วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"ส.ส.ร.40" ยัน "ศาล รธน." ล้มล้างและบัญญัติ รธน.ใหม่เสียเอง


"ส.ส.ร.40" ยัน "ศาล รธน." ล้มล้างและบัญญัติ รธน.ใหม่เสียเอง




ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. กลุ่มสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 40 (ส.ส.ร.40) ประมาณ 20 คน นำโดย นายคณิน บุญสุวรรณ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง ได้หารือร่วมกันถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคแรก พร้อมกับมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติในวาระสามของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย


ภายหลังการหารือกลุ่มส.ส.ร.40 ได้ออกจดหมายเปิดผนึกในนามของกลุ่มส.ส.ร.40 โดยนายคณินกล่าวว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 50 ส่วนใหญ่ลอกมาจากรัฐธรรมนูญปี 40 โดยเฉพาะมาตรา 68 ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาขณะนี้ ก็ลอกมาจากมาตรา 63 ของปี 40 เพียงแต่มีการเพิ่มเติมบทลงโทษไว้ในวรรคสี่ คือยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ถือเป็นการจงใจเบี่ยงเบนเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปี 40 ในการสัมมนาภายหลังการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2543 ได้กำหนดกรอบปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานมาเกือบ 9 ปี ว่าทุกเรื่องผู้ร้องจะต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่อัยการสูงสุดจะยื่นหรือไม่ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย


นายคณินกล่าวว่า ที่ผ่านมาส.ส.พรรคไทยรักไทย เคยยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นเรียกร้องขอนายกฯพระราชทานตามมาตรา 7 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2549 ยังปฏิเสธไม่รับคำร้อง โดยให้ไปยื่นผ่านอัยการสูงสุดก่อน การอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ถูกยกเลิกไป ศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของชุดเดิม ถือว่าไม่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีบรรทัดฐานอะไรเลย ขณะที่เจตนารมณ์ดั้งเดิมของรัฐธรรมนูญ 40 คือการบัญญัติการกระทำผิดตามมาตรา 63 ว่าการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจเท่านั้น


“ดังนั้นการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการล้มล้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเสียเอง ถึงขั้นบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยพลการ ไม่ว่าผลการตัดสินจะเป็นอย่างไรย่อมก่อให้เกิดความเสียหายทั้งขึ้นทั้งล่อง เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว จากนี้ไปไม่ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส.ส. ส.ว. หรือแม้แต่ประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวแตะต้อง หรือแม้แต่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกต่อไป หมายความว่านอกจากศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจตีความแล้ว ยังมีอำนาจในการควบคุมรัฐสภา ควบคุมครม. และควบคุมประชาชนอีกด้วย ซึ่งจะเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้ง และเกิดวิกฤติครั้งร้ายแรงที่สุดจนมิอาจพยากรณ์ได้ว่าสุดท้ายจะเกิดหายนะต่อบ้านเมืองอย่างไร” นายคณิน กล่าว
http://redusala.blogspot.com

รำลึก 24 มิถุนา วันชาติไทย ณ หมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2555


รำลึก 24 มิถุนา วันชาติไทย ณ หมุดคณะราษฎร
ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2555

























บรรยากาศรำลึก 80 ปี ปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 ณ หมุดคณะราษฎร ลานพระรูปทรงม้าตั้งแต่เวลา 05.30 น. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2555
http://redusala.blogspot.com

ประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ 2


ประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ 2

ประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ 2
Sun, 2012-06-24 15:10


กองทัพต้องยุติบทบาททางการเมือง,ต้องดำเนินคดีแก่คนที่สั่งฆ่าประชาชน,ผลักดันรวมตัวและการเจรจาต่อรองของคนงาน ความยุติธรรมต้องเสมอกัน,หยุดใช้ ม. 112 ปล่อยนักโทษการเมืองและให้เสรีภาพในทางวิชาการและให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร




            5.00 น. วันนี้(24 มิ.ย.2555) ณ หมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า กลุ่มนักกิจกรรมหลายกลุ่มที่ได้ร่วมรำลึก 80 ปี 24 มิ.ย. 2475 การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร โดยหนึ่งในกลุ่มกิจกรรมที่ร่วมรำลึกคือคณะราษฎรที่ 2 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษากลุ่มสะพานสูงและกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แต่งตัวเป็นคณะราษฎร เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ), หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์), หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) และประยูร ภมรมนตรี เป็นต้น โดยในเวลา 6.40 น. คณะดังกล่าได้มีการอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1


และหลังจากนั้น ได้มีการอ่านหลัก 6 ประการใหม่ของคณาราษฎรที่ 2 ที่มีการปรับเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน ดังนี้


หลักประการที่ ๑ ในการปกครองประเทศของคณะราษฎร : หลักเอกราช
เอกราช หมายถึง ความเป็นอิสระแก่ตน ไม่ขึ้นต่อผู้อื่น

ในการอภิวัฒน์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้ประกาศหลักประการแรกในการปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตยว่า “จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง”

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ความเป็นเอกราชที่คณะราษฎรมุ่งหวังจะรักษาคงจะหมายถึงการที่ประเทศสยามต้องไม่เป็นเมืองขึ้นต่อประเทศอื่นใด เช่น ไม่สูญเสียดินแดนของประเทศ ไม่เป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น ไม่เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เป็นต้น เนื่องจากสยามนั้นตั้งอยู่ท่ามกลางดินแดนของจักรวรรดิต่างๆ ประกอบกับในเวลานั้นได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ไปทั่วโลก และรัฐบาลกษัตริย์ที่เคยใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงที่ล้มละลายและอาจตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติได้ ซึ่งหากสยามตกเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่น การบริหารประเทศก็ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาตินั้น ไม่อาจทำเพื่อประโยชน์ของราษฎรสยามได้เลย

มาถึงวันนี้ ๘๐ ปีผ่านไป สถานการณ์โลกดำเนินไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มีกฎกติกาสากลที่จะคอยป้องกันมิให้ประเทศใดรุกรานประเทศอื่น อีกทั้งประเทศไทยยังมีเศรษฐกิจที่มั่นคง ยังมีทุนสำรองอยู่เป็นจำนวนมาก มิได้ประสบปัญหาถึงขนาดที่จะเอาตัวไม่รอด สิ่งเหล่านี้จึงเป็นหลักประกันในความเป็นเอกราชของประเทศไทย แต่ในขณะที่ประเทศเป็นเอกราชนั้น ยังมีสิ่งซึ่งเป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตยที่ตลอด ๘๐ ปีที่ผ่านมาถูกแทรกแซงอยู่เสมอ ไม่ได้มีเอกราชไปด้วย นั่นคือองค์กรที่มีหน้าที่ใช้อำนาจอธิปไตยแห่งระบอบประชาธิปไตย และองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ เปรียบเสมือนผลไม้ที่เปลือกนอกสวยงามแต่มีเนื้อในที่เน่าเฟะ

ระบอบประชาธิปไตยได้กำหนดอำนาจอธิปไตยไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งการใช้อำนาจเป็นสามส่วน ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติมีรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจ อำนาจบริหารมีรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจ และอำนาจตุลาการมีศาลเป็นผู้ใช้อำนาจ อำนาจทั้งสามนี้จะทำหน้าที่ของตัวเองและคอยถ่วงดุลมิให้อำนาจอื่นมีมากเกินไปตามที่กฎหมายกำหนด และเนื่องจากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่อำนาจเป็นของราษฎร อำนาจอธิปไตยแห่งระบอบประชาธิปไตยจึงต้องใช้เพื่อประโยชน์ของราษฏร แต่ในความเป็นจริงกลับมีการแทรกแซงและขัดขวางมิให้เป็นไปตามนั้น

การแทรกแซงนี้เกิดโดยการที่กลุ่มคนที่คิดว่าตนเหนือกว่าผู้อื่น และต้องการมีอำนาจในสังคม เช่น ทหาร นายทุนนักธุรกิจ หรือผู้มีสถานะทางสังคมสูงส่ง เป็นต้น ได้บงการบุคลากรขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย และองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ ให้ใช้อำนาจสนองความต้องการของพวกตน และบุคลากรผู้ไม่มีใจเป็นประชาธิปไตยก็ได้ศิโรราบยอมเป็นเครื่องมือของอำนาจนอกระบบเหล่านั้น มีทั้งการดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่อำนาจนอกระบบ การไม่เข้าร่วมประชุมสภา หรือการถ่วงดุลการใช้อำนาจอื่นอย่างเกินขอบเขตที่จะกระทำได้ มีการอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายและการตีความกฎหมายเข้าข้างตนเองเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การกระทำเหล่านั้น นอกจากนี้อำนาจนอกระบบยังใช้วิธีการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาขัดขวางการใช้อำนาจอธิปไตย เช่น การรัฐประหาร การชุมนุมประท้วงโดยผิดกฎหมายเพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้อำนาจอธิปไตยขาดเอกราช ต้องไปรับใช้อำนาจนอกระบบ ไม่อาจสร้างประโยชน์สุขแก่ราษฏรได้

ด้วยเหตุนี้ คณะราษฎรที่สอง ต่อต้านอำนาจนอกระบบ จึงมีข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดเอกราชดังนี้

๑. บุคลากรขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยและองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ จักต้องหยุดทำตัวเป็นขี้ข้ารับใช้อำนาจนอกระบบ และใช้อำนาจของท่านโดยยึดหลักประชาธิปไตย ท่านเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดของประเทศ ไม่มีอำนาจใดที่เหนือไปกว่านี้
๒. กต้องปลูกฝังค่านิยมในการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งระบอบประชาธิปไตยเป็นวิธีการปกครองและแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ และกำจัดค่านิยมในการใช้วิธีการอื่นหรือการขัดขวางการใช้อำนาจอธิปไตยทุกรูปแบบ
๓. กองทัพจักต้องยุติบทบาททางการเมือง เนื่องจากตลอด ๘๐ ปีที่ผ่านมา กองทัพเป็นเครื่องมือที่สำคัญของอำนาจนอกระบบในการทำลายความเป็นเอกราชของอำนาจอธิปไตยแห่งระบอบประชาธิปไตย
๔. การถ่วงดุลกันระหว่างอำนาจอธิปไตยจักต้องไม่มากเกินส่วนที่กฎหมายกำหนด โดยการตีความกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง
๕. สื่อจักต้องนำเสนอข่าวการกระทำที่เป็นการทำให้เอกราชของอำนาจอธิปไตยและองค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องเสื่อมเสียไป โดยให้ข้อมูลละเอียดครบถ้วน และแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการกระทำเหล่านั้น

ราษฎรทั้งหลายจงร่วมกันรักษาเอกราชของอำนาจอธิปไตยแห่งระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้เป็นอำนาจที่บริสุทธิ์ที่มุ่งใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่ราษฎรเอง ให้ประเทศไทยได้มีเอกราชอย่างแท้จริง


หลักประการที่ ๒ ในการปกครองประเทศของคณะราษฎร : หลักความปลอดภัย

“จงพึงระลึกไว้ว่าประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของพวกเจ้าอย่างที่หลอกลวงกัน”
เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมและประชาธิปไตย
คือหลักความมั่นคงและความปลอดภัยของพลเมืองชาวสยาม

ราษฎรทั้งหลาย คนเรานั้นเกิดมาใยแตกต่างกัน? ทำไมคนเราถึงได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยที่ไม่เท่ากัน? ทั้งๆที่คนเรานั้นเป็นมนุษย์เหมือนกัน ทั้งๆที่เป็นชาติเดียวกัน อาจแตกต่างกันบ้างในด้านความร่ำรวย หรือชื่อเสียงเกียรติยศ แต่นั่นทำให้เขาได้รับความปลอดภัยแตกต่างกันหรือ?

