มีการไต่สวนการเสียชีวิตของานาย พัน คำกอง คนขับแท็กซี่ซึ่งถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภ ใกล้แอร์พอร์ตลิงก์ซึ่งเป็นจุดประจำการของทหาร เมื่อหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 พ.ค.ต่อกับวันที่ 15 พ.ค.53 จากกรณีที่มีการยิงสกัดรถตู้ที่เข้ามาในพื้นที่ โดยในวันนี้มีการไต่สวนทหารจาก ปราจีนบุรี 2 นายซึ่งไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่เบิกความในส่วนของเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53 ซึงหนึ่งในทหารผู้เบิกความถูกยิงที่บริเวณเหนือเข่า เหตุเกิดในการปะทะระหว่างทหารและผู้ชุมนุมรอบแรกช่วงบ่ายบริเวณถนนตะนาว และเห็นชายคนหนึ่งควักปืนมายิงจนตนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว

ในช่วงบ่าย พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษก ศอฉ. ขึ้นเบิกความระบุว่าไม่ทราบรายละเอียดเหตุการณ์ยิงรถตู้ในวันที่ 15 พ.ค.53 เพราะรับผิดชอบในส่วนนโยบาย พร้อมเบิกความไล่เรียงตั้งแต่กลุ่ม นปช.เริ่มการชุมนุมเมื่อ 12 มี.ค.53 และเหตุที่ต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินพร้อมเปลี่ยน ศอรส. เป็น ศอฉ. เพื่อควบคุมสถานการณ์ที่มีแนวโน้มความรุนแรง เนื่องจากผู้ชุมนุมบุกรัฐสภาและมีการยื้อแย่งอาวุธเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การทำงานของเจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ชุมนุม และยึดหลักสากลจากเบาไปหาหนัก ซึงท้ายที่สุดหากจะมีการใช้กระสุนจริงจะเป็นการยิงขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญ ถ้าไม่ได้ผลจะยิงไปในทิศทางที่ปลอดภัย ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่ และจะยิงต่อเป้าหมายต่อเมื่อบุคคลนั้นจะทำร้าย ประทุษร้ายประชาชนหรือเจ้าหน้าที่เท่านั้นและมุ่งให้หยุดกากระทำไม่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต

สั่งถอนทหารก่อน 5 โมงเย็น สั่งทางวิทยุ

นอกจากนี้เข้ายังเบิกความถึงเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53 ซึ่งมีการ “ขอคืนพื้นที่” จากผู้ชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าว่า ในวันดังกล่าวมีการปะทะกันแต่ไม่มีใครเสียชีวิต กระทั่งก่อนเวลา 17.00 น. เริ่มมีการปะทะกันมากขึ้นขณะที่แสงสว่างกำลังจะหมด ศอฉ.จึงมีคำสั่งให้ทุกหน่วยหยุดปฏิบัติการและถอนตัว เพราะในยามคำคืนอาจมีคนสวมรอยมาทำร้ายผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่ได้ แต่บริเวณสี่แยกคอกวัวเจ้าหน้าที่ถอนกำลังไม่ได้เนื่องจากถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมทั้งด้านหน้าด้านหลัง ขณะที่ชายชุดดำที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้อาวุธยิงเข้ามาจนทำให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตตามที่เป็นข่าว รวมถึง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ด้วย

พ.อ.สรรเสริญ ตอบทนายถามว่า มีมติสั่งให้ถอนกำลังจริง ซึ่งในที่ประชุมมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อยู่ด้วย ส่วนตนเองนั้นเดินเข้าๆ ออกๆ สำหรับการออกคำสั่งของ ศอฉ.นั้นไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรแต่จะใช้วิธีสั่งการทางวิทยุทหาร โดยแต่ละหน่วยจะมีเจ้าหน้าที่วิทยุเข้าไปอยู่ในที่ประชุมอยู่แล้วและสามารถสั่งการได้เลย นอกจากนี้ยังระบุว่าคำสั่งกระชับวงล้อมนั้นอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ตามเอกสารที่นำส่งศาล ส่วนจะใช้กำลังเท่าไร อาวุธอะไรบ้างนั้นตนไม่ทราบในรายละเอียด

ปืนหายหลายกระบอก


วันเดียวกันในช่วงบ่ายแก่ที่บริเวณสะพานปิ่นเกล้าและถนนดินสอมีผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าแย่งยึดอาวุธของทหาร มีการนำไปแสดงบนเวทีปราศรัยแต่ไม่ได้ส่งคืน ทหารสามารถยึดคืนไดจำนวนมากแต่ก็ยังมีบางส่วนสูญหาย ซึ่งได้มีการแจ้งความไว้ที่ สน.บางยี่ขันได้แก่ ปืนทราโวล 12 กระบอก ปืนลูกซอง 35 กระบอก

นอกจากนี้ พ.อ.สรรเสริญยังกล่าวถึงการปรับกำลังพลหลังจากที่พยายามผลักดันผู้ชุมนุมมานานแต่ไม่สำเร็จว่า ได้มีการปิดเส้นทางต่างๆ มากขึ้น และปรับกำลังในการรับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ โดยกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จำนวน 22 กองร้อย รักษาความสงบ และจำนวน 19 กองร้อยปราบจลาจล ได้เข้าปิดเส้นทางบริเวณถนนราชปรารภ เพชรบุรี พญาไท ราชวิถี ศรีอยุธยา แต่ก็ยังไม่สำเร็จนักเนื่องจากมีตรอกซอกซอยเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งวันที่ 19 พ.ค.53 ศอฉ.มีคำสั่งกระชับวงล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาทหารถูกชายชุดดำโจมตีด้วย M79 แต่กำลังทหารเข้าไปได้ไม่ถึงจุดที่มีการตั้งเวทีปราศรัย



    



5 ทหารเบิกความ 4 ก.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.55 ก็มีการไต่สวนการเสียชีวิตของนาย พัน คำกอง เช่นเดียวกัน โดยมีทหารจากกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งประจำการบริเวณดังกล่าวขึ้นเบิกความ 5 นาย ต่อจากวันที่ 3 ก.ค.ที่มีการเบิกความไปแล้ว 4 นาย

จัดกำลัง รปภ.สถานที่ และการควบคุมฝูงชน

           พ.ท.พงศกร อาจสัญจร (ขณะนี้ยศ พ.อ.) ผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 (ผบ.ร. 1 พัน 3 รอ.) เบิกความโดยสรุปในช่วงแรกว่า วันที่ 14 พ.ค.53 เวลา 11.00 น.ได้มีเหตุรื้อกระสอบทรายบริเวณแยกจตุรทิศ ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ให้ไปที่เกิดเหตุเนื่องจากการจราจรอัมพาตมากเข้าไปเพื่อไปเคลียสถานการณ์ให้เรียบร้อย โดยมีรองผู้บังคับกองพัน(พ.ท.ทรงสิทธิ ไชยยงค์) เป็นผู้คุมกำลังไป 1 กองร้อย หรือ 150 นาย ซึ่งที่เกิดเหตุนั้นมีกลุ่มประชาชนจำนวนมากได้รื้อกระสอบทรายที่เอาไว้ตั้งจุดตรวจ กำลังที่จัดไปนั้นเป็นกำลัง รปภ.สถานที่ และการควบคุมฝูงชน ที่กฎเกณฑ์การใช้อาวุธเป็นการใช้จากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อะไรได้เพราะห้อมล้อมไปด้วยผู้ชุมนุมจำนวนมาก ตนจึงได้รายงานไปยังผู้บังคับการกรมฯ ขอไปที่เกิดเหตุ นำกำลังไปเสริมอีก 1 กองร้อยหรือ 150 นาย ในเวลาประมาณ 13.00 น. โดยได้นำกำลังไปลงที่ปากซอยรางน้ำฝั่งราชปรารภและนำกำลังเดินเข้ามายังแยกจตุรทิศ โดยในขณะนั้นมีรถบรรทุกของทหารจอดอยู่บริเวณดังกล่าวแล้วมีผู้ชุมนุมเข้าไปแย่งยึดและกระชากกำลังพล 2 คนที่อยู่บนรถลงมา ทีมของตนได้เข้าไปช่วยกำลังพลมาได้ แต่ไม่สามารถนำรถออกมาได้เนื่องจากผู้ชุมนุมได้ล้อมไว้

พ.ท.พงศกร อาจสัญจร เบิกความต่อว่า ขณะนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 700 คน อยู่บนสะพานจตุรทิศและด้านล่างก็มีทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้สัญจรเนื่องจากการจราจรขณะนั้นยังไม่ได้มีการปิด หลังจากนั้นตนพยายามแจ้งผู้บังคับบัญชาให้ปิดการจราจรให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ออกจากพื้นที่ไปเพื่อความปลอดภัย สุดท้ายไม่แน่ใจว่ามีเจ้าหน้าทีมาปิดหรือไม่แต่สัก 20 นาที ถนนก็ไม่มีรถเข้ามาแล้วขณะนั้น ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. หลังจากที่ตนไปถึงก็ประเมินว่าคนจำนวนมากกำลังตนมีน้อยเมื่อเทียบกับผู้ชุมนุม เกรงว่าจะมีการกระทบกระทั่งได้จึงได้แจ้งขอกำลังเพิ่มเติมไปกับผู้บังคับบัญชา โดยหลังจากนั้นมีกำลังของกองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ (ป.พัน.31 รอ.) เข้ามาประมาณ 2 กองร้อย โดยอยู่คนละฝั่งกับชุดของตนชุดของตนอยู่ทางด้านขวา และของ ป.พัน.31 รอ. อยู่ทางด้านซ้าย และตนเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในบริเวณพื้นที่อีกด้วย

