วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


อธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ตายแล้ว

ศุกร์ ที่ 3 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555


















http://redusala.blogspot.com

ทำบุญใหญ่ ก็อาจไม่ขึ้น

ทำบุญใหญ่ ก็อาจไม่ขึ้น
           หลวงปู่พุทธะอิสระ หรือพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย (ธรรมะอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ให้สัมภาษณ์"มติชนออนไลน์" ถึงเบื้องหลังการเชิญพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  อดีตผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) พลเอกสมทัต  อัตตะนันทน์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และอดีต ผบ.ทบ. พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา  อดีต ผบ.ทบ  และ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  ผบ.ทบ. เป็นประธานเททองหล่อพระเกตุมาลาพระนาคปรก "ปกเกล้า ปกแผ่นดิน" และยกองค์ฐานองค์พระฯขึ้นประดิษฐาน  ที่วัดอ้อน้อย เมื่อวันที่ 27มกราคมว่า  คนสมัยโบราณเวลาสร้างหลักบ้านหลักเมืองหรือขึ้นบ้านใหม่จะเลือกคนมีบุญญาธิการ บุญบารมีหรือไม่ก็มียศฐาบรรดาศักดิ์มาเป็นผู้ยกหลักเมือง หลักบ้านหรือเสาเอก

             หลวงปู่พุทธะอิสระกล่าวว่า สมัยโบราณเมื่อยกเสาเอกจะใช้ขุนทหารแม่ทัพนายกองเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีสติปัญญา เป็นที่รักใคร่ มีคุณธรรมมาประจำในทิศทั้งสี่ ในวันทำพิธีกรรมจะเห็นว่านายทหารทั้งสี่จับสลาก
           "ทุกคนจับสลากกันแม่นมาก ตรงกับที่อธิษฐานไว้ทุกคนเลย อย่างคุณประวิตร(วงษ์สุวรรณ) เวลาขึ้นที่สูง ขึ้นไม่ไหวเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง เขาอธิษฐานว่าขอให้สุขภาพแข็งแรง พอจับสลากออกมาก็ได้ในทิศแข็งแรง ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ เขาอยากให้หน้าที่ฐานะการงานรุ่งเรือง ก็ได้รุ่งเรืองตามที่ปรารถนา" เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อยกล่าว



          ผู้สื่อข่าวถามว่า พลเอกอนุพงษ์จับสลากได้ทิศชนะหมายความว่าอย่างไร หลวงปู่พุทธะอิสระกล่าวว่า "ถ้าไม่ชนะคงปฎิวัติไม่สำเร็จ ส่วนพลเอกสมทัต ได้ทิศมั่นคง เขาไม่หวั่นไหว ใครมาชวนเขาเป็นนักการเมือง ก็ไม่หวั่นไหว"
          หลวงปู่พุทธะอิสระกล่าวว่า นายทหารทั้งสี่คนมาวัดที่วัดอ้อน้อย อย่างเช่นมาทอดกฐิน ทอดผ้าป่ามาช่วยบวชพระบวชเณร เป็นลูกศิษย์เก่า



              "ในสายตาของอาตมา เขาเป็นคนซื่อตรง เขาเป็นคนดี ก็เลยเชิญเขามาให้เป็นฐานอำนาจที่จะข่มคนที่คิดไม่ดี ทำไม่ดีต่อบ้านต่อเมือง คนที่คิดไม่ดีทำไม่ดีแล้วพูดไม่ดีต่อบ้านต่อเมือง เป็นนัยยะเป็นนิมิตรมงคลนาม เป็นเคล็ดในการทำยันตพิธี ก็มีคนถามว่าทำไมไม่เอาสามเหล่าทัพก็คือทหารบก เรืออากาศแล้วก็ตำรวจ เท่าที่เราดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ในแผ่นดินสยามที่ก่อตั้งรากฐานมา บทบาทที่มีอยู่มากและอย่างสูงก็คือทหารบกที่กอบกู้บ้านเมือง ปกป้องแม้กระทั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ท่านก็เป็นต้นตำรับทหารบกและหน่วยจู่โจม เพราะฉะนั้น ก็เลยใช้ท่านอดีต ผบ.ทบ.และ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันมาทำหน้าที่ เขาก็ยินดี อุตส่าห์เสียสละปลีกเวลาแล้วอยู่จนจบพิธี" หลวงปู่พุทธะอิสระกล่าว

