วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554


งานเปิดตัวเฉลิมฉลอง 100 ปีวันสตรีสากล 

8 มีนาคม ดุเดือด: อภิสิทธิ์ ถูกด่า "มือใครเปื้อนเลือด" "ดีแต่พูด"

http://thaienews.blogspot.com/2011/03/100-8.html


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
6 มีนาคม 2554
ภายในวันเดียว นายกรัฐมนตรีเจอการโห่ไล่ทั้งในงานเปิดการสัมมนา "เครือข่ายชุมชนเข้มแข็งเพื่อพัฒนา" ที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน และในการกล่าวเปิดงาน 100 ปี วันสตรีสากล ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ด้วยข้อความ "ดีีแต่พูด" และตะโกนด่า "มือเปื้อนเลือด"


สำนักข่าวหลายกระแส ลงข่าวกันครึกโครม และถูกกระจายเผยแพร่ไปยังเฟสบุคของคนฝ่ายประชาธิปไตยว่า "อดีตลูกจ้างบริษัทผลิตชุดชั้นในชื่อดัง เขียนข้อความมือ 'ใครเปื้อนเลือด' และ 'อย่าดีแต่พูด' ใส่กระดาษ ชูขึ้นในห้องสัมมนา ขณะที่นายกรัฐมนตรีอยู่บนเวทีปาฐกถา"

แม้ว่าความผิดพลาดของคณะผู้จัดงานที่ไม่ดูทิศทางการเมือง เชิญเอานายก "มือเปื้อนเลือด" มาเปิดงาน จนกลบกระแสสาระสำคัญยิ่งของความพยายามของพวกเขาในการพยายามจัดงานนี้ขึ้นมาจากบทเรียนการต่อสู้ที่สั่งสมมาหลายสิบปี จนมาร่วมมือกันรำลึก 100 ปี วันสตรีสากลในปีนี้ พวกเราจึงไม่ควรละเลยข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายสตรีและสมาชิก ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ให้มีการแก้ปัญหาสตรีที่สั่งสมมากว่าร้อยปี


  • ผู้หญิงทุกคนต้องได้ทำงานในระบบ สาม 8 คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และหาความรู้ 8 ชั่วโม
  • โดยมีสวัสดิการที่จำเป็นตั้งแต่เกิดจนตาย
  • การส่งเสริมการเข้าถึงสุขภาพอนามัย ที่เป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้หญิง เช่น โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก
  • การคุ้มครองผู้หญิงจากทัศนคติที่ไม่เหมาะสมและเลือกปฏิบัติ การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการวางแผนและตัดสินใจทุกระดับ

ข่าวสด พาดหัวข่าว "‘มาร์ค’ซีด เจอสาวตะโกนด่า“มือเปื้อนเลือด”งาน100ปีสตรีสากลที่มธ.-ถูกตีนตบไล่หน้าร.ร. ไทยนิยม" พร้อมลงรายละเอียด

"ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.45 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมายังโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน เพื่อเปิดการสัมมนาเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งเพื่อพัฒนา เขตบางเขน ซึ่งจัดโดยนายวิทเยนทร์ มุตตามาระ เลขานุการรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขตบางเขน ของพรรคประชาธิปัตย์
"

โดยก่อนที่คณะของนายกฯ จะมาถึงสถานที่จัดงาน ได้มีสมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 30 คน ที่มาพร้อมกับตีนตบและป้ายกระดาษที่มีข้อความว่า “อภิสิทธิ์สวาปาล์ม” มาดักรอชุมนุมขับไล่นายอภิสิทธิ์ ที่บริเวณด้านหน้าโรงเรียนดังกล่าว แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่กันออกโดยให้อยู่บริเวณลานจอดรถของห้าง สรรพสินค้าโลตัส สาขาหลักสี่ กระทั่งเมื่อขบวนรถของนายกรัฐมนตรีเข้ามาภายใน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดประตูโรงเรียนทันที"

* * *


จากนั้น เมื่อเวลา 11.30 น. นายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางต่อมายังห้องประชุม ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อร่วมประกาศเจตนารมณ์ “ผู้หญิงทำงาน สู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคน” ในวาระการเฉลิมฉอง 100 ปี วันสตรีสากล 8 มีนาคม จัดโดย 33 เครือข่ายองค์กรแรงงาน องค์กรทำงานประเด็นผู้หญิง และองค์กรสิทธิมนุษยชน"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายกรัฐมนตรี มาถึงงานดังกล่าว ผู้ร่วมงานได้ร่วมกันร้องเพลง “หญิงกล้า” ซึ่งทันทีที่เพลงจบ ปรากฏว่าได้มีหญิงสาวคนหนึ่ง ผมสีน้ำตาลหยิกยาว สวมเสื้อสีขาว อายุประมาณ 30 ปี ตะโกนว่า“มือเปื้อนเลือด” สร้างความตกตะลึงให้กับคนที่มาร่วมงานอย่างมาก

ต่อมาได้เข้าสู่พิธีการประกาศเจตนารมณ์ “ผู้หญิงทำงาน สู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคน” ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีรับแผ่นประกาศเจตนารมณ์ฯ ปรากฏว่าหญิงสาวคนเดิมได้ถ่ายภาพนายกรัฐมนตรีด้วย จากนั้นได้เขียนข้อความในแผ่นกระดาษ 3 แผ่นทั้งด้านหน้าและด้านหลังเหมือนกัน โดยแผ่นแรกเป็นรูปฝ่ามือ พร้อมมีข้อความประกอบว่า “ใครเปื้อนเลือด?” และแผ่นที่ 2 และ 3 เขียนเหมือนกันว่า“ดีแต่พูด” ซึ่งเมื่อนายอภิสิทธิ์เห็นข้อความเหล่านี้ จึงกล่าวว่า“ผมขอความร่วมมือ วันนี้เป็นวันสตรีสากล ใครที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง ผมขอให้ไปพูดกันข้างนอก และขอให้รอฟังในสภาฯ จะได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด”

ทำให้หญิงคนดังกล่าวเขียนข้อความในแผ่นกระดาษอีกใบว่า “เหรอ” แล้วชูแผ่นข้อความทั้งหมดขึ้นในห้องประชุมอีกจนจบงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าไปดึงแผ่นกระดาษจากมือผู้หญิงคนดังกล่าว แต่เกิดการยื้อยุดกัน ขณะที่นางสุนี ไชยรส ที่ปรึกษากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี พยายามขอร้องให้ผู้หญิงคนนี้หยุดถือป้าย เพราะวันนี้ถือเป็นวันของสตรี จึงไม่ควรทำเช่นนี้ แต่หญิงคนดังกล่าวยังไม่หยุดชูป้าย และส่งต่อไปเพื่อนผู้หญิงที่มาด้วยกันอีก 2 คน ชูป้ายที่เขียนว่า“ดีแต่พูด” ขึ้นในงานตลอดการปราศรัยของนายอภิสิทธิ์ โดยนายอภิสิทธิ์ มีสีหน้าไม่สู้ดีนักก่อนขึ้นพูด ซึ่งจากการสอบถามทราบว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นอดีตพนักงานบริษัทไทรอัมพ์ ที่เคยออกมาประท้วงเพราะถูกเลิกอย่างไม่เป็นธรรมผู้

สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นายกรัฐมนตรีกำลังเดินออกจากห้องประชุม และทักทายผู้ที่มาร่วมงาน ปรากฏว่าได้มีผู้หญิงคนหนึ่งสวมเสื้อสีดำ ตะโกนไล่หลังนายกรัฐมนตรีด้วยถ้อยคำที่ไม่ชัดเจน ต่อมาผู้หญิงที่ชูป้ายคนแรกพยายามเดินเข้ามาหานายกฯ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดกั้นไว้ จึงได้ตะโกนว่า “จักร 150 ตัวจากไพฑูรย์ (แก้วทอง อดีต รมว.แรงงาน) ไปอยู่ที่ไหน” ขณะเดียวกันได้มีคนที่อยู่ในงานสะบัดตีนตบด้วย แต่นายกฯเดินออกไปโดยไม่สนใจเสียงตะโกนดังกล่าว และได้มารับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนที่มารออยู่หน้าห้องประชุม ก่อนจะเดินทางออกจากสถานที่จัดงาน