ประชาชนฝั่งหนึ่งตะโกนด่า ฝั่งหนึ่งเอาน้ำมาให้

พ.ท.พงศกร อาจสัญจร เบิกความว่า เวลา 16.00 น.ของวันที่ 14 พ.ค.53 สถานการณ์คลี่คลายลงไปในทางค่อนข้างที่จะดี ตนได้รับคำสั่งให้อยู่ที่ถนนศรีอยุธยา ประจำอยู่ใต้สะพานลอยหน้าโรงพยาบาลพญาไท 1 โดยตนดูจากสถานการณ์และรายงานผู้บังคับบัญชาว่า 1 กองร้อยจะอยู่ที่ถนนศรีอยุธยาและอีก 1 กองร้อยที่ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ นำมาจะอยู่ที่แอร์พอตลิงก์ ซึ่งตนประจำอยู่บริเวณดังกล่าวจนเสร็จสิ้นภารกิจในวันที่ 22 พ.ค.53 หลังจากที่ไปประจำจุดดังกล่าวบริเวณซอยที่เชื่อมไปซอยรางน้ำก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาตะโกนต่อว่า โดยฝ่ายทหารไม่ได้มีการตอบโต้อย่างใดแต่ได้นำเอารั้วลวดหนามไปวางกันไว้ จริงๆแล้วในพื้นที่ตรงนี้เป็นจุดตรวจมาก่อนเพราะว่ามีการประกาศ พรก.ไปแล้ว มีการต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ซึ่งพื้นที่บริเวณตรงที่ตนอยู่ก็พยายามอยากให้ผู้ชุมนุมออกจะได้ปลอดภัย เพราะฉะนั้นพื้นที่ดังกล่าวก็พยายามทำให้ปลอดภัย โดยสภาพโดยรวมบริเวณที่ตนอยู่ฝั่งรางน้ำก็จะมีคนมาตะโกนด่า แต่อีกฝั่งถนนพญาไทมีประชาชนเอาน้ำมาให้ทหาร เป็นภาพความแตกต่าง

ได้ยินเสียงระเบิดคล้าย M203 แต่ไม่ทราบเสียงปืนเพราะเสียงก้อง

พ.ท.พงศกร อาจสัญจร เบิกความอีกว่า ช่วงค่ำมีข่าวแจ้งเตือนให้ระมัดระวังว่าอาจจะมีการยิงมาในพื้นที่ และได้ยินเสียง M203 เป็นปืนเครื่องยิงลูกระเบิดยิงมาตกตรงไหนไม่แน่ชัด แต่ได้ยินเสียงแน่นอนเพราะเสียงมันก้อง เสียงดังมาจากทางประตูน้ำ ในช่วงประมาณ 19.00 – 21.00 น. ประมาณ 6-8 นัด และจากการรายงานทางวิทยุโดย พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ทำให้ทราบว่าตกอยู่ตรงสะพานลอยแถวถนนราชปรารภ หน้าโรงแรมอินทรา ได้รับรายงานทางวิทยุสื่อสารเวลาประมาณเที่ยงคืนครึ่ง มีเสียงปืนดังติดต่อกันประปราย ทราบว่ามีรถวิ่งผ่านมา ตนอยู่ในมุมที่ไม่ได้ยินมากเพราะเสียงมันก้องๆ หลังจากเสียงปืนสงบลง

อัยการสอบถามเพิ่มเติมว่าพยานหรือพ.ท.พงศกร อาจสัญจร แยกออกไหมว่าเสียงปืนนั้นคือเสียงอะไร ในเมื่อเสียงระเบิดพยานทราบว่าเป็นเสียงระเบิดอะไร พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ตอบว่า ไม่แน่ใจเพราะว่าว่าเสียงก้อง และได้แจ้งกับ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ว่าหากมีสิ่งใดให้ปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชาที่อยู่ตรงนั้นได้เลย เนื่องจากตรงจุดเกิดเหตุมีผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าตนอยู่ด้วย คือ พ.อ.ณัฐวัฒน์ อัคนิบุตร

อัยการถามต่อว่าพยานทราบหรือไม่ว่าที่มีการยิงรถตู้มีการเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บกี่ราย พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ตอบว่า ได้ยินรายงานทางวิทยุว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บและนำส่งโรงพยาบาล ตนรับทราบเพียงเท่านั้น

ไม่มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บ จนเสร็จสิ้นภารกิจ

ตั้งแต่วันที่ 14 – 22 พ.ค.53 เสร็จสิ้นภารกิจ พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ยืนยันว่าไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ  ส่วนในการจัดกำลังพลนั้น พ.ท.พงศกร อาจสัญจร เบิกความว่า 1 กองร้อยจะมี โล่ ตะบอก ปืนลูกซองกระสุนยาง ปืนลูกซองมี 30 กระบอก และมีลูกกระสุนยางกระบอกละ 10 นัด รวมเป็น 300 นัด กระสุนยางคนละอย่างกับลูกแบงก์ ลูกแบงค์ใช้ซ้อมรบจะมีแต่เสียงเพื่อให้เกิดความสมจริง ลูกแบงก์หัวจะเป็นจีบ แต่ถ้าอยู่ในระยะ 1 เมตร ความแรงของดินปืนจะทำให้เกิดการไหม้ได้ แต่ไม่มีหัว ส่วนกระสุนยางใช้กับปืนลูกซอง ในระยะ 10 เมตร ก็จะจุกแต่ไม่ถึงแก่ชีวิต ไม่สามารถทะลุแผ่นเหล็กหรือไม้ได้

ทนายถามว่าตั้งแต่วันที่ 14 ถึง 22 พ.ค.53 ที่บริเวณพยานปฏิวัติหน้าที่ พญาไท ราชปรารภ นั้น นอกจากหน่วยของพยานแล้วมีหน่วยอื่นหรือไม่ พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ตอบว่า ไม่แน่ใจว่ามีหน่วยไหนบ้าง แต่ทราบว่ามี ป.พัน.31(กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์) และทนายถามอีกว่าในการสังการตอนนั้นในฐานะที่พยานเป็นผู้บังคับบัญชาสังการอย่างไร พ.ท.พงศกร อาจสัญจร ตอบว่าใช้วิทยุสั่งการ

สามารถใช้กระสุนจริงได้บางกระบอก

พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ รองผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 พัน 3 รอ.) เบิกความอีกว่า การใช้กระสุนจริงกับกระสุนยางแตกต่างกัน เช่น ลักษณะการบรรจุกระสุน ทิศทางการเล็ง เทคนิคก็จะต่างกัน จะยิงเพื่อให้เขาหนีหรือหยุดการกระทำ อัยการถามต่อถึงปืนที่ใช้กระสุนยางกับกระสุนจริงสามารถใช้ร่วมกันได้หรือไม่ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ตอบว่าใช้ได้บางกระบอก บางกระบอกใช้ไม่ได้ใช้เฉพาะกระสุนยาง

มี M16 จำนวน 20 กระบอก และไม่ถูกปล้น

พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เบิกความว่าหน่วยของตนมีปืนลูกซอง 30 กระบอก มี M16 ไปด้วย 20 กระบอก โดยมีกำลังพลที่กำหนดตัวเป็นผู้ใช้ แต่มีข้อแม้อยู่คืออาวุธปืน M16 จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาก่อน โดย พ.อ.นัฐวัฒน์ อัครนิบุตร และ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เบิกความต่อว่าปืน M16 กับปืนลูกซองจะแตกต่างกัน ปืนลูกซองจะติดตัว ส่วนปืน M16 จะเก็บไว้ในที่มีกำลังพลรับผิดชอบดูความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแย่งชิงซึ่งการที่จะนำปืน M16 มาใช้ตนซึ่งเป็นรองผู้พันก็ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและตัดสินใจก่อน สำหรับ M16 จะเป็นกระสุนซ้อมรบคือลูกแบงค์ ซึงจะแยกกันไประหว่างปืนกับกระสุนซึ่งมี 400 นัด โดยจะมีการบรรจุเหมือนกับลูกจริงคือมีซองกระสุน 20 นัดต่อกระบอก ลักษณะใช้จะเป็นการยิงเตือน แต่สามารถยิงต่อเนื่องอัตโนมัติได้