ราษฎรทั้งหลาย เราต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ อุดมการณ์ที่เราหวังว่าสักวันหนึ่งชีวิตของเราจะดีขึ้น ผิดหรือที่เราต้องการประชาธิปไตย ผิดหรือที่เราเกิดมาเป็นคนไทย และเราเป็นกบฎหรือที่เราเรียกร้องในสิ่งที่เราควรได้

เราทำสิ่งต่างๆเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เจริญงอกงาม แต่คนบางกลุ่มซึ่งได้รับผลต่างๆจากสิ่งที่เราทำ ทั้งๆที่เราทำประโยชน์ต่อพวกเขา แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับฆ่าพวกเรา ฆ่าพวกเราดั่งผักปลา พวกเขาคือทรราชย์ของแผ่นดิน ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐต้องให้ความคุ้มครองต่อราษฎร แต่เขาเหล่านั้นกลับมองมาและฆ่าพวกเราดั่งไม่ใช่คนชาติเดียวกัน

ราษฎรทั้งหลาย พี่น้องเรานั้นต่อสู้เพื่ออนาคตของประเทศที่จะเบ่งบานในวันข้างหน้า เราเรียกร้องสิทธิของเราที่ควรจะได้รับความความคุ้มครองมาตั้งแต่กำเนิด สิทธิที่ว่านั้นคือ สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองความปลอดภัย ความปลอดภัยที่ไม่ใช่ลูกปืน

ไม่มีประเทศใดที่ผู้มีอำนาจจะสั่งฆ่าประชาชนแล้วยังดำรงอยู่ในอำนาจต่อไปได้เป็นเวลานานเช่นนี้ แม้กระทั่งพระเจ้าซาร์รัสเซียเองที่สั่งฆ่าประชาชนก็มิอาจจะดำรงอยู่ในอำนาจได้ แต่เพราะเหตุใดเล่า บุคคลที่สั่งฆ่าประชาชนทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลา 6ตุลา หรือเมษาเลือด ถึงยังดำรงอยู่ในอำนาจได้

คณะราษฎรที่ 2 ไม่ได้มาที่นี่เพื่อแย่งอำนาจจากผู้ใด คณะราษฎรที่ 2 มาที่นี้เพื่อเรียกร้อง เรียกร้องความปลอดภัย ความปลอดภัยที่ราษฎรจักต้องได้ ไม่ใช่คำหลอกลวงและการโฆษณาว่าราษฎรจักได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จักได้รับการดูแลให้ชีวิตดีขึ้น แต่ชีวิตของราษฎรจะได้รับความปลอดภัยไม่ได้หากยังมีอำนาจนอกระบบที่คอยสั่งฆ่าประชาชน
คณะราษฎรที่ 2 จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้

1. ปกป้องประเทศโดยการปกป้องชีวิต อิสรภาพและรัฐธรรมนูญของพลเมืองทุกท่าน ให้ปลอดภัย
2. ต้องมีหลักประกันที่ทำให้พลเมืองทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีและเป็นธรรมทุกด้าน ไม่มีอภิสิทธิ์ให้กับคนหนึ่งคนใดหรือกลุ่มคนใดโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะมียศถาบรรดาศักดิ์ มีฐานะชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมมากมายเพียงใด ไม่เว้นแม้แต่พวกเจ้าและโครงข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
3. ต้องเคารพหลักการสากลที่ส่งเสริมนิติรัฐ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ซึ่งนานาอารยประเทศยึดถือปฏิบัติทุกข้อ
4. จะต้องสร้างความเป็นธรรมแก่ราษฎรที่สูญเสียต่อการกระทำของผู้มีอำนาจนอกระบบที่สั่งฆ่าประชาชน เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนเท่าที่ควร
5. จักต้องมีการดำเนินคดีแก่คนที่สั่งฆ่าประชาชนตลอดจนทำลายอำนาจนอกระบบที่เป็นสาเหตุของการที่ประชาชนไม่ได้รับความปลอดภัย

ขอให้รัฐบาลรู้เถิดว่า ท่านจงอย่ากลัว อย่ากลัวที่จะอยู่เคียงข้างประชาชน อย่ากลัวที่จะทำลายอำนาจนอกระบบ เพราะประชาชนอยู่เคียงข้างท่านแล้ว แต่หากท่านหาได้ดำเนินการเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ประชาชนผู้ที่ได้รับความอยุติธรรมแล้วไซร้ รัฐบาลก็หามีความชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ต่อไปไม่

หลักประการที่ ๓ ในการปกครองประเทศของคณะราษฎร : หลักเศรษฐกิจ
ราษฏรทั้งหลาย

เมื่อรัฐบาลชุดนี้ได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลในสภา ราษฎรบางคนได้มีความหวังว่านโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้ให้คำมั่นเอาไว้ก่อนเลือกตั้งจะช่วยให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังไม่ ราคาสินค้าเกษตรยังคงตกต่ำ ข้าวของราคาแพง ค่าแรงยังคงน้อย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ รัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้งของราษฎรยังคงไม่ฟังเสียงของราษฎร แต่กลับยกพวกพ่อค้าวานิช นายทุนผู้มีอันจะกินให้มีสิทธิ์พิเศษมากกว่าราษฎร ปล่อยให้เกษตรกร และแรงงานถูกกดขี่ข่มเหงตามยถากรรม

การที่แก้ไขไม่ได้ ก็เพราะนโยบายเศรษฐกิจทั้งปวงนั้นมิได้เป็นไปเพื่อราษฎรแต่เป็นไปเพื่ออุ้มชูเหล่าคหบดีนายจ้าง และเพื่อประโยชน์แห่งชนชั้นนำผู้ถือหุ้น เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับปล่อยให้นายทุนทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่าน้ำมันซึ่งสมควรจะเป็นสมบัติสาธารณะอันราษฎรพึงมีสิทธิ์ที่จะได้ใช้ในราคาถูกอีกทั้งยังเป็นต้นทุนของสินค้าทั้งปวงกลับถูกผูกขาดจนน้ำมันมีราคาแพงเกินจริง ทั้งบรรษัทที่กุมท่อส่งและโรงกลั่นก็ยังไปเข้ากับเชฟรอนอันเป็นบรรษัทต่างชาติเสีย ไม่มีชนชาติใดที่ผลิตน้ำมันเองได้กว่ากึ่งหนึ่งจะต้องทนใช้น้ำมันราคาแพงฉะนี้ นอกจากอาร์เจนตินา ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้ผ่านร่างกฎหมายยึดคืนบรรษัทน้ำมันจากบรรษัทต่างชาติเสียแล้ว

รัฐบาลให้คำมั่นอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่า หลอกว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้เป็นจริงดังคำสัญญาไม่ เมื่อปรับขึ้นค่าแรงนำร่องใน 7 จังหวัดก็ปรากฎให้เป็นที่ประจักษ์ว่าสินค้าต่างพากันขึ้นราคาแพง เพราะต้นทุนสูงขึ้น แต่ผลิตได้เท่าเดิม ทั้งนี้มิใช่เพราะราษฎรนั้นโง่ หรือเกียจคร้าน หากขาดโอกาส และรัฐบาลทุกสมัยก็หาได้มีเจตนาพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างจริงใจไม่ เมื่อแรงงานด้อยทักษะฉะนี้แล้ว ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศจึงเป็นเรื่องอันฟุ้งฝัน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของคหบดีนายทุน ไม่ใช่ของราษฎรตามที่เขาหลอกลวง คณะราษฎรที่หนึ่งอันเป็นคณะราษฎรของแท้นั่นแหละ ได้ตั้งมั่นว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” สุดท้ายมีแต่พวกเจ้าที่ชุบมือเปิบ คอยอุปถัมภ์ค้ำจุนนายทุน ถือหุ้นบรรษัทใหญ่กวาดเอาทรัพย์สินเอาไว้หลายแสนล้านบาท หุ้นเหล่านี้ได้มาจากไหน ก็ล้วนมาจากผลพวงของการอภิวัฒน์สยาม พุทธศักราช 2475 ทั้งสิ้น คณะราษฎรมุ่งหวังจะไม่ให้ราษฎรต้องอดอยาก ผ่านไปแล้ว 80 ปีแรงงานสยามยังคงตกอยู่ใต้เงื้อมมือของนายทุนใต้เงาเจ้า รัฐบาลรีรอไม่ลงนามรับรองอนุสัญญา ILO 87/98 ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่จะคุ้มครองส่งเสริมการรวมตัวกันเป็นสหภาพและสร้างอำนาจต่อรองให้กับราษฎร ก็เพราะเกรงจะขัดแข้งขาคหบดีนายทุน แทนที่จะยึดเอาประโยชน์แห่งราษฎรเป็นที่ตั้ง รัฐบาลกลับฟังแต่เสียงของคหบดีนายทุนเรื่อยมา

เหตุฉะนั้น ราษฎร นิสิตและนักศึกษาที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายดังกล่าวแล้ว จึ่งรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรที่สองขึ้น คณะราษฎรที่สองเห็นว่า การที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องยุติการผูกขาดธุรกิจพลังงาน คืนสมบัติธรรมชาติแก่ราษฎร เร่งฝึกอาชีพพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างจริงจังเพื่อให้นโยบายค่าแรง 300 ทั่วประเทศสัมฤทธิ์ผลในเร็ววัน โดยจะต้องมิใช่เพื่อประโยชน์แก่นายจ้าง แต่ต้องมุ่งเอาประโยชน์ของราษฎรเป็นสำคัญ ลงนามในอนุสัญญา ILO87/98 เพื่อผลักดันให้แรงงานมีสหภาพที่เข้มแข็งและสามารถต่อร่องกับคหบดีนายทุนได้อย่างทัดเทียม ขยายความคุ้มครองของประกันสังคมมิให้จำกัดแต่ในเพียงแรงงานในระบบแต่จะต้องคุ้มครองราษฎรที่ประกอบกิจการร้านค้า ขับขี่ยวดยานรับจ้าง แลกรรมกรทั้งหลายให้มีหลักประกันอันมั่นคงไม่ต่างกัน อีกทั้งจะต้องเข้มงวดกวดขันมาตรการรับจำนำข้าวให้โปร่งใสไร้การคอรัปชั่นเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างเต็มกำลัง

ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรที่สองให้ทำกิจอันจะคงอยู่อย่างสถิตสมบูรณ์สถาพร เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม เพื่อความบริบูรณ์ของปากท้องของพี่น้องเกษตรกร แรงงาน ให้ราษฎรผู้กรำงานหนักตลอดชีวิตได้รับผลตอบแทนที่พึงได้เอง มิใช่เป็นข้าทาสผู้ทำงานรับใช้คหบดีนายทุนผู้อาศัยร่มบารมีเจ้าทำนาบนหลังราษฎร อันจะสืบสานเจตนารมณ์แห่งคณะราษฎรที่ได้เคยประกาศไว้ ณ ที่แห่งนี้ให้วิวัฒน์พัฒนา เพื่อความสุขประเสริฐจะได้บังเกิดแก่ราษฎรโดยถ้วนหน้า


หลักประการที่ ๔ ในการปกครองประเทศของคณะราษฎร : หลักเสมอภาค
เพราะเป็นที่ประจักษ์แจ้งและเป็นความจริงแท้ว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นนาย และไม่มีมนุษย์ที่เกิดมาเพื่อเป็นทาส ในแผ่นดินนี้มีเพียงมนุษย์ที่ยืนอยู่บนผืนธรณีเดียวกัน ไม่มีอำนาจจากสรวงสรรค์ที่จะรังสรรค์ชอบความธรรมแห่งการกดขี่ด้วยชั้นชน มีเพียงคุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์คือที่สุดแห่งอำนาจและความชอบธรรมทั้งปวง

และเพราะความสำเร็จแห่งการอภิวัฒน์โดยคณะราษฎรชุดก่อนนั้นเอง ที่ได้ทำลายการปกครองอันกดขี่ ไม่ชอบธรรมและได้สถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อมอบสิทธิและความเสมอภาคให้ทั่วถึงกันแก่ราษฎรทั้งหลาย

อันเป็นที่มาแห่งหลักประการที่ ๔ ของเราคณะราษฎรที่ ๒ ว่าจะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน
สิทธินั้นคืออะไร เรื่องนี้เราอาจตอบได้ว่า สิทธิ คือ อำนาจหรือประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและบังคับบัญชาให้ราษฎรทั้งหลายพึงมีสิทธิและใช้สิทธิได้โดยชอบ

แต่สำหรับความเสมอภาคนั้นคืออะไร ? ต่อคำถามนี้ จะมีอะไรดีกว่าการถามราษฎรทั้งหลายก่อนว่าพวกเขามาอยู่รวมกันเป็นรัฐเพื่ออะไร ถ้ามิใช่เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดี และต้องเป็นที่แน่นอนว่าชีวิตที่ดีและอุดมสมบูรณ์พูนสุขนั้นจะต้องไม่ตกเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหมู่คณะใดหมู่คณะหนึ่งโดยอาศัยความทุกข์ยากตรากตรำของราษฎรส่วนใหญ่เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของบุคคลเหล่านั้น เช่น ผู้ที่ปลูกข้าวทำนาพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิในข้าวนานั้นยิ่งกว่าผู้ที่มิได้ออกแรงไถหว่าน หลักการนี้ก็เป็นหลักการของความยุติธรรมนี่เอง เพราะผู้ที่มิได้ออกแรงหว่านไถ ไฉนเลยเล่าจะมีสิทธิในนาข้าวที่ผู้อื่นปลูกได้ โดยนัยนี้เองความเสมอภาคจึงเป็นฐานรากและเสาหลักแห่งความยุติธรรมทั้งปวงในหมู่ราษฎร หรืออาจกล่าวได้ว่าความเสมอภาคมิได้หมายถึงการที่ราษฎรทุกคนมีสิทธิเท่ากัน แต่หมายถึงราษฎรทุกคนมีโอกาสที่จะได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ความเสมอภาคนี้ยังเป็นองค์ประกอบแห่งความสมบูรณ์ของหลักประการอื่นๆทั้งก่อนนี้และที่จะกล่าวถึงหลังจากนี้

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะความปลอดภัยที่มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับ ในขณะที่ราษฎรส่วนใหญ่อยู่ท่ามกลางความเสี่ยงและอาชญากรรม ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าความปลอดภัย

ความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจที่มีเพียงคนบางกลุ่มได้ประโยชน์ ในขณะที่ราษฎรส่วนใหญ่ล้วนอดอยากโดยเฉพาะเมื่อมันเกิดจากการทำนาบนหลังคน ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าความสุขสมบูรณ์

และเป็นที่แน่นอนว่าเสรีภาพที่มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่มีสิทธิใช้ได้ ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเสรีภาพ

ดังนั้นเราคณะราษฎรที่ ๒ จักขอเรียกร้องให้รัฐไทยส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคให้สมดังเจตนารมณ์ของคณะราษฎรผู้ทำการอภิวัฒน์ในกาลก่อน โดยมีข้อเรียกร้องที่สำคัญ คือ

๑. ราษฎรทุกคนต้องได้รับความยุติธรรมเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายในข้อเท็จจริงที่มีสาระสำคัญเหมือนกัน ต้องได้รับคำสั่งและคำพิพากษาเป็นอย่างเดียวกัน
๒. รัฐต้องส่งเสริมและพัฒนากระบวนการที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการใช้อำนาจต่างๆของรัฐเพื่อจักการบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน เป็นต้นว่า ประชาชนจักต้องได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน อาทิ สิทธิประกัน ประชาชนไม่ว่ายากดี มีจนจักต้องได้รับการส่งเสริมที่เท่าเทียมกัน มิใช่ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และรัฐจักต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เข้าถึงง่าย ราคาถูก และรวดเร็ว และนอกจากนี้ในบริการอื่นๆของรัฐที่สำคัญ รัฐต้องคำนึงถึงการเข้าถึงอย่างเสมอภาคของประชาชน ด้วย นอกเหนือจากคุณภาพ
๓. รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรชายขอบของรัฐได้เข้าถึงอำนาจรัฐได้อย่างเท่าเทียม เพื่อให้เขามีความเสมอภาคที่แท้จริงทางการเมือง เป็นต้นว่า รัฐจักต้องให้สิทธิพลเมืองกล่าวคือ สัญชาติไทยแก่คนชายขอบของรัฐอย่างเสมอภาค เช่น ชาวกระเหรี่ยง โรฮิงยา เป็นต้น หรือ รัฐจักต้องบรรจุภาษามลายูเป็นภาษาราชการที่สอง ในจังหวัดที่มีประชากรมุสลิมที่ใช้ภาษามลายู จำนวนมาก


หลักประการที่ ๕ ในการปกครองประเทศของคณะราษฎร : หลักเสรีภาพ
จะต้องให้ราษฎรมีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
มนุษย์เกิดมาเสรี มีเพียงเจตจำนงของเขาเท่านั้นที่จะกักขังเขาไว้ในพันธนาการแห่งความเป็นทาส แต่นั่นย่อมหมายความว่าเมื่อเขาได้พยายามกอบกู้เจตจำนงแห่งอิสระกลับคืนมา เขาย่อมมีสิทธิที่จะไม่เชื่อฟังใคร นอกจากตัวเขาเองเท่านั้น สิทธิที่จะมีเสรีภาพนี้เป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นคุณค่าอันสูงสุดอันมิอาจจะล่วงละเมิด การใช้กำลังบังคับและคำหลอกลวงโป้ปดของผู้ปกครองให้เชื่อฟังต่อให้มีมากสักเพียงใด ก็ไม่เคยเพียงพอที่จะพรากเสรีภาพไปจากเขาได้

หนึ่งในสิ่งที่คณะราษฎรผู้ก่อการอภิวัฒน์เมื่อ ๒๔๗๕ ได้มอบไว้แก่ราษฎรชาวไทย คืออำนาจอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ราษฎรทั้งหลาย ตื่นขึ้นมาจากความฝันเฟี่องแลโป้ปดในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ผู้ปกครองล้วนบังอาจสถาปนาตนเป็นเจ้าชีวิตของราษฎรทั้งหลาย สามารถชี้เป็นตายได้เพียงอาศัยความพึงพอใจของตน ให้ราษฎรทั้งหลายกลายเป็นผู้ทรงสิทธิอำนาจที่จะลุกขึ้นมากำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ โดยมิตกอยู่ภายใต้อาณัติครอบงำอย่างเก่าก่อน อำนาจนี้เรียกว่า เสรีภาพ

เสรีภาพ เป็นอำนาจที่เกิดจากจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ เสรีภาพจึงมีคุณค่าอันสูงสุด มิอาจถูกจำกัดได้โดยอำนาจใด มีเพียงกฎหมายที่มาจากผู้แทนปวงชนเท่านั้นที่จะจำกัดอำนาจแห่งเสรีภาพนี้ได้ ในปัจจุบันเสรีภาพของราษฎรชาวไทยถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก ทว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เสรีภาพในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็นซึ่งควรจะเป็นเหมือนลมหายใจของระบอบประชาธิปไตยกำลังถูกลิดรอนและทำให้ตกอยู่ภายใต้อาณัติครอบงำแห่งความหวาดกลัวโดยการใช้อำนาจรัฐ ดังนั้นเพื่อกอบกู้เจตนารมณ์แห่งการอภิวัฒน์เมื่อ ๒๔๗๕ กลับคืนมา คณะราษฎรที่ ๒ จึงมีข้อเรียกร้องตามหลักเสรีภาพและอิสรภาพ ดังนี้

๑. ทุกฝ่ายไม่ว่ารัฐหรือราษฎรจักต้องหยุดการใช้บังคับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง
๒. การตีความกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ไม่ว่าจะโดยพนักงานอัยการหรือศาลต้องวางอยู่บนพื้นฐานของหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ และต้องสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยมิใช่อุดมการณ์ราชาธิปไตย
๓. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหลายให้ได้รับอิสรภาพ


หลักประการที่ ๖ ในการปกครองประเทศของคณะราษฎร : หลักการศึกษา

ราษฎรทั้งหลาย
เมื่อรัฐมนตรีคนนี้ได้ดำรงตำแหน่งต่อจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนก่อนนั้น ในชั้นต้น ราษฎรบางคนได้หวังกันว่า การศึกษาไทยจะดีขึ้น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังไม่ รัฐมนตรีคนใหม่กลับสนับสนุนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ปล่อยให้มีการเก็บค่าเทอมเหมาจ่าย ข้าราชการและสภามหาวิทยาลัยใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต เกิดเผด็จการในมหาวิทยาลัย ยกพวกราษฎรร่ำรวยขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎรอื่น กดขี่ข่มเหงราษฎรที่ยากจน เปิดโครงการพิเศษที่มีค่าเทอมแสนแพงขึ้นมากกมาย ปล่อยให้การศึกษาเป็นไปตามยถากรรม ดั่งที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางวิชาการและความฝืดเคืองในการหางานทำ ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้

การที่แก้ไขไม่ได้ ก็เพราะม.นอกระบบและค่าเทอมเหมาจ่ายมิได้เพื่อราษฎร มหาวิทยาลัยได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่า ไพร่ บ้าง ข้า บ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ค่าเทอมที่บีบคั้นเอามาจากราษฎรนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้หักเอาไว้ใช้ส่วนตัวปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือค่าเทอม ถ้าไม่มีเงิน มหาวิทยาลัยก็ไม่ให้ลงทะเบียนเรียนหรือไม่ให้จบการศึกษา