เนชั่นทันข่าว 6 มี.ค.54 นายกฯ อภิสิทธิ์เจอชูป้าย "ดีแต่พูด" ตะโกน "มือเปื้อนเลือด" ระหว่างการบรรยายพิเศษ มีผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนขึ้นมาว่า "มือเปื้อนเลือด" ระหว่างนายกฯ ขึ้นบรรยายพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีอีกสองคนที่ชูป้าย "ดีแต่พูด" ระหว่างที่นายกฯกำลังอภิปรายฯด้วยเช่นกัน

* * *
สำหรับผุ้หญิงคนนี้เธอไม่ใช่ใครคือ จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ที่นำพาคนงาน 3000 คนต่อสู้กับกลุ่มทุนไทรอัมพ์มาร่วมสองทศวรรษ จนถูกกลั้นแกล้งและเลิกจ้างในปี 2551 ด้วยการจับโยงเธอกับโชติศักดิ์ อ่อนสูงและพวก ที่ถูกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตรา 112 เมื่อเธอใส่เสืื้อ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรรม คิดต่างไม่ใช่อาชญากร" ให้สัมภาษณ์รายการทีวี เมื่อเดือนเมษายน 2551 จนบริษัทใช้เป็นข้ออ้างเลิกจ้าง และถูกบริษัทฟ้องเลิกจ้าง จนเป็นที่มาของการอ่านคำพิพากษาประวัติศาสตร์ ด้วยการเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน และการอ้างเหตุการเลิกจ้างด้วยข้อหาการกระทำของเธอขัดกับ "จิตวิญญาณประชาชาติ"

คำพิพากษาคดี จิตรา คชเดช


การต่อสู้ของคนงานไทรอัมพ์



หรือว่าประชาธิปไตยจะได้มานั้นแสนยาก

http://thaienews.blogspot.com/2011/03/blog-post_07.html


พวกเขามาตามหาประชาธิปไตย 
ในประเทศที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองอย่างซาอุดิอาราเบีย จอร์แดน มอร็อคโค คูเวต และเคตาร์ รัฐบาลสหรัฐกลับเชื่อว่าจะสามารถทัดทานพายุเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโดยพลังประชาชนได้ดีกว่า นั่นอาจเป็นเพราะสหรัฐมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้ปกครองในประเทศเหล่านี้ก็ได้ ..เช่นนี้ความหวังที่ขบวนการประชาชนในไทยจะได้รับ “ลมใต้ปีก” หนุนไปสู่ความสำเร็จจากประเทศประชาธิปไตยตะวันตก เหมือนที่ขบวนการประชาชนอียิปต์ได้รับจากสหรัฐอเมริกาผ่านทางฝ่ายกองทัพ นั้นน่าจะเป็นเรื่องยาก

ฉะนี้เห็นทีต้องกลับไปมองดูโมเดลเก่าที่เคยพาดพิงถึงกันมานานนมแล้ว นั่นคือแบบฉบับการปฏิวัติประชาชนที่เนปาล..แต่ว่า



โดย ระยิบ เผ่ามโน
ที่มา เวบบล็อกtgdr

สี่ปีกว่านับแต่กระบวนการประชาธิปไตยของไทยซึ่งล้มลุกคลุกคลานตลอดมาแล้วยังถูกปล้นไปด้วยการรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ จนบัดนี้ดูจะยิ่งถลำลึกลงไปสู่ห้วงเหวแห่งการปกครองโดยอำนาจรวมศูนย์ (Autocracy) หรือฯพณฯเหนือหัวเหนือท่านยิ่งขึ้น

มากเสียจนเล็งเห็นปลายทางสุดท้ายได้ก็แต่การระเบิดแตกหัก และจะพังทะลายด้วยกันทุกฝ่าย

ฝ่ายที่ถูกกระทำ และกินน้ำใต้ศอกมาตลอดอันเป็นประชาชนธรรมดาไร้ระดับชั้นฐานันดรทางสังคม รวมทั้งพวกที่แม้พอจะลืมตาอ้าปากก็ไม่อาจตัดใจทำเมินเฉยเสียได้ จึงหันเข้าไปรวมตัวกันเป็นขบวนการประชาชนในจำกัดความของคำว่า”รากหญ้า” และ “ไพร่” ที่ล้วนแต่ตาสว่างในจิตสำนึกแห่งประชาธิปไตยอันแท้จริง

พวกถูกกระทำดังกล่าวนี้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งทางพลังแห่งจำนวน และคุณภาพทางความคิดที่จะไม่ถูกบิดเบือนด้วยศรัทธาบอดอีกต่อไป

แต่ก็ยังไม่อาจเงยหัวให้พ้นการเอาเปรียบ และครอบงำของผู้กุมอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจ ที่ได้รับการเชิดชูโดยฝ่ายข้างน้อยที่มีสถานภาพในการยังชีพดีกว่า จึงไม่ยี่หระกับการปรับตัวเปลี่ยนแปลงศรัทธาของตนให้สอดคล้องกับสากลโลก โดยอ้างเอามายาคติทางประวัติศาสตร์มาสนับสนุนความมัวเมา

ปรากฏการณ์แห่งพลังประชาชนที่เริ่มจากการต่อต้านรัฐประหาร ๒๕๔๙ ปฏิเสธรัฐบาลที่มาจากอำนาจแต่งตั้งนอกระบบ พร้อมทั้งขอคืนรัฐบาลที่มาจากคะแนนเลือกตั้งท่วมท้นกลับมา จากนั้นพัฒนาสู่การต่อต้านอำนาจบงการบังคับใช้กฏหมายอย่างสองมาตรฐานในสถาบันตุลาการ จนกระทั่งมาเป็นกระบวนการเรียกร้องความยุติธรรมในขณะนี้

ให้ปลดปล่อยผู้ถูกคุมขังที่ถูกกระทำแล้วยังถูกยัดข้อหาร้ายแรง รวมไปถึงนำตัวผู้ลงมือกระทำการ และออกคำสั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษ

เหล่านี้ล้วนเป็นองคาพยพอันจะทำให้คำว่าประชาธิปไตยในระบบการปกครองของไทยเต็มไปด้วย “เนื้อแท้” (Genuineness) ไม่ว่าจะด้วยสร้อยห้อยท้ายว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ก็ตาม มิฉะนั้นจะยังคงเป็นแต่ระบบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) กำมะลอ ที่อำนาจตัดสินใจแห่งชาติมาจากอิทธิพลจำบัง หรือมือที่มองไม่เห็น ซึ่งอาศัยกำลังบังคับจากอาวุธของเหล่าทหารมาปฏิเสธเจตนารมณ์ของประชาชน

ไม่ต่างอะไรกับการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนๆ เดียว หรือระบบจ้าวเหนือหัวที่กำลังถูกพลังประชาชนในหมู่ประเทศอาหรับ และอาฟริกาพลีชีพเข้าโค่นล้มทำลาย ดั่งปฏิกริยาลูกโซ่จากตูนิเซีย ถึงอียิปต์ ไปสู่ลิเบีย บาหเรน เยเมน จอร์แดน ซาอุดิ อาราเบีย มอร็อคโค และอีกหลายประเทศในขณะนี้

ชัยชนะของพลังประชาชนต่อผู้ปกครองในตูนิเซีย และอียิปต์กลายเป็นต้นแบบ หรือ “โมเดล” ให้แก่ประชาชนในประเทศที่การเมืองการปกครองยังไม่ถึงเกณฑ์คุณภาพประชาธิปไตย แม้แต่ในเนปาลที่เคยเป็นโมเดลด้วยตนเองมาก่อนก็ยังมองตูนิเซีย และอียิปต์อย่างชื่นชม*

บางแห่งมีตำแหน่งบริหารสูงสุดอยู่ที่ประธานาธิบดี หลายแห่งยังมีกษัตริย์ หรือราชาธิบดีเป็นผู้ปกครอง ประเทศเหล่านี้ล้วนมีรัฐสภาที่ได้มาจากการเลือกตั้ง หากแต่ว่าตัวแทนประชาชนเหล่านั้นยังไม่ได้มาด้วยสิทธิเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

