วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554


สื่อถาม-‘ทักษิณ’ตอบไม่อาฆาตแค้น ให้อภัยทุกคน?
สื่อถาม-‘ทักษิณ’ตอบไม่อาฆาตแค้น ให้อภัยทุกคน?
         หลังรู้ผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม สำนักข่าวหลายสำนักที่ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างก็สัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพักในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยประเด็นใหญ่ยังเป็นเรื่องการนิรโทษกรรม การสร้างความปรองดอง บทบาทของกองทัพกับการเมืองไทย และรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดย พ.ต.ท.ทักษิณยืนยันว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีอีกแน่นอน และการกลับประเทศไทยก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องกลับเข้าสู่การเมือง


“ผมอยู่กับพรรคนี้มานานมากแล้ว ผมต้องการปลดเกษียณ จริงๆแล้วผมเคยประกาศเมื่อตอนอยู่ในตำแหน่งว่าผมวางแผนจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี ตอนนี้ผมก็ 62 เลยเวลาสำหรับผมมานานแล้ว”


ส่วนการพยายามจุดประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมและเอาเงิน 46,000 ล้านบาทคืนนั้น พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ไม่มีใครคิด และจะไม่ยอมให้ใครคิด บ้านเมืองเป็นเรื่องของส่วนรวม การออกกฎหมายเพื่อคนคนเดียวทำไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์หลงทาง ใช้เป็นเรื่องโจมตีทางการเมือง ไม่มีใครทำได้
“ผมไม่เคยคิดเรื่องได้หรือไม่ได้เงินคืน ไม่ใช่เรื่องหลัก เป็นเรื่องที่ต้องเอาความจริงเป็นตัวตั้ง และจะปรองดองกันได้อย่างไร ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์”


กลับแล้วมีปัญหาก็ไม่กลับ


พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึงเรื่องการปรองดองว่า ประชาชนอยากเห็นความปรองดองภายในชาติ อยากเห็นบ้านเมืองสันติ เบื่อการย่ำอยู่กับที่มานาน พรรคเพื่อไทยก็เสนอนโยบายปรองดอง “แก้ไข ไม่แก้แค้น” คือนโยบายเดินไปข้างหน้า ต้องยุติความขัดแย้ง ต้องสนับสนุนคณะกรรมการปรองดอง ทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัว ส่วนตัวเองนั้นไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่อยากเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ


“ผมไม่อาฆาตแค้นใคร คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยต้องตัดสินใจเอาเอง ผมให้อภัยทุกคน ใครเคียดแค้นผมก็ขอให้อภัยด้วย”


พ.ต.ท.ทักษิณยืนยันว่า ถ้าหากยังมีปัญหาก็จะยังไม่กลับ และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมาย แม้ใจจริงจะอยากกลับมางานแต่งงานลูกสาวปลายปีนี้ แต่ถ้ากลับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะลูกสาวสามารถบินไปหาที่ต่างประเทศได้อยู่แล้ว หากกลับไปแล้วกลายเป็นการเติมเชื้อไฟให้เกิดความขัดแย้ง หรือต้องออกมาตีกันอีกก็จะไม่กลับ หากจะกลับควรเป็นการกลับไปดับไฟความขัดแย้งมากกว่า


พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองว่า หลังจากนี้การเมืองจะนิ่งมากขึ้น เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไป ความรุนแรงของกระบวนการที่ต่อต้านก็จะลดอุณหภูมิลงทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่กองทัพ ที่ผ่านมายังมีคนต่อต้านอยู่ เพราะไม่เชื่อว่าจะไม่ล้างแค้น และยังกลัวว่าจะมาล้างแค้น ยืนยันว่าไม่มีอีกแล้ว ความแค้นเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทุกคนสามารถมาพูดคุยและทักทายกันได้


“การกลับประเทศไทยเป็นความฝันอย่างหนึ่งของผม แต่ไม่ใช่ว่าฝันทุกอย่างจะเป็นจริงได้ อาจจะเป็นจริงอย่างหรือสองอย่าง เหมือนเราซื้อหวยก็ฝันจะถูกรางวัลที่ 1 แต่ถูกเลขท้าย 2 ตัวก็ยังดี”


ไม่เกี่ยวข้องตั้งรัฐมนตรี


พ.ต.ท.ทักษิณยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน แต่อาจมาสอบถามบ้างว่าใครเป็นใคร เพราะรู้จักคนเยอะกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยพร้อมจะให้ข้อมูล แต่การตัดสินใจสุดท้ายก็ต้องเป็นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะกรรมการ บริหารพรรคเพื่อไทย


“ผมสบายใจแล้ว สิ่งที่เราห่วงว่าที่ทำงานเอาไว้แล้วไม่เสร็จเพราะโดนปฏิวัติก่อนก็มีคนสานต่อแล้ว โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นโคลน (โคลนนิ่ง) ผมมาตั้งแต่เด็ก เพราะโตมาด้วยกัน เหมือนลูกสาวคนโตของผม เขาเป็นน้องคนเล็ก คุณแม่เสียตั้งแต่ตอนเขายังเล็ก ยังเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ คุณแม่ก็ฝากผมให้ดูแลต่อ ผมดูแลมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็ส่งไปเรียนเมืองนอก กลับมาก็มาทำงานอยู่กับผม ไต่เต้าตั้งแต่เป็นเซลส์ขายเยลโล่เพจเจส จนมาเป็นประธานเอไอเอส ตอนหลังมาเป็นซีอีโอของเอสซี แอสเซทฯ ทำให้คุณยิ่งลักษณ์เหมือนผมมากที่สุด ดังนั้น การเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยวันนี้จึงไม่ผิด เพราะการชนะการเลือกตั้งก็ถือว่าถูกไปเกินครึ่งแล้ว”


พ.ต.ท.ทักษิณให้ความเห็นถึงคนที่จะเป็นรัฐมนตรีว่า


“วันนี้คุณยิ่งลักษณ์ต้องคิดเยอะ เพราะหนึ่งต้องมองทั้งเสถียรภาพทางการเมือง มองทั้งคนที่มาขับเคลื่อนนโยบายซึ่งต้องเป็นคนปฏิบัติเป็น นักการเมืองบางคนอาจพูดเป็นแต่ปฏิบัติไม่เป็น การเมืองในสภาอะไรต่ออะไรก็ต้องมี แต่ก็ต้องบาลานซ์กัน การเมืองไทยไม่สามารถทำตามใจชอบได้ เพราะไม่ใช่ระบบเลือกนายกฯขึ้นมาคนเดียว แล้วนายกฯไม่ต้องแคร์สภา ตั้งอะไรก็ได้ ไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เหมือนเมืองนอก เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต้องตั้งคนในพรรคจำนวนหนึ่ง อาจมีคนนอกบ้างอะไรบ้าง อันนี้แล้วแต่คณะกรรมการบริหารกับคุณยิ่งลักษณ์จะคุยกัน แต่เชื่อแน่ว่าคงอยากได้คนที่ทำงานได้มาช่วย”


“ยิ่งลักษณ์” คิดเร็ว-ทำเร็ว-รอบคอบ


พ.ต.ท.ทักษิณเชื่อมั่นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ดีกว่าตัวเอง เพราะเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว และยังรอบคอบกว่าอีก ทั้งยังเป็นคนที่อยู่กับเทคโนโลยีมากกว่า ทำให้เข้าใจและใช้เทคโนโลยีได้ดี แม้จะมีองค์ประกอบเรื่องคนเก่งที่จะมาช่วยงานน้อยกว่าสมัยที่ตนเป็นนายกฯ เนื่องจากผ่านการยุบพรรคการเมืองมาถึง 2 ครั้ง แต่หลังจากเดือนพฤษภาคม 2555 กลุ่มบ้านเลขที่ 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจะพ้นโทษจากการถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี คนเหล่านี้จะเข้ามาช่วยงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์


พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองว่า “ผมคิดว่าเหตุการณ์เปลี่ยนไป และพัฒนามาในทางที่ดีเรื่อยๆ อย่างวันนี้ที่คุณอภิสิทธิ์ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ อะไรต่ออะไรเริ่มเป็นนิมิตหมายการเมืองที่จะเริ่มเข้าสู่การปรองดองแล้ว ผมว่าเพราะวันนี้ทุกคนมองเห็นปัญหาแล้วว่าถ้าขืนยังทะเลาะกันอย่างนี้มันอายนานาชาติเขา แล้วประเทศไทยก็หาความสงบไม่ได้ ยิ่งใกล้วันที่พระเจ้าอยู่หัวจะเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญ คนเรายังทะเลาะกันอยู่ ผมว่าอายเขานะ ถ้าบอกว่าจงรักภักดีก็ต้องยอมถอยคนละก้าว เพื่อถวายเป็นกำลังใจให้พระเจ้าอยู่หัวดีกว่า ผมคิดว่าวันนี้เริ่มจะเป็นนิมิตหมายที่ดี การกลั่นแกล้งทางการเมืองจะลดลงไปเรื่อยๆ จริงๆแล้วที่วุ่นวายเพราะการต่อสู้นอกกฎ นอกกติกามากเกินไปนั่นเอง”


ปัญหาท้าทายรัฐบาล


พ.ต.ท.ทักษิณมองความท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ในเชิงนโยบายที่สำคัญสุดคือเรื่องค่าครองชีพ และจะทำอย่างไรให้คนมีเงินใช้ เพราะเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างชะงักงันพอสมควร จะทำอย่างไรให้ทุกอย่างไปพร้อมกันได้ เช่น การลดรายจ่ายทำอย่างไร จะเพิ่มรายได้อย่างไร แล้วจะอัดฉีดเงินสู่ระบบได้เร็วอย่างไร เพื่อให้เศรษฐกิจหล่อเลี้ยงได้ทั้งระบบพร้อมกันในเวลาเดียวกันในหลายๆเรื่อง


“สไตล์เดียวกับที่พรรคไทยรักไทยเคยทำ เพราะตอนที่ไทยรักไทยเข้ามาปี 2544 เศรษฐกิจก็ไม่ดี เพียงแต่ตอนนี้ยากกว่าที่มีความขัดแย้งในสังคม ซึ่งต้องรีบแก้ แต่วันนี้เท่าที่ผมฟังโทนเสียงแต่ละฝ่ายแล้วก็อยากจะแก้ปัญหาด้วยกัน แล้วข้อดีของคุณยิ่งลักษณ์ก็คือความเป็นผู้หญิง น่าจะพูดคุยกับทุกฝ่าย น่าจะเดินไปพบปะพูดคุยกับทุกฝ่ายได้ดี”


โมเดลการปรองดอง


พ.ต.ท.ทักษิณพูดถึง คอป. ชุดนายคณิต ณ นคร ว่าการใช้องค์กรที่เป็นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็น่าจะเป็นประโยชน์ แต่ต้องสนับสนุนให้มีอำนาจหน้าที่ มีงบประมาณที่จะค้นหาความจริงและแนวทาง ซึ่งอาจศึกษาแนวทางปรองดองจากประเทศต่างๆที่มีประสบการณ์เรื่องความขัดแย้ง เช่น แอฟริกาใต้ของนายเนลสัน แมนเดลา ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่มีความขัดแย้งกันอีก


“บทเรียนครั้งนี้ราคาแพงเหลือเกิน เราจะเรียนรู้อย่างไร แล้วเราจะหันกลับมาสร้างกฎ สร้างกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ และไม่เล่นนอกกติกากันอย่างไร เพื่อให้กติการักษาเสถียรภาพทางการเมืองของเราไว้ได้”


ส่วนการเรียกร้องข้อเท็จจริงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองและเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมนั้น พ.ต.ท.ทักษิณตอบว่า