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่า หลอกว่าจะบำรุงการศึกษาอย่างโน้นอย่างนี้ หอพักใหม่จะเสร็จตอนนั้นตอนนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำ กล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียค่าเทอมให้มหาวิทยาลัยว่า ราษฎรยังไม่มีค่าเทอมก็ให้ไปกู้ยืมมาจ่าย คำพูดของมหาวิทยาลัยเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงนั้น ไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่มีค่าเทอมราคาแพง ไม่ได้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ใครทำนาบนหลังคน

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า มหาวิทยาลัยนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของอธิการบดีหรือสภามหาวิทยาลัยตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้มหาวิทยาลัยมีอิสรภาพพ้นมือจากเผด็จการทหาร พวกผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยมีแต่ชุบมือเปิบ และกวาดรวบทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากค่าเทอมของราษฎร เพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนเรียนเสร็จแล้วและทหารปลดกองหนุนแล้วไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการทหารและพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของมหาวิทยาลัยดังกล่าวแล้ว จึ่งรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรที่ ๒ ขึ้น และได้ยึดอำนาจของสภามหาวิทยาลัยไว้ได้แล้ว คณะราษฎรที่๒เห็นว่า การที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีพรบ.มหาวิทยาลัยที่มาจากประชาชน จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นรัฐมนตรีของกระทรวงศึกษาธิการนั้น คณะราษฎรที่๒ไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงตำแหน่ง ฉะนั้น จึ่งได้ขอให้รัฐมนตรีคนนี้ดำรงตำแหน่งต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายมหาวิทยาลัยฉบับประชาชน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและประชาชน

คณะราษฎรที่๒ได้แจ้งความประสงค์นี้ให้รัฐมนตรีทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ารัฐมนตรีตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่มหาวิทยาลัยจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ พรบ.มหาวิทยาลัยต้องมาจากประชาชน ตามวิธีนี้ ราษฎรพึงหวังเถิดว่า ราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุก ๆ คนจะมีที่เรียน เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้ว-ตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินเดือนที่พวกผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยรวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงมหาวิทยาลัยขึ้นแล้ว การศึกษาจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การพัฒนาการศึกษาซึ่งคณะราษฎรที่๒จะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการ อาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เป็นหลักใหญ่ ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า

๑. จะต้องรักษาเสรีภาพทั้งหลาย เช่น เสรีภาพในทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัยไว้ให้มั่นคง
๒. จะต้องรักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย ให้การประทุษร้ายต่อราษฎรต่างมหาวิทยาลัยกันลดน้อยลงให้มาก
๓. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางสวัสดิการ โดยมหาวิทยาลัยจะจัดหาหอพัก ห้องสมุด รถรับส่ง และโรงอาหารให้เพียงพอ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ราษฎรร่ำรวยมีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรยากจนเช่นที่เป็นอยู่)
๕. จะต้องให้อาจารย์ได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรที่๒ ให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรที่๒ ขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยพึงตั้งตนอยู่ในความสงบ และตั้งหน้าเรียนหนังสือ อย่าทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎรที่๒ การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรที่๒นี้ เท่ากับราษฎรช่วยการศึกษาชาติ และช่วยตัวราษฎร บุตรหลานเหลนของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้การศึกษาที่ดี ทุกคนจะต้องมีที่เรียน ไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน หมดสมัยที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า

ภาพบรรยากาศกิจกรรม:








เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
กลุ่มคณะราษฎร์ที่ 2 ยืมรถถัง ทบ.ร่วมกิจกรรม 24 มิ.ย.2475
คุยกับคณะราษฎรที่ 2 พร้อมคลิปเปิดตัวกิจกรรมสัปดาห์คณะราษฎร คัดค้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ
http://redusala.blogspot.com

เทียนอันเหมิน ไทยแลนด์


เทียนอันเหมิน ไทยแลนด์ 
ดูคลิ๊ปนี้ ไม่ได้โศกเศร้าอะไรเลย
แต่ไม่รู้ทำไม ผมน้ำตาไหล 



http://redusala.blogspot.com

ประชาชนเตรียมพร้อมรับศึกใหญ่!


ประชาชนเตรียมพร้อมรับศึกใหญ่!


ประชาชนเตรียมพร้อมรับศึกใหญ่!

โดย ร
ศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

จาก “โลกวันนี้วันสุข”
 ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2555


การปิดสมัยประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 คือความพ่ายแพ้ของแกนนำพรรคเพื่อไทย เบื้องหน้าการข่มขู่ของพวกเผด็จการผ่านองค์กรตุลากร พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มมวลชนนอกสภา

การไม่สามารถระดมจำนวนคะแนนเสียงในรัฐสภาให้มากพอที่จะผลักดันญัตติไม่ยอมรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นความรับผิดชอบของแกนนำพรรคเพื่อไทยโดยตรง

การ “ชะลอ” วาระสามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป แม้จะมีความพยายามแก้ตัวว่า เป็นการถอยเพื่อรุกบ้าง ลับ ลวง พรางบ้าง หลีกเลี่ยงความรุนแรงและการนองเลือดบ้าง แต่ความเป็นจริงก็คือ แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ยอมจำนนกับการคุกคามของเผด็จการ โดยหวังว่า จะได้รับ “ความเมตตา” ให้เป็นรัฐบาลต่อไปเรื่อย ๆ

ข้อแก้ตัวที่ “แย่” ที่สุดคือ อ้างว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขรัฐประหาร และนี่เป็นข้ออ้างเพียงข้อเดียวที่ยกขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อปิดปากผู้คนที่วิจารณ์ยุทธศาสตร์ “ปรองดอง” ของพรรคเพื่อไทย ทาสีให้ผู้วิจารณ์กลายเป็นพวก “ฮาร์ดคอร์” “แดงเทียม” หรือ “แดงเสี้ยม” ไปทุกครั้ง

ยุทธศาสตร์แต่เพียงประการเดียวของแกนนำพรรคเพื่อไทยคือ อยู่เป็นรัฐบาลให้นานที่สุดไม่ว่าจะต้องจ่ายด้วยอะไร แม้จะต้องแลกด้วยการยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดก็ตาม ทั้งที่ประการหลังนี้ คือภารกิจสำคัญที่สุดของพรรคเพื่อไทยที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยได้ฝากความหวังไว้

แกนนำพรรคเพื่อไทยย่อมรู้ดีว่า กระบวนการโค่นล้มรัฐบาลได้เริ่มขึ้นอีกแล้ว เหมือนที่ได้เผชิญมาแล้วสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและรัฐบาลพรรคพลังประชาชน แต่พวกเขาก็ไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนสองครั้งแรก ยังคงหลอกตัวเอง ฝันหวานไปว่า การยอมถอยในทุกแนวรบและยอมสยบต่อการคุกคาม หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าในทุกกรณี เป็นหนทางเดียวที่จะต่อสู้รับมือและ “ยืดอายุ” รัฐบาลออกไปได้เรื่อย ๆ จนครบวาระสี่ปี เพื่อหวังไปชนะเลือกตั้งอีกรอบ

แกนนำพรรคเพื่อไทยบางคนอ้างว่า ถึงแม้จะผ่านวาระสามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ไปได้ ก็จะต้องเผชิญกับ “ด่านแห่งความตาย” ในขั้นตอนต่อไปอยู่ดี ฉะนั้น ควรรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ตราบใดที่วาระสามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงค้างอยู่ รัฐบาลก็ยังมีเวลาอีกหลายปี จะยกขึ้นมาพิจารณาเมื่อไรก็ได้

แกนนำพรรคเพื่อไทยทำเป็นนอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็นว่า ถึงพวกท่านจะหลีกเลี่ยง “ด่านแห่งความตาย” ด้วยการไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญวาระสามในวันนี้ แต่ฝ่ายเผด็จการก็ยังมีด่านอื่น ๆ รอท่านอยู่ในทันที พวกท่านยังมองไม่เห็นอีกหรือว่า ในขณะนี้ ใบมีดบั่นคอของตุลาการได้ง้างขึ้นจนสุดในเบื้องหน้าแล้ว และรัฐบาลอาจจะอยู่รอดได้อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนี้!

ความเป็นจริงก็คือ ไม่ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะประจบเอาใจและถอยให้กับฝ่ายเผด็จการสักเท่าใด ในที่สุด การโค่นล้มรัฐบาลในขั้นสุดท้ายก็จะมาถึงอย่างแน่นอน และจะมาถึงในเวลาอันรวดเร็วจนตั้งรับไม่ทันอีกด้วย ทั้งด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเดือนกรกฎาคมนี้ และขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ ที่กำลังตามมาอย่างเป็นขบวน ทั้งที่มุ่ง “บั่นคอ” รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ไปจนถึงบรรดาสส.ในสภา จบลงด้วยการแทรกแซงของฝ่ายทหาร ดังที่เกิดมาแล้วสองครั้ง การยอมจำนนไม่ต่อสู้ใด ๆ ไม่ใช่ “การยืดอายุรัฐบาลให้นานที่สุด” แต่เป็นการนั่งเฉย เหมือน “ไก่ในสุ่มรอถูกเชือด” ปล่อยให้กระบวนการทั้งหมดนี้อยู่ในมือของฝ่ายเผด็จการอย่างสิ้นเชิง ให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้กำหนด “กดปุ่ม” แต่ฝ่ายเดียวว่า จะให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย “ล่มสลาย” ลงวันไหน

การยอมตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญและการปิดสมัยประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนคือเครื่องหมายว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ล้มเหลวลงแล้ว ฝ่ายเผด็จการได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า จะไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แล้วยังจะฉวยใช้โอกาสนี้ ขยายไปเป็นการโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพื่อฟื้นอำนาจเผด็จการแบบเปิดเผยของพวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง ความหวังของพรรคเพื่อไทยและประชาชนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางการเมืองภายในกรอบรัฐธรรมนูญ 2550 และยุติวิกฤตการเมืองปัจจุบันอย่างสันติ ได้หมดสิ้นไปแล้ว สิ่งที่จ้องตาเราอยู่เบื้องหน้าคือ การปะทะครั้งใหญ่และอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายระหว่างพลังเผด็จการกับพลังประชาธิปไตย!

การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อภายหลังชัยชนะขั้นเด็ดขาดและการเปลี่ยนมืออำนาจรัฐที่แท้จริงมายังฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น

จากประสบการณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในทั่วโลก ชัยชนะขั้นเด็ดขาดดังว่าชี้ขาดด้วยการต่อสู้ของประชาชนนอกรัฐสภา การต่อสู้นี้จะสันติหรือหลั่งเลือดมากน้อยเพียงใด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายประชาชน หากแต่ฝ่ายเผด็จการที่กุมอำนาจรัฐและกองทัพคือผู้กำหนด

นับแต่นี้ สนามการต่อสู้หลักจะไม่ใช่ภายในรัฐสภา แกนนำพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจะไม่ใช่กำลังหลักของฝ่ายประชาธิปไตยอีกต่อไป ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยคือ ทัพหลวง ในการต่อกรกับฝ่ายเผด็จการในสนามรบนอกสภา

ผ่านการต่อสู้ยืดเยื้อมาหกปี เห็นได้ชัดว่า การเคลื่อนไหวของฝ่ายเผด็จการผ่านองค์กรตุลาการ พรรคประชาธิปัตย์ และมวลชนนอกสภาในครั้งนี้ มีลักษณะโดดเดี่ยว อ่อนพลัง และขาดความชอบธรรมมากยิ่งกว่าในอดีต

พลังครอบงำทางความคิดและอุดมการณ์เสื่อมถอยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในขณะที่พลังฝ่ายประชาธิปไตยเข้มแข็งเติบใหญ่ ขยายตัวทั้งจำนวนคน อุดมการณ์และความรับรู้ประสบการณ์ การรวมกลุ่มองค์กร กิจกรรม และท่วงทำนองหลากหลาย แม้จะผ่านการบาดเจ็บล้มตายมาแล้ว แต่จิตใจกลับยิ่งเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ไม่มีท้อถอย

สิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเตรียมการในเบื้องหน้าคือ การสามัคคีรวมพลัง เร่งขยายเครือข่ายของมวลชนคนเสื้อแดงกลุ่มย่อยต่าง ๆ ทั่วประเทศ เชื่อมโยงเข้ากันให้ทั่วถึง รวมตัวเคลื่อนไหวแสดงพลังในเงื่อนไขและโอกาสที่เหมาะสม หนุนช่วยสส.พรรคเพื่อไทยปีกที่ร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สนับสนุนแกนนำระดับชาติ พร้อมไปกับการตระเตรียมแกนนำหลักและแกนนำรองของตนเองในระดับท้องถิ่น จัดวางเครือข่ายสื่อสารหลักและเครือข่ายสื่อสารสำรองฉุกเฉินไว้หลาย ๆ ชั้น ตระเตรียมทรัพยากรต่าง ๆ ให้พร้อมสรรพ พร้อมรับการรุกครั้งใหม่ของพวกเผด็จการ

เผด็จการไทยก็เหมือนเผด็จการอื่นในโลก คือประเมินกำลังของตนเองสูงเกินไป และประเมินประชาชนต่ำเกินไป พวกเขาได้ทำความผิดพลาดเบื้องต้นแล้วด้วยการเคลื่อนไหวรุกไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในเงื่อนไขปัจจุบันที่ยังเป็นคุณกับฝ่ายประชาธิปไตย พวกเขาจะทำความผิดพลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

และในที่สุด โอกาสที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะตอบโต้และช่วงชิงให้ได้ชัยชนะในขั้นสุดท้าย ก็จะมาถึง
http://redusala.blogspot.com

2475 ของแดง 2490 ของเหลือง


2475 ของแดง 2490 ของเหลือง


ใบต้องแห้ง'' Voice TV: 2475 ของแดง 2490 ของเหลือง

ใบต้องแห้ง
ที่มา: Voice TV
 http://www.voicetv.co.th/blog/1176.html


ถ้ามีใครไปบอก “พี่เนาว์” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ว่า “พี่กลายเป็นพวกหนับหนุนรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ไปแล้ว รู้ตัวหรือเปล่า” พี่เนาว์คงโกรธแบบไม่เผาผี ไม่คบหากันชั่วชีวิตนี้

ทำนองเดียวกับพี่พิภพ ธงไชย, สุริยะใส กตะศิลา, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข, รสนา โตสิตระกูล, สันติสุข โสภณศิริ, หมอพลเดช ปิ่นประทีป ฯลฯ พวกที่เคยอยู่ใน “ภาคประชาสังคม” มาก่อน พวกที่เคยทำมูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน ไม่ว่าจะอยู่ในเครือข่ายหมอประเวศ เครือข่าย ส.ศิวรักษ์ (ซึ่งมักทับซ้อนกัน) หรือผู้นำยุค 14 ตุลา อย่างธีรยุทธ บุญมี, จีรนันท์ พิตรปรีชา (ไม่อยากนับสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์)

คนเหล่านี้ล้วนเคยยกย่องเชิดชู อ.ปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎร และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาทั้งสิ้น

แต่ผ่านความขัดแย้งทางการเมืองมา 6 ปี ตั้งแต่เรียกร้อง ม.7 มาจนสนับสนุนรัฐประหาร ยืนอยู่ข้างพวกที่ใช้วาทกรรม “พระราชอำนาจ” และ “ผังล้มเจ้า” ปราบปรามผู้มีความเห็นต่าง (ท่านทั้งหลายอาจไม่ได้พูดเอง แต่ยืนข้างๆ และไม่คัดค้านผู้ที่ใช้เครื่องมือเหล่านี้) กระทั่งต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112

จะทันรู้ตัวหรือไม่รู้ พวกท่านก็กลายเป็นทายาททางอุดมการณ์ของคณะรัฐประหาร 2490 ผู้ล้มล้าง อ.ปรีดีไปเสียแล้ว

ขณะที่เสื้อแดงแย่งยึดเอา 24 มิถุนายน 2475 ไปครอบครอง โดยพวกท่านไม่สามารถร้องแรกแหกปากได้ เพราะพูดอะไรออกมา ก็ไม่ตรงกับอุดมการณ์ของคณะราษฎร เช่น สนับสนุนศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาก้าวก่ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แบบนี้ ดวงวิญญาณ อ.ปรีดีถ้ามีจริงคงส่ายหน้าด้วยความเศร้าใจ (ส่วนเปรตบรรพบุรุษของนักการเมืองที่ให้ร้าย อ.ปรีดี ก็ร้องกรี๊ดสะใจในโรงหนัง)

มีรายเดียว ที่บังเอิ๊ญ เป็นทายาทรัฐประหารทางสายเลือดมาแต่ต้น อุตส่าห์หนีไปเป็นฝ่ายซ้ายหลายสิบปียังหนีไม่พ้น ต้องวนกลับมาย่ำรอยบรรพบุรุษตัวเอง คืออาจารย์โต้ง (ฮาไม่ออก)

ทางแยกที่เด่นชัด

 24 มิถุนายน ก็ไม่ต่างจาก 6 ตุลา 2519 ที่กลายเป็นของเสื้อแดงไปแล้ว แต่ 14 ตุลา อาจจะยังก้ำกึ่งให้เสื้อเหลืองมีส่วนร่วม เพราะตอนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ธีรยุทธ บุญมี กับเพื่อนพ้องก็ยัง
อ้างพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ที่ว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

ซึ่งต่อมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ชี้ให้เห็นว่าเป็นความมั่วนิ่มครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะพระราชหัตถเลขา ร.7 มีขึ้นในตอนที่ทรงสละราชสมบัติ ภายหลังขัดแย้งกับคณะราษฎร ซึ่ง “ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่คือการที่ทรงพยายามต่อรองขอเพิ่มพระราชอำนาจของพระองค์เองในระดับที่คณะราษฎรไม่อาจยอมรับได้ เดิมทีเดียว ร.7 เพียงแต่ใช้การขู่สละราชย์เป็น “อาวุธ” ต่อรองเท่านั้น แต่เมื่อขู่มากๆเข้าแล้วอีกฝ่ายไม่ยอมทำตาม จึงต้องทรงสละราชย์จริงๆ อย่างไรก็ตาม ในการที่ทรงนิพนธ์พระราชหัตถเลขาสละราชย์นั้น ร.7 ทรงหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงข้อเรียกร้องรูปธรรมของพระองค์ แต่ทรงหันเข้าหาหลักการประชาธิปไตยอันสูงส่งแทน”

พระราชหัตถเลขาจึงกลายเป็น “เอกสารสำหรับใช้โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาล” แต่ต่อมากลับกลายเป็น “วรรคทอง” ที่เอาไปใช้สร้างความซาบซึ้งตื้นตันเวลาจะด่าเผด็จการหรือนักการเมือง กระทั่งเอาไปสลักไว้ที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์หน้ารัฐสภา

จากนั้น เราก็มั่วนิ่มทำซึ้งกันมาตลอด ทั้งที่ ร.7 ไม่ได้ “เต็มใจสละอำนาจ” ซักหน่อย ท่านถูกคณะราษฎรยึดอำนาจต่างหาก

ที่พูดนี่ไม่ใช่จะประณามว่าธีรยุทธกับเพื่อนพ้องผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นพวกกษัตริย์นิยมมาแต่ต้น เพราะโดยบริบทของสังคมในปี 2516 คงไม่ค่อยจะได้แยกแยะกันซักเท่าไหร่ อะไรที่ฉวยมาต่อต้านเผด็จการได้ก็คงเอา

คือถ้าเราเอามาใช้โดยไม่รู้ปูมหลังแต่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอันสูงส่งก็ไม่เป็นไร ซึ่งปรากฏว่าได้ใช้กันอย่างมั่วนิ่มมาตลอด เช่นที่สมศักดิ์เล่าว่าในเดือนพฤษภาคม 2543 ระหว่างงานฉลอง 100 ปีปรีดี พนมยงค์ ที่ธรรมศาสตร์ พี่เนาว์อ่านบทกวีสดุดีปรีดี โดยมีสไลด์ประกอบ หนึ่งในภาพสไลด์ก็คือข้อความ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม….” ที่เขียนขึ้นเพื่อต่อต้านปรีดีและคณะราษฎรนั่นเอง

มานึกย้อนดู สมัยที่ผมอยู่ในขบวนการนักศึกษาหลัง 14 ตุลา ก็เป็นพวกที่ไม่ค่อยศึกษาทฤษฎี ไม่ค่อยศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเขาหรอก สมัยนั้นยังมองชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นพวกก้าวหน้าอยู่เลย ไม่ยักรู้ว่าชัยอนันต์เป็นพวกนิยมเจ้าแอนตี้คณะราษฎร อ้างว่า ร.7 พยายามสถาปนาประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่คณะราษฎรชิงลงมือทำ “รัฐประหาร” ก่อน และว่า 2475 เป็นการกระทำของ “ชนชั้นนำ” โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม

สรุปว่าชัยอนันต์ ซึ่งเขียนเรื่อง “ราชประชาสมาสัย” ไว้ตั้งแต่ 40 ปีก่อน เป็นคนที่ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน น่านับถือ น่านับถือ

ผมมาลำดับประวัติศาสตร์ที่ตัวเองมีส่วนร่วม ดูย้อนหลังแล้วก็ทั้งแปลกใจและไม่แปลกใจ ที่พบว่าอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลา และพฤษภา 35 คือเราอยู่ในส่วนของเรา ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ได้สนใจอุดมการณ์กษัตริย์นิยม โดยเฉพาะเมื่ออุดมการณ์นี้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือเข่นฆ่าปราบปรามผมและเพื่อนๆ เมื่อ 6 ตุลา 2519

