วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


รัฐบาลต้องยุติพ.ร.บ. ปรองดอง
''ฮิวแมนไรท์วอทช์'' ร้องรัฐบาลต้องยุติพ.ร.บ. ปรองดอง
Tue, 2012-05-15 23:09 (อ้างอิงจาก เวบไซท์ประชาไท)

             หยุดปรองดองบนกองศพ ชี้เหยื่อจากความรุนแรงมีแต่เสียประโยชน์จากการนิรโทษกรรม ในขณะที่นักวิชาการจากศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับกระทบเหตุการณ์เม.ย.-พ.ค. 53 แนะ ต้องจับตาดูการทำงาน คอป. ในหน้าที่การค้นหาความจริง หากไม่เพียงพอ ต้องหาใหม่จนกว่าจะได้

            15 พ.ค. 55 - ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แถลงเรียกร้องรัฐบาลไทยต้องยุติการผลักดันพ.ร.บ. ปรองดอง เพราะเทียบเท่ากับการนิรโทษกรรมความผิดให้ผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่นักวิชาการมองว่าพ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน แต่ควรดูว่าคอป. สามารถค้นหาความจริงได้เพียงพอหรือไม่

           เมื่อเวลา 10.30 น. ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ฝ่ายเอเชียแปซิฟิก ได้แถลงเกี่ยวกับความคืบหน้าในการค้นหาความจริงและการปรองดองจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือนเม.ย.- พ.ค. 53 โดยชี้ว่าที่ผ่านมาสองปี รัฐบาลยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ และมองว่าความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันพ.ร.บ.ปรองดอง เป็นความพยายามนิรโทษกรรมผู้ทำความผิด เพื่อกลบเกลื่อนความผิดที่เกิดขึ้น จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการออกพ.ร.บ. ปรองดองโดยทันที

            "กองทัพไม่ควรอยู่เหนือกฎหมาย รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินคดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมดังกล่าว ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน หรือตำแหน่งอะไร เพื่อที่จะบรรลุความยุติธรรมให้แก่เหยื่อและยุติวงจรของการงดเว้นการรับผิด (impunity)" แบรด อดัมส์ระบุ

            อดัมส์กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเม.ย.- พ.ค. 53 ได้นำมาซึ่งการเสียชีวิตจากทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยทั้งสองฝ่ายต่างเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรง และอ้างแหล่งข่าวภายในรัฐบาลที่เชื่อถือได้ว่า ล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้เพิ่มขึ้นเป็น 102 คนแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายชื่อที่เพิ่มขึ้นมา


            ทั้งนี้ จากข้อมูลตัวเลขการเสียชีวิตของศูนย์ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมือเดือนเม.ย.- พ.ค. 2553 (ศปช.) ชี้ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตล่าสุดจากเหตุการณ์ดังกล่าวคือ 93 คน โดยผู้เสียชีวิตรายล่าสุด คือฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง ซึ่งเสียชีวิตลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากการถูกกระสุนลูกหลงในช่วงการสลายการชุมนุมเดือนพ.ค. 53

ย้ำต้องนำผู้กระทำผิดทุกฝ่ายมาลงโทษ

            แบรด อดัมส์ยังกล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ต่อการทำงานค้นหาความจริงด้วยว่า เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากทั้งสององค์กรไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเท่าที่ควร ในแง่ของงบประมาณ อำนาจ และความไว้เนื้อเชื่อใจจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในฝ่ายต่างๆ

              ฮิวแมนไรท์วอทช์ ย้ำว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จำเป็นต้องค้นหาความจริง และไม่ควรกระทำการใดๆ เพื่อล้มล้างความผิดในอดีตที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ หรือจากฝ่ายคนเสื้อแดง ที่มีการใช้ความรุนแรงจากกลุ่มคนติดอาวุธ หรือ "ชายชุดดำ" ซึ่งอดัมส์ระบุว่า มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าแกนนำนปช.มีส่วนรู้เห็น และชี้ว่า หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นสู่อำนาจในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม ความพยายามดำเนินคดีผู้กระทำความผิด กลับมุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่กลับละเลยการสืบสวนความรุนแรงจากฝ่ายคนเสื้อแดง

             "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นสู่อำนาจด้วยการสัญญาเหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองว่าจะนำมาซึ่งความยุติธรรม พวกเขาควรจะยับยั้งแรงกดดันต่างๆ ที่จะนำไปสู่การฟอกความผิด" อดัมส์ระบุ
             ทั้งนี้ ในงานดังกล่าว มีนายณัทพัช อัคฮาด น้องชายของพยาบาลกมนเกด อัคฮาด ซึ่งเสียชีวิตในวัดปทุมเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 53 มาร่วมแถลงข่าวด้วย โดยกล่าวความรู้สึกว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการปรองดอง รัฐบาลต้องหาความจริงและเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน เป็นเรื่องสำคัญที่สุด

นักวิชาการชี้ ต้องจับตาคอป. เผยผลกรกฎานี้

            ด้านพวงทอง ภวัครพันธ์ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศปช. ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า การจะนำมาซึ่งความจริงและความยุติธรรมในการปรองดอง จำเป็นต้องรอดูผลการค้นหาความจริงจากคอป. ที่มีกำหนดเผยแพร่รายงานในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ว่าสามารถทำงานได้ตามที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่ ถ้าผลการค้นหาความจริงยังออกมาไม่เป็นที่พอใจ ก็จำเป็นจะต้องทำงานใหม่จนกว่าจะได้ความจริง

             นอกจากนี้ การที่ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า การค้นหาความจริงโดยคอป. มีอุปสรรคในการทำงาน เป็นเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอ และกรรมการสิทธิฯ ไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้น พวงทองมองว่า หากคอป. ไม่ได้รับงบประมาณเพียงพอ ก็ควรจะแจ้งให้รัฐบาลได้ทราบตั้งแต่ตอนเริ่มทำงาน และน่าจะนำเงินที่ใช้เชิญผู้นำต่างประเทศอย่างโคฟี อันนันที่มาเยือนไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไปพูดคุยและเก็บข้อมูลจากผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า

              ต่อการทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ นั้น เธอกล่าวว่า เหตุที่กสม. ไม่สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อประชาชน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการค้นหาความจริง ต้องกลับไปดูก่อนว่า จุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จึงทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ขึ้น

             "เบื้องต้น ในส่วนของกสม. และคอป. ถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนเสื้อแดง มันขึ้นอยู่กับท่าทีของทั้งสองฝ่ายเอง คือ ท่าทีของคอป. และกสม. ที่ไม่เคยแสดงท่าทีที่ชัดเจนปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชน ซึ่งเป็นฝ่ายที่สูญเสียชีวิตและต้องบาดเจ็บมากกว่า

             "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเองไม่ได้มีปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่มีปัญหาเรื่องจุดยืนทางสิทธิมนุษยชนที่ไม่ชัดเจน คือคณะกรรมการสิทธิฯ มัวแต่กังวลว่า จุดยืนของตัวเองในกรณีต่างๆ จะทำให้กลุ่มการเมืองบางกลุ่มได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของกรรมการสิทธิที่จะต้องคำนึงถึง หน้าที่ของกรรมการสิทธิคือพิจารณาว่า เมื่อมันเกิดเหตุการณ์หนึ่งๆ ขึ้น ใครที่ละเมิดสิทธิของใครบ้าง และใครบ้างที่สูญเสีย" พวงทองกล่าว 
http://redusala.blogspot.com