วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

คำถามถึง “ขุนนางเอ็นจีโอ” ต่อกฎหมาย “ภาคประชาชน”


http://thaienews.blogspot.com/2011/09/blog-post_8836.html

คำถามถึง “ขุนนางเอ็นจีโอ” ต่อกฎหมาย “ภาคประชาชน



วุฒิสมาชิกต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่?
โดย ประสาท ศรีเกิด  20 กันยายน 2554


         รัฐธรรมนูญ 50 ฉบับอำมาตยาธิปไตย กำหนดให้ประชาชนพร้อมรายชื่อ 10,000 ชื่อ ในการเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ซึ่งต่างจากรธน.40 กำหนดให้ 50,000 ชื่อ เมื่อหักลบตัวเลขแล้วน้อยกว่าถึง 40,000 รายชื่อ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ “ขุนนางเอ็นจีโอ” บางคน ใช้เป็นข้ออ้างให้กับ ”ภาคประชาชน” ส่วนหนึ่ง ให้พวกเขายอมรับร่างรธน. 50 ช่วงมีการรณรงค์รับร่างรธน.50 กัน และอ้างว่ามีความก้าวหน้ากว่ารธน. 40

         ขณะนี้ “ภาคประชาชน” ส่วนหนึ่ง ได้เสนอกฎหมาย และก็มีกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควรมี ผ่านกระบวนการระดมความคิดเห็นมาอย่างรอบด้าน และผู้เขียนก็เห็นด้วยในการผลักดันกฎหมายเหล่านั้น ซึ่งเป็นทางเลือกให้เกิดการถกเถียงในสังคมขึ้น เช่น พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น

ซึ่งกฎหมายนั้นจะมีความมั่นคงและภาคปฏิบัติที่มีกฎหมายรองรับ ไม่เหมือนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีอุปสรรคในภาคปฏิบัติจริง เนื่องเพราะข้าราชการเจ้าหน้าที่มักยึดอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเป็นหลัก อย่างเช่น กรณีโฉนดที่ดินชุมชน ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ชนนำมาสร้างภาพใหญ่โต แต่ทางปฏิบัติทำได้น้อยมาก

          อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลักดันกฎหมายนั้น ต้องผ่านทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ตลอดทั้งวุฒิสมชิก ด้วย

          เพียงแต่กระบวนการ ขั้นตอน จะทำอย่างไร ? ให้กฎหมายเหล่านั้นปรากฏเป็นจริงตามเจตนารมณ์ ไม่ถูกบิดเบือน รวบรัด และประชาชนไม่มีส่วนร่วม เหมือนเช่น พรบ.ป่าชุมชน ที่ “ภาคประชาชน” ร่วมต่อสู้ผลักดันร่วม 20 กว่าปี โดยถูกกระทำให้บิดเบี้ยวไปในเนื้อหาสาระสำคัญ เช่น อำนาจยังคงรวมศูนย์อยู่ที่กรมป่าไม้ สมัยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากอำนาจของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือ อำมาย์คมช. นั่นเอง

           เนื่องเพราะ สนช. ที่แต่งตั้งโดยอำมาตย์คมช. ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่ถูกฝังความคิดแบบรวมศูนย์อำนาจของระบบราชการ นิยมลำดับชั้นทางสังคม ข้าราชการชั้นผู้น้อยรับคำสั่งอย่างเดียว ประชาชนนอกระบบราชการไม่มีส่วนร่วม ประชาชนต่อรองไม่ได้เพราะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้เป็นผู้เลือกตั้ง จึงไม่เห็นความสำคัญของประชาชน ไม่ยอมรับปรัชญาที่ว่า “คนเท่ากัน”

           การเคลื่อนไหวพรบ.ป่าชุมชนที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย แม้สมัยที่นักการเมืองเป็นรัฐมนตรี ก็มักจะชั่งน้ำหนัก คำนึงถึงข้อเรียกร้องของประชาชน แต่ก็ไม่กล้าปฏิรูประบบราชการที่ครองอำนาจนำในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยก่อกำเหนิดรัฐชาติ ในเงื่อนไขที่สังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย หรือ “เลือกผู้แทนได้ แต่ข้าราชการยังเป็นใหญ่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน”

          นักการเมืองมักมีการประนีประนอมปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับกรมป่าไม้ในการแก้ไขปัญหามากกว่า การขับเคลื่อนเรื่องพรบ.ป่าชุมชนที่ผ่านมาจึงเป็นเกมส์ที่ฝ่ายชาวบ้านและกรมป่าไม้ช่วงชิงนักการเมืองมาเป็นพวก ด้วยกลวิธีต่างๆ อย่างไรก็ตาม นักการเมืองก็ยังสนใจใยดีฝ่ายชาวบ้านมากกว่าสมัยสนช.ที่ได้อำนาจมาจากการลากตั้ง

และมักมีกระบวนการโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบ ถ่วงดุลย์ ได้มากกว่าสมัยสนช. .ในเชิงเปรียบเทียบ ตลอดทั้งมีการตั้งกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย มักมีตัวแทนผู้เสนอกฎหมายเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง

            อย่างไรก็ตาม กระบวนการออกกฎหมายต้องผ่านกระบวนการรัฐสภา ที่มิเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ยังมี วุฒิสภา ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายด้วย และเช่นเดียวกัน วุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งก็สนใจปัญหาของประชาชนมากกว่าวุฒิสมาชิกที่มาจากการลากตั้ง เพราะพวกเขามาจากการเลือกตั้งด้วยเช่นเดียวกับสส. จึงต้องคำนึงถึงความคิดเห็นและฐานคะแนนเสียงของประชาชน ด้วย

              ปัญหาจึงอยูที่ รธน. 50 ของอำมาตยาธิปไตย ได้กำหนดให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งจำนวนถึง 76 คน โดย “ อำนาจตุลาการ” ไม่กี่คน ซึ่งไม่เชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใด และวุฒิสมาชิกที่ถูกลากตั้งมักเป็น ข้าราชการ ที่มีรากเหง้าวิธีคิดแบบรวมศูนย์อำนาจ ที่มองว่า “ชาวบ้านโง่” อยู่วันยันค่ำ ไม่ต่างกับ สนช. แต่อย่างใดเลย

              ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธการรณรงค์กฎหมายต่างๆที่กระทำกันอยู่ และสนับสนุนเต็มที่ เพียงแต่อยากชวนคิดให้รอบครอบ ต้องมองอย่างเป็นองค์รวมรอบด้านไม่แยกส่วน ต้องมองทั้งกระบวนการออกกฎหมายทั้งหมด และปฏิเสธไม่ได้ว่าบทเรียนที่ผ่านมาบอกให้รู้ว่า ปัญหาอุปสรรคสำคัญและอนาคตในการผลักดันกฎหมาย อยู่ที่วุฒิสมาชิกสภาซึ่งไม่ต่างจากสนช.ลากตั้ง ด้วย

            ดังนั้น นอกจากรณงค์ให้รัฐบาลรับร่างผลักดันกฎหมายแล้ว ต้องผลักดันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านด้วย รวมถึงต้องพร้อมเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ที่วุฒิสมาชิกสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อผลักดันให้กฎหมายต่างๆ ที่ปรารถนาให้ปรากฎเป็นจริง ไม่ถูกบิดเบือน

           และการแก้ไขรธน.50 มิได้แก้กระทำเพื่อ “คนๆเดียว” อย่างที่ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยกล่าวหา แต่แก้เพื่อ “ทุกคน” ที่รักประชาธิปไตย เหมือนเช่นข้อเสนอของนิติราษฎร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

           จึงต้องสนับสนุนแก้ไขรธน.50 นอกเสียว่า พวกเขา”ขุนนางเอ็นจีโอ” มีวาระซ่อนเร้นหรือ ธงเคลื่อนไหว เพื่อ ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มากกว่าผลักดันกฎหมายต่างๆให้ปรากฎเป็นจริง ตราบเท่าที่ยังมีจุดยืนปกป้องรธน. 50 กันอยู่ ?????? และกระทำการเพื่อ “กลุ่มตน” เท่านั้นเอง ?
http://redusala.blogspot.com

จัดเต็มกับนิติราษฏร์ ฉบับ ๒๙ (ปิยบุตร แสงกนกกุล)


จัดเต็มกับนิติราษฏร์ ฉบับ ๒๙ (ปิยบุตร แสงกนกกุล)

จัดเต็มกับนิติราษฏร์ ฉบับ ๒๙ (ปิยบุตร แสงกนกกุล)


บทความของกลุ่มอาจารย์หัวก้าวหน้าที่มารวมตัวกันในนาม "กลุ่มนิติราษฎร์" นั้นน่าอ่านเสมอจนทีมข่าวไทยอีนิวส์ถือเป็นภาระกิจอย่างหนึ่งที่จะต้องช่วยเผยแพร่บทความของนักวิชาการเที่ยงธรรมกลุ่มนี้ พวกเขาพยายามอธิบายด้วยหลักการและเหตุผล และทำให้อนาคตของประเทศไทยไม่มืดมนเกินไปจากสภาวะและมลพิษแห่ง "หลักกู" ในทุกสถาบันของสังคมไทย
18 กันยายน 2554
โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล กลุ่ม นิติราษฏร์
ที่มา นิติราษฎร์ ฉบับที่ 29
"8:1 And the LORD spake unto Moses, Go unto Pharaoh, and say unto him, 
Thus saith the LORD, Let my people go, that they may serve me.
8:2 And if thou refuse to let them go, behold, I will smite all thy borders with frogs.