มี M79 และ RPG ปริศนาลงใกล้ทหาร

อัยการซักต่อว่าอาวุธและกระสุนของหน่วยถูกปล้นไปหรือไม่ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ยืนยันว่าไม่มีใครปล้นไป และคืนวันที่ 14 พ.ค.53 พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เบิกความว่าตนอยู่กับผู้การ พ.อ.นัฐวัฒน์ อัครนิบุตร บนชั้น 2 แอร์พอร์ตลิงก์ และมีกำลังพลอยู่ชั้น 3 ของแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย ส่วนพ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เบิกความอีกว่าในช่วงกลางคืนมีเสียงปืนดังทุกทิศทุกทาง มีกระสุน M79 มาตกด้านหน้าแอร์พอร์ตลิงก์หลายลูก นอกจากนี้เห็นระเบิดไม่ทราบชนิดแต่มาเห็นตอนเช้า โดยดูจากร่องรอยแล้ววิเคราะห์เอา ว่าเป็น RPG บริเวณตึกแถวฝั่งตรงข้ามโรงแรมอินทรา

อัยการถามถึงเหตุการณ์ต่อจากนั้นเกิดอะไรขึ้น พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เบิกความว่า ทราบจากรายงานทางวิทยุสื่อสารจากส่วนกลางหรือส่วนควบคุมว่ามีรถตู้วิ่งเข้ามาจากทางประตูน้ำ ในเวลาเที่ยงคืนไปแล้ว หลังจากรถตู้เข้ามาได้ยินเสียงอาวุธปืนดังขึ้น หลังเหตุการณ์ได้ลงไปดูกับผู้บังคับบัญชา มีรถมูลนิธิมารับผู้บาดเจ็บ แต่ตนไม่เห็นผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ทราบภายหลังว่ามีนายพัน คำกอง ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้ง คนขับรถตู้(สมร ไหมทอง)และเด็ก(ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ)


เปิดวีซีดีคลิปวิดีโอของนักข่าวเนชั่น ทหารชี้เสียงปืนลูกซองและ M16 หลังจากนั้นอัยการได้เปิดวีซีดีคลิปวิดีโอของนักข่าวเนชั่น(http://www.youtube.com/watch?v=JBCyoTDdJok)ที่ถ่ายเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุ [เป็นคลิปเต็มที่ยังไม่ได้ตัดต่อดังที่นำมารายงานข่าว-ประชาไท ] มีความยาวประมาณ 10 กว่านาที


ถ่ายหลังทหารที่ยืนหลบอยู่ข้างเสาไฟฟ้า ห่างจากรถตู้ประมาณ 50-100 เมตร มีเสียงปืนดังขึ้นเพื่อหยุดรถตู้ติดต่อกันเกือบ 20 นัด จนรถตู้หยุดสนิท ปิดไฟหน้า และมีทหารเข้าไปดู มีการนำคนเจ็บลงจากรถเพื่อปฐมพยาบาล และมีภาพการลำเลียงคนเจ็บอื่นๆ จากรถพยาบาลทหารขึ้นรถหน่วยกู้ชีพ โดยอัยการได้สอบถามถึงเสียงปืน 20 นัดดังกล่าวต่อ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ เพื่อจำแนกว่าเป็นปืนชนิดใด โดยพ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ตอบว่ามีทั้งลูกซองและ M16 ส่วน 2 นัดสุดท้ายเป็นปืนยาวแต่เสียงไกลมากไม่ใช่พื้นที่ที่เกิดเหตุ แต่ไม่มั่นใจว่าเสียงที่ได้ยินเป็นลูกซ้อมหรือลูกจริง พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ยังได้เบิกความอีกว่ากระสุนซ้อมปืนเล็กยาวจะมีแสงประกายไฟได

ไม่มีรายงานเรื่องชายชุดดำ

อัยการสอบถาม พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ถึงเรื่องได้พบเห็นชายชุดดำ ตลอดที่ปฏิบัติภารกิจถึงวันที่ 22 พ.ค.53 หรือไม่ พ.ท.ทรงสิทธิ์ ไชยยงค์ ยืนยันว่าไม่มีรายงานเรื่องชายชุดดำ

ปืนสามารถใช้ได้ทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง

ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ผบ.มว.อาวุธหนัก ร. 1 พัน 3 รอ. ซึ่งเป็นผู้คุมกำลังอยู่ใต้แอร์พอร์ตลิงก์ บริเวณแยกจตุรทิศ เบิกความว่า กระสุนยางการบรรจุกระสุนเหมือนกับกระสุนจริง และปืนสามารถใช้ได้ทั้งกระสุนยางและกระสุนจริง ท่าการยิงใช้เหมือนกันไม่มีท่าเฉพาะ ส่วนเสียงปืนนั้น ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา เบิกความว่า เสียงลูกแบงก์หรือลูกซ้อมกับลูกจริงนั้นต่างกัน โดยลูกจริงจะดังแน่นกว่า

โดยเหตุการณ์วันที่ 14 พ.ค.53 ทาง ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ได้เบิกความว่าตนนำกำลังไปที่หน้าโรงหนังโอเอ อยู่ในซอยหลังกำแพงและช่วงเกิดเหตุการณ์รถตู้เข้ามานั้นตนอยู่ที่พักคอยจึงไม่ทราบเหตุการณ์ภายนอก มาทราบช่วงเช้าจากที่มีการรายงานทางวิทยุ และทราบแต่เพียงว่ามีคนเจ็บ โดยไม่ทราบว่ามีคนเสียชีวิต แต่มาทราบภายหลังจากหนังสือพิมพ์ว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว

อัยการมีการเปิดวีซีดีคลิปวิดีโอของนักข่าวเนชั่นอย่างเช่นเดียวกับพยานคนอื่นๆ โดยมาการสอบถามถึงประเภทของอาวุธที่ได้ยินเสียงกระสุน ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา เบิกความว่าไม่สารมารถแยกได้ว่าเป็นปืนหรือกระสุนชนิดใด

หลังจากนั้นทนายได้ถามถึงอาวุธที่หน่วยของพยานมี ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ระบุว่าทางหน่วยมี M16A1 และทราโว ส่วนปืนลูกซองที่นำไปใช้ไม่ใช่ของหน่วย พึ่งได้รับมาช่วงเหตุการณ์ และกระสุนที่ใช้กับ M16A1 ของทางหน่วยเป็นกระสุนหัวตะกั่วหุ้มทองแดง

ร.อ.เกริกเกียรติ ปลีหจินดา ยังได้เบิกความว่า ไม่ทราบว่าหน่วยไหนอยู่บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์บ้าง ตนไม่ได้ประสานกับหน่วยข้างเคียงเลยเพราะเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา

มีอาวุธประจำกายเป็น M16 กระสุนซ้อมรบจำนวน 20 นัด

สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย จาก กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ ( ผบ.ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฝั่งซ้ายของแอร์พอร์ตลิงก์ หากหันหน้าไปทางประตูน้ำ หรือฝั่งคอนโด Ideao โดย สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่า ตนมีอาวุธประจำกายเป็น M16 กระสุนซ้อมรบจำนวน 20 นัด ซึ่งได้มาตั้งแต่ลพบุรี ต้องดูแลรักษาและเอาไปคืน มีหลักเกณฑ์การใช้อาวุธเมื่อตัวเองหรือคนอื่นจะได้รับอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และห้ามใช้กับ เด็ก สตรีและผู้ไม่มีอาวุธ สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความต่อว่า เวลา 19.00 น. วันที 14 พ.ค.53 ถึงเช้าวันที่ 15 พ.ค. ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ฝั่งซ้ายของแอร์พอร์ตลิงก์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่หลงเข้ามา

ไม่เห็นชายชุดดำหรือคนอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร

ในช่วงเกิดเหตุยิงรถตู้ สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความว่า เวลาประมาณเที่ยงคืนได้ยินเสียงรถประชาสัมพันธ์บอกให้รถตู้(คันเกิดเหตุ)กลับออกไป ให้ใช้เส้นทางอื่น เป็นเวลาประมาณ 10 นาที ต่อมาได้ยินเสียงคลายเสียงปืนไม่ทราบทิศทางเพราะเสียงก้อง ไม่ทราบจำนวนนัด โดยรถตู่หยุดอยู่ที่ใต้สะพานแอร์พอร์ตลิงก์ ใกล้กับรถประชาสัมพันธ์ และขณะนั้นไม่เห็นชายชุดดำหรือคนอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความต่อว่าตนไม่ได้เข้าไปที่เกิดเหตุเนื่องจากไม่ได้รับคำสั่ง และเห็นรถพยาบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ทราบภายหลังว่ามีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 1 คนเป็นคนขับรถตู้ และไม่ทราบว่าคนเสียชีวิตอยู่บนรถตู้หรือไม่

สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย เบิกความต่อว่าชุดของตนไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บและอาวุธไม่มีการถูกช่วงชิง และทนายได้ถามความเข้าใจของ สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย ถึงชายชุดดำว่าเป็นอย่างไร สิบเอกชิตณรงค์ สุดชัย ตอบว่า คือชายชุดดำที่ถืออาวุธ หากใส่ชุดดำแต่ไม่ถืออาวุธไม่ใช่ชายชุดดำ