                สำหรับพิธีเททองหล่อพระเกตุมาลาพระนาคปรก “ปกเกล้า ปกแผ่นดิน” และยกองค์ฐานองค์พระฯขึ้นประดิษฐาน   ที่วัดอ้อน้อย มีขึ้นเมื่อเวลา 16.00น.วันที่  27 มกราคม 3 อดีตผบ.ทบ.ประกอบด้วย พลเอกประวิตร  พลเอกสมทัต  พลเอกอนุพงษ์  และ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ร่วมป็นประธานฯ

          พล.ต.ต.โกสินทร์  บุญสร้าง  รอง ผบช.ตชด.  ประธานมูลนิธิธรรมอิสระ และมูลนิธิ อโรคยาศาลา  กล่าวรายงานในพิธีว่า โครงการจัดสร้างพระมหาพุทธพิมพ์นาคปรก “ปกเกล้า ปกแผ่นดิน” นี้ขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูที่มีต่อแผ่นดิน และต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  หลวงปู่พุทธะอิสระ ได้ดำริให้จัดสร้างพระนาคปรก โดยใช้เหรียญสตางค์ ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ติดเป็นเกล็ดพญานาค

            การจัดพิธีครั้งนี้มีขึ้นในห้วงสถานการณ์การเมืองเริ่มคุกรุ่นด้วยเสียงวิวาทะในประเด็นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวดพระมหากษัตริย์  ขณะที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปราชการที่อินเดีย และสวิตเซอร์แลนด์


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จับสลากได้ทิศตะวันออกขององค์พระฯ มีความหมายว่า "รุ่งเรือง"

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ทิศเหนือขององค์พระฯ มีความหมายว่า "ชัยชนะ"






พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จับสลากได้ทิศตะวันตกขององค์พระฯ ซึ่งมีความหมายว่า "แข็งแรง"









พลเอกสมทัต อัตตะนันทน์ อดีต ผบ.สส.และอดีต ผบ.ทบ.  ได้ทิศใต้ขององค์พระฯ ซึ่งมีความหมายว่า "มั่นคง"


ประชาชนและลูกศิษย์ฯที่มาร่วมพิธีกว่า 10,000 คน ส่งเสียงสรรเสริญกึกก้องทั้งมณฑลพิธี


         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ประธานทั้ง 4 คน และหลวงปู่พุทธะอิสระ ประกอบพิธีเททองหล่อพระเกตุมาลาอยู่นั้น น้ำมันเตาได้เกิดรั่วไหลลงไปในเตา ทำให้เกิดไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง และมีควันสีดำปกคลุม ทำให้ประชาชน และลูกศิษย์ที่อยู่ใกล้เคียงเตาหลอมต่างวิ่งหนี แต่เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ พิธีกรรมดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จ








แบบพระพุทธรูป


พระพุทธรูปบางส่วนที่หล่อเสร็จแล้ว






 ที่มา : มติชนออนไลน์ 
http://redusala.blogspot.com

ร่วมกันปกป้องพระมหากษัตริย์ด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยโทสะหรืออคติใดๆ

วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

           อาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ ได้แสดงความเห็นกรณีกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ แนะให้ทุกฝ่ายใช้ปัญญาแก้ปัญหาแทนโทสะหรืออารมณ์ มีรายละเอียดน่าจะมีประโยชน์ไปขบคิดต่ออย่างยิง จึงขอนำเสนอไว้ดังนี้

Kittisak Prokati
" ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นฐานความผิดสำคัญในการรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ เพราะตลอดหลายสิบปีมานี้ ปวงชนถือเอาพระมหากษัตริย์เป็นผู้แทนของตนตามจารีตประเพณี และถือพระมหากษัตริย์เป็นจิตวิญญาณของชาติ ที่ยึดเหนี่ยวสถาบันหลักของชาติไว้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อใดที่ปล่อยให้มีการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์โดยรัฐไม่ลงโทษ ก็จะเป็นเหตุแห่งความไม่สงบขึ้นได้ เพราะมหาชนที่ถือเอาองค์พระมหากษัตริย์เป็นสัญญลักษณ์และศักดิ์ศรีของความเป็นชาติ ย่อมรู้สึกคับแค้นยิ่งกว่าตนถูกประทุษร้ายเสียเอง การคุ้มครองพระมหากษัตริย์คือการคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ

           แต่เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัิตริย์เป็นประมุข จึงมีคุณธรรมสองอย่างที่ต้องรักษาไว้ คือทั้งประชาธิปไตย และสถาบันพระมหากษัตริย์
คุณธรรมทั้งสองสิ่งนี้ไม่อาจรักษาไว้ได้เพียงด้วยรูปแบบ เพราะประชาธิปไตยนั้นหากเสียงข้างมากขาดการไตรตรอง ปล่อยให้ความโลภที่คนหมู่มากมองข้ามได้ครองแผ่นดิน ก็ย่อมทำลายประชาธิปไตยเองในที่สุด เสียงข้างมากจึงต้องถูกถ่วงดุลด้วยคุณธรรมตามกฎหมาย ที่ขี้ขาดโดยตุลาการ
ขณะเดียวกันสถาบันพระมหากษัติรย์ก็ไม่อาจตั้งมั่นอยู่บน การสรรเสริญด้วยเพียงลมปาก บนความไม่เอาใจใส่ บนความหวาดกลัว หรือความโกรธ คาดโทษผู้อื่นโดยขาดเหตุผล แต่ต้องเทอดไว้บนบัลลังก์แห่งความจริงและสติปัญญาของคนในชาติ กฎหมายจึงยอมรับการวิจารณ์ การร้องเรียน การเสนอข้อปรับปรุงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ และสิ่งเหล่านี้ย่อมบำรุงให้สถาบันเข้มแข็งยิ่งขึ้น ใกล้ชิดประชาชนและแนบแน่นอยู่บนความเป็นจริงของสังคมยิ่งขึ้น
ในกฎหมายไทยเดิม หากพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมีพระบรมราชวินิจฉัยในทางไม่ชอบกฎมณเฑียรบาลจึงกำหนดห้ามสนองพระบรมราชโองการ และให้เสนาบดีคัดค้านพระมหากษัตริย์สามครั้งในที่แจ้ง และในที่ลับอีกหนึ่งครั้ง และพระอัยการขบถศึกก็กำหนดให้ค้านพระมหากษัตริย์ถึงห้าครั้ง ครั้งสุดท้ายให้พระสังฆราชเป็นผู้เตือนพระสติ

          แต่ทุกวันนี้ มีบางท่านอ้างตนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการตวาดด่า ใช้คำหยาบประนาม จนถึงข่มขู่ และยุยงให้ประทุษร้ายผู้อื่นที่เห็นต่างจากตัวในเรื่องพระมหากษัตริย์ คติเยี่ยงนี้ นอกจากจะเผาลนตนเองด้วยโทสะแล้ว ที่จริงยังบ่อนทำลายความเชื่อถือของมหาชนต่อผู้รักเคารพสถาบันส่วนใหญ่อีกด้วย ถ้าปล่อยให้เข้าใจกันว่าผู้ปกป้องสถาบันล้วนแต่มีโทสะเป็นเจ้าเรือนแล้ว สถาบันจะตั้งอยู่บนอะไร จะมิเท่ากับปล่อยให้สถาบันตั้งอยู่บนกองเพลิงหรือ? ท่านผู้เปี่ยมแน่นด้วยโทสะเหล่านั้นจะไม่อ้างสถาบันข่มเหงผู้อื่นโดยมิชอบเมื่อสบโอกาสดอกหรือ? คุณธรรมของพระมหากษัตริย์จะไม่มัวหมองลงด้วยแรงแห่งอคติ และโทสะของผู้อ้างตนว่าจงรักภักดีดอกหรือ? แล้วเราจะกำจัดผู้แฝงกายหาประโยชน์โดยอ้างสถาบันฯในทางมิชอบให้น้อยลงได้อย่างไร?