8:3 And the river shall bring forth frogs abundantly, 
which shall go up and come into thine house, and into thy bedchamber, 
and upon thy bed, and into the house of thy servants, and upon thy people, 
and into thine ovens, and into thy kneadingtroughs. 
8:4 And the frogs shall come up both on thee, and upon thy people, 
and upon all thy servants”.
“8:1 พระเยโฮวาห์ตรัสกับโมเสสว่า ไปหาฟาโรห์บอกเขาว่า พระเยโฮวาห์ตรัสดังนี้ว่า 
จงปล่อยพลไพร่ของเราเพื่อเขาจะได้ไปปรนนิบัติเรา
8:2 ถ้าท่านไม่ยอมให้เขาไป ดูเถิด เราจะให้ฝูงกบขึ้นมารังควานทั่วเขตแดนของท่าน
8:3 ฝูงกบจะเต็มไปทั้งแม่น้ำ จะขึ้นมาอยู่ในวัง ในห้องบรรทม และบนแท่นบรรทมของท่าน 
ในเรือนข้าราชการ ตามตัวพลเมือง ในเตาปิ้งขนมและในอ่างขยำแป้งของท่านด้วย
8:4 ฝูงกบนั้นจะขึ้นมาที่ตัวฟาโรห์ ที่ตัวพลเมืองและที่ตัวข้าราชการทั้งปวงของท่าน”
คัมภีร์ไบเบิล 8.Exodus
- ๑ -
ภายหลังจากฝรั่งเศสยอมแพ้ต่อเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๔๐ รัฐสภาได้ตรารัฐบัญญัติมอบอำนาจทุกประการให้แก่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐภายใต้ อำนาจและการลงนามของจอมพล Pétain รัฐบาลได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปยังเมือง Vichy และให้ความร่วมมือกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตามนโยบาย Collaboration จอมพล Pétain ปกครองฝรั่งเศสโดยใช้อำนาจเผด็จการ ภายใต้คำขวัญ “ชาติ งาน และครอบครัว” ซึ่งใช้แทน “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” รัฐบาลวิชี่ร่วมมือกับเยอรมนีในการใช้มาตรการโหดร้ายทารุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับคนเชื้อชาติยิวไปเข้าค่ายกักกัน มีนักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงหลายคนให้ความร่วมมือกับระบอบวิชี่อย่างเต็มใจ เช่น Raphael Alibert , Joseph Barthélemy , George Ripert , Roger Bonnard
เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม ฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยอิสรภาพ คณะกรรมการกู้ชาติฝรั่งเศสแปลงสภาพกลายเป็น “รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” (Gouvernement provisoire de la République française : GPRF) นอกจากปัญหาทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจแล้ว มีปัญหาทางกฎหมายให้ GPRF ต้องขบคิด นั่นคือ จะทำอย่างไรกับการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ การกระทำเหล่านั้นสมควรมีผลทางกฎหมายต่อไปหรือไม่ และจะเยียวยาให้กับเหยื่อและผู้เสียหายจากการกระทำในสมัยระบอบวิชี่อย่างไร
รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ตรารัฐกำหนดขึ้นฉบับหนึ่งเมื่อ วันที่ ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ ชื่อว่า “รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดน ฝรั่งเศส” รัฐกำหนดฉบับนี้ตั้งอยู่บนหลักการ ๒ ประการ ได้แก่ การล่วงละเมิดมิได้ของสาธารณรัฐ และการไม่เคยดำรงอยู่ในทางกฎหมายของรัฐบาลจอมพล Pétain ตั้งแต่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔
ด้วยเหตุนี้ มาตราแรกของรัฐกำหนดฉบับนี้ จึงประกาศชัดเจนว่า “รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสคือสาธารณรัฐและดำรงอยู่แบบสาธารณรัฐ ในทางกฎหมาย สาธารณรัฐไม่เคยยุติการคงอยู่” การประกาศความต่อเนื่องของ “สาธารณรัฐ” ดังกล่าว จึงไม่ใช่การรื้อฟื้น “สาธารณรัฐ” ให้กลับขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายของสาธารณรัฐขึ้นมาใหม่ต่างหาก เพราะ “สาธารณรัฐ” ไม่เคยสูญหายไป ไม่เคยถูกทำลาย ไม่เคยยุติการดำรงอยู่ รัฐบาลวิชี่ไม่ได้ทำลาย (ทางกฎหมาย) สาธารณรัฐ นายพล Charles De Gaulle หัวหน้ารัฐบาลชั่วคราวจึงไม่เคยประกาศฟื้นสาธารณรัฐ เพราะสาธารณรัฐไม่เคยสูญหายไปจากดินแดนฝรั่งเศส
เมื่อมาตราแรกประกาศความคงอยู่อย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐ ในมาตรา ๒ ของรัฐกำหนดฉบับนี้จึงบัญญัติตามมาว่า “ด้วย เหตุนี้ ทุกการกระทำใดไม่ว่าจะใช้ชื่ออย่างไรก็ตามที่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญ, ที่มีสถานะทางนิติบัญญัติ, ที่มีสถานะทางกฎ, รวมทั้งประกาศทั้งหลายที่ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับการกระทำดังกล่าว, ซึ่งได้ประกาศใช้บนดินแดนภายหลังวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔๐ จนกระทั่งถึงการก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ให้เป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ” บทบัญญัตินี้หมายความว่า การกระทำใด ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด ทั้งที่มีสถานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ เทียบเท่ารัฐบัญญัติ เทียบเท่ากฎ หรือประกาศใดๆที่เป็นการใช้บังคับการกระทำเหล่านี้ ที่เกิดขึ้นในสมัยวิชี่ ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย พูดง่ายๆก็คือ ผลผลิตทางกฎหมายในสมัยวิชี่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่มีผลทางกฎหมาย
นอกจาก “ทำลาย” การกระทำต่างๆของระบอบวิชี่แล้ว รัฐกำหนดยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่บทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจา นุเบกษาของกลุ่มเสรีฝรั่งเศส รัฐกิจจานุเบกษาของกลุ่มฝรั่งเศสต่อสู้ และรัฐกิจจานุเบกษาของผู้บังคับบัญชาพลเรือนและทหารฝรั่งเศส ตั้งแต่ ๑๘ มีนาคม ๑๙๔๓ และบทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษาของสาธารณรัฐฝรั่งเศสระหว่าง ๑๙ มิถุนายน ๑๙๔๓ จนถึงวันที่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ (ซึ่งอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับระบอบวิชี่)
การประกาศไม่ยอมรับการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ แม้จะเป็นความชอบธรรมทางการเมืองและเป็นความจำเป็นทางสัญลักษณ์อย่างยิ่ง แต่ก็อาจถูกโต้แย้งในทางกฎหมายได้ ๒ ประเด็น
ประเด็นแรก การกำเนิดรัฐบาลวิชี่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายทุกประการ ไม่ได้มีการรัฐประหาร หรือใช้กองกำลังบุกยึดอำนาจแล้วปกครองแบบเผด็จการ ตรงกันข้าม เป็นรัฐสภาที่ยินยอมพร้อมใจกันตรากฎหมายมอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่จอมพล Pétain ในประเด็นนี้ พออธิบายโต้แย้งได้ว่า ระบอบวิชี่และรัฐบาลวิชี่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจหรือรัฐบาลตามความเป็นจริง
ประเด็นที่สอง การประกาศให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่สิ้นผลไป เสมือนไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เสมือนไม่เคยดำรงอยู่และบังคับใช้มาก่อนเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่สุจริตและเชื่อถือในการกระทำต่างๆที่เกิด ขึ้นในสมัยวิชี่
รัฐกำหนดฉบับนี้ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย กำหนดให้การกระทำต่างๆที่กำหนดไว้ในตารางที่ II ของภาคผนวกแนบท้ายรัฐกำหนดนี้ ถูกยกเลิกไปโดยให้มีผลไปข้างหน้า หมายความว่า สิ้นผลไปนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ ไม่ได้มีผลย้อนหลังไปเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำเหล่านั้นเกิดขึ้นเลย นอกจากนี้ ในมาตรา ๘ ยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่คำพิพากษาของศาลพิเศษที่ไม่ได้ตัดสินลงโทษ การกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อการกู้ชาติ ส่วนการกระทำที่ถือว่าสิ้นผลไปโดยมีผลย้อนหลังเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำ เหล่านั้นมาก่อนเลย ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๔๐ และการกระทำที่มีสถานะรัฐธรรมนูญต่อเนื่องจากนั้น ตลอดจนบทบัญญัติกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดที่กระทบสิทธิของประชาชน เช่น การตั้งศาลพิเศษ การบังคับทำงาน การก่อตั้งสมาคมลับ การแบ่งแยกบุคคลทั่วไปออกจากคนยิว เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดน ฝรั่งเศส ประกาศเป็นหลักการในเบื้องต้นก่อนว่า สาธารณรัฐไม่เคยยุติการดำรงอยู่ และบรรดาการกระทำทั้งหลายในสมัยวิชี่เป็นโมฆะ จากนั้นจึงเลือกรับรองความสมบูรณ์ให้กับบางการกระทำ และกำหนดการสิ้นผลของบางการกระทำ บ้างให้การสิ้นผลมีผลไปข้างหน้า บ้างให้การสิ้นผลมีผลย้อนหลังเสมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
มีข้อสงสัยตามมาว่า รัฐกำหนด ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ ทำให้บุคคลที่กระทำการและร่วมมือกับระบอบวิชี่ได้รอดพ้นจากความรับผิดไปด้วย เมื่อการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีความเสียหาย ไม่มีความผิด และไม่มีความรับผิดหรือไม่?
เดิม แนวคำพิพากษาวางหลักไว้ว่า เมื่อรัฐกำหนด ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ กำหนดให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมายใด แล้ว รัฐจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว แม้การกระทำนั้นจะนำมาซึ่งความเสียหายให้แก่เอกชนก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ศาลได้กลับแนวคำพิพากษาเหล่านี้เสียใหม่ ศาลยืนยันว่า แม้ระบอบวิชี่และรัฐบาลในสมัยนั้นจะไม่ถือว่าเคยดำรงอยู่ และการกระทำต่างๆในสมัยนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมาย แต่หลักความต่อเนื่องของรัฐก็ยังคงมีอยู่ แม้รัฐบาลในสมัยระบอบวิชี่ไม่ได้เป็นรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ก็เป็นองค์กรผู้มีอำนาจในความเป็นจริง และไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้รัฐหลุดพ้นจากความรับผิด ดังนั้น เอกชนผู้เสียหายย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการกระทำที่เกิดขึ้นในสมัยระบอบวิชี่ได้
จะเห็นได้ว่า ระบบกฎหมายฝรั่งเศสได้มุ่ง “ทำลาย” เฉพาะการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ไม่ได้มุ่งทำลายหรือลิดรอนสิทธิของผู้เสียหายในการได้รับค่าเสียหาย ส่วนบรรดาความรับผิดชอบของผู้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายในสมัยนั้นก็ ยังคงมีอยู่ต่อไป (เช่น ขับไล่คนเชื้อชาติยิว, จับคนเชื้อชาติยิวขึ้นรถไฟเพื่อพาไปเข้าค่ายกักกัน, พิพากษาจำคุก, ประหารชีวิต, ฆ่าคนตาย เป็นต้น) ส่วนจะเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้กระทำการนั้น หรือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ย่อมพิจารณาเป็นรายกรณีไป
นอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รัฐบาลฝรั่งเศสได้ใช้มาตรการ “แรง” เพื่อจัดการบุคคลผู้มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่ มาตรการนั้นเรียกกันว่า “มาตรการชำระล้างคราบไคลให้บริสุทธิ์” (épuration) มาตรการทำนองนี้ใช้กันในหลายประเทศโดยมีเป้าประสงค์ คือ จับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำทารุณ โหดร้ายในสมัยนาซีเรืองอำนาจมาลงโทษ และไม่ให้บุคคลที่มีอุดมการณ์แบบนาซีได้มีตำแหน่งหรือมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ออกรัฐกำหนดหลายฉบับเพื่อใช้มาตรการ ชำระล้างคราบไคลอุดมการณ์นาซี เช่น การจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีบุคคลที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิ ชี่ ตลอดจนกีดกันไม่ให้เข้าทำงานหรือเลื่อนชั้น, การห้ามบุคคลผู้มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิชี่ ทำงานในกระบวนการยุติธรรม การศึกษา สื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร การประกันภัย หรือร่วมในสหภาพแรงงาน, การจำกัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในฝรั่งเศสที่ข้าพเจ้าอยากหยิบยกมาแสดง เป็นตัวอย่างว่า การลบล้างการกระทำใดๆในสมัยเผด็จการสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องกังวลใจว่า ใครจะเป็นคนได้ประโยชน์ เพราะ ในท้ายที่สุด ระบบกฎหมายแบบนิติรัฐ-ประชาธิปไตยนั่นแหละที่เราจะได้กลับมา พร้อมกับ “สั่งสอน” บุคคลที่กระทำการ ร่วมมือ ตลอดจนสนับสนุนเผด็จการได้อีกด้วย
- ๒ -
ในห้วงยามที่ผ่านมา ปัญญาชนและบุคคลผู้มีชื่อเสียงฝ่ายรอแยลลิสต์ ส่วนหนึ่งออกมาโต้แย้งและอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสถาบันกษัตริย์กับ ประชาธิปไตยไทย รวมทั้งกรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ หากเราฟังอย่างไม่แยบคาย ไม่พินิจพิเคราะห์ให้ถ่องแท้ ไม่สำรวจตรรกะการให้เหตุผล ก็อาจตกหลุมพรางของพวกเขาไปได้ ข้าพเจ้าเห็นว่าชุดคำอธิบายของพวกเขาเหล่านี้จะวนเวียนอยู่ในวงจร ดังต่อไปนี้