“กระบวนการยุติธรรมที่สำคัญคือการปฏิรูปการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม นั่นคือหลักนิติธรรมสากล ซึ่งเราก็เป็นภาคีของสหประชาชาติ แล้วเราก็รับทั้งชาร์เตอร์ รับทั้งเรกูเลชั่น คือทั้งของสหประชาชาติซึ่งเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาคดีโดยตรง แต่เราไม่ได้ปฏิบัติตามอย่างนั้นเลย ก็ต้องมาดูกันว่าอะไรที่ไม่เป็นอย่างนั้นก็ทำให้เป็นอย่างนั้นซะ อะไรที่ผิดหลักนิติธรรมสากลก็ต้องแก้ เพราะหลักนิติธรรมสากลมีความหมายลึกซึ้งมาก ไม่ใช่มีผลต่อการเมือง ต่อสังคมและกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อเศรษฐกิจด้วย เพราะประเทศไหนที่เขาว่าไม่มีคำว่าทรัสต์ แอนด์ คอนฟิเดนท์ เขาไม่เอาเงินฝากไว้มาลงทุน เพราะถ้าหลักนิติธรรมสากลที่ไหนไม่ดีแย่เลย อย่างดูไบไฟแนนเชียลเซ็นเตอร์ เขามีศาลพิเศษของเขา ศาลที่นี่ใช้กฎหมายอังกฤษ เพราะต้องการให้คนที่มาลงทุนมั่นใจว่ากฎหมายนี้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับที่อังกฤษ ซึ่งเราก็ไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพียงแต่ต้องทำอย่างไรถึงจะมีหลักนิติธรรมสากล”


พ.ต.ท.ทักษิณพูดถึงบทบาทของคนเสื้อแดงหลังจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลว่า คนเสื้อแดงเรียกร้องหาความยุติธรรมกับประชาธิปไตย ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยและมีความยุติธรรมแล้ว คนเสื้อแดงก็ไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้องอะไร แต่ที่สำคัญคือเวลานี้ความสองมาตรฐานที่ต้องมีการค้นหาความจริงและเยียวยา ทุกอย่างจะได้จบ


มือที่มองไม่เห็น



ปัญหา “มือที่มองไม่เห็น” การทำรัฐประหาร และองค์กรอิสระต่างๆนั้น พ.ต.ท.ทักษิณมองว่า วันนี้พลังที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิแสดงให้เห็นชัดเจน เชื่อว่าคนที่เคยคิดแผนเดิมๆไว้จะต้องกลับไปทบทวนใหม่แล้วว่าจะฝืนความรู้สึกประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้แล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากมาย แม้แต่ในกรุงเทพฯยัง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าคนไทยกำลังจะบอกว่าเลิกทะเลาะเถอะ หันมาดีกันเถอะ เพราะพรรคเพื่อไทยแสดงจุดยืนชัดเจนเรื่องของความปรองดอง ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ได้คะแนนมาก
“ผมคิดว่าวันนี้เหตุการณ์ของโลกก็ดี เหตุการณ์ที่เราบอบช้ำมานาน 5 ปีก็ดี ผมว่านานพอแล้วล่ะที่เราทะเลาะกันอย่างนี้ ทุกฝ่ายควรต้องถอยกันคนละก้าว คนที่เคยใช้กติกาที่ไม่เป็นกลางก็ต้องหยุดและทบทวนตัวเองว่าดีหรือเปล่า คนที่เข้าแทรกแซงในเรื่องที่ไม่ควรก็ต้องคิดว่าประเทศช้ำมาเยอะแล้ว วันนี้ประชาชนก็บอกแล้วว่าให้หยุดเถอะ ประชาชนรำคาญแล้ว จึงถือเป็นวิธีบอกที่ดีที่สุด ผมว่าควรหันหน้าเข้าหากันดีกว่า ผมเองก็รู้ว่าผมอาจเป็นที่ไม่พอใจของบางคน พูดจาไม่เข้าหูคนบ้าง อะไรบ้างในอดีต ผมอยากบอกว่าขออภัยในส่วนของผมนะ และผมก็หวังว่าทุกคนจะอภัยให้ผม เราหันมาทำประโยชน์ต่อบ้านเมืองกันดีกว่า ผมเชื่อว่าผมเองน่าจะมีประโยชน์อะไรต่อบ้านเมืองมากกว่ามีโทษนะถ้าใช้ผม แต่ผมไม่จำเป็นต้องเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ผมอาจสอนหนังสือ ผมว่าความรู้ของผมน่าจะเป็นประโยชน์ โทนนั้นน่าจะดีกว่ามั้ย ผมก็เลยขอได้เชิญชวนทุกคน”


ส่วนที่มีกระแสข่าวเจรจาทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้มีอำนาจนั้น พ.ต.ท.ทักษิณยืนยันว่า ไม่มีการพูดคุยกัน แต่ยอมรับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยเป็นตัวแทนในการพูดคุยกับหลายฝ่าย แต่ไม่เป็นทางการ แค่พูดคุยว่าจะมีทางอย่างไร


“คุณยิ่งลักษณ์เมื่อก่อนเป็นตัวแทนผม ประมาณปีกว่าแล้ว แต่ไม่ใช่ช่วงนี้ ช่วงนี้ไม่ได้คุย แต่อาจมีการคุยผ่านคนอื่น เช่น คนนั้นปรารถนาดีก็คุยกับคนนี้มาบอก คนนั้นปรารถนาดีก็คุยจากผมไปบอก ก็มีคนที่ปรารถนาดีอยากให้บ้านเมืองปรองดองอยู่ แต่นั่งคุยกันทุกฝ่ายอย่างข่าวที่ว่าปฏิญาณบ้าบอนั้นไม่จริง”


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 318 วันที่ 9 - 15 กรกฏาคม 2554  พ.ศ. 2554 หน้า 7-8 คอลัมน์ รายงานพิเศษ โดย ทีมข่าวการเมือง
http://redusala.blogspot.com

ประชาธิปไตยที่ใครๆก็ไม่ต้องการ!

       จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 318 ประจำวัน จันทร์ ที่ 11 กรกฏาคม 2011
         โดย วิษณุ บุญมารัตน์
         ผลการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว ต้องขอแสดงความยินดีกับพรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และหากการเตรียมการเลือกตั้งล่วงหน้าของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความพร้อมกว่านี้อย่างที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้ในคราวที่แล้ว คะแนนเสียงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอาจมากกว่านี้แน่


หลังจากนี้คงต้องดูต่อไปว่าภายหลังการประกาศยอมรับความพ่ายแพ้และลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนในพรรคจะยอมรับความพ่ายแพ้อย่างที่ประกาศไว้จริงหรือไม่ เพราะยังคงมีเสียงจากคนในพรรคประชาธิปัตย์พูดถึงความเสียหายของบ้านเมืองเมื่อปีที่แล้วว่าเกิดขึ้นเพราะคนเสื้อแดง มีอาการ “ขี้แพ้ชวนตี” ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งคราวที่ผ่านมา และสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง


จากนี้ไปคงต้องดูการแสดงบทบาทการทำหน้าที่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ว่าจะสามารถทำตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชนได้หรือไม่ รวมทั้งได้เห็นบทบาทอันเชี่ยวชาญของพรรคประชาธิปัตย์ในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลกันต่อไป


การเมืองไทยเป็นเช่นนี้เอง มีขึ้นมีลง เปลี่ยนขั้วเปลี่ยนข้างตลอดเวลาเมื่อฝ่ายรัฐบาลเปิดช่องโหว่ให้เกิดขึ้น ดังนั้น ประชาชนคนไทยไม่ควรเบื่อการเมือง แต่ควรติดตามด้วยความใส่ใจว่านักการเมือง พรรคการเมืองที่เลือกไปนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่สมตามที่ให้สัญญาไว้กับเราหรือไม่ หากไม่ใช่ก็ไม่ควรเลือกเข้ามาอีก แต่ควรเลือกผู้ที่ตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อประชาชน จะได้ร่วมกันสร้างการเมืองไทยให้เป็นการเมืองภาคประชาชนอย่างแท้จริงได้เสียที


เมื่อสัปดาห์ก่อนเป็นวันครบรอบที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยที่คาดว่ามีคนรุ่นใหม่จำกันได้ไม่มากนัก เพื่อเป็นการร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ในช่วงดังกล่าวจึงอยากขอแนะนำสถานที่แห่งหนึ่งที่น่าจะให้ความรู้กับประชาชนชาวไทยได้ดีนั่นคือ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตั้งอยู่ต้นถนนหลานหลวง ใกล้กับวัดสระเกศฯหรือวัดภูเขาทอง บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของกรมโยธาธิการเก่านั่นเอง


พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 รวมทั้งเหตุการณ์ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในบางมุมที่เราไม่เคยทราบ นอกจากนี้ยังมีส่วนที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของรัฐสภาไทย คณะรัฐมนตรี รวมทั้งเหรียญตราต่างๆด้วย พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. ยกเว้นวันจันทร์ ผู้เขียนเห็นว่าจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจการเมืองของไทยให้มากขึ้นสำหรับผู้ที่สนใจ จึงขอแนะนำให้ไปชมกัน โดยเฉพาะผู้ที่ชอบอ้างว่ารักสถาบันทั้งหลาย


ในช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากเกินร้อยละ 70 เช่นนี้ กลับพบว่าความเข้าใจของประชาชนส่วนใหญ่ในเรื่องของประชาธิปไตยยังอยู่เพียงการใช้เสียงส่วนมากตัดสินในเรื่องใดๆเท่านั้น ไม่สนใจว่าจะถูกหรือผิด จนกลายเป็นว่าเสียงส่วนมากคือความถูกต้องไปแล้ว


ดังนั้น เราจึงได้ยินข่าวการชุมนุมเรียกร้อง ฟ้องร้องต่างๆโดยคนกลุ่มใหญ่ หรือการเดินขบวนให้ปลดผู้บริหารโดยเสียงส่วนใหญ่ออกมาเป็นระลอก
ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงการศึกษา กรณีของ ดร.คิม ไชยแสนสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เคยกล่าวถึงก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง วันนี้จะขอเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน นั่นคือการใช้เสียงส่วนใหญ่ตัดสินโดยเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว


สภามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี มีมติให้ปลด รศ.บัญญัติ สุขศรีงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน โดยเฉพาะข่าวการตั้งเงินเดือนให้กับอาจารย์คณะพยาบาล ซึ่งเป็นคณะที่ตั้งขึ้นใหม่คนละเหยียบแสน นี่เป็นข่าวที่บุคคลภายนอกได้ยินได้ฟังมาแล้วก็บอกต่อๆกัน คนที่ไม่รู้จักอธิการบดีท่านนี้ก็จะเข้าใจเพียงว่า อ๋อ...อาจารย์คนนี้มีการคอร์รัปชันแล้วถูกจับได้เท่านั้นเอง...จบ


แต่กับบุคคลที่เคยรู้จักอาจารย์ท่านนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้เขียนไม่เคยรู้จักอธิการบดีท่านนี้เป็นการส่วนตัว แต่เนื่องจากอาจารย์ท่านนี้เคยสอนที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี มาก่อน จึงทำให้มีคนรู้จักท่านหลายคนและเล่าให้ผู้เขียนฟังถึงบุคลิกและอุปนิสัยส่วนตัวของอาจารย์ ซึ่งตรงข้ามกับข่าวที่ออกมาอย่างยิ่ง


รศ.บัญญัติเคยสอนที่ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยบูรพา ก่อนที่สภามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีจะเชิญไปดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ขอเน้นว่าเชิญไป ไม่ใช่สมัครแข่งขันแล้วได้รับเลือก ดังนั้น ย่อมต้องมีกระบวนการสรรหาก่อนหน้านี้แล้วว่ามีคุณสมบัติสมควรเป็นอธิการบดีบริหารมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งคุณสมบัติที่สำคัญคือการบริหารแบบโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลนั่นเอง


ลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์บัญญัติล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจารย์ตรงยิ่งกว่าไม้บรรทัดเสียอีก เพราะในการศึกษาสายวิทย์ การทำการทดลองต่างๆจะต้องทำตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นจะมีผลต่อการทดลอง และไม่สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานในการทดลองได้ ซึ่งเชื่อว่าอาจารย์น่าจะติดนิสัยนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันด้วย


ดังนั้น จึงต้องถามต่อไปว่าได้มีการสอบถามบุคลากรในมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีแล้วหรือยังว่าการบริหารงานของอาจารย์บัญญัติก่อให้เกิดความไม่พอใจกับใครบ้างหรือไม่ เช่น การตรวจสอบเวลาการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการเซ็นชื่อทุกวัน เป็นต้น เพราะเรื่องเล็กๆบางเรื่องอาจปิดกั้นการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนได้