แต่เมื่อฟังธงชัย วินิจจะกูล วิเคราะห์ย้อนหลังว่า “ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์” เกิดขึ้นพร้อม 14 ตุลา ก็ไม่แปลกใจและเห็นด้วย การเรียกร้องประชาธิปไตยได้ทำลายอำนาจเผด็จการของกองทัพ ที่ปกครองประเทศมายาวนาน แม้กองทัพ โดยเฉพาะยุคสฤษดิ์ จะเชิดชูอุดมการณ์กษัตริย์นิยม แต่ก็ยังมีอำนาจนำในการเมืองการปกครอง จนกระทั่งกองทัพถูกโค่นไปเมื่อ 14 ตุลา 2516 แม้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมจะถูกฝ่ายขวาจัดนำมาใช้ปราบปรามเข่นฆ่าในเหตุการณ์ 6 ตุลา พร้อมกับสถาปนาระบอบเผด็จการ "รัฐบาลหอย" แต่เมื่อเห็นว่าความสุดขั้วไปไม่รอด พวกอุดมการณ์กษัตริย์นิยมสายกลาง ก็ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลหอย นำไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ 8 ปีของพลเอกเปรม

ซึ่งกล่าวได้ว่า 8 ปีนั้นเป็นการวางรากฐานของระบอบที่ก้ำกึ่งระหว่างประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง กับอำนาจที่แท้จริงของอำมาตย์ ซึ่งชูอุดมการณ์กษัตริย์นิยม

จากทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา อุดมการณ์กษัตริย์นิยมเติบโตเข้มแข็ง ด้านหนึ่งก็เป็นผลจากการเพิ่มโทษมาตรา 112 ของคณะปฏิรูป 6 ตุลา 2519 เรื่องน่าประหลาดใจคือ ในเวลาต่อมา แม้ความจริงเรื่อง 6 ตุลา 2519 จะได้รับการตีแผ่ แต่ก็ไม่กระทบอุดมการณ์กษัตริย์นิยมแม้แต่น้อย และแม้ในช่วงทศวรรษ 2520 นี้เองที่แวดวงวิชาการเริ่มกลับมายกย่องเชิดชู อ.ปรีดีและคณะราษฎร แต่ก็ไม่กระทบอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเช่นกัน

เราจึงไม่ต้องแปลกใจที่เห็นคนรุ่นอายุ 40-45 (ซึ่งเริ่มเรียนหนังสือสมัยที่เรื่องราวของ 6 ตุลาถูกลบไปเรียบร้อยแล้ว มิพักต้องพูดถึงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคณะราษฎร) เติบโตมาเป็นอย่างคุณหมอตุลย์ มีส่วนน้อยคือพวกทำกิจกรรม พวกที่อยู่ในวงวิชาการ ภาคประชาสังคม ที่ชื่นชม อ.ปรีดี (เน้นว่า อ.ปรีดี ไม่ใช่คณะราษฎรทั้งหมด) แต่คนที่พูดอย่างจริงจังถึงการที่ อ.ปรีดีถูกโค่นล้มโดยอุดมการณ์กษัตริย์นิยม ก็มีจำนวนน้อยนิด

จนกระทั่งมาถึงทางแยกของอุดมการณ์ ในการขับไล่ทักษิณ ซึ่งคนในภาคประชาสังคมแห่เข้าไปร่วมกับพวกจารีตนิยม พอจนปัญญาที่จะโค่นล้มทักษิณ ผู้มาจากการเลือกตั้ง ก็หันไปอ้างอุดมการณ์กษัตริย์นิม อุดมการณ์ราชาชาตินิยม ปลุกมวลชนให้คลั่งชาติ คลั่งเจ้า ตั้งแต่ขอ ม.7 นายกพระราชทาน สนับสนุนรัฐประหาร บิดเบือนเรื่องปราสาทพระวิหาร จนกระทั่ง “ผังล้มเจ้า” ที่ใช้ประกอบการฆาตกรรมมวลชนเสื้อแดง

ถึงวันนี้ จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว พวกเขาก็กลายเป็น “ฝ่ายขวา” ไปเรียบร้อยแล้ว (โดยไม่ต้องมาเขียนบทกวีด่าฝ่ายซ้าย)

อุดมการณ์ 2475

อุดมการณ์ของคณะราษฎร เขียนไว้ชัดเจนในคำประกาศ และรัฐธรรมนูญ 2475 ฉบับแรก ที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”
 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ชัดเจนตั้งแต่คำปรารภว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยมาตราต่อไปนี้”

ชัดเจนนะครับ คณะราษฎรไม่ได้ล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์มี 2 สถานะคือ หนึ่ง เป็นองค์พระประมุข และสอง เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ให้เหลือแต่สถานะความเป็นองค์ประมุขแต่อย่างเดียว ไม่ต้องมีอำนาจสั่งการบริหารราชการแผ่นดินอีก ไม่ต้องใช้อำนาจที่ทำให้เกิดความพอใจ ไม่พอใจ ถูกวิจารณ์ ถูกต่อต้าน ถูกติฉินนินทา และลงมาอยู่ “ใต้รัฐธรรมนูญ” เช่นเดียวกับประเทศที่เป็นราชอาณาจักรที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายในโลก

ประเด็นนี้ที่คนรุ่นหมอตุลย์ไม่เข้าใจ เพราะการศึกษาตามหลักสูตรไม่เคยสอนให้รู้ว่า ก่อน 2475 รัชกาลที่ 7 และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เข้ามามีอำนาจบริหารราชการ ถูกวิจารณ์ถูกต่อต้านเพียงไร โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ แล้วรัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะความเทอะทะ ไร้ประสิทธิภาพ และเหลื่อมล้ำในระบบ

คณะราษฎรอาจจะชิงสุกก่อนห่าม แต่ไม่ทราบเหมือนกันว่าถ้าปล่อยให้สุก แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

มองอีกมุมหนึ่ง คณะราษฎรต่างหากที่เทิดพระมหากษัตริย์ให้พ้นไปจากความรับผิดชอบ ให้เป็นที่เคารพยกย่องเพียงอย่างเดียว

รัฐธรรมนูญ 2475 ประกาศอุดมการณ์ประชาธิปไตย ตั้งแต่มาตรา 1 ว่า“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาไม่เคยใช้ถ้อยคำอย่างนี้อีก

ขณะเดียวกัน มาตรา 3 ก็บัญญัติชัดเจนว่าเราจะมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข “กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ซึ่งจะมีบทกฎหมายระบุไว้โดยฉะเพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์”

โดยมีมาตรา 7 กำกับไว้ว่า “การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ”

ก็คือนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามมติคณะรัฐมนตรีนั่นแหละครับ เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ แต่มาตรานี้ต่อมาก็หายสาบสูญไปเช่นกัน

รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 มีการ “ปรองดอง” ระหว่าง ร.7 กับคณะราษฎร โดยเทิดพระเกียรติเป็นการ “พระราชทานรัฐธรรมนูญ” (เฉพาะคำปรารภก็เป็นถ้อยคำสดุดียาวเหยียด 4-5 ย่อหน้า) คำว่า “อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” หายไป คำว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” หายไป มีมาตรา 3 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” รวมถึงใช้คำว่า “พระราชอำนาจ” ในที่ต่างๆ (และเปลี่ยนจากคำว่า “กษัตริย์” เป็น “พระมหากษัตริย์”)

แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่านั่นคือการยกย่องเชิงสัญลักษณ์ เพราะคณะราษฎรก็ต้องการ “ปรองดอง” แต่สุดท้าย ฝ่ายกษัตริย์นิยมไม่ยอมปรองดองด้วย พระยามโนฯ ทำรัฐประหารเงียบ งดใช้รัฐธรรมนูญ พระยาพหลฯ ต้องทำรัฐประหารเพื่อเอารัฐธรรมนูญกลับมา แล้วก็เกิดกบฎบวรเดช พาทหารต่างจังหวัดมาตายอย่างน่าสงสาร พวกหัวโจกกบฎถูกประหารบ้าง ถูกจับเข้าคุก ส่งไปอยู่เกาะตะรุเตา แล้วก็โอดครวญว่าพวกที่ต่อต้านคณะราษฎฏรถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ทั้งที่พวกตัวก่อกบฎเพื่อล้มระบอบประชาธิปไตย

แต่สมัย 14 ตุลาที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน เรื่องพวกนี้ก็มั่วกันหมดนะครับ ตอนนั้นหนังสือ “เมืองนิมิตร” ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน ก็ตีพิมพ์ใหม่เผยแพร่กันกว้างขวาง ที่จริงความคิดของท่านก็เป็นเชิงอุดมคติ แบบว่าประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุดเสมอไป พูดอีกก็ถูกอีก ในเชิงปรัชญา ในเชิงแสวงหา ไม่ผิดหรอกครับ แต่ตอนนั้นมันคือการต่อสู้ระหว่างจะเป็นประชาธิปไตยหรือกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะเลือกอะไรที่ก้าวหน้ากว่า

เข้าใจว่าพี่เนาว์แกคงอ่านเมืองนิมิตรและได้รับอิทธิพลความคิดเพ้อฝันอยู่เหมือนกัน

อุดมการณ์ 2490

รัฐธรรมนูญฉบับแรก 2475 สะท้อนอุดมการณ์คณะราษฎรชัดเจน เพราะร่างไว้ตั้งแต่ก่อนก่อการ ชัดเจนว่าไม่ต้องการ “ล้มเจ้า” แต่ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เป็นประมุขสูงสุด ไม่ต้องมีอำนาจและไม่ต้องรับผิดชอบ

แต่พวกนิยมเจ้าตอนนั้นไม่พอใจ เพราะ 2475 ล้างบางอำนาจของพระบรมวงศานุวงศ์ จึงก่อกบฎบวรเดช จนถูกปราบปรามราบคาบ

หลัง ร.7 สละราชสมบัติ ก็ยิ่งชัดเจนว่าคณะราษฎรยังต้องการให้มีพระมหากษัตริย์ จึงอัญเชิญในหลวงรัชกาลที่ 8 กลับมาครองราชย์ ทั้งที่ตอนนั้น คณะราษฎรจะเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสาธารณรัฐก็ทำได้ เพราะปราบพวกเชื้อพระวงศ์ราบคาบไปแล้ว

แต่ความขัดแย้งระหว่าง อ.ปรีดีกับจอมพล ป.ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ อ.ปรีดีก่อตั้งเสรีไทย หันไปร่วมมือกับพวกกษัตริย์นิยม โดยให้คำมั่นว่าจะปลดปล่อยพวกที่ถูกจำคุกอยู่ออกจากคุก ซึ่งก็มาปล่อยในสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ที่ อ.ปรีดีหนุนหลังในปี 2488

อ.ปรีดีไม่คาดคิดว่าพวกเขาจะแว้งกลับมาเล่นงาน เมื่อเกิดกรณีสวรรคต ที่ท่านถูกตะโกนกล่าวหาในโรงหนัง (ยิ่งกว่าผังล้มเจ้า) พวกกษัตริย์นิยม พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมมือกับทหาร นำโดยปู่และพ่ออาจารย์โต้ง ทำรัฐประหาร 2490 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่สุด แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับใต้ตุ่ม 2490

ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กลับมามี “อภิรัฐมนตรี” เป็นผู้ถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นให้พระมหากษัตริย์ “เลือกตั้ง” วุฒิสมาชิก (ใช้คำแปลกดี) และให้ประธานคณะอภิรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นี่คือการดึงพระมหากษัตริย์กลับเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2492 ฉบับถาวร เพียงเปลี่ยนจากคำว่าอภิรัฐมนตรีมาเป็นองคมนตรี โดยพระมหากษัตริย์ยังทรงแต่งตั้งวุฒิสมาชิก โดยประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา (พูดให้ชัดหน่อยนะครับว่า ตอนนั้นในหลวงยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร รังสิต ซึ่งตอนกบฎบวรเดชโดนจับติดคุกอยู่สิบกว่าปี)