เริ่มแรก พวกเขาจะอธิบายบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ตามหลักการที่ สอดคล้องกับประชาธิปไตย ฟังดูแล้ว ก็น่านิยมยกย่องและอาจหลงเคลิ้มในการให้เหตุผลเหล่านั้นไปได้ จากนั้น หากมีผู้ใดโต้แย้งว่ามีบางประเด็นที่อาจไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย พวกเขาก็จะบอกว่า ของไทยเป็นเรื่องเฉพาะ เป็น “แบบไทยๆ” จะนำหลักวิชามาใช้อย่างเถรตรงคงมิได้
หากเราสังเกตตำราหรือบทความของปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์ จะเห็นได้ว่า ในช่วงแรกๆพวกเขาจะอธิบายตามหลักวิชา พอมาถึงกรณีของไทย พวกเขาก็สร้าง “ข้อยกเว้น” ขึ้น นี่เป็นปัญหาของปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยม เพราะ พวกเขาทราบดีว่าสถาบันกษัตริย์โดยธรรมชาติไปกันไม่ได้กับประชาธิปไตย หากยึดประชาธิปไตยเป็นหลัก ก็จำเป็นต้องอธิบายตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับ ประชาธิปไตย แต่การอธิบายเช่นนี้เป็นสิ่งซึ่งพวกเขาไม่ต้องการกระทำในยุคสมัยนี้ อย่างไรก็ตาม จะให้ปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์ยอมรับตรงไปตรงมาว่าเขานิยมกษัตริย์มากกว่า ประชาธิปไตย ก็คงเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะ นั่นเป็นการแสดงความไม่ก้าวหน้า ถอยหลังกลับไปเหมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เดี๋ยวจะไม่สมกับเป็นปัญญาชน ดังนั้น เขาจึงต้องหนีบ “ประชาธิปไตย” ไปด้วยเสมอ แต่เมื่ออธิบายบทบาทสถาบันกษัตริย์ของไทยไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่ามีบางเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย เมื่อนั้น เขาจะบอกว่าเป็นกรณียกเว้น หรือสร้างข้อความคิดขึ้นมาใหม่ให้เป็น “แบบไทย” โดยผ่าน “จารีตประเพณี” บ้าง “ธรรมเนียมปฏิบัติ” บ้าง “วัฒนธรรม” บ้าง “บารมีส่วนบุคคล” บ้าง เช่น อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนร่วมกับกษัตริย์, เมื่อกษัตริย์ไม่ลงนามในร่างพระราชบัญญัติฉบับใด มีธรรมเนียมถือกันว่าให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไปเลย โดยรัฐสภาไม่ควรยืนยันกลับไป, การแสดงพระราชดำรัสในเรื่องการเมืองแบบเปิดเผยและถ่ายทอดสดสู่สาธารณะ เป็นต้น
ดังนั้น การให้เหตุผลของปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์จึงไม่อาจเดินตามหลักการประชาธิปไตยไป ได้ตลอดจนสุดทาง เมื่อไรก็ตามที่พวกเขาให้เหตุผลแบบประชาธิปไตยไปเรื่อยๆจนปะทะกับความคิดแบบ กษัตริย์นิยมของพวกเขา เมื่อนั้นพวกเขาก็จะกระโดดลงจาก “ประชาธิปไตย” ทันทีหรืออาจเข้าสู่วิถีใหม่ที่พวกเขาสร้างขึ้นอย่าง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” หรือ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” พูดง่ายๆก็คือ ในสายตาของปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์ เหตุผลตามหลักการประชาธิปไตยจะดำเนินไปได้ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อหัวใจสำคัญ ของ “กษัตริย์นิยม”
มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นวิธีการและลีลาการให้เหตุผลของปัญญาชน รอแยลลิสต์ สมมติว่าคนจำนวนหนึ่งเริ่มสงสัยไต่ถามถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในทางการ เมือง ปัญญาชนรอแยลลิสต์ก็จะบอกว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง การดึงสถาบันกษัตริย์มาข้องเกี่ยวกับการเมืองเป็นเรื่องมิบังควร หรือกรณีที่มีคนจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์เข้าแทรกแซงเพื่อ คลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง และสถาบันกษัตริย์นิ่งเฉย ปัญญาชนรอแยลลิสต์ก็จะอธิบายว่า กษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง แต่เมื่อไรก็ตามที่ปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ควรมีบทบาท ทางการเมืองในบางเรื่อง เมื่อนั้น พวกเขาก็จะหันไปอ้างธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญไทยว่ากษัตริย์มีพระราช อำนาจทางจารีตประเพณีอยู่ โดยอ้างสูตรของ Bagehot ในหนังสือ The English Constitution (1867) เป็นสรณะ ได้แก่ ให้คำปรึกษาหารือ, ตักเตือน, ให้กำลังใจ
อนึ่ง สมควรกล่าวด้วยว่า นาย Bagehot ไม่ได้เป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นนักรัฐศาสตร์ แต่เป็นนักหนังสือพิมพ์ นาย Bagehot เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่ออธิบายรัฐธรรมนูญอังกฤษในสมัยพระราชินีวิคตอเรีย เพื่อตอบโต้ระบอบการปกครองในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ข้าพเจ้าสงสัยอยู่เสมอว่า เหตุใดปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์ต้องอ้างแต่ Bagehot อ้างแต่กษัตริย์อังกฤษ? (ซึ่งก็เป็นสมัยพระราชินีวิคตอเรีย เพราะกษัตริย์อังกฤษปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือบทบาททางการเมืองและพระราชอำนาจ ในทางความเป็นจริงเท่าไรนัก) เหตุใดปัญญาชนฝ่ายรอแยลลิสต์จึงไม่อ้างกษัตริย์สเปน, สวีเดน, เนเธอร์แลนด์ หรือญี่ปุ่นบ้าง? และเหตุใดเมื่อพูดถึงจารีตประเพณีหรือธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของไทย ก็ต้องเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจของกษัตริย์เสมอ?
- ๓ -
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่าประธานศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายในหัวข้อ “กระบวนการยุติธรรม ศาลปกครองกับการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยเพื่อความมั่นคงของชาติ” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือกันระหว่างศาลปกครอง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า มีความตอนหนึ่งที่ข้าพเจ้าสนใจอย่างยิ่ง ดังนี้ “... ส่วนผู้ที่ไปศึกษากฎหมายในต่างประเทศก็เป็นการศึกษาในลักษณะที่ต่อยอด หมายความว่าเมื่อไปเรียนก็ไม่รู้ว่าประเทศของเขาเรียนพื้นฐานมาอย่างไร เมื่อไปเรียนต่อยอดจบกลับมาแล้วทำให้เป็นปัญหา เพราะเมื่อกลับมาทำงานก็มีตำแหน่งใหญ่โต อีกทั้งยังนำความคิดในประเทศที่เรียนมายัดเยียดให้กับประเทศของตนเองโดยไม่ ดูสภาพความเป็นจริง เช่น คนไปเรียนฝรั่งเศสรู้กฎหมายฝรั่งเศส กลับมาจึงยัดเยียดกฎหมายฝรั่งเศสให้กับประเทศไทย ที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน” (โปรดดู 'ปธ.ศาล ปค.สูงสุด ชี้ปัญหาชาติ เหตุ นร.นอกเอา กม.ตปท.ใช้โดยไม่ดูพื้นฐาน ปท' http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000109546)
ข้าพเจ้าสงสัยอย่างฉับพลันทันทีว่า เหตุใดประธานศาลปกครองสูงสุดจึงยกตัวอย่าง “เช่น คนไปเรียนฝรั่งเศสรู้กฎหมายฝรั่งเศส กลับมาจึงยัดเยียดกฎหมายฝรั่งเศสให้กับประเทศไทย ที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน” ในวงการกฎหมายไทย มีแต่นักกฎหมายไทยที่จบจากประเทศฝรั่งเศสเท่านั้นหรือที่มีบทบาท แม้ข้าพเจ้าไม่อยากคิด แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า อาจเป็นเพราะประธานศาลปกครองสูงสุดจบการศึกษาปริญญาเอกจากประเทศออสเตรีย กระมัง ท่านจึงไม่ได้ยกตัวอย่าง “คนไปเรียนออสเตรีย” หรือ “คนไปเรียนเยอรมนี” หรืออาจเป็นเพราะท่านสนใจกฎหมายโรมัน ท่านจึงไม่ได้ยกตัวอย่าง “คนไปเรียนกฎหมายโรมัน รู้กฎหมายโรมัน กลับมาจึงยัดเยียดกฎหมายโรมันให้กับนักศึกษาไทย” เอาล่ะ เราควรละวางเรื่องคุณสมบัติส่วนตัวไปก่อนดีกว่า ลองมาพิจารณาโดยละเอียดในเนื้อหาสาระ
วิชานิติศาสตร์ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องราว ๒ พันปี มีจุดริเริ่มจากตะวันตก กฎหมายมหาชนซึ่งเริ่มพัฒนาหลังจากกฎหมายเอกชน ก็มีรากเหง้ามาจากตะวันตก หากผู้ใดจะคัดค้านว่าประเทศไทยก็มีกฎหมายมหาชนจากต้นกำเนิดของเราเอง โดยอ้างรัชกาลที่ ๕ บ้าง พ่อขุนรามคำแหงบ้าง ข้าพเจ้าขออธิบายว่า กฎหมายมหาชนในความคิดปัจจุบันไม่มีทางไปกันได้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะ กฎหมายมหาชนมีภารกิจสำคัญคือ การจัดองค์กรผู้ใช้อำนาจมหาชน และการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรผู้ใช้อำนาจมหาชนมิให้เป็นไปตาม อำเภอใจและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แล้วคติแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไหนในโลกนี้ที่อนุญาตให้ควบคุมตรวจสอบ “กษัตริย์” และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของ “พสกนิกร” ดังนั้น จึงไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่กฎหมายมหาชนสมัยใหม่จะกำเนิดได้ใน สมบูรณาญาสิทธิราชย์
การจัดทำประมวลกฎหมายของไทยก็รับอิทธิพลจากตะวันตก
การปฏิรูปการศาลก็รับอิทธิพลจากตะวันตก
ศาลปกครอง ใช่ ศาลปกครองที่ท่านกำลังนั่งเป็นประธานอยู่นั่นแหละ ก็เป็น “ของนอก” แท้ๆ และเป็น “ของนอก” ที่นักกฎหมายไทยแผนกฝรั่งเศสเป็นผู้ริเริ่มนำเข้ามาและเผยแพร่ ตั้งแต่นายปรีดี พนมยงค์ ต่อเนื่องมาถึง ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์, รศ.ดร.โภคิน พลกุล, รศ.ดร.วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ เป็นต้น จนกระทั่งศาลยุติธรรมเริ่มคัดค้านโมเดลแบบฝรั่งเศสที่พัฒนา Conseil d’Etat เป็นศาลปกครอง เพราะ ศาลยุติธรรมเกรงว่าจะกระทบความเป็นอิสระได้ เพราะ Conseil d’Etat เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร ประเทศไทยจึงละทิ้งแนวทางการพัฒนาคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ในคณะกรรมการ กฤษฎีกาขึ้นเป็นศาลปกครอง แต่หันไปตั้งศาลปกครองขึ้นโดยแยกออกจากศาลยุติธรรมอย่างชัดเจน โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ แม้ลักษณะของศาลปกครองไทยจะแตกต่างจาก Conseil d’Etat ของฝรั่งเศส แต่อิทธิพลของฝรั่งเศสก็ยังปรากฏอยู่ในกฎหมายปกครองและกฎหมายวิธีพิจารณาคดี ปกครองอยู่มาก ตั้งแต่ ที่มาและคุณสมบัติของตุลาการศาลปกครอง, ตุลาการศาลปกครองชั้นต้นไม่ได้เลื่อนขั้นเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดโดย อัตโนมัติหรือตามอาวุโส, ประเภทของคดีปกครอง, ผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง, วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา
จึงน่าสนใจว่า ในความเห็นของประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว “ศาลปกครอง” ซึ่งเป็นของนอก รับอิทธิพลจากฝรั่งเศสมา จะถือว่าเป็นกรณีที่“คนไปเรียนฝรั่งเศสรู้กฎหมายฝรั่งเศส กลับมาจึงยัดเยียดกฎหมายฝรั่งเศสให้กับประเทศไทย ที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน” หรือไม่ หากใช่ ก็สมควรเลิกศาลปกครองไปเลยดีไหม?
ยามใดที่ข้าพเจ้าพบเห็นบุคคลที่อ้างเรื่อง “แบบไทยๆ” ข้าพเจ้าก็สงสัยว่า ไอ้แบบไทยๆที่ท่านว่า มันคืออะไร มีลักษณะอย่างไร ช่วยนิยาม-ขยายความเสียหน่อย หรือว่าอะไรก็ตามที่มันขัดหูขัดตาท่าน อะไรก็ตามที่ท่านไม่ชอบ ไม่นิยม อะไรก็ตามที่ท่านไม่รู้เรื่อง อะไรก็ตามที่ท่านเกรงว่าจะลดทอนอำนาจของท่าน ท่านก็จะบอกว่ามันเป็น “ของนอก” เรามี “แบบไทยๆ” ของเราอยู่ ไม่ต้องไปเอาตามเขา แต่หากบรรดา “ของนอก” เป็นที่ถูกใจท่าน ท่านกลับยอมรับนำมาใช้อย่างเต็มภาคภูม
เพื่อวินิจฉัยสิ่งที่ประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าวมาได้อย่างไม่ผิดพลาด ข้าพเจ้าก็อยากรู้ต่อไปว่า ประธานศาลปกครองสูงสุดรู้หรือไม่ว่า กฎหมายฝรั่งเศสมีอะไร กฎหมายเยอรมันมีอะไร กฎหมายออสเตรียมีอะไร และกฎหมายไทยมีอะไร ก่อนที่จะตัดสินว่า กฎหมายของที่นั่น ที่นี่ ไม่เหมาะกับไทย ต้องบอกให้ได้ก่อนว่ากฎหมายต่างประเทศเป็นอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร กฎหมายของไทยเป็นอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร แล้วจึงวิเคราะห์ได้ว่ากฎหมายต่างประเทศกับกฎหมายไทยแตกต่างกันอย่างไร เหมือนกันตรงไหน และแบบไหนเหมาะ ไม่เหมาะ หากกล่าวหาว่าคนนั้นคนนี้ “ยัดเยียด” ลอยๆเช่นนี้ บุคคลอื่นฟังแล้วจะพาลคิดไปว่าจริงๆแล้วผู้พูดอาจไม่รู้เรื่องเลยว่าของต่าง ประเทศเป็นอย่างไร
ข้าพเจ้าขออนุญาตดักคอล่วงหน้าว่า โปรดอย่ากล่าวหาว่าข้าพเจ้าไปศึกษากฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสมาแล้ว “คลั่ง” ฝรั่งเศส ใครมาแตะต้องอะไรๆที่เป็นฝรั่งเศสเป็นมิได้ ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าสนใจศึกษากฎหมายของหลายๆประเทศในยุโรป เพื่อนร่วมงานและนักศึกษาที่มีโอกาสเรียนกับข้าพเจ้าคงเป็นประจักษ์พยานได้ บ่อยครั้งข้าพเจ้าวิจารณ์กฎหมายของฝรั่งเศส เช่น ไม่มีกฎหมายกลางว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง, การยอมรับหลักการคุ้มครองความเชื่อถือและไว้วางใจอย่างล่าช้าและไม่ชัดเจน, โครงสร้าง ที่มา และอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
เลิกเสียทีเถิดกับการโต้เถียงด้วยเหตุผลมักง่าย จำพวก “ของนอก” “นักเรียนนอกบ้าเห่อ-ร้อนวิชา” “เรามีของดีๆของเรากลับไม่เห็นคุณค่า” ตลอดจนการป้ายสี-แปะฉลากว่าคนนี้เป็นนักกฎหมายค่ายฝรั่งเศส คนนั้นเป็นนักกฎหมายค่ายเยอรมัน
ข้ออ้างจำพวกนี้มักจะถูกใช้โดยบุคคลสามจำพวก