อย่าให้ข่าวการปลดอาจารย์บัญญัติก่อให้เกิดความกังขาขึ้นในสังคม รวมทั้งความแตกแยกขึ้นในมหาวิทยาลัยเหมือนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จนกระทั่งในที่สุดก็จะกลายเป็นข่าวบุคลากรแต่งชุดดำประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเหมือนรามคำแหง ให้สังคมภายนอกได้กังขากันว่าผลประโยชน์ไม่ลงตัวหรืออย่างใด
มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความรู้ที่ต้องการสร้างบัณฑิตออกสู่สังคม ไม่ใช่สถานที่ที่จะประลองความสามารถในเชิงการเมืองของอาจารย์แต่ละคน ใครขวางผลประโยชน์ของตัวเองก็จะใช้การเมืองบีบให้ออกด้วยการยืมมือเสียงส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในอำนาจของตน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าคนคนนั้นทำผิดจริงทั้งที่ค้านสายตาผู้พบเห็น และก่อให้เกิดความสมเพชใจอย่างยิ่ง


ขอให้รักษาความดีความงามของมหาวิทยาลัยเหมือนพระนามที่ได้อัญเชิญมาเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วย


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 318 วันที่ 9 – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 หน้า 12 คอลัมน์ หอคอยความคิด โดย วิษณุ บุญมารัตน์
http://redusala.blogspot.com

ยิ่งลักษณ์’จะพลิกประเทศเพื่อประชาชน

         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 318 ประจำวัน จันทร์ ที่ 11 กรกฏาคม 2011
         โดย วัฒนา อ่อนกำปัง
         รศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกฯ เป็นเจ้าแห่งระบบ “ซีอาร์เอ็ม” หรือเอาลูกค้าเป็นใหญ่ ดังนั้น การบริหารประเทศจะต้องทำอย่างไรให้ลูกค้าพึงพอใจ ประการแรกต้องเลิกสิ่งเพี้ยนๆทั้งหลายที่เกิดในรัฐบาลชุดที่แล้ว และตั้งรองนายกฯด้านเศรษฐกิจที่มีฝีมือและวางใจได้เข้ามาบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศใหม่ให้ทันสมัย เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก


การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร


สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกือบจะ 180 องศา จากเดิมที่การวางนโยบายเป็นแบบอนุรักษ์นิยม บวกด้วยประชานิยมแบบประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่เวิร์คทั้งคู่ ถ้าจะอนุรักษ์ก็ควรอนุรักษ์ให้เต็มที่ หรือถ้าจะประชานิยมก็ควรประชานิยมให้ชัดเจน ประชาธิปัตย์พลาดตรงที่ว่าทำอะไรครึ่งๆกลางๆ ไม่แน่ใจ เพราะอะไร อาจเป็นเพราะกลัวประชาชนไม่พอใจหรือไม่รัก ก็เลยมาเลียนแบบประชานิยมของพรรคไทยรักไทย ทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง หรือเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์นั้นพึ่งข้าราชการเป็นหลักใหญ่ จึงเอาแผนพัฒนาประเทศมาเป็นตัวหลัก


แต่งวดนี้พอพรรคเพื่อไทยใช้แนว “ซีอาร์เอ็ม” หรือเอาลูกค้าเป็นใหญ่ เพราะคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเจ้าแห่งซีอาร์เอ็ม มองลูกค้าเป็นหลัก ไม่ใช่มองคนปฏิบัติหรือผู้ผลิตเป็นหลัก เขามองว่าตอนนี้คนไทยมีความเจ็บปวดที่ชัดๆก็คือ ของแพง รายได้น้อย เงินเฟ้อ ชีวิตประจำวันมีความลำบากมากเมื่อเทียบกับยุคนายกฯทักษิณ ชินวัตร เงินในกระเป๋าหายไป คุณยิ่งลักษณ์มองเกมนี้ออกก็ใช้ซีอาร์เอ็มเป็นตัวสำคัญ คือทำอย่างไรให้ลูกค้าพึงพอใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เสนอมาไม่ว่าจะเป็นอนาคตประเทศไทยหรืออะไรต่างๆคือเป้าหมายการพัฒนาสูตรความสำเร็จ


เขาเสนอมา 20 สิ่งที่หนักๆทั้งนั้น คือเรื่องการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ซึ่งเป็นรูปแบบหลักของไทยรักไทยเดิม คุณยิ่งลักษณ์นำเสนอเรื่องการเพิ่มรายได้ โดยระบุว่ารายได้ของประชาชนต้องไม่น้อยกว่า 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคนไทยต้องมีค่าจ้างเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 บาท หรือผู้จบปริญญาตรีต้องมีรายได้เริ่มต้น 30,000 บาท แต่ไม่ใช่วันนี้นะ นี่คืออนาคต คือการวาดภาพอนาคตให้กับผู้ที่ลงประชามติได้เห็น นอกจากนั้นก็เป็นการเอาแนวนโยบายของพรรคไทยรักไทยกลับมา ทั้งเรื่องยาเสพติด การศึกษาถ้วนหน้า


งานที่ต้องทำทันทีคืออะไร


ณ วันนี้สิ่งที่ต้องทำทันทีเมื่อเป็นนายกฯและตั้ง ครม. เรียบร้อยแล้วคือ ทำอย่างไรให้คนไทยทุกหมู่เหล่ามีชีวิตอย่างราบรื่น เริ่มที่คนจนก่อน ทำอย่างไรให้ราคาสินค้าเพลาลง การที่ราคาสินค้าแพงขึ้นก็มี 2 ด้าน คือด้านที่ของไม่พอ กับอีกด้านคือมีการผูกขาดตัดตอน เล่นแร่แปรธาตุ เช่น ราคาน้ำมันพืชที่รัฐบาลที่แล้วเล่นแร่แปรธาตุจนกระทั่งประเทศเราซึ่งเป็นผู้ผลิตปาล์มต้องไปเข้าคิว เพราะฉะนั้นถ้าหากคุณยิ่งลักษณ์มองลูกค้าเป็นหลักก็เลิกเล่นแร่แปรธาตุ ทุกอย่างก็จะเข้าสู่ภาวะปรกติ เป็นเรื่องที่ต้องทำทันที


เรื่องที่ 2 คือการทำอย่างไรที่จะวางรากฐานของประเทศไทยให้มีความสามารถในการแข่งขัน อันนี้คุณยิ่งลักษณ์ทำงานใหญ่ๆมาเยอะ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญหรือเรื่องใหญ่จนเกินความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นคมนาคม 10 สาย เมืองใหม่ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ปรับโครงสร้างการใช้พลังงาน เพิ่มพลังงานสีเขียว 25% ของพลังงาน คือลดการใช้น้ำมัน และเรื่องของไอทีที่เธอเชี่ยวชาญอยู่แล้ว


วันนี้สิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ต้องทำคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้สิ่งที่จะเป็นควรเป็นไป ยกตัวอย่างเช่น การตั้งคณะกรรมการ กสทช. ต้องรีบทำ เพื่อให้เกิด 3จี 4จี อันนี้เป็นเรื่องของการทะลุทะลวงการผูกขาดตัดตอนของอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นโดยราชการ หรือโดยคณะกรรมการ หรือพ่อค้า หรือบุคคลใดๆ ซึ่งจะต้องรีบทำให้ระบบไอทีของเราดีขึ้น


ระบบก่อสร้างคมนาคมทั้งหลายที่เป็นขั้นกลางขั้นยาว ผมเชื่อเหลือเกินว่าคุณยิ่งลักษณ์ทำได้แน่ ที่จะระดมทุนจากภาคเอกชน โดยทำเป็นรัฐร่วมกับเอกชน และเอาสิ่งต่างๆที่รัฐวิสาหกิจมีอยู่แปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน แล้วก็ระดมทุนซะ อันนี้เป็นเรื่องที่หมูมากทางการเงิน ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์โดยผู้เชี่ยวชาญต่างๆที่เป็นที่ปรึกษาสามารถทำได้ไม่ยาก นี่เป็นเรื่องระยะกลาง


อีกด้านคือเรื่องการศึกษาที่จะต้องวางรากฐาน เพราะพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาลที่แล้วทำผิดพลาดอย่างยิ่งที่ไม่ส่งเสริมให้ทรัพยากรมนุษย์เข้มแข็งขึ้น แม้จะมีการศึกษาที่เรียกว่าฟรีแต่ไม่มีคุณภาพ ทุกคนทราบว่าสิ่งที่ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ทำตั้งใจดีแต่ทำไม่เป็น เพราะคำว่าฟรีมาพร้อมกับความไม่มีคุณภาพ


ฉะนั้นสิ่งที่อยากเห็นพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลของท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ทำคือ ทำอย่างไรถึงจะปรับคุณภาพกระทรวงอุตสาหกรรม แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาที่ป้อนคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สถาบัน คุณวุฒิวิชาชีพ ที่กระทรวงศึกษาตั้งขึ้นมายังไม่เวิร์ค กระทรวงแรงงานก็ยังอีหลักอีเหลื่ออยู่ แย่งกันว่าใครจะดูแลตลาดแรงงาน ใครจะดูแลคุณวุฒิวิชาชีพ กระทรวงศึกษาควรดูแลพื้นฐานและส่งมอบไม้อันนี้ให้กับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงแรงงานคงต้องปรับตัวให้เป็นเกรดเอ เพราะนี่คือแนวหน้าของประเทศในการที่จะฝ่าฟันอุปสรรคในอนาคต กระทรวงศึกษาเป็นเกรดเอเฉพาะของบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นเกรดซีเรื่องการบริหารจัดการ


มองด้านการศึกษาอย่างไร


คุณยิ่งลักษณ์จะต้องเข้าไปผ่าตัดกระทรวงศึกษาและแรงงาน ผมเสนอว่า 2 อย่างนี้ต้องรวมกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ได้หมายถึงการรวมกระทรวงกัน แต่อาจจะดึงสำนักงานอาชีวศึกษามาร่วมกับส่วนใดส่วนหนึ่งของกระทรวงแรงงาน แล้วก็อาจจะตั้งเป็นทบวงอยู่ภายใต้สำนักนายกฯ เพื่อแก้ปัญหาคุณวุฒิวิชาชีพ ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ให้กระทรวงศึกษาดูแลไปจนถึง ม.3 มหาวิทยาลัยก็ให้แยกออกไป ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกำกับของรัฐโดยทบวงมหาวิทยาลัย แต่ไม่ใช่แบบเดิม แบบเช้าชามเย็นชามไม่เอา เพราะฉะนั้นต้องมีการลดบทบาทการศึกษาที่เอื้อหนุนโดยภาครัฐถ้าหากว่าเอกชนทำได้ โดยเฉพาะอุดมศึกษา พูดง่ายๆรัฐต้องรีบลดบทบาทตัวเอง เพื่อให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้น


นายกฯยิ่งลักษณ์จะต้องตั้งเป้าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการยกเลิกสิ่งเพี้ยนๆทั้งหลายที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ทำไว้ คือการลดการอุดหนุนดีเซลและแอลพีจี แล้วคนจนจะทำอย่างไร ก็ต้องหาวิธีช่วยโดยตรง เช่น ช่วยอุดหนุนเรื่องไฟฟ้า แน่นอนว่าต้องมีปัญหา แต่ก็ดีกว่าให้อุตสาหกรรมมีปัญหา การลดการอุดหนุนอาจทำให้ต้นทุนการทำอุตสาหกรรมสูงขึ้น แต่เราก็ไปลดส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดการผูกขาดของภาครัฐลง รวมทั้งการลดในส่วนที่เป็นภาษีนิติบุคคลที่อาจสูงเกินไปลง


พร้อมกันนั้นอาจต้องขึ้นภาษีบางอย่าง เช่น ภาษีผู้ปล่อยมลพิษ ภาษีผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะฉะนั้นเรื่องการวางรากฐานทางการเงินการคลังจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการวางรากฐานที่จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน เราจะใช้พลังงานสีเขียวได้ไม่เกิน 25% เข้าใจว่า 20% ก็หืดขึ้นคอแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปหวังอะไร แต่ต้องลดการใช้พลังงานที่ฟุ่มเฟือยของประชาชนลง และกลไกที่ดีที่สุดคือเรื่องของราคา ผมไม่เห็นด้วยที่จะอุดหนุนพร่ำเพรื่อ ถ้าจะช่วยคนจนก็ต้องช่วยอย่างอื่น ช่วยอุตสาหกรรมก็ต้องช่วยอย่างตรงไปตรงมา