ผู้ประท้วงดึงรูปประธานาธิบดีลงจากยอดตึก 

จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้เรียกร้องต้องการให้ประชาธิปไตยแท้จริงเกิดขึ้นในประเทศไทยพากันแสดงความเห็นผ่านสื่อไร้พรมแดน** ถึงโมเดลต่างๆ กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ประชาชนตูนิเซียขับไล่ประธานาธิบดีออกไปได้ ซ้ำยังอ้างถึงกันมิขาดเมื่อมาถึงกรณีอียิปต์

อียิปต์สู่วันใหม่:โฉม และหน้า 

แต่ขณะเขียนบทความนี้เหตุการณ์ในลิเบียยังไม่ลงเอย และยังไม่ตกผลึกในที่อื่นๆ ถึงกระนั้นเชื่อว่าจะต้องมีการถกถึงโมเดลของบาหเรน จอร์แดน หรือซาอุดิ อาราเบียจนได้ในไม่ช้า

ทำไมขบวนการประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยไทยจึงต้องมองหาโมเดลต่างๆ 

นอกจากเป็นเพราะสภาพการเมือง การปกครองที่ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ นี้ ล้มลุกคลุกคลานมานานเกือบ ๗๕ ปีแล้ว ระบบที่อ้างอิงกันอยู่ทุกวันนี้ว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งปรากฏในรายงานคำให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ของนายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน

ย้ำความหมายในว่า เป็น Constitutional Monarchy ชัดเจนนั้น ขอฟันธงด้วยคนว่าไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้จริงที่อำนาจอธิปไตยของชาติอยู่กับประชาชนเลย

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับเนื้อหาที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนโต้แย้ง นพ. เหวง บนเว็บบอร์ด อินเตอร์เน็ต ฟรีดอม ว่า “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยในขณะนี้นั้น ไมใช่เลย เป็นคนละเรื่องเลยกับ Constitutional Monarchy รูปแบบในอังกฤษ ญี่ปุ่น สวีเดน เดนมาร์ก เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์” ***

ทั้งบทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๘ และกฏหมายห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฏหมายอาญา ที่นักวิจารณ์ในชาติตะวันตกเรียกกันว่า Draconian Law

รวมทั้งการบังคับใช้กฏหมายเหล่านี้ในทางปฏิบัติอย่างสองมาตรฐาน กับการพิจารณาคดีเป็นความลับ โดยที่ผู้พิพากษาตัดสินอย่างลักลั่นตามความเห็นส่วนตัว และบางสถานการณ์ที่อาจเป็นการตัดสินตามธงที่ถูกตั้งมาให้ก็ได้ ซึ่งขัดกับหลักการสากลเรื่อง Rule of Law ทั้งนั้น

ประเทศไทยจะอ้างชื่อระบบปกครองเป็นประชาธิปไตยอย่างใดก็ตาม แต่เนื้อแท้ทางปฏิบัติไม่ใช่ Constitutional Monarchy ในความหมายแท้จริงอย่างแน่นอน ใครก็ตามพยายามชี้ว่า “เป็นคนละเรื่องเดียวกัน” จะด้วยเจตนาดีหรือร้ายต่อขบวนการประชาชนเพียงใด ย่อมถือเป็นการบิดพริ้วทั้งสิ้น

แล้วอย่างนี้จะยังคงปรับเปรียบใช้โมเดลอะไรกันอีกไหม

แบบบาหเรนนั้นฝ่ายกษัตริย์มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐมาก ในฐานะที่บาหเรนเป็นฐานทัพเรือหลักของสหรัฐในตะวันออกกลางที่ใช้เป็นกันชนต่ออิหร่าน และรัฐบาลบาหเรนเต็มไปด้วยราชวงศ์คาลิฟา คือตั้งแต่กษัตริย์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศ ล้วนนามสกุลคาลิฟาทั้งนั้น

ถึงแม้นักวิจารณ์อเมริกันจะคิดว่าปัญหาขัดขวางการปฏิรูปอันปริ่มจะกลายเป็นปฏิวัติประชาชนได้ง่ายๆ อยู่ที่เป้าหมายซึ่งฝ่ายค้านเรียกร้องให้ปลด คือนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเจ้าอาของกษัตริย์ ท่านอยู่ในตำแหน่งนี้มากว่าสี่สิบปีแล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ

ที่จตุรัสไข่มุก 

แต่สถานการณ์ชุมนุมประท้วง ณ จตุรัสไข่มุกเมื่อไวๆนี้ อันมีคนมากกว่าครั้งใดๆ กลับจัดตั้งโดยแกนนำทางศาสนาอิสลามนิกายชีไอ๊ท์ ไม่ใช่ฝ่ายค้าน

เลยไปถึงอิรักแล้วด้วย 

ที่จอร์แดนก็เช่นกัน การชุมนุมล่าสุดปลายอาทิตย์พี่เพิ่งผ่านมา มีขบวนการ “ภราดรภาพมุสลิม” เป็นตัวการหลัก ไม่ใช่ “แกนนอน” ชาวปาเลสไตล์ที่เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือคณะอดีตทหารนอกราชการเช่นเคย

กษัตริย์อับดุลลาห์ที่สองกับราชินีเรเนียผู้ทรงศิริโฉมเลอเลิศ อาจได้รับการชื่นชมว่าทันสมัย และมีความคิดก้าวหน้า ราชวงศ์ฮ้าสชิไม้ท์ซึ่งอยู่ในอำนาจอย่างราบรื่นมากว่า ๙๐ ปี ด้วยความสามารถปกครองหมู่ชนที่แปลกแยกต่อกันสองเผ่า คือพวกชาวปาเลสไตล์บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน และเชื้อสายเผ่าเบดวนฝั่งตรงข้าม ให้อยู่ในความเรียบร้อย

ถึงกระนั้นก็หนีไม่พ้นการเดินขบวนเรียกร้องการปฏิรูปไม่เว้นแต่ละอาทิตย์ รัฐบาลของกษัตริย์พยายามผันงบประมาณสนับสนุนโครงการเพิ่มรายได้ และประกันสังคม ๕๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ได้ทำให้การเรียกร้องสงบลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้นเป็นความต้องการรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. ๑๙๕๒ เดิม ที่จัดระเบียบปกครองเป็น Constitutional Monarchy อย่างแท้จริง

ส่วนในซาอุดิอาราเบียที่มีทางว่าจะเป็นเบี้ยโดมิโนต่อไปไม่ช้าก็เร็ว กษัตริย์อับดุลลาห์ได้รับยกย่องว่าเป็นนักปฏิรูป แถมยังสนับสนุนเรื่องสิทธิสตรี แต่โครงการปฏิรูปต่างๆ ที่แถลงผ่านสื่อในประเทศภายใต้การควบคุมว่ากษัตริย์ทรงพระราชทานนั้นไม่เคยเกิดผลให้เห็นเป็นรูปธรรมจริงจัง มิหนำซ้ำการปฏิรูปทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่เรียกร้องกษัตริย์กลับไม่แยแส

ครั้นเมื่อกระแสปฏิวัติประชาชนโหมหนักในปัจจุบัน กษัตริย์ซาอุฯ พยายามผ่อนปรนด้วยการประกาศโครงการพระราชทานของขวัญแก่ราษฎรเป็นมูลค่าถึง ๓๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คำตอบที่ได้รับจากผู้นำการเรียกร้องให้ปฏิรูปคนหนึ่งตอกกลับมาว่า นี่แสดงถึงจิตสำนึกเต่าล้านปีที่ว่าเอาเงินฟาดเข้าไปเป็นใช้ได้ “พวกเราต้องการสิทธิเสียงทางการเมือง ความเท่าเทียมของปวงชน ความยุติธรรมในสังคม การปฏิรูประบบกฏหมาย การแบ่งแยกอำนาจ และการกำจัดคอรัปชั่น” ไม่ใช่การปฏิรูปแบบฉาบหน้า


อันที่จริงเวลานี้ประเทศในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน และตะวันออกกลางล้วนดำเนินนโยบายสกัดกั้นไฟประชาธิปไตยที่หักโหมด้วยโครงการประชานิยมทุ่มเงินลงไปสู่สาธารณะเพื่อลดกระแสปฏิวัติประชาชนด้วยกันแทบทั้งสิ้น

กษัตริย์โมฮัมเม็ดของมอร็อคโคเพิ่งพระราชทานงบประมาณพยุงราคาสินค้า ๑,๙๐๐ ล้านดอลลาร์ ส่วนรัฐบาลของกษัตริย์คูเวตก็ประกาศแจกเงินพลเมืองชาวบ้านคนละ ๓,๕๐๐ ดอลลาร์สหรัฐในโอกาสฉลองเอกราชครบ ๕๐ ปี