จำพวกแรก คือ บุคคลที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ เมื่อกลับมาแล้วก็ไม่หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ขวนขวายอ่านหนังสือและติดตามพัฒนาการความรู้ เรียกได้ว่า จบแล้วสำหรับชีวิตการศึกษา ขอเกษียณอายุแบบ de facto ทันที พอมีใครซักถาม หรือมีคลื่นลูกหลังขึ้นมา ก็จะบอกว่าตนได้ไปร่ำเรียนมาแล้ว ถ่องแท้แล้ว “ของนอก” มันไม่ดีอย่างที่คุณคิดหรอก คนจำพวกนี้ไปศึกษาต่างประเทศเพียงเพื่อเอาเป็นยศประจำตัว และไว้ใช่ไต่เต้าทางหน้าที่การงาน การเงิน และชนชั้น เมื่อตนเองปีนบันไดขึ้นไปจนสำเร็จ ก็ชักบันไดหนี ไม่คิดพัฒนาความรู้ต่อไป
อีกจำพวกหนึ่งที่มักอ้างแบบนี้ ก็คือ บุคคลที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้จักว่า “ของนอก” ที่ว่าคืออะไรด้วยซ้ำ เลยเฉไฉ บ่ายเบี่ยงว่าเป็น “ของนอก” อย่าไปสนใจให้ราคา เรามีของไทยที่ดีๆอยู่แล้ว คนพวกนี้ไม่ต่างอะไรกับสุนัขจิ้งจอกอยากกินองุ่น แต่ปีนไปคาบไม่ถึง เลยอ้างว่าข้าไม่กินหรอกเพราะองุ่นนั้นเปรี้ยวเกินไป
จำพวกสุดท้าย ศึกษามาอยู่แบบเดียว ก็เที่ยวข่มผู้อื่นไปเรื่อยว่าสิ่งที่ตนศึกษามามันสุดยอดที่สุดในสุริย จักรวาล จบฝรั่งเศสมา ก็ว่ากฎหมายฝรั่งเศสเยี่ยมยอด กฎหมายประเทศอื่นไม่ได้ความ จบเยอรมันมา ก็ว่ากฎหมายเยอรมันไร้เทียมทาน กฎหมายประเทศอื่นอ่อนชั้น คนจำพวกนี้ น่าเรียกว่าพวกอุลตร้า คือ “คลั่ง” กฎหมายของเขามากกว่านักกฎหมายและครูบาอาจารย์ทางกฎหมายของประเทศเขาอีก
- ๔ -
ประกาศนิติราษฎร์ฉบับนี้ ข้าพเจ้าขอแนะนำหนังสือสองเล่ม
ท่ามกลางบรรยากาศที่บุคคลทั่วไปพูดถึง “นิติรัฐ” “นิติธรรม” อย่างกว้างขวาง บ้างพูดเพื่อเอาเท่ บ้างพูดเพื่ออ้างความชอบธรรมต่อการกระทำของตน บ้างพูดเพื่อใช้ทำลายการกระทำของฝ่ายตรงข้าม บ้างพูดไปเรื่อย สักแต่พูดโดยไม่รู้ว่ามันคืออะไร รู้แต่เพียงว่าต้องพูด เพื่อจะได้ครบประโยคสำเร็จรูปจำพวก “โปร่งใส-ตรวจสอบได้” “ปรองดอง-สมานฉันท์” “สงบ สันติ ปราศจากอาวุธ” “ทุกภาคส่วน” “ใช้กฎหมายอย่างนิติรัฐ นิติธรรม เสมอภาค” เป็นต้น ข้าพเจ้าเห็นว่า เพื่อไม่ให้ “นิติรัฐ” “นิติธรรม” กลายเป็นคำพูดที่ไม่มีคุณค่าอะไร กลายเป็น jargon จึงอยากแนะนำงานบางชิ้นให้ท่านพิจารณา
ในแวดวงวิชาการกฎหมายและรัฐศาสตร์ของประเทศไทย มีความพยายามอธิบายหลักนิติรัฐและนิติธรรมจำนวนพอสมควร งานบางชิ้นอรรถาธิบายอย่างละเอียดลออถึงความแตกต่างระหว่าง Rechtsstaat, Etat de droit และ The Rule of Law แต่หากอธิบายหลักการอันเป็นนามธรรมนี้ให้เป็นรูปธรรม เข้าใจง่ายและเห็นภาพได้ชัดขึ้น และเป็นงานร่วมสมัย ข้าพเจ้าเห็นว่าควรอ่าน The Rule of Law ของ Tom Bingham
Tom Bingham ได้เสนอองค์ประกอบสำคัญของ The Rule of Law รวม ๘ ข้อ ได้แก่
๑.) กฎหมายต้องเข้าถึงได้ เข้าใจได้ กระจ่างชัดเจน และคาดหมายได้ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
๒.) ประเด็นสิทธิตามกฎหมายและความรับผิด โดยปกติแล้วควรได้รับการแก้ไขโดยการใช้กฎหมาย ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจ
๓.) กฎหมายต้องถูกใช้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เว้นแต่กรณีที่แตกต่างกันก็อาจปฏิบัติต่างกันได้
๔.) รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้นต้องใช้อำนาจอย่างสุจริต เป็นธรรม เพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจนั้น โดยไม่เกินขอบเขตของอำนาจและไม่สมเหตุสมผล
๕.) กฎหมายต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน
๖.) กระบวนการแก้ไขข้อพิพาทต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายมากและไม่ใช้ระยะเวลานานจนเกินไป
๗.) กระบวนการยุติธรรมของรัฐต้องเป็นธรรม
๘.) รัฐต้องยินยอมผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศเช่นเดียวกันกับกฎหมายภายใน
กล่าวสำหรับ Tom Bingham เขาเป็นผู้พิพากษา และเป็นบุคคลเดียวที่เคยดำรง ๓ ตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ Master of the Rolls, Lord Chief Justice of England and Wales, Senior Law Lord of United Kingdom เขามีบทบาทในการตัดสินคดีสำคัญๆหลายคดีที่เป็นการวางหลักการไปในทางคุ้มครอง สิทธิและเสรีภาพ และเป็นผู้วิจารณ์รัฐบาลที่ตัดสินใจส่งกองกำลังเข้าไปร่วมรบในอิรัก Bingham ได้แสดงปาฐกถาสำคัญหลายครั้งและหลายสถานที่ ในปี ๒๐๐๕ เขากลายเป็นผู้พิพากษาคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งเป็น Knight of the Garter
Bingham เกษียณอายุเมื่อปี ๒๐๐๘ และในปีเดียวกัน เขาเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัล Prize for Law จาก Institut de France ภายหลังหนังสือ The Rule of Law เผยแพร่ได้ ๖ เดือน เขาก็เสียชีวิตในเดือนกันยายน ๒๐๑๐ หนังสือเล่มนี้ได้รับเลือกเป็น “หนังสือแห่งปี” โดยหนังสือพิมพ์ Observer, Financial Times, New Statesman และหนังสือพิมพ์ Guardianได้ยกย่อง Tom Bingham ว่า “ยิ่งใหญ่ที่สุดของผู้พิพากษาของเรา”
งานชิ้นนี้เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่แม้มิได้ฝึกมาทางกฎหมายหรือ รัฐศาสตร์ ก็สามารถอ่านเข้าใจได้ เพื่อใช้ประกอบในการโต้แย้งบุคคลจำนวนมากที่หนีบ “นิติรัฐ-นิติธรรม” เข้ารักแร้ และมักใช้อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง พร้อมกับอุดปากฝ่ายตรงข้ามมิให้โต้แย้ง
หนังสืออีกเล่มที่ข้าพเจ้าขออนุญาตแนะนำกำนัลแก่ผู้อ่าน คือ “๗ ชั่วโมงแห่งความสุขกับประธานาธิบดี บิลล์ คลินตันแห่งสหรัฐอเมริกา และอื่นๆมากเรื่อง” เขียนโดยบัณฑิต อานียา
ข้าพเจ้ารู้จักบัณฑิต อานียา ครั้งแรกจากการอ่านบทสัมภาษณ์เขาที่เผยแพร่ในประชาไท เมื่อหลายปีก่อน เมื่อครั้งข้าพเจ้ายังพำนักอาศัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์นั้นจบลง ข้าพเจ้าประทับใจและชื่นชมมาก จนเมื่อข้าพเจ้าเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการถาวร ข้าพเจ้าพบเห็นบัณฑิตฯในงานเสวนาต่างๆ แต่ไม่มีโอกาสได้สนทนากัน
ข้าพเจ้าได้รับหนังสือเล่มนี้จากบัณฑิตฯ เนื่องจากข้าพเจ้าทราบเรื่องราวแสนโหดร้ายที่บัณฑิตฯได้ประสบพบเจอ จึงเอ่ยปากกับนายทุนผู้มีจิตใจเมตตากรุณาท่านหนึ่ง ขอเงินจำนวนหนึ่งจากเขาเพื่อนำไปช่วยบัณฑิตฯ นายทุนท่านนี้ก็ดีใจหาย มอบเงินให้และไม่ประสงค์ออกนามอีกด้วย เมื่อข้าพเจ้าจัดการโอนเงินให้บัณฑิตฯเรียบร้อย บัณฑิตฯก็จัดส่งหนังสือกลับมาให้ข้าพเจ้าเป็นจำนวนมาก เพราะบัณฑิตฯไม่ปรารถนารับเงินบริจาคเปล่าๆ แต่เขาต้องการขายหนังสือของเขาเลี้ยงชีพ นี่แสดงให้เห็นว่าบัณฑิตฯมีความหยิ่งทระนงในวิชาชีพนักเขียนของตนอันควรค่า แก่การคารวะอย่างยิ่ง
หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยข้อเขียนของบุคคลอื่นที่เกี่ยวกับมาตรา ๑๑๒ และข้อเขียนของบัณฑิตฯอีก ๑๒ ชิ้น หากท่านอ่านงานชิ้นนี้ของบัณฑิตฯเพียงผิวเผินไม่สอบทานต้นกำเนิด ท่านอาจคิดว่าเป็นงานที่บัณฑิตฯพึ่งเขียนเพื่อรับสถานการณ์ “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” ในห้วงเวลานี้ แต่เปล่าเลย บัณฑิตเขียนงานเหล่านี้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ นั่นแสดงว่าบัณฑิตฯมีความคิดก้าวหน้าและ “ตาสว่าง” มานานแล้ว
- ๕ -
การประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และการได้รับ “อนุญาต” ให้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยมีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าราชอาณาจักรไทยปราศจาก “มือที่มองไม่เห็น” เสียแล้ว ไม่ได้หมายความว่าไร้แล้วซึ่ง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ในราชอาณาจักรไทย ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าเห็นว่า “มือที่มองไม่เห็น” มีอยู่จริง และ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” มีตัวตนจริง เพียงแต่ว่ามือที่มองไม่เห็นยังไม่ขยับสั่งการและผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ยังซ่อนกายอยู่ต่างหาก
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ “มือที่มองเห็น” ร่วมกันขยับชัดเจนและพร้อมเพรียงด้วยจำนวนมหาศาล ยิ่งใหญ่ไพศาลจน “มือที่มองไม่เห็น” แม้อยากขยับจนตัวสั่นแต่ก็ไม่กล้าขยับ
ดังนั้น ประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยต้องร่วมกันรณรงค์อย่างเอาการเอางานต่อไป เพื่อเรียกร้องให้ดินแดนแห่งนี้ได้มีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกัน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องเร่งดำเนินการ “ทำลาย” ผลผลิตที่เกิดจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย เร่งขจัดกฎหมายที่คุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเยียวยาผู้เสียหายจากความขัดแย้งทางการเมือง ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจได้ ด้วยราคามหาศาลที่ต้องจ่ายไป คือ ชีวิตของคนเสื้อแดง
โปรดอย่าใส่ใจกับข้อกล่าวหาที่ว่า “ทำเพื่อคนคนเดียว” การไม่ยอมรับการกระทำใดๆที่เกิดจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำที่เป็นผลสืบเนื่องก็ดี การทำลายรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ก็ดี การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับก็ดี เป็นการฟื้นฟู “นิติรัฐ-ประชาธิปไตย” ที่ถูกทำลายไปนับแต่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ให้กลับมาดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างมั่นคงสถาพรต่อไป หากบังเอิญจะมีใครคนใดคนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการนี้ นั่นก็เป็นความผิดของพวกท่านเองที่ลงทุนใช้ระบบกฎหมายทั้งหมดเพื่อฆ่าคนคน เดียว
แม้นหากว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยนิ่งเฉยไม่ดำเนินการ หรือดำเนินการแบบไม่เต็มที่ด้วยเกรงว่าอายุของรัฐบาลจะสั้น แม้นหากว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะสิ้นอายุขัยลงด้วยน้ำมือของ “มือที่มองไม่เห็น” อีก ข้าพเจ้าก็ไม่ได้สิ้นหวังเสียทีเดียวว่าอนาคตของประเทศไทยเรานั้นจะไม่มีวัน ประสบพบเจอกับประชาธิปไตยอันสมบูรณ์
เพราะข้าพเจ้าเชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ว่าสิ่งที่อยู่รอด ไม่ใช่สิ่งที่แข็งแรงที่สุด แต่เป็นสิ่งที่ปรับตัวได้ดีที่สุด
ข้าพเจ้าประเมินอย่างถ้วนถี่แล้วเห็นว่า จิตสำนึกของประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว และประชาชนจะอยู่รอดปลอดภัยตามทฤษฎีวิวัฒนาการ
แต่อีกฝ่ายนั้นเล่า...
แข็งแรง...
แต่ได้ปรับตัวบ้างหรือยัง?
_______________________
เชิงอรรถ
 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกในสมัยระบอบวิชี่ มีบทบาทสำคัญในการบริหารและกำหนดทิศทางการทำงานของศาลปกครอง
 ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ผู้เขียนตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญหลายเล่ม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนที่สองในสมัยระบอบวิชี่
 ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการศึกษาและเยาวชน มีบทบาทสำคัญในการปลดศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยที่มีเชื้อชาติยิว
 ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ เขียนตำรากฎหมายปกครองหลายเล่ม แม้เขาจะไม่เข้าดำรงตำแหน่งใดๆในรัฐบาล แต่ได้ประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าพร้อมปวารณาตัวรับใช้และสนับสนุนระบอบ วิชี่อย่างไม่มีเงื่อนไขและอย่างเต็มความสามารถ โดยมุ่งเน้นไปในงานทางวิชาการเพื่อรับรองความชอบธรรมของระบอบวิชี่และ สนับสนุนนักกฎหมายที่รับใช้ระบอบวิชี่ ผ่านบทความต่างๆที่เสนอในวารสาร Revue du Droit public (วารสารกฎหมายมหาชน) ที่เขาเป็นบรรณาธิการ
 คำว่า “สาธารณรัฐ” ในบริบทของฝรั่งเศส ไม่ใช่หมายถึงเพียงรัฐที่มีประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่ตำแหน่งที่สืบทอดทางสายโลหิตแบบกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังหมายความถึงความเป็นนิติรัฐ ความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและพหุนิยมด้วย จะสังเกตได้ว่า คำว่า République ที่ใช้ในบริบทของฝรั่งเศส จะเขียนด้วยตัวอักษร R ตัวใหญ่เสมอ นั่นหมายความว่า มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจาก république
 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๔ มิถุนายน ๑๙๔๖, Ganascia คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๔ มกราคม ๑๙๕๒, Epoux Giraud คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๒๕ กรกฎาคม ๑๙๕๒, Delle Remise
 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๒ เมษายาน ๒๐๐๒, Papon คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๙, Hoffman Glemane
 โปรดดู ปิยบุตร แสงกนกกุล, “ปรีดี พนมยงค์ กับกฎหมายมหาชนไทย”, ประชาชาติธุรกิจ วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๑, เผยแพร่อีกครั้งใน “ในพระปรมาภิไธย ประชาธิปไตย และตุลาการ”, สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์, ๒๕๕๒, หน้า ๒๔๕-๒๕๓.
http://redusala.blogspot.com