นโยบายต่างประเทศทำอย่างไร


เรื่องการค้ากับต่างประเทศซึ่งเราจะเข้าสู่กฎแห่งอาเซียนที่ต้องเปิดเสรีในหลายๆด้าน อันนี้ประเทศไทยเตรียมตัวน้อยมากเพราะมัวแต่แบ่งแยก กระทบกระทั่งเรื่องต่างๆทางการเมือง ผมคิดว่าขณะนี้นายกฯยิ่งลักษณ์จะปรองดองแล้วหันมาดูแลในเรื่องการแข่งขัน การคบกับเพื่อนบ้าน ทำอย่างไรถึงจะเปิดเสรีโดยที่คนไทยไม่เสียเปรียบแต่ได้ประโยชน์ กล่าวคือ การมีสินค้าผ่านแดน โดยอุตสาหกรรมต่างๆจะมีการเคลื่อนย้ายในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด ดังนั้น นายกฯยิ่งลักษณ์ต้องมองว่าทำอย่างไรให้หัวเมืองใหญ่ของไทยเป็นหัวเมืองใหญ่ของภูมิภาค เช่น โคราชเป็นหัวเมืองใหญ่ของภูมิภาคในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนที่เชื่อมโยงกับเวียดนามและภาคใต้ของจีน และทำอย่างไรจึงจะเชื่อมกับเวียดนาม จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย จังหวัดในภาคใต้


สิ่งเหล่านี้นายกฯยิ่งลักษณ์ต้องมองว่าประเทศไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางในการค้าการขายของภูมิภาค และเป็นฮับในการส่งสินค้าไปสู่ประเทศตะวันออกกลาง อินเดียที่กำลังรวย จีน ฝั่งตะวันออกคือเกาหลี เราต้องวางภาพทั้งหมดทางการค้าการขายของเราที่จะส่งออกไปทางไซบีเรียเข้าไปสู่ยุโรป รัสเซีย เพราะฉะนั้นมองว่าการจะทำเช่นนี้ได้นายกฯยิ่งลักษณ์ต้องตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เก่ง ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ชั่งไข่หรือน้ำมันปาล์มเล็กๆน้อยๆ หรือรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องความคิดสร้างสรรค์แต่ไม่สร้างสรรค์เท่าไร หมายถึงที่ทำมายังไม่เวิร์ค ลำดับแรกคิดว่านายกฯยิ่งลักษณ์จะต้องตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เก่ง


หวังอะไรกับรัฐมนตรีใหม่


ขั้นที่ 1 ผมคาดหวังว่ารองนายกฯจะเข้าใจในสิ่งที่ผมพูด ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่รวมถึงเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยว่าเราต้องแปลงภัยพิบัติหรือวิกฤตให้เป็นโอกาสในการส่งออกอาหาร เพราะเรานำเข้าพลังงานเยอะมาก เศรษฐกิจในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเศรษฐกิจล้วนๆ ต้องหมายถึงเศรษฐกิจว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการแข่งขัน เพื่อการรวมกลุ่มต่างๆ เพราะฉะนั้นคนที่เป็นรองนายกฯ ซึ่งเป็นมือขวาของคุณยิ่งลักษณ์ ต้องเป็นคนเก่งและเข้าใจเรื่องพวกนี้ เข้าใจบริบทของนานาชาติ และเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของภูมิภาค ไม่ใช่ไปทะเลาะกับเขา


ผมขอเสนอว่ารองนายกฯท่านใหม่ต้องคุมกระทรวงการต่างประเทศและพาณิชย์ ไม่ใช่กระทรวงการคลัง เพราะประเทศไทยมีพื้นที่ 500,000 กว่าตารางกิโลเมตร แต่ในโลกนี้ทั้งหมดมีอยู่หลายพันล้าน เอาเฉพาะ 10% ก็พอ ถ้ากระทรวงการต่างประเทศทำให้มาเป็นลูกค้าเราได้ ประเทศไทยก็จะไปได้ไกล
ดังนั้น รองนายกฯเศรษฐกิจจึงต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์และเก่ง คุมกระทรวงการต่างประเทศได้ สามารถเอาคนในกระทรวงที่มีแต่คนเก่งๆมาใช้งาน อย่าเพิ่งกล่าวหาว่าใช้ทูตไปเป็นพ่อค้า ไม่ใช่ ท่านเพียงแต่หาข้อมูลข่าวสารและสร้างมิตรภาพ จะไปตีกอล์ฟต่อไปก็เชิญแต่คู่มือ ลูกมือของท่านที่อยู่ต่างประเทศทั้งหลาย รองนายกฯคนใหม่จะต้องสามารถเข้าถึงและบัญชาการได้


การเมืองไทยยังมีเรื่องโควตา


เป็นธรรมชาติของบ้านเรา ถ้าจะให้พูดกันใหม่เลยก็ว่ายุทธศาสตร์ของเราเป็นอย่างไร ก็เอายุทธศาสตร์เป็นตัววางก่อน แล้วค่อยวางว่าใครทำอะไร และเดินตามแนวนั้น เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เป็นจุดเปลี่ยนผันประเทศไทย ผมคิดว่ารองนายกฯจะต้องเป็นซูปรามินิสเตอร์ คือมีอำนาจในการบัญชาการระดับรัฐมนตรีสั่งการ รัฐมนตรีต้องทำในนามนายกฯแต่ไม่ล้วงลูกเข้าไปในกระทรวง ดูที่ภาพรวม แต่ต้องสั่งรัฐมนตรีได้ แต่ก่อนไม่มี มีแต่ไปทะเลาะกับกระทรวงการต่างประเทศ


คุณยิ่งลักษณ์จะนำประเทศไปสู่จุดที่วางไว้


ผมคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์คนเดียวไม่พอ เพราะเธอยังอ่อนไหวแม้จะบริหารการเงินมาเป็นหมื่นๆล้าน สิ่งที่ผมพูดเกินกว่าที่คุณยิ่งลักษณ์จะเข้าใจในขณะนี้ แต่คุณยิ่งลักษณ์จะเรียนรู้ทุกวินาที ทุกนาทีด้วยเหตุการณ์จริง และสักพักจะเก่งกว่าทุกคน เพราะถ้ามีรากฐานที่ดี แม้เขามาจากบ้านนอก มาจากคนทำงานจริง เขามีจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส เขาไม่เคยมีมลทิน แม้ว่าจะนามสกุลชินวัตร ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะฉะนั้นเขาต้องนำพาประเทศไทยไปได้ ต้องให้เวลาสักหน่อย ให้เขาเข้าใจในสิ่งที่ไม่เข้าใจ


ไม่เชื่อว่าจะอยู่ถึง 4 ปี


ผมไม่เชื่อว่าจะอยู่ถึง 4 ปี ปัจจัยก็มีทั้งภายในและภายนอก ภายในก็คือการแย่งอำนาจกันในหมู่ของเพื่อไทยที่ไม่ลงตัว ก็ธรรมชาติของการเมือง ตัวนี้จะนำไปสู่การปรับหลายรอบ แต่ถ้าไม่ไปขัดแย้งกับอำนาจก็จะเดินไปเรื่อยๆ โดยทั่วไปการจะเดินไปข้างหน้าและสร้างคุณค่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการขัดแย้ง โลกมันขัดแย้งถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าไปแบบปรองดอง ไม่มีความขัดแย้ง เป็นไปไม่ได้ แต่ทำอย่างไรให้ขัดแย้งน้อยที่สุด และทำให้เป้าหมายประเทศในการพัฒนาเดินหน้าต่อไปได้


ในทางสัจธรรมประเทศจะเจริญไม่ได้ถ้าปากยังไม่กิน แต่ถ้ามีอาวุธมากเกินไปอำนาจตรงนั้นจะอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณยิ่งลักษณ์จะต้องเจอทางตันตรงนั้นแน่ ซึ่งจะต้องเลือกอย่างลำบากและชาญฉลาด อย่างนิ่มนวล ผมยังเชื่อว่าเธอทำได้ ขอให้โชคดี


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 318 วันที่ 9 - 15 กรกฏาคม 2554  พ.ศ. 2554 หน้า 18 คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย วัฒนา อ่อนกำปัง
http://redusala.blogspot.com

ความพ่ายแพ้‘อำมาตย์’!
ความพ่ายแพ้‘อำมาตย์’!

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 318 ประจำวัน จันทร์ ที่ 11 กรกฏาคม 2011
         โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
         ถ้าไม่พูดถึงชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยเสียหน่อยก็คงจะไม่ทันแฟชั่น แต่ในที่นี้ต้องการจะให้ความหมายในมิติที่กว้างขึ้นว่าชัยชนะของพรรคเพื่อไทยและการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในครั้งนี้เป็นความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของกลุ่มอำมาตย์ที่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


ทั้งนี้ กลุ่มอำมาตย์คือกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่มีบทบาทครอบงำการเมืองไทยมาเป็นเวลานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่หลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา จากการที่ฝ่ายขุนศึกถูกโค่นอำนาจลง ฝ่ายอำมาตย์สามารถผลักดันการจัดตั้งรัฐบาลของตนได้เป็นครั้งแรก โดยมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นรัฐบาลที่เปิดทางมาสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ แต่เนื่องจากแนวคิดของกลุ่มอำมาตยาธิปไตยคือความไม่เชื่อในระบอบ


ประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน แต่เห็นว่าการเมืองที่ดีกว่าคือการที่อำนาจอยู่ในมือชนชั้นสูงจำนวนน้อย ที่อาจจะเป็นคนดี มีความรู้ดี หรือมีความสามารถที่จะชี้นำสังคมได้


ถ้าหากจะมีประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้งก็เป็นเพียงวิธีการ โดยที่ประชาธิปไตยนั้นจะต้องไม่ทำลายเสถียรภาพของชนชั้นนำ มิฉะนั้นแล้วฝ่ายอำมาตย์ก็พร้อมที่จะล้มระบอบประชาธิปไตยและสถาปนาระบอบเผด็จการทันที ดังจะเห็นได้จากการก่อกรณี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่มีการเข่นฆ่านักศึกษาและก่อการรัฐประหารฟื้นอำนาจเผด็จการ โดยมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบเผด็จการ


ต่อมาแม้ว่าเผด็จการแบบธานินทร์จะถูกโค่นล้มลง แต่ฝ่ายอำมาตย์ก็ยังคงมีบทบาทครอบงำทางการเมืองโดยตรงและโดยอ้อมอยู่เสมอ ระบอบประชาธิปไตยที่รื้อฟื้นขึ้นมาหลัง พ.ศ. 2520 ถูกใช้เป็นวิธีการอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2523-2531 เพราะแม้ว่าจะเปิดทางให้มีรัฐสภาและมีการเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งจะไม่กระทบต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หมายความว่าไม่ว่าประชาชนจะเลือกพรรคใดด้วยเสียงข้างมาก พล.อ.เปรมก็เป็นนายกรัฐมนตรีเสมอ


แม้ว่า พล.อ.เปรมจะยอมยุติบทบาทในการบริหารประเทศด้วยตัวเอง แต่รัฐบาลแบบ พล.อ.เปรมจะเป็นรัฐบาลในแบบอุดมคติของอำมาตยาธิปไตยเสมอ ในลักษณะที่เป็นรัฐบาลบริหารโดยมีกองทัพและระบบราชการเป็นหลัก และมีพรรคการเมืองจากการเลือกตั้งแสดงบทสนับสนุน


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของประเทศได้ผ่านมาสู่ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์มากขึ้น พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศ ในภาวะเช่นนี้ฝ่ายอำมาตย์ก็ค้นพบพรรคการเมืองที่พวกเขาชอบ นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะวิธีการบริหารและแนวคิดของพรรคเป็นแบบอนุรักษ์นิยม มุ่งรักษาเสถียรภาพของสังคม บริหารตามแนวของสถาบันหลัก และเปิดโอกาสให้แก่ระบบราชการ


แต่ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและได้บริหารประเทศใน พ.ศ. 2544 รัฐบาลทักษิณได้ก่อให้เกิดการปฏิรูปทุกด้าน ใช้วิธีคิดแบบใหม่นอกกรอบมาบริหารประเทศ และมุ่งสร้างนโยบายประชานิยมขึ้นช่วยเหลือประชาชนจำนวนมาก ทำให้ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น จนเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ใน พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทยก็ยิ่งได้คะแนนนิยมมากขึ้น ทำให้ฝ่ายอำมาตย์เกิดความวิตกว่าความนิยมใน พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นภัยแก่เสถียรภาพในระบบของตน