ได้รับ M16 แจกเป็นอาวุธประจำกาย แต่ไม่ได้รับแจกกระสุน

สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก จาก กองพันที่ 31 ทหารปืนใหญ่ รักษาพระองค์ (ป.พัน.31 รอ.) จังหวัดลพบุรี เบิกความว่าได้รับคำสังจากผู้บังคับบัญชาให้อยู่บริเวณฟุตบาท หน้าคอนโด Ideao แอร์พอร์ตลิงก์ ใกล้ตู้โทรศัพท์ ตรงร้านอินเดียฟู้ดส์ ซึ่งอยู่กับ ร.อ.เสริมศักดิ์ คำละมูล ผู้บังคับการกองร้อยจนถึงเช้า สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก ยงได้เบิกความต่ออีกว่า รถตู้ที่เกิดเหตุมาเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่าออกมาจากซอยวัฒนวงศ์ (ราชปรารภ 8) มีเสียงประกาศให้รถตู้ถอยกลับไปประมาณ 10 นาที แต่ไม่มีใครลงจากรถหรือถอยกลับไป จุดดังกล่าว สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าชุดของตนเองอยู่ใกล้สุด ห่างประมาณ 80 เมตร โดยปากซอยมีรั้วลวดหนามวางไว้ด้วย โดยปกติหากมีรั้วลวดหนามจะผ่านไม่ได้ อัยการถามว่าได้มีการเข้าไปเตือนโดยตรงหรือไม่ สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าตนไม่ได้เข้าไปเตือนเนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นรถอะไร และหลังจากนั้นรถตู้คันดังกล่าวออกจากซอยเลี้ยวซ้ายไปทางแอร์พอร์ตลิงก์ รถประชาสัมพันธ์ก็ยังประกาศเตือนต่อแต่รถตู้ก็ยังวิ่งเข้ามา หลังจากนั้นจึงได้ยินเสียงคลายเสียงปืนดังขึ้นไม่ทราบทิศทาง ตัวสิบเอกวรากรณ์ ผาสุก เบิกวามว่าขณะนั้นตนเองหลบเข้าที่กำบังนอนหมอบราบกับพื้น ไม่ได้มองว่าอะไรเกิดขึ้น เสียงปืนดังไม่นาน หลังเสียงปืนสงบก็ไม่ได้เข้าไปดูและไม่ได้ยินวิทยุสื่อสารว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ทราบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีใครได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ส่วนกำลังพลไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

อัยการได้สอบถามถึงชายชุดดำ สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก ยืนยันว่าตลอดเวลาที่อยู่ไม่พบชายชุดดำ โดยไม่พบหน่วยอื่นนอกจากทหาร ส่วนฝั่งตรงช้ามบริเวณโรงแรมอินทราไม่ทราบว่ากลุ่มคนที่มายืนอยู่เป็นใคร อัยการสอบถามว่าหากไม่ทราบว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นใครแล้วได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่ สิบเอกวรากรณ์ ผาสุก เบิกความว่าไม่มีการแจ้ง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของผู้บังคับการกองร้อย
http://redusala.blogspot.com

อดีตกษัตริย์เนปาลเผยต้องการหวนกลับไปเสวยราชสมบัติ


อดีตกษัตริย์เนปาลเผยต้องการหวนกลับไปเสวยราชสมบัติ
Sun, 2012-07-08 00:54

           นับเป็นการให้สัมภาษณ์ที่ไม่บ่อยนัก หลังเนปาลยกเลิกระบอบกษัตริย์ในปี 2551 โดยอดีตกษัตริย์คยาเนนทรายืนยันว่าไม่ต้องการมีบทบาททางการเมือง แต่ต้องการมีบทบาทเชิงพิธีการ
อดีตกษัตริย์คยาเนนทราของเนปาล ซึ่งพ้นจากอำนาจหลังรัฐสภาเนปาลลงมติเมื่อปี 2551 ให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ (ที่มา: nepaldemocracy.org/แฟ้มภาพ)

อดีตกษัตริย์เนปาลให้สัมภาษณ์ว่าต้องการหวนกลับไปเสวยราชสมบัติ
สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ รายงานว่าอดีตกษัตริย์คยาเนนทรา ของเนปาลซึ่งสละราชสมบัติแล้ว กล่าวเป็นครั้งแรกว่าพระองค์ต้องการหวนกลับไปเสวยราชสมบัติ
โดยในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 24 พระองค์กล่าวว่าเมื่อ 6 ปีที่แล้วได้ทำข้อตกลงไว้กับพรรคการเมืองว่าเขาจะเป็นกษัติรย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลได้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ในปี 2551
โดยอดีตกษัตริย์เนปาลกล่าวว่า พระองค์ไม่ต้องการมีบทบาททางการเมืองเนปาล แต่ต้องการมีบทบาทในทางพิธีการ
ความเคลื่อนไหวของกษัตริย์เนปาล เกิดขึ้นในขณะที่เกิดวิกฤตทางการเมืองรอบล่าสุดในเนปาล เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศยุบสภาเนื่องจากล้มเหลวในการเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีการกำหนดวันเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งทำให้เนปาลมีสภาพอยู่ในสุญญากาศทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวบีบีซี จอห์น นารายาน ปาราจูลี ซึ่งประจำที่กรุงกาฐมาณฑุ กล่าวว่า ชาวเนปาลโดยทั่วไปต่างไม่พอใจในความล้มเหลวของบรรดานักการเมืองในการทำเรื่องสำคัญๆ อย่างเช่น ปัญหาการว่างงาน
เขากล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องไม่แน่ชัด ที่หลายต่อหลายคนในเนปาลจะเห็นว่าการกลับมาของกษัตริย์ แม้แต่กลับมามีบทบาทเฉพาะในทางพิธีการ จะเป็นพัฒนาการที่น่ายินดี
ในการให้สัมภาษณ์ที่ไม่บ่อยครั้งนัก คยาเนนทรา ชาห์ กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 24 ว่า เขาถูกบังคับให้ลงนามในข้อตกลงกับฝ่ายค้านในปี 2549 ไม่กี่สัปดาห์หลังการประท้วงต่อต้านรัฐบาล อดีตกษัตริย์คยาเนนทรา กล่าวว่า “ข้อตกลงนี้รวมไปถึงการรื้อฟื้นสภาที่ถูกยุบไปด้วย และรวมทั้งการตั้งนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่างๆ การฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมือง”
อดีตกษัตริย์กล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองเหล่านี้จะต้องตอบให้ได้ถึงพฤติกรรมของพวกเขา

จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบสาธารณรัฐ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 2551 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเนปาลที่มาจากการเลือกตั้งลงมติให้เนปาลเป็นสาธารณรัฐด้วยมติเห็นชอบ 560 เสียง จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 601 คน โดยมีผู้คัดค้าน 4 คน
โดยก่อนหน้านี้กษัตริย์คยาเนนทราได้ขึ้นครองราชย์ในปี 2544 หลังกษัตริย์พิเรนทรา กษัตริย์พระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์พร้อมพระราชินีอิชวายาร์และพระบรมวงศานุวงศ์รวม 10 พระองค์ในการ ”สังหารโหดในพระราชวัง” โดยเจ้าชายดิเพนทราพระโอรสของกษัตริย์พิเรนทรา ซึ่งยิงพระองค์เองเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย
ต่อมาในปี 2548 กษัตริย์คยาเนนทราได้ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนและเปลี่ยนปกครองจากระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา ที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มาเป็นการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แทน โดยกษัตรย์คยาเนนทราให้เหตุผลการยึดอำนาจว่าต้องการปราบกบฎเหมาอิสต์ แต่ทันทีที่พระองค์ยึดอำนาจ ได้เริ่มจับกุมฝ่ายต่อต้าน ขณะที่พระองค์ต้องต่อสู้กับฝ่ายกบฎเหมาอิสต์ที่นับวันก็กล้าแข็งขึ้นเรื่อยๆ และเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นในเนปาล
ต่อมาในเดือนเมษายนปี 2549 เกิดการประท้วงกษัตริย์คยาเนนทราอย่างขนานใหญ่เพื่อเรียกร้องให้คืนการปกครองระบอบประชาธิปไตย และหลังจากพระองค์ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน กบฎเหมาอิสต์ก็ยุติสงครามกลางเมืองและร่วมกระบวนสันติภาพกับบรรดาพันธมิตรพรรคการเมืองทั้ง 7 ในสภา และในเดือนเมษายนปี 2551 ในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ พรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) ก็ได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้ง และมีการลงมติให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐในเดือนพฤษภาคมปี 2551
http://redusala.blogspot.com

แก้ได้-ไม่ล้มล้าง


แก้ได้-ไม่ล้มล้าง
แก้ได้-ไม่ล้มล้าง เสาร์ ที่ 7 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2555

โดย สมิงสามผลัด คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

ในข่าวสดออนไลน์ วันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.

        จับตาด้วยใจระทึก การไต่ สวนของศาลรธน.กรณีมี ผู้ร้องว่าการแก้ไขรธน. มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68  เพราะหากมีคำวินิจฉัยว่าไม่เป็นไปตามที่ผู้ร้องกล่าวหา
ก็เท่ากับว่ารัฐสภาเดินหน้าแก้ไขมาตรา 291 วาระ 3 ได้ทันที

แต่ถ้าวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองจริง ๆ ก็ต้องระงับการแก้ไขรธน. ไปโดยปริยาย โดยมีการวิเคราะห์กันด้วยว่าในกรณีนี้อาจเกิดการฟ้องยุบพรรคเพื่อไทย อาจหนักหน่วงถึงขั้นให้ตัดสิทธิทางการเมืองส.ส.ที่ยกมือสนับสนุนการแก้ไขรธน.ด้วย


ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ !?