“ลิงถักแห” และทางออก


รัฐประหาร2549กับปัญหา“ลิงถักแห”และทางออก
ข้อเสนอประเด็นความคิดที่ให้ถือเสมือนหนึ่งว่า บรรดากระบวนการทางกฎหมาย คำสั่ง หรือคำพิพากษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับการใช้อำนาจจากการรัฐประหารดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่มีผลหรือไม่เคยเกิดขึ้น เป็นข้อเสนอความคิดที่อาจมีผู้ใช้ประโยชน์ในทางบิดเบือนไปสู่การวางเฉยไม่ดำเนินกระบวนการยุติธรรมต่อผู้กระทำความผิดจากการรัฐประหาร และการกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วรพล พรหมิกบุตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
22 กันยายน 2554

นักวิชาการกลุ่ม “นิติราษฎร์” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เผยแพร่เอกสารคำแถลงเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2554 เกี่ยวกับปัญหาการเมืองไทยจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า การรัฐประหารดังกล่าวเป็นความผิดทางกฎหมาย ทำให้คำสั่งทางกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมา หลังจากนั้นมีปัญหาทางนิติธรรมที่อาจถือเสมือนว่าไม่เคยมีคำสั่งเหล่านั้น

นักการเมืองแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตอบโต้ว่า กระบวนการทางกฎหมายและบรรดาคำสั่งต่าง ๆ หลังการรัฐประหาร 2549 ดำเนินไปตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม ทั้งยังกล่าววิจารณ์กลุ่มนิติราษฎร์ว่า ลำเอียงมุ่งไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมช่วย “คน ๆ เดียว”1 ให้พ้นผิด

ประเด็นคำแถลงของกลุ่มนิติราษฎร์เกี่ยวข้องกับ “ความผิด” ทางกฎหมาย และ “ความพลาด” ทางการเมืองของคณะรัฐประหาร 2549 ไม่ใช่ประเด็นความคิดใหม่ที่เพิ่งมีการริเริ่มนำเสนอต่อสาธารณชนไทย

แต่เป็นประเด็นความคิดที่กลุ่มพลังชนชั้นกลางในเมือง และคนรากหญ้าชนบทจำนวนมากได้นำเสนอสู่การพิจารณาถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้กันในหลายวาระโอกาสก่อนหน้าแล้วตั้งแต่หลังเกิดการรัฐประหาร 2549(2)

ตัวอย่างสำคัญรายหนึ่ง เช่น การนำเสนอประเด็นการปราศรัยและการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลายครั้งจากนายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ (อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย, พลังประชาชน, เพื่อไทย)

รวมทั้งเอกสารเผยแพร่ที่ระบุว่าการรัฐประหาร 2549 เป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113

ดังนั้นผลพวงของการรัฐประหาร เช่น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” จึงไม่มีสถานะเป็นกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยแต่เป็น “กฎโจร” ที่เกิดจากระบอบเผด็จการ

ผู้เขียนมีความเห็นเช่นเดียวกันกับนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์และอาจารย์มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ว่าการรัฐประหาร 2549 เป็นการกระทำผิดทางกฎหมายที่มีโทษทางอาญาขั้นร้ายแรง และจะเริ่มต้นบทอภิปรายในข้อเขียนชิ้นนี้จากประเด็นความคิดร่วมดังกล่าว

แม้จะเห็นด้วยกับประเด็นความคิดเดียวกันว่าการรัฐประหาร 2549 เป็นการกระทำผิดกฎหมาย (หรือเป็นการกระทำทางการเมืองที่ขัดหลักนิติธรรม) แต่ผู้เขียนมีความเห็นต่อเนื่องแตกต่างจากกลุ่มนิติราษฎร์ที่นำเสนอประเด็นความคิดให้ถือว่าบรรดาคำสั่งต่าง ๆ (รวมทั้งคำพิพากษาของศาล) ที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่เสมือนหนึ่งไม่เคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่มีผล

ผู้เขียนมีความเห็นตามพื้นฐานข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าการรัฐประหาร 2549 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และมีผลทางกฎหมายเป็นการกระทำความผิดที่ควรต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บรรดากระบวนการทางกฎหมายและคำสั่งหรือคำพิพากษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องจากอำนาจรัฐประหารครั้งนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและก่อผลกระทบต่าง ๆ อย่างสำคัญลึกซึ้ง ทั้งต่อบุคคล องค์กร และต่อระบบความยุติธรรมของสังคมไทย

ผู้เขียนเห็นว่าเราไม่สามารถฝืนความจริง (และไม่ควรฝืนความจริง) โดยพยายามทำให้สังคมเชื่อว่าหรือให้ถือเสมือนหนึ่งว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง

ความเห็นข้างต้นตั้งอยู่บนหลักนิติธรรมว่า ผู้กระทำผิดไม่ควรพ้นผิด ผู้ไม่กระทำผิดไม่ควรรับโทษ

ผู้เขียนเห็นว่า ข้อเสนอประเด็นความคิดที่ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าบรรดากระบวนการทางกฎหมาย คำสั่ง หรือคำพิพากษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับการใช้อำนาจจากการรัฐประหารดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่มีผลหรือไม่เคยเกิดขึ้น เป็นข้อเสนอความคิดที่อาจมีผู้ใช้ประโยชน์ในทางบิดเบือนไปสู่การวางเฉยไม่ดำเนินกระบวนการยุติธรรมต่อผู้กระทำความผิดจากการรัฐประหาร และการกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารดังกล่าว (แม้จะเป็นข้อเสนอที่เริ่มต้นจากเจตนาดีในการแก้ไขความขัดแย้ง)

ผู้เขียนเห็นว่า สังคมไทยยังมีช่วงเวลาตามอายุความทางกฎหมายในการดำเนินการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่เป็นผลเกี่ยวพันกับการกระทำผิดดังกล่าวด้วยหลักนิติธรรมได้ แต่หากสังคมไทยปล่อยปละละเลยหรือวางเฉยไม่ดำเนินกระบวนการยุติธรรมต่อผู้กระทำผิดเหล่านั้น กลับจะกลายเป็นการแก้ไขปัญหาแบบ “ซุกไว้ใต้พรม” และกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่เอื้อต่อการเกิดรัฐประหารครั้งใหม่ได้อีกในอนาคต

เราอาจจัดระเบียบข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดการกระทำต่าง ๆ ตามประเด็นที่เกี่ยวข้องตามลำดับโดยสังเขปเพื่อนำไปสู่การพิจารณาแสวงหาทางออกที่เหมาะสมต่อไปได้ ดังนี้

(1)การใช้อำนาจบริหารโดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก่อนการรัฐประหาร 2549

(2)การก่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

(3)การใช้อำนาจเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งโดยคณะรัฐประหารโดยตรงและโดยบุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารดังกล่าว


ภายในช่วงเวลา 1 และ 2 และ 3 ข้างต้นมีการกระทำของบุคคลและองค์กรที่หลากหลายเกิดขึ้นในทางความเป็นจริง ประเด็นและรายละเอียดการกระทำเหล่านั้นอาจถูกแจกแจงนำเสนอเพื่อริเริ่มดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมว่า การกระทำใดเป็นความผิด การกระทำใดไม่เป็นความผิด ; สังคมไทยสามารถจะใช้และควรใช้หลักนิติธรรมข้อเดียวกัน (ผู้กระทำผิดไม่ควรพ้นผิด ผู้ไม่กระทำผิดไม่ควรรับโทษ) เพื่อดำเนินการกับบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการกระทำต่าง ๆ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้โดยใช้หลักนิติธรรมดังกล่าวประกอบกับหลักเมตตาธรรม หลักโมฆียกรรม และหลักโมฆะกรรมตามกรณีที่เป็นจริงต่อไป 
http://redusala.blogspot.com