          พระบรมเดชานุภาพนั้นควรยอยกขึ้นด้วยความจงรักภักดีเพียงใด ก็ต้องเฉลิมด้วยความยุติธรรมเพียงนั้น

          ความยุติธรรมในการรักษาพระบรมเดชานุภาพนั้น ต้องประกอบด้วยความสมประโยชน์ในการคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ ความแน่นอนชัดเจน เข้าใจได้ไม่ปล่อยให้การกล่าวหาและวินิจฉัยตกอยู่ใต้อำเภอใจหรืออารมณ์ของผู้มีอำนาจ และกอรปด้วยความสมควรแก่เหตุเห็นได้ว่าโทษนั้นต้องด้วยเหตุผล และต้องด้วยกรณี ชั่งน้ำหนักดีแล้ว เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมแท้จริง เพราะความภักดีที่ขาดฐานแห่งความเป็นธรรม ย่อมเป็นกัดกร่อนลงโดยง่ายด้วยอคติของเหล่าผู้ภักดีนั้นเอง

         เหตุนี้การดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงควรมีกลไกกลั่นกรองให้ตั้งอยู่ในกรอบแห่งเหตุผลและกฎหมายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ว่าจะเป็นสำนักราชเลขาฯ อัยการสูงสุด หรือกระทรวงยุติธรรม และบทลงโทษก็ควรจะเบาลงจากที่ตั้งไว้อย่างน้อย ๓ ปี อย่างมาก ๑๕ ปี โดยกำหนดให้สมควรแก่เหตุหนักเบาตามเหตุตามผลในแต่ละเรื่องแต่ละคดีได้ ไม่ต้องมีโทษขั้นต่ำ ขั้นสูงไม่เกิน ๗ ปี ดังที่่มีมาก่อน ๖ ตุลา ๑๙

         เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับนิติราษฎร์ทั้งหมด แต่ก็ไม่พึงปิดหูหลับตา ไม่ตรวจสอบความคิดเห็นของเขาไปเสียเลย แม้เขาคิดต่าง - ก็ฟังเขาบ้างเถิด ไม่ชอบใจ ขัดเคืองด้วยเรื่องอะไร ก็ค่อย ๆ บอกกล่าว โต้แย้ง ปุจฉา-วิสัชชนากันฉันท์มิตรเถิด"
http://redusala.blogspot.com

จดหมายจากอธิการบดี ถึงอธิการบดี (A Letter to a Rector)
จดหมายจากอธิการบดี ถึงอธิการบดี (A Letter to a Rector) 
  1 กุมภาพันธ์ 2555

เรื่อง   หลักการประชาธิปไตย-เสรีภาพ-เสมอภาค-     
           ภราดรภาพ กับการ “เปิด-ปิด” พื้นที่มหาวิทยาลัย
           ธรรมศาสตร์
เรียน   อธิการบดี ศ. สมคิด เลิศไพฑูรย์ 
           และคณะกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

             เนื่องในโอกาสวันแห่ง “ความรัก” ที่เวียนมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ศกนี้ ผมขอส่งความปรารถนาดี มายังท่านอธิการบดี กับคณะ และขออวยพรให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทั้งนี้เพื่อจักได้ปฏิบัติงานเพื่อมหาวิทยาลัย และประเทศชาติ ประชาชนของเรา

สืบเนื่องจากการที่ท่านอธิการบดี กับคณะกรรมการบริหารฯ ได้แถลงว่า

“ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบัน มีมติเอกฉันท์ว่ามหาวิทยาลัยฯ คณะ สำนัก สถาบันจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยฯ เพื่อเคลื่อนไหวกรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยฯ หรือมหาวิทยาลัยฯ เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาวิทยาลัยฯ จนมหาวิทยาลัยฯ ไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคล และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยฯได้”

           ผมในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมธรรมศาสตร์ และ ส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ของสยามประเทศไทย ขอแสดงความคิดเห็นมาดังต่อไปนี้

           หนึ่ง) ผมมีความเห็นว่าคำแถลงดังกล่าว ไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ และจิตวิญญาณของการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (The University of Moral and Political Sciences UMPS) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักประการที่ 6 ที่ว่า “จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ของ “คณะราษฎร” ที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ ราชาธิปไตย ให้เป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

          สอง) คำแถลงดังกล่าว ไม่ถูกต้องตามขนบประเพณีของธรรมศาสตร์ ที่ยืนยันในหลักการของ “เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ” ที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยของผู้ประศาสตร์การปรีดี พนมยงค์ ตลอดจน ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ศ. สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเคยกล่าวเป็นหลักการหนึ่งของมหาวิทยาลัยว่า “ธรรมศาสตร์ มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” (อธิการบดี 2514-2516)