ส.ส.ค่อนสภาถูกตัดสิทธิทางการเมือง

แต่นี่เป็นเพียงการคาดการณ์

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของ 9 ตุลาการศาลรธน. ซึ่งมิอาจก้าวล่วงได้

แต่หากย้อนกลับไปดูในอดีต มี 2 เหตุการณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

อันแรกเป็นคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่สรุปออกมาแล้วว่าการแก้ไขรธน.ไม่ขัดมาตรา 68

"เห็นว่าการเสนอขอแก้ไข รธน.ของผู้ถูกร้องมิได้มีเจตนาหรือต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะเมื่อร่างรธน.ฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิกรธน.ฉบับเดิม สภาร่างรธน.ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติดังกล่าว คือต้องยกร่างรธน.ฉบับใหม่ให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

อันที่สองเป็นคำปราศรัยของนายจรัญ ภักดีธนากุล เมื่อครั้งเป็นส.ส.ร.ยกร่างรธน.ปี50 ที่เคยระบุว่า

"ร่างรธน.ฉบับนี้ (ปี50) เรายอมรับว่าไม่ใช่ฉบับที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด...ผมอยากให้ทำแบบปี 40 เราเสนอแบบให้แค่ 5 หมื่นคนเท่านั้นครับ แล้วก็ส.ส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้นครับ เสนอแก้ไขมาตราเดียวแบบที่เราเริ่มทำในพ.ศ.2540 แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำกระบวนการร่าง รธน.ขึ้นใหม่"



ทั้งความเห็นของนายจรัญและคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุดก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน


คือแก้ไขรธน.ได้-ไม่ล้มล้างการปกครอง

น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคดีนี้พอสมควร
http://redusala.blogspot.com

คำถาม 9 ข้อของ *เรืองไกร*


คำถาม 9 ข้อของ *เรืองไกร*
คำถาม 9 ข้อของ *เรืองไกร*  ที่อยากได้ *อภิสิทธิ์* และองค์กรสื่อ ตอบให้ชัดๆ

             วันนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นหนังสือถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอตรวจสอบงบการเงินและบัญชีเงินบริจาคพรรคประชาธิปัตย์ และพร้อมให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินตามที่ยื่นไว้ที่ ป.ป.ช. ของตนเอง

นายเรืองไกร อ้างว่า ต้องการทราบข้อมูลของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อประกอบคำชี้แจง 7 ประการ ดังนี้

1 ขอทราบรายละเอียดงบการเงินพรรคประชาธิปัตย์ปี 2554 เนื่องจากนับถึงวันที่ในหนังสือนี้ ยังไม่พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดเผยงบการเงินปี 2554 ไว้แต่อย่างใด

2 ขอตรวจสอบสมุดบัญชีของพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับเงินบริจาคจากอีสท์วอเตอร์ว่า มีการลงบัญชีรายวันและแยกประเภทอย่างครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่ ทั้งในการรับเงินจำนวน 1,000,000 บาท เข้ามาฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย สาขาย่อยกระทรวงการคลัง และในการเบิกถอนเงินไปซื้อแคชชเชียร์เช็คเพื่อส่งต่อให้สำนักนายกฯ ในเวลาต่อมา และขอตรวจสอบการลงบัญชีเกี่ยวกับการรับบริจาคน้ำดื่มจากอีสท์วอเตอร์ จำนวน 850 โหล มูลค่าหลายหมื่นบาท ว่า มีการลงบัญชีทั้งการรับและจ่ายถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งมีการนำน้ำดื่มไปส่งให้กับสำนักนายกฯ อย่างครบถ้วนเช่นเดียวกับเงิน 1,000,000 บาทหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากมีข่าวว่า การรับบริจาคนั้นทำในฐานะคนกลางจึงไม่น่าจะผิดอะไร ซึ่งการรับบริจาคนั้น ย่อมหมายความรวมถึง เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้รับด้วย ซึ่งประโยชน์อื่นใดนั้น ข้าพเจ้าย่อมหมายถึง การใช้รถยนต์ทหารตามที่ปรากฏรูปในภาพกิจกรรมของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเดือนพฤษจิกายน 2553 ด้วย

3 สมาชิกของพรรคท่าน ได้เคยแถลงพร้อมโชว์สำเนาใบเสร็จรับเงินของสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีอีสท์วอเตอร์แล้วที่รัฐสภา แต่จากข้อมูลที่ทราบพบว่า มีการรับบริจาคมาจากบุคคลต่าง ๆ ประมาณ 190 ราย โดยการรับบริจาคนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกใบรับชั่วคราวให้อย่างครบถ้วน จึงขอตรวจสอบสำเนาใบรับชั่วคราวทั้งหมด จะได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเอาเอกสารใบรับชั่วคราวนำไปเทียบกับการลงรายการบัญชีตามกฎหมายพรรคการเมืองว่า ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่

4 เนื่องจากพบข้อมูลในเว็บไซด์พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรูปกิจกรรมเกี่ยวกับการบรรจุของบริจาคใส่ถุงที่มีโลโก้และชื่อพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 จึงขอตรวจสอบสมุดบัญชีด้วยว่า ของบริจาคเหล่านั้นได้นำมาลงบัญชีหรือไม่ เช่น บะหมี่ “ซื่อสัตย์” มูลค่าแปดแสนกว่าบาท เป็นต้น

5 หากผลการตรวจสอบสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานกี่ยวกับของบริจาคที่พรรคได้รับมา เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ข้าพเจ้าพร้อมจะขอโทษและขอขมาต่อพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคทุกคน อย่างไม่มีเงื่อนไข พร้อมทั้งแถลงยอมรับว่าข้าพเจ้ามีการเข้าใจผิดต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก และพร้อมที่จะถูกฟ้องร้องจากพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

6 ในทางกลับกัน เนื่องจากข้าพเจ้าเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อ ป.ป.ช. ซึ่งข้าพเจ้าได้ดำเนินการมาครบถ้วนแล้วจำนวน 3 ครั้ง กรณีนี้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์หรือสมาชิกพรรคคนใด (ข่าวนายสาธิต จากเว็บไซด์พรรคประชาธิปัตย์ วันที่ 4 ก.ค. 2555) ต้องการจะตรวจสอบหรือซักถามเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้ยื่นไว้ ข้าพเจ้าก็พร้อมที่จะตอบคำถามหรือให้ตรวจสอบได้ในทุก ๆ รายการ และหากพบว่า ข้าพเจ้ากระทำความผิดในการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินดังกล่าว เช่น ปกปิดบัญชี ยื่นบัญชีเป็นเท็จ หรือมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ เป็นต้น ขอให้พรรคประชาธิปัตย์ โปรดร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อไต่สวนเอาความผิดต่อข้าพเจ้าโดยเร็วด้วย

7 การขอเข้าตรวจสอบสมุดบัญชีพร้อมเอกสารประกอบการลงบัญชีของพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2553 และปี 2554 นั้น ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับความกรุณาจากท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 9 - 13 กรกฎาคม ศกนี้ เนื่องจากตรวจสอบในเว็บไซด์ตามวันที่ในหนังสือนี้แล้วเห็นว่าในปฏิทินกิจกรรมของพรรคยังว่างอยู่ และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม ข้าพเจ้าขอให้การตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทางบัญชีดังกล่าวกระทำต่อหน้าสื่อมวลชนทุกแขนง

8 วิธีการตรวจสอบ ข้าพเจ้าขอนำสำเนาเอกสารการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบทุกใบที่ได้ยื่นต่อ ป.ป.ช. รวมทั้ง 3 ครั้ง ไปวางไว้ที่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้พรคประชาธิปัตย์และสื่อมวลชนได้ตรวจสอบอย่างเต็มที่และพร้อมชี้แจงทุกคำถามทุกประเด็น ในทำนองเดียวกับ ข้าพเจ้าขอให้พรรคประชาธิปัตย์นำสมุดบัญชีรายวัน สมุดบัญชีแยกประเภท เอกสารสำเนาใบรับเงิน เอกสารประกอบการลงบัญชีของพรรคประชาธิปัตย์ เพียง 2 รอบปีบัญชี คือ ปี 2553 และปี 2554 มาให้ตรวจสอบต่อหน้าสื่อมวลชนด้วย โดยข้าพเจ้าขอสอบถามความถูกต้องโปร่งใสในงบการเงินพรรคประชาธิปัตย์ต่อหน้าสื่อมวลชน ด้วยตัวเอง ข้อมูล 3 ปีของข้าพเจ้าแลก 2 ปีของพรรคประชาธิปัตย์อย่างนี้ ผมรับได้ แม้จะเสียเปรียบบ้าง โดยมีระยะเวลาการวางเอกสารให้สาธารณะได้ตรวจสอบข้อมูลของทั้งสองฝ่าย 15 วัน และอนุญาตให้ถ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ

9 เนื่องจากสำนักข่าวบางแห่ง อาจไม่รู้วิธีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของข้าพเจ้า เช่น สำนักข่าวอิศรา เป็นต้น แต่กลับเสนอข่าวไปในทางที่ทำให้ผู้อ่านไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากวิชาตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงขอให้ผู้บริหารระดับสูงของสำนักข่าวอิศรา มาร่วมเป็นสักขีพยานและซักถามด้วย พร้อมทั้งนำงบการเงินและเอกสารการรับเงินสนับสนุนจาก สสส. หรือ บริษัทมหาชนที่สำนักข่าวอิศราหรือสถาบันอิศราเคยได้รับ มาแสดงให้ทราบด้วย เพื่อพิสูจน์ว่า เป็นการรับการสนับสนุนอย่างโปร่งใสและไม่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
http://redusala.blogspot.com

ตุลาการนะไม่ใช่ตุลาเกรียน


ตุลาการนะไม่ใช่ตุลาเกรียน
ใบตองแห้ง'''' ออนไลน์: ตุลาการนะไม่ใช่ตุลาเกรียน
Posted: 04 Jul 2012 07:47 PM PDT 
(อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท http://www.prachatai.com)
ใบตองแห้ง
5 ก.ค.55

            อ่านข่าวคนขับรถท่านวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ออกพูดเรื่องนายถูกข่มขู่ แล้วอดไม่ได้ที่จะคิดถึงใครคนหนึ่ง ที่ถูกข่มขู่อยู่เนืองๆ เมื่อสถานการณ์การเมืองร้อนระอุ เขาคือประสงค์ สุ่นศิริ ผู้ถูกทุบรถ ถูกอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง จนขี้เกียจจำ จำได้แต่ว่าทุกครั้งที่จะออกมาไล่รัฐบาล ประสงค์เป็นต้องถูกข่มขู่เอาฤกษ์เอาชัย ทั้งที่ได้ฉายาซีไอเอเมืองไทย (ซีไอเอโดนขู่ อย่างนี้มีแต่ในประเทศไทย)
ให้บังเอิ๊ญ ท่านวสันต์ท่านก็ออกมามี “บทบาททางการเมือง” ครั้งแรกในคดีที่เจ้าของฉายา “ปีศาจคาบไปป์” ถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคดีซุกหุ้นฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งตอนนั้นผมก็ชูสองมือเชียร์ท่านสุดใจ ท่านพูดถูกครับ ตุลาการต้องตัดสินคดีไปตามเนื้อผ้า ต้องไม่เอาประเด็นทางการเมือง อคติ สุคติ มาชี้นำ เป็นห่วงเป็นใยว่าถ้าทักษิณผิดแล้วจะไม่มีใครบริหารประเทศ

        คดีซุกหุ้นคือต้นกำเนิดของ “ตุลาการภิวัตน์” ซึ่งต่อมาอีกฝ่ายก็เอามาใช้ คิดว่าถ้าไม่เอาทักษิณให้ตาย ประเทศชาติจะพินาศฉิบหาย

ท่านวสันต์น่าจะเข้าใจดี และน่าจะยืนหยัดหลักที่ท่านพูดไว้

        ท่านวสันต์ยังเป็นฮีโร่สำหรับผม เมื่อครั้งวิกฤติตุลาการปี 2534 ที่ท่านเป็นโฆษกฝ่าย “กบฎ” คัดค้าน อ.ประภาศน์ อวยชัย รมว.ยุติธรรม เข้ามาแทรกแซงอิสระของฝ่ายตุลาการ ในการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา มองย้อนหลังไปอย่างไรผมก็เห็นว่าท่านทำถูกต้อง ท่านปกป้อง “ประชาธิปไตย” ของผู้พิพากษา ในการเลือกคนที่ “ประชานิยม” เอ๊ย “ผู้พิพากษานิยม” เข้ามาเป็นประธานศาลฎีกา

        กรณีนี้ “กบฎตุลาการ” ไม่ได้รบกับนักการเมืองนะครับ แต่รบกับ อ.ประภาศน์ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ใครๆ ก็เคารพนับถือ ไม่ใช่นักการเมืองเลวชั่วมาจากไหน ท่านเป็นคนดี แต่คิดแบบ “อำมาตย์” คือมองว่าคนที่ “ประชานิยม” เอ๊ย “ผู้พิพากษานิยม” ไม่ใช่คนดี แล้วท่านก็พยายามใช้อำนาจสกัดกั้นสิทธิอิสระของตุลาการ จึงถูกผู้พิพากษารุ่นหนุ่มสมัยนั้นต่อต้าน ทั้งท่านวสันต์ ท่านจรัญ ภักดีธนากุล ท่านวิชา มหาคุณ ฯลฯ ร่วมกับท่านอุดม เฟื่องฟุ้ง ซึ่งท่านวสันต์ก็เจอวิบากกรรมจนถูกโยกย้าย

         กาลเวลาพิสูจน์ว่า อ.ประภาศน์มองถูกบางเรื่อง แต่ “กบฎตุลาการ” ก็ต่อสู้ในเรื่องหลักการ ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล หลักความเป็นอิสระ ของ ก.ต.ที่มาจากการเลือกตั้ง (1 คน 1 เสียง ฮิฮิ) “อำมาตย์” จะมาแทรกแซงไม่ได้

          แต่ถ้าจะมีอะไรที่ผมไม่เห็นด้วยกับท่านวสันต์ ก็คือตอนที่ท่านผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเข้ามาแคนดิเดทเป็น กกต.แล้วไม่ยอมแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อวุฒิสภา โดยย้อนว่าทำไมต้องแสดง ในเมื่อวุฒิสภาก็ไม่ได้เหนือกว่าท่าน องค์กรอิสระที่วุฒิสภาเลือกก็มีปัญหามากมาย

          ผมเชื่อนะว่าท่านไม่มีลับลมคมนัยอะไรจะต้องไปปกปิดบัญชีทรัพย์สิน แต่ท่านหยิ่งในศักดิ์ศรี ไอ้พวก ส.ว.ที่ชาวบ้านจน เครียด กินเหล้า เลือกเข้ามาเนี่ย มันบังอาจจะมาบังคับให้ตุลาการผู้สูงส่งอย่างท่านเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินได้อย่างไร

           เอ้อ วุฒิสภาชั่วดียังไงก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนครับ ท่านไม่ได้แสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ “คนชั่ว” แต่ท่านต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อองค์กรที่ทำหน้าที่แทนประชาชน โดยส่วนตัว ท่านอาจเป็นคนดีเลิศประเสริฐศรีกว่า ส.ว.ทั้งหมดในสภา แต่เมื่อท่านจะเข้ามาทำหน้าที่ ท่านก็ต้องเคารพองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง

            แบบเดียวกันที่ อ.ประภาศน์ต้องเคารพมติ ก.ต.ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์หลานศิษย์ อ่อนด้อยมาจากไหน แต่นั่นคือองค์กรที่ได้รับมอบอำนาจมาจากผู้พิพากษา

           หลังท่านชัช ชลวร ลาออก ท่านวสันต์ได้รับเลือกให้เป็นประธาน อย่างน่ากังขาว่าตำแหน่งนี้เปลี่ยนได้ด้วยหรือ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้โปรดเกล้าฯ ประธานพร้อมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แบบตุลาการศาลปกครองสูงสุด หรือบางองค์กร ที่เป็นตุลาการก่อนแล้วค่อยเป็นประธานอีกครั้ง

          แต่เอาเถอะ ไม่มีใครยื่นตีความ ท่านวสันต์ก็กลายเป็นประธานที่มีสีสันที่สุด นับแต่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญมา แหม จะไม่มีสีสันได้ไง ก็เล่นวลี “สีทนได้” สมแล้วที่เป็นรุ่นน้องของ “ซ้ายที่แปด” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (คอยดูซักวันท่านจะเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนเป็นบทกวี เอ๊ะ หรือจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษหว่า)

           โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนท่านให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ชะอำ อ่านแล้วมันส์มาก

          “ผมก็ทำอาชีพด้านกฎหมายนี้มา 44 ปี แล้ว แต่ก็นึกขำและตลกอยู่เหมือนกัน ที่คนที่ไม่รู้กฎหมายมาสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ ซึ่งโทรทัศน์หลายช่องเชิญนักวิชาการมารุมถล่มศาลรัฐธรรมนูญสถานเดียว ผมไม่ได้โกรธเคืองอะไร แต่ขำและแปลกใจเท่านั้น เมื่อพิธีกรถามนักวิชาการในเรื่องของเนื้อหากลับงง และตอบหน้าตาเฉยว่ายังไม่เห็นคำร้อง แต่ด่าได้เป็นฉากๆ”

           ใครหว่า ไม่รู้กฎหมายมาสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ ผมเห็นแต่เจษฎ์ โทณะวณิก จบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา วิเคราะห์กฎหมายมหาชนเป็นคุ้งเป็นแคว นักวิชาการส่วนใหญ่เขาไม่ได้พูดเรื่องคำร้องนะครับ เขาวิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาต่างหาก เขาบอกว่ารัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ จึงไม่เข้ามาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญต่างหากที่ไม่มีอำนาจ