ถามหาความกล้าหาญ


ถามหาความกล้าหาญของนักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ไทย อีกครั้งหนึ่ง

ต้องอาศัยความกล้าหาญของนักวิชาการทั้งทางด้านนิติศาสตร์และด้านรัฐศาสตร์ทั้งหลาย ที่จะเป็นผู้ให้ความเห็นหักล้างแนวบรรทัดฐานเดิมที่มีมาในอดีต แล้วสร้างบรรทัดฐานใหม่เสียให้ถูกต้อง ปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่ว่า การทำรัฐประหารไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็ตามเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่ต้องได้รับโทษเสมอ

โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
22 กันยายน 2554

ในกระแสของการสนับสนุนและคัดค้านกันอย่างหนัก ต่อแถลงการณ์ของคณะอาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ใช้ชื่อว่า “นิติราษฎร์”ที่แถลงเนื่องในโอกาสครบรอบ ๕ ปี ของการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ว่าไม่ให้การรับรองการกระทำของคณะรัฐประหาร และผู้ที่ใช้กฎหมายของคณะรัฐประหารไม่ว่า จะเป็นศาลหรือองค์กรอื่นใดว่ามีผลตามกฎหมาย พูดง่ายๆก็คือมีค่าเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นนั่นเอง

ผมในฐานะที่เคยเสนอแนวความคิดนี้มาตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารใหม่ๆ โดยได้เขียนบทความตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ และมีการนำไปเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางในหลายๆ สื่อ อาทิ ประชาไทย เว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย(www.pub-law.net) ฯลฯ จึงอยากนำบทความดังกล่าวมาเสนอเพื่อถามหาความกล้าหาญของนักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ไทยอีกครั้งหนึ่ง

เพื่อเป็นการสนับสนุนแถลงการณ์ของ “นิติราษฎร์”ครับ

----------

เมื่อช่วงระยะเวลาที่ผ่านพ้นการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับการรัฐประหารที่มาพร้อมกับการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรมาถึง หลาย ๆ คนเริ่มรู้สึกถึงความอึดอัดของการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพที่พึงมี

ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือสิทธิเสรีภาพ ในการชุมนุมทางการเมือง

หลายๆคนหงุดหงิดกับการที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในรายการวิทยุ โทรทัศน์ หรือเว็บไซต์ที่ตนเองชื่นชอบเพราะต้องถูกปิดลงเพราะเหตุแห่งความ ”บ้าจี้”ของคนบางคน

หลาย ๆ คนถามหาความถูกต้องความชอบธรรมว่า การใช้กำลังเข้าล้มล้างรัฐบาลซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมายและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเองว่าถูกต้องด้วย หลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์หรือไม่อย่างไร

นักวิชาการบางคนออกมาบอกว่า คณะรัฐประหารที่ใช้กำลังเข้าล้มล้างรัฐบาลได้สำเร็จย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐหรือองค์อธิปัตย์(sovereign ) เพราะเป็นผู้ที่ใช้กำลังเข้ายึดครองอำนาจอธิปไตยได้สำเร็จ

ทั้งๆที่มุมมองทางด้านรัฐศาสตร์นั้น นักรัฐศาสตร์ทั้งหลายต่างก็ยอมรับในลัทธิประชาธิปไตย(popular sovereign) ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือในอีกชื่อหนึ่งก็คือทฤษฎีสัญญาประชาคม(social contract theory)ที่มีรากฐานมาจากความคิดที่ว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างรัฐ โดยที่ประชาชนตกลงยินยอมให้ผู้ปกครองใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนตามเจตจำนงของประชาชน

หากผู้ปกครองละเมิดเจตจำนงของประชาชน ประชาชนมีสิทธิถอดผู้ปกครองได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย มิใช่การแย่งชิงอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชนโดยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจแล้วออกกฎหมายมาบังคับเอากับประชาชน

ในเรื่องของความชอบธรรมของคณะรัฐประหารนั้นแม้แต่องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเองก็ตาม ในอดีตเมื่อมีการนำคดีเข้าสู่ศาล ก็ได้มีแนวบรรทัดฐานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จ ย่อมเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองหรือแม้กระทั่งองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติเองก็ตามก็ยอมรับว่าประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย

เมื่อจะยกเลิกก็ต้องออกกฎหมายใหม่มายกเลิก สุดแล้วแต่ว่าประกาศหรือคำสั่งที่ออกมานั้นเป็นกฎหมายอยู่ใน ลำดับศักดิ์ใดก็ออกกฎหมายในลำดับศักดิ์ที่เท่ากันหรือสูงกว่ามายกเลิกประกาศหรือคำสั่งนั้น

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นแนวคิดและความเชื่อของบรรดาเหล่านักนิติศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์ไทยมาโดยตลอดว่าหากยึดอำนาจได้สำเร็จก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดใด จึงเป็นเหตุให้เรามีการก่อการรัฐประหารทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวหลายสิบครั้ง ซึ่งมากที่สุดในโลกนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้นมา

ทั้ง ๆ ที่ชื่อของประเทศไทยแปลว่า ประเทศแห่งความเป็นอิสระและเสรี แม้แต่พม่า เขมร ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ชิลี อาร์เจนตินา โคลัมเบีย ปารากวัย ซูดาน ซิมบับเว เซราลีโอนส์ ระวันดา คองโก ลิเบีย อิรัก อาฟกานิสถาน ปากีสถาน สุรินัม เนปาล ฯลฯ ที่ล้วนเคยแต่ตกเป็นเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคมทั้งหลาย แต่ประเทศเหล่านั้นก็ยังมีการรัฐประหารน้อยครั้งกว่าประเทศไทย

กลับมาทางมุมมองด้านนิติศาสตร์หรือกฎหมาย แน่นอนว่า การก่อการรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำความผิดตามกฏหมาย โดยประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓ ก็ระบุไว้ชัดว่าผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (๑) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (๒) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ

หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (๓) แบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตและมีอายุความที่จะนำเอาตัวผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้มาฟ้องร้องดำเนินคดีถึงยี่สิบปี

แม้ว่าการก่อการรัฐประหารของไทยที่ผ่านมาทุกครั้งจะถือว่ารัฐธรรมนูญถูกยกเลิกตามความเห็นของนักวิชาการทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ก็ตาม แต่เราลืมไปว่าประมวลกฎหมายอาญามิได้ถูกยกเลิกไปแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวก็ย่อมถือว่ามีความผิดอยู่นั่นเอง

ถึงแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายมา นิรโทษกรรมก็ตาม ซึ่งก็หมายความว่าเป็นความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษไม่ได้หมายความว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาก็คือว่าการออกกฎหมายมานิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง จะถูกต้องหรือไม่ ซึ่งก็ต้องอาศัยความกล้าหาญของนักวิชาการทั้งทางด้านนิติศาสตร์และด้านรัฐศาสตร์ทั้งหลายที่จะเป็นผู้ให้ความเห็นหักล้างแนวบรรทัดฐานเดิมที่มีมาในอดีต ซึ่งก็หมายความรวมไปถึงผู้ที่จะมีหน้าที่วินิจฉัยเมื่อมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลอื่นใดก็ตามหากจะมีผู้ฟ้องร้องเป็นคดีความขึ้นมา

จริงอยู่ความเชื่อที่ว่าคณะรัฐประหารคือรัฏฐาธิปัตย์ ประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารคือกฎหมายต้องปฏิบัติตามนั้นมีมาช้านาน แต่ก็มิได้หมายความว่า เราจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อหรือแนวคิดนี้ไม่ได้ แม้แต่ความเชื่อที่เป็นวิทยาศาสตร์แท้ ๆ ยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด อาทิ การไม่จัดให้ดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลอีกต่อไป โดยวิธีการเพียงเพราะการยกมือของนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ในที่ประชุม

แล้วนับประสาอะไรกับความเชื่อทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ด้านสังคม(social science)ที่อ่อนไหวและยืดหยุ่นกว่าวิทยาศาสตร์แท้ ๆ ( pure science ) จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

หากเราเปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่ว่าการทำรัฐประหารไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็ตามเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่ต้องได้รับโทษเสมอ ประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย และกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกให้เพื่อตนเองย่อมไม่มีผลบังคับใช้แล้วไซร้ ประเด็นของการถกเถียงว่ าเราจะทำอย่างไรที่จะป้องกันมิให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกก็คงจะลดลงไป อย่างน้อยก็ประเด็นความชอบด้วยกฎหมายทางด้านนิติศาสต ร์และประเด็นความชอบธรรมของสัญญาประชาคมหรือลัทธิประชาธิปไตยทางด้านรัฐศาสตร์นั่นเอง

ถึงเวลาแล้วที่นักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ทั้งหลายจะต้องมีความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือความเชื่อที่เคยมีมาในอดีตแล้วสร้างบรรทัดฐานใหม่เสียให้ถูกต้อง โดยการไม่ยอมรับการรัฐประหารว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยหลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะด้วยการอ้างเหตุผลใดใดเพื่อการทำรัฐประหารก็ตาม

หากเราสามารถทำได้เช่นนี้แล้วผู้ที่จะคิดทำรัฐประหารในคราวต่อไปจะได้คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ จะได้ไม่ทำให้พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยที่สั่งสมมาเกือบร้อยปีต้องพังทลายลงครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นดังเช่นที่ผ่านๆมาเสียที 
http://redusala.blogspot.com

เผด็จการ...โปรดฟังอีกครั้ง


"5 ปี รัฐประหาร เผด็จการ...โปรดฟังอีกครั้ง" เมื่อการยึดอำนาจอย่างเปิดเผยเป็นความเสี่ยงของ "เผด็จการ"
http://thaienews.blogspot.com/2011/09/5.html

ช่วงนี้ไทยอีนิวส์ ขอติดตามข่าวกิจกรรมครบรอบ 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทราบว่าในวันที่ 19 กันยายน 2554 จะมีกิจกรรมย้ำเตือนสังคมไทยและสังคมโลกมากมายทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่มีคนไทยอยู่หลายประเทศ เพื่อจะบอกว่า "แนวรบด้านตะวันตก สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงแล้ว"

ขอบคุณมติชนสำหรับภาพและเนื้อหาข่าว "5 ปี รัฐประหาร เผด็จการ...โปรดฟังอีกครั้ง" เมื่อการยึดอำนาจอย่างเปิดเผยเป็นความเสี่ยงของ "เผด็จการ"
18 กันยายน 2554
ที่มา มติชน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (17 ก.ย.) ได้มีการจัดเสวนา "5 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ′เผด็จการ...โปรดฟังอีกครั้ง′" ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยมีวิทยากรผู้ร่วมเสวนา อาทิ พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนายจอม เพชรประดับ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

5 ปีรัฐประหารที่ผ่านมา ประเทศไทยได้อะไร เสียอะไร?
นายจอม เพชรประดับ พิธีกรเกริ่นนำว่า ตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมานั้น ถ้าไม่นับความสูญเสียชีวิตของกลุ่มคนเสื้อแดงแล้ว การรัฐประหารดังกล่าวก็ยังมีข้อดีที่ว่า ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น และทำให้ประชาชนเกิดอาการ "ตาสว่าง"