แต่การทุ่มเงินประชานิยมเหล่านี้แม้จะมีจำนวนมหาศาลเพราะล้วนเป็นรัฐบาลประเทศร่ำรวยน้ำมัน ก็ไม่สามารถหันเหกระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้มากนัก

ศูนย์วิจัยการเมืองอเมริกัน อาทิ สถาบันบรุ๊คกิ้งเห็นพ้องกับการสรุปสถานการณ์ของรัฐบาลโอบาม่าว่า กระแสการปฏิวัติประชาชนในหมู่ประเทศอาหรับจะยังกระหน่ำรุนแรงไม่หยุดยั้ง ประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด เช่น เยเมน น่าจะเป็นเบี้ยโดมิโนที่ล้มอันต่อไป

ส่วนในประเทศที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองอย่างซาอุดิ อาราเบีย จอร์แดน มอร็อคโค คูเวต และเคตาร์ รัฐบาลสหรัฐกลับเชื่อว่าจะสามารถทัดทานพายุเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโดยพลังประชาชนได้ดีกว่า นั่นอาจเป็นเพราะสหรัฐมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้ปกครองในประเทศเหล่านี้ก็ได้

เช่นนี้ความหวังที่ขบวนการประชาชนในไทยจะได้รับ “ลมใต้ปีก” หนุนไปสู่ความสำเร็จจากประเทศประชาธิปไตยตะวันตก เหมือนที่ขบวนการประชาชนอียิปต์ได้รับจากสหรัฐอเมริกาผ่านทางฝ่ายกองทัพ นั้นน่าจะเป็นเรื่องยาก

ฉะนี้เห็นทีต้องกลับไปมองดูโมเดลเก่าที่เคยพาดพิงถึงกันมานานนมแล้ว นั่นคือแบบฉบับการปฏิวัติประชาชนที่เนปาล

เมื่อห้าปีที่แล้วเนปาลกลายเป็นข่าวครึกโครมของโลกจากการที่มีการปฏิวัติประชาชนยุคใหม่ได้สำเร็จ สามารถล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ได้อย่างละม่อม เมื่อกษัตริย์กายะเนนทรายอมสละราชสมบัติในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ หลังจากที่มีประชาชนนับล้านร่วมกันออกมาประท้วงภายใต้ความร่วมมือระหว่างการนำของพรรคการเมืองประชาธิปไตยฝ่ายค้าน และพรรคลัทธิเหมาเจ๋อตุง

ก่อนหน้านั้นประเทศเนปาลตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมืองนานถึง ๑๐ ปี จากการจับอาวุธเข้าต่อสู้กับรัฐบาลราชาธิปไตยโดยขบวนการเมาอิสต์ ครั้นหลังจากโค่นกษัตริย์สำเร็จแล้วปรากฏว่ามีความเห็นไม่ลงรอยระหว่างพรรคการเมืองประชาธิปไตย กับพรรคลัทธิเหมา ทำให้ยังไม่สามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญของประเทศได้จนกระทั่งบัดนี้

ตลอดห้าปีที่ผ่านมาการบริหารประเทศเนปาลดำเนินมาอย่างกะพร่องกะแพร่งท่ามกลางการคานอำนาจคุมเชิงกันระหว่างฝ่ายเทคโนแครทในพรรคการเมืองประชาธิปไตย และฝ่ายทหารในพรรคลัทธิเหมา ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะไม่พอใจรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ด้วยกันทั้งคู่

แถมมีข่าวลือหนาหูในกรุงกาตมานธุขณะนี้ว่าจะเกิดการ “รัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย” ขึ้นเสียก่อนด้วย จึงปรากฏว่าชาวเนปาลวัยหนุ่มสาวที่มีความคิดก้าวหน้าฝักใฝ่ประชาธิปไตยต่างพากันอพยพออกนอกประเทศ ไปทำมาหากินในอินเดีย หรือประเทศเศรษฐีน้ำมันแถบตะวันออกกลางเป็นแถว

ตั้งแต่เนปาลมาถึงตูนิเซีย และตั้งแต่อียิปต์ย้อนกลับไปเนปาล โมเดลที่กล่าวมาเหล่านี้สอนอะไรเราได้บ้าง

บอกตามตรงว่าไม่เห็นอะไรลึกล้ำมากไปกว่าความจริงที่ว่า ผู้ปกครองที่กุมอำนาจเด็ดขาดแบบจ้าวเหนือหัว และรวยไม่รู้เรื่องในศตวรรษที่ ๒๑ นี้นั้น ยากที่จะยอมวางมือ หรืออยู่อย่างพอเพียงในอำนาจ และทรัพย์ศฤงคารด้วยตนเอง ต้องใช้พลังประชาชนเป็นล้านๆ ขับออกจึงจะได้

สัจจธรรมทางการเมืองง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งของการปฏิวัติประชาชนก็คือ พลังประชาชนชนิดดอกไม้บานพร้อมกันเป็นล้านดอกนั้นสามารถสยบผู้ปกครองอำนาจเบ็ดเสร็จได้ก็จริง แต่ถ้าไม่มีการผสานพลังเหล่านั้นให้เป็นกระบวนการที่มีเอกลักษณ์ร่วมกัน และมีการจัดองค์กรอย่างเหนียวแน่น

ในระยะยาวก็ยากที่จะไปถึงจุดหมายแห่งความสมบูรณ์ได้เช่นกัน ดังคำของนักปฏิวัติชาวเนปาลที่บทความของเขาลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์เมื่อไม่กี่วันมานี้วลีหนึ่งว่า

“เราเรียนรู้ว่ามันง่ายที่จะเริ่มต้นการปฏิวัติมากกว่าที่จะทำได้สำเร็จลุล่วง การโค่นล้มราชาธิปไตยนั้นยากก็จริงอยู่ แต่การสถาปนาประชาธิปไตยนั้นยากเสียยิ่งกว่า”


0000000

* Thapa, Manjushree, “Nepal’s Stalled Revolution”http://www.nytimes.com/2011/02/23/opinion/23thapa.html?_r=1&nl=todaysheadlines&emc=tha212

** การอภิปรายปัญหาระบบปกครองอันเกี่ยวเนื่องกับประมุขในสื่อสายหลักถูกจำกัด และจำกัดตนเองลงเหลือเพียง ๒.๖ จากจำนวนเต็ม ๕ เนื่องจากหวาดกลัวโทษของกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ดู ประชาไท “รายงานเสวนา ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อไทย ยังติดกับ ๑๑๒”http://www.prachatai3.info/journal/2011/02/33298


*** http://www.internetfreedom.us/thread-14861.html


จิตรา คชเดช:บันทึกชูป้าย"มือเปื้อนเลือด-ดีแต่พูด"

http://thaienews.blogspot.com/2011/03/blog-post_5542.html




โดย จิตรา คชเดช
ที่มา เฟซบุ๊คJittra Cotchadet 

เป็นบันทึกที่เขียนใส่สมุดไว้หลังจากชูป้ายให้นายอภิสิทธิ์

วันนี้ฉันเผชิญหน้า ผู้ชายคนหนึ่ง ฉันโกรธ ฉันตะโกนออกไป ฆาตกร ฆาตกร ไม่มีใครได้ยินเสียงฉัน เพราะบนเวทีเขากำลังหน้าบานกันดีใจ ซึ่งคนละอารมณ์กับฉันมาก

ฉันอยากร้องไห้ เมื่อฉันนึกถึงพี่น้องเสื้อแดงที่ถูกฆ่าตาย "ฉันตะโกนอีกครั้ง"มือเปื้อนเลือด" ฉันหยิบปากกาเมจิก เอากระดาษA4 (คือแถลงการณ์ของงานวันนี้)ใช้ด้านที่ว่างเขียนว่า "มือใคร?" ฉันเอามือฉันทาบลงไปแล้วเขียนตาม ฉันค้นหาเมจิกสีแดงเพื่อทาเป็นสีเลือด ฉันถามคนอื่นไม่มีใครมี ฉันรีบตัดสินใจเขียนว่า "เปื้อนเลือด"ไปบนฝ่ามือ ฉันเขียนสองแผ่นประกบกันแล้วพับมุมนั้นมุมนี้