           แต่ท่านก็ยังบอกอีกว่า “เราก็ไปดูในตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เตรียมจะโหวตในวาระ 3 ซึ่งดูแล้วเป็นไปได้เหมือนกัน (ที่จะล้มล้างฯ) เพราะรัฐสภาชุดนี้ขายขาดไม่รับคืน โยนกลองไปให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ”

          ฟังแล้วงงดี แบบนี้รัฐธรรมนูญ 40 ก็ขายขาดไม่รับคืน แถมท่านยัง “สะบัดธง” (ไม่ใช่ฟันธง) ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะผิด ซึ่งทำให้มีเสียงตอบโต้เซ็งแซ่ว่า ท่านทำผิดจริยธรรม แหม แต่ใครจะไปกล้าตีความ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะส่งให้ใครตีความ

           กระนั้น คนรักเท่าผืนเสื่อคนชังเท่าผืนหนัง ไม่จีรังทุกสรรพสิ่ง คนชอบท่านก็เยอะเหมือนกัน จิ๊กโก๋แถวบ้านบอกว่าท่านพูดได้ชัดเจนดี ปากกับใจตรงกัน ต้องอย่างนี้สิ นักเลง ไม่มีอ้ำอึ้ง

           “แล้วตกลงที่บอกว่าล้มล้างการปกครองก็ยังไม่เห็นมีใครออกมาปฏิเสธว่ามีความคิดแนวนี้หรือไม่ ไม่เห็นมีใครปฏิเสธสักคำ เป็นคู่ความประสาอะไรมิทราบ โจทย์ฟ้องจำเลยแทนที่จำเลยจะไปสู้คดีกับโจทย์แต่กลับมาสู้กับศาลฯ ไม่รู้ว่าสภาทนายความสอนแบบนี้หรือ แล้วจะชนะความได้อย่างไร และการที่รับคำร้องเพราะรับไว้เพื่อพิจารณาว่ามีหลักฐานอะไรที่จะพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ก็ยังไม่ได้บอกว่าใครจะแพ้จะชนะ ก็ดันจินตนาการ ฝันเฟื่อง ว่าอำมาตย์สั่งให้ยุบพรรครอบสองรอบสาม”

         โห ท่อนนี้ได้ใจเด็กเกรียนได้เสียงกรี๊ดไปเต็มๆ ครับ โดยเฉพาะที่ทิ้งท้ายว่า “ผมเป็นคนไม่อาฆาตใคร แต่ค่อนข้างที่จะลืมยาก” จิ๊กโก๋แถวบ้านตีความว่า “ลงบัญชีไว้แล้ว เดี๋ยวเช็คบิลระนาว” มันยังยุส่งว่านี่ถ้าท่านตัดสินให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างระบอบฯ ถอดถอนกราวรูด 461 ส.ส. ส.ว.ล้มรัฐบาลและรัฐสภาทั้งระบอบ ก็น่าถอดเสื้อเบ่งกล้ามทำหน้าถมึงทึง จะสะใจเป็นที่ซู้ด

          ผมเลยตบหัวมันบอกว่า เฮ้ย นั่นมันมาริโอ บาโลเตลลี นี่ตุลาการนะไม่ใช่ตุลาเกรียน (แต่ขนาดนั้น เว็บไซต์บางแห่งก็ดันเอาภาพท่านไปเปรียบเทียบกับ ดอน จมูกบาน เวงกำ!)

          ในช่วงเดียวกัน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ไป “วางบิล” เอ๊ย ยื่นถอนประกันจตุพร พรหมพันธุ์ ทำให้นักกฎหมายงงกันเป็นแถบว่าใช้อำนาจอะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีก่อการร้าย แค่จตุพรวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถส่งคำร้องถึงศาลอาญา ขอถอนประกันจตุพรได้เชียวหรือ

           จะบอกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ก็ไม่ใช่ เพราะยังไม่ได้วินิจฉัย หรือจะบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิร้องสอด ร้องแทรก ร้องแส่ ฯลฯ

          ถ้างั้นต่อไปนี้ จตุพร หรือจำเลยคดีอาญาคนอื่นๆ ไปเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์องค์กรอิสระ กกต.ปปช.กสม. ฯลฯ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือแม้แต่ตัวบุคคล ทุกคนทุกหน่วยก็สามารถยื่นคำร้องถึงศาลอาญา ขอถอนประกันได้ใช่ไหมครับ

          สมมติเช่น สนธิ ลิ้ม อยู่ระหว่างประกันตัวคดีโกงแบงก์กรุงไทยติดคุก 85 ปี ไปวิจารณ์องค์การสวนสัตว์ ปลุกมวลชนขู่ล่าชื่อถอดถอน ผอ.องค์การสวนสัตว์ องค์การสวนสัตว์ก็น่าจะเลียนแบบศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนประกันสนธิ ลิ้ม มั่ง

          ถ้าองค์การสวนสัตว์ยื่นคำร้องขอถอนประกันสนธิ ศาลจะรับไปไต่สวนไหม อธิบดีศาลอาญาจะออกมาพูดไหมว่า “ในข้อเท็จจริงแล้วแม้องค์การสวนสัตว์จะไม่ใช่คู่ความ แต่คำร้องที่องค์การสวนสัตว์ยื่นมานั้น มีผลกระทบต่อสังคมและพฤติการณ์ของนายสนธิตามที่ร้องมา ก็มีการเผยแพร่ออกทางสื่อมวลชน ที่สามารถเห็นและรับรู้ได้ เป็นกรณีที่เห็นชัดแจ้งในสังคม และเข้าข่ายข้อกำหนดในการประกันตัว ถึงองค์การสวนสัตว์ไม่มีคำร้องมา ศาลอาญาก็มีสิทธิเรียกตัวมาสอบสวนได้ และการพิจารณาเรื่องการถอนประกันนั้น ก็ไม่ได้นำประเด็นจากเอกสารองค์การสวนสัตว์มาเป็นประเด็นพิจารณาหลัก แค่ใช้เป็นส่วนประกอบเท่านั้น”

        แหม ฟังแล้วปวดหัว ไม่รู้องค์การสวนสัตว์ต่างจากศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร จิ๊กโก๋แถวบ้านมองว่าองค์การสวนสัตว์ไม่มีอำนาจบารมี แถมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ 8 ใน 9 คน ยังมาจากตุลาการศาลยุติธรรม (แม้บางคนเลี้ยวมาจากศาลปกครอง) เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในศาล มีลูกศิษย์ลูกหา ลูกน้อง อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่มากมาย แถมการที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ ยังกระทบต่อภาพลักษณ์ ศักดิ์ศรี ความศักดิ์สิทธิ์ ของสถาบันตุลาการโดยรวม

        ใช่ไม่ใช่ ท่านก็คงต้องชี้แจงพวกเอาจิตใจต่ำช้ามาวัดจิตใจวิญญูชนหน่อยละครับ

จอดป้ายไหนดี

        ในขณะที่ใครต่อใครวิเคราะห์กันอื้ออึงว่าตุลาการจะวินิจฉัยอย่างไร จะสั่งให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผิดมาตรา 68 หรือไม่ ผมว่าพวกท่านก็คงหนักใจอยู่เหมือนกัน ว่าจะหาทางลงแบบไหน

        คือถ้าจะเอาเรื่องไร้สาระมาเป็นข้ออ้างล้มล้างรัฐบาลและรัฐสภา โดยมีอดีตสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อดีตทหารปลดแอกประชาชนไทย มาเป็นบอดี้การ์ดระหว่างพิจารณา มันก็พิลึกกึกกืออยู่ นี่ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นศาลประชาชนโค่นล้มทุนนิยมให้พรรคคอมมิวนิสต์หรือไร

         โห ถ้าศาลวินิจฉัยทันทีวันที่ 6 รัฐบาลล้มทั้งยืน รัฐสภาสิ้นสภาพ แล้วพวกบอดี้การ์ดหน้าโหลไชโยโห่ร้อง “พรรคคอมมิวนิสต์จงเจริญๆๆๆ ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน จงเจริญๆๆๆ” คงดูไม่จืดเลย

         ผมเชื่อว่าศาลท่านก็น่าจะรู้ดี ถ้าวินิจฉัยออกมาแบบนี้ก็นองเลือด เพราะพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลคงยอมไม่ได้ ต่อให้บอกว่าเลือกตั้งใหม่กี่ครั้งก็ชนะ แต่ชนะแล้วแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ใครมันจะยอมครับ