ต่อมา รศ.ดร.พิชิต วิทยากรคนแรกได้กล่าวว่า ในการต่อสู้ของขบวนการคนเสื้อแดงที่ผ่านมานั้น ตนมีคำถามมาตลอดว่า "นักวิชาการไปอยู่ที่ไหน"
"แต่ผ่านมาครบ 5 ปีแล้วก็ยังคงไม่มีคำตอบอยู่ดี หลังการเข่นฆ่าประชาชนในปีที่ผ่านมา (เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53) คนเสื้อแดงเลิกถามไปแล้วว่านักวิชาการอยู่ที่ไหน ในสองสามปีนี้ ประชาธิปไตยจะไม่ได้ได้มาด้วยนักศึกษาหรือนักวิชาการ แต่จะได้มาด้วยประชาชน" อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว
รศ.ดร.พิชิตกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นแค่ไม่กี่ปีมานี้ แต่การต่อสู้ดังกล่าวมีมาตั้งแต่ครั้งปฏิวัติ พ.ศ. 2475 แล้ว นอกจากนี้ ขบวนการเสื้อแดงยังเป็นกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ประชาคมโลกให้การ ยอมรับ
"ก่อนช่วงเมษา-พฤษภา 2553 สื่อต่างชาติยังไม่ค่อยเข้าใจกลุ่มคนเสื้อแดง เวลาที่สื่อเหล่านี้เรียกคนเสื้อแดงก็จะมีคำต่อท้ายมาด้วยว่า ′พวกทักษิณ′ หรือ ′Thaksin′s supporters′ แต่ตั้งแต่เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 เป็นต้นมา เวลาที่สื่อต่างชาติเรียกขบวนการเสื้อแดง ไม่มีคำว่า ′Thaksin′s supporters′ อีกแล้ว มีแต่คำว่า ′ขบวนการเสื้อแดงประชาธิปไตย′"
"ทุกวันนี้นักข่าวต่างชาติมองว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงคือขบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่เครื่องมือของนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง"
รศ.ดร.พิชิตกล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มระบบเผด็จการซึ่งเกิดขึ้นใน ตะวันออกกลาง ตูนิเซีย อียิปต์ ซีเรีย ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงนั้นไม่มีใครเป็นแกนนำ แต่เป็นการเคลื่อนไหวโดยอาศัยสื่อออนไลน์อย่างอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก สื่อต่างชาติมองเหตุการณ์ในตะวันออกกลางว่ามีลักษณะการเคลื่อนไหวแบบเดียว กับของกลุ่มคนเสื้อแดงในประเทศไทย
"ตอนนี้ ขบวนการของคนเสื้อแดงกลายมาเป็นหัวข้อถกเถียงกันในวงวิชาการทั้งไทยและต่าง ประเทศ จากงานวิจัยของอาจารย์ท่านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุว่า คนเสื้อแดงนั้นมีทุกลำดับชั้น ตั้งแต่ชนชั้นสูงจนถึงคนรากหญ้า คนเสื้อแดงมีในทุกอาชีพ ทุกระดับการศึกษา ซึ่งลักษณะ ที่หลากหลายของคนเสื้อแดงนั้นมีจุดร่วมอยู่อย่างหนึ่งคือ ความไม่พอใจกับความอยุติธรรม ที่ในช่วงเวลา 4-5 ปีมานี้ มีการใช้อำนาจทั้งในและนอกกฏหมายมากระทำอยู่ฝ่ายเดียว มีการผูกขาดอำนาจและความร่ำรวยของคนกลุ่มหนึ่งที่เอาอำนาจการปกครองมาอยู่ใน มือตัวเอง นี่คือแรงขับดันที่สำคัญที่สุดของคนเสื้อแดง"
นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุด้วยว่า คน เสื้อแดงนั้นถูก "รุม" จากทุกสถาบัน ทั้งทหาร องค์กรยุติธรรม นักวิชาการ และที่สำคัญคือสื่อกระแสหลัก โดยปัจจัยสำคัญของฝ่ายเผด็จการคือการกุมสื่อไว้ในมือ ในขณะที่คนเสื้อแดงไม่มีสื่อกระแสหลักอยู่ในมือ
"ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐประหารครั้ง นี้ไม่สำเร็จในระยะยาวก็เพราะว่า คนเสื้อแดงมีสื่อชนิดหนึ่งที่ควบคุมไม่ได้ สื่อชนิดนี้คือสื่อออนไลน์ ′สื่ออินเตอร์เน็ตคือกระดูกสันหลังของการสื่อสารของคนเสื้อแดง′ เมื่อปิดทีวี ปิดวิทยุแล้ว คนเสื้อแดงก็ยังสื่อสารกันได้" รศ.ดร.พิชิตกล่าว
อาจารย์ธรรมศาสตร์กล่าวในช่วงท้ายว่า เราจะสามารถเข้าใจเหตุการณ์ทางการเมืองทุกวันนี้ได้ไม่ยาก หากเรามองย้อนไปในเหตุการณ์เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายเผด็จการยังคงมีกลไกอำนาจอันเดิมอยู่
"การยึดอำนาจอย่างเปิดเผยเป็นความเสี่ยงของฝ่ายเผด็จการ เพราะว่าตอนนี้ นานาชาติเขาก็ไม่เอาด้วยแล้ว" รศ.ดร.พิชิต สรุป



ส่วน พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการรัฐประหารมากครั้งที่สุด "เรามีการยึดอำนาจรัฐทั้งหมด 24 ครั้ง เป็นการปฏิวัติเสีย 2 ครั้งซึ่งได้แก่การปฏิวัติในปี พ.ศ.2475 และการปฏิวัติตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจร นอกจากนั้นแล้ว ที่เหลือคือการรัฐประหารทั้งสิ้น"
ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การรัฐประหารของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลินได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ซึ่งการรัฐประหารดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างชัดเจน มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ทั้งนี้ การรัฐประหารดังกล่าวก็มีข้อดีคือ "ทำให้เรารู้ว่า บ้านเมืองของเราแบ่งเป็นฝ่ายเผด็จการ กับฝ่ายประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย"
"การรัฐประหารในปี 2549 ก่อให้เกิดพัฒนาการของมวลชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเห็นได้จากประชาชนจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหาร บ้านเมืองได้มาถึงจุดนี้แล้ว แต่ถ้าถามว่าบ้านเมืองได้พัฒนามาจนถึงจุดที่เป็นประชาธิปไตยหรือยัง ก็ต้องตอบว่ายัง" อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าว
http://redusala.blogspot.com

ขอรับกระผม ฯพณฯนายกรัฐมนตรี


ช็อตเด็ดวันนี้:ขอรับกระผม ฯพณฯนายกรัฐมนตรี

ภาพบน-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สนทนากับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ด้วยท่วงท่าสัมมาคารวะเมื่อวานนี้(ภาพ:ข่าวสด) ภาพกลาง-นายกรัฐมนตรีรับฟังนายทหารรายงานขณะตรวจพื้นที่ดินถล่มอุตรดิตถ์(ภาพ:เฟซบุ๊คยิ่งลักษณ์) ภาพล่างนายกรัฐมนตรีไทยตรวจแถวกองเกียรติยศทหารอินโดนีเซีย(ภาพ:เอเยนซี่)

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
12 กันยายน 2554

นายทหารอากาศเสนอให้นายกฯตรวจเยี่ยมหน่วยทหาร พร้อมจัดสวนสนามเคารพผู้บังคับบัญชาที่ประชาชนเลือกมา

น.ต.ชนินทร์ คล้ายคลึง เขียนบันทึกในเฟซบุ๊คของเขาว่า ผมเป็นนายทหารผู้ชื่นชอบในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดิดว่า ในโอกาสอันดีนี้ ที่ปวงชนชาวไทยส่วนใหญ่ได้ให้ความเชื่อถือ และ พร้อมใจเลือกให้ นายก ฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยของชาติ และประชาชน หมายความว่า นายก ฯ มีสิทธิและอำนาจในการบังคับบัญชาทหาร โดยชอบด้วยกฏหมาย ดังนั้นนายก ฯ สมควรที่จะดำเนินการตรวจเยี่ยมหน่วยทหารอย่างเป็นทางการ

สิ่งที่กระผม ต้องการเสนอแนะกับฝ่าย เสธ. ของรัฐบาล คือ นายก ฯ คือ ผู้นำสูงสุด ในของกองทัพตามกฎหมายสากล ดังนั้นตั้งแต่นักเรียนเตรียมทหาร ซึ่งอนาคตคือ ผู้มีสิทธิเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของ นายกรัฐมนตรี

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น อำนาจอธิปไตยล้วนแล้วมาจากปวงชนชาวไทยตามระบอบการปกครองประชาธิปไตย ดังนั้น สมควรที่นายก ฯ จะทำการตรวจเยี่ยม หน่วยทหาร โดย เฉพาะ ร.ร.นายทหาร-ตำรวจ และจัดให้มีการสวนสนาม เพื่อแสดงความเคารพต่อผู้บังคับบัญชาอย่างสมเกิยรติตามแบบธรรมเนียม

เพื่อจะดำรงคไว้และแสดงซึ่งฐานะอันชอบธรรม สำหรับผู้บังคับบัญชาของราชอาณาจักร

ทั้งนี้ ให้พิจารณาเครื่องแบบ ในการสวนสนาม ให้เหมาะสมแก่ฐานะด้วย และสิ่งสำคัญคือเป็นเครื่องหมายต่อไปภายภาคหน้า ว่า ประชาชนคือผู้มีอำนาจอธิปไตยสูงสุดในการบังคับบัญชาทหารโดยผ่านนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากปวงชนชาวไทย

ไทยอีนิวส์โพลล์อยากได้สุดๆปลดประยุทธ์พ้นผบ.ทบ.

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยอีนิวส์ได้สำรวจความเห็นท่านผู้อ่านในหัวข้อนอกจากผบ.ตร.แล้ว ควรย้ายใครอีก? มีท่านผู้อ่านตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,864 ท่าน (สามารถเลือกคำตอบได้หลายข้อ)ผลการสำรวจเป็นดังนี้

-ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. 2187 (76%)
-ธาริต เพ็งดิษฐ์ DSI 1787 (62%)
-สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศอฉ. 1330 (46%)
-อัยการที่ดองคดียึดสนามบินยึดทำเนียบ 1287 (44%)
-ผู้พิพากษาคดี112-คดีเสื้อแดงทุกคน 1188 (41%
-พรทิพย์ โรจนสุนันท์ นิติวิทยาศาสตร์ 1042 (36%)
-ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาสมช. 1022 (35%)
-คนอื่นๆ 167 (5%)
-รัฐบาลไม่มีน้ำยาย้ายเขาหรอก ได้แค่ของตายผบ.ตร. 187 (6%)
http://redusala.blogspot.com

อภิสิทธิ์ยินดีปรีดาต่อรัฐประหาร 19 กันยา


วิกิลีกส์ - อภิสิทธิ์ยินดีปรีดาต่อรัฐประหาร 19 กันยา

เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่า ซึ่งเห็นได้ชัด ก็คือ นายอภิสิทธิ์นั้น ได้ยินดีปรีดาต่อการกระทำรัฐประหารว่าเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด เพื่อจะนำตัวเขาเอง ใกล้เข้ามากว่าเก่าอีกหนึ่งขั้นต่อตำแหน่งของการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการทำให้คู่แข่งทางการเมืองของเขานั้นได้อ่อนแอลง หรืออาจจะถึงกับทำลายมันลงไปด้วย

แปลโดย ดวงจำปา
ที่มา เว็บบอร์ด Internet Freedom

ห้าปีให้หลังจากการก่อการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549,เคเบิ้ลของวิกิลีกค์ ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งแสดงให้เห็นโดยพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดูเหมือนว่่า มีคุณค่าต่อความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เพราะในเนื้อหาของมันที่ เอกอัครราชฑูต ราล์ฟ บอยซ์ ได้รายงานเกี่ยวกับการประชุมที่เขาได้พบกับนายอภิสิทธิ์ ที่สำนักงานใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อคุยสนทนาในเรื่องของการเมือง และการก่อการรัฐประหาร

นายอภิสิทธิ์ได้เริ่มขึ้นโดยการกล่าวยกย่องความมั่นใจใน “บุคลิกภาพ” ของหัวหน้าผู้ก่อการรัฐประหาร นั่นก็คือ พลเอกสนธิ บุญยะรัตกลิน โดยกล่าวว่า เขา “มี่ความมั่นใจว่า พลเอกสนธินั้น ไม่ได้ก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน เพื่อที่จะนำให้ตัวเขาเองนั้น ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจได้”

นายอภิสิทธิ์ได้อ้างว่า เขาเองนั้น “มีความวิตกกังวลมากกว่า กับกลุ่มที่มีความจงรักภักดีกับนายกฯ ทักษิณนั้น จะพยายามที่จะกลับหวนคืนเข้ามาสู่ชีวิตทางการเมืองอีก...” เขาเชื่อว่า การกระทำต่างๆ ของ ผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อนายกฯ ทักษิณ (ชินวัตร) นั้น จะ “นำความยุ่งยากมาให้กับ คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค) เพื่อที่จะฟื้นฟูเสรีภาพของประชาชนกลับมาได้อย่างเต็มภาคภูมิ”

เขายังอ้างต่ออีกว่า ภรรยาของนายกฯ ทักษิณนั้น มีเงินสดอยู่กับเธอพร้อมแล้ว และ กลุ่มผู้จงรักภักดีต่อนายกฯ ทักษิณนั้น ได้ทำการเผาโรงเรียนหลายแห่งเมื่อสองสามวันก่อนหน้านี้