ในขณะนั้นมันกำลังให้นโยบายเกี่ยวกับวันสตรีสากล ฉันชูกระดาษขึ้น มันตอบมาทันที ว่าวันนี้วันสตรีไม่เกี่ยวกับการเมืองให้ฟังว่าใครมือเปื้อนเลือดชี้แจงในสภา ฉันชูป้ายเด็ดสำหรับฉัน"เหรอ...." และตามด้วย "ดีแต่พูด" 

ฉันถูกกีดกันจากตำรวจ เพื่อแย่งแผ่นป้าย ฉันถาม แผ่นป้ายมีปัญหาอะไรเหรอ...,ดีแต่พูด,มือใคร?เปื้อนเลือด มันมีปัญหาตรงใหน ด่าใคร หยาบคายหรือเปล่า ตำรวจบอก ว่ามือใคร?เปื้อนเลือด ฉันถามว่าแล้วเปื้อนจริงเหรอถึงเดือดร้อน

และเพื่อนของฉันก็ชูป้าย "ดีแต่พูด"ขึ้นด้านหน้าฉันขึ้นไปอีกสามแถว จึงกลายเป็นเหตุให้การเตรียมการพูดตั้งแต่11.30น.-13.15น.ต้องยุติลงเลยเที่ยงเล็กน้อย

เราไม่ได้สบตากันเลยระหว่างฉันกับผู้ชายคนนั้นเพราะเขาหลบหน้าฉันและหนีฉันด้วยการรีบไปและให้ตำรวจกักตัวฉันไว้กับเพื่อนๆเกือบครึ่งชั่วโมง 

ฉันไม่มีเรื่องโกรธเกลียดกันเป็นการส่วนตัว แต่ฉันไม่ชอบระบบที่เขาใช้อยู่ ฉันต้องการระบบประชาธิปไตย คนเท่ากันหนึ่งคน หนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียง ทุกคนมาจากการเลือกตั้ง ทุกสถาบันตรวจสอบได้

ฉันไม่ต้องการคนดี คนหล่อ ฉันต้องการการตรวจสอบเปิดเผย โปร่งใส 


*******
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:งานเปิดตัวเฉลิมฉลอง 100 ปีวันสตรีสากล 8 มีนาคม ดุเดือด: อภิสิทธิ์ ถูกด่า "มือใครเปื้อนเลือด" "ดีแต่พูด"


มุมประวัติศาสตร์: เอกสารเก่าต้นฉบับ "ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1"

http://thaienews.blogspot.com/2011/03/1.html
ประกาศคณะราษฎรฉบับที่1

ข้อมูลเกี่ยวกับ "การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" จากเว็บไซต์ Wikipedia

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คือการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร ในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

การเตรียมการเปลี่ยนแปลง

คณะราษฎรได้มีการประชุมเตรียมการหลายครั้ง รวมถึงได้มีการล้มเลิกแผนการบางแผนการ เช่น การเข้ายึดอำนาจในวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน แต่เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกลกังวล ทำให้เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนอยู่ในกรุงเทพทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะรุนแรงที่เสียเลือดเนื้อได้

ในการวางแผนดังกล่าวกระทำที่บ้าน ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการวางแผนควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร โดยมีการเลื่อนวันเข้าดำเนินการหลายครั้งเพื่อความพร้อม

หลังจากนั้นยังได้มีการประชุมกำหนดแผนการเพิ่มเติมอีกที่บ้านพระยาทรงสุรเดช โดยมีการวางแผนว่าในวันที่ 24 มิถุนายนจะดำเนินการอย่างไร และมีการแบ่งงานให้แต่ละกลุ่ม แบ่งออกเป็น 4 หน่วยด้วยกัน คือ

หน่วยที่ 1 ทำหน้าที่ทำลายการสื่อสารและการคมนาคมที่สำคัญ เช่น โทรศัพท์ โทรเลข ดำเนินการโดยทั้งฝ่ายทหารบกและพลเรือน ทหารบกจะทำการตัดสายโทรศัพท์ของทหาร ส่วนโทรศัพท์กลางที่วัดเลียบมี นายควง อภัยวงศ์ นายประจวบ บุนนาค นายวิลาศ โอสถานนท์ ดำเนินการ โดยมีทหารเรือทำหน้าที่อารักขา ส่วนสายโทรศัพท์และสายโทรเลขตามทางรถไฟและกรมไปรษณีย์เป็นหน้าที่ของ หลวงสุนทรเทพหัสดิน หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ เป็นต้น ซึ่งหน่วยนี้ยังรับผิดชอบคอยกันมิให้รถไฟจากต่างจังหวัดแล่นเข้ามาด้วย โดยเริ่มงานตั้งแต่เวลา 06.00 น.

หน่วยที่ 2 เป็นหน่วยเฝ้าคุม โดยมากเป็นฝ่ายพลเรือนผสมกับทหาร ทำหน้าที่ควบคุมตัวเจ้านายและบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากวังสวนผักกาดมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระประยุทธอริยั่น จากกรมทหารบางซื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการวางแผนให้เตรียมรถยนต์สำหรับลากปืนใหญ่มาตั้งเตรียมพร้อมไว้ โดยทำทีท่าเป็นตรวจตรารถยนต์อีกด้วย โดยหน่วยนี้ดำเนินงานโดย นายทวี บุณยเกตุนายจรูญ สืบแสง นายตั้ว ลพานุกรม หลวงอำนวยสงคราม เป็นต้น โดยฝ่ายนี้เริ่มงานตั้งแต่เวลา 01.00 น.
หน่วยที่ 3 เป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนย้ายกำลัง ซึ่งทำหน้าที่ประสานทั้งฝ่ายทหารบกและทหารเรือ เช่น ทหารเรือจะติดไฟเรือรบ และเรือยามฝั่ง ออกเตรียมปฏิบัติการณ์ตามลำน้ำได้ทันที
หน่วยที่ 4 เป็นฝ่ายที่เรียกกันว่า "มันสมอง" มี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ร่างคำแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายปกครองประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการเจรจากับต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจภายหลังการปฏิบัติการสำเร็จแล้ว

แม้ว่าทางคณะราษฎรจะพยายามที่ทำลายหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ยังมีข่าวเล็ดรอดไปยังทางตำรวจ ซึ่งได้ออกหมายจับกลุ่มผู้ก่อการ 4 คน คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี และ นายตั้ว ลพานุกรม อย่างไรก็ตามเมื่อนำเข้าแจ้งแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ถูกระงับเรื่องไว้ก่อน เนื่องจากไม่ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นอันตราย และให้ทำการสืบสวนให้ชัดเจนก่อน

การยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้ใช้กลลวง นำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือนประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป

หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุดทองเหลืองฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร นิยมเรียกกันว่า หมุดคณะราษฎร มีข้อความว่า "ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"

ในยุคนั้น ถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติไทย และมีการประพันธ์เพลง "วันชาติ 24 มิถุนา" โดยครูมนตรี ตราโมท ไว้ด้วย


ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์สังคม

อาจกล่าวได้ว่า "กบฏ ร.ศ. 130" เป็นแรงขับดันให้คณะราษฎร ก่อการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยภายหลังการยึดอำนาจแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เชิญผู้นำการกบฏ ร.ศ. 130 ไปพบและกล่าวกับ ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่า "ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม" และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ได้กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า "พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130"

หนังสือพิมพ์ รายงานเหตุการณ์


กองกำลังของคณะราษฎร ถ่าย ณ บริเวณหน้าวังปารุสกวัน


ประชาชนหลั่งไหลเข้ามาดูเหตุการณ์ ณ ลานพระราชวังดุสิต

ดูเพิ่ม
ความเคลื่อนไหวสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม
ลำดับเหตุการณ์คณะราษฎร


100ปีวันสตรีสากล: 

การต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ใช้แรงงาน เสรีภาพและประชาธิปไตย

http://thaienews.blogspot.com/2011/03/100.html



โดย เปลวเทียน ส่องทาง
8 มีนาคม 2554
“ผู้หญิงคือปรปักษ์ของการกดขี่ ผู้หญิงนี่แหละที่ต่อสู้อย่างเข้มข้นที่สุดเสมอมา”
-ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ นักเขียนชาวอินโดนีเซีย 

วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1857 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ 

ในปี ค.ศ.1907 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

จึงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนมา และมี"คลาร่า เซทคิน"นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน เป็นผู้นำสำคัญในการเคลื่อนไหว

บทบาทของ"คลาร่า เซทคิน" นั้น เป็นแกนนำสำคัญในการต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคนาซี และต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ โดยเธอได้กล่าวสุนทรพจน์โจมตีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์อย่างรุนแรง จนถึงปี ค.ศ.1933 พรรคนาซีเยอรมันเข้ารวบอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ

เมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์มีอำนาจในการปกครองอย่างเด็ดขาด ทำให้คลาร่า เซทคิน ต้องยุติบทบาทนักการเมืองสายแนวคิดสังคมนิยม ก่อนถูกรัฐบาลตามล่ากวาดล้างจนต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตที่ประเทศรัสเซียแทน และถึงแก่กรรมในปีเดียวกัน

คลาร่า เซทคิน มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับสตรี อีกทั้งยังทำงานเพื่อสตรีมาโดยตลอด ทำให้คลาร่า ได้รับการขนานนามจากกลุ่มองค์กรสตรีนานาชาติว่าเป็น "มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล"

ในการเคลื่อนไหวของคนงานหญิง ได้มีการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตามแม้การเรียกร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1908 มีแรงงานหญิงกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ค เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง

จนกระทั่งในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8

คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน

พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ "คลาร่า เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล 

ย้อนมองสังคมไทย ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในสังคมไทยซึ่งมีผู้หญิงจำนวนมากในโลกทุนนิยม ก็หาได้ยอมจำนนต่อระบบทุนนิยมที่เอารัดเอาปรียบผู้ใช้แรงงาน ซึ่งทำให้แรงงานกลายเป็นเพียงสินค้า เป็นเพียงปัจจัยการผลิตเสมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งในสายพานการผลิต ผู้ใช้แรงงานก็ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเสมอมา ทั้งเรื่องการปรับปรุงสภาพการจ้าง การคุ้มครองหลักประกันสังคม ความปลอดภัยในการทำงาน ฯลฯ และมีผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยที่ก้าวสู่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน

การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานนั้น เป็นการต่อสู้ทั้งระดับชีวิตประจำวัน และปัญหาทางโครงสร้างนโยบายกฎหมาย โดยมีทั้งระดับปัจเจกชน ระดับกลุ่ม ทั้งรูปแบบสหภาพแรงงาน และรูปแบบอื่นๆ เช่น กลุ่มย่านต่างๆ


เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา ผู้ใช้แรงงานหญิงสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ผู้ประสบชตากรรมถูกนายจ้างไล่ออกจากงาน ในฐานะไม่เชื่อฟัง คำสั่งของนายจ้าง และมักต่อรองกับนายจ้างไม่ให้เอาเปรียบพนักงานเสมอมา ก็ได้เปิดโปงการปลิ้นปล้อนหลอกลวงของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “ที่ดีแต่พูด” "มือเปื้อนเลือด" และแก้ปัญหาให้นายทุนมากกว่าผู้ใช้แรงงาน เชื่อกลไลราชการมากว่าการฟังเสียงผู้ใช้แรงงาน

เช่นเดียวกัน การต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตย เพื่อประชาธิปไตย ในสังคมไทยห้วงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า มีผู้หญิงจำนวนมากหลากหลายฐานะ อาชีพ ชนชั้น ตลอดทั้งผู้ใช้แรงงานบางส่วน

โดยมีเป้าหมายเดียวกัน “อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน” มีความเชื่อว่า “ทุกคนเท่ากัน” “ไพร่ก็มีหัวใจ” ได้ต่อสู้อย่างอดทน เผชิญกับความยากลำบาก อย่างไม่ท้อถอยในนาม “คนเสื้อแดง”

100 ปีวันสตรีสากล จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ให้ความทรงจำกับผู้หญิงผู้ถูกกดขี่ทั่วโลกได้ตระหนักการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อความเสมอภาคและเพื่อประชาธิปไตย

สำหรับสังคมไทยแล้ว วันสตรีสากลในปีนี้ ย่อมทำให้ต้องตระหนักว่า สิทธิของผู้ใช้แรงงาน และระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้

เฉกเช่นการต่อสู้ของ"คลาร่า เซทคิน" มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล ผู้ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิผู้ใช้แรงงาน และคัดค้านอำนาจนิยมเผด็จการฮิตเลอร์เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย


100 ปีสตรีสากล ผู้หญิงอยู่ตรงไหน?

http://thaienews.blogspot.com/2011/03/100_08.html


โดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ
8 มีนาคม 2554
สิ่งที่อาจจะจำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนในทศวรรษใหม่ เพื่อความเสมอภาคหญิงชาย คนเลือกเพศต่าง รวมทั้งสิทธิวิถีเพศในสังคมไทย เรียบเรียงจากข้อคิดเห็นเพื่อแนวทาง ในปี 2554 พวกเราจำเป็นต้องระลึกถึง และย้ำเตือนความทรงจำถึงศตวรรษแรกแห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ในสังคมไทยและสังคมโลก พวกเราจำต้องย้อนมองประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงในรอบร้อยปีที่ผ่านมา เพื่อที่เราจะได้สามารถวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อการสร้างสังคมเท่า เทียมในศตวรรษใหม่

แง่มุมทางประวัติศาสตร์ (Historical Context)
เมื่อมองย้อนไปในอดีต เราได้ผ่านการต่อสู้มาอย่างหนักหน่วง เริ่มตั้งแต่การต่อสู้เพื่อ “ขนมปังและดอกไม้” และ “สิทธิสตรีในการมีสิทธิเลือกตั้ง” การประท้วงและเยียวยาผู้เสียหายจากความโหดร้ายป่าเถือนของสงครามโลก มาสู่การรณรงค์เพื่อสันติภาพ ต่อต้านสงครามนิวเคลียร์ และสงความเหยียดผิว - ทั้งนี้และทั้งนั้นเพื่อเป็นการต่อสู้ที่ฐานรากของการยืนหยัดซึ่งสิทธิสตรี ตั้งแต่การต่อสู้เพื่อสิทธิเจริญพันธุ์และการเลี้ยงดู และสิทธิทางเศรษฐกิจของผู้หญิง ซึ่งต่างก็อยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่หนักหน่วงและยากลำบากเพื่อหยุดการกดขี่ ขูดรีดแรงงานหญิง ที่ถูกส่งป้อนอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ที่พากันย้ายตัวจากโลกเหนือมายังโลกใต้ ภายใต้วิถี “ต้นทุนต่ำสุด-กำไรสูงสุด” แห่งวิถีการค้าเสรีตามทฤษฎีเสรีนิยมใหม่ ที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงจนทำให้พวกเรา ต้องมาต่อสู้และรับมือกับผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

กระนั้นก็ตาม เมื่อมองย้อนไปในรอบร้อยปีที่ผ่านมา มันมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในทางทีดีขึ้นให้้ เห็นอยู่มากมายเช่นกัน
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความจริงที่ประจักษ์ต่อหน้าต่อตาของพวกเรา คือการทำลายล้างอย่างรุนแรงที่มนุษย์กระทำต่อโลกอันสวยงามแห่งนี้ ช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 60 ปี มันได้สร้างความเสียหายต่อโลกอย่างที่ไม่มีทางฟื้นคืน ความสวยงามและความหลากหลายของธรรมชาติจำนวนมากมหาศาลได้สูญหายไปตลอดกาล ไม่มีทางที่จะฟื้นฟูให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป

เราต้องอยู่กับผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัว และการแพร่ขยายเป็นวงกว้าง ของผลกระทบจากพิมพ์เขียวแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจักรวรรดินิยม เราไม่สามารถหรือไม่ควรจะลบเลือนความโหดร้ายที่เกิดจากสงครามจิตวิทยาของยุค สงครามเย็น รวมทั้งไม่ควรประมาณการความเสียหายและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมต่ำเกินกว่าความเป็นจริง เพราะความเสียหายมากมายได้เกิดขึ้นทั้งต่ออากาศและต่อพื้นผิวดิน