         สาม) ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์” ทั้ง 7 ข้อตามที่ทราบกันนั้น (ดูล่างสุด) ต้องการใช้หลัก “วิชาการ” เพื่อ “ปฏิรูป-แก้ไข” กฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ล้าหลัง

และเป็นมรดกของระบอบอำนาจนิยม และในขณะเดียวกัน ก็เพื่อให้สถาบันกษัตริย์สยามประเทศไทยของเรามั่นคง สถาพร อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรฐานสากล ของนานาอารยประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก และ/หรือญี่ปุ่น ข้อเสนอดังกล่าว หาใช่เป็นการทำลาย หรือ ล้มล้าง-ล้มเจ้าไม่

         สี่) เราในแวดวงวิชาการทั้งหลายทราบกันดีว่า สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ ที่มั่นคง สถาพร อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรฐานสากลของโลก และนานาอารยประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก และ/หรือญี่ปุ่น นั้น เป็นสถาบันที่ใช้ “พระคุณ” หรือ “ความรัก”ความเมตตากรุณา (love) เป็นหลักปฏิบัติ และหลักกฎหมาย มากกว่าใช้ “พระเดช” หรือ “ความกลัว” ความเกลียดชัง (fear&hate) หรือการข่มขู่ ด้วยคุกด้วยตะรางอย่างเช่น รัสเซีย/ปรัสเซีย/ออตโตมันตุรกี/จีน/หรือ/เนปาล

        ห้า) ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์” ทั้ง 7 ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาให้สถาบันกษัตริย์ของเรามั่นคง สถาพร และเป็นสมัยใหม่นั้น สมควรที่จะได้รับการพิจารณาด้วยสติปัญญา และ ขันติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงทางวิชาการและมหาวิทยาลัย มากกว่าที่จะใช้ “โลภะ โทสะ โมหะ” กับ “ภยาคติ” หรือ “อวิชชา”

         หก) ผมมีความเห็นว่าแทนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา จะ “ปิด” พื้นที่ในการแสวงหาแสงสว่างทางปัญญา ตามพุทธภาษิตที่ว่า “นตถิ ปญญา สมาอาภา” ด้วยการถกเถียง แลกเปลี่ยนทางวิชาการ ในกรอบของกฎหมาย ขนบประเพณี และรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนสถาบันทางการศึกษาและภูมิปัญญาทั้งปวงทั่วประเทศ จำเป็นที่จะต้อง “เปิด” พื้นที่เหล่านี้ เป็นอย่างยิ่ง

          เจ็ด) ผมขอเสนอให้ท่านอธิการบดีเอง และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (คณบดี ผู้อำนวยการ ฯลฯ) ได้ดำเนินการ “เปิด” พื้นที่ดังกล่าว โดยท่านอธิการบดี และ/หรือคณะผู้แทน จัดให้มีการถกเถียง แลกเปลี่ยน อภิปราย และดำเนินการหา “ทางออก” ให้กับสังคมและประเทศชาติของเราในยามนี้

         คงไม่มีเวลาไหน นับแต่เสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310 ที่สังคมของเราแตกเป็นก๊ก เป็นเหล่า เป็นสี มากมายเช่นนี้ แหล่งศึกษาและ/หรือมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นที่ใด ที่นี่ ที่ท่าพระจันทร์ ที่รังสิต ที่ลำปาง หรือ ที่ไหนๆ ในสยามประเทศไทย น่าจะต้องเป็นองค์กรกลางในการช่วยกันแก้ปัญหา และหาทางออก

         การระดมความคิด ทั้งสนับสนุน และคัดค้าน (แต่ต้องไม่ใช่ในรูปของการโต้วาที หรือไฮปาร์ค เอาชนะคะคาน) กันนั้น เป็นพันธกิจและภารกิจที่เร่งด่วนสุด และสำคัญสูงสุด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ
(ข้าราชการบำนาญ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
1 กุมภาพันธ์ (ก่อนวันวาเลนไทน์ 2555/2012)


หมายเหตุ: ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์”1.ให้ยกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4.เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกินสองปีสำหรับ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ

7.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น แทนพระองค์ 

http://redusala.blogspot.com