นายอภิสิทธิ์ก็ยังต้องการให้ รัฐบาลเผด็จการทหารนั้น “ได้ดำเนินการฟ้องร้องตัวบุคคลที่ก่อการทุจริตคอรัปชั่นเมื่อสมัยรัฐบาลนายกฯ ทักษิณเป็นผู้นำของประเทศ เพื่อที่จะนำให้สถานการณ์เข้าไปสู่ความสงบอย่างพอเพียง ต่อการอนุญาติให้ฟื้นฟูเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มภาคภูมิ”

เขาได้ถามว่า รัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ช่วยจัดส่ง “ข้อมูลกับ คปค มากขึ้นกว่าเก่าในเรื่องของความน่าสงสัยที่อาจจะได้เกิดขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับ การซื้ออุปกรณ์จากบริษัท เจนเนอรัล อิเล็กตรีค เกี่ยวกับ อุปกรณ์ตรวจค้นวัตถุระเบิด CTX”

นายอภิสิทธิ์ยังได้พรรณาต่อไปแบบ “ลุยแหลก” ในเรื่องของความเป็นไปได้ที่ “องคมนตรีพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์นั้น อาจจะได้ถูกเสนอตัวให้เป็นผู้ทีถูกคัดเลือกอย่างเหมาะสมที่สุดต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว....” ถึงแม้ว่า เขาก็ชอบอีกหลายๆ คนด้วย รวมไปถึง อีกหลายๆ คนในพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีความสามารถอย่างเก่งกล้า

ดูเหมือนกับว่า ตัวเอกอัครราชฑูตและนายอภิสิทธิ์นั้น ได้มีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่อง ของ“ความสำคัญที่ คปค ได้ทำการเปลี่ยนผ่านอำนาจมาสู่รัฐบาลที่นำโดยฝ่ายพลเรือนอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และในการกระทำเช่นนี้ ก็เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับสังคมนานาชาติที่ว่า สมาชิกในกลุ่มของ คปค เอง ไม่มีความตั้งใจที่จะคงเรืองอยู่ในอำนาจ” ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ ได้ชักตัวพลเอกสุรยุทธขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่สนับสนุนโดยฝ่ายเผด็จการทหารนั่นเอง

ปัญหาหนักเรื่องหนึ่งที่เป็นที่วิตกกังวลของนายอภิสิทธิ์ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า พรรคไทยรักไทยที่ถูกขับไล่ออกไปนั้น อาจจะยังคงมีอำนาจอยู่ในทางการเมือง และเขาก็ห่วงว่า “พรรคไทยรักไทยจะชักจูงให้มีการใช้การลงประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับหน้า เพื่อพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงการทำคะแนนนิยมด้วยการคัดค้านต่อการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน เพื่อการฟื้นกลับคืนเข้ามาสู่แรงผลักดันทางการเมืองอีก....”

นายอภิสิทธิ์ดูเหมือนมีความรู้สึกว่า พรรคของเขานั้นได้เริ่มตีคะแนนสร้างความนิยมให้ขึ้นมาเทียบกับพรรคไทย โดยอ้างว่า ได้มี ‘การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่’ ในทัศนคติของทางฝ่ายสาธาณะชนที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ โดยการเพิ่มพูนต่อความเห็นที่ว่า มีนโยบายและความคิดที่มีความหมายสำคัญต่อประชาชน รวมไปถึงการเอาใจใส่ดูแลคนยากคนจน และ ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างทันท่วงที”

เขาก็ยังกล่าวอ้างต่อไปว่า พรรคของเขานั้นจะทำคะแนนนิยม ขึ้นมาในทางภาคเหนือและภาคกลาง และอาจจะถึงกับแบ่งครึ่งในคะแนนเสียงของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย

เวปของ PPT เองก็ยังสงสัยอยู่ว่า เขามี่ความคิดเห็นอย่างแน่ชัดเแบบนี้หรือเปล่าในปี พ.ศ. 2554?

เอกอัครราชฑูตได้แสดงความคิดเห็นต่อไปว่า:

นายอภิสิทธิ์เองก็ดูเหมือนกับประชาชนในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ซึ่งเห็นว่า การกระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายนนั้น เป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการกำจัดนายกฯ ทักษิณออกไปนอกประเทศ เขาดูเหมือนกับว่าไม่ได้มีปัญหาความยุ่งยากใจอย่างเฉพาะเจาะจงในการควบคุมจำกัดต่อสถานการณ์ในเรื่องเสรีภาพของพลเมืองและกิจกรรมของพรรคการเมืองในขณะนี้ แต่เขาก็หวังอย่างเห็นได้ชัดว่า เรื่องเหล่านี้ ควรที่จะมีการผ่อนผันลงมาในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า คปค เอง มีความสามารถจัดการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเสียก่อน ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ในเรื่องความมั่นคงของประเทศและสามารถจำกัดอิทธิพลที่ยังเกาะกุมอยู่โดยฝ่ายผู้จงรักภักดีกับนายกฯ ทักษิณ

เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่า ซึ่งเห็นได้ชัด ก็คือ นายอภิสิทธิ์นั้น ได้ยินดีปรีดาต่อการกระทำรัฐประหารว่าเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด เพื่อจะนำตัวเขาเอง ใกล้เข้ามากว่าเก่าอีกหนึ่งขั้นต่อตำแหน่งของการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยการทำให้คู่แข่งทางการเมืองของเขานั้นได้อ่อนแอลง หรืออาจจะถึงกับทำลายมันลงไปด้วย

เรื่องที่กล่าวมาแล้วทุกอย่าง ไม่ได้มีความแปลกใจอะไรเลย ถ้าท่านผู้อ่านได้ย้อนกลับไปถึง การแสดงความคิดเห็นของนายอภิสิทธิ์ที่ให้กับทางฝ่ายสื่อมวลชนในสมัยของการกระทำรัฐประหาร การลำดับเหตุการณ์รายละเอียดนั้น เข้าชุดกันได้เป็นอย่างดีเยี่ยม นายอภิสิทธิ์เองก็ได้แสดงตัวเขาเองให้เห็นมาอย่างยาวนานแล้วว่า ตัวเขานั้น ไม่ใช่ผู้ที่มีความเชื่อมั่นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (เหมือนตามที่เขาได้ใช้ชื่อของพรรคว่า “ประชาธิปไตย”) เลยแม้แต่เพียงนิดเดียว



ความคิดเห็นของผู้แปล:

บทความนี้ เป็นบทความสำคัญต่อการ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” ซึ่งเราได้เห็นนายอภิสิทธิ์เอง ได้กล่าวต่อเอกอัครราชฑูตบอยซ์ ซึ่งกลายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำรัฐประหารอย่างลับๆ จากการ lobby โดยฝ่ายอำมาตย์ อย่างที่เคยแปลไว้ใน วิกิลีกค์ ฉบับเก่าๆ

สิ่งที่ดิฉันแปลกใจก็คือ การกระทำของตัวเอกอัครราชฑูตบอยซ์เอง ซึ่งเป็น “ผู้ไปเยี่ยม” ถึงสำนักงานใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่การทำรัฐประหารเพิ่งจะจบลงได้ประมาณอาทิตย์เดียวเท่านั้นเอง แสดงว่า พรรคการเมืองนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อทางฝ่ายสหรัฐอเมริกา รวมไปถึง การให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยนักป้อนข้อมูล นายสุเทพ เทือกสุบรรณด้วย

นายอภิสิทธิ์เล่นตามบททุกอย่าง ด้วยการกล่าวหาในเรื่องของ การทุจริตคอรัปชั่นโดยฝ่ายรัฐบาลเก่า แต่สิ่งที่น่าแปลกใจต่อดิฉันในบทความนี้ ก็คือ ไม่มีการกล่าวหาใดๆ ต่อนายกฯ ทักษิณ เกี่ยวกับเรื่องการหมิ่นสถาบันฯ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักของการกระทำรัฐประหาร นายอภิสิทธิ์ ไปห่วงอยู่กับคะแนนความนิยมของพรรคตนเอง มากกว่าเรื่องการหมิ่นฯ นะคะ

เหมือนกับที่ทางเวป PPT ได้กล่าวไว้ว่า การที่นายอภิสิทธิ์ไปโม้กับ เอกอัครราชฑูตบอยซ์ เมื่อปี พ.ศ. 2549 นั้นว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมเพิ่มมาขึ้น เนื่องจากนโยบายและการช่วยเหลือคนยากจน แต่ทำไมพรรคตนเองถึงพ่ายแพ้ต่อพรรคพลังประชาชนของท่านสมัคร สุนทรเวช เมื่อปลายปี พ.ศ. 2550 ล่ะ? ทั้งๆ ที่ตนเองบอกว่า คะแนนความนิยมกำลังตีตื่นขึ้นมา นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความโกหกตอแหลที่ตนเองมี และใช้อยู่อย่างประจำทีเดียว

การที่นายอภิสิทธิ์ยกยอ พลเอกสุรยุทธ นั้น ก็คือ การเปิดทางให้กับตัวเขาด้วย เพราะเขาก็รู้ว่า ไม่มีทางที่พรรคของตนเองจะชนะการเลือกตั้ง ก็ต้องใช้วิธีประจบสอพลอกับบุคคลผู้มีอำนาจ เพื่อจะได้นำตนเองขึ้นมาสู่เวทีทางการเมืองให้ได้

การเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ก็ยังมีมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน เคเบิ้ลฉบับนี้ ได้เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 ปีนี้ ก็ ปี พ.ศ. 2554 เป็นไงคะ วิธีสกปรก ก็ยังติดอยู่กับพรรคนี้ ประชาชนเขาจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างคะ?

สำหรับความคิดเห็นของดิฉันนั้น บุคคลที่ควรจะถูกต่อว่ามากที่สุด คือ ตัวเอกอัครราชฑูตบอยซ์เอง ในการเขียนเคเบิ้ลให้กับทางฝ่ายรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างมีอคติทุกอย่างกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยการอ้างอิงว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่นั้น เห็นด้วยกับการกระทำรัฐประหาร การเขียนเคเบิ้ลอย่างนี้ แสดงถึงภาพพจน์ที่ว่า กรุงเทพฯ คือประเทศไทย เอกอัครราชฑูตบอยซ์ ไม่กล้าเขียนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยกับการกระทำรัฐประหาร เพราะความหมายจะเปลี่ยนแปลง จากดำเป็นขาว และ ขาวเป็นดำโดยทันที ดิฉันคิดว่า จะได้รับการต่อต้านเป็นอย่างยิ่งกับทางวอชิงตันด้วย

เมื่อแปลบทความจากวิกิลีกค์คราใด ก็ยังอดห่วงไม่ได้ที่จะต้องเตือนรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ให้กระทำการสื่อสารกับคณะฑูตานุฑูตอย่างดีที่สุด ไม่อย่างนั้น พวกเขาจะไปหาข้อมูลจากฝ่ายตรงข้ามทันที เรื่องนี้ แท้จริงแล้ว มันโยงไปถึงฝ่ายรัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะจะต้องเป็นผู้แถลงข่าวและออกข่าวให้กับรัฐบาลนานาชาติเขาทราบถึง ฐานะ, สถานการณ์และสภาพทางการเมืองของรัฐบาลในปัจจุบัน

ประเทศอื่นๆ เขารอรับฟังข่าวสารจากฝ่าย รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ เพราะมันเกี่ยวกับนโยบายและความเชื่อมั่นในการลงทุนกับประเทศไทยในอนาคตนะคะ

ถ้าตัวรัฐมนตรียังอยู่เฉยๆ หรือเงียบๆ อย่างนี้ อีกสักพัก ดิฉันก็คงจะต้องเขียนบทความแรงๆ เสียหน่อย เพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องเสื้อแดง ไม่ใช่กับพรรคเพื่อไทยค่ะ เพราะการนำบุคคลที่ขาดคุณสมบัติมาปฎิบัติงานนั้น มันเป็นผลร้ายอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ

ถ้าดิฉันเป็นพลเมืองของประเทศไทย ดิฉันจะเลือกการช่วยเหลือกับประเทศชาติก่อนพรรคเพื่อไทยค่ะ เราต้องคิดกันอย่างนี้ การยึดถือตัวบุคคลและกับพรรคการเมืองจะหมดไป เราจะไปพิจารณากันทางนโยบาย เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติในอนาคตสืบต่อไป

ขอบคุณค่ะ

ดวงจำปา
http://redusala.blogspot.com