จากการที่ฝ่ายอำมาตย์ริษยาและไม่พอใจรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แต่แทนที่จะสู้ในระบอบประชาธิปไตยด้วยการเคลื่อนไหวให้ประชาชนเสื่อมความนิยมและให้ พ.ต.ท.ทักษิณแพ้เลือกตั้งหมดบทบาทไป พวกอำมาตย์กลับใช้วิธีลัดนั่นคือสนับสนุนให้กองทัพก่อการรัฐประหารโค่นรัฐบาลไทยรักไทยในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากนั้นยังมุ่งที่จะทำลายล้างพรรคไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณด้วยการใช้อำนาจตุลาการเป็นเครื่องมือในการยุบพรรคไทยรักไทย และตั้งคณะกรรมการเอาผิด โดยพยายามนำคดีทุจริตหลายคดีมาเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่คดีทั้งหมดแทบจะไม่มีมูลในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเลย


แต่การดำเนินการเช่นนี้กลับไม่ได้ทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ตรงข้ามยิ่งกว่านั้นประชาชนจำนวนมากยิ่งไม่พอใจที่ประชาธิปไตยถูกทำลาย จึงมีการตั้งขบวนการต่อต้านอำมาตยาธิปไตยและขยายใหญ่มาเป็นขบวนการคนเสื้อแดงต่อมา


สำหรับฝ่ายอำมาตย์เมื่อทำลายพรรคไทยรักไทยและเสนอรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับรัฐประหารแล้วก็เปิดให้มีการเลือกตั้งเมื่อปลาย พ.ศ. 2550 โดยหวังว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ฝ่ายอำมาตย์ชื่นชอบจะได้รับชัยชนะ แต่กลับปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนที่เปลี่ยนมาจากพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะได้เสียงมากที่สุด นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน จึงได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแทน
ฝ่ายอำมาตย์ต้องลงทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯเสื้อเหลืองเพื่อให้ต่อต้านทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลพลังประชาชน และใช้อำนาจตุลาการยุบพรรคพลังประชาชนอีกครั้ง จากนั้นได้ใช้ “อำนาจพิเศษ” ตั้งรัฐบาลในกองทัพ ผลักดันให้นายอภิสิทธิ์ผู้แพ้ในการเลือกตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อนายอภิสิทธิ์ได้เข้ามาบริหารประเทศอย่างไม่สง่างามก็เกิดการประท้วงใหญ่ของขบวนการคนเสื้อแดง โดยเฉพาะเมื่อเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พ.ศ. 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ใช้มาตรการเด็ดขาดในการกวาดล้างปราบปรามผู้ประท้วง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 92 ศพ และบาดเจ็บ พิการอีกนับพันคน กลายเป็นมลทินของนายอภิสิทธิ์ต่อมา ดังนั้น แม้ว่าฝ่ายอำมาตย์จะยังรักใคร่นายอภิสิทธิ์ แต่ประชาชนคนเสื้อแดงจำนวนมากต่างเกลียดชังเพราะเห็นว่านายอภิสิทธิ์เป็นฆาตกร


ดังนั้น การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาจึงเป็นการตัดสินกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอำมาตย์ ชนชั้นนำ และฝ่ายอนุรักษ์นิยม กับพรรคเพื่อไทยที่สืบมาจากพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชนฝ่ายที่รักประชาธิปไตยทั่วไป
ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์จึงเท่ากับเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายอำมาตย์ที่ชอบกำหนดชะตากรรมของประเทศ เป็นการสะท้อนว่าเสียงประชาชนนั้นเป็นเสียงสวรรค์ ถ้าหากฝ่ายอำมาตย์ไม่รับฟัง เสถียรภาพของระบอบตามที่ฝ่ายอำมาตย์ต้องการก็จะเกิดขึ้นไม่ได้


แต่กระนั้นคงต้องตระหนักร่วมกันว่าฝ่ายอำมาตย์ยังไม่หมดพิษสง พวกเขายังคงมีกองทัพ อำนาจตุลาการ และสื่อกระแสหลักเป็นเครื่องมืออยู่เช่นเดิม ทั้งยังมีกลุ่มกวนเมืองเสื้อเหลืองที่แม้ว่าจะเสื่อมกำลังไปมากแล้ว แต่ก็ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดมสร้างสถานการณ์ทางการเมืองได้
รัฐบาลใหม่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ได้รับการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมากจึงต้องดำเนินการต่อไปด้วยความระมัดระวัง ต้องใช้วิธีการอันเหมาะสมที่จะแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนให้ได้ ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และแก้ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านที่รัฐบาลประชาธิปัตย์สร้างปัญหาทิ้งเอาไว้
ผมเองในฐานะนักวิชาการฝ่ายเสื้อแดงคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นฐานะที่ยิ่งใหญ่มาก) ขอเอาใจช่วยครับ


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 318 วันที่ 9 – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
http://redusala.blogspot.com

ช่วงเวลาที่ดีที่สุด‘ปชป.’จะปฏิรูปพรรค?
ช่วงเวลาที่ดีที่สุด‘ปชป.’จะปฏิรูปพรรค?

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 318 ประจำวัน จันทร์ ที่ 11 กรกฏาคม 2011
         โดย Siam Intelligence
         เว็บไซต์ Siam Intelligence ซึ่งเสนอข่าวและบทวิเคราะห์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ นโยบายสาธารณะ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการสัมภาษณ์บุคคลในสาขาต่างๆในรูปแบบวิดีทัศน์และไฟล์เสียง ได้เผยแพร่บทความในรูปแบบจดหมายถึง “สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์” เมื่อคืนวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 หลังรู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งมีประเด็นความผิดพลาดและการทำหน้าที่ต่อไปของพรรคประชาธิปัตย์ที่น่าสนใจดังนี้

ขอแสดงความเสียใจที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2554 แต่ก็ขอให้กำลังใจว่าให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาแก้ตัวใหม่อีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่อยู่คู่ประชาธิปไตยไทยมานานที่สุด มีความเป็นสถาบันอันเข้มแข็งที่สุด มีโครงสร้างพรรคชัดเจน ไม่ใช่พรรคของนายทุนหรือกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถือเป็นทรัพย์สินอันมีค่าที่พรรคประชาธิปัตย์ควรรักษาไว้ต่อไป

แต่ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกันนับตั้งแต่คุณชวน หลีกภัย ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. 2535/2 และถ้านับเฉพาะการขับเคี่ยวกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เราจะเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ติดต่อกันถึง 4 ครั้ง และยังไม่เคยเอาชนะ “ระบอบทักษิณ” ได้สักครั้ง


ความพ่ายแพ้ต่อเนื่องเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ามีอะไรบางอย่างไม่ถูกต้องในพรรคประชาธิปัตย์เอง และถ้ายังมองข้ามหรือทำเมินเฉยกับปัญหาเหล่านี้ก็คงไม่มีทางที่พรรคประชาธิปัตย์จะเอาชนะพรรคเพื่อไทยด้วยการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ได้เลย


SIU ขอทำตัวเป็น “กัลยาณมิตร” มองปัญหาภายในของพรรคประชาธิปัตย์จากสายตาคนนอก และแนะนำวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดในสายตาของเรา โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาธิปัตย์ปรับตัวเพื่อเป็นพรรคคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อของพรรคเพื่อไทยต่อไป


ข้อเสนอของเราแบ่งได้เป็น 5 ประเด็น ดังนี้


1.เลิกดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น
พรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาในอดีตใช้การใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่งเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบทางการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ส่งคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์, วาทกรรม “จำลองพาคนไปตาย”, ประเด็นอภิปรายเรื่องสัญชาติของนายบรรหาร ศิลปอาชา ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าไม่ใช่คนไทย, การให้สัมภาษณ์ของคุณเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรค ที่วางบทบาทไว้เป็น “ตัวชน” ฝ่ายตรงข้าม ไปจนถึงกรณีล่าสุดคือการจุดชนวน “ถอนพิษทักษิณ” โดยเลือกปราศรัยหาเสียงที่แยกราชประสงค์ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าเป็นพื้นที่ขัดแย้งและอ่อนไหวสูง
ปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ยังยึดถือแนวทางนี้อย่างเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลาย แน่นอนว่าในทางหนึ่งการใช้วาทกรรมโจมตีคู่แข่งทำให้พรรคได้เปรียบทางการเมืองในทันที แต่ในทางกลับกันการใส่ร้ายลักษณะนี้จะทำให้เกิดบรรยากาศการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์และคู่แข่งต้องเผชิญหน้ากันมากขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดจะเกิดความรุนแรงขึ้นดังที่ปรากฏมาแล้วในเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553


การใช้วิธีการเช่นนี้อาจพอใช้ประสบผลได้ในยุคสมัยหนึ่ง แต่ในยุคสมัยนี้ที่สื่อมวลชนเองก็กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง และมีช่องทางรับข้อมูลหลากหลาย แนวทางการโจมตีคู่แข่งแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับใคร รวมถึงภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เองในระยะยาว เพราะประชาชนทั่วไป (ที่ไม่ใช่แฟนคลับของพรรค) จะเกิดความเบื่อหน่ายความขัดแย้งลักษณะนี้ และนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย


ดังนั้น สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรทำเป็นอย่างแรกคือ ยกเลิกแนวทางการโจมตีหรือให้ร้ายคู่ต่อสู้ทั้งหมด เปลี่ยนมาเป็นการเมืองที่อิงอยู่บนหลักฐานและข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ ยอมรับในสิ่งที่คู่แข่งทำได้ดีกว่า และพยายามเอาชนะด้วยผลงานหรือหลักวิชามากกว่าใช้วาทกรรมเชือดเฉือนอย่างที่เคยเป็นมา


2.กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาที่เป็นเรื่องอื้อฉาวและนำมาซึ่งความขัดแย้ง
พรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่าภายใต้การบริหารงาน 2 ปีครึ่งของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้สร้างปัญหาและประเด็นขัดแย้งระดับชาติที่ “รุนแรงมาก” หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ประเด็นเรื่องความไม่โปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ทุกคดี และที่สำคัญคือเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 91 ศพ


พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในปัญหาทั้งหมดนี้ได้เลย แต่ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์กลับเลือกแนวทางหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ หรือโยนความผิดให้ผู้อื่น (ไม่ว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงหรือสถาบันอื่นๆ) มาโดยตลอด ผลสุดท้ายกลับทำให้ปัญหาเหล่านั้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆด้วยซ้ำ
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ใช้วาทกรรม “ไม่มีคนตายที่ราชประสงค์” แล้วบอกว่ามีผู้เสียชีวิตที่บริเวณใกล้เคียงอื่นๆ ไม่ช่วยให้ความขัดแย้งในเรื่องนี้บรรเทาลงแม้แต่น้อย


ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ควรสร้างกระบวนการภายในของพรรคเพื่อจัดการกับ “ประเด็นปัญหาที่ขัดแย้งรุนแรง” เหล่านี้เสียใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จะต้องกล้ายืดอกรับผิด หาสาเหตุ หาผู้รับผิดชอบภายในพรรค ที่จะต้องแสดงการรับผิดชอบด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง (ไม่ใช่การลอยนวลต่อไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเพียงว่า “ทำเพื่อพรรค”) และที่สำคัญคือ “แก้ไข” ไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะเดียวกันซ้ำอีก


การที่พรรคมีกระบวนการเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาตามสภาพความเป็นจริง มีการตรวจสอบกันเองภายในพรรค ยิ่งจะทำให้ความเป็นสถาบันของพรรคเข้มแข็งขึ้น การดำเนินการของพรรคโปร่งใสมากขึ้น และเป็นผลดีต่อพรรคในระยะยาว


3.เลิกหวังพึ่งทางลัดทางการเมือง หันมาเล่นการเมืองโดยยืนบนขาของตัวเอง
ในรอบ 19 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งมาโดยตลอด พรรคกลับได้เป็นรัฐบาลถึง 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งหลังที่คนบางกลุ่มเชื่อกันว่าด้วย “อำนาจพิเศษ” ที่ถึงแม้จะถูกตามหลักกฎหมาย แต่กลับไม่สง่างามในแง่การบริหารประเทศ


ตัวอย่าง “ทางลัด” เหล่านี้ได้แก่ กรณี “กลุ่มงูเห่า” ที่ช่วยตั้งรัฐบาลชวน 2 หรือ “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ที่ช่วยหนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ 1 รวมไปถึงอำนาจนอกระบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทหาร การตั้งรัฐบาลในกองทัพ ศาล กกต. ฯลฯ