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อปัญหาให้กับอำนาจบริหาร รัฐบาลจอมพล ป.ถูกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรที่มีพรรคประชาธิปัตย์อยู่ครึ่งหนึ่ง ขัดแข้งขัดขาจนทำงานไม่ได้ จอมพล ป.จึงทำรัฐประหารตัวเองเมื่อปี 2494 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2495 ซี่งเอา 2475 มาผสมกับ 2492 แม้ยังมีองคมนตรี แต่ก็ตัดพระราชอำนาจแต่งตั้งวุฒิสมาชิกออกไป

กระนั้นรัฐธรรมนูญ 2492 ก็กลายเป็นแม่แบบให้รัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ คือยังมีองคมนตรี และสร้างความคลุมเครือในการอ้าง “พระราชอำนาจ”

รัฐธรรมนูญ 2492 ยังเป็นฉบับแรกที่มีมาตรา 2 ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งก็ใช้ต่อกันมาเรื่อยๆ จนปี 2534 จึงกำเนิดคำว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ถามว่ารัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นของคณะราษฎร ไม่เอาพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือ ก็ไม่ใช่นะครับ เพราะอย่างที่ยกให้เห็นแล้ว มาตรา 3 ของ 2475 ฉบับแรก “กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ” หรือ 2475 ฉบับ 10 ธันวาคม ก็บัญญัติตั้งแต่มาตรา 1 “สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” มาตรา 2 “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

แค่ 2 มาตรานี้ก็ชัดเจนแล้ว เป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉะนั้น คำว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” จึงเป็นมาตราฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น แล้วรัฐธรรมนูญ 2534 ก็มาประดิษฐ์คำใหม่จากคำที่ไม่จำเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ซึ่งต่อมาก็มีคนเอาไปตีความพิลึกพิกล ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนใครในโลก และกลายเป็นชื่ออันไพเราะของคณะรัฐประหาร “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

คุณเลือกข้างแล้ว

เรื่องหนึ่งที่พวกกษัตริย์นิยมชอบนำมาบิดเบือนคือ ร.7 เตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม

ความจริงคือรัฐธรรมนูญของ ร.7 เป็นเพียงการออกแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ อำนาจสูงสุดยังเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่จะทรงตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศแทน

ตลกนะครับ 80 ปีผ่านไป ยังมีคนกลับไปเรียกร้อง “นายกพระราชทาน”

ถ้าเราดูแกนความคิดของพวกพันธมิตร ผ่านชัยอนันต์ สมุทวณิช กับปราโมทย์ นาครทรรพ จะเห็นได้ชัดเจนจากหนังสือ “ราชประชาสมาสัย” ของปราโมทย์ ที่ชัยอนันต์เขียนตอนหนึ่งว่า “อาจารย์ปราโมทย์เป็นผู้ซึ่งมีความเข้าใจการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง และเสนอความคิดเห็นในการปฏิรูปการเมืองโดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของสังคมไทย อาจารย์เห็นว่าการมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องให้ประชาชนกับพระมหากษัตริย์มีส่วนร่วมกันสร้างประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของพระมหากษัตริย์ในชีวิตการเมืองของประเทศเป็นสิ่งที่เหมาะสม โดยใช้พระราชอำนาจต่างๆ อย่างเป็นระบบตามลัทธิรัฐธรรมนูญ”

นี่คือความพยายามจะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจน และเป็นอุดมการณ์ 2 แนวทางที่ต่อสู้กันอยู่ขณะนี้ ระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ยึดแนวทางคณะราษฎร เทิดพระมหากษัตริย์ไว้เป็นที่เคารพสักการะ พ้นไปจากการต่อสู้ทางการเมือง หรือการกำหนดแนวบริหาร การพัฒนาประเทศ ทั้งปวง กับอุดมการณ์ที่เห็นว่านักการเมืองเลว ประชาชนยังโง่อยู่ ต้องดึงพระมหากษัตริย์มา “มีส่วนร่วม”

80 ปียังต่อสู้กันไม่จบ แต่ตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าใครเลือกข้างไหน ไม่ว่าในอดีตจะเป็นพวกที่เคยยกย่องเชิดชู อ.ปรีดีและคณะราษฎรมาอย่างไร เมื่อถึงทางแยก พวกท่านก็เลือกแล้ว

จะปากแข็งไม่ยอมรับกันอย่างไรก็ได้ จะด่าว่านักการเมือง แกนนำ นปช.ว่าใช้คณะราษฎรเป็นเครื่องมือ ก็ตามสบาย แต่ที่แน่ๆ คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ทำให้มวลชนเสื้อแดงจำนวนมากได้รู้จักและกลับมายกย่องคณะราษฎร ขณะที่มวลชนเสื้อเหลืองของพิภพ สุริยะใส เที่ยวด่าคณะราษฎรกันอึงมี่ ว่ากำเริบเสิบสาน ชิงสุกก่อนห่าม ประชาชนไม่พร้อม ประเทศชาติเลยลำบาก เพราะนักการเมืองโกง ซื้อเสียง ฯลฯ

แน่จริงลองจัดงานชุมนุมเสื้อเหลืองและสลิ่มรำลึกคณะราษฎรดูสิครับ พวกเขาจะมายกย่องหรือมาด่า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน 

http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
http://redusala.blogspot.com

“ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ”ชำแหละ 80 ปี ปชต.ไทย การเมืองยังเหมือนเดิม ชี้ต้องรู้ประวัติศาสตร์เพื่อปรับตัว.


“ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ”ชำแหละ 80 ปี ปชต.ไทย
การเมืองยังเหมือนเดิม ชี้ต้องรู้ประวัติศาสตร์เพื่อปรับตัว.
“ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ”ชำแหละ 80 ปี ปชต.ไทย
การเมืองยังเหมือนเดิม ชี้ต้องรู้ประวัติศาสตร์เพื่อปรับตัว.



“ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ”ชำแหละ 80 ปี ปชต.ไทย
การเมืองยังเหมือนเดิม ชี้ต้องรู้ประวัติศาสตร์เพื่อปรับตัว
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 19:37 น.



วันที่ 24 มิ.ย. ที่หอประชุมพูนสุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการแสดงปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2555 ครบรอบ 80 ปี การอภิวัฒน์สยาม และครบรอบ 17 ปีสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในหัวข้อ “แปดทศวรรษสยามปฏิวัติ : ความคิดว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน ”

ว่า แม้จะผ่านมา 80 ปีเหตุการณ์ทางการเมืองก็ยังคงเหมือนเดิม ระยะเปลี่ยนผ่านของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยนั้นเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 24 มิ.ย.2475 - 24 มิ.ย.2476

โดยคณะราษฎรมีแนวคิดต้องการเปลี่ยนการปกครองจากเดิมที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมายมาเป็นอยู่ใต้กฎหมาย พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สุข ซึ่งถือว่าเป็นการปกครองใหม่ จนในการประชุมสภาครั้งแรกมีการโต้แย้งกันในประเด็นเรื่อง ประชาธิปไตยใหม่นี้เป็นอย่างมาก ซึ่งในระหว่างเปลี่ยนผ่านนี้อำนาจอธิปัตย์ก็ยังคงอยู่ที่พระมหากษัตริย์ โดยสังเกตได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเป็นการยกโทษการกระทำของคณะราษฎร ตามที่คณะราษฎรเสนอมา


ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยถูกกำหนดให้มีความต่อเนื่อง โดยนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรได้แสดงจุดยืนอย่างออมชอม ประนีประนอมเพื่อต้องการให้การปกครองใหม่นี้ดำเนินการต่อไปได้ นายปรีดีจึงใช้กระบวนการช่วยพยุงประชาธิปไตยใหม่ให้อยู่ได้และก้าวหน้าต่อไป อย่างไรก็ตามผู้นำ 2 ฝ่ายในขณะนั้น คือฝ่ายรัฐบาลเก่าและกลุ่มคณะราษฎรยอมรับตรงกันว่าการปกครองใหม่ที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่กระบวนการที่จะสำเร็จเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีการผสมผสานรูปแบบเก่ากับใหม่อยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นการอภิวัฒน์ที่ยังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งก็มีฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ดำเนินการเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในการเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน ”


“การเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น และเดินหน้าต่อไปจนคิดว่าน่าจะมีการผลักดันให้การปกครองเข้าสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นจากการที่นายปรีดี พยายามเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เป็นการช่วยยกระดับของประชาชน กระจายรายได้สู่ประชาชน แต่ก็มีการกีดขวางจนมีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม จนทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นตกไป” ศ.ดร.ธเนศ กล่าว

“แนวคิดเค้าโครงทางเศรษฐกิจของนายปรีดีขณะนั้นได้ก้าวข้ามระบบเสรีนิยม เป็นการนำเสนอที่ล้ำหน้า ช่วยยกระดับประชาชน เป็นแนวคิดที่ปฏิวัติเศรษฐกิจอย่างแท้จริง แต่ปัจจุบันนี้ไม่สามารถทำได้แล้วเพราะโครงสร้างการถือครองแข็งตัวไปหมดแล้ว ”


ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า “ ปัญหาของประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นหลังจาก พ.ศ.2490 ซึ่งมีการขยายบทบาทของสถาบันกษัตริย์เชื่อมโยงเข้าสู่การปกครอง . . หนทางที่จะไม่ให้เหตุการณ์กลับไปซ้ำรอยอดีตก็ควรจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นและนำมาปรับใช้กับปัจจุบัน ”
http://redusala.blogspot.com

ผบก.น.6 เบิกความกลางศาล! เสื้อแดงโดนเจ้าหน้าที่รัฐยิงตาย ไม่มีชายชุดดำ


ผบก.น.6 เบิกความกลางศาล! เสื้อแดงโดนเจ้าหน้าที่รัฐยิงตาย ไม่มีชายชุดดำ






ที่ห้องพิจารณา 501 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง63 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคำร้องการเสียชีวิตนัดแรกที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของนายชาติชาญ ชาเหลา อายุ 25 ปี ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าอาคารอื้อจื่อเหลียง ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค.53 ในสมัยรัฐบาลนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในวันนี้พนักงานอัยการเตรียมพยานเข้าเบิกความจำนวน 2 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.อ. สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 นางพลอย ขบวนฮาม มารดาของนายชาติชาย