ปัญหามากมายที่เกิดจากการปฏิบัติตามพิมพ์เขียวการพัฒนาของสถาบันแบรทตันวูดส์ (IMF และ ธนาคารโลก) ยังคงเป็นตัวบันทอนและสร้างความสับสนต่อทิศทางการพัฒนาประเทศของหลายประเทศ ในโลกใต้ แต่ไม่ใช่กับประเทศโลกใต้เท่านั้น! แนวนโยบายของสถาบันแบรทตันวูดส์ ยังคงให้การอุดหนุนระบอบเผด็จการ และคงความเป็นไปได้ของความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐบาล เผด็จการกับประชาชนในประเทศของตัวเอง - ซึ่งบ่อยทีเดียวมักอ้างว่า ปราบปรามประชาชนในนามเพื่อประชาธิปไตย หรือในนามเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือเพื่อการค้าเสรี เป็นต้น

ตลาดผู้บริโภคในประเทศโลกเหนือ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการแข่งขันทางการค้า ดำรงระบบสังคมชายเป็นใหญ่ที่กดทับสิทธิสตรี และก็ยังคงพึงพิงต่อการต่อสู้เพื่อได้ “ควบคุมการเข้าถึง” แหล่งทรัพยากรธรรมชาติในโลกใต้ และก็ยังคงเป็นพลังที่สามารถมีอำนาจทำลายล้างสรรพสิ่ง (ไม่ได้เป็นผลพวงมาจากแรงพลักของตลาดผู้บริโภคในโลกเหนือเท่านั้น แต่จากกลุ่มผู้บริโภคในโลกใต้ที่ขยายเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน) ผ่านทางการส่งเสริมเกษตรพาณิชย์ตามแนวปฏิวัติเขียว รวมทั้งการตรึงค่าจ้างขั้นต่ำในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น พวกเรายังคงต้องเผชิญกับการทำลายพื้นที่ป่าและการล่มสลายของเกษตรกร ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากทั้งในประเทศและไปยังต่างประเทศ และการสั่งสมความมั่งคั่งในหมู่คนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น
การวิเคราะห์การเมือง (Political analysis)
ในการค้นหาเส้นทางเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าในทศวรรษที่สองแห่งการสร้างความเข้ม แข็งให้กับผู้หญิง เราจำเป็นจะต้องไม่ละเลยถึงความจำเป็นที่จะต้อง . .
  • จัดการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม การศึกษาที่เคารพและให้คุณค่าต่อความหลากหลายในทุกแง่มุมของสรรพชีวิต และตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องเชื่อมโยงมิติของการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เข้าด้วยกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำพาประเทศไปสู่่การพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนอาจจะเริ่มได้จากหลากหลายแง่มุม แต่บทบาทของพวกเราคือการสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นที่สังคมจะต้องยก ระดับของความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ต่อมุมมองและทัศนคติต่อเชื้อชาติ และศาสนา ที่แตกต่างของคนในสังคม เป็นต้น?
  • เป้าหมายของพวกเราคือมุ่งสู่การมีรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมผู้หญิงในการมีส่วนรร่วมทางการเมือง และการสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเท่าเทียม กับชาย
  • เสรีภาพในการพูดและสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมขบวนการสิทธิสตรี จำเป็นต้องใช้ศักยภาพของพวกเราอย่างเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับกลุ่มผู้หญิงรากหญ้ามากขึ้น เพื่อที่ผู้หญิงรากหญ้าทั้งหลายจะได้มีโอกาสยื่นข้อ เรียกร้องที่แสดงความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง
  • พวกเราจะทำอย่างไรได้บ้าง ที่จะช่วยเปิดพื้นที่ทางการเมือง และสร้างความเข็มแข็งให้กับผู้หญิงมากขึ้น? ปัจจุบันนี้ โลกไม่ได้มีวิถีเศรษฐกิจเดี่ยวแต่ยังมี วิถีเศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่หลากหลาย จึงจำเป็นที่ขบวนการผู้หญิงและภาคประชาชน เปิดพื้นที่ความคิด ความรู้ เพื่อมุ่งสร้างความสมานฉันท์กับกลุ่มคนที่มีการร่วมกลุ่มเพื่อที่จะเป็น อิสระจากการครอบงำของบรรษัทข้ามชาติ และการถูกผนวกรวมเข้าสู่วัฎจักรของการผูกขาดทางการค้า

พวกเราจำต้องตระหนักรู้เท่าทันและกระตุ้นให้เกิดวิถีเศรษฐกิจใหม่ๆ ทั้ง ในรูปแบบเศรษฐกิจชุมชนที่ดำรงอยู่บนการเคารพในจริยธรรมการผลิต ในวิถีการใช้ชีวิตร่วมกัน ในการจัดโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดูแลคนทั้งสังคม ส่งเสริมเศรษกิจอินทรีย์ และเศรษฐกิจสมานฉันท์​ และเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจนิเวศน์ เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

การประชุมขององค์กรผู้หญิงควรจะโฟกัสไปยังการใช้พลังของพวกเราเพื่อเปิดพื้นทางการเมืองและการต่อรองให้กับกลุ่มผู้หญิงรากหญ้าต่างๆ เพื่อให้รูปแบบเศรษฐกิจแบบใหม่ได้มีการนำเสนอสู่สาธารณชน และมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับผู้หญิงและเศรษฐกิจภายใน ประเทศ เพื่อที่การค้าที่ยุติธรรม (Fair Trade) จะเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ

จรรยา ยิ้มประเสริฐ
8 มีนาคม 2554



ต่อไปนี้เป็นสถิติและข้อมูลที่รวบรวมและแปลโดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ เพื่อนำเสนอสถิติข้อมูลที่มีการศึกษาถึงความก้าวหน้าของผู้หญิงในหลายๆ ประเทศ เพื่อนำมาเปรียบเทียบและเป็นกระจกสะท้อนถึงความก้าวหน้าหรือล้าหลังของผู้ หญิงไทยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงในบริบทโลก
ประชากรโลก ณ ขณะนี้อยู่ที่ 7,092 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2513 เกือบเท่าตัว (3,912 ล้านคน) และจำนวนผู้คนอยู่กระจุกตัวอยู่ตามเมือง หลวงที่แออัดมากขึ้นเรื่อยๆ

ในจำนวน 195 ประเทศ 140 ประเทศปกครองด้วยระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง มีจำนวนประชากรที่อยู่ในกลุ่มยากจน 1.3 พันล้านคน ในจำนวนนี้ 70% เป็นประชากรเพศหญิง 75-80% ของประชากร 27 ล้านคน ที่ต้องเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองในโลกนี้เป็นผู้หญิง