วิธีคิดลักษณะนี้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สนใจ “ผลงาน” ของตัวเองอย่างจริงจังนัก และคอยมองหาแต่ “อำนาจพิเศษครั้งต่อๆไป” มาช่วยพลิกขั้วเป็นรัฐบาลในอนาคต ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งปี 2554 เราเห็นข่าว “พรรคอันดับสองตั้งรัฐบาลได้” ออกมาจากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์อยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าพรรคไม่คิดจะเอาชนะด้วยวิธีตรงไปตรงมาตามระบอบรัฐสภา


ปัจจุบันผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีมุมมองและโลกทัศน์ที่ต่างไปจากเดิมมาก การใช้ “ทางลัดทางการเมือง” เพื่อตั้งรัฐบาลโดยไม่มีผลงานที่โดดเด่นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อีกต่อไป และผลการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะพิสูจน์ให้พรรคประชาธิปัตย์เห็นชัดเจนว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แสดงออกความต้องการของตัวเองอย่างไร


พรรคประชาธิปัตย์ต้องเลิกหวังพึ่งทางลัดพิเศษ อำนาจนอกระบบทั้งหลาย หันมาเล่นการเมืองในระบอบรัฐสภา ผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ตามวิถีทางที่สากลยอมรับ เมื่อพรรคประชาธิปัตย์หันมายึดแนวทางการเมืองในสภาล้วนๆย่อมทำให้เกิดแรงกดดันต่อพรรคให้ลงมาทำงานเพื่อสร้างผลงานอย่างจริงจัง และตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้มีสิทธิออกเสียงเอง
4.เปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นจากมวลชนผู้สนับสนุนพรรค


พรรคการเมืองใหญ่ที่เก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ เคยเป็นรัฐบาลนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ย่อมมีกลุ่มผู้สนับสนุนแนวทางของพรรคเป็นจำนวนมาก แต่รูปแบบการบริหารงานของพรรคกลับยังรวมศูนย์อยู่ที่สมาชิกระดับแกนนำของพรรคเพียงไม่กี่คน ซึ่งหลายคนได้สถานะความเป็นผู้นำจากชาติตระกูล นามสกุล หรือความสัมพันธ์ระบบเครือญาติ ไม่ได้มาจากความสามารถหรือผลงาน ในขณะที่มวลชนของพรรคทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สนับสนุนจากระยะไกลเท่านั้น การขับเคลื่อนภายในพรรคล้วนมาจากแกนนำเพียงกลุ่มเดียว


ในความเป็นจริงแล้วพรรคประชาธิปัตย์ยังมีบุคลากรที่โดดเด่นและมีความสามารถอีกมากมาย และพรรคเองก็ควรดึงทรัพยากรทรงคุณค่าเหล่านี้มาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ พรรคจะต้องปรับโครงสร้างภายในใหม่ให้มีการถ่วงดุลกัน จัดให้กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคคอยตรวจสอบ คอยควบคุม ให้คำแนะนำคณะผู้บริหาร กลุ่มคนทำงานของพรรคให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ “สมาชิก” ของพรรคอยากให้ไป ไม่ใช่ทิศทางที่ “แกนนำพรรค” ต้องการจะไป


พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบพรรคอื่นอย่างมหาศาลตรงที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคจำนวนมากอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างหรือหาใหม่ แถมกลุ่มผู้สนับสนุนเหล่านี้มีการศึกษา มีฐานะ สถานะทางสังคมอยู่ในระดับดีมากของสังคมไทย สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำมีเพียงเปิดกว้างและสร้างกระบวนรับฟังความคิดเห็นอันมีประโยชน์จากกลุ่มมวลชนเหล่านี้เท่านั้น


5.ผลัดใบคณะกรรมการบริหารพรรคชุดเก่า เปิดให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่
ข้อเสนอสุดท้ายเป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่สุด แต่ก็อาจต้องใช้ความกล้าหาญมากที่สุด ในสายตาของคนนอก SIU มองว่าปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์เกิดจาก “คนรุ่นเก่า” ที่เคยร่วมสร้างพรรคมาตลอดหลายสิบปีนี้ยังคงมีอำนาจการตัดสินใจภายในพรรคเช่นเดียวกับสิบหรือยี่สิบปีที่แล้ว
แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์กลุ่มนี้มีประสบการณ์ทางการเมืองสูงส่งอย่างไม่ต้องสงสัย และประสบการณ์เหล่านี้ก็ช่วยนำพาพรรคผ่านสถานการณ์ยากลำบากได้หลายครั้ง แต่ในทางกลับกันก็มีข้อเสียคือ “คนรุ่นใหม่” ที่มีไอเดียใหม่ๆ มีโลกทัศน์ใกล้เคียงกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทภายในพรรคได้มากนัก เพราะเส้นทางการเติบโตตีบตัน และที่ผ่านมาเราก็เห็นคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือทยอยออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปเติบโตที่พรรคการเมืองอื่นๆเป็นจำนวนไม่น้อย


เนื่องในโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงแม้จะเป็นความพ่ายแพ้ที่น่าเศร้า แต่ก็เป็นโอกาสทองสำหรับการเปลี่ยนแปลง
เราขอเสนอให้คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ชุดปัจจุบันลาออกยกคณะ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการเลือกตั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆภายในพรรคที่มีฝีมือได้ก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการบริหารพรรครุ่นใหม่แทน (นายอภิสิทธิ์ประกาศลาออกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมแล้ว-กองบรรณาธิการ)


การเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรคไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งหมด อาจมีคนรุ่นใหม่ที่โดดเด่นบางคนกลับเข้ามาได้อีก แต่แกนนำระดับกรรมการบริหาร และกรรมการที่ปรึกษาที่มีอายุเกินกว่าที่กำหนด (เช่น อาจตกลงกันไว้ที่ 60 ปีตามอายุการทำงานในองค์กรทั่วไป) อาจต้องแสดงมารยาททางการเมืองโดยประกาศไม่รับตำแหน่งใดๆในการตั้งคณะกรรมการบริหาร-คณะกรรมการที่ปรึกษาชุดหน้าอีก เพื่อป้องกันความเกรงใจตามลำดับอาวุโส ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการชุดเก่าเกือบทั้งหมดได้กลับมาดำรงตำแหน่งดังเดิม


ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อเป็นความจริงที่คนในพรรคอาจไม่อยากรับฟัง (inconvenient truth) แต่ SIU ก็ขอเสนอแนวทางเหล่านี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อที่จะเห็นพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองเก่าแก่ยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันทางการเมืองต่อไปได้ในอนาคต


เราเชื่อว่าข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาเข้มแข็งได้ในระยะยาว แต่ก็ขึ้นกับว่าพรรคประชาธิปัตย์จะกล้า “ยอมเจ็บปวด” ในระยะสั้นหรือไม่
พ่ายแพ้ 6 ครั้งติดต่อรอบ 2 ทศวรรษ


นอกจากนี้ Siam Intelligence ได้รวบรวมข้อมูลก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 กรกฎาคม 2554 ว่านับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ/พฤษภาประชาธรรม 2535 เป็นต้นมา พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะการเลือกตั้งติดต่อกันถึง 5 ครั้ง และเมื่อรวมวันที่ 3 กรกฎาคมก็เท่ากับ 6 ครั้งติดต่อกัน


จากข้อมูลการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่เป็นการปะทะกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคการเมืองต่างๆที่ผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ากันมาในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น “พรรคชาติไทย” ในยุครุ่งเรืองของนายบรรหาร ศิลปอาชา “พรรคความหวังใหม่” ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ต้องเผชิญวิกฤตค่าเงินบาทในปี 2540 และ “พรรคไทยรักไทย-พรรคพลังประชาชน-พรรคเพื่อไทย” ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นแกนนำคนสำคัญ


เรียกได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์สามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเป็น 1 ใน 2 พรรคใหญ่มาตลอดในการเลือกตั้งทุกครั้งตลอด 19 ปีมา ซึ่งก็เกิดจาก “ความเป็นสถาบัน” ที่พรรคอื่นๆไม่มีนั่นเอง


อย่างไรก็ตาม ในรอบ 19 ปีหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 พรรคประชาธิปัตย์กลับชนะการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียวคือ การเลือกตั้งปี 2535/2 (หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ) ซึ่งนายชวน หลีกภัย สามารถนำพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ากระแส “จำลองฟีเวอร์” ในช่วงนั้นและก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ก่อนจะต้องยุบสภาไปเพราะคดี ส.ป.ก.4-01 ที่อื้อฉาวในช่วงเวลานั้น


ถ้าไม่นับการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2549 ที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้เป็นโมฆะ (และพรรคประชาธิปัตย์เองก็บอยคอตการเลือกตั้ง) พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งมาแล้ว 6 ครั้งติดต่อกัน ได้แก่


1.การเลือกตั้งปี 2538 แพ้พรรคชาติไทยของนายบรรหาร ศิลปะอาชา
2.การเลือกตั้งปี 2539 แพ้พรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (เพียง 2 เสียง แพ้แบบสูสีที่สุด)
3.การเลือกตั้งปี 2544 แพ้พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
4.การเลือกตั้งปี 2548 แพ้พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (แพ้ขาดที่สุด)
5.การเลือกตั้งปี 2550 แพ้พรรคพลังประชาชนที่นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช
6.การเลือกตั้งปี 2554 แพ้พรรคเพื่อไทยที่นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แบบขาดลอยอีกครั้ง


อย่างไรก็ตาม แม้พรรคประชาธิปัตย์จะแพ้การเลือกตั้งทุกครั้งตลอด 19 ปีที่ผ่านมา แต่ก็สามารถพลิกขั้วมาจัดตั้งรัฐบาลได้ถึง 2 ครั้งเช่นกัน โดยครั้งแรกเกิดหลังวิกฤตการเงินปี 2540 ซึ่ง “กลุ่มงูเห่า” ของพรรคประชากรไทยที่นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม หักหลังพรรคประชากรไทยของนายสมัคร สุนทรเวช (ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคประชาธิปัตย์มานาน) ตั้งรัฐบาลชวน 2 ได้สำเร็จ


เหตุการณ์ “งูเห่าสอง” เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2551 โดยปีกของนายเนวิน ชิดชอบ แห่งพรรคพลังประชาชน (หลังถูกตัดสินยุบพรรค) ได้ย้ายมาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปัจจุบัน


แต่การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม พรรคประชาธิปัตย์ที่พ่ายแพ้พรรคเพื่อไทยแบบถล่มทลายอีกครั้งนั้นคงยากที่จะพลิกขั้วหรืออาศัย “อำนาจพิเศษ” กลับมาเป็นรัฐบาลได้ เพราะพรรคเพื่อไทยได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงมีทางเดียวคือมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์จึงจะมีโอกาสแก้ตัวอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายหากพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปพรรคให้ “คนรุ่นใหม่” ขึ้นมาบริหารอย่างแท้จริง เพราะทุกวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังอยู่ภายใต้ “ร่มเงา” ของ “ผู้อาวุโส” พรรคซึ่งมีฐานเสียงและฐานอำนาจเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 318 วันที่ 9 - 15 กรกฏาคม 2554  พ.ศ. 2554 หน้า 5-6 คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย Siam Intelligenc

http://redusala.blogspot.com

วิพากษ์รายงานกรรมการสิทธิฯ กรณีความรุนแรงปี 53
แล้วย้อนอ่านจดหมายโต้ตอบระหว่าง "ยุกติ-อมรา"

น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมหลักฐานกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้รายงานผลการศึกษาผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.2553 - 19 พ.ค.2553 ต่อที่ประชุมกสม. เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา



ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่อรายงานดังกล่าวมีข้อสรุปว่า"รัฐบาลอภิสิทธิ์กระทำภายใต้หลักกฎหมาย" "ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เกินกว่าเหตุ" และ "ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน" ส่วนการชุมนุมของ นปช.นั้น "มิใช่การชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ" และ "ละเมิดสิทธิผู้อื่น"


ขณะเดียวกัน มีผู้วิจารณ์รายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ บางท่าน ได้อ้างอิงถึงจดหมายวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนและการทำงานในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ของ ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งเขียนโดย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร นักวิชาการมานุษยวิทยารุ่นหลัง แห่งมหาวิทยาธรรมศาสตร์


ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าว มติชนออนไลน์จึงขออนุญาตนำจดหมายที่ อ.ยุกติ เขียนถึง อ.อมรา มาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง พร้อมด้วย จดหมายที่ อ.อมรา เขียนตอบ อ.ยุกติ ในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น