         ถ้าชี้เปรี้ยงวันที่ 6 อันที่จริงก็จังหวะดี เพราะวันเสาร์ที่ 7 การเมืองต้องหยุด 1 วัน ห้ามรบกัน เพราะเป็นวันในหลวงเสด็จฯ ชลมารค รัฐบาลและรัฐสภายังไม่ทันตั้งตัว วันอาทิตย์ พันธมิตร สลิ่ม ปชป.อาจออกมายึดสนามบิน ยึดทำเนียบ เรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่จะล้มล้างระบอบฯ ตามคำวินิจฉัยของศาล (หรือเรียกร้องนายกพระราชทาน ให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท) แต่ถ้ารัฐบาลและรัฐสภาตั้งหลักได้ ประกาศไม่ยอมรับคำสั่งศาล ระดมมวลชนเสื้อแดงทั่วประเทศ เข้ามายึดกรุงเทพฯ ยึดจังหวัดสำคัญ ยึดค่ายทหาร ยึดสื่อ ยึดสถานีดาวเทียม ยึดทรู ยึดแกรมมี่ ฯลฯ ระดมกำลังทหารแตงโม ตำรวจมะเขือเทศ เตรียมต่อต้าน คงรบกันแหลก

         คำถามคือศาลรัฐธรรมนูญพร้อมจะรับผิดชอบไหม กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีคนจำนวนไม่น้อยชี้ว่าท่านคือผู้จุดชนวน

อย่าลืมว่า การรับคำร้องมาตรา 68 ไม่ได้มีแค่นิติราษฎร์ หรือนักกฎหมายฝ่ายประชาธิปไตยที่คัดค้านนะครับ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกันอย่างคุณสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีต ปปช.ยังวิพากษ์ไม่มีชิ้นดี

        ยิ่งพูดในหลักการและเหตุผล ก็ยิ่งเข้าตาจน ผมนึกภาพไม่ออกว่าตุลาการจะอธิบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างระบอบได้อย่างไร ในเมื่อจรัญ ภักดีธนากุล ก็พูดไว้ตอนดีเบตว่า รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ โดยให้มี สสร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่แบบปี 2540 มาคราวนี้ พวกท่านจะกลับไปเชื่อสมคิด เลิศไพฑูรย์ ว่ามาตรา 291 ห้ามแก้ทั้งฉบับ อย่างนั้นหรือ

        พวกท่านต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ว่าจะเชื่อจรัญ หรือเชื่อสมคิด หรือเชื่อเมียสมคิด (ฮา) (แหม น่าเสียดาย ข่าวล่าสุรพล นิติไกรพจน์ จะไปแทนซะแล้ว)

         พวกท่านอธิบายไม่ง่ายนะครับ แม้แต่การห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 นักการเมืองเขาลากถูกันได้ แต่นักกฎหมายต้องมีหลัก สมมติท่านย้ำว่าห้ามแก้ แก้แล้วถือว่าล้มล้างระบอบฯ ก็จะมีคนโต้ว่า อ้าว ทีรัฐธรรมนูญ รสช.2534 ยังแก้ได้ หมวด 1 เพิ่มคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (ระบอบนี้เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญ 2534 เองนะ ก่อนหน้านั้นเขาใช้คำว่า “มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”)

        รัฐธรรมนูญ รสช.ยังไปแก้หมวด 2 ว่าด้วยการสืบราชสมบัติ ทั้งที่เนื้อหาเดิมตั้งแต่ฉบับแรก 59 ปี เขาให้รัฐสภา “เห็นชอบ” ทั้งสิ้น มีอย่างที่ไหน รัฐประหารแล้วยังบังอาจมาแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์

         อะไรคือการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำถามไร้สาระนี้ท่านต้องตอบให้ได้ เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สรุปได้ 2 อย่างเท่านั้นคือมีประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ (ตราบใดที่มีพระมหากษัตริย์ ก็ต้องเป็นประมุข) ส่วนอื่นๆ จะเป็นเหมือนอังกฤษ สวีเดน ฮอลแลนด์ ญี่ปุ่น สเปน ฯลฯ ก็เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสิ้น

         ท่านจะอ้างอย่างเทพเทือกว่า พรรคเพื่อไทยจะตั้งประธานศาลฎีกาเองแบบระบอบประธานาธิบดี เทือกเป็นนักการเมืองพูดเหลวไหลอย่างไรก็ได้ ท่านเป็นนักกฎหมายพูดเลอะเทอะอย่างนั้นไม่ได้ ระบอบอเมริกาเขาให้ประธานาธิบดีเสนอชื่อตุลาการศาลสูงผ่านรัฐสภา แต่ระบอบอังกฤษยิ่งหนักกว่าเพราะรัฐมนตรียุติธรรมเป็นประธานศาลฎีกาโดยตำแหน่ง ไม่มีที่ไหนบัญญัติว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามอำนาจปวงชนเกี่ยวข้องกับประธานศาลฎีกา

         อ้าง ก็ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด เขายังต้องผ่านการรับรองของวุฒิสภา เห็นอยู่ตำตา

          ป้ายที่สอง ถ้าท่านจะตัดสินยกฟ้อง ไม่มีความผิด รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้ พวกทหารป่าก็จะโห่ฮาป๋า หาว่าพวกท่านเป็นมวยล้มต้มคอมมิวนิสต์ เกรียนสลิ่มจะผิดหวัง จิ๊กโก๋แถวบ้านจะบ่นอุบ ว่าไม่ต่างจากบาโลเตลลีกร่างไม่ออก โดนสเปนขยี้ 4-0 อุตส่าห์เอาวากันมาถึงขนาดนี้ จะกลายเป็นโดนด่าฟรี เพราะพวกเสื้อแดงต้องด่าอยู่ดีว่าทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า

          ลงป้ายนี้ก็เสียศาล เอ๊ย เสียศูนย์เหมือนกันนะครับ

ป้ายที่สาม ถ้าท่านจะวินิจฉัยว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ แต่ไม่ถือเป็นความผิด ไม่ถอดถอนคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ให้ไปแก้ไขใหม่ นับหนึ่งใหม่ แก้เฉพาะมาตรา

         ไอ้รัฐบาลขี้แขะขี้กลัวนี่มันคงจะยอมท่านหรอก แต่สมมตินะ สมมติ มีพวกยุแยงตะแคงรั่วเสนอให้แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญก่อน ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ หรือเปลี่ยนแปลงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เลือกตุลาการกันใหม่ คราวนี้ท่านจะทำอย่างไรละครับ เพราะถ้าท่านเข้าไปขัดขวาง เขาก็จะกล่าวหาว่าท่านมีผลประโยชน์ทับซ้อนนี่หว่า หวงเก้าอี้นี่หว่า ตุลาการผู้มีคุณธรรมจริยธรรมคงหน้าบาง ไม่กล้าเข้าไปยับยั้งหรอก คริคริ

         ป้ายที่สี่ ถ้าท่านจะวินิจฉัยว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่ไม่มีหลักประกันว่าจะล้มล้างระบอบฯ ฉะนั้นก่อนลงประชามติ สสร.ร่างเสร็จ แทนที่จะให้ประธานสภาวินิจฉัย ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจข้อสอบก่อน

          รัฐบาลขี้ขลาดก็คงจะยอมท่านอีกแหละ ซื้อเวลาต่อไป แต่คิดให้ดีนะครับ สสร.มาจากการเลือกตั้ง การแก้ไขแต่ละประเด็น ไม่ใช่จะรวบรัดเอาในเวลาสั้นๆ ต้องมีการหยั่งเสียงในสังคม ผ่านการถกเถียงทางสื่อ ทางเวทีสาธารณะ มีคนเห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วย จึงผ่านแต่ละประเด็นมาได้

          สมมติเช่น จะแก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่ง ให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด สอง ให้สรรหาจากสัดส่วนต่างๆ เช่น ตุลาการ อาจารย์มหาลัย องค์กรทางสังคม ทางรัฐศาสตร์ ทางกฎหมาย มีที่มาหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ แล้วส่งชื่อให้วุฒิสภาเลือก

          หรือถ้ามีข้อตกลงที่ตกผลึก เช่น การแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ให้ศาลเสนอผู้มีอาวุโสสูงสุด 3 ลำดับมาให้คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา แข่งกับคนนอกอีก 3 คน ที่มีข้อกำหนดว่าอย่างน้อยต้องเป็นศาสตราจารย์กฎหมายมา 5 ปี มีคุณสมบัติด้านต่างๆ ครบถ้วน มีการอภิปรายลับแล้วลงมติ ฯลฯ สังคมฟังแล้ว เออ เห็นด้วย เข้าท่าดี

           ถามว่าตอนนั้นท่านจะไปขัดขวางเขาอย่างไร จะเอาตรงไหนไปชี้ว่าล้มล้างระบอบ

เฮ้อ คิดแล้วก็น่าปวดกบาลแทนนะครับ จะเลือกลงป้ายไหน ก็มีเด็กอาชีวะรออยู่ทุกป้าย ไม่น่าขึ้นรถเมล์มาเลย

           ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ผมขอยุส่งมั่ง เลือกทางไหนก็ได้ครับที่ให้มันจบเร็วๆ ขี้เกียจยืดเยื้อ ล้มโต๊ะไปเลย หรือไม่ก็ถอยไปเลย อย่างหลังยังพอจะด่ากลับได้ว่า เห็นไหม พวกจินตนาการ ฝันเฟื่อง ว่าอำมาตย๋ให้ยุบพรรครอบสองรอบสาม



ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล
คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊คhttp://fb.me/Prachatai
http://redusala.blogspot.com