ผู้หญิงและกำลังประชากร
  • เกือบทุกประเทศในโลกนี้ มีสัดส่วนประชากรเพศหญิงมีอายุยืนกว่าเพศชายระหว่างปี 2513 – 2535 อายุเฉลี่ยของผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาอยู่ระหว่าง 54-63 ปี และในประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ที่ระหว่าง
  • 74-79.4 ปีภายในปี 2568 ผู้หญิงอายุ 60 ปี ขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ลาติน อเมริกา คาริเบี้ยน และอาฟริกาเหนือ
  • ในประเทศโลกเหนือ จำนวนการมีบุตรโดยไม่แต่งงานเพิ่มขึ้นกว่า 50% ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา
  • ประมาณ 25% ของหัวหน้าครัวเรือนในโลกนี้เป็นผู้หญิง
ผู้หญิงและการจ้างงาน
  • คนงานหญิงได้รับค่าแรงโดยเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชายประมาณ 25% ในงานประเภทเดียวกัน ไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะอยู่ในประเทศโลกเหนือและประเทศโลกใต้ (นอกภาคเกษตร)
  • สัดส่วนผู้หญิงที่ทำงานในการจ้างงานประจำมีเพียง 31% ในประเทศโลกใต้ และ 47% ในประเทศโลกเหนือ
  • ผู้หญิงเป็นกำลังแรงงานที่ผลิตอาหารในสัดส่วน 55% ในประเทศโลกใต้
  • ผู้หญิงที่ต้องรับภาระงานบ้านและงานในชุมชมที่ไม่มีค่าจ้างมีสัดส่วนในแง่ทาง เศรษฐกิจสูงถึง 10-35% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) หรือคิดเป็นมูลค่า 11 ล้านล้านดอลลาร์
  • สัดส่วนของแรงงานหญิงและชายในประเทศอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเท่ากัน
  • ในเกือบทุกประเทศในโลกนี้ การสมทบแรงงานในนงานที่ไม่มีค่าจ้าง (งานดูแลบุตร ครอบครัว และงานบ้าน) ผู้หญิงทำมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่าตัว
ผู้หญิงกับสุขภาพ
  • ประมาณการว่าทุกปีจะมีผู้หญิงกว่า 20 ล้านคนที่ต้องทำแท้งในสภาพที่ไม่ปลอดภัย
  • ทุกปี จะมีผู้หญิง 600-700,000 เสียชีวิต (ประมาณ 1,600 คน/วัน) จากสาเหตุอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรและการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ในเขตซาฮาร่าของอาฟริกา ผู้หญิง 1 ใน 13 คน เสียชีวิตจากการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร ต่างกันมากเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วน 1 ใน 3,300 คน ของสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกา
  • ปัจจุบัน 51% ของผู้ที่ต้องอยู่กับเชื้อโรคเอดส์ (มากกว่า 20 ล้านคน) เป็นผู้หญิง (UNIFEM, 2003)
  • ทั่วโลก สัดส่วนผู้ติดเชื้อ HIV เกิดขึ้นในกลุ่มอายุ 15-24 ปี และ 60% ของเยาชนที่มีเลือด HIV + ระหว่างอายุ 15-24 ปี คือผู้หญฺิง (UNIFEM, 2003)
ผู้หญิงกับความรุนแรง
  • ทุกปีเด็กหญิงกว่า 2 ล้านคนต้องทุกข์ทรมาณจากการคลิบอวัยะเพศ
  • ผู้หญิง 20 – 50% ต่างก็ต้องทนกับความรุนแรงในครอบครัวในหลายระดับตลอดช่วงอายุการแต่งงาน
  • ในปาปัว นิกีนี ผู้หญิง 60-70% ต้องเผชิญกับการถูกทำร้ายในครอบครัว
  • ในสหรัฐอเมริกา ทุก 8 วินาทีจะมีผู้หญิงถูกทำร้าย และผู้หญิงถูกข่มขืนทุก 6 นาที
  • ในอินเดีย จะมีผู้หญิง 5 คน ถูกเผาทั้งเป็นทุกวัน
  • การข่มขืนถูกใช้เป็นอาวุธทำร้ายประชาชนในประเทศที่มีสงคราม ในราวันดาระหว่างปี 2534-2538 มีเด็กสาวและผู้หญิงถูกข่มขืนโดยมีตัวเลขประมาณการระหว่าง 15,700 คน ถึง 250,000 คน ขึ้นอยู่กับว่าถามข้อมูลจากใคร
  • ผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรมอาจจะมีสัดส่วนสูงถึง 70% ที่ถูกสังหารโดยคู่รักหรือคู่ครอง (WHO 2002)
  • ในเคนย่า มีผู้หญิงไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ หนึ่งคนที่ถูกฆาตกรรมโดยคู่ครอง (Joni Seager, 2003)
  • ในอียิปต์ 35% ของผู้หญิงรายงานว่าถูกสามีทำร้ายทุบตี (UNICEF 2000)
  • ผู้หญฺิง 47% ที่ถูกทำร้ายไม่เคยปริปากบอกเรื่องนี้กับใคร (WHO 2002)
  • ทุก 15 วินาที จะมีผู้หญิงถูกทำร้ายโดยคู่ครองหรือคนรัก ในสหรัฐอเมริกา (UN Study on the World’s Women, 2000)
  • ในบังคลาเทศ 50% ของคดีฆาตกรรมคือผู้หญิงที่ถูกฆ่าโดยสามีของตัวเอง (Joni Seager, 2003)
  • ในปากีสถาน 42% ของผู้หญิง จำต้องก้มหน้ายอมรับว่าการถูกทำร้ายร่างกายเป็นชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 33% ปิดปากเงียบ 19% ลุกขึ้นประท้วงการทำร้ายร่างกาย และ 4% แจ้งความดำเนินคดี(Government study in Punjab 2001)
  • ในอาฟริกาใต้ ผู้หญิงถูกข่มขืน 147 คนทุกวัน (South African Institute for Race Relations 2003)
  • ในตุรกี 35.6% ของผู้หญิงถูกข่มขืนโดยสามีของตัวเอง (WWHR Publications: Istanbul, 2000)
  • ใน อินเดีย มีการประมาณการว่ามีผู้หญิงถูกฆ่าเพื่อสินสอดประมาณปีละ 15,000 คน ส่วนใหญ่ถูกทำให้เหมือนกับการตายจากอุบัติเหตุไฟลวกตายในครัว (Injustices Studies. Vol. 1, November 1997)
  • ในประเทศจีนมีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนเพียง 3% ที่กล้าแจ้งความ
ผู้หญิงกับการศึกษา
  • 2 ใน 3 ของสัดส่วนผู้ไม่รู้หนังสือในโลกนี้ เป็นผู้หญิง
  • 2 ใน 3 ของเด็กกว่า 130 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือเป็นผู้หญิง
ผู้หญิงและสงคราม

  • 80% ของผู้สี้ภัยการเมืองคือผู้หญิงและเด็ก (UNHCR, 2001)
  • 85% ของการค้าหญิงและเด็กเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง (Save the Children 2003)
  • ในราวันดา ผู้หญฺิง 250,000 ถึง 500,000 หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของผู้หญิงถูกข่มขืนในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 2537-2538 (International Red Cross report, 2002)
  • ในอิรักอย่างน้อยมีผู้หญิง และเด็กหญิงอายุตั้งแต่ 8 ขวบขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 400 คน รายงานว่าถูกข่มขืนในแบกแดดระหว่างและช่วงหลังสงคราม (Human Rights Watch Survey, 2003)
  • ผู้หญิงชาวเขมร 250,000 คนในหมู่บ้านต่างๆ ถูกบังคับให้แต่งงานในช่วงเขมรแดงระหว่างปี 2518-2521 (UNIFEM)
  • ในบอสเนีย และเฮอร์ซาโกวินา ผู้หญิง 20,000 – 50,000 คน ถูกข่มขืนในช่วงห้าเดือนของการสู้รบในปี 2535 (IWTC, Women’s GlobalNet #212. 23rd October 2002)
  • ในบางหมู่บ้านในโคโซโว 30%-50% ของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ถูกข่มขืนโดยกองกำลังเซอร์เบีย (Amnesty International, 27 May 1999).
ผู้หญิงกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง
  • ประเทศแรกในโลกนี้ที่ให้สิทธิผู้หญิงในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคือ นิวซีแลนด์ในปี 2436 ตามมาด้วยฟินแลนด์ ในปี 2449 อัลบาเนีย ปี 2453 มองโกเลีย ปี 2467 เอกวาดอร์ ในปี 2471 ตุรกี ในปี 2474 สำหรับในอาเซีย ประเทศไทยให้สิทธิเป็นประเทศแรกในปี 2475 ฟิลิปปินส์ปี 2480 เวียตนาม2489 สิงคโปร์ 2490 กัมพูชา 2498 และมาเลเซียในปี 2500
  • ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีเพียง 28 ประเทศเท่านั้นที่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศหรือผู้นำรัฐบาล
  • สัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งรัฐมนตรีทั่วโลกมีเพียง 18%
  • สัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภาทั่วโลกมีเพียง 19%
  • ในสหรัฐฯ มีสัดส่วนของสมาชิกสภารัฐสภาเพายง 16%. อัยการหญิง 24% มีผู้ว่าการรัฐที่เป็นผู้หญิงเพียง 8 มลรัฐ จากจำนวน 50 มลรัฐ
  • หน่วยงานของสหประชาชาติ มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงเพียง 9% ตำแหน่งนักบริหารอาวุโส 21% และ 48% ดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไป
  • ผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการในประเทศโลกเหนือจะมีประมาณ 33% ในอาฟริกามี 15% และในเอเชียและแปซิฟิกมีเพียง 13% ทั้งนี้สัดส่วนของอาฟริกาและเชียแปซิฟิกถือว่าได้เพิ่มขึ้นมาแล้วเป็นเท่า ตัวจากเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา
ผู้หญิงในรัฐสภาของประเทศต่างๆ