จาก "ยุกติ" ถึง "อมรา"


เรียนอาจารย์อมรา พงศาพิชญ์ที่นับถือ


ผมเฝ้าติดตามการทำงานในหน้าที่ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของอาจารย์อมรามาโดยตลอด ในฐานะที่เป็นผู้ศึกษามาทางมานุษยวิทยาด้วยกัน นักมานุษยวิทยารุ่นเยาว์ผู้ห่วงใยสังคมไทยอย่างผมย่อมยินดีที่วิชาชีพทางมานุษยวิทยาจะได้มีส่วนสร้างสรรค์สังคมที่ยุติธรรม ด้วยความละเอียดอ่อน ลึกซึ้งและกว้างขวางของสาระในวิชามานุษยวิทยาเพื่อการทำความเข้าใจมนุษย์ ผมเชื่อว่าวิชามานุษยวิทยาจะช่วยให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเล็งเห็นถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างละเอียดอ่อนตามไปด้วย


อย่างไรก็ดี ขณะนี้เห็นได้ชัดว่าเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในประเทศไทย แต่ผมสงสัยว่า อาจารย์อมราได้แสดงบทบาทของการเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่เห็นแก่มนุษยธรรมอย่างลึกซึ้งจากการฝึกฝนให้ทำงานกับเพื่อนมนุษย์แบบนักมานุษยวิทยาหรือไม่


มานุษยวิทยากับสิทธิมนุษยชน


พวกเรานักมานุษยวิทยาคงไม่ค่อยได้ศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนกันอย่างจริงจังหรอก แต่ในขณะที่โลกก้าวมาสู่ยุคปัจุบัน ที่ความเป็นสากลของหลักการหลายๆ ประการเป็นที่ยอมรับ เป็นบรรทัดฐานสำหรับมนุษยชาติ พวกเรานักมานุษยวิทยาก็ยอมรับหลักการเหล่านั้นมาโดยตลอด อาจารย์อมราคงมิได้จะต้องมาถกเถียงกับผมในประเด็นปลีกย่อยเหล่านี้หรอกนะครับ


เช่น การที่มานุษยวิทยาหลังฟรานซ์ โบแอส บิดามานุษยวิทยาอเมริกันที่ผมมั่นใจว่าอาจารย์อมราก็จะต้องได้ศึกษามาไม่มากก็น้อย หรืออย่างน้อยอาจารย์ก็ต้องนับได้ว่าเป็นหลานศิษย์ของลูกศิษย์คนใดคนหนึ่งของโบแอส ได้ต่อสู้กับแนวคิดวิวัฒนาการที่หลงใหลในความสูงส่งของชนชาติตนเอง (ethnocentrism) แล้วเขาเสนอให้ยอมรับว่า ความแตกต่างของมนุษย์ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเหนือหรือด้อยกว่ามนุษย์อีกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจารย์ก็คงเคยสอนนักศึกษาว่า หลักการนี้พวกเราเรียกกันว่าวัฒนธรรมสัมพัทธ์ (cultural relativism) นอกจากนั้น หากใครร่ำเรียนมาทางมานุษยวิทยาแบบอาจารย์ ก็ย่อมทราบเช่นกันว่า โบแอสเป็นชาวยิว การที่เขาอพยพมาสหรัฐอเมริกานั้น ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากการเริ่มเกิดกระแสคุกคามชาวยิวในเยอรมนีในต้นศตวรรษที่ 20


หรือการที่นักมานุษยวิทยาอย่างโคลด เลวี-สโตรสส์ ได้รับการยกย่องจากแวดวงนักมานุษยวิทยาโลก ก็มิได้เพียงเพราะเขาแสดงความปราดเปรื่องแบบที่หลายๆ คนในโลกนี้ไม่สามารถทำได้ ด้วยการวิเคราะห์โครงสร้างความสัมพันธ์ของสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในนิทานที่ดูไร้เหตุผลของคนทั่วโลกเท่านั้น หากแต่ด้วยความที่เขายืนยันมาตลอดถึงการที่มนุษย์ทั้งผองมีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน อันแสดงให้เห็นจากความสลับซับซ้อนของวิธีคิดในบรรดานิทานต่างๆ ตลอดจนความสลับซับซ้อนของระบบความคิดของมนุษย์ทั่วโลก ที่แสดงในระบบต่างๆ ของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ การแต่งงานและเครือญาติ หรือแม้แต่อาหารการกิน


หากจะเล่าต่อไปเรื่อยๆ ถึงเกียรติประวัติของนักมานุษยวิทยาท่านต่างๆ ต่อการสร้างสรรค์ความเข้าใจกันและกันระหว่างมนุษย์ ผมและอาจารย์อมราก็คงจะแลกเปลี่ยนต่อกันไปได้ไม่มีวันสิ้นสุด แต่สิ่งที่อาจารย์น่าจะเห็นตรงกับผมคือ มานุษยวิทยามิได้แยกตนเองจากกระแสโลก หลักการสำคัญๆ ของมานุษยวิทยาสอดคล้องไปกับหลักการสากล ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนพื้นฐานก็เช่นเดียวกัน นักมานุษยวิทยาย่อมเห็นตรงกันว่า การทำลายชีวิตมนุษย์ และการปิดกั้นสิทธิในการแสดงตัวตนของมนุษย์ ย่อมเป็นสิ่งที่มิอาจยอมรับได้ ไม่ว่าจะใช้มาตรฐานทางวัฒนธรรมใดๆ ประเทศไทยจึงไม่ควรได้รับการยกเว้นจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของหลักการสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน


บทบาทต่อเหตุการณ์รุนแรง


แต่กระนั้นก็ตาม ผมยังไม่ได้เห็นบทบาทที่เหมาะสมของอาจารย์อมราต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเลย เรื่องที่เห็นได้ชัดในลำดับแรกเลยคือการที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นต้นมา กระทั่งข้อเท็จจริงจำนวนมากที่ต้องการการสืบสาวหาข้อสรุป ในกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 - 20 เมษายน 2553


อาจารย์อมราที่นับถือ ผมหวังว่าอาจารย์จะไม่ใช้วาทศิลป์ทำนองเดียวกันกับถ้อยคำที่รัฐบาลใช้เรียกปฏิบัติการเหล่านี้เลย เพราะนักเรียนมานุษยวิทยารุ่นเยาว์อย่างผม ที่คิดด้วยหลักการง่ายๆ ทางมานุษยวิทยา ก็ยังเห็นได้ไม่ยากว่า คนที่ยืนอยู่บนพื้นที่เหล่านั้นย่อมสำคัญกว่าพื้นที่และที่ว่าง หรือหากจะให้ผมอ้างนักทฤษฎีหรือใครต่อใครมายืนยันว่าคนสำคัญกว่าพื้นที่ ก็คงจะต้องยกชื่อนักมานุษยวิทยามาหมดโลกนั่นแหละ แต่คนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีและลึกซึ้งที่สุดคงไม่พ้นนักภูมิศาสตร์ชื่ออองรี เลอร์แฟบวร์ ที่วิพากษ์การทำพื้นที่ให้ไร้ความเป็นมนุษย์ เพื่อการที่ผู้มีอำนาจจะได้สามารถแปลงพื้นที่เหล่านี้ไปเป็นผลผลิตและการขูดรีดมนุษย์ ถ้าพูดแบบเลอร์แฟบวร์ ซึ่งอาจารย์ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย ถ้อยคำแบบ ศอฉ.และรัฐบาลเป็นภาษาที่นายทุนอำมหิตใช้เข่นฆ่าผู้คนอย่างไม่เห็นหัวมนุษย์ชัดๆ


ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ผมเห็นบทบาทอาจารย์อย่างชัดเจน ว่ามิได้แสดงความกระตือรือล้นที่จะประณามการกระทำของทุกฝ่าย และมิได้พยายามมุ่งค้นหาความจริง โดยเฉพาะการตั้งคำถามกับฝ่ายรัฐบาลว่าได้ใช้กำลังติดอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตหรือไม่ แต่อาจารย์อมราในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกลับให้ท้ายคำอธิบายของรัฐบาลอย่างน่าละอาย


บทบาทต่อการปิดกั้นสื่อ


ที่น่าละอายอย่างยิ่งคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกำลังปล่อยให้บทบาทในการค้นหาความจริงในประเทศนี้ ตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อยของสังคมบางคน ที่นั่งอยู่บนโพเดียม เป็นนักวิชาการติดเก้าอี้ แบบที่นักมานุษยวิทยาต้นศตวรรษที่ 20 วิจารณ์นักมานุษยวิทยาวิวัฒนาการในสมัยวิคทอเรียน แต่เที่ยวไปไล่ตัดสินใครต่อใครโดยมิได้พยายามทำความเข้าใจพวกเขาจากมุมมองของพวกเขาเอง


ผมคงไม่ต้องเท้าความไปมากมายนักถึงเรื่องการปิดกั้นสิทธิในการแสดงออก ด้วยการปิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หากเราจะไม่ยินดียินร้ายกับสื่อของ นปช. ผมก็ไม่เห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยินดียินร้ายกับการปิดสื่อที่เสนอความจริงหลายด้าน หลายระดับความลุ่มลึก อย่าง "ประชาไท" แต่ประชาไทก็คงจะไม่ยินดีนักหรอกหากเขาจะได้รับการยกเว้นแต่ผู้เดียว เพียงเพราะพวกเขาเสนอมุมมองหลายด้านหลายระดับความลุ่มลึก เพราะทุกวันนี้ ศอฉ.เองนั่นแหละที่เสนอข่าวปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง ให้เกิดความแตกแยก อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยปราศจากคำประณามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน


หากอาจารย์อมราเห็นว่าการประกาศแต่ละครั้งของ ศอฉ.จะก่อให้เกิดความมั่นคง ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติขึ้นมาได้ อาจารย์คงจะยังไม่ได้อ่านงานที่ศึกษาเหตุหนึ่งแห่งความรุนแรงในรวันดา รวมทั้งความสลับซับซ้อนของการทำให้คนดำกลายเป็นคนอื่นจนกระทั่งสามารถถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมได้อย่างสม่ำเสมอบนท้องถนนในสหรัฐอเมริกา หากจะยกเรื่องราวในสหรัฐฯ ประเทศที่อาจารย์อมราร่ำเรียนมาทางมานุษยวิทยาเอาไว้ก่อน เพราะต้องอาศัยกลวิธีการวิเคราะห์สื่ออย่างแยบยลพอสมควร แล้วมามองเฉพาะที่รวันดา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่การปลุกปั่นของสื่อมวลชนมีส่วนรับผิดชอบอย่างยิ่งนั้น ให้บทเรียนกับคนทั่วโลกอย่างตรงไปตรงมาแก่ประเทศไทย


กรณีการเสนอข่าวของศอฉ. ก็มีทิศทางที่เป็นไปได้ว่าจะสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกที่นำไปสู่การทำลายล้างชีวิตกันอย่างในรวันดา หากว่าสื่อมวลชนไทย คณะวารสารศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ของสถาบันอันทรงเกียรติทั้งหลายในประเทศไทย ที่แสดงออกอย่างสม่ำเสมอว่าพวกเขาไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับการนำเสนอข่าวด้านเดียวของสื่อมวลชนไทย ไม่อยากเรียนรู้บทเรียนอะไรจากเพื่อนร่วมโลก ผมก็ยังหวังว่าอาจารย์อมราและคณะกรรมการสิทธิที่อาจารย์เป็นประธานอยู่ จะเข้าใจปัญหานี้เป็นอย่างดี


การที่ผมอ้างเรื่องราวในรวันดา คงไม่ทำให้อาจารย์อมราคิดเห็นเป็นว่า เรื่องที่รวันดาจะมาเทียบกับสังคมพุทธที่รักสงบอย่างเมืองไทยของเราได้อย่างไร แต่เพราะวิธีการทางมานุษยวิทยาย่อมสนับสนุนให้มีการศึกษาเปรียบเทียบบทเรียนจากสังคมต่างๆ เพื่อส่องสะท้อนแก่กัน และเพื่อให้ตระหนักว่าเราก็ไม่ได้ดีเด่นต่างจากเขาเท่าไรนัก