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ เบิกความปากแรกสรุปว่า ตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ชุดที่ 3 โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย.54 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ส่งสำนวนมาให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลสอบสวน (บช.น.) สอบสวนต่อ เนื่องจากเชื่อว่าการเสียชีวิตของนายชาติชายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งตนได้ทำหนังสือยื่นต่อสำนักงานอัยการสูงสุดขอให้ส่งพนักงานอัยการร่วมสืบสวนด้วย โดยการสอบสวนในชุดของตนพบว่า คดีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. -19 พ.ค.53 โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) เริ่มชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เพื่อขอให้รัฐบาลยุบสภา แต่รัฐบาลไม่ยอมทำตาม กลุ่มผู้ชุมนุมจึงขยายการชุมนุมไปหลายพื้นที่รวมถึงแยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก นายอภิสิทธิ์จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง จากนั้นได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อระงับสถานการณ์รุนแรง รวมทั้งได้ประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ห้ามเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม ห้ามเดินรถโดยสารบางพื้นที่ ห้ามให้บริการรถไฟฟ้าบางสถานี และตัดสาธารณูปโภค

พ.ต.อ. สืบศักดิ์ เบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุวันที่ 13 พ.ค.53 ศูนย์ ศอฉ.มีคำสั่งมอบหมายให้กำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตั้งด่านแข็งแรงที่บริเวณสะพานลอยหน้าอาคารอื้อจื่อเหลียง มีอาวุธปืนเอ็ม 16 เอ็ม 653 เอชเค ปืนลูกซองกระสุนยาง กระสุนซ้อมรบ และกระสุนจริงประจำกาย ซึ่งแนวกั้นด่านนอกจากทหารแล้วผู้อื่นไม่สามารถเข้าไปในบริเวณนั้นได้ ขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากจากแยกถนนวิทยุมุ่งหน้าตรงเข้าหาด่านของทหาร โดยผู้ชุมนุมใช้พลุและตะไลยิงเข้าใส่ด่าน เจ้าหน้าที่ทหารจึงใช้ปืนยิงตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุม กระทั่งเวลาประมาณ 22.50 น. ขณะที่นายชาติชายซึ่งมาร่วมชุมนุมและถือกล้องวีดีโอยืนถ่ายภาพเหตุการณ์อยู่หน้าบริษัทปริศนา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ใกล้อาคารอื้อจื่อเหลียง ได้ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่หน้าผากด้านขวาทะลุศรีษะ 1 นัด เสียชีวิตที่ รพ.จุฬา

ภายหลังการเสียชีวิตพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน พร้อมด้วยแพทย์นิติเวช พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมทั้งสิ้น 10 ฝ่ายร่วมชันสูตรพลิกศพผลปรากฏว่า นายชาติชายถูกกระสุนความเร็วสูงยิงเข้าที่ศรีษะทำลายอวัยวะสำคัญจนเสียชีวิต เมื่อตรวจสอบพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุพบเศษชิ้นเนื้อ เส้นผม คราบเลือดของผู้ตาย และเศษหัวกระสุนตกที่พื้นใกล้จุดที่นายชาติชาย ผู้ตายล้มลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนตรวจพิสูจน์พบเพียงแค่รอยแนววิถีกระสุนที่นายชาติชายถูกยิง และยืนยันว่าเป็นกระสุนความเร็วสูง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นกระสุนชนิดใด เนื่องจากเศษกระสุนเสียสภาพมาก อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมพยานเอกสารหลักฐาน ประจักษ์พยานแล้วไม่พบชายชุดดำปะปนกับผู้ร่วมชุมนุม จึงเชื่อว่านายชาติชายเสียชีวิตเนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
http://redusala.blogspot.com

สัญญาณให้ "รัฐประหารเงียบ" จาก "อำนาจพิเศษ"


สัญญาณให้ "รัฐประหารเงียบ" จาก "อำนาจพิเศษ"

สัญญาณให้ "รัฐประหารเงียบ" จาก "อำนาจพิเศษ"
ตอน 1
ตอน 2

คลิปบันทึกรายการ "เจาะลึกทั่วไทย อินไซต์ไทยแลนด์" เจาะลึกประเด็น สัญญาณให้รัฐประหารเงียบจาก "อำนาจพิเศษ" กับอาจารย์ ผศ.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
http://redusala.blogspot.com

NASA เซ็ง! ครม.ให้เอาเข้าสภาถก ให้ประชาชนตัดสินเอ


NASA เซ็ง! ครม.ให้เอาเข้าสภาถก ให้ประชาชนตัดสินเอ




นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี( 26 มิถุนายน) มีมติให้เปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วม โดยไม่มีการลงมติในปัญหาที่อภิปราย ทั้งนี้ เพื่อให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้อภิปรายแสดงความคิดความเห็นกรณีนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา


ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 179 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
http://redusala.blogspot.com

นายกฯ แจง ครม.อนุญาตนาซาใช้อู่ตะเภา แต่ต้องผ่านกระบวนสภา


นายกฯ แจง ครม.อนุญาตนาซาใช้อู่ตะเภา แต่ต้องผ่านกระบวนสภา





ทำเนียบรัฐบาล 26 มิ.ย.-นายกรัฐมนตรีแถลงผลประชุม ครม. ระบุ ครม.อนุญาตให้นาซาใช้สนามบินอู่ตะเภาได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการสภา เพื่อให้ฝ่ายค้านได้ตรวจสอบตามกลไก ยอมรับเสียใจที่ไทยอาจต้องเสียโอกาส หากการพิจารณาล่าช้าและนาซายกเลิกโครงการ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา ใช้สนามบินอู่ตะเภาในการวิจัยสภาพชั้นบรรยากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่ขอให้ผ่านกระบวนการของสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 ก่อน เพราะแม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 (2) แต่เมื่อมีความเห็นต่าง โดยเฉพาะฝ่ายค้านที่กล่าวหาและทักท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรง จึงต้องใช้กลไกของสภาในการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ว่าเป็นไปตามข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านหรือไม่

ทั้งนี้ เรื่องการขอใช้พื้นที่ของนาซาเป็นการดำเนินการมาจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และจนถึงขณะนี้รัฐบาลกับกองทัพยังไม่เคยดำเนินการใดๆ ที่เป็นผลผูกพันทางข้อกฎหมาย ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม.

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การใช้กลไกของสภาตรวจสอบกรณีนาซาอาจทำให้เกิดความล่าช้า และอาจทำให้นาซายกเลิกโครงการวิจัยในปีนี้ เพราะหากจะทำวิจัยจะต้องอยู่ในช่วงมรสุม ซึ่งเหมาะสมกับสภาพอากาศที่จะตรวจสอบ ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายต่อโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีของไทย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนให้ความร่วมมือในการค้นหาเทคโนโลยีต่างๆ มาวิเคราะห์คำนวณภัยธรรมชาติ ส่วนหากตรวจสอบแล้วไม่พบการดำเนินการที่ผิดปกติ ฝ่ายค้านจะต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น อยู่ที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐว่า มอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไปชี้แจง เชื่อว่าสหรัฐจะเข้าใจ และเคารพการตัดสินใจของไทย ขณะเดียวกัน หากมีงานวิจัยจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการในไทย ก็จะไม่ใช้บรรทัดฐานเดียวกับองค์การนาซา แต่จะดูขอบข่ายของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เป็นหลัก.
http://redusala.blogspot.com

คุก "เจิมสาก" 4 เดือน รอลงอาญา 2 ปี คดีใส่ร้ายรับสินบน


คุก "เจิมสาก" 4 เดือน รอลงอาญา 2 ปี คดีใส่ร้ายรับสินบน





ศาลอาญาพิพากษาจำคุก “เจิมศักดิ์” 4 เดือนปรับ 1 แสนบาท ฐานหมิ่นประมาทในคดีภรรยาที่ปรึกษา“สนิท วรปัญญา” ประธานวุฒิสภา ฟ้องผู้ดำเนินรายการ “มุมมองเจิมศักดิ์” ชี้จำเลยพูดถึงนายอภิพล คงชนะกุล ผู้ตายว่าเป็นผู้ที่เรียกรับสินบนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จนถึงกับถูกให้ออกหรือปลดออกจากตำแหน่งที่ปรึกษา ไม่เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ที่ อ.237/2554 ที่ นางอภิวรรณ คงชนะกุล ภรรยานายอภิพล คงชนะกุล อดีตที่ปรึกษาประธานวุฒิสภา ซึ่งเสียชีวิตแล้ว เป็นโจทก์ฟ้องนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภาและผู้ดำเนินรายการชื่อดัง เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยจำเลยให้การปฏิเสธ

โจทก์ฟ้องสรุปว่า จำเลยได้พูดในรายการ “มุมมองเจิมศักดิ์” และรายการพูดตรงใจกับ “ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” ออกอากาศทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม ว่าในสมัยที่นายอภิพล คงชนะกุล ผู้ตายเป็นที่ปรึกษาของนายสนิท วรปัญญา ประธานวุฒิสภานั้นมีปัญหาเรื่องสินบนในการแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) โดยจำเลยได้พูดเปิดเผยในที่ประชุมลับของวุฒิสภา ว่าผู้ตายเป็นคนเรียกรับสินบน ชอบอ้างว่ามีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับบุคคลต่างๆ และชอบอ้างว่าจบดอกเตอร์ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ ต่อมาถูกนายสนิท วรปัญญาปลดออกจากตำแหน่งที่ปรึกษา ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 327 และ 328

ศาลพิเคราะห์หลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า ข้อความที่จำเลยพูดถึงนายอภิพล ผู้ตายว่า เป็นผู้ที่กระทำการเรียกรับสินบนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จนถึงกับถูกให้ออกหรือปลดออกจากตำแหน่งที่ปรึกษา และเป็นผู้ที่ไม่ได้จบการศึกษาระดับปริญญาเอก แต่แอบอ้างว่าจบการศึกษาดังกล่าว ไม่ใช่การแสดงความเห็นหรือข้อความโดยสุจริต หรือติชมด้วยความเป็นธรรม และยังรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นความจริง ข้อความที่พูดดังกล่าวเป็นการทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าผู้ตายเป็นคนไม่ดีแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยเรียกสินบนหากบุคคลอื่น อันมีลักษณะเป็นการกระทำผิดกฎหมายและแอบอ้างว่าจบการศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นบุคคลที่ไม่สมควรคบหา เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงของผู้ตายและส่งผลกระทบต่อโจทก์และครอบครัว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และการที่จำเลยพูดข้อความผ่านทางวิทยุกระจายเสียง โดยเผยแพร่ออกอากาศไปทั่วประเทศ นั้นเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ 2 เดือน และปรับกระทงละ 50,000 บาท รวมสองกระทง เป็นจำคุก 4 เดือน และปรับ 1 แสนบาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับและให้ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน 2 ฉบับ เป็นเวลา 2 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
http://redusala.blogspot.com

"ถาวร เสนเนียม" ตายสนิท! "นักวิจัยนาซ่า" ด่าอย่าเอาการเมืองมายุ่งวิทยาศาสตร์


"ถาวร เสนเนียม" ตายสนิท! "นักวิจัยนาซ่า" ด่าอย่าเอาการเมืองมายุ่งวิทยาศาสตร์

"ถาวร เสนเนียม" ตายสนิท! "นักวิจัยนาซ่า" ด่าอย่าเอาการเมืองมายุ่งวิทยาศาสตร์



คลิปบันทึกรายการ คม ชัด ลึก ตอน “นาซ่า...ฝ่าหมอกควันการเมือง?
ผู้ร่วมรายการ ถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์รศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ
http://redusala.blogspot.com