แต่หากอาจารย์จะอ้างแบบที่ใครต่อใครมักพูดกันว่า ประเทศของเรามีลักษณะพิเศษแตกต่างจากที่อื่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเรามีใครต่อใครที่ค้ำจุนหลักธรรมของประเทศอยู่ อาจารย์อมราก็ควรเลิกใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาเสียเถิด เพราะนั่นเท่ากับว่าอาจารย์อมราเลิกเชื่อในหลักการทางมานุษยวิทยาว่าด้วยความเท่าเทียมกันของมนุษย์ต่างสังคมไปแล้ว ผมเห็นว่า วิธีคิดในเชิงสัมพัทธ์นิยมดังกล่าวเป็นการบิดเบือนสัมพัทธ์นิยมมารับใช้อำนาจนิยมอย่างสามานย์ หาใช่สัมพัทธ์นิยมเพื่อมนุษยธรรมไม่


บทบาทต่อการคุกคามนักวิชาการ


อาจารย์อมราที่นับถือ อาจารย์คงมิได้ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนจนมือเป็นระวิง จนกระทั่งไม่ทราบว่าขณะนี้มีเพื่อนนักวิชาการหลายคนกำลังถูกคุกคาม ถูกกักขัง ถูกไล่ล่า หลายคนในจำนวนนั้นอาจไม่ได้มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่รัฐหรือ ศอฉ. หลายคนยังไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วยซ้ำ แต่กลับถูกตัดสินด้วยวิธีการประโคมข่าวให้เกิดความเกลียดชังผ่านการสื่อสารทางเดียวของรัฐบาล และถูกกักขัง หน่วงเหนี่ยว โดยมิได้ดำเนินคดี หากนี่จะยังมิได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีอาจารย์อมราผู้เป็นศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาเป็นประธานอยู่ควรเปลี่ยนชื่อ ด้วยการใส่สร้อยท้ายอะไรก็ตาม ให้หมดความเป็นสากลของแนวคิดสิทธิมนุษยชนไปเสียดีกว่า


แน่นอนว่าประเทศต่างๆ ย่อมมีกฎหมายที่รับรองหรือปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศ หากใครละเมิดอำนาจอธิปไตย ก็เท่ากับว่ากำลังทำลายสังคมนั้นอยู่ แต่ในฐานะนักมานุษยวิทยาที่ปวารณาตนเองว่าจะปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศ เราก็ต้องยอมรับได้ว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างกันของบุคคลต่างๆ ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการแสดงออกและได้รับการรับฟัง ตราบเท่าที่ความคิดเห็นเหล่านั้นมิได้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น การอ้างหลักการความมั่นคงของอำนาจอธิปไตยมาเพื่อกำจัดความคิดเห็นที่แตกต่าง เท่ากับไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ของคนบางกลุ่ม


ผมสู้อุตส่าห์ใช้ความพยายามมากโข ในการศึกษางานรุ่นหลังทศวรรษ 1970 ที่นักมานุษยวิทยาอย่างเชอร์รี ออร์ตเนอร์ ประกาศให้พวกเราสืบสาวถึงบทบาทของมนุษย์ในการสรรค์สร้างพร้อมๆ กับถูกกระทำจากโครงสร้าง มานุษยวิทยาหลังแนวคิดมาร์กซิสม์ หลังแนวคิดโครงสร้างนิยม หลังแนวคิดสตรีนิยม จึงรุ่มรวยด้วยการยกย่องพลังในการต่อสู้กับระบบและโครงสร้างที่กดทับมนุษย์ หากนั่นจะไม่ถึงกับทำให้มานุษยวิทยากลายเป็นปัจเจกชนนิยมไปในชั่วข้ามทศวรรษ อาจารย์อมราคงเห็นด้วยกับผมว่า แนวโน้มใหม่ๆ ของมานุษยวิทยายิ่งทำให้เราเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ คุณค่าของความแตกต่างหลากหลายที่ไม่เพียงจำกัดเฉพาะความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไปสู่การยกย่องคุณค่าความหลากหลายของการสร้างสรรค์ของผู้กระทำการทางสังคมในโครงสร้าง (human agency) และคงไม่ใช่เฉพาะคนเล็กคนน้อยที่ยากจน ไร้อำนาจต่อรองใดๆ อยู่ชายขอบหรือใต้ถุนสังคมเท่านั้น ที่เราจะประยุกต์ใช้หลักการนี้ด้วย


หากเราในฐานะนักมานุษยวิทยาจะยอมรับร่วมกันถึงความเท่าเทียมกันของความคิดเห็นที่แตกต่าง เราก็ไม่สามารถตัดสินคนอื่นๆ หรือความคิดที่แตกต่างอื่นๆ จากความคิดที่แตกต่างของเราได้ ความอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง คือมาตรฐานทางศีลธรรมแบบมานุษยวิทยาที่พวกเราสู้อุตส่าห์ฝึกฝนกันมาอย่างยากเย็นมิใช่หรืออาจารย์อมราที่นับถือ ผมเฝ้ารอดูอยู่ว่า ในเวลานี้อาจารย์อมราจะปกป้องสิทธิมนุษยชนในด้านการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างของเพื่อนนักวิชาการอย่างไร อย่างน้อยที่สุด จะทำอย่างไรที่จะให้พวกเขาได้รับความยุติธรรมตามกระบวนการยุติธรรมแบบปกติของประเทศ มิใช่กระบวนการยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกงดเว้นในสภาวะที่ใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอยู่อย่างทุกวันนี้


บทสรุป


อันที่จริงผมไม่เคยลืมเลยว่า ผมสงสัยในความเป็นนักสิทธิมนุษยชนของอาจารย์อมรามานานแล้ว ดังที่ได้เห็นจากเมื่อหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจารย์อมรารับตำแหน่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ผมไม่สามารถยอมรับได้ว่าการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 จะอยู่บนหลักการใดๆ ของหลักสิทธิมนุษยชน หรืออยู่บนหลักการใดๆ ของหลักมานุษยวิทยา แต่ผมก็ยังมิได้แสดงออกแต่อย่างใด เนื่องจากหวังว่า อาจารย์อมราในขณะนั้น อาจจะตัดสินใจอย่างบริสุทธิ์ใจด้วยความหวังว่าจะได้นำเอาวิชาความรู้ทางมานุษยวิทยาเข้าไปหน่วงรั้งความเลวร้ายอันอาจจะเกิดขึ้นจากระบอบรัฐประหาร


แต่เมื่อเกิดการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ด้วยการยกเว้นบทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง แต่อาจารย์อมราและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็มิได้ประณาม หรือแม้แต่ทัดทาน ท้วงติง หรือมิได้แม้จะแสดงความเห็นตักเตือนรัฐบาลสักเพียงเล็กน้อย จนขณะนี้รัฐบาลได้บริหารประเทศในสถานการณ์ที่เรียกว่า "ภาวะฉุกเฉินร้ายแรง" ในพื้นที่เกือบครึ่งประเทศ มาเนิ่นนานจนในบางพื้นที่ อย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถูกปกครองด้วยระบอบภาวะฉุกเฉินมาเป็นระยะเวลาเกินกว่า 50 วันแล้ว อาจารย์อมราและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะปล่อยให้ระบอบภาวะฉุกเฉิน ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง กลายเป็นบรรทัดฐานในการปกครองประเทศไปหรืออย่างไร


วิชามานุษยวิทยาในปัจจุบันมิได้มุ่งเพียงเพื่อให้มนุษยชาติมีความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ต่างๆ ทั่วโลก แต่มานุษยวิทยาปัจจุบันให้ความสำคัญกับการที่มนุษย์ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างสังคม ต่างระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม ต่างชนชั้น จะรู้สึกถึงความสุข ความทุกข์ ของเพื่อนร่วมโลก ของมนุษยชาติ หากอาจารย์อมราจะไม่รู้สึกรู้สากับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลในขณะนี้ ผมก็ยังหวังว่าอาจารย์จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะต้องดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนโดยไม่เคารพหลักการของวิชามานุษยวิทยา แต่หากอาจารย์ไม่รู้สึกรู้สากับประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ผมก็สงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าอาจารย์จะยังคงเรียกตนเองว่านักมานุษยวิทยาได้หรือไม่


ด้วยความห่วงใยประเทศชาติและมนุษยชาติ
29 พฤษภาคม 2553
ยุกติ มุกดาวิจิตร


จาก "อมรา" ถึง "ยุกติ"


ตอบจดหมายเปิดผนึกของอาจารย์ยุกติ  มุกดาวิจิตร


ขอบคุณ อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร  ที่ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงดิฉัน  ในฐานะที่ดิฉันเป็นผู้ร่วมวิชาชีพทางมานุษยวิทยา  และปัจจุบันรับทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมานุษยวิทยาและสิทธิมนุษยชนที่อาจารย์เขียนมา  ดิฉันเห็นด้วยทั้งหมด  และชื่นชมในความลุ่มลึกทางความคิดและความสามารถในการนำเสนอข้อคิดเห็นที่ลุ่มลึกนี้ได้อย่างชัดเจน  เข้าใจง่าย  ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาสู่สาธารณชนในวงกว้างได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น   ดิฉันได้ติดตามอ่านผลงานของอาจารย์ยุกติอย่างชื่นชมในความสามารถในการถ่ายทอดความคิดที่น่าสนใจเสมอมา  และในครั้งนี้อาจารย์ได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสาธารณะได้อย่างไม่ผิดหวัง


  
ดิฉันไม่มีข้อแก้ตัวในสิ่งที่ไม่ได้ทำ  หรือไม่ได้ทำตามความคาดหวังของอาจารย์และเพื่อนร่วมวิชาชีพ  นอกจากจะบอกว่าเมื่อมานั่งเป็นประธานคณะกรรมการขององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ  ดิฉันพบว่า  ดิฉันไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเหมือนเมื่อเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย  ซึ่งมีเสรีภาพทางวิชาการสูง  และอาจารย์สามารถแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลต่อสาธารณะได้


ปัจจุบันการแสดงความคิดเห็นของดิฉันต้องคำนึงถึง ความคิดเห็นของกรรมการร่วมคณะอีก  6  ท่าน  อำนาจหน้าที่ขององค์กรที่มีจำกัดเฉพาะในบางเรื่อง  ภาพลักษณ์ขององค์กรต่อสาธารณะทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ในกรณีที่ข้อมูลไม่ชัดเจน การแสดงออกของดิฉันจึงมีความล่าช้า  รอบคอบ  และคำนึงถึงองค์กรมากกว่าส่วนตัว    หลายครั้งดิฉันอยากจะถอดหมวกประธานกรรมการฯ เพื่อจะได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวได้อย่างเต็มที่  แต่ดิฉันก็ไม่ได้ทำตามที่อยาก     ต้องขออภัยที่ทำให้อาจารย์ยุกติผิดหวัง


คณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนและการแสดงความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ   มีทั้งจากผู้ถูกละเมิดสิทธิ  ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม  ผู้สนับสนุนผู้ชุมนุม (เสื้อแดง)  ผู้ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม (เสื้อเหลือง)  ผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้รักชาติ  ฯลฯ   ดิฉันถูกต่อว่าว่าเข้าข้างกลุ่มเสื้อแดงและถูกต่อว่าว่าอยู่ในกลุ่มเสื้อเหลือง  ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะแต่ละคนต่างมีอัตตาและเชื่อว่าความคิดเห็นของตัวเองคือสิ่งที่ถูกต้อง  และคาดหวังให้คณะกรรมการสิทธิฯ ทำตามความคิดเห็นของตน


ขอเรียนเพิ่มเติมว่า  การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหลายอย่างที่ไม่ได้เป็นข่าวหรือเป็นประเด็นสาธารณะ  แต่คณะกรรมการสิทธิฯ ได้แสดงให้รัฐบาลเข้าใจว่า  เราไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง  เราจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐ  และเราจะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มแข็งตลอดไป


ในโอกาสนี้  ดิฉันขอบคุณอาจารย์ยุกติที่ได้ทำหน้าที่ของนักวิชาการ  โดยตั้งคำถามแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  และเปิดโอกาสให้ดิฉันได้ชี้แจงในส่วนที่ทำได้   ดิฉันทราบดีว่าคำตอบนี้ไม่เพียงพอและไม่ช่วยให้ท่านหายข้องใจทั้งหมด  แต่หวังว่าคงจะช่วยแก้ปัญหาความคับข้องใจของท่านได้ในบางส่วน


ขอบคุณในความห่วงใยและข้อคิดเห็นที่ลึกซึ้ง
อมรา  พงศาพิชญ์
2 มิถุนายน 2553

http://redusala.blogspot.com